เปิดใจ “สยาโม” ครีเอเตอร์วัย 22 ปี ผู้มาพร้อมกับคอนเทนท์สมัยคุณยายยังสาว ทั้งลอนผมทรงโบราณ แต่งตัวย้อนยุค ก้าวข้ามกระแส Fast Fashion “อยากให้คนจำ เราต้องแตกต่าง” แถมเล่าประสบการณ์สุดพิเศษ ได้สวมชุดจริงของ “ราชินีลูกทุ่ง”
“ไทย-วินเทจ-แฟชัน” กลั่นออกมาเป็น “สยาโม”
“โมมีความชื่นชอบด้านแฟชันที่เป็นวินเทจ เสื้อผ้ามือสองหรืออะไรแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเราไม่มีโอกาสได้ถ่ายคลิป โมมี TikTok นานมากๆ ตอนนั้นไม่ได้ทำคอนเทนท์อะไร ก็มีคนติดตามบ้างประมาณนึง ตอนนั้นคนก็ยังจำไม่ได้
แต่ว่าการที่มาเป็น สยาโม อย่างทุกวันนี้ เริ่มจากคลิปที่โมไปขอคุณป้าร้านทำผม ให้ช่วยดัดผมให้หน่อยเราไม่ได้คิดอะไรก็ถ่ายเล่นๆ ปกติมันก็ไม่ค่อยมีคนดู ไม่ค่อยได้เข้าไปเช็ก ลงไปตอนเช้า ตกเย็นก็เข้าไปดู ตกใจมากคนเข้ามาดูคลิปนั้นคลิปเดียว 3 ล้านวิว ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง เราก็ดีใจมากๆ
หลังจากนั้นเราก็เห็นแล้วว่าเริ่มมีคนเข้ามาติดตามเราเยอะจากตรงนี้ คลิปต่อไปเราก็เลยพยายามจะหาคอนเทนท์ที่มันต่อยอด จากคนที่ติดตามเราเรื่องทำผมวินเทจ ก็คือเป็นแต่งตัว
พอเราเห็นตรงนั้นแล้ว วันรุ่งขึ้นจะแต่งตัวไปเรียน ก็เลยตัดสินใจเอาโทรศัพท์มือถือตั้งที่หน้าต่างแล้วก็แต่งตัว สรุปก็คือมันเวิร์ก คนก็เข้ามาดูต่อเรื่องแฟชันวินเทจ เรื่องทรงผม เรื่อง beauty ไปอีกเรื่อยๆ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องราวที่ relate กัน”
“แตงโม - สยาภา สิงห์ชู” สาวน้อยวัย 22 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
จากอดีตผู้เข้าประกวดร้องเพลงรายการ The Voice 2018 สู่การเป็น Content Creator ที่ผู้คนรู้จักเธอในชื่อ “สยาโม” ซึ่งหากเห็นชื่อนี้แล้ว เป็นอันต้องนึกต้องนึกถึงสาวตัวเล็กผมหยิกดัดลอน กับเสื้อผ้าแฟชันวินเทจสีสันสดใส
ผู้มาพร้อมกับคอนเทนท์ ที่จะพาทุกคนย้อนไปเมื่อสมัยปู่ย่าตายายยังหนุ่มสาว ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่เช่นเธอ จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของชาว Social อย่างมาก และส่งให้ปัจจุบันช่อง TikTok “สยาโม” มีผู้ติดตามแล้วถึง 770,000 คน
“ตอนนี้ทำ TikTok เป็นหลัก มีแพลนว่าจะเข้าไปทำ YouTube ด้วยในปีนี้ค่ะ เราเป็นคนชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ชอบสงสัย ชอบอยากรู้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนและสมัยนี้ มีอะไรที่มันแตกต่างกันบ้าง เราอยู่กับผู้ใหญ่เยอะ ก็รู้สึกว่ามันก็น่าจะเป็นอิทธิพลอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราชอบอะไรเกี่ยวกับย้อนยุค เกี่ยวกับวัยนู้นด้วยค่ะ
“หลังจากคลิปทำผม คลิปแต่งตัวเสื้อผ้ามือสองที่เราซื้ออยู่แล้วแล้วก็เอามาแต่ง อีกคลิปนึงที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ก็คือคลิปที่เราไปขอให้แม่แกะเสื้อผ้าของแม่สมัยแม่เป็นสาว ที่มันอยู่ในลังมาแล้ว 30 กว่าปี เป็นเสื้อผ้าทำงานของแม่ ตอนนั้นบริษัทเขาจะให้โควต้าผ้ามาคนละกี่เมตร แล้วก็ไปบริหารจัดการเองว่าจะตัดแบบไหน แล้วให้พนักงานไปออกแบบ
ชุดนั้นเป็นชุดที่แม่ได้ออกไอเดีย แม่ก็เล่าให้ฟังว่าไปเปิดดูนิตยสาร ว่าดาราเขาใส่แบบไหนกันเก๋ๆ แล้วก็เอาแบบให้ช่างประจำ 2 คนที่รู้ไซส์แม่ เราก็เห็นว่าเนื้อผ้าหรือลายผ้ามันเป็นลายผ้าที่ unique มาก สมัยนี้เราไม่ค่อยเห็นเนื้อผ้าแบบนี้ ทุกวันนี้มันมีแต่เสื้อผ้า Fast Fashion หรืออะไรที่เป็น template เดียวกัน มันก็อาจจะไม่ค่อยสนุกเหมือนเมื่อก่อน
เราก็เอาชุดนั้นมาลองใส่ ให้แม่ช่วยใส่เพราะว่าเสื้อผ้ามันมี detail ที่ซับซ้อนพอสมควร ต้องผูกนู่นผูกนี่เยอะ ตั้งกล้องถ่ายไม่คิดอะไร ก็ลงไป สรุปคนชอบมากเลย นอกเหนือจากเข้ามาชมเราแล้ว ชมแม่ด้วยว่าแม่เก๋มาก เป็นผู้นำแฟชันมาก เอามาใส่ยุคนี้ก็ยังไม่เชย แม่ก็ดีใจมากเลยคลิปนั้น”
[ สยาโมและคุณแม่ ในชุดของคุณแม่เมื่อสมัยยังสาว ]
เธอเสริมต่อว่า ความชอบด้านการแต่งตัวนั้น ส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากคุณแม่สายแฟ
“แม่เป็นคนบ้าแฟชันมาก (ลากเสียงยาว) แม่เป็นคนชอบเรื่องการแต่งตัวมากค่ะ เวลาลูกมีกิจกรรมอยู่ต่างจังหวัด แฟชันของต่างจังหวัดก็จะเป็นอีกแบบนึง แต่แม่จะพยายามสรรหาอะไรที่ทำให้ลูกดูล้ำกว่าคนอื่นเสมอ เราก็เลยได้อิทธิพลตรงนี้มา
ทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่เลิกแต่งตัว หมายถึงว่าไม่ได้แต่งตัวไม่เหมาะสมกับวัย ตอนนี้ก็จะกลายเป็นชอบชอปปิ้งผ้าไทย ผ้าถุง ถือว่าอยู่ใน category ของแฟชันอยู่
ถามแม่ว่าแม่เคยเห็นเครื่องสำอางรุ่นยายบ้างมั้ย เขามีอะไรที่ฮิตๆ กัน เราก็สั่งซื้อตามแอปส้มแล้วก็เอามาแกะดู มันก็เป็นนวัตกรรมที่น่ารักดีนะ เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางยุคนี้ น่าจะเป็นอะไรที่คนไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ ก็เลยหยิบมาทำคอนเทนท์
มีคนทักมาถามเยอะมากว่าแม่เก็บยังไงมันดีมาก แม่บอกแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บอะไร แค่เอาเสื้อผ้าใส่ไว้ถุงดำ แล้วก็ใส่ไว้ในกล่องกระดาษลังอีกทีนึง อาจจะเป็นเพราะถุงดำมันกันแสงด้วยรึเปล่า หรือเป็นเพราะเสื้อผ้า เนื้อผ้าสมัยนั้นมันดีรึเปล่า เลยทำให้ดูเหมือนใหม่มากๆ สีสดมาก”
และการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกพื้นที่และปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เธอได้มีโอกาสค้นหาตัวตน จนกลายเป็น สยาโม อย่างมั่นใจ ดังเช่นในตอนนี้
“โมเรียนที่ศิลปากร เขาจะให้ใส่ชุดนักศึกษาแค่ตอนปี 1 พอปี 2-3-4 ก็จะฟรีแล้ว ที่ศิลปากรทุกคนจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากๆ การแต่งตัวแหวกๆ ของเรา หรือสไตล์ที่มันไม่เหมือนใคร มันไม่ได้น่าอายเลย มันเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับ
โมว่ามหา’ลัยเกี่ยวมากๆ เขาเปิดรับอะไรที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนหมู่มาก เปรียบเทียบตอนมัธยม เราก็มีความชื่นชอบเสื้อผ้ามือสอง แต่ว่าวันที่จะต้องไปโรงเรียนก็จะต้องใส่ชุดนักเรียน จะเหลือเสาร์-อาทิตย์ ให้เราได้ใส่ชุดไปรเวท
เราจะไม่ค่อยมีเวลาหรือว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ ในการแต่งตัวแบบที่เราอยากแต่งจริงๆ พอมหา’ลัย วันที่จะต้องไปเรียน เราคิดแล้วว่าจะใส่ชุดอะไรดี มันก็สนุกมากๆ เลยค่ะ กับการคิดว่าพรุ่งนี้หรือว่าวันนี้จะใส่อะไรไปเรียน
โมรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้โมตามกระแสมากๆ เลยนะคะ โมว่าโมเป็นคนยึดติดกับการเป็นที่ยอมรับพอสมควร ก่อนหน้านี้เราก็อยากจะตาม trend เหมือนกัน พยายามซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion หรือว่าอะไรกำลังฮิต เพราะเราไม่มั่นใจว่าอะไรคือความเป็นเราจริงๆ เราใส่แบบนี้คนจะรู้สึกว่าประหลาดรึเปล่า แต่พอมหา’ลัย เราเลยไม่ต้องแคร์แล้ว ฉันจะเป็นตัวเองเต็มที่ค่ะ (ยิ้ม)”
Time machine เชื่อมคน 2 Gen
ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่เลือกจะนำเรื่องราวในอดีต มาถ่ายทอดให้ย่อยง่ายในสมัยนี้ Content Creator วัย 22 ปีกล่าวว่า มึความยากและง่ายในหลายแง่มุม โดยเฉพาะความแปลกใหม่ของคอนเทนท์ โดยมีหลักยึดที่ว่า “เมื่อไหร่ที่เราอยากให้คนจำ เราต้องแตกต่าง”
“โมว่ามันก็ยากแล้วก็ง่ายในหลายแง่ มันยากเพราะมันไม่ใช่เรื่อง mass แน่นอนว่าเวลาเราทำเรื่องสื่อ เราต้องเล็งเห็นสิ่งที่มันกำลังมา ส่วนใหญ่เขาก็จะเกาะกระแส เกาะ trend ที่มันรับรู้ในวงกว้างมันก็จะบูมง่าย
แต่ว่าในขณะเดียวกัน การทำอะไรที่มันแตกต่างหรือแปลก ทุกคนไปขาวแต่เราดำ มันก็จะทำให้เราเหมือนมี Spotlight ทำให้เราโดดเด่น แตกต่าง แล้วก็ทำให้คนเป็นที่สนใจเรา
เพราะฉะนั้นโมว่าต้อง balance ดีๆ เหมือนกัน ว่าสิ่งที่เรามัน out เกินไปรึเปล่า หรือสิ่งที่เราทำมันมีความน่าสนใจ ที่จะทำให้คนที่เขาสนใจขาวกันหมด กลับมามองดำอย่างนี้ได้ยังไงบ้าง โมว่ามันอยู่ที่รายละเอียดหลายๆ อย่างค่ะ แต่ว่าแนวคิดของโมคือ เมื่อไหร่ที่เราอยากให้คนจำ เราต้องแตกต่าง”
ในส่วนของการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนให้แล้วจะเสพจากแหล่งข้อมูลทั้งของไทยและต่างประเทศ อย่าง Pinterest และกลุ่มบนเฟซบุ๊กที่มีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวในสมัยก่อน
“เป็นความชอบเดิมอยู่แล้ว ชอบดูละครพีเรียด ชอบดูละครย้อนยุค แต่พอต้องมาทำเป็นอาชีพ Content Creator ก็จำเป็นที่จะต้องมีหลายๆ แหล่งองค์ความรู้ reference ส่วนใหญ่เข้า Pinterest บ่อยมาก ดูพวกคู่สีในการจับคู่แฟชัน มันจะเหมือนกับว่ามีภาพใหม่ๆ มีภาพล้ำๆ ทำให้เราเห็นภาพง่ายขึ้น
แล้วก็เริ่มเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่เขามีการแลกเปลี่ยนรูปภาพสมัยก่อน ก็จะมีผู้สูงอายุทั้งนั้นเลยในกลุ่ม เขาจะมีการเอารูปภาพสมัยก่อนมาแชร์กัน เราชอบดูภาพอะไรแบบนี้มากเลย เราจะชอบไปดูหน้าคน ชอบซูมดูหน้าคนสมัยก่อน ว่าหน้าคนสมัยก่อนกับคนสมัยนี้คล้ายกันมั้ย หรือว่าพิมพ์นิยมของคนสมัยนี้ กับพิมพ์นิยมของคนสมัยก่อนมันแตกต่างกันยังไง
พิมพ์นิยมสมัยก่อนจะดูธรรมชาติมากๆ จะต้องผมหยิกเท่านั้น หน้ากลมๆ แต่สมัยนี้จะเป็นหน้าวีเชฟเนอะ เราพยายามจะหาคนหน้าวีเชฟในสมัยก่อน หายากมาก และเราไม่ค่อยเห็นสาวหมวยในภาพคนสมัยก่อนเท่าไหร่”
แม้คอนเทนท์บนช่อง สยาโม จะมีความแปลกใหม่อยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าของช่องก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ก็มีช่วงที่ “หมดไฟ” เช่นกัน
“ Influencer จะเป็นบ้ามากกับตัวเลขยอดวิว เวลาที่มีคนเข้ามามีคนกดไลก์เยอะๆ หรือคลิปเรา mass เราจะมีกำลังใจมากๆ เลยในการทำคลิปต่อไป แต่บางคลิปถ้าเกิดว่าลงไปแล้วคนไม่ดูหรือว่าถูกปิดกั้น มันมีความรู้สึกนอยด์ๆ นิดนึง มันก็จะรู้สึก เฮ้อ… burnout ไม่อยากทำแล้ว ทำแล้วไม่มีคนดู อะไรแบบนี้
แต่ก็ burnout ได้ไม่นานค่ะ เรารู้สึกว่าถ้าไม่ทำต่อก็จะไม่มีคนดูตลอดไปนะ ก็เลยลุกขึ้นมาทำ ก็ต้องหา inspiration ใหม่ๆ เปิด Pinterest ดูหนัง หรือดูอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราคิดคอนเทนท์
แล้วก็คอมเมนท์ของคนดูก็ช่วยได้มากเหมือนกันค่ะ คนดูจะเข้ามาบอกว่าเราเขาอยากเห็นอะไรในช่องของเรา ตรงนี้สำคัญมากๆ ถ้าเกิดว่าเราทำคอนเทนท์ที่เสิร์ฟความต้องการของคนดูได้ ยังไงคลิปก็มาค่ะ”
ทั้งนี้ ผู้ติดตามของช่องเธอ ก็เรียกได้ว่ามีตั้งแต่รุ่นเล็กไปถึงรุ่นใหญ่
“เด็กสุดมาขอถ่ายรูปคืออนุบาล 2 (หัวเราะ) มีผู้สูงอายุด้วยค่ะ range กว้างมากๆ แต่ว่าหลายๆ กลุ่มเขาก็จะมีมุมมองในการเสพคอนเทนท์เราที่แตกต่างกันออกไป ตอนแรกโมก็ไม่คิดเหมือนกันว่าวัยรุ่นจะดูคลิปของเรา แต่สรุปคือกลายเป็น target หลักเลย
วัยรุ่นจะรู้สึกกับคลิปเราก็คือเขาจะได้เห็นอะไรที่เขาไม่เคยเห็น หรือเขาอาจจะเห็นอะไรที่เขาเคยได้ยินตอนเด็กมาก แล้วความทรงจำช่วงเด็กได้กลับมา หรือว่าเป็นอะไรที่เขาไม่เคยเห็น แล้วเขาจะต้องนำเอาคอนเทนท์เราไปคุยกับคนที่บ้านเขา ทำให้เกิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อก่อนแม่เคยใส่ชุดแบบนี้มั้ย เคยไปที่นี่มั้ย ของวัยรุ่นจะเป็นแบบนี้
แต่ของผู้สูงอายุจะเป็นอีกเวย์นึง เหมือนเราเป็น Time machine เราเป็นเครื่องเล่นวิดีโอความทรงจำของเขาสมัยก่อน เหมือนกับว่าผู้สูงอายุ ความทรงจำที่ดีที่สุดของเขาคือช่วงที่เขากำลังเป็นวัยหนุ่มสาว
ก็จะเห็นคุณป้าเข้ามาชื่นชมว่าตอนสมัยสาวๆ ป้าก็แต่งตัวแบบนี้ ตอนสมัยหนุ่มๆ ลุงเคยพาป้าไปเดตที่นี่ อะไรแบบนี้ค่ะเหมือนกับทำให้เขาได้ชื่นใจที่ย้อนวัยอีกครั้งยุคนั้นมันอาจจะไม่ได้มีรูปภาพ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ที่ทำให้เขากลับไปนึกถึงได้ เราก็อาจจะเป็นตัวแทนช่วงเวลาเหล่านั้นค่ะ”
และเมื่อคนรู้จักมากขึ้น ก็ต้องยิ่งระมัดระวังถึงเนื้อหาคอนเทนท์ที่ถูกผลิตออกมามากขึ้นเช่นกัน
“โมรู้สึกว่าชีวิตโมเปลี่ยนมากๆ เลยค่ะ ตั้งแต่คนมารู้จักสยาโมในฐานะสยาโมที่เป็น Content Creator โมขยันทำคอนเทนท์มากขึ้น จากเมื่อก่อนเรารู้สึกว่าชีวิตมันไม่ต้องทำอะไรมาก ทุกวันนี้กลายเป็นว่าทุกอย่างมันมีอะไรรอเราอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราขยันมากขึ้น กระตือรือร้นมากขึ้น ทำให้เราเหมือนกับว่าใส่ใจ แล้วก็แคร์คนดูมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ส่งผลให้เราตระหนักถึงการใช้ชีวิต เมื่อก่อนเราไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะเราจะทำอะไรก็ได้ แต่ว่าตอนนี้กลายเป็นว่าเราไปไหนคนจำได้ เราทำอะไร เราโพสต์อะไรในช่องทาง Social Media เราต้องคิดเยอะๆ
มันคือ Influencer คนมีอิทธิพลทางความคิดของคนหมู่มาก เพราะฉะนั้นเราคิดเยอะขึ้นมากๆ เลยค่ะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันไม่ได้มีผลต่อเราคนเดียว แต่มันมีผลต่อคนดูด้วย มันก็ยิ่งทำให้เราเป็นคนคิดเยอะขึ้นก่อนทำค่ะ”
แต้มบุญชีวิต!! ได้สวมชุดของ “ราชินีลูกทุ่ง”
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แตงโม เข้าสู่วงการบันเทิงจากการเป็นนักร้องในรายการ The Voice โดยแนวเพลงที่เธอถนัดคือ แนวไทยเดิมและลูกทุ่ง โดยมี “แม่ผึ้ง - พุ่มพวง ดวงจันทร์” ราชินีลูกทุ่งตลอดกาล เป็น Idol
“โมเริ่มร้องเพลงจากเพลงลูกทุ่ง เพราะว่าคุณพ่อชอบร้องเพลงลูกทุ่ง พอมา The Voice ทางรายการเขาก็ค่อนข้างที่จะมองเห็นเรามีความถนัดด้านนี้ ในทุกๆ รอบก็เลยจะมีความพยายามใช้เพลงลูกทุ่ง หรือเอาเพลง pop มาปรับให้มีความเป็นลูกทุ่ง มีความเป็นไทยเดิม ก็เลยทำให้คนจดจำไปแล้วว่าแตงโมเป็นเป็นสายไทยเดิม สายลูกทุ่ง
โมเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ยังฟังเพลงของแม่ผึ้ง ชอบเพลงแม่ผึ้งมากๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ยอมรับว่าแม่ผึ้งท่านเป็นราชินีลูกทุ่ง แล้วส่งมาถึงรุ่นเรา เราก็ได้เห็นผลงานของท่าน ถือว่าเป็น Idol ของโมเลย ถึงโมจะเกิดไม่ทันก็ตาม แต่โมก็เห็นวิดีโอ แล้วเราก็ใช้เพลงของแม่ผึ้งประกวดบ่อยมากๆ จำได้ว่าเพลงแรกที่ร้องของแม่ผึ้งคือ “นักร้องบ้านนอก”
โมเคยดูภาพยนตร์เรื่องพุ่มพวงนานมากแล้ว ก็ทำให้เราได้เห็นถึงเส้นทางชีวิตของแม่ผึ้ง แม่ผึ้งก็สู้มาเยอะ เด็กต่างจังหวัดตามหาความฝันมาเรื่อยๆ มีบางซีนที่เราเห็นในหนัง เป็นซีนที่แม่ผึ้งซ้อมอยู่ในห้องอัดดึกๆ ซ้อมวนๆ วันนี้เราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน (หัวเราะ) เราก็แอบ flashback นึกถึงหนังเรื่องพุ่มพวงเลย เออ… คล้ายๆ กันเลยเนอะ”
และหลังจากที่ได้มาทำคอนเทนท์บน TikTok ก็พาให้สยาโมได้รับประสบการณ์สุดพิเศษ ที่ตนเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อได้มีโอกาสสวมชุดของราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ โดยได้รับการติดต่อจาก “เพชร - ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์” บุตรชายคนเดียวของ พุ่มพวง ดวงจันทร์
“พี่เพชรเจอกันใน TikTok โมไลฟ์สดอยู่ พี่เพชรก็เข้ามาดู เข้ามาขอให้ร้องเพลงให้ฟัง ก็ได้มีการ follow กันใน IG ก่อนหน้านี้มีการทำคอนเทนท์แต่งตัวตามแม่ผึ้ง แต่งหน้าตามแม่ผึ้งอยู่ก่อนแล้ว
พอคอนเทนท์นั้นออกไป พี่เพชรคงเอ็นดูเรา แล้วก็อยากจะให้เราใส่ชุดที่เป็นชุดของแม่ผึ้งจริงๆ ก็เลยมีการข้อความมาว่า พี่อยากจะส่งชุดของคุณแม่ให้น้องโมใส่ น้องโมจะกลัวมั้ย พี่อยากทักมานานแล้ว แต่ไม่กล้าทักเพราะกลัวน้องกลัว
ใจนึงก็แบบ… เราต้องกลัวมั้ย นั่นคือ Idol เราก็เลยแบบ… หนูดีใจมากเลยค่ะพี่เพชร หนูขอบคุณพี่เพชรมากๆ ที่ให้โอกาสเราได้มาใส่ชุดราชินีลูกทุ่ง เราก็มีความสงสัยเหมือนกันว่าเราเป็นใคร ทำไมเราถึงได้ใส่ ทำไมลูกชายของแม่ผึ้งถึงส่งชุดนี้มาให้เรา ก็มีความคิดเหมือนกัน”
และวินาทีที่ได้ลองชุดของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์นั้น แตงโมก็เปิดเผยว่า รู้สึกราวกับได้รับพลังงานบางอย่าง และมีความประทับใจในรายละเอียดของการตัดเย็บ ที่ความสวยงามปราณีตสมกับที่เป็นชุดของราชินีลูกทุ่ง แม้จะผ่านเวลาไปแล้วนับ 3 ทศวรรษ
[ “สยาโม” ในชุดของแม่ผึ้ง พุ่มพวง ]
“พี่เพชรตัดสินใจส่งชุดมาให้ 2 ชุด คือชุดกำมะหยี่สีดำ แล้วก็ชุดข้างนอกสีดำ พอเปิดพัสดุออกมามันเหมือนมีความขลัง ก็รู้สึกขนลุกอยู่ แต่ก็ไม่ได้ขนลุกแบบกลัวหรืออะไรแบบนั้น เราขนลุกเหมือนเราได้รับพลังอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่าเราคิดไปเองหรือเปล่า เรามีการยกมือไหว้ มีการนึกถึง
ชุดราชินีลูกทุ่งอะเนอะ มันก็ต้องสุดๆ แล้วในสมัยนั้น ซึ่งลักษณะของซิป ลักษณะของเนื้อผ้า ตะเข็บ ฝีเย็บ มันยังดีทุกอย่างเลย มันเนี้ยบมาก มันดูเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ใจจริงๆ แล้วก็เป็นเสื้อผ้าของบุคคลสำคัญ มันต้องดีมากๆ อยู่แล้ว
พี่เพชรก็บอกว่าเก็บมาแล้ว 30 กว่าปีเหมือนกัน ยังไม่ได้ซักเลยด้วย ยังมีกลิ่นของคุณแม่ติดอยู่เลยค่ะ แล้วเหมือนกับชุดที่ส่งมายังเป็นรอยพับถูกกดทับมานานมาก รู้เลยว่าเก่าจริง เราคุยกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่าให้เอามาใส่ทำคอนเทนท์ แค่นี้โมก็ดีใจแล้ว โมแค่รู้สึกมันเป็นของที่ไม่ใช่จะให้ใครได้ง่ายๆ มันก็ถูกแล้วที่จะต้องเก็บไว้ ก็ได้มีการส่งกลับคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พอเราไปเล่าให้คุณแม่ฟัง ว่าพี่เพชรส่งชุดแม่ผึ้งมา แม่ก็ดีใจ แม่ก็พูดให้เราฟังว่ามีใครบ้างจะได้ใส่เสื้อผ้าของราชินีลูกทุ่ง เพราะฉะนั้นเป็นบุญของเรามากๆ เป็นแต้มบุญของเรามากๆ ที่ได้มีโอกาสสวมค่ะ
หลังจากที่เราใส่ชุดแล้วเราก็นึกถึงแม่ผึ้งนะ ท่านเป็น Idol เรามาตลอด แล้วท่านก็เป็นคนในวงการบันเทิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว ก็เลยเหมือนแม่ผึ้งอยู่กับเราตลอดเลยตั้งแต่นั้นมา”
หลงเสน่ห์ “วินเทจ” “โมว่า (ความวินเทจ) มันมีความเย็นอยู่ในนั้น มีความน่ารักแบบบอกไม่ถูก ด้วยความที่มันแตกต่างด้วยค่ะ คงจะเป็นลักษณะภายนอกที่ไม่ค่อยได้เห็นในปัจจุบันแล้ว แต่ว่าเรามักจะเห็นอะไรพวกนี้ผ่านหนัง ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งมันก็สอดคล้องกับคำว่า Nostalgia หรือว่าการโหยหาถึงอดีต มันทำให้เรามองเห็นอดีต แล้วรู้สึกว่าเมื่อก่อนมันมีความสุขจัง เมื่อก่อนมันดูน่าอยู่เนอะ คิดว่าหลายๆ คนน่าจะเกิดอาการนี้เหมือนกัน ดูหนังย้อนยุค หรือว่าดูภาพสมัยก่อนแล้วเรารู้สึกอยากย้อนกลับไปสมัยนั้นจัง โมว่ามันน่าจะเป็นเสน่ห์เดียวกัน แรกๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นสยาโม เราแต่งตัวแบบนี้อยู่แล้ว คนไม่เข้าใจบ้าง เขาแค่แซวว่าชุดเหมือนป้าเลย เหมือนเสื้อคุณยายเลย แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นค่ะเพราะว่าก็ยาย เราก็ตั้งใจให้มันยายนะ แล้วก็พอมีคนให้การยอมรับมากขึ้น หลังๆ ก็ไม่ได้มีคอมเมนท์เชิงลบอะไรค่ะ มีแต่คนชื่นชม ชื่นชอบ ปกติแล้วเวลาถ่ายคลิปอาจจะมีความเวอร์ๆ หน่อย เพราะว่าอยากให้คนเห็นชัด แต่เวลาที่ออกไปข้างนอกเราก็จะ Mix & Match กับรองเท้าผ้าใบ เพราะว่าบางทีชุดสมัยก่อนมันก็ไม่ได้คล่องตัว เวลาที่เราจะออกไปทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องการความคล่องตัว เราก็จะเปลี่ยนบางชิ้นให้มันดูมีความร่วมสมัยมากขึ้น ไม่คุมโทนเชยทั้งชุด ให้มีความผสมผสานค่ะ (Item ชิ้นประจำ) ส่วนใหญ่จะเป็นเข็มขัดค่ะ เพราะเรามีปัญหาเรื่องเอว เอวเราเล็กกว่ามาตรฐานมาก เอว 22 มันจะไม่ค่อยมีกางเกงหรือกระโปรงที่ใส่แล้วพอดี แล้วเราเป็นคนสูงน้อย จำเป็นที่จะต้องใส่กางเกงหรือกระโปรงที่เป็นเอวสูง ก็จะมีเข็มขัดที่จะทำให้ใส่แล้วลุคมันดูคอมพลีทมากขึ้น ดูเห็นรูปร่างที่สวยงามมากขึ้น แล้วก็จะมีแว่นตาค่ะ จะเป็น accessories ที่ทำให้ลุคเราดูไม่ธรรมดา ถ้าอยากได้วินเทจก็จะเป็นแว่นตาแบบ Cat Eye แหลมๆ จะทำให้ลุคของเราดูเก๋ ดูพิเศษมากขึ้น ประมาณนี้ค่ะ” |
มีวันนี้เพราะที่บ้านไม่ตีกรอบ
เมื่อย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเข้าสู่วงการบันเทิง แตงโมเริ่มจากการเป็นนักร้อง และประกวด The Voice Kids 2016 โดยมีสมาชิกครอบครัวทั้งคุณพ่อและน้องชายที่ชื่นชอบในการร้อง เป็นผู้ร่วมจุดประกายให้เดินในทางสายนี้
“หลายๆ คนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสยาโมร้องเพลงได้ หรือมาจาก The Voice ต้องเท้าความว่า เรามาจากจังหวัดกระบี่ อยู่กับน้องชาย คุณพ่อ คุณแม่ ที่บ้านเป็นร้านซ่อมรถ ขายอะไหล่รถยนต์ คุณพ่อคุณแม่ก็ทำงานไป ส่วนเรากับน้องชายก็อยู่ในห้องแอร์ มี TV เครื่องนึง ก็จะชอบทุกอย่างรอบด้านเลย ละคร พิธีกร ร้องเพลง ดู TV แล้วจะเลียนแบบ เราเสพอะไรแบบนี้เยอะมาก
เราก็รู้ตัวว่าเรากับน้องหรือคุณพ่อ ก็พอจะมีพรสวรรค์บ้างด้านการร้องเพลง พอไปโรงเรียนเขาก็มีกิจกรรมให้ทำ เราก็กลายเป็นนักร้องโรงเรียน กลายเป็นพิธีกรโรงเรียน ทำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ จนขึ้น ม.2 ได้มีโอกาสไปรายการ The Voice Kids ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักร้อง ก้าวเข้าสู่รายการ TV ครั้งแรกค่ะ
พอเราได้เข้ามาในกรุงเทพฯ ได้มาเจอเพื่อนๆ ที่เขามีครูสอนร้องเพลง เขามีโค้ช แต่เราไม่มีอะไรเลย เราเริ่มเอง คุณพ่อสอนฝึกเอง เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่า ถ้าอยากเดินสายนี้ก็น่าจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตอน ม.4
หลังจากนั้นก็ตระเวนออดิชันเอง พยายามจะหาช่องทางมาตลอดค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้กดดันว่าจะต้องส่งลูกไปเรียน จะต้องส่งลูกให้ได้ที่ 1 ทุกที่ แต่ค่อนข้างที่จะซัพพอร์ต และให้เราเป็นตัวเองได้เต็มที่ ให้เราได้ออกไปเจออะไรด้วยตัวเอง
แต่เขาก็ไม่ได้ตามไปทุกที่ เราก็ใช้ความพยายามของตัวเองมากพอสมควร เพราะตอน ม.4 ที่โมมาอยู่กรุงเทพฯ โมมาอยู่หอคนเดียว ไม่มีใครเลย มีออดิชันที่ตึกแกรมมี่ มีออดิชันที่นู่นที่นี่ เราก็หาทางไปเอง ขวนขวายไปเอง”
และหลังจากนั้นก้าวสู่การประกวด The Voice 2018 ในวัยย่าง 18 ปี ก็ยิ่งทำให้ตัวตนการเป็นนักร้องของเธอ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“โมไม่เคยเรียนร้องเพลงเลย แต่พอมา The Voice Kids มา The Voice ผู้ใหญ่ มันเหมือนมี connection มากขึ้น เรารู้จักเพื่อนๆ ที่เขามีครูสอนร้องเพลง ก็ได้มีการแนะนำจากคุณครูของเพื่อน ให้ไปร้องโชว์ เหมือนเป็นการเรียนด้วยประสบการณ์
พอเราเจอคนมากขึ้น เราเรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า แล้วเราก็เอากลับมาฝึกซ้อมเอง มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า เราก็เก่งขึ้นนะ โดยที่เราไม่ได้ต้องไปเรียนหรืออะไรเฉพาะด้านขนาดนั้น
ในปีที่ไป The Voice ผู้ใหญ่ โมน่าจะเด็กสุดแล้วในซีซัน ใส่ชุดมัธยมไปซ้อมอยู่เลยตอนนั้น เราจะเห็นพี่ๆ ที่เขาเป็นมืออาชีพ พี่ๆ ที่เขาเป็นศิลปิน แล้วการที่ได้เข้าไปอยู่กับโค้ชป็อบ โมก็ได้มีโอกาสตามพี่ป๊อบไปเล่นคอนเสิร์ต แล้วก็เห็นอะไรที่มันอยู่ในแวดวงบันเทิงที่เป็นของจริง ทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นศิลปินมันไม่ใช่แค่ต้องร้องเพลงเฉยๆ มันต้องมีตัวตน ต้องมีเอกลักษณ์ ต้องมีอะไรหลายๆ อย่าง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำให้ความเป็นศิลปินมันสมบูรณ์แบบ
หรือเราได้เห็นเพื่อนๆ อย่างพี่โจอี้ (โจอี้ - ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ) ที่เป็นเพื่อนร่วมทีม ตอนนี้ก็เป็นเจ้าของเพลง นะหน้าทอง เห็นทุกคนประสบความสำเร็จ เราก็เริ่มมีลู่ทาง มีช่องทางที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปด้วย”
ส่วนสำคัญที่ทำให้ ด.ญ.แตงโม เมื่อครั้งนั้น กลายมาเป็น สยาโม อย่างทุกวันนี้ แน่นอนมาจากการเลี้ยงลูกของ “ครอบครัวสิงห์ชู” ที่ไม่เคยปิดกั้นความฝัน ทั้งยังสนับสนุนให้ลูกเดินในเส้นทางที่เลือกเอง โดยมีพ่อและแม่คอยประคองอยู่ข้างๆ
“ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านคืออยู่กัน 4 คน พ่อแม่น้อง ค่อนข้างสนิทมากๆ แต่พอย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว เราไม่รู้ว่าพ่อแม่กังวลมั้ย แต่เขาก็คงเชื่อมั่นในตัวเรา เขาก็คงเห็นอะไรที่แบบว่า… มองไปในการณ์ไกลว่าแล้วถ้าเราเริ่มต้นตรงนี้เอง สุดท้ายถ้ามันสำเร็จก็น่าจะภาคภูมิใจด้วยตัวเองเรา
ถ้าเทียบพ่อกับแม่ พ่อจะห่วงมากๆ ไม่อยากให้ลูกอยู่ไกล แต่อย่างแม่ แม่จะรู้สึกว่าประสบการณ์สำคัญมาก แม่ไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน ถ้าเกิดว่าเราได้ออกไปใช้ชีวิตเหมือนผู้ใหญ่ แม่เชื่อว่าเราจะโตเร็วขึ้น ซึ่งโมรู้สึกว่าโมก็ดูโตเร็วกว่าเพื่อนๆ ในรุ่นหลายๆ อย่าง เราช่วยเหลือตัวเองหมดเลย เราหารายได้เองตั้งแต่เด็กๆ มันก็ทำให้เราสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นนิดนึง ประมาณนี้ค่ะ
ทุกวันนี้แม่ก็ยังชมอยู่เลยว่า ‘นึกถึงวันแรกมั้ยที่นั่งเครื่องขึ้นมากรุงเทพฯ คนเดียว ยังไม่มีอะไรเลย ลากกระเป๋าเดินทางร้อนๆ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ’ ก็ทำให้เรารู้สึกภูมิใจเหมือนกันที่มาถึงตรงนี้ได้ จากวันนั้นที่ไม่มีอะไรเลย
เขาจะสอนให้เราอยู่ด้วยตัวเองเยอะมากเลยค่ะ เวลาเจอปัญหาเขาจะไม่ค่อยช่วยแก้ เหมือนกับว่าเป็นการใบ้ๆ ให้เราผ่านสิ่งนั้นๆ มาด้วยตัวเอง แต่ถ้าเกิดว่าเราล้มเหลวหรือผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยซ้ำเติมหรือตำหนิเลย เขาจะค่อนข้างปล่อยแล้วก็ไม่คาดหวัง
ซึ่งโมว่าการที่เขาปล่อยและไม่คาดหวัง มันเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับมาให้เรามีความรับผิดชอบในตัวเองมากขึ้นว่าเขาไว้ใจนะ เขาปล่อยให้เราไปอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้ดี ให้สมกับที่เขาไว้ใจให้เรามาอยู่”
ไม่เพียงแค่แตงโมเท่านั้นที่ได้รับอิสระในการเดินตามความฝัน แต่ยังรวมไปถึงน้องชายคือ “โอเลี้ยง - สยามพล สิงห์ชู” ผู้เข้าประกวด The Voice Kids 2016 เช่นเดียวกันอีกด้วย
“เหมือนกับว่าที่บ้านเปิดพื้นที่ เขาไม่ได้บังคับให้เราทำอะไรที่เราไม่อยากทำ เพราะฉะนั้นเราจะมีเวลาว่างและอิสระมากในการค้นหาตัวเอง อย่างน้องชายก็ไปไหนไปกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ก็จะเป็น แตงโม-โอเลี้ยง น้องก็เคยไป The Voice Kids ซีซันเดียวกัน ซึ่งโอเลี้ยงก็เข้าไปรอบไกลกว่าแตงโมด้วยนะ โอเลี้ยงได้ที่ 3
หลังจากนั้นน้องก็มีความชื่นชอบด้าน entertainment น้องก็เบนสายไปด้านตัดต่อ ตากล้อง เป็น production จะอินเรื่องตัดต่อมากๆ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้น้องไปด้านนั้น เขาก็จะมีองค์ความรู้ที่เขาเรียนเฉพาะด้าน แล้วก็มาสอนเราอีกทีนึง
กลับกลายเป็นว่า การทำช่องสยาโม ก็มีเราเป็นเบื้องหน้า มีน้องเป็นเบื้องหลัง ใน TikTok ถ้าเป็นคลิปง่ายๆ โมก็จะตัดต่อเอง ถ้าเกิดว่าเป็นคลิปที่มีลูกค้าที่จะต้องใช้ความ pro ในการตัดต่อ ก็จะส่งให้น้องตัดต่อ ก็ซัพพอร์ตกันและกัน”
เงินอยู่ในอากาศ อยู่ที่ใครจะมองเห็นโอกาส
ในด้านการเรียน ปัจจุบันเจ้าของช่องสยาโม เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“จบปีนี้เลย เพิ่งส่งสารนิพนธ์เสร็จเรียบร้อยไป ไม่มีการเรียนการสอนแล้วค่ะ รับปริญญาปลายปีนี้ สาขาที่โมเรียนชื่อว่า สาขาธุรกิจดนตรีและบันเทิง จริงๆ ค่อนข้างตรงสายเลยค่ะ เรียนดนตรีนิดนึงเพราะอยู่ภายใต้คณะดุริยางคศาสตร์ แล้วก็เรียนเกี่ยวกับเรื่องของการตลาด เรื่องธุรกิจ แล้วก็มีเรื่องของความบันเทิง เรื่องของสื่อ Social Media มีความเป็นนิเทศหน่อยๆ
เป็นเหมือนบูรณาการ 3 ศาสตร์นี้ สาขานี้เรียนไปเพื่อเป็นนักบริหารจัดการธุรกิจทุกอย่างด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ คอนเสิร์ต ที่เกี่ยวข้องกับบันเทิงและดนตรี”
สำหรับวิชาความรู้ที่ได้รับจากสถาบันของเธอนั้น ก็เรียกได้ว่าตรงสายงานที่ทำอยู่ และถูกนำปรับใช้ได้อย่างพอดิบพอดี
“โมว่าโมโชคดีที่เราเรียนไปในทิศทางเดียวกับงานที่ทำ มันเหมือนเป็นการทำงานครั้งเดียว ก็จะได้ทั้งงานส่งอาจารย์ด้วย ได้ทั้งงานส่วนตัวด้วย ก็ถือว่าเบาภาระเราไปประมาณนึง
เพราะว่าวิชาที่เราเรียนมันครอบคลุมกับสิ่งที่เราจะต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ การ PR การคิดคอนเทนท์ การเรียนการตลาด หรือว่าการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ว่าการที่จะขายสินค้าหรือการจะทำคอนเทนท์นี้ให้ใครดูหรือใครฟัง ต้องทำยังไงให้เขาเกิดความสนใจ หรือว่าแม้กระทั่งเรื่องของ Algorithm Social Media ต่างๆ ก็มีผลมากๆ
ที่คณะเขาเหมือนมีการ assign งาน ได้ทำงานจริงๆ ได้มีการทำ project โดยที่เราจะต้องไปหาเงิน หา sponsor เอง มีการคิด package การทำ benefit ต่างๆ ที่เราได้คุยกับลูกค้าจริง เพราะฉะนั้นเราจะได้มีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ปี 1-2-3 พอปี 4 ที่เริ่มมาเป็นสยาโม เหมือนได้ใช้ทุกๆ อาวุธที่ได้เก็บเกี่ยวมา 4 ปี ได้ใช้จริงๆ
ตอนที่โมปั้นช่องสยาโม ตอนผู้ติดตามหลักหมื่นจนถึงหลักแสน ก็มีเรียนวิชาวิชานึงอยู่ แล้วเหมือนอาจารย์เป็นเหมือนที่ปรึกษาของช่องเราด้วย เราจะเจออาจารย์ทุกๆ สัปดาห์ แล้วเราก็จะเติบโตเรื่องของฐานผู้ติดตามในทุกๆ สัปดาห์เลย แล้วมีการรายงานอาจารย์ ก็รู้สึกดีค่ะ เหมือนมีคนที่องค์ความรู้ด้านนี้คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเลย”
ทั้งนี้ เธอได้ฝากถึงผู้ใหญ่บางท่าน ที่กังวลว่าสายงานด้านนี้อาจจะไม่มั่นคงในระยะยาว ก็อยากให้เปิดใจ เพราะการเป็นศิลปินหรือทำด้านสื่อบันเทิง สามารถสร้างงาน สร้างเงินได้จริง
“เรื่องของดนตรี เมื่อก่อนเขาเรียกเต้นกินรำกินอะไรอย่างนี้ใช่มั้ยคะ มันอาจจะเป็นเรื่องที่หางานยาก เพราะฉะนั้นสาขาที่โมเรียน มันคือธุรกิจดนตรีและบันเทิง เหมือนเป็นการแก้ Pain Point เรื่องของนักดนตรีไส้แห้งมากๆ เลย
เราแค่ร้องเพลงเป็นหรือเราแค่เล่นดนตรีเป็นอย่างเดียวมันคงไม่พอ ถ้าเราขาดเรื่องของการบริหารจัดการด้านธุรกิจ หรือการสร้างมูลค่าให้งานศิลปะมันเกิดเป็นเม็ดเงินได้ เราเห็นตัวอย่างหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จด้านนี้ ว่าอาชีพของการเป็น Influencer เป็นศิลปิน มันสามารถที่จะสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างเงินได้เยอะมากเลย
เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องแค่เต้นกินรำกินแล้ว มันคือ trend ใหม่ที่กำลังมาด้วยซ้ำไป ตอนนี้ใครมีสื่อมากที่สุด ใครมีผู้ติดตามมากที่สุด มันเป็น asset อย่างนึงไปแล้ว โมรู้สึกว่าสิ่งที่โม เป็นสิ่งที่มัน trendy มากๆ เด็กรุ่นใหม่ควรจะรู้มากๆ ค่ะ เพราะตอนนี้ทุกอย่างเป็นออนไลน์หมดแล้ว เงินอยู่ในอากาศหมดเลย มันไม่ได้เป็นแบบสมัยก่อนแล้ว ก็ต้องลองดูค่ะ
โมเข้าใจว่ามันอาจจะยากสำหรับการไปพิสูจน์ หรือว่าอธิบายให้คนในอีก Generation ที่เขาอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนี้เข้าใจ แต่มันก็น่าจะอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย ว่าเราสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามันทำเงิน เป็นอาชีพ และสร้างความมั่นคงได้จริงๆ”
สุดท้ายนี้ สาวน้อยหัวใจวินเทจได้ฝากไว้ว่า ต่อไปอาจได้พบเธอในบทบาทของการจับไมค์เป็นศิลปินมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้เห็นคอนเทนท์มุมใหม่ๆ จากช่อง สยาโม ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปในอนาคต
“มีผลงานเพลงทำกับ PAPAGUMP Project เป็นอัลบั้มเก่าอีก 3 เพลงยังไม่ได้ปล่อย อาจจะมีแพลนทำในชื่อของสยาโมเลยในด้านของเพลง ตอนนี้พยายามจะปั้นในฐานะของการเป็นศิลปิน อยากได้เพลงดังซักเพลงนึง เพราะเราก็ยังไม่อยากจะทิ้งความสามารถด้านการร้องเพลง ก็อยากจะทำเพลงให้สำเร็จในด้านของการเป็นศิลปิน
แล้วก็มีคิดเหมือนกันว่าอยากจะทำแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง เพราะมีคนเข้ามาเรียกร้องเยอะมาก ว่าอยากให้แม่ตัดชุดขาย อยากจะได้เสื้อผ้าแบบที่เราใส่ ที่แม่ใส่ ก็มีแพลนเหมือนกันว่าอาจจะทำแบรนด์เสื้อผ้าที่มีความเป็นวินเทจ ทั้งวัยรุ่นใส่ได้ แล้วก็คนกลางคนใส่ได้ มีหลายๆ แบบ รองรับคนทุกกลุ่ม อะไรแบบนี้ค่ะ
โมก็ต้องขอบคุณทุกๆ คนเลยค่ะที่เข้ามาติดตามสยาโมตั้งแต่ The Voice จนถึงกลายเป็นสยาโมอย่างทุกวันนี้ โมเติบโตขึ้นในทุกๆ วันเพราะทุกคนเลยนะคะ
อยากจะให้ติดตามกันไปตลอด แล้วก็ขอบคุณที่ชอบความเชย ความเป็นตัวเองของผู้หญิงคนนี้ ต่อไปก็จะมีคอนเทนท์ใหม่ๆ น่าจะมีอีกหลายๆ มุมที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยเห็นจากสยาโม จะได้เห็นแน่นอนในคอนเทนท์ต่อไปค่ะ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “สยาโม”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **