สรุปดราม่า #ซีเซียม137 สังคมตั้งคำถาม ภาครัฐตรวจไม่พบสารอันตรายในอากาศ เหมือนที่ตรวจพัทยาไม่เจอซ่อง ตรวจแผงสลากฯ ไม่เจอขายเกินราคาหรือเปล่า? แพทย์ชี้ สัมผัสซีเซียมเสี่ยงมะเร็ง-ผิวไหม้ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
กำลังเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลฯ ที่สังคมจับตามอง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการประกาศว่า วัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” (Cesium-137, Cs-137) ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ได้สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
จน “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)” ประกาศตั้งเงินรางวัลถึง 1 แสนบาท สำหรับคนที่ชี้เบาะแสนำสารดังกล่าวกลับคืนมาได้ แต่เวลาผ่านไปข่าวก็ยังเงียบ
จนล่าสุดวันนี้ เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อเพจ “สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี” ได้โพสต์ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า พบ “ซีเซียม-137” ที่สูญหายจากบริษัท NOS 5a แล้ว
แต่ที่ทำให้คนในสังคมเป็นกังวลไปตามๆ กัน จนส่งผลให้เกิดแฮชแท็ก #ซีเซียม137 พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เพราะพบว่า “ซีเซียม-137” ถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง ในโรงงานพื้นที่กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
คนในโซเชียลฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา เพราะหลายคนกังวลว่า คนที่อยู่แถวนั้นอาจจะได้รับอันตรายกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลายคนก็มองว่าไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นที่อาจจะได้รับอันตราย แต่ถ้าหากสารอันตรายนี้ มีการปนเปื้อนมากับน้ำ ทุกคนอาจได้รับอันตราย
“ทำไมความเป็นความตายของประชาชนถูกมองข้าม ไม่ใช่แค่คนพื้นที่ใกล้เคียงที่หายใจเข้าไปนะที่อันตราย อาหารจากสัตว์พืชหรือน้ำที่ปนเปื้อน ถ้าใครได้รับเข้าไปก็คือซวยทั่วกัน”
“เรื่องระดับนี้มันวาระแห่งชาติแล้ว นายกฯ พร้อมรัฐบาลต้องแถลงแล้วลงไปคุม ตั้งแต่แรกที่มันหายแล้ว ถ้าควบคุมได้ดีกว่านี้มันยังไม่ถูกหลอมหรอก รับแจ้งว่าหายตั้งแต่10 มีนา แค่เห็นไทม์ไล์นี้ก็หงุดหงิดแล้ว เหมือนค่อยๆ หาอะ”
ลักษณะของ “ซีเซียม-137” ที่หายไป เป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กก. มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก โดยเป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโล ซึ่งเป็นถังเก็บสารหรือวัสดุของโรงไฟฟ้า
ก่อนหน้านั้น เบื้องต้นที่ตัวเก็บสารดังกล่าวได้หลุดออกมาจากจุดติดตั้งเพราะใช้งานมานาน และทางเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าอาจมีชาวบ้านหรือคนเก็บของเก่ามาเจอคิดว่าเป็นเศษเหล็ก จึงนำไปขายโดยไม่รู้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากความอันตรายที่คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันแล้ว ประเด็นที่มีการสันนิษฐานข้างต้นว่า อาจมีชาวบ้านหรือคนเก็บของเก่ามาเจอคิดว่าเป็นเศษเหล็ก จึงนำไปขายโดยไม่รู้ว่าอันตราย ก็มีคนออกพูดถึง พร้อมตั้งคำถามว่า เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้บางคนอาจไม่รู้ว่า สารนี้อันตรายแค่ไหน
“เราสามารถพูดได้ว่าเหตุการณ์ซีเซียมที่โดนขโมยเอาไปขายเป็นเศษเหล็ก มันคือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาหรือเปล่า ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เลยไม่รู้ว่ากัมตภาพรังสีมันอันตรายร้ายแรงแค่ไหน เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงกับแค่เงินไม่กี่ร้อย คนอื่นๆ รอบข้างไม่เกี่ยวข้องจะพากันตายห่ากันหมด”
อีกฟากก็มองว่า อาจจะเกี่ยวกับการศึกษาเล็กน้อย แต่หลักๆ อยู่ที่มาตรการการจัดการความปลอดภัย ถ้าการป้องกัน การจัดการดี คนไม่มีความรู้ที่ไหนก็เอาออกมาไม่ได้
“เราว่ามันอยู่ที่มาตรฐานความปลอดภัยต่ำ ร้านรับซื้อเหล็ก รับซื้อของเก่า โรงงานหลอมเหล็ก ไม่มีเครื่องตรวจกัมมันตภาพรังสีเลย เห็นเป็นเหล็ก เป็นก้อน เราว่าใครก็ดูไม่ออกหรอกค่ะ มันไม่เห็นด้วยตาเปล่า”
“จริงๆ จะโยงไปด้านการศึกษาก็ไม่ถูกนัก เพราะต่อให้ได้รับการศึกษาพื้นฐานมา แต่สิ่งของจำเพาะต่อบางอุตสาหการเราก็ไม่ทราบถึงอันตรายอยู่ดี น่าจะเป็นขอบเขตภาระของความปลอดภัยในระบบโรงงานมากกว่า ขนาดเราเรียนปริญญาเอก ถ้าไม่มีสัญลักษณ์กัมมันตรังสี บอกแค่ว่านี่คือซีเซียม เราก็ไม่รู้จักนะ”
สำหรับความอันตรายของซีเซียม-137 “นพ.สมรส พงศ์ละไม” แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ได้โพสต์ผ่าน “Somros MD Phonglama” ถึงผลกระทบความอันตรายของวัตถุชนิดนี้ว่า ถ้าถูกหลอมเผาไหม้ ไอของซีเซียมอาจลอยไปไกลถึงพันกิโลเมตร ปนเปื้อนตามเหล็กที่หลอม
ทำร้ายสิ่งมีชีวิตทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ นอกจากนี้ ยังใช้เวลาย่อยสลายเกิน 100 ปี สามารถทำให้คนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์ไปอีก 100 ปี
“ซีเซียม-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีตาและรังสีแกมมาจะทำลาย DNA ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์
ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง
คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ และรัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก”
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก TNN Online ยังบอกอีกว่า สารตัวนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ถ้าคนไม่รู้จักแล้วไปสัมผัสโดยตรง จะทำให้เกิดมะเร็ง เพราะสารจะค่อยๆ เข้าไปสะสมเข้าไปที่บริเวณเนื้อเยื่อ รวมไปถึงตับ อาจจะลึกเข้าไปจนถึงบริเวณไขกระดูก
ช่วงระยะแรกอาจจะไม่มีอาการ แต่หลังจากนั้น 3 วัน จุดที่ไปสัมผัสกับสารจะเริ่มเน่าเปื่อย ภูมิต้านทานในร่างกายค่อยๆ ลดลง ผมร่วง และถึงขั้นเสียชีวิตภายใน 3 วัน
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาแถลง หลังจากถูกคาดการณ์ว่าซีเซียมอาจถูกหลอมไปแล้วในโรงงานหลอมโลหะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ในจังหวัด
โดยในการแถลง ยังไม่ยืนยันว่าอุปกรณ์นั้นเข้าไปสู่โรงงานแล้วถูกหลอม แต่มีการตรวจพบฝุ่นเหล็กแดงบริเวณโดยรอบโรงงานหลอม ที่ตรวจได้ว่าฝุ่งดังกล่าวคือฝุ่นซีเซียมจริง
และสิ่งที่เจ้าหน้าที่ยืนยัน ถูกหลอมอยู่ภายในระบบปิด และตรวจหาแล้ว ไม่ฟุ้งกระจาย ไม่อันตราย ประชาชนทุกพื้นที่ ใน จ.ปราจีนบุรี ยังปลอดภัย
ส่วนพนักงานประมาณ 70 คนที่ทำงานอยู่ภายในโรงงาน ที่มีการหลอมรวมสารอันตราย ได้มีการสั่งให้หยุดงานก่อน และจะให้แพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย พร้อมสั่งให้มีการกั้นพื้นที่โดยรอบ ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว
ถึงจะเจอซีเซียม-137 แล้ว จากการแถลง ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ซีเซียมออกมาจากจุดที่ตั้ง และหายไปได้ยังไง? และฝุ่นเหล็กที่พบการปนเปื้อนซีเซียม มาจากการหลอมจากอุปกรณ์ที่หายไปจากโรงงานหรือไม่ เพราะสารซีเซียมนั้นไม่ได้เจอกันง่ายๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างตรวจสอบทั้งหมด
หลังจากที่มีการแถลงในครั้งนี้ โซเชียลฯ ยังออกมาตั้งคำถาม พร้อมกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ที่ตรวจไม่พบสารอันตรายระเหยในอากาศ เหมือนที่ตรวจพัทยาไม่เจอซ่อง ตรวจแผงสลากกินแบ่งไม่เจอขายเกินราคาหรือเปล่า?
แล้วจะทำยังไงดี ถ้าบังเอิญได้รับสารซีเซียม ศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong แนะวิธีป้องกัน ถ้าบังเอิญได้รับสารอันตรายชนิดนี้ เข้าไปในร่างกาย
ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น และถ้าใครมีอาการสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
รวมทั้งการเข้าใกล้หรือสัมผัสวัตถุต้องสงสัย ให้รีบประสาน อสม.หรือพบแพทย์ที่สถานพยาบาล พร้อมทั้งแจ้งความเสี่ยงสัมผัสต่อเจ้าหน้าที่ทันที
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **