xs
xsm
sm
md
lg

#ภาษาพาที นี่ลูกหลานไทยกำลังเรียนอะไรอยู่!? “บทเรียนร่วมสมัย” VS “บทเรียนล้าสมัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



...สังคมตั้งคำถาม นี่ลูกหลานไทยกำลังเรียนอะไรอยู่!?...

กลายเป็นประเด็นที่ร้อนระอุไม่แพ้อากาศในตอนนี้ เมื่อแฟนเพจ “มาดามแคชเมียร์” โพสต์ภาพหน้าหนังสือ “ภาษาไทยพาที” หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

เนื้อหาบางช่วงบางตอน เป็นเรื่องราวของ “ใยบัว” และ “ข้าวปุ้น” เด็กหญิงทั้งสองเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกัน แต่มีฐานะที่แตกต่างกันมาก ใยบัวเกิดในครอบครัวร่ำรวย ส่วนข้าวปุ้นอยู่บ้านเด็กกำพร้า



วันหนึ่ง ใยบัวได้ตัดพ้อว่า “พ่อแม่ไม่รัก” และ “อยากตาย” เหตุเพราะไม่พอใจ ที่พ่อแม่ไม่ยอมซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ให้ ข้าวปุ้นจึงได้ชวนใยบัวมาที่บ้านเด็กกำพร้า เพื่อให้ได้เห็นชีวิตอีกด้าน

และจุดที่ทำให้เกิดประเด็นดราม่าก็อยู่ตรงนี้ เมื่อมีการบรรยายถึงอาหารการกินของเด็กๆ ในบ้านเด็กกำพร้า โดยมื้อนั้นมีผัดผักบุ้ง และ ข้าวไข่ต้มเหยาะน้ำปลา ซึ่งปริมาณไข่ต้มต่อคนนั้น ยังต้องแบ่งกันคนละ “ครึ่งซีก”

และนี่อาจจะเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ที่เด็กหญิงจากครอบครัวร่ำรวยได้กินอาหารแบบนี้ ใยบัวรู้สึกว่าเป็นมื้อที่อร่อยและตื้นตันจนน้ำตาคลอ



พร้อมตะหนักได้ว่า “รู้แล้วว่า คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน บ้านของข้าวปุ้นอยู่กินอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อเราคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ใจเราก็สุขตาม”

ทันทีที่แบบเรียนชั้นประถมนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากสมาชิกโลกโซเชียลฯ ที่มองว่า เนื้อหาแบบเรียนนี้บิดเบี้ยวไปหมด

“แบบนี้ไม่เรียกพอเพียง แบบนี้เรียกอดอยาก” จนส่งให้แฮชแท็ก #ไข่ต้ม ติดเทรนด์แฮชแท็กบนทวิตเตอร์อยู่ช่วงใหญ่ๆ



ทางฟากฝั่งของนักวิชาการและผู้ชื่อชื่อเสียง ก็ได้ออกมาสะท้อนถึงสิ่งที่ปรากฏบนแบบเรียนของเด็กไทย ที่กำลังเป็นดราม่านี้ด้วยเช่นกัน

เริ่มที่ “นพ.จิรรุจน์ ชมเชย” กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Jiraruj Praise” ระบุว่า "ไข่ครึ่งซีก+ข้าวคลุกน้ำปลาอร่อยที่สุดในโลก" โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ

สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของ "พลังงาน" หรือแค่อิ่มท้องอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญนั้น คือ "โปรตีน" ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของเอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย”

“ยังมีเรื่องของวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญที่ไม่ควรขาดในเด็กอีก อาหาร จึงไม่ใช่เพียง "แค่อิ่มท้อง" หรือ "แค่อร่อยปาก" แต่อาหารที่เหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตพัฒนาการทางสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน

“ถ้าวิสัยทัศน์มีเพียงแค่ "อิ่มท้อง" "สุขใจ" แต่ไม่มองให้เห็นถึง สารอาหาร ที่จำเป็นต่อเด็กของเรา นี่คือเรื่องน่ากังวลมากๆ สำหรับ "อนาคตของชาติ" ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่มที่ยังล้าหลังของบ้านเราแบบนี้”



ด้าน “แพรรี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร” ก็ได้สะท้อนเรื่องนี้ จากประสบการณ์ที่เคยเจอมาตัว “ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่า การกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ”

แต่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กลับแหวกความร้อนระอุบนหน้าไทม์ไลน์ มาโพสต์คลิปวิดีโอกินข้าวคลุกไข่ต้มกับลูกชายอย่างมีความสุข โดยมี background เป็นห้องครัวสุดหรู

พร้อมกับคำบรรยายประกอบคลิปว่า “ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ ครับ #ชัยวุฒิ #ธนาคมานุสรณ์ #พลังประชารัฐ #วีถีพ่อ #Saveไข่ต้ม #ไข่ต้ม #ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น #อยู่อย่างพอเพียง”

[ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์และลูกชาย กินข้าวคลุกไข่ต้ม]
แน่นอนว่าหลังจากโพสต์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถูกแชร์ออกไป กลายเป็นการเรียกทัวร์มาลงทันที

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของชาวเน็ตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่าเป็นคอนเทนท์ที่ไม่สร้างสรรค์ สิ่งที่เขาทำไม่ต่างอะไรกับไม่ต่างกับการ “คอสเพลย์เป็นคนจน” รวมทั้งอวยพรขอให้ได้กินแบบนี้ทุกมื้อ

ต่อมา “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ก็ได้ออกมาขยี้ซ้ำประเด็นร้อน โดยได้มีการปอกไข่ต้ม คลุกข้าวสวยและน้ำปลา กินโชว์ผ่านหน้าจอกันสดๆ ตามรอยหนังสือวิชาภาษาไทย ป.5 พร้อมบอกว่า “อ่านหนังสือเรียนแล้วเกิดแรงบันดาลใจ”



ล่าสุด แบบเรียนเจ้าปัญหานี้ ก็ดังไปถึงหู “เกศทิพย์ ศุภวานิช” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งตรวจสอบเนื้อหาในตำราเรียน ภาษาพาที ป.5

และสั่งการให้คณะกรรมการ สำนักวิชาการ หารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า ให้เด็กกินข้าวไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลาเป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่ โดยจะมีการเติมข้อความย้ำว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

แต่ดูเหมือนดราม่านี้จะยังไม่จบ เพราะผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Patison Benyasuta” ได้มีการขุดเนื้อหาแบบเรียนจากหนังสือภาษาพาที ป.5 เล่มเดิม

โดยเป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่ชื่อ “ใบพลู” ในสถานการณ์กำลังกินอาหารอยู่ในฟู้ดคอร์ด เธอสั่งข้าวมันไก่แต่รู้สึกว่าน้ำจิ้มรสเผ็ดเกินไป จึงไปขอน้ำปลาจากร้านอื่น ไม่ใช่ร้านข้าวมันไก่ที่เธอซื้อมา

ทำให้แม่ค้าร้านนั้นพูดกับใบพลูว่า “อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา”ก่อนจะอนุญาต “เอ้า!! อยากได้ก็ตักไป”

จนใบพลูคอหด และเดินกลับมาโดยไม่ได้เติมน้ำปลา พร้อมกับตัดพ้อกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า “น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเนียมประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่”




ด้านความคิดเห็นจากชาวเน็ต แม้จะมีบ้างที่ติดตลก แต่ถึงอย่างนั้นรู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ต้องเรียนกับแบบเรียนที่มีตรรกะสุดแปลกนี้ รวมถึงตั้งคำถามไปยังผู้เขียนหนังสือ รวมถึงคนที่อนุมัติให้เผยแพร่ ว่าผ่านการตรวจสอบมาได้อย่างไร

"มีน้ำปลาเป็นตัวเดินเรื่องทั้งนั้น"

"หนังสือเรียนของไทย มีแต่เรื่องบ้งๆ ขนาดนี้เลยเหรอ"

"ทำไมรู้สึกสงสารเด็กน้อยที่เรียนกับแบบเรียนนี้จัง คุณภาพของการศึกษานี่ต่ำเตี้ยมาก"

"แกถ้าแกไมได้ซื้อข้าวร้านเค้า แกจะไปขอน้ำปลาพริกร้านเค้าไม่ได้ มารยาทขั้นพื้นฐานเลย"

ไม่เพียงแค่นั้น ชาวเน็ตยังชวนพลิกหน้าแบบเรียนเจ้าปัญหาต่อ ก็พบว่ามีแต่ที่น่ากุมขมับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ “แพน” เด็กสาวที่ถูกบุคคลชื่อ “พี่เจี๊ยบ” หลอกให้โอนเงินจำนวน 6,000 บาทไปให้ ผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ

พี่เจี๊ยบเงียบหายไป 3 เดือน แพนจึงเข้าใจได้เองว่าคงจะถูกหลอก จึงเล่าเรื่องราวนี้ให้ “พี่ทศ” พี่ชายของเธอทราบ

พี่ทศไม่ได้ต่อว่าแพน แต่ให้คำสอนว่า “เงินเสียแล้วก็เสียไป หาใหม่ได้ ถ้าแพนต้องเสียตัวหรือเสียชีวิต ครอบครัวเราคงทนไม่ได้แน่ ภัยมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มันมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ทันระวัง ถือเป็นบทเรียนแล้วกันนะน้อง”



หลังจากที่ชาวเน็ตได้อ่านเรื่องนี้ก็ทำเอาปวดสมองไม่น้อยกับพี่ทศ ที่แทนที่จะสอนน้องให้แก้ปัญหาให้ถูกจุด อย่างเช่น การไปแจ้งความ แต่กลับปล่อยผ่าน แถมยังยัดเยียดคำสอนที่ว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้”

หรือจะเป็น “เกี๊ยว” เด็กสาวที่ถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กใจแตก เธอมีรูปร่างสูงเกินอายุ หน้าตาสวย แต่งตัวเก่ง ติดโทรศัพท์มือถือ ตอนกลางวันเกี๊ยวหนีโรงเรียนไปเที่ยวตามศูนย์การค้า กลางคืนก็หนีออกจากบ้านไปเที่ยวผับ

หนุ่มๆ ในซอยสามารถหยอกเอินเกี๊ยวด้วยคำพูดที่คึกคะนอง ลามปาม ไม่ให้เกียรติ แทนที่จะโกรธและเดินหนี เกี๊ยวกลับสนุกที่จะโต้ตอบกลับ ด้วยคำพูดลักษณะเดียวกัน



นี่ก็เป็นอีกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน “ภาษาพาที” ที่ถูกตั้งคำถามว่า แบบเรียนที่ดีควรเคารพความแตกต่างหลากหลาย และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเนื้อหาที่ปรากฏนั้นสอนแต่ให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว แต่ทำไมถึงไม่สอนให้ผู้ชายให้เกียรติบ้าง

รวมไปถึงบทที่ว่าด้วยเรื่องการบริจาค ที่ตัวละครมีเงินติดตัวไม่มาก แต่กลับหยอดเงินใส่กล่องบริจาคทุกกล่องจนเกลี้ยงกระเป๋าตนเอง ด้วยเหตุผลว่า ยินดีบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก



ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากแบบเรียน “ภาษาพาที” และจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องความคิดและทัศนคติของผู้ใหญ่ที่ออกแบบบทเรียน

แต่อีกด้านก็เห็นได้ว่าคนในสังคมไม่นิ่งเฉย และพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อย่างน้อยๆ ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ตามไปเช็กกระแสสังคมกันในแฮชแท็กเดือด #ภาษาพาที

หรือนี่จะเป็นโอกาสสำคัญในการปฏิรูปแบบเรียนของเด็กไทยครั้งใหญ่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป...





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น