xs
xsm
sm
md
lg

ขุดให้เละ!! “8 หายนะ” ผลงาน กกต. #เลือกตั้ง66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



4 ปีเลือกที แต่ทำไมปัญหามันเยอะจัง เปิด8 เหตุการณ์ป่วยๆ ในการเลือกตั้งปีนี้ ที่ถือว่าส่อแวว “กลิ่นทุจริต” โชยมาแรงที่สุด ไม่เชื่อต้องลองอ่านดู

1. พิมพ์เกินทำไม? บัตรเลือกตั้ง4.9 ล้านใบ!!

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปีนี้มีอยู่ 52 ล้านกว่าคน แต่ด้วยความหวังดี? คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลยพิมพ์บัตรมาให้ 57 ล้านใบ!! ทำให้หลายคนหวาดระแวงกันไปว่า หรือจะเตรียมไว้เผื่อเพื่อทุจริตหรือเปล่า?

ร้อนถึงให้ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ต้องออกมาอธิบายว่า เรื่องพิมพ์บัตรเกินเป็นเรื่องปกติ อย่างที่ทำกันมาทุกครั้ง ด้วยเป็นเหตุผลทางเทคนิค เพื่อใช้เป็น “บัตรสำรอง” ในเขตเลือกตั้ง

[กกต.แถลง ชี้แจงพิมพ์บัตรเกิน]


2. “บัตรโหล” พาสับสน!! ไม่มีชื่อ-ไม่มีรูป

อย่างที่เห็นกันว่า รอบนี้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 แบบ คือ ใบหนึ่งเลือก “ส.ส.เขต” กับใบหนึ่งเลือก “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” แต่ปัญหาคือ ใบที่ใช้เลือก ส.ส.เขต(บัตรโหล) กลับมีแต่ตัวเลข(เบอร์ผู้สมัคร) ไม่มีชื่อผู้สมัคร หรือโลโก้พรรค ซึ่งเรียกกันว่า “บัตรโหล”

โดย กกต.อ้างว่า สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะทำให้ “ประหยัดงบ” และ “ป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสน” ขัดแย้งกับพี่น้องประชาชนที่มองว่า บัตรแบบนี้ยิ่งสร้างภาระให้แก่คนที่จะไปเลือกตั้ง ที่ต้องจำทั้ง “เบอร์ผู้สมัคร” และ “เบอร์พรรค”

เพราะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต อาจไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค เพราะต้องจับเบอร์กันใหม่ แต่ก็ยังคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า ทำไมใช้เบอร์เดียวกับพรรคไม่ได้ และทำไม กกต.ถึงเลือกที่จะ “ไม่ใส่รูป” หรือ “ชื่อพรรค” ลงไป เพื่อขจัดความสับสน?

ที่แย่กว่านั้นคือ บัตรโหลแบบนี้ที่ใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ทำให้แยกไม่ออกว่า บัตรใบนั้นมาจากเขตเลือกตั้งนั้นๆ จริงไหม เพราะในบัตรไม่มีทั้งชื่อพรรค และชื่อผู้สมัคร ส.ส.อยู่เลย

[ตัวอย่าง บัตรเลือกตั้ง “บัตรโหล”]
3. เสียสิทธิ เพราะ “ลงทะเบียนล่วงหน้าล่ม”

25 มี.ค.- 9 เม.ย. คือวันที่ กกต.กำหนดเอาไว้ว่า เป็น “วันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า” ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่วันสุดท้ายเว็บของ กกต.ดันล่ม ตั้งแต่เวลา 21.00 น.ของวันสุดท้าย แล้วค่อยกลับมาใช้ได้อีกที ก่อนหมดเวลาลงทะเบียนเพียง 10 นาทีเท่านั้นเอง

ข้อมูลจาก iLaw พบว่า อาจมีประชาชนกว่า100,000 คนที่ลงทะเบียนไม่ได้ จากการที่เว็บล่มครั้งนี้ ส่งให้ผู้ใช้สิทธิหลายคนต้อง “เสียสิทธิเลือกตั้ง” ไปโดยปริยาย เพราะไม่ว่างไปเลือกตั้งในวันจริง (14 พ.ค.) แถมยังมีผู้ลงทะเบียนบางส่วนที่เดินทางไปถึงคูหา ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว แต่กลับไม่พบรายชื่อตัวเอง และต้องเสียสิทธิไปในที่สุด

เรื่องนี้ กกต.ออกมาอธิบายว่า ที่เว็บล่มระบบรองรับได้ 4,000 คน/วินาที ส่วนเลขาธิการ กกต. ก็ได้แต่ออกมา “ขอโทษประชาชน” แต่ก็ไม่ได้ขยายระยะเวลาการลงทะเบียน อย่างที่หลายคนเรียกร้องแต่อย่างใด



[เว็บเลือกตั้งล่วงหน้าล่ม]
4. เสียหาย3แสนใบ!? “เลขเขต-รหัสหน้าซองผิด”

ปัญหานี้เกิดจากการที่เจ้าหน้าประจำหน่วยเลือกตั้ง เขียน “เขต/รหัสหน้าซอง” ของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิด ทำให้บัตรที่ใส่ไปในกล่อง ถูกส่งไปยังปลายทางผิดเขต เสี่ยงต่อการที่ “บัตรโหล” ไม่มีชื่อผู้สมัคร-ชื่อพรรค อาจไปเพิ่มคะแนนเสียงให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งแต่แรก ที่เรียกว่ากลายเป็น “บัตรเขย่ง” นั่นเอง

ในบางเขตยังแก้ไขทัน อย่าง “ดินแดง” ที่เจ้าหน้าที่ยอมเอาบัตรทั้งหมดมาจ่าหน้าซองใหม่ แต่ในหลายเขตก็แก้ไขไม่ได้ เพราะกล่องนึงของแต่ละจังหวัดมีหลายเขตรวมกัน จึงไม่สามารถแยกได้ว่า ซองไหนเป็นของเขตไหน

ที่แย่ไปว่านั้น ไปรษณีย์ไทย ผู้ส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้ายังออกมาแถลงว่า มีซองเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 3แสนใบ!!ที่อ่านลายมือไม่ออก จนเสี่ยงต่อการส่งไปยังหน่วยนับคะแนนไม่ทันเวลา

แต่ข้อมูลกลับขัดแย้งกับ กกต.ที่ออกมาแถลงว่า ได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยทางคัดแยกแล้ว ย้ำว่ายังไม่พบปัญหาอะไรอย่างนั้นเลย



[เจ้าหน้าที่เขียน เขต/รหัสหน้าซองเลือกตั้งล่วงหน้าผิด]
5.ไม่ขอนับ “บัตรเลือกตั้งต่างแดน” มาไม่ทัน

เดือดกันทั้งโซเชียลฯ หลังมีข้อมูลออกมาว่า “บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” ซึ่งต้องเดินทางมาถึงที่ ฉะเชิงเทรา เขต 3 ยังส่งมาไม่ถึงหน่วยเลือกตั้ง และทาง กกต.ออกมาแจ้งว่าจะไม่นับคะแนน และให้ถือเป็นบัตรเสีย

ร้อนถึง “ไปรษณีย์ไทย” ให้ต้องเร่งออกมาชี้แจง ในฐานะผู้รับผิดชอบการขนส่งบัตรเซ็ตดังกล่าวว่า ได้ขนส่งไปถึงหน่วยนับคะแนนก่อนเวลา ครบถ้วนทุกเขตเรียบร้อยแล้ว 100%

ก่อน กกต.จะออกมาว่าทั้งหมดเป็นข่าวปลอม ทั้งยังคอนเฟิร์มอีกว่า บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเซ็ตนั้น มาถึงตั้งแต่วันที่13 พ.ค.ช่วงเย็น ซึ่งถูกนับคะแนนทั้งหมด ไม่มีบัตรเสียแต่อย่างใด


6. “บัตรเสีย” มากเกินเกณฑ์ ต้องแห่ร้องเรียน

ถือเป็นปรากฏการณ์ของเลือกตั้งปีนี้เลย กับการที่พี่น้องประชาชนพร้อมใจกันไปเฝ้าหน่วยนับคะแนน สังเกต “บัตรดี” และ “บัตรเสีย”ว่าเป็นไปตามเกณฑ์แค่ไหน

เพราะในหลายเขต เจ้าหน้าที่ขานให้เป็น “บัตรเสีย”เพราะกากบาทเลยออกจากช่องไปเพียงเล็กน้อย จนถูกวิจารณ์หนัก แชร์ให้ว่อนโซเชียลฯ จนผู้สังเกตการณ์ที่จุดนั้นต้องยื่นภาพ “ลักษณะบัตรดี-บัตรเสีย”ตามเกณฑ์ กกต.ขึ้นมาเทียบ ถึงยอมกลับมาขานเป็น “บัตรดี”นำไปสู่หลายเขตที่ต้องหยิบ “บัตรเสีย” มานับคะแนนใหม่กันยกตะกร้า

[ตัวอย่างบัตรดี-บัตรเสียจาก กกต.]

[ตัวอย่างภาพบัตรเสียวันเลือกตั้ง]
7. จงใจหรือเลินเล่อ “ขีดคะแนนผิดพรรค-รวมคะแนนผิดพลาด”

จากการสังเกตการณ์ข้อมูลบนโซเชียลฯ ในคืนนับคะแนนเลือกตั้ง พบว่ามีผู้ร้องเรียนพฤติกรรมส่อทุจริตของเจ้าหน้าที่นับคะแนนมากมาย หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป

มีตั้งแต่ขานเรียกคะแนนอีกพรรค แต่กลับแอบไปขีดให้อีกพรรค ไปจนถึงการใช้ใบนับคะแนนบังไว้ ระหว่างขีดให้คะแนนพรรคต่างๆ กระทั่งเกิดการท้วงติงให้แก้ไข จนค่อยๆ โปร่งใสมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง “ปทุมธานี” ชี้ว่า มีใบนับคะแนนพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ 35 คะแนน แต่ทำไมเขียนในรายงานผลคะแนน รวมเป็น 169 คะแนน พอเช็คดูก็พบว่า เขียนคะแนนผิดกันถึง 4 พรรค แต่ก็ได้รับการแก้ไข หลังจากถูกประชาชนท้วงติง

8. อำพราง “ขั้นตอนนับคะแนน” อย่างมีนัย

ทำเอาคน “บางพลัด” เดือด!! หลังจากมีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง ไม่มีการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าให้ดู เพียงแต่เอาผลคะแนนมาแปะโชว์เท่านั้น เมื่อประชาชนทักท้วงก็ปฏิเสธที่จะนับคะแนนใหม่ บอกต้องทำหนังสือถึง กกต.ก่อน

และยังมีคนเห็นอีกว่า ตอนเกิดเหตุไฟดับ มีหีบบัตรเลือกตั้งหายไป ทำให้ประชาชนต้องการให้ทางเขตนับบัตรเลือกตั้งของเขตบางพลัดใหม่อีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผอ.เขตบางพลัด ระบุว่า กทม.เขต 33 บางพลัด มีการส่งหีบคะแนนไปที่เขตบางกอกน้อย แล้วจะมีการนับคะแนนที่นั้นในวัน 15 พ.ค. จึงไม่สามารถประกาศที่สำนักงานเขตบางพลัดได้ เนื่องจากใบรายงานผลคะแนน ได้ส่งไปที่บางกอกน้อยแล้ว




[บรรยากาศการนับคะแนนที่ เขตบางพลัด]

[ภาพการเขียน คะแนนผิด]


หลังจากฟังคำชี้แจงของ ประชาชนหลายคนรู้สึกว่า ผอ.เขต ตอบไม่ตรงคำถาม จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมไม่นับคะแนนที่เขตบางพลัด เพราะทุกปีก็นับที่นี่ ถ้านับคะแนนที่บางพลัดไม่ได้ ทำไมไม่ไปนับโชว์ที่บางกอกน้อย

ทั้งหมดทำให้เกิดการรวมตัวกันของภาคประชาชน สร้างแคมเปญต่างๆ ในการช่วยจับตาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยคลางแคลงใจว่า เราจำเป็นต้องเหนื่อยขนาดนี้ไหม กับการต้องมานั่งตรวจสอบ กกต. ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ จนอดถามไม่ได้ว่า นี่มันคุ้มกับงบ 6,000 ล้านที่เสียไปแล้วใช่ไหม!?


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : twitter @iLawclud, @KSK33219656, @jazziecaky, @PetchPk9, @mikeycutefordd, @mikeycutefordd, @Auntynuay, @ssbbam | Facebook “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด”, “ภัทราพร ตั๊นงาม”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น