เมื่อการเที่ยวไม่เกี่ยวกับอายุ “แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณ” เจ้าของเพจท่องเที่ยวชื่อดัง “ป้าแบ็คแพ็ค” ลุกขึ้นมาฉายเดี่ยว เที่ยวไม่แคร์อายุ พร้อมย้อนแรงบันดาลใจ กับเส้นทางโมเมนต์สุดโหดกับการท่องเที่ยว 40 กว่าประเทศทั่วโลกตามลำพัง
เกิดมาทั้งทีต้องใช้ให้คุ้ม
“ชีวิตป้าแป๋วเกินคุ้มแล้วค่ะ ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ ได้ไปในที่ที่เราอยากจะไปเห็น พอแล้ว เป็นอะไรก็ไม่เสียดายแล้ว คุ้มในแง่ของการใช้เวลา คุ้มในแง่ของการใช้เงินแบบคุ้มค่ามากเลย เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราใช้ไป ก็ไม่เสียดายเลย เวลาที่มีหลังเกษียณเกือบ 10 ปี ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำแล้ว”
“ป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ” แบ็กแพกเกอร์วัย 69 ปี เจ้าของเพจท่องเที่ยวชื่อดัง “ป้าแบ็คแพ็ค” ที่มีแฟนคลับติดตามอย่างท่วมท้น
เธอเป็นอดีตนักวิชาการสาธารณสุข ใช้ชีวิตธรรมดาและเรียบง่ายจนมาถึงวันที่ต้องเกษียณอายุราชการ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในวัยนี้เลือกใช้ชีวิตเงียบๆ กับครอบครัว เลี้ยงหลาน หรือออกไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ป้าแป๋วกลับเลือกที่จะสะพายเป้ขึ้นบ่า ออกเดินทางผจญภัยด้วยตัวคนเดียวไปเที่ยวรอบโลก
อะไรที่ทำให้แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณเลือกทำในสิ่งตรงข้ามกับคนวัยเกษียณทั่วไป วันนี้เธอจะมาแชร์ประสบการณ์ที่วางแผนเอง เดินทางเอง เที่ยวเอง หาที่พักเอง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอะไรกันที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้
ป้าแป๋วเล่าว่า รับราชการตลอดชีวิตเกือบ 40 ปี พอหลังจากเกษียณก็ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ชีวิตต้องมีที่ไป เลยมีความคิดอยากเที่ยวแบบแบ็กแพกคนเดียว
“จะเรียกว่าแรงบันดาลใจหรืออะไรก็ไม่รู้นะ เพียงแต่ว่าวันหนึ่งที่เราเกษียณแล้วเมื่อปี 2557 เราก็รู้สึกว่าเรายังแข็งแรง คนเคยทำงาน ไปทำงานทุกวันๆ แล้วจะให้มาอยู่บ้านเฉยๆ มันก็อยู่ไม่เป็น ก็คิดว่าหาอะไรทำดีกว่านะ ระหว่างที่เราไม่มีภารกิจที่ต้องทำงาน
สิ่งที่เราอยากจะไปก็คือ อยากจะไปดูโน่น ดูนี่ในเมืองไทย จังหวัดบางที่ที่เรายังไม่เคยไป ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่หลังจากเกษียณก็ออกเดินทาง
ในช่วงทำงานจะเรียกว่าไม่ได้เที่ยวเลยก็คงไม่ใช่ ไปต่างจังหวัดก็ไปอารมณ์ทำงาน ไปประชุมเป็นครั้งคราว ประชุมเสร็จก็กลับ มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราอยากจะไปในลักษณะที่เราอยากจะไปเที่ยวเองมันจะเป็นยังไง แล้วเวลาเราก็มีด้วย เราก็ไม่อยากจะอยู่เฉยๆ
คนรุ่นป้าแป๋วเป็นรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ส่วนใหญ่จะรับราชการตั้งแต่จบจนเกษียณ ถามว่าเบื่อไหม มันก็ไม่เบื่อ เพียงแต่ว่าเป็นภารกิจที่เราต้องทำ ปลายทางเราอยู่ที่ปีนั้นนะ เราจะเกษียณปีนั้นนะ เป้าหมายจะเป็นแบบนี้ ความรู้สึกจะเป็นแบบนี้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนงานเปลี่ยนอะไรเหมือนคนสมัยนี้
จนวันที่เราเกษียณ เราก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ เราก็อยากหาอะไรทำ โดยการทำที่เราชอบ เพราะว่าคนเกษียณถ้าอยู่เฉยๆ มันเฉานะคะ เผลอๆ จะอายุสั้นด้วยซ้ำ เพราะว่าจะป่วยง่าย
เรื่องเที่ยวรอบโลกไม่มีในความคิดเลย เพราะมันไม่มีตัวอย่างให้เราเห็น ป้าแป๋วเกษียณมาก็มีแต่ภาพที่เราเห็นคนกลับไปอยู่บ้านเฉยๆ เลี้ยงหลาน ทำสวน ไปวัด ไม่มีภาพนี้เลย
ป้าแป๋วก็เลยคิดว่าเรากลับมาเราก็คงเหมือนคนอื่นเขา นอนอยู่บ้าน แต่ว่าตอนเกษียณใหม่ๆ ก็ขอไปเที่ยวในเมืองไทยหน่อยหนึ่งนะ จุดเริ่มต้นในการเที่ยวก็คือเป็นแบบนี้ ไปเที่ยวในเมืองไทย ไปนั่นไปนี่ เสร็จแล้วอยู่มาวันหนึ่งก็อยากไปต่างประเทศ หาคนไปด้วยไม่ได้ทำไงดี ก็ไปเจอหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ว่าเขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางแบกเป้เที่ยว ซึ่งเขียนโดยผู้ชาย ซึ่งป้าแป๋วไปอ่าน ไปศึกษามา ก็ลองไปเดินทางดู”
“อิสระ แต่ต้องเตรียมลำบาก” เสน่ห์ชีวิต Backpacker
หลายคนอาจจะมองว่าเที่ยวตอนหนุ่มสาวจะสะดวกกว่า ได้ผจญภัยมากกว่า ลุยได้เต็มที่ ไม่ต้องมีครอบครัว หรือภาระ แต่ในมุมมองของแบ็กแพกเกอร์วัย 69 ปีก็มองว่า เที่ยวตอนนี้ก็มีความสุขแล้ว เป็นวัยปลอดจากภาระ ไปคนเดียวสะดวกกว่า มีรายได้ มีเงินบำนาญ มีอิสระ ลูกโตกันหมดแล้ว แถมประหยัดกว่าไปกับทัวร์
และยุคนี้อินเทอร์เน็ตทำให้เดินทางง่าย และมีสายการบิน Low Cost ทำให้ได้แบ็กแพกได้เต็มที่ ซึ่งป้าแป๋วก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเที่ยวไม่เกี่ยวกับอายุ รุ่นป้าก็แบกเป้เที่ยวคนเดียวได้เหมือนกัน และยังแบกเป้เที่ยวไม่รู้กี่พันไมล์มาแล้ว
“ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นคนที่เดินทางแบบนี้จะเป็นผู้ชายซะมากกว่า แล้วก็จะเป็นผู้ชายที่เขาเขียนหนังสือ แบกเป้เที่ยว จุดเริ่มต้นก็จะเป็นการไปศึกษาว่าเขาเดินทางกันแบบนี้ เขาเดินทางกันยังไง มันยากไหม มีอะไรที่มันน่ากลัวไหม
เพราะเวลาไปต่างประเทศถ้าไปกับทัวร์เราต้องหาคู่พาร์ตเนอร์ไปด้วย หรือว่าคู่นอนไปด้วย ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาเพื่อนที่สนใจเหมือนกัน อยากไปเที่ยวประเทศเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ง่ายที่จะหาแบบนี้ ถ้าสามารถเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวได้ มันก็จะตัดปัญหาไปได้เลย แล้วก็มีความเป็นอิสระด้วย
หลังจากที่ได้ลองเดินทางด้วยตัวเอง ป้าแป๋วก็จะเริ่มจากเดินทางในเอเชียก่อน เพราะประเทศในเอเชียมันไม่ต้องขอวีซ่า สายการบิน Low Cost ก็เยอะที่มีให้เราเลือก ก็ลองชิมลาง ลองฝึกหัดดู เดินทางในเอเชียก่อนเป็นยังไงบ้างประเทศนั้นประเทศนี้ ถึงจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็มีอะไรหลายๆ อย่างแตกต่างกันนะ มาเลเซียก็ต่างจากของเรา
ไปมา 40 กว่าประเทศแล้วค่ะ ยิ่งห่างออกไป ยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งมีความต่างกันมากขึ้น เสน่ห์ของการเดินทางแบบแบ็กแพกเกอร์ก็คือ มีความเป็นอิสระ เราอยากจะไปเมื่อไหร่ อยากจะไปนานแค่ไหน อยากจะไปดูตรงไหน ก็เต็มที่ของเรา ไปทีก็เอาให้คุ้มไปเลย”
นอกจากนี้ แม้การเที่ยวจะไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด บางครั้งก็ต้องทนกับความเหนื่อยล้ามากๆ แต่แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณเธอก็ไม่ถอดใจ ยังอยากเดินทางไปอีกหลายๆ ที่ที่ยังไม่เคยไป
“เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่จะออกเดินทางแบบนี้แล้วว่าสภาพแบ็กแพกเกอร์ต้องเจอแบบนี้นะ รับได้ไหม รับได้ก็จบ ไม่เคยบ่นว่าโอ๊ยทำไมต้องมาลำบาก ไม่เคยคิดเลย มีแต่ว่านี่คือของจริงนะที่เราไปเห็น คนเดินทางแบบนี้ต้องทำใจ ไม่งั้นไปกับทัวร์ดีกว่าค่ะ แบ็กแพกเกอร์ต้องทำใจ ยังไงต้องเจอ ต้องปรับตัวให้ได้”
เริ่มท่องในประเทศ ลามไปทั่วโลก!!
ป้าแป๋วเริ่มออกเดินทางท่องโลก ด้วยการเริ่มทริปแรกจากเชียงราย จนตอนนี้ไปเยือนมาแล้ว 40 กว่าประเทศทั่วโลก และสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์จะชอบเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละทริปที่ไปจะเป็นการเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพราะป้าแป๋วชอบไปดูสถานที่เก่าแก่ของเมืองแต่ละแห่ง
“เริ่มทริปแรกป้าแป๋วไปที่เมืองไทยนี่แหละค่ะ เพราะตอนนั้นไม่มีความรู้ที่จะไปต่างประเทศเลย ไปเที่ยวในเมืองไทยเป็นอะไรที่เราคุ้นเคย บางคนก็ถามว่าไปคนเดียวไม่กลัวเหรอ ไม่เหงาเหรอ มันเป็นความที่ชิน สมัยทำงานก็จะเป็นลักษณะแบบนี้ ไม่เป็นภาระให้ใคร ไปทำงานก็บอกที่บ้านไว้ แม่ไปประชุม 3 วันนะ กลับวันนั้นวันนี้ เราก็ไปเอง
ทริปแรกไปเชียงราย ไปพะเยา แพร่ น่าน ป้าแป๋วชอบไปเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ ไปดูความเป็นมาเป็นไปของบ้านเมือง แล้วก็สถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์จะชอบเป็นพิเศษ เรื่องไปเช็กอิน ไปกินไม่ได้สนใจเลย
เวลาไปเที่ยวเราก็อยากรู้ข้อมูลของสถานที่นั้น ว่าเป็นมายังไง แล้วทำให้เราอยากรู้จักจังหวัดนั้นหรือสถานที่นั้นดีขึ้น ไม่ใช่แค่ไปแล้วก็ไปถ่ายรูปเฉยๆ ไม่ใช่ ได้รับรู้เรื่องราวของเขาด้วย ความเป็นมาเป็นไปเป็นยังไง
ไปเชียงรายก็ซื้อทัวร์เป็น One Day Trip ค่ะ ตอนนั้นที่ไปไม่เตรียมข้อมูล แต่จะมีลักษณะเหมือนคนบรรยายให้ ก็ซื้อทัวร์ค่ะ ทริปแรกชิลมาก เพราะว่าไปชิมลางดูว่าถ้าไปเที่ยวด้วยตัวเองมันจะมีปัญหาอะไรบ้าง ทริปแรกก็โอเค ซื้อ One Day Trip ก็ได้ไปหลายที่ หลายจุดที่เขาพาไปเที่ยว เหมือนเป็นการเรียนรู้ด้วย เพราะว่านี่เป็นการท่องเที่ยวเองแรกๆ ของเรา”
จากประสบการณ์ลองเที่ยวของทริปแรก นำมาสู่การวางแผนเที่ยวในทริปต่อๆ ไป ซึ่งบางครั้งก็ซื้อทริปจากทัวร์ และบางจังหวัดก็ต้องวางแผนเที่ยวเอง ซึ่งป้าแป๋วมองว่าถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในชีวิต
“ไปที่อื่นก็ไม่ต่างจากนี่ เราก็ต้องไปจ้างรถพาเที่ยว หรือถ้ามันอยู่ใกล้ๆ ในตัวเมือง เราก็เดินเที่ยวเป็นหลัก ถ้ามีรถนำเที่ยว รถสามล้อ เราก็ใช้บริการรถท้องถิ่นเป็นหลัก
ช่วงแรกที่ไป ป้าแป๋วก็เหมือนเป็นการเรียนรู้ เป็นการลองเที่ยวเอง มีอะไรที่การเที่ยวของเราสะดวกขึ้นก็จะใช้วิธีการแบบนี้ แล้วแต่ที่ว่าบริการจังหวัด บางจังหวัดก็มี บางจังหวัดเราก็ต้องเที่ยวเอง มันก็ได้ประสบการณ์ต่างกัน ถ้าเป็น One Day Trip ไปซื้อทัวร์ที่นั่นมันก็สะดวก มีคนบรรยายให้เราด้วย มันก็เพลิดเพลินดี
ช่วงหลังถ้าเราวางแผนเอง เราก็ต้องเก็บข้อมูลเอง ค้นคว้าข้อมูล ไปเข้าห้องสมุด ไปค้นข้อมูล เพราะว่าจุดที่เราจะไปตรงนี้มีที่มายังไง มีความสำคัญยังไง แล้วก็ไปเที่ยวเองเราก็ใช้เวลาเต็มที่ อยากอยู่ตรงนั้นนานแค่ไหนก็ได้ ครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่งมันก็จุใจเราดี ก็ต่างจากที่ไปกับทัวร์”
แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณ เธอยังบอกอีกว่า แม้จะเดินทางคนเดียวก็ไม่กลัว เพราะเตรียมข้อมูลก่อนออกเดินทางมาอย่างดี ซึ่งเธอรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง นำมาอ่านแล้วสรุปเย็บเป็นกระดาษเพื่อจะได้ง่ายในการออกเดินทาง ซึ่งแต่ละทริปเธอมักจะทำแบบนี้เสมอๆ
“ถ้าเป็นสถานที่เก่าๆ ต้องไปหอสมุดแห่งชาติ ถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาจจะเป็นหอสมุดกลาง จุฬาฯ จะมีข้อมูลให้เราค้นคว้าเยอะเลย อินเทอร์เน็ตก็มีค่ะ แล้วก็อาจจะเป็นหนังสือท่องเที่ยวต่างๆ ก็เป็นข้อมูลให้ป้าแป๋วเหมือนกัน
ช่วงไปต่างประเทศแรกๆ พันทิปก็ดู ในแง่ของการเดินทาง จากสนามบินไปตัวเมืองเขาจะใช้รถอะไร ยังไงได้บ้าง ก็อยู่ที่ว่าคนที่รีวิวเขาสนใจตรงกันกับเราไหม บางจุดคนเขาก็สนใจเรื่องอื่น ไม่ตรงกับเรา เราก็ผ่านไป เราก็เลือกดูเป็นจุดๆ ที่มันสนใจตรงกับเรา
ถ้าเราเดินทางเองเราฟรีสไตล์เลยค่ะ จะอยู่นานแค่ไหนก็ได้ อยู่ที่เราสนใจ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเราไปดูสถานที่นั้น เรามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน บางจุดมันก็มีรายละเอียดให้เราได้ดู ก็จะใช้เวลาดูเยอะหน่อย ก็คือตามใจเรา ถ้าไปเที่ยวเองก็ตามใจเรา เราอยากจะอยู่นานแค่ไหนก็ได้ ถ้าเราสนใจมากเราก็ดูไป ถ้ามีอะไรให้ดูเราก็ดูได้เต็มที่ไป
มันเป็นเรื่องของรายละเอียดมากกว่า อย่างเช่นวัดบางแห่งก็สวยมาก ส่วนใหญ่จะวางแผนวันหนึ่งดู 2-3 จุด เราไปแล้วเราโอ้โหสวยจัง เราไปก็ใช้เวลาเก็บรายละเอียดเยอะหน่อย ไม่เคยจำกัดว่าเวลาจะต้องเท่าไหร่ ตามใจเราเลย เราอยากจะดูแค่ไหนก็เต็มที่เลย”
เห็นป้าแป๋วชื่นชอบในการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องแซวว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะต้องอ่านและเตรียมข้อมูลเยอะมากก่อนจะออกเดินทาง
“ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ว่าเราสนใจ แล้วเราก็อยากจะดูเรื่องราวของเขา แล้วก็ศึกษาไปก่อนว่าเขาเป็นยังไง เป็นความรู้สึกที่เราได้ไปดูสถานที่จริง เราก็จะซึมซับความรู้สึกที่เหมือนกับอิน
การมีข้อมูลมาก่อน แล้วไปดูของจริง บางทีมันก็ให้ความรู้สึกที่เราจะฟินเหมือนกันนะ แต่บางแห่งเตรียมข้อมูลมาแล้ว พอไปดูจริงๆ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ก็มีเหมือนกัน ก็มีทั้งสองแบบนะ บางแห่งคนไปเขียนข้อมูลก็เขียนซะเวอร์เกินไป”
แชร์ทริปสุดโหด โดนไถเงิน แถมโดนเหยียด
ใน 40 กว่าประเทศทั่วโลกที่ไปเยือน แน่นอนว่าการเดินทางท่องเที่ยวมักจะเจอกับทริปที่ชอบและไม่ชอบปะปนกันไป ซึ่งป้าแป๋วยังช่วยแชร์โมเมนต์สุดโหดให้ฟังอีกว่า บางประเทศก็ลำบากมาก ไม่มีห้องน้ำให้เข้าถึงต้องอั้นฉี่
“โหดมากก็จะเป็นแถวเอเชีย ไม่สะดวก ลำบาก เป็นอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้ แม้แต่พม่าประเทศแรกที่เราไป อันนี้ก็ถือว่าลำบาก ไม่ได้สุขสบายเหมือนยุโรปเขา ต้องเข้าใจว่าสภาพบ้านเมืองมันก็ไม่ได้เจริญ ไม่ได้พัฒนา
เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับนักเดินทางเหมือนกัน นอกจากที่พัก เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว เวลาไปต่างประเทศจะเป็นปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่ได้กินข้าวสัก 10 วันก็แย่แล้ว เราก็ไปกินอะไรก็ไม่รู้ มันไม่อร่อยหรอก มันไม่ใช่อาหารบ้านเรา
แล้วก็เรื่องห้องน้ำจะมีปัญหาเฉพาะทางเอเชียนะ อย่างศรีลังกาไปข้างนอกห้องน้ำสาธารณะไม่มี ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องห้องน้ำห้องท่าเป็นอะไรที่เราต้องปรับตัวมากๆ เลย ถ้าไปยุโรป 2 ยูโรคุณก็ต้องเข้าไป 70-80 บาท เราก็จะรู้สึกว่าโคตรแพง ฉี่ครั้งละ 70-80 บาท ไม่ไหว
ส่วนที่ไหนไม่มีห้องน้ำ ก็อั้นไว้ค่ะ เที่ยวสักครึ่งวันก็กลับมาที่พัก เป็นอะไรที่ลำบาก ทางอินเดียก็เหมือนกัน ก่อนจะขึ้นรถบัสห้องน้ำก็ไม่มีตรงที่จอดรถบัส ก็ไปบริษัทอะไรสักอย่างหนึ่งที่ใกล้ๆ ที่จอดรถบัส ฉันขอเข้าห้องน้ำหน่อยได้ไหม โชคดีที่เขาอนุญาตให้เราเข้า ไม่งั้นไม่มีที่เข้าเลย เรื่องห้องน้ำห้องท่า ทางเอเชียเราค่อนข้างลำบากมากๆ
อินเดียก็ขึ้นชื่อค่ะ เคยเห็นขบวนรถไฟยาวแบบ 200-300 เมตรไหมล่ะ เราวิ่งหาตู้รถไฟของเราตู้ไหนวะ (หัวเราะ) ก็เอาเรื่องค่ะ เป็นรถไฟตู้นอน คืออินเดียเขาจะบอกเลยว่านักท่องเที่ยวต้องขึ้นตู้อันนี้เท่านั้น
ไม่ใช่ชอบเที่ยวลำบากนะ เพียงแต่ว่ามันเป็นอะไรที่เราต้องเจอ มันไม่ได้สวยหรูเหมือนไปกับทัวร์นะ อันนี้ของจริงที่เราไป อาจจะเจอทั้งสะดวกและไม่สะดวก เป็นแบ็กแพกเกอร์ต้องปรับตัว ต้องบอกตัวเอง ไม่ใช่ว่าชอบลำบาก ไม่ใช่นะ อะไรที่สะดวกเราก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอประเทศลำบากเราก็จะรู้ว่ามันลำบากจริงนะประเทศนี้”
ป้าแป๋วเล่าอีกว่า บางประเทศยังโดนไถเงินจากแท็กซี่อีกด้วย เพราะบางคนเห็นนักท่องเที่ยวเป็นเหมือนเหยื่อที่พร้อมจะชาร์จเงินได้ทุกเมื่อ
“ที่ไปล่าสุดก็โหดเหมือนกันนะ ผู้คนอียิปต์มองนักท่องเที่ยวเป็นเหยื่อของเขา เข้าไปก็คือจะคิดราคาเป็นนักท่องเที่ยวหมดเลย บ้านเรายังติดป้ายนะ อันนี้ 40 บาท อันนี้ 50 บาท อันนั้นคือชาร์จเลยราคานักท่องเที่ยว 3 เท่าเลยมั้งป้าแป๋วว่า แล้วผู้คนเขาก็ไม่น่ารักนะคนอียิปต์ มีอะไรก็ชาร์จนักท่องเที่ยวตลอด ค่าแท็กซี่พี่แกก็สัก 30 ปอนด์ แกก็บอกสัก 120 ปอนด์
ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งจะไปตลาดที่ไคโร ตลาดสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว ตอนเช้าให้ที่พักเรียกอูเบอร์ให้บอก 20 ปอนด์นะ ก็ไปส่งลงตลาด พอจะกลับก็กลับทางเดิมแท็กซี่ ออกมาหน้าตลาดเห็นแท็กซี่จอดอยู่ก็ถามว่าจะไปตรงนี้เท่าไหร่ ก็บอกว่า 20 ปอนด์ ก็เท่ากับที่มา พอใกล้จะไปถึงพอดีรถมันติดขอลงตรงนี้แล้วกันนะ ก็หยิบเงิน 20 ปอนด์ส่งให้เขา เขาบอกไม่ใช่นะ 200 ปอนด์ เอากันแบบซื่อๆ แบบนี้เลย เมื่อเช้าไอมาอูเบอร์ 20 ปอนด์นะ แล้วยูก็บอกไอว่า 20 ปอนด์ เขาก็บอกไม่ 200 ปอนด์
ก็บอกเดี๋ยวยูหาที่จอดนะ จอดเสร็จล็อกประตูนะ ป้าแป๋วก็เปิดล็อกประตูแท็กซี่ คงคิดว่าเราเป็นบ้านนอกเปิดล็อกประตูแท็กซี่ไม่เป็นหรือยังไงนะ เปิดออกไปก็ถามคนแถวนั้น ใครพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง can you speak English
ป้าแป๋วโวยวายเลยไม่ยอม แท็กซี่ก็นั่งอยู่ในนั้น มันยืนยันว่ายังไงก็ 200 ปอนด์ จนมีผู้ชายตัวใหญ่ๆ มาช่วยเจรจา หลายคนก็ช่วยกันพูดกับเขา หลังๆ มาก็บอกว่า 50 ปอนด์ หรือบอกว่าหรือยูจะไปดูพีระมิดไหม ก็มีเงื่อนไข โอ๊ยถ้าคนนิสัยแบบนี้เราจะกล้าไปด้วยเหรอ ก็หยิบเงินเพิ่มให้อีก 10 ปอนด์ เป็น 30 ปอนด์ เอาไหมไอให้เท่านี้ มันคงโดนหลายๆ คนกดดัน คว้าเงิน 30 ปอนด์ แล้วกระชากรถออกไปเลย คนอียิปต์เป็นแบบนี้ ไปคนเดียวต้องระวัง เราก็ศึกษาไปก่อน แต่มันไม่เจอของจริงไง พอไปเจอของจริงโอ้โหอย่างนี้เลย”
นอกจากนี้ป้าแป๋วยังแชร์โมเมนต์ที่ขึ้นรถไฟไปเที่ยวบางประเทศ แล้วเหมือนคล้ายๆ โดนเหยียด แต่แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณคนนี้เธอก็ไม่ได้ยึดติด เพราะเธอมองว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของบางประเทศอย่างลึกซึ้ง
“เราขึ้นรถไฟไป ก็มีเตียงบนเตียงล่าง ป้าแป๋วอยู่เตียงบน เตียงล่างก็เป็นครอบครัวของคนอินเดีย เขานั่งกินข้าวอยู่ เราก็เหนื่อยเราก็อยากจะพัก แต่เราขึ้นเตียงบนไม่ได้ เพราะเขาติดกินอะไรกันอยู่ ครอบครัว พ่อแม่ลูกเขา
ป้าแป๋วจะขอขึ้นไปข้างบนเขาก็บอกเดี๋ยวรอก่อน เป็นลักษณะแบบนี้ แล้วก็เรารู้สึกว่าพัดลมแรงจังเลยก็เป่าหัวเรา ก็ถามเตียงข้างๆ ว่าเขาปิดพัดลมกันตรงไหน เขาก็ชี้ไปที่สวิตช์ ก็อยู่ใกล้ครอบครัวนี้แหละ ก็เลยรู้สึกว่าเขาจะค่อนข้างเหยียดนักท่องเที่ยวหรือเปล่า ถ้าเป็นเราเราก็จะช่วยปิดให้ เขาไม่คิดถึงคนอื่นเลย ดูเขาเป็นคนมีฐานะ คิดว่าคงไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป ก็เลยรู้สึกว่าเขาปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวไม่ค่อยดีเท่าไหร่
เราก็ดูไม่ออกว่าใครเป็นวรรณะไหนนะ มันก็ตัดสินไม่ได้หรอก เราไม่ได้อยู่ลึกซึ้งขนาดนั้น แต่คนอินเดียดูแล้วเขาก็จะมีลักษณะสไตล์คนฮินดู ยึดมั่นในวรรณะอย่างเข้มข้น เขาก็จะยึดแนวทางวิถีของเขา ซื่อสัตย์ในวรรณะตัวเอง เป็นอะไรที่ล้มล้างยาก”
เจาะทริก!! วางแผนเกษียณตามหัวใจ
สิ่งที่ทำให้ป้าแป๋วมีโอกาสเดินทางในวัยเกษียณ คือมีการวางแผนชีวิตมาเป็นอย่างดี เริ่มเก็บเงินตั้งแต่รับราชการเรื่อยมา บางเดือนมีมากก็เก็บมาก มีน้อยก็เก็บน้อย แต่ก็ตั้งปณิธานในใจไว้ว่าต้องมีการเก็บออมทุกเดือน
“ป้าแป๋วก็ทำงานราชการมาตลอด เงินเดือนก็ไม่เยอะ เงินเดือนน้อย ก็เก็บสตางค์ตามสภาพเงินเดือนเรา แรกๆ ก็ใช้เก็บเล่นแชร์กัน ก็เป็นการเก็บเงินอย่างหนึ่ง ช่วงทำงานปีแรก 2518 ก็มีเล่นแชร์กับฝากธนาคารมีสองอย่างเท่านั้นเอง ทางเลือกไม่เยอะเหมือนสมัยนี้
ย้ายมาทำงานที่ใหม่ก็มีหน่วยงานออมทรัพย์ของหน่วยงานราชการ ก็จะใช้วิธีอย่างนี้ แต่ละเดือนเขาก็จะตัดเงินเข้าเงินสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเงินฝากของเรา
จริงๆ ฝากไว้ เผื่อจะเป็นเงินสำรองของเรา เผื่อเรามีอะไรฉุกเฉินที่ต้องใช้เงิน ไม่ชอบไปกู้เงินแบงก์ ยืมเงินคนอื่นก็ไม่เอา เก็บไว้เผื่อมีความจำเป็นต้องใช้เวลาเดือดร้อนในชีวิตของเรา คือผู้หญิงแต่งงานคิดเสมอว่ามันไม่มีอะไรแน่นอน จนวันหนึ่งเราเกษียณแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ ครอบครัวก็ราบรื่นดีไม่มีปัญหาอะไรให้เราจำเป็นต้องใช้ เมื่อวัยเกษียณป้าแป๋วก็พอมีเงินอยู่บ้าง
เมื่อก่อนไม่ได้คิดหรอกว่าต้องเก็บกี่เปอร์เซ็นต์ เดือนหนึ่งก็จะกันไว้ว่าต้องใช้เท่าไหร่ กันที่จะใช้ออกมา ไม่ได้คิดเปอร์เซ็นต์ มีเหลือน้อยก็เก็บน้อย มีเหลือมากก็เก็บมาก เก็บทุกเดือน ข้าราชการมันก็ดีที่ว่า มันมียูนิฟอร์มที่เราใส่ประจำ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้าอะไรมาก ก็จะช่วยประหยัดไปได้
เก็บมาเกือบ 40 ปี จำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ เป็นล้านถึงนะ เพราะตอนหลังเงินเดือนก็เยอะขึ้นจากแต่ก่อน เราก็เก็บได้เยอะขึ้น โอกาสฟุ่มเฟือยไม่มีเลย ไม่มีหนี้ อีกอย่างพ่อบ้านป้าแป๋วก็จะเป็นหลักให้ เขาก็จะให้ค่าใช้จ่ายประจำเดือนมา เราเองก็ประหยัดด้วย เราก็พอมีเงินเก็บด้วย”
สิ่งที่ป้าแบ็กแพกเกอร์แนะนำคือ อยากให้ทุกคนตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากเป็นคนเกษียณในรูปแบบไหน ถ้าอยากมีเงินที่มั่นคงก็ให้เริ่มเก็บตั้งแต่ตอนนี้ หรืออยากให้สุขภาพกายสุขภาพใจดีก็ต้องเริ่มต้นดูแลตั้งแต่ตอนนี้ ยังไม่สายที่จะเริ่มต้น
“คนรุ่นป้าแป๋ว มันไม่มีโปรแกรมว่าจะต้องวางแผนเกษียณอะไรยังไงนะ คนรุ่นป้าแป๋วเขาก็คิดกันเองว่าจะทำอะไร แต่คนรุ่นใหม่มันจะมีโปรแกรมสอนว่าคุณอยากจะเกษียณแบบไหน ก็คือเหมือนมีไกด์ เป็นเรื่องที่ดีนะป้าแป๋วว่า ก็ต้องมองหลายๆ อย่างว่า
อยากให้ทุกคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากเป็นคนเกษียณแบบไหนเมื่ออายุ 60 อยากจะมีความมั่นคงทางด้านการเงินใช่ไหม ถ้าใช่ก็ต้องเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ บางคนบอกไม่ค่อยเหลือเก็บเลย คิดใหม่ ยังไงก็ต้องเก็บ เดือนหนึ่งจะเก็บกี่เปอร์เซ็นต์ตามกำลังของเรา แต่ละเดือนเราก็ต้องเอามาดู อันที่ไม่จำเป็นก็ทิ้งๆ บ้าง งดๆ บ้างๆ
คือเก็บต้องเก็บจริงๆ นะ ไม่เอามาใช้ระหว่างที่เรายังไม่เกษียณ หรือถ้าเป็นลงทุน สมัยนี้ชอบไปลงทุนนั่น นี่ โน่น แล้วแต่ ก็เป็นการเก็บเหมือนกัน แล้ววันหนึ่งที่เราเกษียณแล้ว เราก็จะมีเงินก้อนหนึ่ง หรือระหว่างเกษียณเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน เราก็ยืมเงินสำรองของเราเอง เราอยากจะทำนั่น ทำนี่ หรือมีความจำเป็นเจ็บไข้ได้ป่วยที่จะต้องใช้เงิน เราก็จะมีเงินตรงนี้ที่ใช้”
นอกจากการวางแผนเก็บเงินที่ต้องให้ความสำคัญแล้ว แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณเธอยังให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณก็จะมีกำลังเงินและกำลังสุขภาพที่ดี ทั้งเงินทั้งเรื่องร่างกายที่ไปไหนมาไหนได้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
“เรื่องสุขภาพก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ใช่ทำแต่งานจนไม่นึกถึงสุขภาพตัวเองนะ ป้าแป๋วมองว่าสุขภาพมันก็เหมือนเรื่องกินเหมือนกัน กินทุกวัน ออกกำลังกายเราก็ควรจะออกทุกวัน มันเป็นการปรับสมดุลของร่างกายนะป้าแป๋วว่า ก็อย่างเรา 60 แล้วมันก็จะไม่มีโรคประจำตัว อย่าตามใจปาก ก็ต้องเลือกอาหารกิน
ช่วงที่อายุสัก 50 กว่า ป้าแป๋วก็เริ่มออกกำลังจริงๆ เป็นเรื่องเป็นราว ไม่อยากเป็นโรค ET (Essential tremor) เบาหวาน ความดัน พวกนี้เป็นแล้วต้องกินยาตลอดชีวิต เราก็ไม่อยากจะเป็น ย้ายมาอยู่ที่บางเขน เตรียมเสื้อผ้าไปแอโรบิกทุกวัน เป็นกิจวัตรประจำวัน ก็ทำให้เมื่อวันหนึ่งที่เราเกษียณ เราก็ไม่มีโรคประจำตัว
ป้าแป๋วคิดว่าเมื่อถึง 60 ปี เรามีกำลังเงินส่วนหนึ่ง เรามีสุขภาพที่ดีส่วนหนึ่ง ป้าแป๋วคิดว่าเมื่อถึงปลายทาง คนเราถ้ามีความพร้อม จะทำอะไรก็ได้ บางคนอยากเที่ยว ก็มีศักยภาพในการเที่ยว บางคนอยากทำนั่น ทำนี่ ก็คิดว่ามีกำลังพอที่จะทำได้ ทุกอย่างแหละค่ะ เพราะฉะนั้นระหว่างที่ใช้ชีวิตที่ยังไม่ได้เกษียณ ก็ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง”
สำหรับเป้าหมายที่ว่าจะเที่ยวไปถึงอายุเท่าไหร่ แบ็กแพกเกอร์วัยเกษียณเธอก็บอกว่า ไม่มีกำหนด ก็จนกว่าร่างกายจะเดินทางไม่ไหว เพราะยังมีอีกหลายที่ทั่วโลกที่อยากไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง
จะมีสักกี่คน พูดได้เต็มปากว่า “ชีวิตนี้ใช้คุ้มแล้ว” และคุณป้าสุดคูลคนนี้ คือหนึ่งในนั้น!!…
>> https://t.co/9m8br4Vxq8
.
“ชีวิตป้าแป๋วคุ้มแล้วค่ะ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ไปในที่ที่เราอยากไปเห็น พอแล้ว ไม่เสียดายแล้ว เกินคุ้มแล้วค่ะ”
.#ป้าแบ็คแพ็ค #Backpacker #เที่ยวคนเดียว pic.twitter.com/1H7UM2oNRk— livestyle.official (@livestyletweet) May 13, 2023
@livestyle.official จะมีสักกี่คน พูดได้เต็มปากว่า “ชีวิตนี้ใช้คุ้มแล้ว” และคุณป้าสุดคูลคนนี้ คือหนึ่งในนั้น!!… #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ป้าแบ็คแพ็ค #Backpacker #เที่ยวคนเดียว #ข่าวtiktok ♬ original sound - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ป้าแบ็คแพ็ค”
ขอบคุณสถานที่ : ร้าน Lord of Coffee House หมู่บ้านสัมมากร
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **