xs
xsm
sm
md
lg

ความอันตรายที่ยากจะควบคุม!! เจาะแง่มุม “ไซยาไนด์” ผ่านมุมมอง “กูรูศูนย์พิษวิทยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อันตรายขนาดนี้ ทำไม “ไซยาไนด์” ถึงได้หาง่ายในท้องตลาด และดูเหมือนแทบไม่มีกฎใดๆ ควบคุมการใช้อย่างจริงจังอีกต่างหาก และนี่คือคำตอบที่ “กูรูศูนย์พิษวิทยา” ช่วยไขข้อสงสัยไว้ให้

ความอันตราย ใน “พิษร้ายยอดนิยม”?

เป็นข่าวดัง เมื่อ “แอม” อดีตเมียรอง ผกก.ราชบุรี ถูกจับข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" วางยาเท้าแชร์สาวเมืองกาญจน์ เพื่อนสนิท ตำรวจพบสาร “ไซยาไนด์” คาดอาจผสมอาหารให้กิน และยังพบเหยื่อที่คาดว่าจะโดนวางแบบเดียวกันนี้อีก 7-9 หลาย

ยาพิษ “ไซยาไนด์” ชื่อนี้อาจคุ้นหูใครหลายคน จากหนังแนวฆาตกรรมต่างๆ ว่าเป็นยาพิษที่ร้ายแรง แต่ในชีวิตจริงสารพิษนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก ได้รับเพียงประมาณนิดเดียวก็อาจถึงตายได้ แล้วไซยาไนด์มันคืออะไรกันล่ะ?

"Cyanide" หรือ "ไซยาไนด์” คือสารเคมีที่ส่วนใหญ่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กกล้า สกัดแร่ และใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาขัดเงา เป็นต้น



สารไซยาไนด์ มีด้วยหลายรูปแบบทั้ง ของแข็ง ของเหลว หรือแม้ในรูปแบบของแก็ซ แต่ที่ควรทำความรู้จักมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ

“โซเดียมไซยาไนด์” (Sodium cyanide) หรือ “เกลือไซยาไนด์” เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง

“ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์” (Hydrogen cyanide) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้อธิบายถึงความร้ายแรงของ “พิษไซยาไนด์” หรือ “Cyanide poisoning” กับทีมข่าวว่า


[ ศ.นพ.วินัย วนานุกูล ]
“พิษของไซยาไนด์ จะทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนได้ไม่ปกติ ฉะนั้นอาการแรกที่จะเกิดขึ้นคือ อาการทางสมองก่อน โดยเริ่มอาจจะเป็นการชัก หรือหมดสติ หลังจากร่างกายได้รับสารไซยาไนด์ไปไม่ถึงนาที”

ไซยาไนด์เป็นสารที่มีอันตรายสูง และออกฤทธิ์เร็ว นอกจากอยู่ในรูปของก๊าซแล้วจะอยู่ในรูปของสารละลายเมื่อผู้ป่วยได้รับสารนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการชัก และหมดสติภายในเวลานับเป็นนาที จากนั้นจะเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

“ระบบหลอดเลือดและหัวใจก็จะทำงานผิดปกติ เกิดชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้”

เพราะอยู่ใกล้ตัว จึงควบคุมได้ยาก

เมื่อไซยาไนด์ มีพิษที่อันตรายขนาดนี้ แล้วทำไมสารตัวถึงไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาได้บอกกับทีมงานว่า เหตุผลเบื้องหลังมันซับซ้อนกว่านั้น

“ในเรื่องนี้เราเคยบอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าต้องพยายามควบคุม กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เราเคยเจอกรณีแบบนี้มาก่อนแล้ว ทางเราได้พยายามบอกไปถึงหน่วยงานที่มีหน้าในการควบคุมแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการควบคุมที่ดีพอ”

จากที่อาจารย์บอกว่า การควบคุมเรื่องของสารไซยาไนด์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก อาจเพราะสารตัวนี้ถูกใช้ใน อุตสาหกรรมและกิจการหลายอย่าง จึงทำให้ควบคุมได้ยาก

ตัวอย่างกิจกรรมที่มีการใช้สารไซยาไนด์ก็ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตยา กระบวนการผลิตเหล็กกล้า ใช้สำหรับสกัดแร่ ใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาขัดเงา ใช้ในกระบวนการล้างภาพ และงานพิมพ์เขียว พบมากในยาฆ่าแมลง และยากำจัดหนู


[ จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม ]
และเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 66 สภาเภสัชกรรม ได้ออกจดหมายเปิดผนึก จากกรณีข่าวการว่างยาพิษไซยาไนด์ ที่มีการพาดพิงถึงเภสัชกรร้านขายยาใจความว่า

“โพแทสเซียมไซยาไนด์ รวมทั้ง โซเดียมไซยาไนด์ ไม่ใช่ยา เป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย หากการสืบสวนแล้ว พบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมรายใดมีส่วนเกี่ยวในการกระทำผิด สภาเภสัชกรรม จะพิจารณาโทษ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม อย่างเคร่งครัด”

ทั้งนี้ ไซยาไนด์ สามารถพบตามธรรมชาติได้เหมือนกัน ในพืชนั้นพบมากมายหลายชนิดได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรน์ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ เผือก หน่อไม้ เมล็ดอัลมอนด์ ฯลฯ


[ ตารางความเข้มข้นไซยาไนด์ใน “มัน” และ “หน่อไม้” ]
จากบทความ “พิษไซยาไนด์: อันตรายจริงหรือ?” พบว่า พืชต่างๆ เหล่านี้มีไซยาไนด์อยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์

“มันสำปะหลัง” มีปริมาณไซยาโนไกลโคไซด์ ในรูปแบบลินามาริน ((linamarin) สูงมากในทุกๆ ส่วนของพืช ในใบ 377 – 500 ppm และในหัวมัน 138 ppm ใน”หน่อไม้สด” พบความเข็มข้นของไซยาไนด์ ถึง 8,000 ppm ซึ่งถ้าหากกินดิบจะให้อันตรายต่อร่างกายได้ ควรต้มให้สุกอย่างน้อย 10 นาที ก็จะลดปริมาณไซยาไนด์ถึง 90 %

จริงอยู่ที่ร่างกายสามารถกำจัดสารไซยาไนด์จากพืชเหล่าโดยการปัสสาวะได้ แต่ก็ควรปรุงให้สุกหรือผ่านความร้อน เพื่อลดพิษจากสารไซยาไนด์ เพราะระดับไซยาไนด์ที่เป็นพิษต่อคนอยู่ที่ 0.5-3.5 ppm

ไม่มีสี-ไม่มีกลิ่น!! แล้วจะทำยังไง?

เนื่องจากสารพิษชนิดนี้ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับสารพิษตัวนี้เข้าไปแล้วหรือเปล่า?และจะมีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างไร อาจารย์บอกว่าเราอาจรู้ตัวไม่ทัน

“เนื่องจากมันออกฤทธิ์เร็วมากเป็นหลักนาที คุณอาจรู้ตัวไม่ทัน ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ทำอันตรายต่อชีวิตได้เพราะไซยาไนด์เป็นสารพิษที่รุ่นแรงมาก”

สำหรับการรักษาภาวะพิษจากไซยาไนด์ ต้องใช้ยาต้านพิษที่จำเพาะ ซึ่งในโครงการยาต้านพิษของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. องค์การเภสัชกรรม อย. กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์พิษวิทยา



ได้จัดให้การสำรองยาต้านพิษนี้ไว้ใน รพ.ทุกจังหวัดหรือระดับที่สูงกว่านั้นทั่วประเทศ ใน กทม. ก็มีสำรองไว้ในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และศูนย์พิษยา สำหรับโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นแหล่งสำรองยา สามารถร้องขอจากโรงพยาบาลที่มียาได้ โดยสามาถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา

อาจารย์ยังบอกถึงข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ผู้ป่วยที่เกิดอาการชักหรือหมดสติอย่างเฉียบพลันมักจะเกิดจากโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นส่วนใหญ่

“เราจะสงสัยว่าเกิดจากภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์ เมื่อมีอาการอย่างที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะหลังจากดื่มหรือรับประทานอะไรบางอย่างในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีก่อนเกิดอาการ และหากว่าสงสัยภาวะเป็นพิษดังกล่าว ก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุดก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้”



จากบทความ “ไซยาไนด์” คืออะไร อันตรายแค่ไหน? ของเว็บไซต์ “marumothai.com” ได้บอกถึงวิธีการรับมือเมื่อเราอาจไปสัมผัสกับสารไซยาไนด์

“การสัมผัสทางผิวหนัง" หากร่างกายสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก ไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษไปด้วย จากนั้นให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล

“การสูดดมและรับประทาน” หากอากาศแถวนั้นปนเปื้อนไซยาไนด์ให้รับออกจากสถานที่นั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

“การสัมผัสทางดวงตา” ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้น ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.rama.mahidol.ac.th , marumothai.com , www.pobpad.com
ขอบคุณภาพบางส่วน : marumothai.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น