xs
xsm
sm
md
lg

“หัวสิงโต” ที่ต่างชาติต้องต่อคิวจอง!! “ช่างโจ ตลาดพลู” ตัวพ่อวงการกว่า 5 ทศวรรษ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “อาจารย์โจ ตลาดพลู” ช่างทำหัวสิงโตมือฉมัง จากไม้รวกเส้นบาง ถูกผูกร้อยจนกลายเป็น “หัวสิงโต” อันเป็นเอกลักษณ์ ฝีมือบวกประสบการณ์กว่า 50 ปี เป็นที่ยอมรับจนต่างชาติต้องมาต่อคิวจอง!!

ตำนาน “ช่างทำหัวสิงโต” ที่ยังมีชีวิต!!

“ผมจะเน้นดุแต่สวย ดูแล้วมันน่าเกรงขาม และลายต้องออกมาสไตล์ใหม่ๆ ผมติดนิสัยงานละเอียด ทำอะไรก็ทำให้เขาดีๆ โครงเก็บไว้ได้นาน

ไม่ว่าเราจะทำอะไร ต้องเป็นที่ยอมรับของวงการด้วย ชมตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นดู ใช้ได้มั้ย สวยมั้ย สมัยก่อนไม่มีเฟซบุ๊ก ตอนนั้นอาศัยว่าลูกค้าปากต่อปาก ถ้ามีตั้งแต่สมัยก่อนเรายิ่งกว่านี้อีก”

“โจ - วิชัย รอดเกิด” คุณลุงวัย 75 ปี ที่รู้จักกันในชื่อ “อาจารย์โจ ตลาดพลู” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

บุรุษผู้นี้เรียกได้ว่าเป็น “ตำนานที่ยังมีลมหายใจ” เพราะเขาคือ “ช่างทำหัวสิงโต” มือวางอันดับต้นๆ ของประเทศ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนานกว่า 50 ปี

การทำหัวสิงโตนั้น เป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยทั้งความปราณีตและจิตวิญญาณในการรังสรรค์ จวบจนถึงปัจจุบัน มีผลงานหัวสิงโตผ่านมือเขาไปแล้วนับไม่ถ้วน

และถือได้ว่าเขาคือ “ช่างทำหัวสิงโตที่อาวุโสที่สุดของเมืองไทย” ในตอนนี้!!



“ตอนนี้ก็มีเรานี่แหละที่อายุมากสุด จะมีก็มีแต่เด็กรุ่นใหม่ แล้วมีอายุใกล้ๆ กัน ก็คงรุ่นน้องเราไม่เท่าไหร่ รุ่นแก่กว่าเราก็ไปหมดแล้ว (หัวเราะ)

(ประสบการณ์การทำหัวสิงโต) 50 กว่าปีแล้วนะ ตอนนั้นยังหนุ่มๆ สู้ไหว มีกำลัง บางทีมานั่งรอหน้าบ้านตี 4 ตี 5 จะไปเล่นกันตอนเช้า บางทีอยากได้หัวเร็ว เราแนะนำให้ไปเยาวราช ไปซื้อหัวนอกเล่นเลย หมื่นกว่าบาท แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหว 4 ทุ่มเราก็ไม่เอาแล้ว ถึงบอก 3 - 4 เจ้านี่ต้องรอหน่อยนะ เขาก็เข้าใจ

หรืออย่างเปิดคณะใหม่ๆ เราบอกไม่ควรมาเล่นหัวอย่างนี้ หัวอย่างนี้เด็กต้องมีกำลัง ออกกำลังเหมือนนักมวยเลยเพราะหัวมันหนัก ต้องใช้กำลังแขน ทุกวันนี้ก็มีเอาไปเชิด แต่ส่วนมากจะออกงานใหญ่ๆ ใกล้ๆ เปิดศาล เปิดบ้าน ไหว้ผู้ใหญ่ คนเชิดเก่งๆ แล้วมันสวย ทำให้เจ้าภาพมีหน้ามีตา เอาหัวดีๆ ไปเล่นให้เขา ถ้าเดินแห่ไกลๆ เดินไม่ไหว มันจะหนัก

แต่ถ้าจะบอกเอาเดือนนั้นเดือนนี้ ไม่ได้ หัวอย่างนี้ต้องมีเดือนนึงขึ้นไป เดือนนึงบางทีไม่อยู่เลย งานเราช้าขึ้น เดือนนึงไม่กี่หัวหรอก งานฝีมือ ยิ่งเราทำช้าด้วย เน้นคุณภาพ ถ้าเราทำชุ่ยๆ ป่านนี้ก็ไม่มีใครมาแล้ว (เคยทำ) ถึงพันหัวมั้ย ผมว่าน่าจะถึง มันเยอะมาก สมัยก่อนไม่ค่อยได้ถ่ายรูปไว้ด้วย”



แม้ปัจจุบัน ช่างโจจะอยู่ในวัยเลข 7 นำหน้า แต่เขาก็มองว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข เพราะมีความตั้งใจจะพัฒนาการทำหัวสิงโตต่อไป ไม่ต่างอะไรจากคนรุ่นใหม่ไฟแรง

“ทำไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) งานไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำแล้วไม่พัฒนา ทำให้ขายไปวันๆ เหมือนเดิม ทำแล้วจะเบื่อง่าย ยกตัวอย่างต่อรถ พวกรถบัส รถทัวร์ แรกๆ เราก็ตามเขา เดี๋ยวนี้เราทำเองลวดลายมากกว่าเขาอีก ต้องพัฒนาไปเรื่อย ทำให้ไม่เบื่อ ตามเขาอย่างเดียวก็ไม่เอา ไม่ใช่นิสัยเรา

หัวสิงโตเหมือนกัน ต้องพัฒนา วันนี้มีลายนี้ ต้องหนีไปอีกทาง บางคณะเขาถาม หวงวิชามั้ย ไม่หวงหรอก เราก็คิดของเราขึ้นมาใหม่ วันนี้คิดจะใส่ลายอย่างนี้ แล้วเราจะไม่เบื่องาน ทำให้เราอยากทำ

ลายสักยันต์ก็ใช้ได้ เราดูสีมันตัดกันมั้ยแล้วมาใส่ของเรา ผสมผสานกันได้หมด เราเอาแค่บางส่วน ลายไม่เหมือนกัน ลายเราจะพลิ้วไปของเราอยู่เรื่อย หัวสิงโตไม่ได้อยู่นิ่งเฉยๆ มันต้องไปเรื่อยๆ คิดอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ก็ใส่ไป อย่าไปซ้ำของเดิม ซ้ำของเดิมทำแค่ 2 หัวก็เบื่อแล้ว เราต้องคิดไปเรื่อยๆ

บางเจ้าขอบคุณที่เราเป็นต้นแบบ ทำให้มีกำลังใจอยากเอาส่วนนู้นส่วนนี้มาใส่ในหัวสิงโต บางทีเราก็ยังเคยเตือนๆ อย่าให้มันมากเกินไป ให้มันดูสวยงาม บางคนใส่ซะเละ เล่นลายไทยทั้งหัว ไม่ใช่แล้ว สิงโตไทยก็จริงแต่ต้องบางส่วน ลายไทยกับลายจีน เราก็มาดัดแปลงใช้ด้วยกันได้ แต่ว่าให้มันออกไปจีนๆ หน่อย ดัดแปลงผสมๆ ไป”

จากไม้ 1 เส้น สู่หัวสิงโตอันวิจิตร

สำหรับขั้นตอนกว่าจะได้หัวสิงโตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความชำนาญและพิถีพิถัน เริ่มจากเหลาไม้รวกให้ได้ขนาดที่ต้องการ ก่อนจะผูกร้อยเป็นโครง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เปรียบได้กับขึ้นเสาเข็มสร้างบ้าน

“ใช้ไม้รวกก่อน ที่ใช้ไม้รวกเพราะว่ามันแข็ง ผิวจะละเอียด หัวโครงของผมแขวนไว้ 20 ปียังไม่เป็นอะไรเลยนะ ไม้ตลาดส่วนมากอย่างที่เห็น มันเป็นไม้รวกที่ว่ามอดมันชอบกิน แต่อย่างนี้มันเป็นไม้ที่เขาเอามาทำโต๊ะ ทำเฟอร์นิเจอร์

เราก็เอาไส้มันออกเหลือเฉพาะผิว จะเหลาตามสูตรของมัน ขึ้นโครงเหมือนกับปลูกบ้าน เริ่มด้วยเสาเข็ม ไม้ส่วนนั้นก็ต้องหนาหน่อย พอผูกไม้ 1 ไม้ 2 ไม้ 3 ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเสร็จ ก็เริ่มเดินเส้น ไม้เดินเส้นก็ต้องเหลาบาง แล้วก็เน้นไม่ให้มีคม เพราะเวลาปาดจะบาดมือ ผมเหลาเองไม่ได้ซื้อ

ขึ้นโครงเสร็จก็เอาลวดมาประดับ หัวสิงโตขาดลวดไม่ได้ ต้องดัดเป็นรูปเป็นร่าง โครงมันเป็นไม้อยู่แล้ว พวกนี้ส่วนประกอบ พวกตา พวกเขี้ยว พวกครีบ จมูก พวกนี้ต้องใช้ลวด ส่วนที่ใช้ลวดมีหลายส่วนเหมือนกัน



[ โครงหัวสิงโตที่กำลังรอคิวทำ ]

ไม้ผมจะเดินม้วนก้นหอยหมด ก้นหอยคือการเดินไม้ของเรา คนอื่นเขาจะเดินเส้นถึงมาผูก ของผมม้วนหมดทั้งเส้น มองเป็นก้นหอย การเดินเส้นมันเป็นงานศิลปะ มันไม่เหมือนกัน ถ้าเราขึ้นตรงๆ มันก็ขึ้นได้ แต่มันแข็ง ดูแล้วไม่อ่อนไหว โครงต้องสวยงามด้วย ขึ้นโครงสด อยู่ในหัวสมองเรา ผมไม่มีรูปแบบเท่าไหร่ ขึ้นไปดูไปพูดง่ายๆ”

ถามต่อว่า ทำไมต้องทำโครงให้สวยงาม ในเมื่อมีวัสดุชิ้นอื่นปิดโครงไว้ ช่างมือฉมังก็ให้เหตุผลตามบรรทัดต่อจากนี้

“เพราะว่าบางคนชอบดูของ คนที่เขารักหัวสิงโตจริงๆ เขาดูโครงปุ๊บเขาจะรู้เลยว่าใครทำ ปะก็เหมือนๆ กัน แต่มันจะอยู่ที่การเดินลวดที่ไม่เหมือนกัน รูปทรงก็เหมือนกัน เจ้านึงทำทรงนึง เจ้านึงทำทรงนึง ผมก็ชอบทำทรงนี้ ดูแล้วสวยดี

ถ้าคนติดตามผลงานของเรา เขาจะรู้ว่าโครงนี้ของ อ.โจ ผูกอย่างนี้ แล้วของผมไม้ละเอียด ไม่ต้องห่วง โครงนึงเก็บได้อีกนาน ทุกวันนี้หัวที่ซื้อๆ ไป บางคณะก็ไปตามล่าซื้อโครงที่กระดาษมันเสียแล้ว แล้วเอามาแต่ง ทำเล่นกันต่อ เพราะโครงเรามันทน ไม่ต้องกลัวเรื่องมอด”



เมื่อให้ช่างวัย 75 ปี เล่าถึงความยากในการทำ เขายกให้หัวสิงโตแบบหัวมังกรและปลามงคล เป็นผลงานปราบเซียน พร้อมทั้งได้ให้ความหมายของสัตว์มงคล ที่ถูกนำมาประดับหัวสิงโตเอาไว้ด้วย

“มังกรกับปลายาก มังกรปะเสร็จแล้วต้องมาเพิ่มเขา ทำปากล่าง จริงๆ มันขยับได้ทุกหัว พู่พวกนี้มันสั่นได้หมด อย่างหัวปลาเราทำพิเศษขึ้นมาเพราะเจ้าของเขาอยากได้ ปากขยับได้ ใส่ลวดใส่ยาง มันมีราคาเพิ่มขึ้น เขารู้ว่าเราทำอะไรมั่ง อยากจะเก็บเป็นที่ระลึก

หัวนี้ทั้งหัวนี้มีปลาทั้งหมด 9 ตัว มันยากกว่ากันเยอะ แก้มเป็นปลาข้างละแก้ม ลอนด้านหลัง คิ้วเป็นปลา หูก็เป็นปลา เขาก็เป็นปลา ลิ้นเป็นผีเสื้อ ต้องแยกทำต่างหาก เวลาเราปะเสร็จเราก็แต่งลูกตา ลวดลายต้องให้สวย

หัวพิเศษต้องทำให้เขาเต็มที่ จะแพงหน่อย เป็นสัตว์มงคลของจีน คนจีนเขาถือว่าเฮงๆ ถ้าไปดูตามโรงงิ้ว ตามศาลเจ้าจะมี อย่างหัวมังกรลิ้นเป็นค้างคาว

ผมก็ไม่ลึกซึ้งพอนะ แต่คิดว่าใช่ พวกปลาก็เป็นสัตว์มงคลหมด เกี่ยวกับให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ความอยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข ผีเสื้อคือ ฮก ค้างคาวก็คือตัว ฮก หมายถึงโชคดี สัตว์พวกนี้อยู่ในบ้านคือของมงคล ผมเจิมหัวผมก็เขียน ฮก ให้เขาด้วยแป้ง”



ทั้งนี้ ช่างทำหัวสิงโตอาวุโส ยังได้เล่าถึงยุคสมัยหนึ่ง ที่หัวสิงโตจากต่างประเทศได้รับความนิยมอีกด้วย

“ผมเรียกว่าช่วงเห่อของนอก งานมันจะมีอยู่ 2 ช่วง ของนอกรุ่นแรกสวย ช่วงของนอกรุ่นแรกที่เป็นหัวฮ่องกงเข้ามาน่ะสวย แต่รุ่นหลังรู้สึกว่าเป็นของจีน บางทีทำงานหยาบ สีทาไม่มีการเหลือบ ทาพื้นๆ ลูกตาบางทีก็ใช้โฟมอย่างเดียว

มาตอนนั้นค่าเงินสมัยนั้นถูก หัวนอกเข้ามาแค่ 3,000 - 4,000 บาท หัวไทยเริ่มทำแรกๆ 700 กว่าบาท แล้วก็มา 800 กว่าบาท แพงที่สุดคือ 1,500 ค่าเงินมันกระโดดพรวดๆ

สมัยก่อนไม่เหมือนตอนนี้ แต่ก่อนทำหัวแรกไม่กี่ตังค์เอง หมื่นกว่าบาท แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ ทำแพงที่สุดตอนนี้ตกชุดนึง 60,000 กว่าบาท ต้นทุนก็ตก 20,000 - 30,000 บาทเหมือนกัน อุปกรณ์ตกแต่งมันเยอะอยู่ พู่คู่นึงเกือบ 700 บาท เราต้องสั่งพิเศษ เราใส่เต็มที่ กำไรน้อยช่างมัน เอาให้ออกไปสวยๆ บางทีเขาก็ไม่กล้าเล่น เก็บไว้ดู”


“หัวสิงโต” กับ “ความเชื่อ”

“หัวสิงโตเวลาเปิดใหม่ต้องไหว้ผลไม้ 7 อย่าง เขาเรียกเปิดตา ไหว้พระ เจิมเสร็จก็ให้ลูกน้องกินกัน เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ต้องไหว้ ของครูแรง บางคณะก็ใช้ไก่ ใช้หงอนไก่ ก็จะตัดหงอนไก่ เลือดออกก็เอามาเขียนตรงหน้าโหนก เป็นคำว่า ฮู้ เฮง ฮก เป็นเคล็ดของเขา

แต่ของผมสิงโตรุ่นที่ผมตั้งไม่มีครูอาจารย์ อาศัยครูพักลักจำ อยากจะเล่นยังไงก็เล่นไป แต่ถ้าความดุดันโลดโผน รุ่นของเราดุที่สุด ใครๆ ก็อยากจะเจอ เล่นบางทีเจอ 3 - 4 คณะ สู้ได้หมด

หัวสิงโตถ้าทำต้องมีหัวครู ตอนนั้นเคยทำแล้วรู้สึกว่ามันร้อน ทำ 3 หัวต้องย้ายบ้าน ย้ายที่อยู่ มานั่งนึกมันเป็นเพราะอะไร พอดีทางผู้ใหญ่เขาถาม มีหัวครูรึเปล่า ก็เลยทำหัวครูแล้วไปให้พระเจิม เราก็ไหว้ทุกวันพระ ไหว้แบบไทย รู้สึกว่ามันก็ทำให้ดีขึ้น เราทำด้วยจิตใจ ด้วยสมาธิเรา ของพวกนี้ถ้าทำดีจะได้ดีนะ ทุกวันนี้ทำหัวสิงโต หัวมังกร ทำเสร็จต้องไหว้ทุกครั้ง

สัตว์อีกอย่าง บางทีไม่งานเข้าเลยนะ สัตว์ใหญ่กว่าสิงโต พวกสัตว์โบราณ ไดโนเสาร์พวกนี้ แม้กระทั่งที่มันเป็นกระดาษหรือเป็นหุ่น ที่เราเอามาไว้ในบ้าน งานไม่เข้า ธรรมดาคนจะวิ่งมาหา

ตอนนั้นลูกซื้อไดโนเสาร์เป็นกระดาษเอามาต่อแล้วแขวน มีทั้งนกยักษ์ (งาน) ไม่เข้าเลยปีนั้น แปลก เงียบไปเลย จนต้องเอาไปทิ้ง พอเก็บไปเท่านั้น (งาน) มาเลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ”



เมื่อพรสวรรค์ กลายเป็นงานที่รัก

ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวชีวิต ช่างโจ เติบโตมาในย่านตลาดพลู ซึ่งเป็นอีกย่านของกรุงเทพมหานคร ที่หลอมรวมวัฒนธรรมของไทยและจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งเขาก็ได้คลุกคลีกับการแสดงการเชิดสิงโต มาตั้งแต่จำความได้

“ตลาดพลูสมัยก่อนก็มีสิงโตอยู่ไม่กี่คณะ เด็กๆ แถวตลาดพลูอยากจะดู อยากจะเล่นกันมาก ยิ่งงานใหญ่ๆ อยากจะดูกันว่าปีนี้มีคณะอะไรบ้าง เริ่มแรกจริงๆ คณะเล่นของไม่ค่อยสวยก่อน เพราะเราไม่มีตัวอย่างจากเมืองนอก

ผมศึกษาด้วยตัวผมเอง ตอนเด็กๆ เรานั่งอยู่ข้างคนที่เขาทำหัวสิงโต เราเรียกแกน้า ดูว่าผูกยังไง ตอนนั้นประมาณ 15-16 ก็ยังไม่ค่อยได้ทำ ซื้อเขามาแค่ 1-2 หัว แล้วหัวที่ 3 เราเริ่มทำเอง หัวพัง ซ่อมก็ลำบาก เลาะโครงมาดูว่าทำยังไง ในคณะก็ช่วยๆ กัน

สมัยก่อนงานมันจะยุ่งยากกว่า ไม่ได้ใช้สีแบบทุกวันนี้ สมัยก่อนใช้สีน้ำมันเขียน ลายที่เขียนด้วยสีน้ำมัน เราตวัดลายแหลมไม่ค่อยได้ มันเหนียว เหนียวมือ เขียนยาก แต่สวยในแบบสมัยเก่า มาสมัยนี้พอเจอสีน้ำ สีโปสเตอร์ มันสามารถเล่นลวดลายได้เยอะ



พอทำอยู่พักนึง อุปกรณ์มันก็หายาก ยังไม่มีเข้ามาขาย แม้แต่กระดาษที่ผูกก็ไม่มี ใช้กระดาษตัวเดียวกับที่ทำพวกว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า มันจะเหนียว ก่อนนั้นจริงๆ มันมีเยอะ แต่เราไม่ได้ซื้อไว้ ไม่คิดว่าวันนึงมันจะขาดตลาด”

ชีวิตของชายที่ชื่อโจพลิกผัน จากการเป็นลูกมือช่างทำหัวสิงโต ก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นบาร์เทนเดอร์ แคชเชียร์ และไกด์ตามลำดับ

“พอมันขาดตลาดแล้วเราเคว้งเลยตอนนี้ ทำยังไง ก็ไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ ผมเรียนแค่ ม.3 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เพราะคิดแล้วว่ามันไม่รุ่งแน่ พูดก็พูดเลย โง่ ภาษาอังกฤษ เลข ส่งกระดาษเปล่า

มาได้ตอนทำงาน ภาษาอังกฤษก็ได้ อาศัยพูดกับฝรั่ง รายการอาหาร ชื่อพนักงาน ผมเขียนหมด เหล้าเป็นร้อยๆ ยี่ห้อ จำได้หมด ผสมยังไง สูตรยังไง เลขก็ได้ ขึ้นไปเป็นแคชเชียร์ เก็บเงิน คิดเงิน บวกลบคูณหารเป็นหมด แต่ตอนเรียนไม่ได้เลย (หัวเราะ) เรื่องเรียนเท่านั้นเองที่เราไม่เก่ง

เลิกจากตรงนั้นก็มาเป็นไกด์อยู่บริษัทเพื่อนๆ สมัยก่อนยังไม่มีสุวรรณภูมิก็อยู่แถวดอนเมือง รับเข้า-ส่งออกแขกฝรั่ง ทำทัวร์อยู่ 2 ปีได้ ตอนนั้นอายุมากเกือบ 30 งานอย่างนี้เขาคงไม่เอาคนแก่ๆ ทำ ให้พวกวัยรุ่นทำ เพื่อนที่เก่งๆ 6 - 7 ภาษาก็ออกกันหมด”



ด้วยความที่ยังมีความผูกพันกับการทำหัวสิงโตอยู่ก่อน ทำให้ในระหว่างที่ทำอาชีพบาร์เทนเดอร์ ชายผู้นี้ยังคงศึกษาและรับจ็อบการทำหัวสิงโตอยู่เนืองๆ

“ระหว่างที่ทำงานไม่ใช่ว่าทิ้งงานนี้ ตอนนั้นก็ยังทำบาร์อยู่ ก็มีพวกที่ตลาดพลูเขาอยากจะเล่นมังกร มองไม่เห็นใครคงเห็นว่าเราทำได้ จริงๆ เราทำแต่หัวสิงโต ไม่คิดจะทำมังกร ก็ให้เพื่อนที่เป็นฝรั่งไปต่อวีซ่า เขาไปต่ออยู่ 2 ที่ ไม่ฮ่องกงก็ปีนัง ให้หยิบโบรชัวร์การท่องเที่ยวมา 2-3 เล่ม ดูแบบก็เลยทำ เป็นหัวแรกของมังกรตลาดพลู

สมัยก่อนถ้ามีงานใหญ่ๆ เราจะไปขอดู เพื่อนเริ่มเล่นกล้องเลยตามไปถ่ายรูปให้ สมัยก่อนไต้หวันยังมีสถานทูตอยู่ตรงสาทร ผมทำงานอยู่ถนนพัฒน์พงศ์ ก็เดินกันไป ถ่ายตอนกำลังเล่นเลย

หัวนอกเขาสั่งมาเล่นพักนึงเหมือนกัน แต่หัวสไตล์ขนถักมาจากจีน ลายมันแข็ง เวลาเย็บไม่ได้เย็บแบบเรา ใช้เชือกร้อยแล้วล็อก เวลาเล่นไปซักพักมันจะกลับไปกลับมา มันไม่เรียงเป็นระเบียบ เราใช้ลวดล็อกเลย

เพิ่งมาทำจริงๆ ตอนย้ายมาอยู่ตลาดพลู คณะสิงโตมันเริ่มเยอะขึ้น ตอนนั้นของนอกเริ่มเข้ามา เขานำเข้าจากมาเลเซียหัวละหมื่นกว่าบาท แต่ผมไม่กลัว ผมบอกไม่ต้องไปสน ทำหัวของไทยให้ดี พื้นฐานเราดีอยู่แล้ว อีกหน่อยมันจะย้อนกลับมาเล่นของเก่าหมด ทุกวันนี้เป็นยังไง บางงานสั่งเลยนะ ต้องเอาหัวแบบนี้ไปเล่นงานเขา มันเป็นหัวมงคล”



ด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะที่มีเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่ใช่เรื่องยาก กับการเริ่มอาชีพอาชีพช่างทำหัวสิงโตอย่างจริงจัง

“ส่วนมากผมไม่ค่อยได้เชิด เคยเชิดอยู่พักนึง ลีลาเราไม่ได้ การเชิดต้องมีคณะที่ครูอาจารย์รุ่นเก่าๆ มาสอน เราไม่ได้ศึกษาจริงจัง ผมเป็นคนชอบเล่นกลองมากกว่า แต่เล่นกลองจริงๆ เล่นอยู่ไม่กี่ปี

เราชอบทำหัวสิงโตมากกว่า ซ่อมด้วย ฝึกไม่นานเพราะผมมีหัวด้านงานศิลปะอยู่แล้ว เราอยู่ตลาดพลู เขารู้ว่าเราทำอย่างนี้ได้ ทำหัวสิงโตคณะแรกคือลูกพิชัยดาบหัก ปัจจุบันไม่มีแล้ว เลิกเล่น ต่อมาทำหัวมังกรคือลูกเจ้าพ่อพระเพลิงตลาดพลู ทุกวันนี้เป็นคณะใหญ่

ตอนนั้นคนทำมันไม่ค่อยมี เราก็เริ่มทำจริงๆ จังๆ ก็เริ่มขายได้เงินมั่งไม่ได้มั่ง แต่ด้วยความที่เราชอบ ถือว่าฝึกฝีมือไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งเขาจะแห่งานวัด ให้เราผูกเป็นรูปศาลา เคยทำโฆษณาโรงหนัง ก็ทำให้เขา ทำโครงไม้ หน้าเราก็ปั้นดินแล้วก็ปะขึ้นมาเป็นรูป มันมีโปสเตอร์หนัง ทำเป็นรูปร่างอย่างนั้น ตอนนั้นไม่ได้ตังค์เท่าไหร่หรอก ช่วยกันทำสนุกๆ กับเพื่อนๆ

ตอนเรียกวิชาวาดเขียนศิลปะ ไม่ต้องสอบ เราเป็นนักดัดแปลง ครูสั่งให้ทำเรือใบ เราทำเรือไวกิ้ง ก็เป็นที่ชื่นชอบของครูที่สอน ผมชอบออกแบบ ลายผมเขียนไว้เป็นเล่ม เพื่อนๆ ยืมแล้วไม่คืนมั่ง ทุกวันนี้ก็เลยเอามาใช้กับหัวสิงโต เป็นไอเดียของเราทั้งหมด”

ยี่ห้อ “ช่างโจ” ขายได้ แถมดังไกลถึงต่างแดน

ตลอดการพูดคุย ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ว่า ชีวิตกว่า 75 ปีของชายผู้นี้ ดำเนินมาได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่เขาก็ผ่านมาได้โดยไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งเจ้าตัวก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน

“มันก็ไม่ลำบาก มันไปได้เรื่อยๆ ใจเรามันสู้ได้ทุกอย่าง มันจะหนักหน่อยตอนที่ลูกเรียน คนเล็กก็กู้เงินเรียน ตอนนี้ก็สบายแล้ว จะตกอับจริงๆ ก็ช่วงที่ยังไม่มีครอบครัว ช่วงนั้นเราจะหาเงินจากไหน แม้กระทั่งไปขูดสีตามตึก ธนาคารแห่งชาติก็ไปทำมาแล้ว

สมัยก่อนจะทาสีใหม่เขาจะใช้เกรียงแบนๆ ขูดสี ขูดสีแล้วก็อาบน้ำตรงแม่น้ำเข้าพระยา ค่าขูดสีสมัยนั้นวันนึง 30 กว่าบาท ตอนนั้นข้าวจานนึงไม่ถึง 10 บาท รถเมล์ก็ 50 สตางค์ ช่วงนั้นหนัก เพราะเราเรียนไม่สูง ไปถึงกรมจัดหางาน ไปยืนดูแล้วงานแบบนี้ทำไม่ได้

กระโดดเข้าไปทำบาร์ ถึงได้รู้ว่างานมันหายาก เงินเดือนก็ไม่เท่าไหร่ 800 บาท ดอลลาร์นึงยังไม่ถึง 20 บาท แต่อาศัยมันได้ทิปเยอะคืนนึง เงินเข้ากระเป๋าทุกวัน ย้ายบ้านมาอยู่กับเพื่อนมั่ง ตอนนั้นมันสนุกอย่างเดียว ไม่ได้คิดอะไรมาก เราไม่มีเงินก็ดิ้นรนต่อไป เราไปเรื่อยๆ เราสู้ อย่าไปคิดอะไรมาก

หลังออกจากงานแล้ว ตอนหลังที่มาทำ (หัวสิงโต) ทำจริงจังแล้วต้องศึกษาไปด้วย แต่ก่อนเขาเห่อกัน ซื้อหัวก็ซื้อของฮ่องกง ศึกษาจากของฮ่องกงก่อน มันไม่ได้สวยทุกร้าน ของเราฝึกจริงๆ เราก็สู้ได้

พอตอนหลังมาฮ่องกงรุ่นนั้นไม่มีแล้ว แต่ของเขาออริจินัลแพงๆ ยังมีอยู่นะ หัวนึง 50,000 - 60,000 เหมือนกัน ตอนนี้เขาวิ่งมาหาเรา เขาก็ยังนับถือเราอยู่ ฮ่องกงชอบเราที่ว่าสไตล์ของคุณที่ไม่เลียนแบบเขา”



ปัจจุบันชื่อเสียงของ “หัวสิงโตช่างโจ” ไม่ใช่ขึ้นชื่อแค่ในวงการเชิดสิงโตบ้านเราเท่านั้น หากแต่ดังไกลและได้รับการยอมรับในหลายประเทศ อีกทั้งยังมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ทุกวันนี้ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยที่ตามมา พอมีเฟซบุ๊กปุ๊บมันไปถึงฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม ลาว มีหมด ลูกสาวเขาทำให้เรา ทำเสร็จก็ลงไป คนตามตามมาดูงานของเรา ปีนี้ก็มีจะเอาหัวสิงโต มาเลก็มี ที่ฮ่องกงมาหลายเจ้า เราก็ไม่ได้ตอบไป นี่ส่งมา 3 - 4 เจ้า ลูกสาวก็บอกพ่อไม่ต้องรับมาก ทำไม่ไหว

มันลำบากตรงขนส่ง เราไม่กล้ารับตรงๆ เพราะกลัวว่าเขาจะเอาเดือนนู้น เดือนนี้ เดือนนั้น เราเวลาจะส่งของ อย่างหัวมังกรกว่าจะส่งได้ วัดลัง ทำลังใหญ่ๆ เพราะหัวมันใหญ่

แต่ตัวเขาไปทำเอง ตัวฮ่องกงกับของเมืองไทยไม่เหมือนกัน ตัวของเมืองไทยมันไปลำบาก เป็นท่อน ท่อนนึง 7 - 8 เมตร ถ้าหดบี้แบนมันไม่สวย ของฮ่องกงเขาทำเป็นผ้า มันนิ่ม เขาเอาไปสวมต่อกันทีหลัง

ส่วนมากหัวของผมถ้าทำพิเศษจะไม่ค่อยเอาไปเล่นเท่าไหร่ เก็บบูชาซะส่วนใหญ่ ขึ้นหิ้งเลยบางคน แต่หัวที่ทำอยู่ของมาเลเซีย รู้สึกว่าเป็นศูนย์ศิลปาชีพของมาเลเซีย เขียนชื่อเรากำกับเป็นผู้ทำ ทุกหัวต้องทำอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ ว่าไปซื้อหัวคณะนั้นคณะนี้มา ของเรายี่ห้อขายได้ (หัวเราะ)”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ช่างผู้คร่ำหวอดในแวดวงกว่า 50 ปี กล่าวถึงการเชิดสิงโตในปัจจุบันว่าเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก พร้อมทั้งให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่สนใจ ในฐานะรุ่นพี่ในวงการทำหัวสิงโตอีกด้วย

“สมัยก่อนสิงโตนี่ไม่ได้เงินนะ ไม่มีหรอกค่าตัว ตั้งเพื่อความสามัคคีในหมู่ตำบลนั้นซะส่วนใหญ่ กินเลี้ยงกัน สมัยก่อนมันเข้าสิง เล่นแล้วสนุก ทุกวันนี้สิงโตเยอะมาก เยอะจนไม่รู้คณะอะไรเป็นคณะอะไร มันเหมือนเป็นธุรกิจ จะต้องมีค่าตัวเท่านั้นเท่านี้

ทุกวันนี้มีเด็กๆ ที่อยากให้สอน คนขอดูเยอะ ตั้งแต่เด็กๆ เลยก็มีนะ แม่เขาจะมาหา ลูกชอบมาก ผมก็บอกว่าแนะนำได้ เด็กต้องมีใจรัก ชอบ แล้วรู้ลักษณะต้องเป็นอย่างนี้

เด็กสมัยใหม่ให้ดูให้เยอะๆ แล้วก็ศึกษา ผมสอนให้ได้ ถ้าชอบจริงๆ แต่ที่บ้านผมมันคับแคบ แล้วเวลาเราไม่ค่อยมี ถ้ามันหายไปก็เสียดายเหมือนกัน”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “AjarnJoe LionThai”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น