เปิดทริกการสอนของ “ครูแว่นดำ” ใช้ยูทูบเป็นสื่อกลางกับเด็กรุ่นใหม่ สอนเรื่องยากๆ ให้ง่ายขึ้นผ่านบทเพลงที่ครูภาษาไทยนำไปใช้กันทั่วประเทศ แม้สายตาพิการ โดนเพื่อนล้อ เกือบจบเส้นทางอาชีพครู ก็ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ และคุณครูทั่วประเทศ
ดังจนเป็นไวรัล ขวัญใจเด็กทั่วประเทศ
“เราคิดว่า ถ้าเราเอาหลักภาษาที่มันยากๆ กับเพลงที่มันสนุกสนานมารวมกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยได้เริ่มต้นทำเพลงส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทย แล้วก็มาใช้ในห้องเรียน ปรากฏว่าเด็กเขาก็มีความสุข สนุกกับการเรียนภาษาไทย สามารถที่จะจดจำเนื้อหาเกี่ยวกับหลักภาษาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเรานำไปเผยแพร่ให้แก่สาธารณชน ให้แก่ครูโรงเรียนอื่น ให้แก่เด็กๆ ทั่วประเทศได้ใช้ มันก็คงจะมีประโยชน์มากกว่าแค่เด็กกลุ่มเดียว”
“ชาตรี บุญมี” หรือเจ้าของฉายา “ครูแว่นดำ” ครูวิชาภาษาไทย ที่พิการทางการมองเห็น ที่พ่วงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดตรังคภูมิพุทธาวาส
ที่ได้รับฉายาว่า “ครูแว่นดำ” เนื่องจากเป็นผู้พิการทางสายตา ซึ่งจัดเป็นผู้พิการโรคตาบอด ประเภท 2 คือไม่ได้ตาบอดสนิท หรือที่เรียกว่า สายตาเลือนราง บวกกับบุคลิกที่ใส่แว่นดำตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของสมญานาม “ครูแว่นดำ”
และที่ทำให้ครูแว่นดำโด่งดังในโลกออนไลน์ และเป็นที่รู้จักของเด็กๆ ทั่วประเทศ ด้วยทริกการสอนนักเรียนอย่างสนุกสนาน สื่อสารกับเด็กทั้งประเทศผ่านยูทูบ จากการแต่งเพลง และทำคลิปวิดีโอประกอบการสอน โดยนำทำนองมาจากเพลงที่ฮิตๆ แล้วแต่งเนื้อหาการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทย เข้าไปในเพลง ที่ไม่ว่าจะออกคลิปไหนมา ก็มักจะเรียกเสียงฮือฮาในโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง เช่นเพลงคำวิเศษณ์, เพลงคำมีเสน่ห์, เพลงคำเชื่อมเฮฮา เพราะนอกจากจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย แถมยังเต้นกันอย่างสนุกสนานอีกด้วย
ถึงแม้ว่ายูทูบของช่องครูแว่นดำจะยังมีผู้ติดตามไม่มากนัก แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้น รวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอน จนดังเป็นไวรัล และทำให้กลายเป็นครูขวัญใจเด็กๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในโลกโซเชียลฯ
“ที่มาก็จากการที่ก่อนหน้านี้เราก็เป็นครูภาษาไทย แล้วก็ชอบสอนเด็ก โดยใช้กิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เกม การใช้เพลง การทำกิจกรรมแบบ active learning เพราะว่าวิชาภาษาไทย ต้องบอกว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในเรื่องของหลักภาษา
เวลาสอนเด็ก เด็กเขาก็จะจำหลักภาษาไทยไม่ได้ จำเนื้อหาไม่ได้ เราก็เลยคิดว่าจะมีวิธีการอะไร ที่จะทำให้เด็กๆ เขาสามารถจดจำเนื้อหา แล้วก็มีความสุขกับการเรียนวิชาภาษาไทย ซึ่งตัวเราเองก็ชื่นชอบในเรื่องของการแต่งเพลงอยู่แล้วด้วย แล้วเราก็มาสังเกตว่า เวลามีเพลงวัยรุ่นออกมา เด็กเขาฟังรอบเดียว สองรอบเขาก็ร้องตามได้ แล้วก็มีความสุขกับการร้องเพลง
เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราเอาหลักภาษาที่มันยากๆ กับเพลงที่มันสนุกสนานมารวมกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยได้เริ่มต้นทำเกี่ยวกับในเรื่องของเพลงส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทย แล้วก็มาใช้ในห้องเรียน ก็ปรากฏว่าเด็กเขาก็มีความสุข สนุกกับการเรียนภาษาไทย แล้วก็สามารถที่จะจดจำเนื้อหาเกี่ยวกับหลักภาษาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เด็กก็มีความสุข
ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเรานำไปเผยแพร่ให้แก่สาธารณชน ให้แก่ครูโรงเรียนอื่น ให้แก่เด็กๆ ทั่วประเทศได้ใช้ มันก็คงจะมีประโยชน์มากกว่าแค่เด็กกลุ่มเดียว ตอนนั้นก็เลยได้เริ่มต้นทำช่องยูทูบ ต่อมาก็ทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ แล้วก็ทำช่อง TikTok เผยแพร่ทำกิจกรรมช่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการสอนที่สนุกสนาน ใช้เพลง ใช้เกม ใช้กิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
เด็กๆ เขาจะเรียกเราว่าคุณครูแว่นดำ สาเหตุก็คือเพราะว่าใส่แว่นดำ แล้วก็มีวิธีการเรียนการสอนที่สนุกสนาน และก็ถือว่าเป็นครูภาษาไทยยุคแรกๆ เลยที่มาเล่นในช่องทางโซเชียลฯ ทำยูทูบ ทำแฟนเพจ ทำเพลงอะไรต่างๆ ที่ทำประกอบท่าทางที่มีการเผยแพร่
เด็กๆ เขาก็ชื่นชอบ แล้วก็มีความสุข แล้วก็สนุกไปกับการเรียนรู้ พอเราทำเพจ เราก็ตั้งชื่อว่า ครูแว่นดำ เพื่อให้เด็กๆ เขาจดจำได้ง่าย”
สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กสนุกกับการเรียน
ผลิตสื่อการเรียนการสอนออกมาเผยแพร่ สื่อสารกับเด็กทั้งประเทศผ่านทางโลกโซเชียลฯ จนกลายเป็นไวรัล แต่ครูแว่นดำพิสูจน์ว่าทำได้ ด้วยแรงบันดาลใจอันแรงกล้าที่อยากให้เด็กสนุก และมีความสุขในการเข้าเรียน และอีกอย่าง อยากให้เด็กได้เปิดโลกกว้าง มองเห็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะนำมาเป็นแนวความคิดในการเรียนรู้ เป็นแรงบันดาลใจในการตั้งใจเรียนได้อีกมากเลย
“เรื่องแต่งเพลงก็เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว แต่ว่าเพิ่งมาชอบตอนที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย ด้วยความที่เราเป็นครูภาษาไทยอยู่แล้ว เราก็ชอบแต่งกาพย์กลอน คำคล้องจองอะไรต่างๆ แล้วเริ่มมาลองแปลงเพลง
ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญา ก็เริ่มนำเอาเพลงวัยรุ่นที่คนรู้จักเอามาใส่เนื้อหาในเรื่องของการเรียนการสอน ไม่ได้ทำเฉพาะวิชาภาษาไทย ในเรื่องของคุณธรรม เรื่องของจิตสาธารณะ เรื่องของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ก็นำมาแต่งด้วย
คลิปแรกๆ ที่ทำแล้วน่าจะทำให้คนรู้จักทั่วประเทศ คือคลิป “เพลงคำวิเศษณ์” เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นเพลง “เชือกวิเศษ” ดังมาก เราก็เลยแต่งเพลง โดยเอาเนื้อหาคำวิเศษณ์มาใส่ในเพลงเชือกวิเศษ ตอนนั้นก็ฮือฮามาก เป็นเพลงยุคแรกๆ ที่คนเอามาทำแบบนี้ ก็มีสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวอะไรต่างๆ เยอะแยะมากมาย ก็เป็นที่รู้จักในสื่อโซเชียลฯ แล้วก็ออกทีวีแทบทุกช่องเลย
จากนั้นก็มีอีกเพลงหนึ่งนะครับตอนนั้นที่มีกระแส ตอนนั้นดังมาก “เพลงคำมีเสน่ห์” เอาเพลง “คนมีเสน่ห์” ของคุณป้าง-นครินทร์ ที่ดังมาก เราก็เอามาทำเป็นเพลงคำมีเสน่ห์ เราก็อยากปลูกฝังให้เด็ก เวลาพูดก็อยากให้มีครับ มีค่ะ มีหางเสียง
ช่วงแรกๆ ก็ใช้ทำนองเพลงจากเพลงวัยรุ่นที่กำลังดังในยุคนั้น เราก็ใส่เนื้อหาเกี่ยวกับหลักภาษาเข้าไป บางเพลงก็ร้องเอง บางเพลงก็ให้เด็กๆ ที่เขามีความชอบ มีความสนใจ มีความสามารถมาช่วยร้อง เด็กๆ ก็จะมีส่วนร่วมแทบทุกขั้นตอน ก็คือทั้งร้อง ทั้งเล่นดนตรี cover แล้วก็ช่วยถ่ายทำ มาช่วยตัดต่อวิดีโอ เราก็สอนเด็กไปด้วย ในเรื่องของการทำโปรดักชัน เด็กๆ เขาก็จะชอบ ก็จะให้ประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้วย”
สิ่งที่ครูแว่นดำพยายามสร้างสื่อการเรียนการสอน เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งตัวเด็กและคุณครูด้วย ทำให้เด็กสนุกและเข้าใจการเรียนได้ง่ายขึ้น
“ตอบโจทย์มากๆ เลยครับ จากที่เราเรียนหลักภาษาตามตำรา หน้ากระดานดำ เขียนให้เด็กจดอะไรต่างๆ พอเรานำสิ่งเหล่านี้เข้ามา ก็ทำให้เด็กสนุก แล้วก็ตื่นเต้นว่าชั่วโมงนี้จะเรียนอะไร คุณครูจะมีอะไรมาเล่น มีเพลงอะไรมาร้องให้เขาฟัง มีเนื้อเพลงอะไรมาให้เขาร้อง มีท่วงทำนองอะไรที่จะทำให้เขาติดตาม ซึ่งผลตอบรับดีมากๆ ครับ
เวลาเผยแพร่ไปในช่องยูทูบ ก็มีคนมาคอมเมนต์ชื่นชมบอกว่า ดีมาก แปลกใหม่ดี นำไปใช้กับเด็กๆ แล้วเด็กๆ ชอบมาก บางคนก็ส่งคลิปวิดีโอตอนที่นำสื่อของเราไปใช้ในการเรียนการสอน เด็กเขาร้องเพลง เขาเต้น หรือว่าเขาทำท่าประกอบท่าทางต่างๆ เขาก็มี feedback กลับมาค่อนข้างดีครับ
เวลาไปตามโรงเรียนต่างๆ เขาก็จะรู้จัก เดินไปเขาก็จะจำได้ เขาก็จะเรียกว่าครูแว่นดำมาแต่ไกลเลยครับ ก็จะบอกว่าหนูติดตามอยู่นะคะ ผมติดตามอยู่นะครับ เพลงของคุณครูสนุกมากเลย ได้ความรู้”
นอกจากนี้ ครูแว่นดำยังมองอีกว่า สื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ดี จะช่วยสร้างการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าในยุคสมัยก่อน
“ช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคแรกๆ ของยูทูบ ของเฟซบุ๊ก เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทันสมัยนะครับ แล้วสื่อเหล่านี้มันดีกว่าตำรา มันดีกว่าหนังสือ มันดีกว่าการที่เราพูด ที่เราสอนปากเปล่า เพราะว่าการเรียนรู้ของเด็ก ตาเขาต้องดู หูเขาต้องฟัง สมองเขาต้องคิด เพราะฉะนั้นสื่อถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ยุคก่อนหน้านี้เราใช้การท่องจำ ใช้การอ่านหนังสือ ใช้การอ่านตำรา ซึ่งมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ
ในยุคปัจจุบันไทยแลนด์ 4.0 แล้ว สิ่งเหล่านี้มันต้องมา เทคโนโลยีมันต้องมา แล้วเทคโนโลยีปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็จะเน้นในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ เรื่องความบันเทิง เด็กๆ ก็จะติด TikTok ติดยูทูบ ชอบดูวิดีโอ ชอบดูคลิปสารบันเทิง เราก็คิดว่าถ้าความรู้เหล่านี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ มันก็น่าจะมีประโยชน์ และเด็กก็น่าจะเข้าถึงได้
ช่วงที่ทำแรกๆ ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือหรืออะไรก็ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คนที่นำสื่อไปใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคุณครู ต้องไปเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านคอมพิวเตอร์ขึ้นจอให้เด็กๆ ได้ดูได้เรียน แต่ยิ่งปัจจุบันนี้ เด็กแทบทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือ เด็กทุกคนก็จะเข้าถึงได้ง่าย และตลอดเวลา”
แนะทริก!! สร้างคอนเทนต์อิงกระแส
ทริกสำคัญในการสร้างคอนเทนต์ หรือสื่อการเรียนการสอนของครูแว่นดำ บอกว่า “กระแส” ควรสร้างคอนเทนต์อิงตามกระแสที่คนกำลังพูดถึงอยู่ในขณะนั้น และใช้แฮชแท็กที่คอยเชื่อมโยงผู้ใช้งานแต่ละคนเข้าด้วยกันเกี่ยวกับเรื่องที่เขาสนใจ
“กระแสก็มีส่วนนะครับ เพราะถ้าเราทำคอนเทนต์ในช่วงที่มีกระแสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คอนเทนต์เราก็จะไปได้เร็วขึ้น เติบโตได้เร็วขึ้น ก็จะไปตามแฮชแท็ก ไปตามกระแส อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่บางคลิปวิดีโอเราก็ไม่ได้อิงกระแส แต่ว่าเราเน้นการใช้งานจริง เหตุการณ์ที่เราเจอจริงๆ ก็ได้เหมือนกัน
อีกอย่างผมมองว่าคุณครูแต่ละคนมีคอนเทนต์อยู่แล้ว เพราะว่าครูแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน ผมอาจจะถนัดในเรื่องของการแต่งเพลง การทำกิจกรรมประกอบการเรียนการสอน แต่ผมเชื่อว่าคุณครูอีกหลายๆ ท่านก็จะมีความสามารถเป็นของตัวเอง ก็อยากจะให้เอาศักยภาพของตัวเราเอง เอาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจ เอาออกมาทำคอนเทนต์ ในทุกวิชา ไม่ใช่เฉพาะวิชาภาษาไทย
ใครที่ร้องเพลง ใครที่แร็ปเป็น ใครที่แหล่เป็น ใครที่ร้องเพลงฉ่อยเป็น ใครที่ชอบทำหนังสั้น ใครชอบทำเกมประกอบการเรียนรู้ ใครชอบงานศิลปะ ใครชอบดนตรี ใครชอบกีฬา แค่เราใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ยุคนี้ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ได้แล้ว ไม่เหมือนยุคแรกๆ ที่จะต้องมีกล้องวิดีโอ ต้องมีคอมพิวเตอร์ ต้องมีโปรแกรมตัดต่อ ซึ่งสลับซับซ้อนมาก ผมว่าคุณครูทุกคนถ้ามีใจรัก ถ้าอยากเป็นครีเอเตอร์ อยากจะเป็นผู้นำเทรนด์ในเรื่องการเรียนรู้ ผมว่าคุณครูทุกคนทำได้ ขอให้แค่เริ่มต้นทำครับ”
ส่วนคุณครูคนไหน ที่อยากลองทำสื่อการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ครูแว่นดำก็แนะทริกว่า ทำในสิ่งที่เราชอบ และดูกระแสว่าเด็กๆ ชอบอะไร และมีกระแสอะไรเกิดขึ้นในสังคม และอย่าลืมใส่หัวใจแต้มเติมให้มันสนุก ให้มันน่าสนใจ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เข้าถึงจิตใจของเด็กได้ง่ายขึ้น
“ผมมองว่าคุณครูทุกคนควรที่จะมาทำตรงส่วนนี้ ถ้าคนที่ทำไม่เป็นหรือยังไม่เคยลงมือทำ เดี๋ยวนี้มันก็มีช่องทางต่างๆ กูเกิล ยูทูบ มีกระบวนการวิธีสอนเราหมดเลย ตั้งแต่ถ่ายยังไง คิดคอนเทนต์ยังไง ตัดต่อยังไงโดยใช้มือถือเครื่องเดียว คุณครูทุกคนสามารถทำได้หมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณครูจะได้คือ พัฒนาตัวเองในเรื่องของเทคโนโลยี พอพัฒนาตัวเองแล้วมันก็จะเริ่มพัฒนาความคิด มุมมอง ตอนแรกๆ มันก็อาจจะคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร จะทำแบบไหน จะเป็นมายังไง
แต่พอได้เริ่มทำชิ้นที่ 1 ชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 เผยแพร่ออกไป 10 ชิ้น เราก็มาดูว่า 10 ชิ้นนี้คนชอบแนวไหน อะไรที่มันเป็นตัวเรา เราก็ดูค่าสถิติต่างๆ ที่มันเป็น feedback เข้ามา ดูว่าตัวเราถนัดแบบนี้ คนชอบเราแบบนี้ เราก็สามารถที่จะทำได้ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กๆ แล้ว ผมก็มองว่าเราสามารถที่จะสร้างรายได้ให้ตัวเราด้วย
อย่างที่บอกครับการเป็นครีเอเตอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ง่ายๆ เลยคือเริ่มต้นก้าวแรก คุณครูอยากจะทำอะไรทำเลยครับ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเลย แล้วก็ถ่ายแล้วก็โพสต์เลยครับ แค่นี้เองครับง่ายๆ แล้วก็ทำต่อเนื่อง ทำในสิ่งที่เราชอบ ให้มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้มันเป็นสิ่งที่วงการศึกษาดีขึ้น แล้วก็ทำไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องสนว่ามันจะดีหรือไม่ดี เพราะคำว่าดีหรือไม่ดี ตัวเราเองตัดสินเองไม่ได้ ผู้ชม สังคม เด็กๆ เขาจะตัดสินเอง
แต่ให้เชื่อมั่นเถอะครับว่า อะไรที่มันดี อะไรที่มันเป็นประโยชน์ มันก็จะดีและเป็นประโยชน์แน่นอนครับ สิ่งที่สำคัญก็คือ คลิปวิดีโอ หรือสื่อต่างๆ ตอนที่เราจะทำ อย่าลืมใส่หัวใจเราแต้มเติมให้มันสนุก ให้มันน่าสนใจ ถ้าเด็กๆ เขาชอบอะไร กระแสมีอะไร เราก็ใส่เข้าไป มันก็จะทำให้คลิปวิดีโอของเรามันน่าสนใจ และเข้าถึงจิตใจของเด็กได้ง่ายขึ้น”
และแม้ว่าความพิการทางสายตาจะค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการทำงาน ครูแว่นดำก็ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ และคุณครูทั่วประเทศ
“ด้วยความพิการทางการมองเห็น แต่ว่าก็คือไม่ได้ตาบอดสนิท เขาเรียกว่า ตาบอดประเภทสอง คือสายตาเลือนราง ภาพที่มองเห็นไม่ชัด และผมจะเป็นคนมองไม่เห็นสี ไม่รู้ว่าโลกนี้มีสีอะไรบ้าง รู้แค่ว่าสีเข้มกับสีอ่อน เวลาทำคอนเทนต์ หรือว่าตัดต่อ ก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยดู
สีนี้มันได้ไหม มันโอเคไหมในเรื่องกราฟิกอะไรต่างๆ ก็ให้คนมาช่วยดูในส่วนนี้ แต่เรื่องของการตัดต่อ การเรียบเรียงอะไรต่างๆ ผมก็ทำเอง อาจจะต้องอยู่ใกล้จอนิดหนึ่ง เหมือนคนอื่นเขาอยู่ไกลๆ อยู่ห่างๆ ผมก็ต้องซูมกับภาพนิดหนึ่ง”
ถูกเพื่อนล้อ-ตกงาน-คิดฆ่าตัวตาย
ความพิการทางสายตา นอกจากจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแล้ว ครูแว่นดำยังย้อนเล่าให้ฟังถึงอดีตอีกว่า ตอนเด็กๆ เคยถูกเพื่อนล้อ จนเคยคิดสั้นถึงขั้นขึ้นไปบนชั้น 3 ของบ้านเพื่ออยากจบชีวิตตัวเอง เพราะเพื่อนล้อ และเก็บกดในการใช้ชีวิตในสังคม แต่ด้วยความที่นึกถึงหน้าคุณพ่อคุณแม่ผู้เป็นที่รัก ที่คอยดูแล และคอยซัปพอร์ตให้กำลังใจมาตลอด จึงไม่อยากที่จะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
“ด้วยความที่เราก็ใช้ชีวิตอยู่ทุกวัน มันก็เลยมองว่าไม่เป็นปัญหา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นปัญหามาตั้งแต่ตื่นนอน หลายๆ อย่าง เรื่องเสื้อผ้า เราก็ไม่ค่อยได้เลือกเอง ก็จะมีภรรยาคอยดูให้ เรื่องการซื้อเสื้อผ้าอะไรต่างๆ เพราะเราไม่รู้จักสี ไม่รู้ว่าเราต้องใส่เสื้อผ้ายังไง
เรื่องการเดินทาง ต้องมีคนมารับมาส่ง เพราะเราไม่สามารถที่จะขับรถได้ ในการทำงาน เราต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น เพราะว่าด้วยสายตาของเราจะพิมพ์งาน จะพรินต์งาน คนอื่นอาจจะใช้เวลาสัก 5 นาที บางทีเราอาจจะใช้เวลาถึง 15-20 นาที เพราะว่าด้วยความที่เราช้าในเรื่องการมองเห็นอะไรต่างๆ ก็จะทำงานช้ากว่าคนอื่นหน่อยหนึ่ง แต่เรื่องการคิด เราคิดเร็ว ทำเร็ว
เพื่อนเขาก็จะล้อเราเรียกเราว่าตาบอด ก็โดนล้อนค่อนข้างเยอะครับ ตอนเด็กก็ค่อนข้างเก็บกด เพราะว่าหลายๆ กิจกรรม หลายๆ อย่างเราทำไม่ได้เหมือนเพื่อน เหมือนเรื่องง่ายๆ ที่คนอื่นทำได้ เราไม่สามารถที่จะผ่านมันได้ เช่น เล่นกีฬา เตะฟุตบอล เวลาไปเล่นกับเพื่อน ส่วนใหญ่ก็จะไปเตะขาเพื่อน
อย่างวิ่งแข่ง เขาให้สัญญาณเข้าที่ ระวัง ไป เราก็มองไม่เห็น เพื่อนเขาวิ่งไปหมดแล้ว เราวิ่งตาม หรือว่าเล่นบาสเกตบอล เขาโยนมาให้เรา เราก็มองไม่เห็น กระเด็นใส่หน้าแว่นหลุดอะไรอย่างนี้ครับ หรือการเย็บผ้าเกือบเรียนไม่จบ วิชาเย็บผ้า สอดด้ายเข้าในเข็มก็มีปัญหาพอสมควร แล้วก็ค่อนข้างที่จะเก็บกด การเรียนก็ไม่ค่อยดีครับ ช่วง ม.ต้นการเรียนก็ตกต่ำเพราะมีปัญหาหลายๆ อย่าง
ช่วงนั้นพีกๆ หนักๆ ช่วงนั้น ม.3 รู้สึกตัวเองไม่โอเคแล้ว รู้สึกว่าน่าจะเรียนต่อไม่ได้แล้ว เรียนก็เกือบจะไม่จบ เครียดมาก เพื่อนๆ เขาก็มีที่เรียนหมด เราก็ไม่รู้จะทำยังไง
ถึงขนาดคิดสั้น ขึ้นไปบนบ้านชั้น 3 อยากจะกระโดดลงมาให้มันจบๆ ไป แต่ว่าไม่รู้ยังไงครับ นึกถึงคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ถึงเราจะมีปัญหาเยอะ แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะซัปพอร์ตดีมาก จะให้กำลังใจเราดีมาก ก็เลยลงมาได้”
หลังจากที่ถูกเพื่อนล้อมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบปริญญาตรี อยากจะเดินสายอาชีพครูอย่างเต็มภาคภูมิ แต่ด้วยความพิการทางสายตา ทำให้ไม่มีโรงเรียนไหนอยากรับ จนคิดว่าชีวิตนี้คงจะไม่ได้เป็นครูอย่างที่ตั้งใจไว้
“ลองไปสมัครโรงเรียนเอกชนใน จ.ตรัง ประมาณ 5-6 โรงเรียน ไปสมัครเขาก็ไม่รับเลยครับ เพราะเขาเห็นเราใส่แว่นดำไป ก็รู้ว่าเรามีปัญหาพิการทางสายตา บางโรงเรียนก็เหมือนเขาแกล้ง เขาก็ให้เราลองอ่านหนังสือ เราก็เอามาจ่อที่ตา เขาก็ไม่รับแล้ว ตอนนั้นก็ตกงาน ก็ท้อเหมือนกัน ก็คิดว่าเรียนจบมาสงสัยจะไม่ได้เป็นครูแล้ว ก็โชคดีที่ได้ไปทิ้งใบสมัครไว้โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ ที่ จ.ตรัง เป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพุทธศาสนา แล้วก็ครูใหญ่หรือผู้จัดการของโรงเรียน
ปรากฏว่าเป็นคุณครูที่เคยสอนตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.4-ม.6 ซึ่งตอนนั้นเป็นสามเณร
เหมือนท่านคุ้นชื่อ ท่านจำชื่อได้ ท่านก็เลยโทร.เรียกมาสัมภาษณ์ คุยไปคุยมาท่านก็เมตตาให้โอกาส ให้มาสอนที่โรงเรียนของครูก็ได้ มาลองสอนดูว่าสอนได้หรือเปล่า ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีพระคุณกับผมที่สุดแล้วในชีวิตนี้ ให้โอกาส เพราะว่าถ้าไม่มีท่าน ก็คงจะไม่มีผมในวันนี้”
สำหรับความพิการทางการมองเห็นของครูแว่นดำนั้นเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจัดอยู่ในหมวดตาบอดประเภทสอง คือสายตาเลือนราง ไม่สามารถมองเห็นสี ไม่รู้ว่าโลกนี้มีสีอะไร รู้เพียงแค่ว่าสีเข้มกับสีอ่อนเท่านั้น
“เป็นมาตั้งแต่กำเนิดเลยครับ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร รู้แค่ว่าเรามองไม่ค่อยเห็น ตอนนั้นที่บ้านก็เริ่มพาไปหาคุณหมอ เริ่มไปรักษาตอนอายุประมาณ 6-7 ขวบแล้ว ซึ่งคุณหมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว อาการแบบนี้ มันต้องรักษาตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้เรื่อง เราไม่สามารถบอกกับผู้ใหญ่ได้ว่าเราเป็นอะไร มันก็เลยสายเกินไป
ตอนเด็กๆ จะประสบอุบัติเหตุเยอะมาก บางทีเดินไปชนเสาไฟฟ้า เดินไปชนประตู เดินตกท่อระบายน้ำ รถจอดอยู่ข้างทางเราก็ไปเดินชน หรือว่าวิ่งเล่นกับเพื่อนก็ไปชนสายสลิง ล้มหัวฟาดพื้นสลบ เดินตกบันได อะไรต่างๆ เยอะมากครับ ตอนนั้นยังไม่ได้ใส่แว่นด้วยครับ ก็ประสบอุบัติเหตุเยอะมาก
แล้วถ้าถอดแว่น โลกนี้ก็จะสว่างหมดเลยครับ มันจะจ้า มันจะแสบตามาก ก็เลยต้องใส่แว่นกันแดดช่วย ส่วนเรื่องการรักษา ก็ไปรักษาจนถึงที่สุดแล้ว จนหมอลงความเห็นว่ารักษาไม่ได้ เพราะว่ามันเกี่ยวกับประสาทตา แล้วก็ไม่มีแว่น ไม่มีเลนส์ที่จะมาช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ที่ใส่แว่นกันแดดก็คือช่วยในเรื่องเดียว ก็คืออาการแสบตา แพ้แสง”
ได้ดีเพราะคำสอนพระพุทธศาสนา
สำหรับเส้นทางสายอาชีพครูนั้น ไม่ได้มาได้ง่ายๆ เพราะด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น ครูแว่นดำต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นเป็นหลายเท่า
และจากที่โดนเพื่อนล้อสมัยเด็ก ทำให้เกิดความเครียด จนเกือบจะเรียนไม่จบ ม.3 จากนั้นก็เลยคิดว่าอยากลองเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเผื่ออะไรจะดีขึ้นบ้าง ด้วยการตัดสินใจบวชเรียน
“ตอนนั้นคิดว่าเบื่อโลกนี้แล้ว ก็เลยคิดว่าตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน ตอนนั้นอายุ 15 ปี แล้วก็ตั้งใจว่าจะบวชสัก 10 ปี ลองดูว่าชีวิตมันจะดีขึ้นหรือเปล่า ก็ตั้งแต่นั้นมาก็บวชไป 10 ปี ในช่วงที่บวชก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ได้ค้นพบตัวเองด้วยในทักษะการพูด เราพูดได้นะ เรามีวาทศิลป์ เรามีความสามารถที่จะแต่งกลอน แต่งเพลงได้นะ ตอนนั้นก็ได้เรียนรู้ตรงนี้
ตอนแรกไม่เห็นแนวทางเลยว่าเราโตขึ้น เราจะประกอบอาชีพอะไร เราเป็นคนพิการ ใครจะมารับเราทำงาน เราจะไปทำงานอะไรได้ เพราะทุกอาชีพมันต้องใช้สายตาหมด จนช่วง ม.ปลาย เราก็เริ่มเห็นว่าเรามีความสามารถด้านการพูด ด้านการสอนธรรมะอะไรต่างๆ ก็เลยเริ่มมองว่าถ้าเป็นอาชีพครูคิดว่าน่าจะไปได้ ก็เลยมีเป้าหมายในชีวิต การเรียนต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น อ่านหนังสือเอง ศึกษาข้อมูลเอง ตอนนั้นเป็นหนอนหนังสือ อ่านหนังสือเยอะมาก เริ่มชอบในเรื่องของภาษาไทย ก็เลยมีเป้าหมายว่าจะเป็นครูภาษาไทย ช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงพลิกชีวิตครับ
ตอนนั้นก็เรียนเรื่องศาสนาไปด้วย นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เรียนบาลี แล้วก็โชคดีในวัดที่ไปบวชมีการเปิดเรียนแผนกปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก็คือเราเรียน ม.4-ม.6 ควบคู่ไปด้วย พอเราจบ เราก็มีแนวทาง เพราะมันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์นะครับ เป็นโรงเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสงฆ์ พระสงฆ์ก็สามารถไปเรียนได้ เราก็ตามๆ เพื่อนเราไป จากจังหวัดตรังก็เดินทางไปกับเพื่อนๆ ไม่มีอะไร ไม่รู้จักใคร แล้วก็ไปหาวัดที่อยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ดั้นด้นเรียนอีก 4 ปี จนจบปริญญาตรี”
จากการตัดสินใจหันหน้าเข้าธรรมะ หวังเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจ และหวังช่วยชี้แนวทางอนาคตให้สว่างไสวมากขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าการหันหน้าเข้าพระพุทธศาสนา ของครูผู้พิการทางสายตา ทำให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพที่ฝันไว้
“พระพุทธศาสนาช่วยเยอะมากครับ ช่วยซัปพอร์ตจิตใจของเรา แล้วก็ทำให้เรามีหลักคอยยึดเหนี่ยวว่าเราสามารถที่จะเข้มแข็งได้ สามารถที่จะทำได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นพยายาม มีสติ เราสามารถที่จะมองเห็นตัวเอง ยอมรับตัวเอง จากที่เมื่อก่อนเราไม่ยอมรับตัวเอง
เมื่อก่อนผมค่อนข้างเกลียดร่างกายเราเอง เกลียดสายตาเราเองว่าทำไมเราต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ด้วย ทำไมชีวิตเรามันไม่สมบูรณ์ ทำไมเราต้องมาโดนเพื่อนล้อ ทำไมต้องมีคนมาดูถูกเรา เรารู้สึกไม่พอใจกับตัวเราเอง แต่พอได้ธรรมะมายึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เราค้นพบว่าก็ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่ละคนมันก็ต้องมีเรื่องบกพร่อง ไม่ทางด้านร่างกาย ก็ทางด้านจิตใจ ทางด้านฐานะ ทางด้านความคิด มันไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
จนตอนหลังเริ่มยอมรับตัวเองว่าตัวเราเป็นแบบไหน พอเริ่มยอมรับตัวเอง ก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร เหมือนตอนนี้ที่เขารู้จักผม ครูแว่นดำ ก็เพราะสายตาของเรา คือเราใส่แว่นเนี่ยแหละครับ ก็เพราะความบกพร่อง เพราะสิ่งที่เราเกลียดมาตั้งเป็นสิบยี่สิบปี”
ครูแว่นดำ ที่พิการทางสายตามาตั้งแต่เกิด ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินชีวิต และการเรียน แต่ด้วยความอบอุ่นของครอบครัว คำสอนทางพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งบวชเป็นสามเณร และใจรักการเรียน จึงมุ่งมั่นเรียนจนจบปริญญาโท และกลับไปเป็นครูสอนเด็กๆ ที่ จ.ตรัง บ้านเกิด
จนวันหนึ่ง ครูแว่นดำก็สามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ ด้วยการสอบบรรจุได้เป็นข้าราชการ จากนั้นก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จนล่าสุดสามารถสอบขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการประจำโรงเรียนเทศบาลวัดตรังคภูมิพุทธาวาส ท.1
“ผมเพิ่งเป็นรองผู้อำนวยการช่วง ต.ค.ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็พยายามพัฒนาโรงเรียน ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน ตอนนี้ก็พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้เด็กๆ เขาพัฒนาตัวเอง และสนับสนุนให้ครูสอนแบบ active learning ให้ครูใช้เทคโนโลยี ให้มีกิจกรรมต่างๆ เพราะสมัยที่เราเป็นครู เราก็ทำอยู่ในห้องของเรา เราก็สร้างโรงเรียนแห่งความฝันของเรา
พอเรามาบริหาร เราก็มีความฝันที่ใหญ่กว่านั้น มีเป้าหมายคือเป็นโรงเรียนแห่งความสุขและความฝัน อยากให้นักเรียนมาโรงเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีเป้าหมาย และเราพยายามพัฒนา ส่งเสริมคุณครูไปพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ใครฝันอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร เราก็พยายามสนับสนุนทุกๆ เรื่อง”
สะท้อนระบบการศึกษา ครูต้องแบกภาระหนักอึ้ง
ครูคนเดียวต้องสอนหลายวิชา? เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่จบสิ้นในสังคม ซึ่งครูแว่นดำก็ได้สะท้อนถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะแก้ยาก เพราะเป็นเรื่องของระบบกฎเกณฑ์ แต่ไม่ควรมานั่งวิตกจริตว่า โรงเรียนครูไม่พอ แต่ควรโฟกัสว่าจะสามารถสอนเด็กนักเรียนด้วยครูที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า
“โรงเรียนผมก็เป็นครับ ก็ต้องช่วยกัน ผมมองว่าค่อนข้างจะแก้ยาก เพราะเป็นเรื่องระบบกฎเกณฑ์โรงเรียนหนึ่งโดยเฉพาะโรงเรียนเล็กๆ ไม่สามารถที่จะมีครูครบทุกวิชาได้ เพราะมันจำกัดอัตราส่วนระหว่างครูตอนนี้ อย่างเช่นเด็ก 100 คน ครูดูได้แค่ 5-6 คน ซึ่งมันจะมีครูครบทุกสาระวิชา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อันนี้คือประเทศไทย
แต่สำหรับประเทศอื่น เขาอาจจะเน้นคือครบทุกวิชา ไม่ได้มาเน้นที่อัตราส่วน บางโรงเรียนมีครูแค่ 2-3 คน ต้องสอนทุกวิชา แล้วก็สอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มันก็ลำบากเหมือนกันในเรื่องการศึกษา
ผมมองว่ามันเป็นระบบที่เราแก้ไม่ได้ ผมก็เลยมองว่าเรามาแก้ปัญหาในสิ่งที่เราพบ ในสิ่งที่เราเจอดีกว่า ในเมื่อเราแก้ที่ทรัพยากรบุคคลไม่ได้ เราก็พยายามแก้ปัญหาตรงส่วนอื่น อย่างเช่นตอนนี้เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว เทคโนโลยีด้านการศึกษามันไปไกลแล้ว เราจะมานั่งวิตกจริตว่าโรงเรียนเราครูไม่พอ ครูสอนไม่ครบทุกวิชา มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่เรามองว่าเราจะทำอย่างไรให้ครูที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถที่จะสอนเด็กให้มีประสิทธิภาพ
ตอนนี้มันก็มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเยอะ ครูไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอนอย่างเดียว แต่เราเป็นคนจัดการห้องเรียน เราเป็นครูภาษาไทย แต่เราสอนสังคมไม่เก่ง เราก็ไปศึกษาหาข้อมูล เราไปหาคลิปวิดีโอคุณครูที่เขาเก่งๆ หาสื่อการสอน หาเกมอะไรต่างๆ มาจัดการชั้นเรียนของเราได้ ผมว่ามันอยู่ที่หัวใจของครูมากกว่าว่ามีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนมากแค่ไหน”
ครูแว่นดำยังช่วยสะท้อนภาระหน้าที่ที่เกินความจำเป็นของครูในประเทศอีกว่า ระบบการศึกษาไทย ครูหลายคนต้องพ่วงหลายตำแหน่ง ไหนจะเอกสารการประเมินที่ต้องทำอีก
“มันเป็นภาระหน้าที่ที่มันพ่วงมากับอาชีพครู ก็คือมันเป็นมาตั้งนานแล้ว เพราะในเรื่องอัตรากำลังของประเทศไทย เขาไม่ได้มีอัตรากำลังที่เพิ่มเข้ามาให้กับบุคคลทางการศึกษาทำหน้าที่แทนครู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานพัสดุ ครุภัณฑ์ การเงิน ธุรการ มันไม่ได้มี เพราะฉะนั้นครูก็เลยต้องมีบทบาทหน้าที่มาทำตรงนี้ด้วย
นอกจากภาระงานทั่วไปจากต้นสังกัด ก็ต้องทำรายงาน ต้องทำประเมิน ประชุมอะไรเยอะแยะมากมาย ซึ่งคุณครูต้องบริหารจัดการอะไรเยอะ แล้วก็มีภาระค่อนข้างมากครับ คนที่จะเป็นครูในยุคปัจจุบันต้องใจรักจริงๆ เพราะว่าจะเห็นข่าวบางคนเข้ามาแล้วก็ลาออกไป เพราะรู้สึกว่า เรามาเป็นครู เราตั้งใจจะมาสอนนะ ทำไมต้องให้เรามาทำงานการเงิน ทำพัสดุ อะไรต่างๆ มากมาย แล้วก็ถอดใจแล้วก็ลาออก เพราะไม่ใช่ตัวเขา
แต่ถ้าคนที่เขาศึกษาจริงๆ เขาจะรู้เลยว่าเป็นครูมันต้องเจอธุรการ การเงิน พัสดุ อะไรต่างๆ พวกนี้มันต้องเจอแน่นอน หัวหน้าฝ่ายต่างๆ งบประมาณ บุคลากร วิชาการอะไรต่างๆ ต้องเจอแน่นอน เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้เพราะเราต้องทำงานในส่วนนี้ด้วย”
ครูผู้พิการทางสายตายังมองอีกว่า ปัญหานี้ เป็นส่วนหนึ่งทำให้การศึกษาไทยไม่มีประสิทธิภาพ เพราะครูไม่ได้ใช้ศักยภาพอยู่ในห้องเรียนเท่าที่ควร
“ถามว่ามันเกินไหม มันเกินหน้าที่ของครู ส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยไม่เต็มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพราะครูไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียวเหมือนหลายๆ ประเทศ มันก็ทำให้ความคิด สมาธิที่จดจ่ออยู่กับการเรียนการสอนมันน้อยลง เพราะว่างานเอกสาร อะไรต่างๆ ที่ต้องส่งต้นสังกัด มันก็ผิดพลาดไม่ได้ พิมพ์ผิดตัวเดียวมันก็เป็นปัญหา งานการเงิน เลขผิดตัวเดียว แค่จุดทศนิยมมันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ครูก็ต้องมีสมาธิในส่วนตรงนั้น
แต่ถ้าครูได้สอนอย่างเดียว ให้ความสำคัญต่อเรื่องการสอนอย่างเดียว หน้าที่อื่นมีผู้มารับผิดชอบ แน่นอนประสิทธิภาพมันก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว”
สร้างรายได้เสริมจากการทำยูทูบ “เรื่องรายได้มันก็เป็นสิ่งที่ดีใช่ไหมครับ สมัยก่อนนี่คุณครูอยากจะมีรายได้เพิ่มจากอาชีพ ก็ต้องไปสอนพิเศษ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เหน็ดเหนื่อย บางคนเขาก็มาโจมตีว่า เป็นครูทำไมไปสอนพิเศษ ทำไมไม่สอนในห้องเรียนให้เต็มที่ แต่ตอนนี้เราสามารถที่จะใช้การเรียนการสอน ปัจจุบันนี้ในการสอนเด็ก ในการพัฒนาเด็ก เราสามารถที่จะทำควบคู่กับการสร้างรายได้ด้วย นอกจากเราพัฒนาตัวเอง เรายังดึงเด็กเข้ามาช่วยทำคอนเทนต์ เข้ามาคิด เข้ามาแสดง เข้ามาร้องเพลง เข้ามาเต้น เข้ามานำเสนอ มันก็ได้ประโยชน์อีกทางหนึ่งก็คือ เด็กเขาก็ได้พัฒนาตัวเอง แล้วเขาก็จะเห็นเราเป็นไอดอล เป็นต้นแบบว่าคุณครูทำแบบนี้คุณครูมีรายได้นะ คุณครูพัฒนาตัวเอง คุณครูเก่งขึ้น คุณครูเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับของสังคม หนูอยากเป็นเหมือนคุณครูบ้าง อาชีพครูนี้ดีจังเลย การทำโซเชียลฯ การทำยูทูบ การเป็นครีเอเตอร์นี้มันดีจังเลย มันอาจจะไม่เยอะแยะมากมายนะครับ แต่เหมือนเป็นกิจกรรมเสริมของเรา ไม่ใช่กิจกรรมหลักเหมือนยูทูบเบอร์คนอื่นๆ ที่ทำเป็นอาชีพ วันหนึ่งต้องลงคลิปทุกวัน วันละ 2-3 คลิป แต่เราทำในยามว่าง ทำในยามที่เรามีไอเดีย มีคอนเทนต์ อาจจะเป็นอาทิตย์ละคลิป หรืออาจจะเป็นสองอาทิตย์คลิปหนึ่งก็ได้ ไม่ได้จำกัดอะไร เพราะว่าเราไม่ได้ทำเป็นงานหลักอะไร แค่งานอดิเรก หรือว่ามันเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากกระบวนการทำงานของเราแค่นั้นเอง ส่วนตัวผมเอง ผมทำคือไม่ได้เน้นการสร้างรายได้ ผมก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าต้องทำมาตลอด บางทีนานๆ ที หรือเป็นเดือนก็อาจจะออกมาสักคลิปสองคลิป แต่บางช่วงถ้ามีกิจกรรมก็อาจจะมีต่อเนื่อง รายได้ที่เคยได้ก็มีหลักร้อย หลักพัน ไม่ถึงหลักหมื่น หลักแสนนี่ก็ยังไม่ถึง” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ครูแว่นดำ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **