xs
xsm
sm
md
lg

#RIPหนังไทย เจาะใจผู้กำกับดัง ถูกลดรอบฉาย-หนังหลากหลายเสี่ยงสูญพันธุ์ พ่าย “เจ้าของโรง”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะใจ “ผู้กำกับดัง” หลังโพสต์ตัดพ้อวงการหนังไทย เหตุ “ขุนพันธ์3” รอบหายอย่าน่าตกใจ หลังเข้าฉายไม่ถึงสัปดาห์ คอหนังวิจารณ์กันหนัก เป็นเพราะระบบเส้นสายของเจ้าของทุน-เจ้าของโรงหรือเปล่า?

ภูมิใจไหม? เกมธุรกิจลดรอบฉาย

“รู้สึกเป็นเกียรติไหมครับ รู้สึกชนะหรือเปล่า ภูมิใจใช่ไหม เล่าให้ญาติหรือคนที่รักฟังแล้วรู้สึกดีจริงไหม เกมส์นี้มันห่วยและเสร่อมากในฐานะคนทำหนัง ผมเสียใจและอายแทนพวกคุณจริงๆ

เราเดินลงจากเวทีคนละความรู้สึกแน่ๆ ขอยกวงการนี้ให้พวกคุณไปเลยครับ เดินหน้าก็ยากจะให้ถอยหลังทำไม อย่าอ้างเกมธุรกิจ #RIPหนังไทย”





[ โพสต์ที่เป็นประเด็นจากผู้กำกับดัง ]

กลายมาเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อ "โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ" ผู้กำกับภาพยนตร์ “ขุนพันธ์ 3” จากค่ายสหมงคลฟิล์ม ถูกลดโรงฉายจากทางโรงหนังอย่าง Major หลังจากที่หนังเข้าฉายได้ไม่ถึงสัปดาห์ ทั้งที่กระแสของหนังกำลังไปได้สวย

กลับกันเมื่อแฟนหนังตั้งคำถามถึงภาพยนตร์อีกเรื่องอย่าง “ทิดน้อย” หนังที่ถูกสร้างโดยเครือ Majorเอง ที่เข้าฉายมานานร่วมเดือน ตั้งแต่ปลายมกราคม แต่ไม่มีวี่แววจะถูกลดโรงฉายเลย

หนำซ้ำโรงหนัง Major ยังโปรโมตลดค่าตั๋วของ “ทิดน้อย” เหลือเพียง 39 บาท เพื่อเพิ่มยอดขายอีก

เป็นที่มาให้คอหนังหลายคนตั้งคำถามและจับภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้มาเป็นดราม่าว่า Major ผูกขาดธุรกิจโรงฉายหนัง และเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะผลงานที่มาจากค่ายตัวเองหรือเปล่า?



[ หนังทิดน้อย ลดเหลือ 39 บาท ]

ทีมข่าวได้ต่อสายตรงหา โขม-ก้องเกียรติ ถึงสาเหตุที่ออกมาบ่นน้อยใจในโลกออนไลน์ เพื่อให้ได้คำตอบที่เคลียร์ใจที่สุด หลังผลงานการสร้างสรรค์ของเขาอยู่ในสภาวะ “โรงหาย-รอบฉายหด” หลังเข้าฉายไปไม่ถึงสัปดาห์

“ก็หนังมันห่วยหรือเปล่า? เลยถูกลดรอบฉาย หนังจะดีไม่ดีก็เป็นสิทธิของคนดู แต่มันควรมีเวลาให้หนังพิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ ไม่ใช่ยังไม่ถึงสัปดาห์รอบก็หายลงไปแบบนี้ มันย้อนแย้งเพราะหนังมันก็มีคนดูไม่ใช้ไม่มี แต่ก็ไม่รู้ว่าโรงมันหายไปไหน”

โดยธรรมชาติของภาพยนตร์เวลาฉายโรงมันก็มี 2 กรณี คือ 1) ถ้าหนังมันเล็กมากไม่คนดูเลย เขาก็ต้องเอาหนังออกจากโรง เพื่อให้หนังเรื่องอื่นที่ทำกำไรมากกว่า 2) มีหนังฟอร์มยักษ์เข้ามาชนกับหนังเรา แล้วหนังเราไม่มีคนดูเลย อันก็มีสิทธิที่หนังจะกระเด็นออกไป

“แต่ ขุนพันธ์ คนดูเกินครึ่งโรงตลอด บางที่เหลือแค่แถวหน้า ผลตอบรับจากผู้ชมก็ไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่แง่ลบอย่างเดียว แต่ทำไมโรงมันหายไปเร็วจัง”



[ ก้องเกียรติ โขมศิริ ]

โขม ยังกล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้กำลังถูกไปเป็นประเด็นดราม่า ระหว่างหนังกับหนัง ขุนพันธ์กับทิดน้อย ยืนยันไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะคนทำหนังรู้จักกันหมด แต่ปัญหาหลักๆ คือ โรงฉายขุนพันธ์รอบหายไวเกินไป

“ผมยอมรับถ้าหนังมันห่วยแล้วไม่มีคนดูเลย แต่ให้เวลามันได้พิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ไหม เหมือนนี้เรายังสู้ไม่ครบยกเลยกลับถูกหักแขนหักขา แล้วก็ปล่อยให้สู้ต่อไปแบบนั้น”

สิ่งที่โพสต์ออกไปไม่ได้อยากจะทะเลาะกับโรงภาพยนตร์ เพราะมันก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า โรงก็ต้องการหาหนังมาฉาย คนทำหนังก็อยากทำหนังฉายโรง แต่แค่น้อยใจแทนทีมงานที่ร่วมสร้างหนังเรื่องนี้ และอยากขอความเห็นใจจากโรงฉาย ขอพื้นที่ให้หนังมันได้พิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้หน่อยได้ไหม

“สู้ไม่ได้หรอกครับ ผมรู้อยู่แล้วว่าผมแพ้ตั้งแต่ผมโพสต์ เรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนังไทยสู้ไม่ได้หรอกครับ ปัญหานี้ต้องให้สมาคมหรือผู้ใหญ่ที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เขาคุยกัน ผมออกมาพูดในฐานะคนทำงานเท่านั้น แค่น้อยใจแทนทีมงานที่รวมสร้างหนังเรื่องนี้กันมา”

ผูกขาด? เมื่อโรงหนังทำหนังฉายโรงตัวเอง

เมื่อสังคมตั้งคำถามถึงสิ่งที่ โรงภาพยนตร์ Major Cineplex ลดรอบฉายภาพยนตร์ “ขุนพันธ์3” แต่กลับเพิ่มการโปรโมตหนังของตนเองอย่าง “ทิดน้อย” ว่านี้คือการผูกขาดทางธุรกิจหรือเปล่า?

ผู้กำกับดังรายเดิม เจ้าของประเด็นเดือดให้ความเห็นไว้ว่า มันก็เป็นสิทธิของเขา การค้าในตลาดเสรีมีสิทธิทำได้ไม่ผิดกฎหมาย คนที่จะออกมาพูดว่าผูกขาดหรือไม่ ไม่ใช่ผมหรือตัวผู้กำกับ มันควรตัววงการภาพยนตร์หรือสมาพันธ์ภาพยนตร์ คนที่ใหญ่กว่าผมออกมาพูดเพราะเป็นแค่คนทำงาน

“พอมันเป็นเรื่องของธุรกิจ ก็ควรให้พวกธุรกิจกับธุรกิจเขาคุยกันว่า อย่างนี้มันผูกขาดหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า”



ถามว่าแปลกไหมเรื่องที่โรงหนังจะเพิ่มหรือลดรอบฉาย เจ้าตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ สามารถทำได้ทั้งนั้น หากเจ้าของทุนตั้งเป้าทำกำไรให้ธุรกิจ ซึ่งคงต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง “สัดส่วนรายได้ของธุรกิจภาพยนตร์” กันก่อน

รายได้ของภาพยนตร์หลักๆ แล้วมาจากการฉายโรง ซึ่งรายได้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เจ้าของภาพยนตร์ และ โรงฉายภาพยนตร์ สัดส่วนรายที่แบ่งกันก็แล้วแต่จะตกลงกันได้ ยิ่งค่ายหนังใหญ่ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองสูง

มีอีกมุมมองจาก ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เคยออกมาเปิดเผยกับสื่อ เมื่อปี59 ว่า สัดส่วนการแบ่งรายได้คือ โรงฉาย 55 เปอร์เซ็นต์ และ เจ้าของหนัง 45 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเทียบกับกรณี “ขุนพันธ์3” ที่ถูกสร้างและลงทุนโดยค่ายหนังอย่าง “สหมงคลฟิล์ม” ทำให้ทางค่ายเป็นเจ้าของหนังเรื่องนี้ ส่วน “ทิดน้อย” สร้างโดย “เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ (M39)” ซึ่งก็อยู่ในเครือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป โดยทฤษฎีแล้ว เมเจอร์จึงเป็นเจ้าของหนัง และเจ้าของโรงฉายเองด้วย



เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีกูรูวงการหนังไทยอีกราย ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง ให้ความเห็นเอาไว้ว่า เคสนี้เหมือนทำหนังเอง ฉายโรงตัวเอง จึงค่อนมาในทางผูกขาดธุรกิจอยู่มากเหมือนกัน

“จะเป็นผู้เล่นคนเดียวเลยเหรอ ทำหนังเอง ฉายเอง ให้รอบหนังตัวเอง เก็บเงินเอง”

ปัญหาอีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ ความหลากหลายของภาพยนตร์น้อยลง ไม่ใช้แค่หนังไทยแต่หนังจากต่างประเทศเองก็โดนเหมือนกัน โรงฉายมักให้พื้นที่กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หรือ Box Buster ที่ทำเงินได้มากกว่าเลยเหลือพื้นที่สำหรับภาพยนตร์ไทยมากนัก

“ปัญหาของหนังกับโรงหนังมีมาตลอดแต่ไม่ค่อยมีอยากออกมาพูดมากเพราะ ยังไงคนทำหนังก็ยังต้องง้อโรงหนังอยู่ดี”

ห่วงอนาคตหนังไทย! รอบฉายที่ไม่เป็นธรรม

ล่าสุดมีการออกมาขยับตัวจาก “สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย” ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทย ที่ไม่เป็นธรรม

ปัญหาการจัดโรงและรอบฉายที่ไม่เป็นธรรม ตัดโอกาสของภาพยนตร์ไทย คือปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นเรื่อยมา เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานในวงการภาพยนตร์ไทย

เมื่อการสร้างภาพยนตร์ไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะมีโรงและรอบฉายที่มาก เหมาะสมสำหรับการสร้างรายได้ให้กับภาพยนตร์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้สร้างจำนวนมากไม่กล้าลงทุนในภาพยนตร์คุณภาพที่มีเนื้อหาหลากหลาย จนเป็นเหตุให้ผู้ชมจำนวนมากรู้สึกเสื่อมศรัทธากับภาพยนตร์ไทย เพราะมีเนื้อหาที่ซ้ำซาก ไร้การพัฒนา



[ จดหมายเปิดผนึก สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ]

“ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ มีคุณภาพ กลับได้รับการจัดโรงและรอบที่น้อยจนหมดโอกาสในการสร้างผู้ชมและรายได้”

ทางสมาคมยังมีข้อเรียกร้อง ให้ “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ชมและส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทย และขอให้สื่อนำเสนอประเด็นเหล่านี้เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงปัญหาของวงกา รภาพยนตร์ไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด

การจากที่ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ของมาเรียงร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาจาก กรณีที่เกิดขึ้นกับ ภาพยนตร์อย่าง ขุนพันธ์3 เมื่อถาม โขม ว่านี้จะเป็นแรงผลักดันที่มากพอให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่

“ก็คงต้องจับตาดูกับต่อไป ปัญหาในวงการภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่นี้ กรณี ขุนพันธ์ เป็นเพียงปลายเหตุ ไม่อยากให้เหมือนที่ผ่านที่เป็นกระแสแป๊ปเดียวก็หาย เพราะถ้าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะมีพื้นที่ให้คนทำหนังมากขึ้น”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live

ขอบคุณภาพ : entertainment.trueid.net, sahamongkolfilm.com, แฟนเพจ “Major Group”, เฟซบุ๊ก “Kongkiat Komesiri ” และ ”slowsogood Sugus”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น