เรียนรู้จากเคสเฉียดตายจาก “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” เคยออกกำลังกายไหม อายุมากหรือน้อยไม่เกี่ยว เสี่ยงได้เหมือนกันหมด
ระวัง!!เจอบ่อยในวัย 30-40
จากโพสต์แฟนเพจเฟชบุ๊ก “Kee22kee” ของ กีรติ ศุภดิเรกกุล พิธีกรหนุ่ม ได้บอกถึงวินาทีเฉียดตาย ที่จู่ๆ ก็เกิด “ภาวะโรคใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” จากการที่ลิ่มเลือดอุดตัน แต่หมอก็สามารถช่วยชีวิตกลับมาได้ เหตุครั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพราะโดยปกติก็เป็นคนออกกำลังกาย
ทั้งที่อายุก็ยังไม่มาก แถมเป็นคนออกกำลังกาย แต่ทำไมถึงเกิด “ภาวะโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” สาเหตุมันมาจากอะไรกัน? จึงได้คำตอบว่า คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆ ของร่างกายทันที
ทั้งนี้ทีมงานพบข้อมูลที่น่าสนใจจาก กระทรวงสาธารณสุข ว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” พบได้ในทุกวัย แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี
โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยในขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญาณเตือน
จากโพสต์ของพิธีกรหนุ่มที่เกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียดพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุทั้งที่ก็เป็นดูแลสุขภาพ ทีมข่าวจึงสอบถาม ศาสตราธิคุณ นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ถึงสาเหตุ
“80% ของ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หลักๆ มักมาจาก อาการเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ส่วนทีเหลือ 10-20% อาจเป็นสารเหตุอื่นๆ รองลงมาก็จะเป็น โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา”
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ นั้นเป็นตั้งแต่กำเนิด มักพบในนักกีฬาและไม่ค่อยแสดงอาการ แต่พอออกกำลังกายหนักๆ อาการก็อาจจะกำเริบขึ้นมาส่วนโรคลิ้นหัวใจตีบ อาจจะไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด แต่มักจะเป็นตอนอายุมากขึ้น
จากบทความของ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ “หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest)” บอกถึงสัญญาณเตือนที่คนไม่ค่อยสังเกตกัน เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แน่นหน้าอกเวลาที่มีภาวะเครียดหรือเวลาออกแรง
และยังมีปัจจัยเสี่ยงการเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในคนอายุน้อยอีกด้วย คือ พักผ่อนไม่เพียงพอรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงสูบบุหรี่มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานและกรรมพันธุ์จากครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ
สอดคล้องกับข้อมูลจาก นพ. ที่ว่า โดยเมื่อก่อนเราจะเห็นคนที่เป็นโรคพวกนี้ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นผู้ชายก็จะอายุ 45 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงก็จะอายุมากว่า 55 ปี แต่ปัจจุบันอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้แค่อายุ 30 ปีก็ยังเจอ
“อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม อาหารการกินก็มีส่วน การใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กินอาหารพวก Junk Food(อาหารขยะ)เยอะๆ พวกนี้ก็มีส่วน และกรรมพันธ์เองก็เป็นส่วนนึ่งด้วย”
ภัยเงียบที่คุณอาจไม่รู้ตัว!!
แล้วทำไมคนที่ดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย ถึงยังพบกับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ด้วยละ? และที่สำคัญคือไม่มีอาการของโรคก่อนหน้านี้เลย
หัวหน้าศูนย์หัวใจ จึงได้อธิบายว่า พูดถึงสารเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอย่าง “หลอดเลือดหัวใจตีบ” ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า “ถ้าออกกำลังกายแล้วจะไม่เป็น จริงๆแล้วก็ไม่ใช่”
“สาเหตุจริงๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าทำไมเส้นเลือดหัวใจถึงตีบ แต่เรารู้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบค่อนข้างเยอะ ปัจจัยสำคัญๆ มี 4 อย่าง เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่พวกนี้ก็จะทำให้เส้นเลือดตีบได้ง่าย”
ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงเยอะ ก็ยิ่งทำให้เกิดหลอดเลือดตีบได้ง่ายขึ้น จริงๆแล้วก็เป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดด้วย แต่หลอดเลือดของคนที่เป็นภาวะเส้นเลือดตีบนี้เสื่อมเร็วกว่าปกติ
แต่ส่วนใหญ่ที่พบอาการกำเริบเฉียบพลันโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะว่ามันจะมีอาการให้เห็นก็ต่อเมื่อเส้นเลือดของเราเริ่มตีบมากขึ้นสัก 70% ถึงเริ่มเห็นอาการ และจริงๆแล้วเส้นเลือดของเราเริ่มตีบตั้งแต่อายุน้อยๆแล้ว 10 ขวบก็เริ่มมีไขมันแทรกที่ผนังเส้นเลือดแล้ว
“ที่บอกว่าทำไมถึงไม่มีอาการอะไรเลย ยังออกกำลังรายได้ปกติ ทำอะไรได้ปกติ เพราะว่า หลอดเลือดที่เริ่มตีบสัก 50%ตรวจก็ไม่เจอและอาการก็ไม่มี วันดีคืนดีไขมันที่เกาะอยู่บนผนังหลอดเลือดมันแตกออกมา มันจะมีสารที่ไปกระตุนให้ลิ้มเลือดอุดตัน พอเส้นเลือดอุดตันแบบ 100%ก็ทำให้เกิด หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ โดยไม่มีสัญญาณเตือนเลย”
ส่วนใหญ่การที่จะตรวจเจอ โรคหลอดเลือดตีบ คือเส้นเลือดเราตีบไปเยอะแล้วเกิน 70%ขึ้นไป และเริ่มมีอากร เจ็บแน่นหน้าอก เริ่มเหนื่อยหอบ แล้วมาตรวจที่ตรวจหัวใจทั่วไป เช่น เดินสายพาน เอกซเรย์ หรือการฉีดสีสวนหัวใจ ก็จะพบได้
“ถ้าตีบน้อยกว่านั้นก็ตรวจไม่ค่อยเจอและไม่ค่อยมีอาการอะไรเลย และเราพบว่า หลอดที่ตีบประมาณ 40-50%เป็นสารเหตุหลักที่ทำให้เกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากที่สุด”
แต่ก็มีการตรวจแบบ Calcium Score หรือการตรวจหาหินปูนในเส้นเลือดหัวใจ คือการดูว่ามีแคลเซียม ไปจับในเส้นเลือดมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีแคลเซียมในเส้นเลือดเยอะ ก็โอกาสที่ทำให้เส้นเลือดตีบเยอะมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นทุกคน ต้องมีการตรวจต่อไป
“โรคนี้เราอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการตรวจเช็คตัวเอง ว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงหรือเปล่า เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง หรือสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้ามีก็ควรหยุดหรือควบคุมให้ได้ตามที่หมอแนะนำ หรือถ้ามีเรื่องกรรมพันธ์ในบ้านหรือครอบครัวเป็นโรคพวกนี้ ก็ควรเข้าไปตรวจเช็ค”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : pr.moph.go.th ,www.bangkokpattayahospital.com , แฟนเพจเฟชบุ๊ก “Kee22kee ”
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจเฟชบุ๊ก “Kee22kee”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **