เจาะชีวิต แก๊งหมอวงดนตรี “Old Doc” ใช้เมโลดี้เชื่อมความชอบ รวมแพทย์ทุกสาขา ด้วยฝีมือไม่ธรรมดา ค้นพบความแตกต่างอย่างลงตัวที่ผสานอาชีพหมอกับนักดนตรีเข้าด้วยกัน จนสร้างปรากฏการณ์ “สยามแตก” พร้อมเล่าเหตุการณ์สำคัญที่ต้องเลือก กระโดดลงเวที-ทิ้งกีตาร์-วิ่งไปรักษาคนไข้
ใช้เมโลดี้เชื่อมความชอบรวมแพทย์ทุกสาขา
“Old Doc” ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลฯ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว จากการไปเล่นดนตรีกลาง “สยามสแควร์ วอล์คกิ้ง สตรีท” จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สยามแตก” และจนถึงวินาทีนี้ กระแสของวงนี้ยังเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียลฯ อย่างไม่หยุดหย่อน
และสิ่งหนึ่งทำให้เป็นขวัญใจชาวโซเชียลฯ คือ เป็นวงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์ผู้รักในเสียงดนตรี ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ทั้งสูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ และกุมารแพทย์ ไว้ในวงเดียว และยังถูกมองว่าเป็นเรื่องราวคล้ายกับ ซีรีส์การแพทย์ชื่อดัง “Hospital Playlist” จากประเทศเกาหลีใต้ สาขาเมืองไทย
และด้วยภาระหน้าที่ในอาชีพหมอที่ต้องทำงานอย่างหนัก บวกคิวงานโชว์ที่แน่นมาก ทีมข่าว MGR Live จึงขอตามไปคุยเจาะลึกถึงเส้นทางสายดนตรี กับคุณหมอทั้ง 4 ท่าน ก่อนที่จะขึ้นชั่วเพียงไม่กี่ชั่วโมง นั่นก็คือ
“หมอกิต-นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง” สูตินรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ตำแหน่งร้องนำ, “หมอต้น-นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช” สูตินรีแพทย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก Beyond IVF โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลสมิติเวช ตำแหน่งกีตาร์, “หมออู๋-นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์” ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี ตำแหน่งกีตาร์, “หมอหนุ่ม-นพ.กิติพจน์ งามละเมียด” ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ตำแหน่งเบส
สำหรับจุดเริ่มต้นของวงนี้ แก๊งหมอนักดนตรี ฝีมือไม่ธรรมดา เล่าด้วยใบหน้าที่เปื้อนด้วยรอยยิ้มว่า เป็นวงดนตรี เพื่อน-พี่-น้อง ที่รวมตัวกันเล่นดนตรีตั้งแต่เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 1992 เป็นเวลานานกว่า 30 ปี มีสมาชิกในวงทั้งหมด 10 คน
[หมอกิต-นพ.สมนิมิตร เหลืองรัศมีรุ่ง สูตินรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ตำแหน่งร้องนำ]
[หมออู๋-นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี ตำแหน่งกีตาร์]
หมออู๋ –“จริงๆ เราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ชวนผมมาเล่นก่อน เราก็เล่นวงดนตรีด้วยกัน เล่นงานรับน้อง งานปีใหม่ เป็นประจำ พอเล่นไปสักพักก็มีงานประกวดเราก็คิดสนุก ก็ไปประกวดหลายงาน แต่รางวัลที่ได้ดีที่สุดคือเราได้ Coke Music Awards 1992ตอนนั้น “โมเดิร์นด็อก”ได้แชมป์ประเทศไทย “สไมล์บัฟฟาโล่” ได้ที่ 2 ส่วน “Old Doc” ได้ที่ 3”
[ประกวด Coke Music Awards Thailand ปี 1992]
[ถ่ายภาพร่วมกับวง โมเดิร์นด็อก และ สไมล์บัฟฟาโล่ หลังประกวดเสร็จ]
หมอต้น –“ในฐานะคนเล่นดนตรี จะมีความสุขตอนที่เราเล่นแล้วมีคนฟัง ฟังกันในชั้นปีนานแล้ว พอมันมีงานที่ใหญ่ขึ้น เราก็อยากเล่นเวทีใหญ่ขึ้น เวลาไปประกวดส่วนใหญ่ก็เอาคนใกล้ๆ กัน ตอนแรกก็อยู่คนละวงกันก่อน พอพี่ๆ ปี 3 มาชวน พอเล่นไปเล่นมาวงเราเลยหายไปเลย ก็เลยมารวมกัน กลายเป็นวง Old doc”
หมอกิต – “ตอนปี 1 เราเคยตั้งวงกันมาก่อนแล้ว ตอนที่อยู่ ม.มหิดลศาลายา ก็จะมีสมาชิกประมาณ 5 คน พอข้ามมาฝั่ง มาเรียนที่กรุงเทพฯ มาเรียนที่รามาฯ เราก็เห็นวงน้องๆ ตามๆ กันมา เราก็เลยรวบรวมคนมาเป็นวง Old Doc ที่เห็นในปัจจุบัน”
หมออู๋ – “จริงๆ มีหลายชื่อครับ ชื่อ stethoscope แปลว่า หูฟังทางการแพทย์ ก็ใช้มาหลายปี มีชื่อ success ด้วย พอเราจบมหา’ลัย เราก็ไปทำงาน ไปเรียนเฉพาะทาง ห่างหายกันไป 5-7 ปีเหมือนกัน ท้ายที่สุดมันก็มีงานประกวดงานหนึ่ง เป็นงานของ M150 ซึ่งเป็นรายการเดียวที่ไม่จำกัดอายุ บางที่จะจำกัดอายุไม่เกิน 25 ปี แต่เราแต่ละคนพอจบแพทย์เฉพาะทางมาก็ 30 อัพแล้ว
พอรายการนี้ไม่จำกัดอายุ เราก็เลยได้กลับมาลองเล่นกันใหม่ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วได้ แล้วเราก็อายุเยอะแล้ว จะใช้ชื่อเดิมก็ยังไงอยู่ เรารุ่นใหญ่แล้ว ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น Old doc”
[หมอต้น-นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช สูตินรีแพทย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก Beyond IVF โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลสมิติเวช ตำแหน่งกีตาร์]
[หมอหนุ่ม-นพ.กิติพจน์ งามละเมียด ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ตำแหน่งเบส]
เปิดหมวกรับบริจาค สร้างปรากฏการณ์ “สยามแตก”
แก๊งหมอนักดนตรี ที่ฝีมือไม่ธรรมดา ช่วยเล่าถึงปรากฏการณ์ “สยามแตก” สร้างเสียงฮือฮา จนกลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียลฯ ในครั้งนี้ให้ฟังว่า เดิมทีตั้งใจไปเล่นดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเพื่อการกุศล ที่สยามสแควร์ แต่ไม่คิดว่าจะได้รับเสียงตอบรับดีขนาดนี้
หมออู๋ – “จริงๆ สมัยก่อน หลังจากเราได้รางวัล แล้วไปทำงานก็นึกสนุกขึ้นมา เราก็ไปเล่นผับกัน เพราะรุ่นน้องก็ไม่มีเล่นให้ฟังแล้ว เราก็ต้องไปหาที่เล่น ไม่งั้นเราจะไม่มีที่ปล่อยของ ก็รวมวงกันไปเล่นที่ผับ เล่นตามลักษณะผับ ผับนี้เล่นเพลงอะไร เล่นเพลงฝรั่ง เราก็เล่นเพลงฝรั่ง แต่เราเล่นเดือนละครั้ง เล่นมา 10 ปีแล้วครับ เล่นมานาน สมัยก่อนจะเป็นอย่างนี้
จุดเปลี่ยนก็คือ หลังจาก 2 ปีที่ติดโควิด ก็เงียบกันไปหมด ทุกคนก็ไม่ได้ทำอะไร ต่างคนต่างใส่แมส ล้างมือจนมือแดง บางคนก็มีภารกิจที่โรงพยาบาล จน 2 ปีผ่านไป ก็เริ่มมีกิจกรรมดนตรีที่สยาม มีดนตรีในสวน”
หมอกิต – “จุดเริ่มต้นน่าจะเป็นช่วง ส.ค.ปีที่แล้ว ที่เริ่มมีกิจกรรมดนตรีในสวนของ กทม. ติดต่อเรามา ให้ไปเล่นที่สวนสันติภาพ แถวอนุสาวรีย์ชัยฯ น่าจะทำให้เป็นที่รู้จักต่อหน้าสาธารณะมากขึ้น เพราะถ้าเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน เราอยู่ในแวดวงโรงพยาบาล หรือทางการแพทย์ ซึ่งตอนนั้นก็อาจจะยังไม่ได้เป็นกระแสมากนัก มาเป็นกระแสจริงๆ คือ ต.ค.ปีที่แล้ว ที่สมัครไปเล่นที่สยามสแควร์”
แต่ก่อนจะสร้างปรากฏการณ์ “สยามแตก” ได้ ต้องอดทนรอ เพราะหลังจากที่ส่งใบสมัครไปแล้ว ก็ต้องรอคิวพิจารณาถึง 3 เดือนกว่า
หมอกิต – “คือผมเห็นเด็กๆ เขาไปเล่นกันทุกสัปดาห์ ก็เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่เปิดให้คนมีความสามารถ คนมีใจรักไปเล่น เราก็สมัครไปดู สมัครไปทางเว็บไซต์ pmcu สำนักงานจัดการทรัพย์สินของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขาจัดกิจกรรม สยามสแควร์ วอล์คกิ้งสตรีท เราก็สมัครไปดู แต่คอนเซ็ปต์ของวงเราน่าจะไม่ใช่ เพราะผู้จัดเขาบอกเป็น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้มาแสดงออกถึงความสามารถ แล้วก็หารายได้เสริม
ผมก็เลยคิดว่า โอเคข้อแรกเราได้ เรามีใจรัก มีความสามารถ แต่ว่าข้อหลังเราต้องปรับเปลี่ยนนิดหนึ่ง เรามารับการสนับสนุนด้วย แต่ว่าเราจะนำไปบริจาค ก็เป็นที่มาในการไปเล่นที่สยามสแควร์ เขาตอบรับมาหลังจากที่เราได้สมัครไปประมาณ 3 เดือนกว่าๆ นึกว่าเขาจะโยนใบสมัครเราทิ้งแล้ว เพราะอายุเกิน (หัวเราะ)
ตอนเขียนใบสมัคร เขาก็ให้เขียนอายุด้วยนะครับ ผมก็กล้าเขียนไปเลย 54 ปี ก็เกินมา 30 ปีไม่เยอะเท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมก็เขียนไปว่า ที่มาร่วมกับสยามสแควร์ วอล์คกิ้งสตรีท น่าจะทำให้เกิดสีสัน ความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นกับกิจกรรมนี้ ส่วนรายได้ที่เราได้ เราก็จะนำไปบริจาคต่อสาธารณะ เพราะเราไม่ได้เป็นวงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จะมาหารายได้เสริมแล้ว”
[มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมสภากาชาดไทย]
นอกจากนี้ ยังช่วยช่วยสะท้อนถึงคนที่มีความสามารถ แล้วอยากปล่อยของ เชื่อว่าตอนนี้มีสถานที่ให้ปล่อยความสามารถเยอะมาก อย่ารอช้าที่จะลงมือทำ เพราะจะได้ไม่มาเสียดายทีหลัง
หมอหนุ่ม –“ตอนนี้โลกมันก็เปิดเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ที่เราเห็นในสยามจริงๆ วงก็มีตั้งแต่นักเรียน จริงๆ อาวุโสกว่าเราก็มีนะครับ ที่เราเดินดู เพราะฉะนั้นจริงๆ มันก็เปิดมากขึ้น เดี๋ยวนี้ศิลปินก็เปิดกว้าง สมัยเราศิลปินที่ชื่นชอบกันอยู่ อย่างศิลปินแกรมมี่ อาร์เอส เขาก็มารียูเนียนกันอยู่ คนก็ชื่นชอบกันอยู่ เดี๋ยวนี้มันเปิดมากขึ้น ไม่มีข้อจำกัดแล้ว”
หมอกิต –“ผมว่ามันเริ่มเปลี่ยน เพราะตอนที่เขียนใบสมัครไป ผมเขียนไปว่า เป็นกลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ว่าอยากจะมาร่วมสร้างสีสัน แล้วผมบอกเลยว่า คิดว่าน่าจะทำให้กิจกรรมนี้ มีผู้คนมาดูหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเอาวงเราไปเล่น (หัวเราะ)”
หมอต้น – “แต่ผมก็เชื่อว่า จริงๆ น่าจะมีนักดนตรีวงอื่นๆ ที่ตอนวัยรุ่นมีการรวมวงเล่นสนุกๆ เหมือนกับพวกเรา แต่ก็หายไป แยกย้ายกันไปทำงาน มีครอบครัว แต่จริงๆ ใจยังรักอยู่ เราน่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ให้กลับมารวมกันเล่น ถึงจะไม่มีคนดู ก็เล่นกันอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แต่มันมีความสุข”
ไม่ใช่หมอมาเป็น “นักดนตรี” แต่เป็นนักดนตรีมาเรียน“หมอ”
“เราเป็นนักดนตรีมาเรียนหมอ” สูตินรีแพทย์ที่พ่วงตำแหน่งมือกีตาร์ได้ช่วยนิยามวง “Old Doc” ได้ช่วยฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า จริงๆ แล้ว นักดนตรีมาก่อนอาชีพหมอด้วยซ้ำ เพราะทุกคนที่มารวมตัวกัน ล้วนแต่ชื่นชอบเสียงดนตรีมาก่อน และมีเสียงดนตรีอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว
หมอต้น – “ที่สงสัยกันว่า เราเป็นหมอที่มาเล่นดนตรี จริงๆ แล้วมันเหมือนกับเราเป็นนักดนตรีมาก่อน รักการเล่นดนตรีมาก่อน เมื่อมารวมอยู่เป็นหมอ ก็เลยได้มาเล่นกัน ก็เลยอาจจะรู้สึกว่าเป็นวงที่หมอมาเล่นกัน แต่จริงๆ เหมือนกับเราเป็นนักดนตรีในสายเลือดอยู่แล้ว”
เช่นเดียวกับ ศัลยแพทย์ที่พ่วงตำแหน่งมือเบส ก็ได้ช่วยย้ำอีกว่า ไม่ใช่ว่าจะมาเรียนแพทย์แล้วไปหัดเล่นดนตรี แต่ทุกคนเล่นดนตรีตั้งแต่ก่อนเรียนแพทย์ด้วยซ้ำ และสิ่งที่ทุกคนเหมือนกันคือ ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นความหวังของหมู่บ้านด้วย
หมอหนุ่ม –“จริงๆ แต่ละคนชอบดนตรีมาตั้งแต่แรกๆ อยู่แล้ว อย่างส่วนตัวหลายๆ คนก็เล่นมาตั้งแต่มัธยม แต่บังเอิญว่า โชคดีได้สอบติดหมอเข้ามาด้วย ก็จะมีกิจกรรมในมหา’ลัย ตั้งแต่ปี 1 ใครที่ถนัดอะไรก็มาเจอกัน ใครถนัดกีฬาก็มาเจอกัน ใครเล่นดนตรีอะไรก็มาฟอร์มวงกัน ตั้งแต่ปี 1 ก็มีงานมาตลอด รุ่นพี่ก็จะมองเห็นว่าน้องคนนี้ใช้ได้ ในวงขาดคนนี้ เหมือนซื้อตัวนักเตะ ก็เลยพากันไปเรื่อยๆ”
หมอกิต สูตินรีแพทย์ ที่พ่วงด้วยตำแหน่งร้องนำ ยังช่วยย้ำถึงคำนิยามข้างต้นอีกว่า หากจะบอกว่าหมอมาตั้งวงดนตรีก็ไม่ถูกซะทีเดียว คงเป็นความรู้สึกเหมือนกับว่า เด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบวงดนตรีเหมือนกัน มารวมวงด้วยกัน แค่นั้นเอง
หมอกิต – “บรรยากาศไม่ได้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น อย่างน้องๆ มหา’ลัยอื่น คณะอื่น เขาก็รักดนตรีมาตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วเขาก็มาเจอเพื่อนระดับมหา’ลัย เขาก็ตั้งวงกัน บรรยากาศเป็นแบบเดียวกันเลยครับ คงไม่ได้หมายความว่า หมอมาตั้งวงดนตรี เป็นความรู้สึกเหมือนกับว่า เด็กวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัยที่รักดนตรีเหมือนกัน แล้วมารวมวงกัน บรรยากาศเหมือนกันเลยครับ เพียงแต่ว่าคณะเราเวลาไปเล่น แล้วอาจจะดูแปลกหน่อย เพราะคนอาจจะมองว่า จะมีเวลามาซ้อมเหรอ มันก็เลยดูยูนิคกว่าคนอื่นนิดนึง”
นอกจากนี้ อย่างที่หลายคนทราบว่า อาชีพหมอก็แทบจะไม่มีเวลา และเหนื่อยมากพออยู่แล้ว แล้วบรรดาคุณหมอเหล่านี้ เอาเวลาไหนไปแบ่งซ้อมดนตรีที่รัก เพราะดูแล้วการนัดรวมตัวของหมอ เพื่อซ้อมดนตรีดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนคนปกติทั่วไป
ซึ่งสูตินรีแพทย์ ที่พ่วงด้วยตำแหน่งร้องนำ ยังบอกด้วยใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มว่า ด้วยใจที่รักดนตรี การหาเวลาซ้อมจึงไม่ใช่เรื่องยาก
หมอกิต – “ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้ามีใจรัก คิดว่าทำแล้วมีความสุข ก็จะไม่ได้รู้สึกเหนื่อย”
หมออู๋ – “ส่วนใหญ่เราก็เล่นนอกเวลางาน กลางวันทำงานเต็มที่ เลิกทุ่ม สองทุ่ม สามทุ่ม เราก็จะมาเล่นกันดึกๆ ส่วนใหญ่ก็เลยสามทุ่มขึ้นไป เล่นถึงเที่ยงคืน ถ้างานกระชับมากก็เล่นถึงตีหนึ่งตีสอง ถ้างานอัดเต็ม บางทีเราก็อัดถึงตีสี่ แต่ว่าเราเล่นกลางคืน กลางวันเราก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน เช้าเราก็ตื่นไปทำงานตามปกติ
ส่วนใหญ่เบสิกของหมออดนอนเก่งอยู่แล้ว อดนอนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ได้รับการฝึกมา เรานอนง่าย หลับง่าย กินง่าย กลางวันถ้าไม่มีอะไรทำก็หลับได้ บางคนทำงานเย็น บางคนทำงานเช้า บางคนทำงานกลางคืน แล้วแต่กะ ส่วนเวลาซ้อมเราก็พยายามเซ็ทให้มันสม่ำเสมอ ไม่งั้นมันจะลืม ปกติก็ 2 อาทิตย์ครั้งนึง ถ้ามีอีเวนต์ก็ทุกสัปดาห์”
เคสฉุกเฉิน ทิ้งกีตาร์ วิ่งไปรักษาคนไข้ก่อน
แน่นอนว่าอาชีพหมอ อย่างที่ทราบกันดีว่าต้องสแตนด์บายรออยู่ตลอดเวลา เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีเข้ามาให้รักษาแทบจะทุกวันโดยเฉพาะหมอสูฯ ที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอยู่เป็นประจำ
หมอต้น จึงช่วยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองให้ฟังว่า ด้วยความที่ตัวเองนั้นเป็นหมอสูฯ จึงทำให้อาจจะเจอบ่อยกว่าทุกคนในวง แม้ตอนนั้นจะขึ้นโชว์อยู่ก็ตาม ต้องรีบกระโดดลงเวที ขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อที่จะไปทำคลอดให้ทัน เพราะสุดท้ายชีวิตคนไข้ก็สำคัญที่สุด
หมอต้น – “จริงๆ ก็มีด่วนทุกคนนะครับ แต่ผมเป็นหมอสูฯ คนไข้เราก็จะเป็นคนไข้คลอด และการคลอด เด็กๆ เขาก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเราเท่าไหร่ บางทีเราก็คุยว่าอย่าเพิ่งคลอดนะลูก ขอเล่นสัก 3 ชั่วโมง แต่พอเราขึ้นเวทีปุ๊บเจ็บท้องเลย เป็นอย่างนี่แหละ
เพราะฉะนั้นเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเรายังเป็นหมออยู่ ชีวิตคนไข้ก็สำคัญที่สุด เหตุการณ์จริงๆ ก็คือทิ้งกีตาร์ ทิ้งกลอง วิ่งไปรักษาคนไข้ก่อน แล้วที่เหลือส่วนใหญ่สมาชิกในวงก็เล่นทดแทนกันได้
มีเหตุการณ์หนึ่ง ผมเคยเล่นตรงผับแถวทองหล่อ แล้วคนจะคลอด รถติดมากแถวทองหล่อ สิ่งที่ผมทำได้คือ ทิ้งทุกอย่างไว้ แล้วขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้ววิ่งไปทำคลอด คลอดเสร็จก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์มาเล่นต่อ
ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้บ่อย เพราะก่อนเราจะรับงาน เราก็ไปดูตารางคนไข้มาแล้วว่ามีใครจะใกล้คลอดช่วงนี้ไหม ก็อย่างที่บอกครับเด็กเขาไม่ได้รู้เวลา อยากจะคลอดเมื่อไหร่ก็คลอด”
จริงๆ เราแลกเวรได้ แต่พอเป็นลักษณะของหมอสูฯ คนไข้เขาฝากท้องกับเรามา 9 เดือนครับ พอถึงวันสำคัญที่สุด ที่เขาจะคลอด ไอ้หมอนี้มันดันไปทำกิจกรรม ไปเล่นดนตรี แต่นี่มันชีวิตลูกนะ มันก็เลยเป็นว่าชีวิตคนสำคัญกว่า ก็ไม่เป็นไรหรอก เพื่อนๆ สามารถเล่นแทนกันได้”
นอกจากจะช่วยรักษาคนไข้แล้ว คุณหมอนักดนตรียังเป็นที่รักของคนไข้ด้วย เพราะจากคนไข้จนหลายมาเป็นแฟนคลับ บางไข้บางคนถึงขั้นไปรอหน้าเวที เพื่อที่จะได้ทักทายคุณหมออย่างใกล้ชิดอีกด้วย รวมถึงคนไข้บางคน ยังยกให้คุณหมอเป็นแรงบันดาลใจ ตัวอย่างที่ดี ให้กับเด็กๆ อีกด้วย
หมอกิต – “ตั้งแต่หลัง ต.ค. ปีที่แล้ว ก็มีคนเข้ามาทักทายเยอะขึ้นแล้วครับ บางคนไปรอที่หน้าเวทีเลยก็มี”
หมออู๋ – “สมัยก่อนที่เล่นในผับ ก็มีคนไข้ไปนั่งดูเหมือนกัน พาครอบครัวมานั่งดูเราเล่น เพราะเขาอยากให้ลูกเขามานั่งดูหมอที่รักษาแม่ เพื่อที่จะบอกว่าเขาไม่ได้ทำงาน หรือเรียนหนังสืออย่างเดียวนะ เขายังทำโน่นทำนี่”
หมอต้น – “สมัยก่อนเวลาผู้ปกครองมาคุยกับเราก็คุยเรื่อง ลูกโตหรือยัง จะทักทายกันเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมาคุยกับเราเรื่องดนตรีแล้ว เนี่ยค่ะ ส่งลูกให้เรียนดนตรีแล้ว เหมือนจะเข้ามาอวดเราว่าผลงานคุณหมอนะ เขาก็เหมือนคุณหมอเหมือนกันที่รักในดนตรี เราก็ปลื้มใจที่เขาเห็นเราเป็นแบบอย่างดีๆ ซึ่งเขาอยากให้ลูกเขาที่เป็นแก้วตาดวงใจของเขา เจริญเติบโตตามพวกเรามา
เราก็หวังว่าคนอื่นก็น่าจะเหมือนกัน คนไข้ท่านอื่นก็น่าจะบอก
มีงานล่าสุดที่เล่นที่สยาม ช่วงปีใหม่ครับ ในงานวันนั้นมีเด็กที่ผมทำคลอดเอง 5 คนมานั่งดูอยู่ เราก็ดีใจ ตื้นตัน เด็กๆ เขาก็ฟังเพลงเราไม่รู้เรื่องหรอกยังเด็กอยู่เลย เขาก็มาตามพ่อแม่เขา คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามชี้ให้ดูว่า นี่คุณหมอทำคลอดให้หนูนะ
เรารู้สึกว่า มันทำให้เราอุ่นใจ มันพิเศษ สมมติเราเป็นนักดนตรีธรรมดาเล่นจบงานก็จบไป แต่ว่าเวลาเราเป็นหมอเขา มันจะมีความผูกพันมาก เราก็เลยรู้สึกว่าก็ตื้นตันใจ”
“หมอ+ดนตรี” ค้นพบความแตกต่างอย่างลงตัว
อาชีพหมอ ที่ผสานด้วยการเล่นดนตรี กลับกลายเป็นความแตกต่างที่ลงตัว กลายเป็นว่าทำนองดนตรี สามารถเชื่อมต่อคนไข้กับหมอให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และยิ่งทำให้การทำงานหมอดูง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
หมออู๋ – “คือจริงๆ มันคนละขั้วไปเลยครับ แต่เราก็พยายามตั้งใจทำให้ดีที่สุด อยู่ที่ว่าตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่ ตอนกลางวันเราเป็นหมอ เราก็รักษาคนไข้เต็มเหนี่ยว เราก็ทำงานจริงจัง เราก็ไม่ได้มาตลก เล่นกันเฮฮาเหมือนอย่างนี้ เราไม่ใช่คนซีเรียสนะ เล่นดนตรีเราก็ทำให้ทุกคนมีความสุข”
หมอต้น – “ผมว่ามันเป็นมุมมองทำให้คนดูที่เห็นเราสนุก เพราะส่วนใหญ่คนที่รู้จักหมอ จะรู้จักในการที่หมอเป็นคนช่วยเรา เราต้องไปเคารพนบนอบ แต่พอได้เห็นหมอในรูปแบบนี้ ก็รู้สึกว่า หมอก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เหมือนคนทั่วไป มีความสุข เล่นเฮฮากันไป
ผมว่าทำให้หมอกับคนไข้ใกล้ชิดกันมากขึ้น คนในสังคมพอมาเห็นเราเป็นแบบนี้ ก็จะไม่ได้รู้สึกว่า หมออยู่ห่างเรา หรือสูงจากเรา แต่เหมือนเพื่อนๆ พี่น้องเรา ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้ จะยิ่งทำให้การทำงานเป็นหมอดูง่ายขึ้น เพราะว่าหลายๆ อย่างที่เราจะแนะนำคนไข้ เขาจะรู้สึกว่าเป็นกันเอง สนิทกันมากขึ้น”
หมอกิต – “มันอยู่ที่ใจที่เราให้กับเขาครับ ผมว่ามันได้ทั้งสองด้าน ผมว่างานอื่นก็เช่นเดียวกันครับ คงไม่ใช่แค่งานแพทย์ งานหมอ หรืองานดนตรี ถ้ายึดหลักว่า ถ้าคนที่มารับผลงานเราทำให้เกิดความพึงพอใจ และทำให้เกิดความประทับใจ น่าจะได้ทั้งสองฝ่าย”
การที่ใช้ทำนองดนตรี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต คุณหมอทั้ง 4 คน ก็ยอมรับว่า เป็นยาวิเศษชั้นดีที่ช่วยบำบัดให้เครียดจากงานน้อยลง แล้วยังช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้นอีกด้วย
หมอหนุ่ม – “ดนตรีก็มีส่วนครับ ทำให้เครียดจากงานน้อยลง อย่างส่วนตัวเวลาผมผ่าตัด ทีมพยายามเขาจะรู้เลยว่า ต้องเปิดเพลงระหว่างผ่าตัด ก็ถ้าเงียบก็ไม่ได้ เปิดเป็นข่าวก็ได้ครับ แต่ถ้าเป็นเพลงก็โอเค ทำให้การผ่าราบรื่นขึ้น ก็เปิดก็ผ่าไปเรื่อยๆ”
หมออู๋ – “ผ่อนคลายเยอะมาก ปกติทำงานเครียดๆ กลับมาเล่นกีตาร์ก็หายปวดเมื่อย อารมณ์ดี สารเอนดอร์ฟินหลั่ง ทำให้หลับสบาย”
หมอกิต – “มันเหมือนงานอดิเรกที่ทุกคนต้องมีครับ ผมเชื่อว่าทุกคน ทุกอาชีพ คงไม่มีใครทำอย่างเดียวในชีวิต คงต้องมีงานเสริม หรืองานอดิเรก ผมมองว่าอย่าไปมองว่าเป็นเรื่องดนตรี ผมว่าเป็นอะไรก็ได้ ที่จะเป็นส่วนที่ทำให้ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง ที่เรากลับจากงานมา ให้เราได้ผ่อนคลาย
Hospital Playlist สาขาเมืองไทย
ทำวงดนตรีสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น จนถูกมองว่าคล้าย “Hospital Playlist” ซีรีส์การแพทย์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เล่าเรื่องราวของหมอที่เป็นเพื่อนสนิทกันมากว่า 20 ปี “สาขาเมืองไทย” สำหรับซีรีส์เกาหลีชื่อดังเรื่องนี้ มีเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของหมอสมาชิกวง Old Doc เป็นอย่างมากเป็นเรื่องราวของแพทย์เพื่อนซี้ทั้ง 5 คน ซึ่งพวกเขาเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ นอกจากบทบาทในการเป็นหมอนักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลแล้ว หลังเลิกงานพวกเขาก็มีงานอดิเรกที่ชอบทำก็คือการเล่นดนตรี หมอต้น - “ผมเป็นคนชอบดูซีรีส์ แล้วก็ไปเจอเรื่องหนึ่งชื่อว่า Hospital Playlist ก็จะพบว่าในตัวละครเรื่องนั้นเหมือนกับพวกเราเลย ก็คือ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ สมัยนั้นก็เล่นดนตรีกันมา พอจบเป็นหมอ เป็นอาจารย์แพทย์กันแล้ว ก็มารวมตัวกันเล่นดนตรี เรานั่งดูแล้วเราก็ซึ้งใจว่าเหมือนเราเลย จริงๆ ก็อยากส่งต่อไปให้ทุกๆ คน คิดว่าหลายๆ คนที่เป็นแพทย์อยู่ไกลๆ ก็อาจจะรวมวงเล่นอยู่ต่างจังหวัดก็ได้ จากซีรีส์มันสะท้อนถึงชีวิตจริง มีความสุขจริงๆ ที่จะทำ” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “Old Doc”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **