แค่จะบอกว่าเบียร์อร่อยยังทำไม่ได้?! เปิดใจแอดมินเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม” ถูกโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 150,000 เหตุเพราะ “รีวิวรสชาติเบียร์” พร้อมเส้นทางการต่อสู้กับ พ.ร.บ.ควบคุมน้ำเมา ที่เขามองว่าไม่เป็นธรรม กับความหวังที่อยากเห็นเมืองไทย “เป็นเมืองหลวงคราฟท์เบียร์” ในอนาคต
รีวิวเบียร์ แต่โทษยิ่งกว่า เมาแล้วขับ?!
“สำหรับผม ผมมองคราฟท์เบียร์เป็นสุนทรียะของมนุษย์ เราไม่ได้ดื่มเอาเมา เราดื่มเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าเบียร์ตัวนึงมันมีอะไรบ้าง มีศิลปะ มีความคิด มีสตอรี่ สุนทรียะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ ถ้าเราเกิดมาแล้วเราไม่เสพสุนทรียะใดๆ ไม่เข้าใจศิลปะ ผมคิดว่าชีวิตคงแห้งแล้ง
ผมว่าสุนทรียะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่กฎหมายนี้มันปิดกั้นถึงขั้น แค่จะบอกว่ามันดีจังเลยยังทำไม่ได้ ผมบอกได้เลยว่ากฎหมายมันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาก มันเป็นสิทธิเสรีภาพในการพูดของผม ที่จะบอกว่าอร่อย โดยที่ไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน อย่างไปดื่มแล้วขับมันอันตรายกว่ามาก ทำให้คนตายได้ โทษปรับมันแค่หลักหมื่น
ตอนที่ผมนั่งในห้องรอประกันตัว ล่าสุดเมื่อ 21 เม.ย.มีคนโดนคดีเมาแล้วขับชนเสาไฟฟ้า ผมก็ถามว่าค่าปรับเท่าไหร่ เขาบอกปรับ 60,000 ผมนึกในใจ เมาแล้วขับอันตรายกว่าผมมากเลยนะ แต่ผมนั่งดื่มที่บ้าน เขียนบอกเฉยๆ ว่ามันอร่อย โดน 150,000 ผมว่าประเทศนี้มันผิดปกติแล้ว ที่เขียนกฎหมายให้โทษมันบ้าบอขนาดนี้ แล้วบังคับใช้กับคนทั่วไป”
“อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์” หรือ “ตี้” วัย 42 ปี แอดมินเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม” แฟนเพจรีวิวเบียร์ชื่อดัง ที่มีผู้ติดตามกว่า 72,000 คน เอ่ยระบายความเหนื่อยใจ กับทีมข่าว MGR Live
จากกรณีที่เขา เขียนรีวิวรสชาติเบียร์ตัวหนึ่งผ่านแฟนเพจ จนถูกศาลพิพากษา ในความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
ผลจากการสู้คดีหลายปี ลงเอยที่โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 150,000 บาท!!
ตี้ ย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับสะท้อนความน่าสนใจปนหดหู่ในหลายแง่มุม ของวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้านเรา เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบรรทัดต่อจากนี้ ...
“ผมทำเพจที่เกี่ยวกับคราฟท์เบียร์มานานแล้ว หลักๆ ผมก็จะอธิบายเรื่องคราฟท์เบียร์ แล้วก็มีการไปดื่ม ส่วนใหญ่ผมจะนั่งดื่มที่บ้าน รูปที่มีปัญหา ผมก็ถ่ายว่าเป็นเบียร์ตัวไหน สไตล์ไหน โครงสร้างรสชาติเป็นยังไง จบ แล้วก็ผ่านไปหลายเดือน
ประมาณปี 2020 ช่วงนั้น สคอ.(สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เริ่มออกหมายเรียกร้านค้า มีเพจคราฟท์เบียร์เพื่อนผมโดนเรียกไปแล้วก่อนหน้านี้
ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้สึกว่า ‘มันจะถึงคิวเราหรือเปล่าวะ?’ เราก็อยู่มาได้หลายปีโดยที่ไม่เคยมีปัญหา จนมีหมายเรียกจาก สคอ. เราทำผิดมาตรา 32 ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยรู้กฎหมาย เราก็ต้องไปที่ สคอ.ไปให้ปากคำ
เขาบอกว่าผมทำผิดมาตรา 32 ผมบอกผมไม่ได้มีเจตนาทางการค้า เพราะผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมทำในเชิงสุนทรียะ เป็นเรื่องปกติที่เราจะแสดงความคิดเห็น เหมือนเราดูหนังแล้วเราวิจารณ์ เหมือนกัน เราวิจารณ์เบียร์ เขาก็ไม่ฟัง
มันคือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ซึ่งในมาตรา 32 ที่เป็นปัญหา มันเขียนไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใด แสดงตราสินค้าหรือฉลาก อันเป็นการเชิญชวน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เบียร์ เหล้า ไวน์ ทุกอย่างที่มีแอลกอฮอล์ก็จะถูกห้ามหมด พอมันมีคำว่าทางอ้อม มันก็เลยเอื้อให้เจ้าหน้าที่ตีความได้ครอบจักรวาล ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามที่เห็นหรือเขียนถึง มันก็ผิดกฎหมายแล้ว ในมุมมองเขานะครับ”
“เงินครึ่งแสน” คือตัวเลขค่าปรับเริ่มต้น ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32
“ในมาตรานี้ มันจะมีค่าปรับสตาร์ทที่ 50,000 เราซื้อเบียร์มา 200 กว่าบาท นั่งกินที่บ้าน ไม่ได้ทำอะไรให้ใคร แล้วทำไมต้องมาเสีย 50,000 เราก็รู้สึกถึงความผิดปกติของกฎหมายนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ก็ขอตัดสินใจไม่จ่าย ไปสู้กันต่อ
เรื่องมันก็จะไปถึง สภ.นนทบุรี เพราะกระทรวงอยู่ในเขตนนทบุรี เราก็ไปให้ปากคำพนักงานสอบสวน ก็ปฏิเสธไป ทีนี้เขาจะโอนเรื่องให้อัยการนนทบุรี ต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกเดือน ไปถึงก็เซ็น เป็นอย่างนี้ประมาณปีนึง จนเขามีคำสั่งฟ้อง 2022 ไปขึ้นศาล ศาลกับอัยการก็ถามว่าจะสารภาพมั้ย ผมก็ยังยืนยันในสิทธิเสรีภาพของผม ว่ามันเป็นสิทธิในการพูดของผม
ในเมื่อไม่สารภาพ เขาก็นัดสืบพยานโจทก์กับจำเลย แล้วก็มีคำตัดสินเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลท่านตัดสินให้ผมจำคุก 8 เดือน ปรับ 200,000 บาท แล้วก็มีค่าปรับรายวันด้วย ศาลท่านลดโทษให้เหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 150,000 โทษจำคุก รอลงอาญา 2 ปี เราก็ต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 แต่เรามีระยะเวลาในการอุทธรณ์ 1 เดือน แต่เราไปขอศาลให้ขยายเวลาได้ เดี๋ยวต้องปรึกษาทนายกันอีกที เพราะเราไม่ทราบว่าทางฝ่ายอัยการจะเพิ่มโทษผมหรือเปล่า”
อีกความผิดปกติของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ไม่สามารถปล่อยผ่านได้ คือเรื่องของ “ส่วนแบ่งสินบนค่าปรับ” ที่ร้อยละ 80 จะถูกหักให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้แจ้งเบาะแส เขามองว่าจุดนี้กลายเป็น “แรงจูงใจ” ให้ผู้มีอำนาจนำกฎหมายในมือ มาใช้เล่นงานคนตัวเล็ก เพื่อยืนหยัดในสิทธิของตน แม้จะต้องแลกมาด้วยเวลา และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ แต่ ตี้ ก็ยืนยันที่จะสู้คดีต่อ
“ยิ่งเรารู้ความผิดปกติมากขึ้น อย่างเช่น กฎหมายนี้มันจะมีสิ่งที่สอดไส้มาคือ ส่วนแบ่งสินบนค่าปรับ คือ ค่าปรับจะหักเข้ารัฐ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์เขาเอาไปแบ่งกัน เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ปรับปกติ
สมมติค่าปรับ 50,000 จะหักเข้ารัฐ 10,000 บาท อีก 40,000 บาท จะหักให้กับ สคอ. แล้วเขาก็จะไปแบ่งกันตามตำแหน่งหน้าที่ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันผิดปกติ คุณไม่ได้ตัดสินด้วยดุลยพินิจที่ดี มันกลายเป็นว่ามีเงินเป็นแรงจูงใจ
เพราะว่าเขาใช้ฐานคิดจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด ปกติเจ้าหน้าที่ที่ไปจับยาเสพติด จะได้ส่วนแบ่งค่าปรับใช่มั้ยครับ อันนั้นเราเข้าใจเพราะเจ้าหน้าที่ที่ไปจับยาเสพติดมีค่าเสี่ยงภัย แต่ว่าจับเบียร์นี่มันเสี่ยงภัยตรงไหน เรามีคำถามเต็มไปหมดเลย
ในคดีมาตรา 32 (คนที่โดน) ร้อยละ 95 ยอมจ่าย คดีสิ้นสุดที่การจ่ายค่าปรับ 50,000 ส่วนใหญ่เป็นดาราโดน แต่หลังๆ สคอ.เขามาเล่นงานร้านค้า ต้องยอมรับว่าการเข้าสู่กระบวนการศาล เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองเวลา แล้วก็เสียสุขภาพจิตมาก หลายคนไม่อยากจะขึ้นศาล ก็ยอมจ่าย อย่างเพื่อนผมเป็นบล็อกเกอร์เหมือนผม ก็ยังโดน 50,000 เขาต้องไปยืมเพื่อนมาจ่าย
เราก็รู้สึกว่ามันไม่ควรที่จะต้องจ่ายสูงขนาดนี้ รู้สึกว่ามันอยุติธรรม ถูกเอาเปรียบ ก็เลยเอาวะ ยอมสู้ ยอมเสียเวลา 3 ปี จากนักดื่มธรรมดา ผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมาย ตอนนี้ผมรู้แทบจะทุกมาตราแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้ผมรณรงค์ทุกที่ ไปคุยกับทุกหน่วยงาน คุยกับพรรคการเมือง จะเรียกว่าเป็น beer activist ก็ได้ ก็งงว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง”
ล่ารายชื่อนับหมื่น หวังทวงคืนความยุติธรรม
อีกประเด็นที่ชวนกุมขมับของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากค่าปรับเริ่มต้นที่สูงลิบลิ่วแล้ว ยังมี “ค่าปรับรายวัน” ที่เรียกได้ว่ากะเอากันถึงตาย เพราะใครโดนคดีเข้าไป ต้องหาเงินมาจ่ายวันละ “ครึ่งหมื่น”
“จนโดนคดีถึงมาศึกษาจริงจังว่าอะไรยังไง มีส่วนแบ่งค่าปรับ มีค่าปรับรายวัน เรารู้สึกว่ากฎหมายนี้มันเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าหน้าที่บางคน ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็ 50,000 แต่ถ้าเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย จะสตาร์ทที่ 500,000
50,000 ของแต่ละคน ความเสียหายมันไม่เท่ากัน ผู้ผลิตรายย่อย ร้านอาหาร หรือว่าประชาชน 50,000 อาจจะเป็นเงินที่เขาใช้ได้ 2-3 เดือน เอาไปเลี้ยงครอบครัว เขาจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย ซึ่งมันก็สู้กันลำบากในสนามที่มีกติกาแบบนี้
ส่วนสิ่งที่เรียกว่า ค่าปรับรายวัน คนที่ร่างขึ้นมาเขียนเพื่อจะเอาผิดกับบริษัทรายใหญ่ ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว พวกบริษัทรายใหญ่เขาจะซื้อสื่อเป็นบิลบอร์ด ป้ายข้างทาง ติดตามทางหลวง เขาก็เลยเขียนกฎหมายนี้เพื่อเอาผิดบริษัทรายใหญ่ ถ้าไม่เอาโฆษณานี้ออกหรือมีป้ายนี้อยู่ จะคิดค่าปรับวันละ 5,000 บาท 10 วันมันก็ 50,000 มันโหดมาก
พอเขาเอากฎหมายนี้มาใช้กับประชาชนธรรมดา มันแปลกแล้ว ผมจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย แล้วค่าปรับรายวันมันเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งได้ อย่างเช่น สมมติเจ้าหน้าที่เห็นว่าผมทำผิด 1 ม.ค. แต่เขาไม่แจ้ง มาแจ้งจับวันที่ 31 ธ.ค. เท่ากับว่าถ้าเกิดผมผิดจริง ค่าปรับผมก็จะ 5,000 x 365 ซึ่งค่าปรับรายวันมันไม่ควรใช้กับรายย่อยหรือว่าประชาชนธรรมดา”
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะหว่านแหโทษอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นประกอบการรายเล็กหรือใหญ่ ตลาดจนประชาชนทั่วไป แต่ ตี้ ก็มองว่า ในจำนวนค่าปรับที่เท่ากัน ก็ยังไม่มีความเท่าเทียมอยู่ในนั้น
[ เข้ายื่นรายชื่อ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ]
“สคอ.เขาจะพูดว่าบังคับใช้กับทุกคน ผมเคยคุยกับทนายของบริษัทเบียร์รายใหญ่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า เขาบอกว่าปีนี้เขาโดนค่าปรับเป็นหลัก 10 ล้านขึ้นไป จำนวนคดีมันสูงมาก ทั้งรายใหญ่และรายย่อยผสมกัน ค่าปรับไม่น่าจะต่ำกว่า 10-20 ล้าน ที่เขาได้ไปในแต่ละปี คิดเอานะว่าแบ่งให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้จะได้เท่าไหร่
เจ้าใหญ่ถ้าเขาโฆษณาเองก็จะโดน 500,000 เขาก็ใช้วิธีไปจ้างเพจ influencer จ้างให้พูดถึงเบียร์ ให้ถ่ายรูปเบียร์ ถ้าเกิดสมมติเพจนั้นโดนหมายเรียก เขาก็ยอมเอาตังค์ให้ 50,000 ไปจ่าย
หรือใช้อีกแบบนึงคือทำโฆษณาจากต่างประเทศ ซึ่งมันอยู่ในข้อยกเว้น ในมาตรา 32 จะไม่นับโฆษณาที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ รายย่อยไม่มีปัญญาทำอยู่แล้ว ก็มีแต่รายใหญ่ที่ทำได้ ผมไม่ได้ว่าอะไร มันเป็นสิทธิของเขา แต่นั่นแหละครับ 50,000 ของรายใหญ่ กับ 50,000 ของผม มันต่างกันมาก”
ทั้งนี้ แอดมินเพจดัง ยังยกคดีตัวอย่างที่เคยได้รับรู้มา ซึ่งแต่ละคำตัดสินที่ได้ยิน ก็ทำเอาเขาออกอาการงงไม่น้อย
“พูดอะไรก็ไม่ได้ พูดรสชาติก็ไม่ได้ บอกว่าอร่อยก็ไม่ได้ ด่าก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมเคยถามเจ้าหน้าที่กึ่งๆ กวนนิดนึงว่าถ้าผมเขียน เบียร์ตัวนี้รสชาติไม่ได้เรื่อง ห่วยแตกสุดๆ ได้มั้ย เขาก็บอกว่าไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่า คุณเขียนอย่างนี้ เดี๋ยวคนก็อยากไปลองว่ามันห่วยจริงมั้ย คือมันตลกถึงขั้นนี้
มันยังมีเคสประหลาดๆ อีกเยอะครับ อย่างเช่น เพื่อนผมไปญี่ปุ่น ไปถ่ายรูปตอนดื่มเบียร์ในบาร์ แล้วก็อัปลง YouTube ช่องเขา เขาก็บอกว่าผิด เพราะว่าจะทำให้คนอยากบินไปดื่มที่ญี่ปุ่น มันตีความถึงขั้นนี้
มีอีกเพจนึงที่โดน ก็คือลงรูปฉลากของวิสกี้ยี่ห้อนึง ซี่งตอนนั้นวิสกี้ยี่ห้อนี้เขาไปคอลแลปกับซีรีส์ Game of Thrones ฉลากมันก็จะสวย เขาลงโดยแค่บอกว่าฉลากมันสวย ไม่ได้จะขายของอะไรเกี่ยวกับวิสกี้เลย แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าผิด จะทำให้คนอยากบินไปซื้อที่สก็อตแลนด์ ผมก็งง มันจะมีคดีบ้าๆ บอๆ อย่างนี้อีกเยอะมาก เขาหากินกับกฎหมายนี้มานานมากครับ”
และอีกหนึ่งความน่าเศร้าใจ ที่นักดิ่มผู้นี้สะท้อนกับผู้สัมภาษณ์ คือกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้ผ่านเวลามานับสิบปี ก็ยังไม่ได้มีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน
“โดยปกติกฎหมายเขาจะมีการมีเช็กว่าอัปเดตมั้ย เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมั้ย ทุกๆ 5 - 6 ปี กฤษฎีกาจะเข้ามาเช็ก แต่ว่ากฎหมายนี้มันถูกควบคุมโดยสาธารณสุข โดยกลุ่มต้านเหล้า ถ้าจะเปลี่ยน เขามีจะความพยายามแก้ไขให้มันหนักขึ้น
ความพยายามครั้งล่าสุด ช่วง ธ.ค.2020 เขาเขียนเพิ่มวรรคลงไปว่า ห้ามซื้อ-ขายออนไลน์ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมันคือรายย่อย คนที่ใช้ช่องทางออนไลน์จริงๆ คือสุราชุมชน คราฟท์เบียร์ เพราะว่ารายใหญ่คุณซื้อได้ตามร้านสะดวกได้ทั้งประเทศ
เขาให้เหตุผลว่า ห้ามขายออนไลน์เป็นการป้องกันเยาวชน ซึ่งมันไม่ make sense เพราะเรามีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามจำหน่ายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ทำไมคุณไม่ไปบังคับใช้ข้อนี้ คุณบังคับใช้ปลายเหตุ
แล้วเขาก็จะอ้างอีกว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการดื่มมากขึ้น ซึ่งฟังแล้วมันก็แปลกๆ พอคุณห้ามซื้อ-ขายออนไลน์ ก็เท่ากับว่าคุณบีบให้คนเดินทางออกไปนอกบ้าน มันก็เกิดอุบัติเหตุ มันเป็นความสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของกลุ่มนี้”
ไม่ใช่เขาคนเดียวที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ผู้คนในสังคมก็เห็นด้วยเช่นกัน จนนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อประชาชนจนถึงเป้า เพื่อยื่นเรื่องขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
“ตามกฎหมายต้องรวบรวมชื่อจากประชาชน 10,000 ชื่อขั้นต่ำ เพื่อจะไปขอแก้ไขกฎหมาย เราก็รวมกันได้ 11,000 พอเขารู้ว่าเราขอแก้ เขาก็ไปเกณฑ์คนจากกลุ่ม อสม.มาลงชื่อแล้วก็แก้ให้มันหนักขึ้น ตอนนี้กฎหมายมันค้างอยู่ในรัฐสภา ต้องรอคิว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วมันจะลงเอยยังไง
ถ้าฉบับแก้ไขของเขาผ่าน มันจะอันตรายมาก เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่แบบสุดขีดคลั่งเลยครับ จะบุกจับ บุกตรวจ บุกค้นโกดังของผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตเมื่อไหร่ก็ได้ 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องใช้หมายค้น มันอันตรายถึงขั้นให้เจ้าหน้าที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่มีขื่อมีแปกันแล้ว ซึ่งมันผิดหลักกฎหมายทั่วไปมาก สมมติคุณจะบุกค้นอะไรมันก็ต้องขอหมายศาล แต่นี่คือไม่
มันมีคำว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางอ้อมคืออะไรเขาไม่ได้ระบุ มันก็ผิดหลักกฎหมายอาญา เพราะว่ากฎหมายอาญามันต้องตีความให้แคบที่สุดเท่าที่จะแคบได้ ต้องระบุเลยว่าอะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ อันนี้กลายเป็นว่าตีความครอบจักรวาล
กลายเป็นว่าคุณให้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นใหญ่ ซึ่งดุลยพินิจของแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว ยิ่งมีเงินเป็นแรงจูงใจ เขาก็ยิ่งตัดสินให้มันผิด สำหรับผม ผมคิดว่าเขาสุดโต่งจนเกินไป เขาไม่มองบริบท ณ ปัจจุบันว่าโลกเป็นยังไงแล้ว”
“ถ้าได้รัฐบาลประชาธิปไตยกว่านี้ โอกาสเปลี่ยนแปลงมีสูง”
ในส่วนที่ต้องการให้มีการปรับแก้ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตี้ เปิดเผยว่า ได้มีการพูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ไปจนถึงภาคเศรษฐกิจ
“ผมไปคุยกับทาง TABBA (Thai Alcohol Beverage Business Association) สมาคมธุรกิจแอลกอฮอล์ไทย คุยกับ อ.เจริญ (ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย) เพจสุราไทย ว่าเราจะแก้ตรงไหนบ้าง เราไม่ได้แก้มาตราเดียว มันต้องแก้ทั้งฉบับ
ผมเคยคุยกับนายกสมาคมธุรกิจผู้ประกอบการที่ข้าวสาร กฎหมายนี้มันมีปัญหามาก มันทำให้การท่องเที่ยวเราไม่เติบโต นักท่องเที่ยวมาเขาก็อยากนั่งดื่มได้ทั้งวัน ปัจจุบันกฎหมายห้ามขาย 14.00-17.00 น. มันเป็นอุปสรรคของการท่องเที่ยว
ผมไปประเทศไหนในโลกเขาก็ดื่มได้ตามปกติ แต่เราห้าม มันเป็นกฎหมายตั้งแต่สมัย 2500 ต้นๆ เขาเขียนเพื่อที่จะป้องกันข้าราชการมาดื่มตอนบ่าย แล้วก็ไม่ทำงานทำการกัน ฟังเหตุผลแล้วมันตลกมากแต่เรื่องจริง แล้วก็ยังบังคับใช้จนจะครึ่งศตวรรษแล้ว มันไม่ make sense ในโลกปัจจุบัน เรื่องวันห้ามขายก็ด้วย ปัจจุบันเราห้ามขายในวันสำคัญทางศาสนา
แล้วเราก็จะเอาคำว่าทางอ้อมออกไป จะแก้เป็นว่า ห้ามอวดอ้างสรรพคุณอันเกินจริง พวกคราฟท์เบียร์หรือรายย่อย เราไม่ได้ต้องการโฆษณา เราแค่ต้องการบอกสตอรี่ของเราว่า เช่น เบียร์ตัวนี้ใช้ฮอปส์อะไร ใช้มอลต์อะไร ใช้ผลไม้อะไร แค่นี้พอ ผมเคยถามคนในที่ประชุมว่า ผมจะบอกได้มั้ยว่าเบียร์ตัวนี้ใช้ฮอปส์อะไร เขาบอกไม่ได้ ถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ”
ผู้สัมภาษณ์จึงนักดื่มผู้นี้ ลองหยิบกฎหมายควบคุมน้ำเมาในบ้านเรา เทียบต่างประเทศ ก็เห็นถึงประเด็นที่แตกต่างกันหลายจุด
“มันต้องควบคุมอยู่แล้ว เพราะเป็นสินค้าพิเศษ ผมบอกได้เลยว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่จะใช้กฎหมายควบคุมแบบสุดโต่งเท่าประเทศไทยครับ ส่วนใหญ่ที่ผมเคยไป ไม่มีการห้ามขายระหว่างวัน เพราะมันส่งผลต่อธุรกิจรายย่อย
อย่างสิงคโปร์น่าจะได้ถึง 22.30 น. ถ้าไปนั่งดื่มตามบาร์ได้ถึงเที่ยงคืน หรือแถบสแกนดิเนเวีย กฎหมายเขาก็เข้มถ้าเทียบกับยุโรปทั่วไป เขาจะเขียนเลยว่า ห้ามใช้ดาราหรือคนมีชื่อเสียงในการโฆษณา แล้วก็ห้ามผู้ผลิตโฆษณา แต่ว่าผู้นำเข้าหรือร้านค้า ก็โพสต์ โฆษณาได้ตามปกติ
แต่เขาจะไม่ควบคุมกับการดื่มของประชาชน อย่างเช่น เกาหลีใต้ อย่างที่เราเห็นในซีรีส์ ในหนังก็ดื่มกันปกติ ถือเป็นวัฒนธรรมส่งออก ชาวบ้านจะถ่ายรูป ดาราจะไปโฆษณาอะไรเรื่องของเขา
แต่ถ้าคุณไปทำให้เกิดปัญหาสังคม เขาเอาถึงตายเลยนะ มีคดีดาราเมาแล้วขับ ติดคุกจริงจัง ไม่ต้องอุทธรณ์ เจอกันที่เรือนจำ แล้วก็จะหมดอนาคตเพราะโดนแบนทั้งวงการ ทำไมเราไม่ทำแบบนี้
แทนที่คุณจะไปบังคับใช้กฎหมายที่มันจำเป็น ถ้าใครเมาแล้วขับ โดนจับติดคุกทันทีโดยไม่ต้องอุทธรณ์ ไม่ต้องรอลงอาญา แต่คุณใช้กฎหมายไร้สาระ มาบังคับกับคนที่เขาดื่มเอาความสุข ดื่มอยู่ที่บ้านแบบผม มันประหลาดครับ”
เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ยังพอมองเห็นแสงสว่างให้กับคนที่มีความฝันในด้านนี้หรือไม่ นักดื่มตัวยงกล่าวว่า แม้จะยากแต่ก็อยากให้ฝันต่อ
“จริงๆ ผมก็อยากให้ฝันต่อนะ ถึงแม้ถ้าคุณฝันอยากเป็น brewer (คนต้มเบียร์) ในประเทศไทย มันเป็นอะไรที่เศร้าโคตรๆ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับโรงเบียร์ บอกตรงๆ คุณต้องรักมาก คุณต้องเหนื่อยมาก ต้องมี passion มหาศาล
ต้องยอมรับว่าคราฟท์เบียร์มันโชคร้ายอย่างนึง ที่มันดันโตในยุคที่ประเทศเราไม่ค่อยประชาธิปไตยเท่าไหร่ มันดันโตตอนเกิดรัฐประหารพอดี มันเลยเป็นความซวย พอประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย คนบ้าศีลธรรมก็เป็นใหญ่ ห้ามนู่นห้ามนี่
ผมว่าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลได้ ให้มันเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงมีสูงครับ เท่าที่ผมคุย หลายพรรคการเมืองก็เห็นด้วยกับเรา การผ่าน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้ามันไม่เพียงพอ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมด้วย แต่แก้ไขยังไงต้องไปคุยกันอีกที ผมก็เชื่อว่าถ้ามันเกิดความพยายามแก้ไขในสภาเมื่อไหร่ กลุ่มต้านเหล้าออกมาแน่นอน
แต่ผมก็อยากให้คนที่เขาสุดโต่งเรื่องนี้ มามองมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางอื่นบ้าง เพราะกฎหมายนี้มันไม่มีประโยชน์เลย มันสร้างแต่ความเดือดร้อนให้กับรายย่อยครับ คุณต้องมองว่าโลกมันไปถึงขั้นไหนแล้ว เราจะถอยหลังไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่
เราใช้ พ.ร.บ.นี้มา 15 ปี จำนวนนักดื่มไม่ได้ลดลง เพิ่มขึ้นทุกปี มันแปลว่าสิ่งที่คุณพยายามควบคุม มันไม่ได้ช่วยให้จำนวนคนดื่มลดลง ไม่ช่วยให้อุบัติเหตุลดลง ผมเชื่อว่าคนอายุถึง 20 เขามีสิทธิที่จะดื่มหรือไม่ดื่ม
ถึงไม่มีโฆษณา คนมันจะดื่มก็ดื่ม คนที่มันไม่ดื่ม ต่อให้คุณเอาเบียร์เอาเหล้าไปวาง ยังไงเขาก็ไม่ดื่ม ต้องเปลี่ยน Mindset กฎหมายนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลในโลกของความเป็นจริงครับ”
ไม่แก้ พ.ร.บ.ควบคุม #สุราก้าวหน้า ก็ไม่เกิด “ด้วยความที่ พ.ร.บ.นี้มันไปอยู่ในการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมองแต่เรื่องสุขภาพ เรื่องของศีลธรรม โดยไม่มองมิติทางเศรษฐกิจหรือศิลปะ ขณะที่ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุรา มันไปอยู่กับสรรพสามิต กระทรวงการคลัง คนยังมีความสับสนว่า กฎหมายควบคุม มาตรา 32 มันเกี่ยวกับสุราก้าวหน้า ซึ่งจริงๆ มันคนละฉบับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะเป็นเรื่องของสรรพสามิต จะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการผลิต เงินทุนในการจดทะเบียน กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการผลิต อย่างเช่น ถ้าคุณทำรายย่อย ก็ต้องมีกำลังการผลิตแสนลิตรต่อปี ถ้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่าน ก็จะไม่มีเงื่อนไขพวกนี้ แต่หลังจากผลิตมันจะเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมแล้ว ซึ่งสรรพสามิตทำอะไรไม่ได้ สมมติ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่าน ก็จะทำให้เกิดผู้ผลิตรายย่อย แต่ถ้ายังมี พ.ร.บ.ควบคุมแบบนี้ ต่อให้มีรายย่อยเกิดใหม่ทุกจังหวัดทั่วประเทศก็จะตายหมด คุณผลิตมาแล้วพูดไม่ได้ก็ขายของไม่ได้ มีการพูดว่าจะทำสินค้าแอลกอฮอล์ให้เป็น soft power ส่งออก ผมบอกได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังมี พ.ร.บ.ควบคุมนี้ เราโพสต์อะไรไม่ได้เลย โพสต์ปุ๊บโดนจับ ต้องมาเสียตังค์ให้เขาครั้งละ 50,000 ยังไงก็ไม่รอด ด้วยกฎหมายสรรพสามิตฉบับปัจจุบัน บ้านเราเงื่อนไขคือ 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก คุณต้องมีเงินเป็นพันล้าน ถ้าคุณไม่ทำโรงงานขนาดใหญ่มาก คุณก็ต้องไปทำ Brew Pub คือโรงต้มเบียร์ขนาดเล็กที่จัดจำหน่ายในสถานที่ผลิต ไปนั่งกินในร้าน มีเครื่องมือผลิตอยู่ข้างๆ เหมือนเยอรมันตะวันแดง ซึ่งตอนนี้ Brew Pub มีอยู่ประมาณ 10 กว่าโรง แต่เราไม่มีตรงกลาง อยากจะทำปีละหมื่นลิตร เราไม่สามารถทำโรงขนาดเล็กแบบต่างประเทศได้ กฎหมายเราไม่อนุญาตให้ทำ ดังนั้นเวลาผู้ผลิตรายย่อยของเราที่อยากจะทำคราฟท์เบียร์ ต้องไปทำต่างประเทศ ที่เขารับทำ OEM (Origianl Equipment Manufacturer คือ ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทมาขายในแบรนด์ตัวเอง) แล้วค่อยนำเข้ามาขายในไทยอีกที ที่เคยทำหลักๆ ก็จะมีเวียดนาม กัมพูชา ไต้หวันก็มี เหมือนเราเอาเงินไปให้เขา เงินไม่ได้อยู่ในประเทศ ซึ่งพอนำเข้า เราก็ต้องเสียภาษีนู่นนี่เยอะมาก อย่างที่รู้กันว่าภาษีแอลกอฮอล์บ้านเรามันสูงมาก กำไรจริงๆ มันไม่ได้เยอะเลย คนที่จะทำคราฟท์เบียร์ขาย ต้องมีความบ้าและไม่มีทางรวย เพราะต้นทุนสูงมากครับ ถ้าเป็นคราฟท์เบียร์นำเข้ามาขาย มันก็จะเริ่มสตาร์ทที่ 200-300 มันหฤโหดมาก ราคามันก็ยังสูงถ้าเทียบกับเบียร์ตลาดทั่วไป แต่ถ้าผลิตในประเทศ ราคาก็จะไม่แพงมาก แต่ถ้าจะให้มันถูกเลย ผมว่ายากหน่อย ต้องมีปริมาณการผลิตที่เยอะๆ ยิ่งคุณผลิตเยอะ ต้นทุนยิ่งถูกลง” |
ดื่มจนได้ดี 2 ใบการันตีระดับสากล
สำหรับชีวิตส่วนตัว อีกบทบาทของเขา นอกจากการแอดมินเพจ ตี้ ประกอบอาชีพด้านงานแปลเป็นหลัก จนชีวิตได้มารู้จักกับ “คราฟท์เบียร์” นำมาสู่การเปิดแฟนเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม” เพื่อรีวิวรสชาติ และให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มชนิดนี้ ในเวลาต่อมา
“ปกติผมทำเกี่ยวกับงานแปลครับ เป็นนักแปล subtitle ทำธุรกิจ Trade Gold Futures ซื้อ-ขายทอง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเบียร์ แค่ชอบดื่มเบียร์เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ผมทำงานที่บ้าน ก็เลยไม่ค่อยออกไปร้านเบียร์ที่ไหน นั่งดื่มอยู่ที่บ้าน
ผมทำเพจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคราฟท์เบียร์ยังไม่มีคนรู้จัก ผมมีโอกาสได้ไปลอง ดีว่ะ เราอยากบอกคนอื่นว่าคุณมีทางเลือก คุณไม่จำเป็นต้องไปดื่มอะไรจำเจแค่ในร้านสะดวกซื้อ เหมือนดูหนัง คุณไม่ต้องดูแต่หนัง Blockbuster คุณไปดูหนังอินดี้อะไรพวกนี้ได้ การที่คุณมีทางเลือกในชีวิต มีตัวเลือกแปลกๆ ใหม่ๆ มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มคุณค่าชีวิตมนุษย์ ผมเชื่ออย่างนั้น
แล้วก็อยากจะสร้างวัฒนธรรมการดื่มที่ดีครับ คนที่ดื่มแล้วสร้างปัญหามีเยอะ ผมเชื่อว่าถ้าเราดื่มด้วยความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ดื่มด้วยการมองในเชิงสุนทรียะ ก็จะลดปัญหาการดื่มแบบเละเทะตรงนี้ไปได้ ผ่านมา 10 ปีก็ไม่รู้ว่าได้ผลมั้ย แต่ก็รู้สึกว่ามีหลายคนเหมือนกันที่มาบอกว่า เพจพี่เปิดโลก ทำให้ผมมีมุมมองใหม่ๆ ผมก็ดีใจที่ทำให้หลายคนรู้สึกอย่างนั้นได้”
ด้วยความหลงใหลในเครื่องดื่มมีฟองชนิดนี้ ถึงขั้นที่ทำให้เขาพาตัวเองไปสอบวัดความรู้ด้านเบียร์ จนได้ใบการันตีระดับสากลมาครอง
“ในวงการคราฟท์เบียร์จะมี 2 อย่าง BJCP (Beer Judge Certification Program) กับ Cicerone เหมือนกับวัดความรู้ สอบสากลทั่วโลกครับ อธิบาย BJCP ก่อน ต้องวัดความรู้ความเข้าใจว่าโลกนี้มีเบียร์กี่สไตล์ ซึ่งมันเยอะมาก แล้วแต่ละสไตล์มีค่าความขมเท่าไหร่ มีสีอะไร มีลักษณะเฉพาะตัวยังไง ในแต่ละประเภทมันไม่เหมือนกัน
BJCP ในไทยตอนนี้ที่ผ่านได้วุฒิแล้วมีประมาณ 10 กว่าคน ส.ส.เท่าพิภพ (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร) ก็เป็นหนึ่งในนั้น มันสอบยากครับ ไม่มีสอบในไทย สอบรอบ 2 ต้องไปที่ต่างประเทศ อย่างผมสอบรอบแรกผ่าน แต่พอมีโควิดเลยไม่ได้ไปสอบ เดี๋ยวจะต้องไปสอบใหม่อีกรอบ ถ้าเราสอบได้ ก็จะสามารถไปเป็นกรรมการในการตัดสินเบียร์ได้
อีกอันคือ Cicerone สอบออนไลน์ได้เหมือนกัน จะเป็นคำถามเกี่ยวกับคุณเข้าใจเรื่องเบียร์มากแค่ไหน รู้สึกในไทยจะมีคนผ่านประมาณ 60-70 คน ตอนมีจัดประกวดเบียร์ ผมก็เคยเป็นกรรมการตัดสิน ก็ต้องมานั่งดม มาให้คะแนนว่าเบียร์มันผ่านหรือเปล่า คะแนนควรจะได้เท่าไหร่
ในประเทศอื่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง คนสอบกันเยอะมาก บ้านเราน้อย คนยังไม่ค่อยรู้ ใครที่รู้คราฟท์เบียร์เยอะๆ ก็อยากให้เขาไปสอบ มันเป็นการยกระดับมาตรฐาน เหมือนไวน์เขาจะมี Sommelier ที่รู้เรื่องไวน์ สามารถแยกแยะกลิ่น แยกแยะรส จับคู่ paring เบียร์ก็เหมือนกัน เรามองว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นศิลปะด้วย เจตนาเราพยายามจะยกระดับการประเมินคุณค่างานศิลปะ ให้มันมีมาตรฐานมากขึ้นครับ”
ชายวัย 42 ปี ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า หลังจากถูกดำเนินคดี ก็ทำให้ passion ที่มีต่อการดื่ม ลดลงไม่น้อย
“ยอมรับว่าฝ่อครับ (หัวเราะ) ตอนช่วงขึ้นศาลผมดื่มไม่ลงเลย ผมก็ไม่ได้ดื่มทุกวันนะครับ คนชอบนึกว่าผมดื่มทุกวัน ไม่ไหว เดี๋ยวตับพังหมด พอขึ้นศาล 21 เม.ย.ผ่านมาสัปดาห์นึงเพิ่งดื่มไปครั้งเดียว ความสนุกลดลงไปเยอะเลย รู้สึกเซ็งๆ
ผมไม่เคยหาผลประโยชน์แม้แต่บาทเดียว เสียเงินซื้อเบียร์เองแล้วยังต้องมาโดนปรับอีก ก็รู้สึกเซ็งๆ นิดหน่อย เราไม่เคยมีความคิดทางธุรกิจ แค่มี passion แค่อยากบอกกับคนทั่วไปว่า คุณมีทางเลือกในชีวิต แค่นั้นเองครับ
ถ้าใครดูเพจผม รูปผมห่วยมาก ถ่ายรูปเบียร์กับแก้ว แล้วเขียนอธิบายใช้ศัพท์ความรู้เยอะมาก ผมก็ไม่ได้อยากพูดอวยอะไร แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่า เพจผมเป็นเพจคราฟท์เบียร์ที่ให้เชิงความรู้เยอะสุดในประเทศแล้ว เคยเขียนอธิบายประวัติศาสตร์เบียร์บ้าง เป็นความรู้สำหรับคนที่มัน nerd คนที่มัน geek ให้ความรู้ก็ยังโดนจับครับประเทศนี้
ผมมีคำถามในหัวเยอะมาก ‘ทำไมกูต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย’ เรามีความรู้สึกคับข้องใจ ทำไมการพูดถึงความงดงามของเครื่องดื่ม มันกลายเป็นอาชญากรรมไปได้ เราไม่ได้หวังชนะคดี เราอยากขอความเป็นธรรมแค่นั้นเอง”
แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็อยากให้เรื่องราวของเขา เป็นกรณีตัวอย่างของการต่อสู้กับผู้มีอำนาจมากกว่า อาจเปรียบได้กับสุภาษิตที่ว่า “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง”
“ผมก็เคยคุยกับเพื่อนๆ ตอนแรกจะเอายังไงดี สู้ดีมั้ย ด้วยความที่ผมเป็นคนดื้ออยู่แล้ว ไม่ชอบความอยุติธรรมด้วย แล้วก็ภาระในชีวิตผมไม่มีอะไรที่ต้องดูแล ก็วัดไปเลย ก็นั่นแหละครับพอเสี่ยงแล้วก็โดนคุก (หัวเราะ) โอ้โห งงเลย ตำรวจศาลยังบอก โดนขนาดนี้นึกว่าไปฆ่าใคร ตอนนั้นไม่ค่อยขำแต่ตอนนี้ขำได้แล้ว พยายามตลกเดี๋ยวจะเศร้าไป ไม่ดี
มันโชคดีตรงที่ว่ามีหลายคนเข้าใจ มีเพื่อนที่ดี มีครอบครัวที่เข้าใจว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ เราไม่ได้ทำอะไรไร้สาระ ที่มารณรงค์ให้แก้ไข เพราะไม่อยากให้มีเหยื่อแบบผมอีก
ตั้งแต่โดนคดีมา 3 ปีที่แล้ว ความสนุกในชีวิตผมลดลงไปเยอะเลยนะ ต้องไปพูดกับคณะอนุฯนู่นนี่ ต้องไปเปิดบูทรณรงค์ล่ารายชื่อ ต้องไปคุยกับกฤษฎีกา คุยเป็นปี ต้องมานั่งอ่านเรื่องกฎหมาย ต้องมาคอยอธิบายกฎหมาย ซึ่งเหนื่อยมาก แล้วก็พยายามจะขำ ถ้าเราไม่ขำกับมันก็คงหดหู่เป็นซึมเศร้าไปแล้ว
ตอนแรกผมก็คิดเหมือนกันจะสู้ไปทำไม สู้ไปแล้วมันก็แพ้ โอกาสชนะมันยากมาก แต่ที่อยากสู้เพราะ 1.เราอยากยืนยันในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ว่านี่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคือการพูด แค่พูดเฉยๆ ว่าอร่อย ทำไมเราพูดไม่ได้
2.เคสผมเป็นเคสแรกที่เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ เกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์เลย รับรีวิวก็ไม่เคย ไม่ได้ตังค์ซักบาท ผมก็อยากวัดกันซักตั้ง เราไม่อยากจ่ายเงินให้กับขบวนการหากินนี้ เรารู้สึกถูกเอาเปรียบ แค่นั้นเองครับ”
หวังเมืองไทย เป็นเมืองหลวงคราฟท์เบียร์
ถามถึงเสน่ห์ของคราฟท์เบียร์ ที่ดึงดูดให้เขาเข้าสู่วงการนี้ ตี้ ให้คำตอบว่า รสชาติที่ซับซ้อนและความแปลกใหม่ ถึงขนาดที่ว่า ดื่มทั้งชีวิตยังไงก็ไม่หมด
“ในอดีตผมก็เป็นนักดื่มทั่วไป ดื่มเอาเมา เอาเละ แต่พอเราดื่มมากขึ้นๆ เราไปลองของแปลกแล้วรู้สึกว่ามีทางเลือกว่ะ ผมว่าคนที่ดื่มคราฟท์เบียร์เข้าใจตรงกันว่า เสน่ห์ของคราฟท์เบียร์คือความแปลกใหม่ รสชาติที่ซับซ้อน คุณดื่มยังไงทั้งชีวิตก็ไม่หมด มีเป็นหมื่นเป็นแสนทั้งโลก คุณจะได้สตอรี่ ไม่ดื่มมั่วซั่ว เราจะดื่มเอาความสุข เอาสุนทรียะเป็นตัวนำ
คุณก็ได้เจอความแปลกใหม่ตลอด ความสร้างสรรค์ของคนทำ บางอันมันมีวิธีการผลิตที่ซับซ้อนพิลึกกึกกือมาก บางอันใส่อะไรก็ไม่รู้ แต่มันได้รสชาติที่คุณไม่นึกถึงว่าจะเจอ ถ้าคุณดื่มบ่อยๆ มันเหมือนการสะสมประสบการณ์ มันสนุกครับ ซึ่งเบียร์ commercial ทั่วไปให้เราไม่ได้ คราฟท์เบียร์เท่านั้นที่จะให้อะไรแบบนี้ได้ครับ ที่เคยเจอนะครับ มีเบียร์ตัวนึง พอหมักเสร็จเขาจะเอาไปหมักในถัง Bourbon ปีนึงแล้วค่อยเอาออกมา คุณจะได้กลิ่นเหล้า กลิ่น Bourbon กลิ่นวานิลลา กลิ่นเครื่องเทศ แล้วอีกตัวที่ผมประทับใจ ก็จะมีรสน้ำยาง สนๆ ไม้ๆ ยางๆ อธิบายยาก
และที่นึกออกใกล้ๆ งานของประชาชนเบียร์ เจอคนนึงใส่กาแฟกับสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งปกติเบียร์กาแฟ เขาจะไม่ค่อยใส่ผลไม้เพราะรสมันจะตีกัน ทำให้มันเละ แต่คนทำคนนี้โคตรเก่งเลยกลิ่นกาแฟสวยมาก เหมือนเราดื่มกาแฟ มีกลิ่นไหม้ๆ คั่วๆ มี roasty นิดๆ แล้วก็เจอความหวานของสตรอว์เบอร์รี่สวยๆ มันผสมกับลงตัวครับ อยากรู้มากเขาทำยังไง มันแปลกมาก เอากาแฟกับสตรอว์เบอร์รี่มาอยู่ด้วยกันได้แล้วไม่ตีกัน อันนี้เก่งจริง”
ไม่เพียงส่วนผสมที่หลากหลาย หากแต่ผลลัพธ์ที่ออกมายังชวนอึ้ง เบียร์เค็มก็มา เบียร์เปรี้ยวก็มี ล้วนแล้วแต่เป็นความสนุกและท้าทายเหล่านักดื่มให้พาลิ้นมาลิ้มลองทั้งสิ้น
“คนทั่วไปจะคิดว่าเบียร์ต้องขม คราฟท์เบียร์มันจะมีพวกเบียร์แปลกๆ รสแปลกๆ ที่เราไม่คิดว่ามันจะมี อย่างเช่น เบียร์เค็ม ก็จะมีรสเค็มๆ บางคนไม่ชอบแต่ผมชอบ มันประหลาดดี ไว้ตัดเลี่ยน ทำให้ลิ้นมัน refresh บางตัวเหมือนกินเกลือ หลายคนก็สงสัยจะกินทำไม (หัวเราะ) ก็มันสนุกไง เราเจอรสอะไรที่มันประหลาดๆ
หรืออย่างเบียร์เปรี้ยว ตอนที่ผมดื่มเบียร์เปรี้ยวครั้งแรกผมก็ไม่ไหวนะ ทรมานชิบหาย มันอร่อยตรงไหน แต่อย่างที่บอก มันเป็นการต้องเก็บเลเวล กินให้ลิ้นมันคุ้น พอลิ้นคุ้นเคยกับความเปรี้ยวมันจะปรับได้ ทีนี้มันจะสนุกแล้ว
ในความเปรี้ยวมันจะมีรสชาติที่ต่างกัน มันจะมีเปรี้ยวจี๊ด เปรี้ยวส้ม หรือเปรี้ยวสากๆ เปรี้ยวฝาดๆ บางร้านทำเปรี้ยวน้ำส้มสายชู บางรายทำเปรี้ยวฝาดๆ เบียร์เปรี้ยวกินกับพวก Cold Cuts ก็อร่อยนะครับ กินกับชีสเพลินเลย ฝรั่งชอบกินกัน”
นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรของไทย ก็เป็นวัตถุดิบอย่างดีที่เอื้อต่อการทำคราฟท์เบียร์ แม้แต่ต่างชาติก็ยังนำไปใช้
“ผมว่าคนไทยได้เปรียบชาติอื่นตรงที่ว่า อาหารไทยมันรสจัด บ้านเรามีอาหารรสเผ็ด เปรี้ยวก็มี หวานก็มี เค็มก็มี ทำให้ลิ้นคนไทยคุ้นเคยกับรสชาติที่หลากหลาย ผมรู้จักฝรั่งบางคน ความหลากหลายทางรสชาติ ที่เขาสัมผัสมาในชีวิตไม่เท่าเรา คือกินอาหารจืดๆ แล้วมาเจอเบียร์ที่รสชาติหลากหลาย ก็ยังไม่ค่อยเก็ท แต่คนไทยสบายเลย เบียร์อะไรได้หมด
ประเทศไทยมีแต่คนอิจฉา ผมไปคุยกับ brewer ต่างประเทศ เขาอิจฉาไทยจะตาย ประเทศยูมีอะไรบ้าง ผลไม้ก็มี เครื่องเทศก็มี อย่างมะพร้าวของเราคุณภาพดี ต่างประเทศเขาหาซื้อไม่ได้ก็ต้องใช้ extract ทดแทนเอา รสชาติเวลาใส่เบียร์มันปลอม ขณะที่ของที่ดี พอใส่ลงไปมันก็ได้รสชาติที่ดี
ผมมั่นใจนะว่าด้วยวัตถุดิบที่เรามีในประเทศตอนนี้ เราไม่เป็นรองใครในโลกเลย ในปีนึงโรงเบียร์ต่างชาติเขามากว้านซื้อวัตถุดิบจากไทยเยอะมากเลยนะครับ กาแฟเอาไปผลิตเบียร์ที่ใส่กาแฟ มีโรงจากเดนมาร์กมาซื้อที่เชียงรายทุกปี บ้านเราผลไม้เยอะมากซึ่งเอามาทำเบียร์ได้หมดเลย”
อีกทั้งเรายังมีวัฒนธรรมการกินดื่ม ที่เกี่ยวข้องวนเวียนกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน จนส่งต่อเป็นภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง แต่ก็ถูกปิดปากไว้จาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวเดิม
“วัฒนธรรมการกินดื่มของคนไทยดีกว่าหลายชาติ เรามีอาหารที่ไม่แพ้ใครในโลก ประเทศไทยมีต้นทุนทางอาหาร ต้นทุนทางวัตถุดิบดีมาก กาแฟก็คุณภาพดี ผลไม้ไม่ต้องพูดถึง ข้าวเราก็ดี ทุกชุมชนทำเหล้ากันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
เรามีเหล้าท้องถิ่นที่เยอะมาก มี “อุ” เป็นโอ่งเล็กๆ ข้างในจะมีลูกแป้ง เราต้องกะเทาะอะไรแข็งๆ ข้างบน ใส่น้ำอะไรก็ได้ลงไปแล้วก็ปิดซักระยะนึง ให้น้ำทำปฏิกิริยากับลูกแป้ง เหมือนเป็นยีสต์กินน้ำตาลแล้วคายแอลกอฮอล์ออกมา อร่อยชิบหาย โคตรดี หรือภาคใต้จะมี “หวาก” จะมีรสชาติหวานๆ ต้องไปหาตามงาน OTOP เราโฆษณาไม่ได้ คนก็ไม่ค่อยรู้ว่าเรามีของดี
มันดีขึ้นขั้นเราส่งข้าวอยุธยาไปให้ญี่ปุ่นผลิตเหล้า คนญี่ปุ่นมากินเหล้าไทย กินข้าวไทย รู้สึกว่าวัตถุดิบเจ๋ง แล้วเขาต้องซื้อข้าวจากอยุธยาไปผลิต เหล้าอาวาโมริ ก็เป็นเอกลักษณ์ของเหล้านี้ ต้องใช้ข้าวไทยเท่านั้นในการผลิต ใช้ข้าวที่อื่นไม่ได้ เรามีวัฒนธรรมการดื่มกินที่วิเศษมาก แต่ถูกกฎหมายรัฐกดไว้ไม่ให้มันเติบโต มันก็เศร้าๆ หน่อย”
เขาเชื่อเหลือเกินว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สมเหตุสมผล บ้านเราต้องเมืองหลวงคราฟท์เบียร์ในภูมิภาคนี้ได้อย่างแน่นอน
“ผมไปเวียดนามแล้วอิจฉาเขานะ คราฟท์เบียร์โหดสุดในภูมิภาคแล้ว เขาเติบโตก้าวกระโดด แล้วสร้างงานได้มหาศาล สร้างเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นคนไปโฮจิมินห์เพื่อกินเบียร์อย่างเดียวก็มี ผมไปโฮจิมินห์เพื่อกินคราฟท์เบียร์อย่างเดียว 5 วัน แทบไม่ได้กินน้ำเปล่าเลย โรงเบียร์เยอะมาก สนุก ผมอยากให้มีอะไรแบบนี้มาก มันสร้างเศรษฐกิจจริงๆ
ผมว่าคราฟท์เบียร์มันมหัศจรรย์ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ คนธรรมดา ใครก็ทำได้ถ้ามีความรู้ หลายคนพยายามดูจาก YouTube แล้วรู้ว่าขั้นตอนการทำเบียร์เป็นยังไง แล้วก็ใส่ความรัก ใส่วัตถุดิบ มันก็ทำเบียร์ดีๆ ได้
ผมมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่า ถ้าเราไม่มีกฎหมายที่มันควบคุมจนเกินไปแบบตอนนี้ เราจะเป็นเมืองหลวงคราฟท์เบียร์ในภูมิภาคนี้แข่งกับหลายๆ ประเทศได้สบาย เพราะว่าอย่างพม่า อย่างลาว เขาไม่มีกฎหมายควบคุมแบบเรา เขายังมีคราฟท์เบียร์ดีๆ ได้ เรามองไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ แล้วรู้สึกอิจฉา (หัวเราะ) ทำไมเราไม่เป็นเหมือนเขาบ้าง
มันเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมด้วย อย่างเกาหลีเราเห็นเขาส่งออกเป็นเรื่องปกติ เขาถึงขั้นตั้งสภาส่งออกแอลกอฮอล์ จะส่งออกโซจู ส่งออกเหล้า แต่บ้านเราทำไม่ได้ ผมรู้สึกเศร้า ทำไมคนตัวเล็กๆ ไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรแบบนี้บ้าง อยากให้เมืองไทยเป็นเมืองคราฟท์เบียร์ครับ”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ตี้ ในฐานะนักดื่มผู้มีประสบการณ์นับสิบปี ได้กล่าวถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต นอกจากการปรับแก้กฎหมาย คือการได้เห็นเมืองไทย เป็นจุดหมายที่นักดื่มทั่วโลกต้องมาเยือน
“อยากให้เหมือนประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เอาง่ายๆ คนที่เขาดื่มเอามีความสุขไปวันๆ ก็มี ให้รางวัลกับชีวิต บางครั้งผมเห็นคนทำงานกลับมาเหนื่อยๆ เขาไม่ได้ต้องการอะไร เบียร์ซักขวดก่อนนอนก็เป็นความสุขของเขา
อยากให้ประเทศนี้เลิกมองว่าเป็นต้นกำเนิดความชั่ว เลิกมองเหล้าเบียร์เป็นปีศาจซะที คุณไม่ต้อง blame ว่าเหล้าเบียร์มันชั่ว หรือคนดื่มเบียร์มันเลว ต้องเลิกเอามุมมองทางศีลธรรมมาตัดสินคนอื่นได้แล้ว
แล้วก็อยากเห็นเมืองไทยเป็น destination เหมือนต่างประเทศ เหมือนคนไทยไปญี่ปุ่นก็ไปกินสาเก กินเบียร์ เกาหลีมีคราฟท์เบียร์ มีโซจู เราอยากให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมองไทย ว่ามีวัฒนธรรมการดื่มกินที่เจ๋งไม่แพ้ใคร
เราพยายามขายนักท่องเที่ยว ว่าไทยมีความหลากหลายเรื่องอาหาร แล้วเบียร์ทำไมทำไม่ได้ ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้นบ้าง ไม่อายประเทศอื่น ซึ่งมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ถ้าเรามีคราฟท์เบียร์ดีๆ หลากหลายในประเทศ ช่วยเกษตรกรได้มหาศาล สร้างงานได้ สร้างเงินได้ ก็อยากให้เป็นแบบต่างประเทศบ้างครับ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
ภาพ : วชิร สายจำปา
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **