xs
xsm
sm
md
lg

เจาะทริค “กูรูฝาแฝดนักเล่าเรื่อง : แวววรรณ-วรรณแวว” ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์-เอ็มวี-หนัง ไวรัลสัญชาติไทย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของ สองผู้กำกับฝาแฝด “วรรณแวว -​ แวววรรณ​” กับเส้นทางแห่งการเป็น “นักเล่าเรื่อง” หรือ “story teller” ที่ต้องฝ่าฟัน-สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน กว่าจะมาบรรจบกันได้ ร่วมกันสร้างจนผลงานกลายเป็นไวรัล ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง

กว่าจะสำเร็จ ค้นงานวิจัย-สัมภาษณ์แฝดหลายคู่

เรียกได้ว่ากลายเป็นจุดขายที่กำลังน่าโดนใจคนดูแน่นอน กับภาพยนตร์ไทยที่น่าจับตามองของค่าย GDH หนังความสัมพันธ์ของฝาแฝดที่ฝาแฝดตัวจริงเป็นผู้สร้าง “วรรณแวว -​ แวววรรณ​ หงส์วิวัฒน์”สองผู้กำกับฝาแฝดจากหนังเรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน”

เพราะไม่เพียงแค่หนังเท่านั้นที่กำลังเป็นกระแส จนได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโซเชียลฯ ชื่อผู้กำกับฝาแฝดก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าแฟนหนังไทยหลายคน คงเริ่มคุ้นชินกับชื่อของ สองผู้กำกับฝาแฝดนี้บ้างแล้ว

แต่ก็น่าจะยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้มาก่อนว่าพวกเธอเป็นใคร วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักพวกเธอให้มากขึ้น พร้อมเจาะเรื่องราวชีวิตของพวกเธอ ที่น่าค้นหา และกระบวนการทำหนังที่น่าสนใจ บนเส้นทางแห่งการเป็น“นักเล่าเรื่อง” รวมไปถึงเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของหนังเรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน” ที่น่าติดตามมากกว่านั้น

[แวววรรณ (ซ้าย) วรรณแวว (ขวา)]
สำหรับเส้นทางการเป็นนักเล่าเรื่อง หรือ story teller ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเธอต้องฝ่าฟัน-สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน และก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ พวกเธอก็สร้างสรรค์ผลงานปรากฏสู่สายตาผู้ชมไม่น้อย ซึ่งหลายผลงานฮิตจนเป็นไวรัลทั่วบ้านทั่วเมือง แทบจะปังทุกงานเลยทีเดียว

นับจากตอนที่ต้องช่วยกันทำหนังสั้น มาตั้งแต่สมัยเรียน รวมถึงภาพยนตร์สารคดี “WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี” และหนังสือจากซีรีส์เดียวกัน ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ของทั้งคู่ผ่านการเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษสู่ประเทศไทยด้วยรถไฟ รวมถึงเป็นผู้กำกับและร่วมเขียนบทให้กับทีมของค่าย Nadao Bangkok ในหลายผลงาน เช่น “Hormones วัยว้าวุ่น”, “Great Men Academy”และ MV เพลง “รักติดไซเรน” ที่ฮิตติดหูวัยรุ่นทั่วประเทศ ซึ่งทำยอดวิวได้ถึงเกือบสามร้อยล้านวิว

พร้อมกับช่วยกันปลุกปั้นรายการต่างๆ ในช่องยูทูบด้านอาหาร KRUA.CO ต่อยอดให้กิจการของครอบครัว ตระกูลหงส์วิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร “ครัว” และ “สำนักพิมพ์แสงแดด” มาจนถึงปัจจุบัน

[ผลงานกำกับหนังเรื่องล่าสุด “เธอกับฉันกับฉัน” ที่กำลังได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม]
วรรณ – หนังเรื่อง เธอกับฉันกับฉัน เป็นหนังเรื่องแรกของเราทั้งคู่นะคะ ก็ไม่ใช่แค่ของเราด้วย เป็นหนังเรื่องแรกของทีมหลายคนมาก เหมือนรวมเลือดใหม่ ทุกคนใส่เต็ม เราว่ามันมี magic ของความเป็นครั้งแรกอยู่ ที่ทุกคนอยากทำให้งานดีที่สุด พลังงานนี้น่าจะส่งถึงคนดู ก็อยากจะให้มาดูกันเยอะๆ ค่ะ

ความเป็นแฝดเรามีพล็อตหลักที่อยากจะเล่า แต่ว่าเราก็จะมีใส่ดีเทลความเป็นแฝดลงไป เช่น กฎเกณฑ์ระหว่างฝาแฝด การพูดพร้อมกัน หรือว่า reaction ที่เขาจะมีต่อกันในเรื่องต่างๆ”

แวว – “ส่วนคาแรกเตอร์คือ มันเริ่มที่เราไปแคสต์ใบปอ แล้วเราเห็นมุมสดใสกับมุมเท่ของใบปอ เราก็เลยคิดว่า มันเหมือนเอามาเป็นสองคาแรกเตอร์ได้ ใบปอเหมือนมีทั้งรอยยิ้มแบบเท่ๆ และรอยยิ้มแบบสดใสในตัวคนเดียว จริงๆ แล้วคาแรกเตอร์ใบปอจะอยู่ตรงกลางระหว่างยูกับมี ก็เลยจับมุมแหลมของทั้งสองอันของใบปอมาเป็นคาแรกเตอร์”

พวกเธอเล่าเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ให้ฟังว่า กว่าจะมาเป็นหนังเรื่องนี้ได้ ต้องทำการบ้านหนักมาก และต้องสัมภาษณ์แฝดหลายคู่มาก เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างของแฝดแต่ละคู่ และพวกเธอยังบอกอีกว่า หนังเรื่องนี้ มีความเป็นแฝดฉบับวรรณและแววอยู่ในนั้นด้วย

วรรณ – “เรื่องนี้ก็มีความเป็นเราด้วย คือความจริงแฝดมันก็มีหลายแบบหลายคู่ บางคู่สนิทกัน บางคู่ไม่สนิทกัน ซึ่งเราก็สัมภาษณ์แฝดมาหลายคู่เหมือนกัน เพื่อที่จะดึงอินไซด์ของเขา แต่ว่าเราไม่ได้สัมภาษณ์แฝดหลายคู่ เพื่อที่จะให้หนังเรื่องนี้มันอธิบายแฝดทุกคู่ เราแค่อยากดึงประสบการณ์ อยากดึงอินไซด์ที่เราสนใจ โอเคมารวมกองตรงนี้ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันได้

ก็ดึง elements ที่น่าสนใจของแฝดแต่ละคู่มารวมกัน แต่ว่าแก่นแกนก็ดึงมาจากเราซะส่วน หรือว่าองค์ประกอบรอบๆ ตัว ความบ้านต่างจังหวัด บ้านยายร้านขายของก็คือดึงมาจากวัยเด็กของเรา

ความจริงก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดหรอกว่าจะใช้ความเป็นแฝดมาทำหนัง แต่ว่าจริงๆ มันเหมือนเป็นโดยธรรมชาติที่คนที่เป็นแฝดเขาก็จะสนใจประเด็นแฝด ตอนที่เรา research มันจะมีแบบแฝดหลายคู่มากที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความเป็นแฝด เราก็คงเป็นหนึ่งในนั้นมั้ง ที่พอเราคิดว่าเราอยากจะทำหนังยาวสักหนึ่งเรื่องเราจะทำอะไร

ก็รู้สึกว่า โลกของฝาแฝดเรารู้จักมันดี และถ้าเอามาเล่าเป็นหนัง มันคงจะแบบอินไซด์โลกของแฝดมากพอ ที่จะทำให้รู้สึกว่าโลกนี้สมจริง แล้วพอคิดว่าจะเล่าเรื่องกับแฝด เหมือนเราก็เอ๊ะไหนดูสิมีเรื่องอะไรบ้าง”


แวว –“หนังแฝดส่วนใหญ่เท่าที่เราเห็น จะมีความผี ความหลอน ความโรคจิต หรือไม่ก็คอมเมดี้ไปเลย มันจะมีความแฝดแบบสุดขั้ว”

วรรณ –“หรือไม่ก็แบบเป็นขั้วตรงข้ามกัน คนหนึ่งแสนดี คนหนึ่งร้าย ซึ่งมีความรู้สึกว่า มันก็ยังไม่มีหนังไทย เรื่องไหนที่พูดถึงแฝดเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่บังเอิญเกิดมาในท้องแม่ด้วยกัน และเติบโตมาด้วยกัน ซึ่งเราอยากเล่าชีวิตสามัญของคู่แฝด
แต่ว่าไอ้เรื่องชอบคนเดียวกันไหมที่ทุกคนชอบถาม ไม่เคย ถ้าสเปคพวกดาราอะไรแบบนี้ จะชอบคนเดียวกันหมดเลย แต่ว่าเราครีเอทโลกของฝาแฝด ผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในชีวิตมากกว่า”

แวว –“เราจะชอบโทนเดียวกัน เห็นคนนี้หล่อ โอเคตรงกัน อะไรแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าแฝดทุกคนจะชอบแบบเดียวกันนะ คือเรารู้สึกว่า จากที่เราคุยกับแฝดมาหลายคู่ ทุกคนก็จะมีสไตล์ของตัวเอง แต่ว่ามันก็จะมีจุดร่วมอะไรบางอย่าง แต่ว่ามันมีหลายแบบมากแฝด มันไม่ใช่ว่าแฝดจะต้องเป็นแบบนี้ แต่ว่าเรื่องที่เราทำมันคือเรื่องของแฝดคู่นี้”

นอกจากนี้ ยังลองให้เปรียบเทียบว่า เธอทั้งสองคน มีคาแรกเตอร์คล้ายใครมากที่สุดในบทฝาแฝด ซึ่งพวกเธอมองว่า เธออยู่กึ่งกลางระหว่างยูกับมี

แวว –“มันผสมปนเปมากค่ะ หลายคนถามว่าคนไหนยู คนไหนมี เรารู้สึกว่ามันไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าในยูก็จะมีทั้งวรรณและแวว ในมี ก็จะมีทั้งวรรณและแวว แต่ถ้าเกิดจะเอาแค่หยาบๆ แค่ภายนอก เราก็จะดูห้าวๆ กว่าวรรณ วรรณก็จะดูสาวๆ กว่า ซึ่งเวลาไปยืนใน Long Shot เราก็จะยืนในตำแหน่งมี วรรณก็จะยืนในตำแหน่งยู แต่ถ้าจะถามลึกๆ จริงๆ แล้วว่าใครเป็นยู ใครเป็นมี ก็คือตอบไม่ได้ มันมีความปนเป มันไม่ได้ปนแค่เราสองคน มันปนมาจากแฝดคู่อื่นด้วยนะ”


ต้องฝ่าฟันอย่างโชกโชน กว่าจะมาบรรจบกัน

สำหรับเส้นทางการเป็นนักเล่าเรื่อง หรือ story teller ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเธอต้องฝ่าฟัน-สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน และก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง“เธอกับฉันกับฉัน” พวกเธอก็สร้างสรรค์ผลงานปรากฏสู่สายตาผู้ชมไม่น้อยเลยทีเดียว

วรรณ – “เริ่มจากการแบบว่าทำแมกกาซีนก่อน เหมือนต้องบอกว่าเรา 2 คน จับสื่อมาหลายรูปแบบมากใช่ก็เริ่มจากการทำแมกกาซีนกองบก. แล้วก็ความจริงงานโปรดิวซ์ก็เคยทำ เริ่มจากทำหนังสั้น สารคดี independent ของตัวเองแล้วก็ค่อยๆ มาทางทำงานเขียนบทฮอร์โมนทั้ง 3 ซีซั่น แล้วพอจบฮอร์โมน ฮอร์โมนเป็นเหมือนช่วงเวลาแห่งห้องเรียนเขียนบทแบบ 3 ซีซั่นเต็มของเรา หลังจากนั้นก็เริ่มขยับมา เริ่มมีงานกำกับร่วมกับพี่ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ เรื่องI Hate You I Love You ในระหว่างนั้นก็ทำ ควบกับทำสื่อแมกกาซีนนิตยสารครัวด้วย

จนกระทั่งนิตยสารครัวกลายเป็นเว็บไซต์ KRUA.CO เราก็ทำด้วย ตอนเช้าไปทำ KRUA.COตอนบ่ายไปเขียนบท ชีวิตจะวิ่งไปวิ่งมาตลอด แล้วก็ค่อยมาทำงานกำกับซีรีส์จริงจังก็คือ Great Men Academy ทั้งเขียนบทแล้วกำกับด้วยกันสองคนเลย หลังจากนั้นก็เริ่มสเต็ปมาเป็นหนังใหญ่ จนมาเป็น เธอกับฉันกับฉัน”

จริงๆ แล้วเส้นทางของพวกเธอดูเหมือนจะไปคนะทิศละทาง ดูเหมือนจะไม่น่ามาบรรจบกันด้วยซ้ำ เพราะวรรณเรียนนิเทศศาสตร์ ส่วนแววเรียนเศรษฐศาสตร์แต่สุดท้ายแล้วแผนชีวิตของเธอก็มาบรรจบกัน ด้วยการตัดสินใจไปเรียนต่อทางด้านการทำภาพยนตร์

[ซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ผลงานการเขียนบทที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง]
แวว – “จริงๆ เส้นทางของเราเหมือนไปคนละทางนะ คือวรรณเรียนสายศิลป์ แววเรียนสายวิทย์ วรรณเรียนนิเทศ แววเรียนเศรษฐศาสตร์ มันเหมือนจะแยกกัน แต่จริงๆ มันไม่เคยแยกกันเลย

แววว่าเราเป็นเหมือนเด็กยุคที่แล้ว ยุคที่ผ่านมาที่เลือกเรียนด้วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ได้รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร เหมือนเราแค่ตัดช้อยไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าช้อยที่เราอยากเป็นอยากทำเพราะอะไร

ตอนนั้นที่เราเลือกเศรษฐศาสตร์ก็เพราะว่าเราเก่งเลข คะแนนเลขดี ก็แค่นั้น เราก็เข้าเรียนได้จบ แต่พออย่างไอ้วรรณเลือกเรียนวารสาร ก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบฟิล์ม แล้วพอมาได้รู้จักวารสารจริงๆ ว่ามันเป็นแบบหนังสือพิมพ์นะ ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ”

พวกเธอต่างเป็นคู่คิดที่ดีให้กันมาตลอด แม้เริ่มต้นจะทำงานกันคนละสายงาน แต่ก็พร้อมแชร์ไอเดียให้กันและกันมาตลอด

วรรณ – “ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว วรรณทำหนังสั้นคือแววให้ความคิดเห็นตลอด กำกับร่วมตลอดเวลา มีชื่อแววเป็นผู้กำกับร่วมตลอด หนังธีสิสก็ชื่อสองคน เพราะว่าเราเหมือนคุ้นชินเวลาคิดไอเดียสร้างสรรค์ เราก็ต้องมาปรึกษาอีกคน มันก็เลยพอทำงานครีเอทีฟก็เลยทำร่วมๆ กันมาตลอด คือในระหว่างนั้นก็ทำหนังสั้นเป็นแบบโปรเจกต์ย่อยๆ ของตัวเองตลอด”

จากการแชร์ไอเดีย สู่การเป็นผู้กำกับร่วม ทำให้แววชัดเจนกับตัวเองแล้วว่า รู้สึกชอบ และสนุกในการทำหนัง จนตัดสินใจไปเรียนด้านการทำหนังอย่างจริงจังที่ประเทศอังกฤษ

แวว – “เหมือนไม่ได้เริ่มมาจากแพสชั่นว่าชอบหนัง แต่ว่าพอวรรณได้มาทำหนังสั้น แล้ววรรณได้มาชวนแววไปทำด้วย ซึ่งเราเรียนเศรษฐศาสตร์ เหมือนเป็นสายวิชาการ ไม่ได้เน้นกิจกรรมอยู่แล้ว เราก็จะมีกิจกรรมไปทำหนังสั้นกับวรรณ แล้วค่อยค้นพบว่าอันนี้สนุก

แล้วพอเรียนจบ วรรณก็ไปทำงานเขียนที่เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้พร้อมที่จะไปเขียนบทหรือกำกับ เหมือนเด็กน้อยจบใหม่

ส่วนแววก็ไปทำงานสาย marketing คิดว่ามันยากมากที่จะข้ามสาย เพราะเราไม่ได้มี คอนเนกชั่น ไม่มีportfolio อะไรขนาดนั้น ก็เลยคิดว่าทำ marketing แล้วกัน เพราะว่ายังมีส่วนผสมของเคเอทีฟอยู่ในนั้น แม้จะเป็นสาย businesses ที่เรียนมา

แล้วก็เหมือนมาบรรจบกันชัดเจนตอนเรียนปริญญาโท เรียนฟิล์มที่อังกฤษค่ะ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เราชัดเจนกับตัวเองแล้วว่าไม่อยากมาสายนี้ อยากไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการไปเรียน แล้วค่อยมาเริ่มต้นที่สายงานนี้ ซึ่งวรรณก็น้อยหน้าไม่ได้ ก็ต้องไปเรียนด้วย

วรรณอยู่ในเส้นทางของวรรณอยู่แล้วไง แต่เราอยากที่จะเปลี่ยนสาย เราก็เลยคิดว่าเราต้องไปเรียนต่อ วรรณก็เลยไปด้วย ก็เลยเกิดมาเป็นโปรเจกต์ Wish Us Luck โปรเจกต์ ที่ทำตอนเรียนปริญญาโท เป็นหนังสารคดีที่นั่งรถไฟจากอังกฤษกลับกรุงเทพฯ ซึ่งตอนแรกที่ทำเป็นธีสิส ทำเป็นแบบเวอร์ชั่น 30 นาที

เสร็จแล้วอาจารย์ที่โน่นเขาก็บอกว่ามันสนุกนะ ทำไมไม่ลองทำเป็นหนังยาวดู เราก็เลยเอากลับมาตัดต่อให้มันเป็นหนังยาว แล้วก็เนี่ยเป็น independent ฟิล์ม ส่งเซ็นเซอร์ เอาเข้าฉายโรง ทำโปสเตอร์ทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่เรามาบรรจบกัน แล้วก็ชัดเจนกับตัวเอง โอเคเราจะมาเส้นทางนี่แหละ”

[ผลงานกำกับ MV เพลง “รักติดไซเรน” ยอดวิวทะลุเกือบสามร้อยล้านวิว]
พวกเธอไม่เคยคิด และไม่เคยกำหนดว่า แพสชั่นจะต้องตรงกัน แต่ความชอบในเส้นทางนี้ดันตรงกันเอง และพวกเธอไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นผู้กำกับหนังเท่านั้น เพียงแต่อยากเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบไหนก็ตาม

แวว – “เหมือนเราไม่ได้กำหนดว่ามันต้องตรงกัน แต่มันตรงของมันเอง เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีการบังคับอะไร ไม่ได้บังคับว่าเธอต้องอยู่กับฉัน แต่เผอิญว่าสิ่งที่เราชอบมันคล้ายกัน เหมือนเราไม่ได้ถึงกับหาแพสชั่น ไม่ได้ถึงกับหาสิ่งที่เราอยากทำในชีวิตขนาดนั้น แต่เราใช้วิธีตัดช้อยไปเรื่อยๆ จนช้อยมันน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ได้เหลือช้อยเดียวนะ เราก็ไม่ได้คิดว่าชีวิตนี้เราไม่ได้ต้องเป็นผู้กำกับหนังอย่างเดียวเท่านั้น

เรารู้สึกว่า เราอยากเล่าเรื่องมากกว่า ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม มันจะอยู่ในรูปแบบของคลิปวิดีโอออนไลน์ มันจะอยู่ในรูปแบบของซีรีส์หรือหนัง หรือมิวสิกวิดีโอ มันขึ้นกับว่าสิ่งที่เราอยากเล่า มันเหมาะกับรูปแบบไหนมากกว่า”


แนะทริกการเป็น “story teller” ให้ปัง 

เรียกได้ว่าสองผู้กำกับฝาแฝดหยิบจับอะไรมาทำ ก็เรียกได้ว่าแทบจะปังทุกอัน จึงให้พวกเธอแนะทริกการเป็น “story teller” เพื่อเป็นไอเดียต่อยอดสำหรับคนที่กำลัง หรืออยากเดินบนเส้นทางนี้

แวว – “มันก็มีของที่ไม่ปังเหมือนกัน เงียบงันเหมือนกัน แต่ว่าคือเรารู้สึกว่า ถ้าพูดถึงแค่สื่อออนไลน์นะ มันเปลี่ยนแปลงทุกวันเลย เอาจริงๆ เราก็ตามไม่ค่อยทันหรอก เราก็ไม่ค่อยได้รู้nature ของมันเท่าไหร่หรอก แต่มันมีจุดที่เรารู้สึกว่า เราขี้เกียจวิ่งตามมันแล้ว สามวิแรกมันต้องโดน แล้วคอนเทนต์ต้องสั้นเท่านั้น มันต้องตลก มันต้องมีพาดตัวหนังสือตัวใหญ่ๆ

เราตามสิ่งเล่านั้นไม่ทัน เพราะว่าอัลกอริทึม หรือโซเชียลมีเดีย หรือวิธีการของโซเชียลมีเดียมันเปลี่ยนทุกวัน เรายอมรับเลยว่าเราตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราก็ขอกลับมาที่ตัวหัวใจ คือตัวคอนเทนต์”

วรรณ – “เราไม่ค่อยคิดคอนเทนต์ผ่านสิ่งเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะคิดจากตัวเนื้อหาเป็นหลัก จริงๆ ตอนทำเธอกับฉันกับฉัน เวลาเราเขียนจบแล้วเรามานั่งอ่านยาวๆ ก็มีบางซีนที่ต้องตัดออก คือเราต้องสเต็ปตัวเองออกมาเป็นคนดู”

และการเป็น story teller วรรณและแววมองว่า ต้องรู้สึกอินในสิ่งที่ทำ หรือบางครั้งได้โจทย์มาในสิ่งที่ไม่ชอบ และต้องหามุมที่ตัวเองอินให้ได้ และนั่นจะเป็นการเล่าเรื่องที่ดีได้

วรรณ – “ความจริงการเป็น story teller แต่ละมีเดียก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดอยากเป็นยูทูบเบอร์ คุณสมบัติที่ต้องมีอาจจะเป็นเรื่องการเล่าเรื่องยังไงให้น่าสนใจ การพูดหรือเปล่า ถ้าคุณอยากเป็น story tellerบนสื่อไหน เราต้องเข้าใจสื่อนั้น ทั้งในฐานะคนทำแล้วก็คนเสพ ว่าเราจะเล่ามันแบบไหน”

แวว – “รู้สึกว่า พื้นฐานที่เราจะเล่าเรื่องนั้นได้ ก็คือเราต้องอินในเรื่องนั้น ถ้าเราไปรีวิวอาหาร แล้วจริงๆ ไม่ชอบกินอาหาร เราว่าคนดูจับได้ ยังไงคนดูก็ต้องรับรู้ถึงแพสชั่นคนทำอยู่แล้ว ง่ายที่สุดคือเราต้องเล่าเรื่องที่เราอิน”

[แวววรรณ]
เติมความ “Mass” ให้เข้าถึงวัยรุ่นยุคใหม่

สังเกตเห็นว่าผลงานของทั้งคู่ จะมีความเป็นวัยรุ่นผสมอยู่ในผลงานค่อนข้างมาก จนทำให้ผลงานพวกเธอเป็นที่ยอมรับ และแมสจนเข้าถึงวัยรุ่นยุคใหม่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งพวกเธอบอกว่า ทริกสำคัญคือ เล่าเรื่องราวอย่างเข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

วรรณ – “วรรณว่ามันเป็นความเข้าใจมนุษย์ หมายถึงว่าเราไม่ต้องเข้าใจแบบที่เราคิดอย่างเดียว บางทีเราเขียนตัวละครที่เราไม่ได้เห็นด้วย หมายถึงว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้เติบโตมาเป็นแบบนั้น แต่ว่าเราเข้าใจคนที่เติบโตมาแบบนั้น เราสร้างตัวละคร เราปูตัวละครจนมีชีวิตขึ้นมา แล้วมันก็มีเด็กแบบนี้อยู่ในสังคม แล้วเราไม่ตัดสินเขา เราเข้าใจการแสดงออกของเขา วรรณก็เลยรู้สึกว่า การที่เราพร้อมเข้าใจคนที่หลากหลาย ที่ทำให้เราสร้างตัวละครหลายๆ แบบได้ หรือว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องวัยเรา หรือเป็นคนแบบเราเสมอไป

เราว่าการเล่าอย่างเข้าใจมั้งคือการเติม หมายถึงว่า เราไม่ได้เล่าแบบตัดสิน เราไม่ได้เล่าวัยรุ่นเพื่อที่จะบอกว่า สิ่งที่เขาทำไม่ดี แต่เราเล่าเพื่อที่จะบอกว่า ทำไมเขาถึงแสดงออกแบบนี้กับพ่อแม่เขา หรือทำไมเขาถึงน้อยใจพ่อแม่เขาแบบนี้ เราว่าการเข้าใจตัวละคร นั่นแหละที่ทำให้เราไปเล่าเรื่องวัยรุ่นก็ได้ เราไปเล่าเรื่องคนแก่ก็ได้ เหมือนต้องเปิดพอที่จะเข้าใจคนแต่ละแบบ”

วรรณ – “คือเข้าใจนะภาพที่ออกมา งานเราจะเป็นภาพวัยรุ่น ไม่ว่าจะเพลงรักติดไซเรน Great Men Academy ฮอร์โมน เธอกับฉันกับฉัน แต่อันนี้ก็เป็นวัยรุ่นย้อนยุค เราว่าคือความบังเอิญมากกว่า จริงๆ แล้วเราไม่ใช่วัยรุ่นขนาดนั้น

แล้วก็ให้มองย้อนกลับไปเรารู้สึกว่า จุดร่วมงานที่ผ่านมาของเรา มันอาจจะไม่ใช่ความวัยรุ่น แต่มันเป็นความกึ่งกลางว่าเธอจะแมส หรือเธอจะอินดี้ มันเป็นความแบบ มันเป็นรสชาติแบบกึ่งๆ กลางๆ อย่างรักติดไซเรนภาพที่ออกมามีสีสันแบบแมสสุด เราก็เอาความ Long Take เข้าไปจับ

เราก็เลยรู้สึกว่า หนังเรามันจะส่วนผสมระหว่างโลกแมสกับโลกอินดี้ด้วยกัน คืออย่าง ตอนเขียนบทก็ไม่คิดว่ามันจะแมสขนาดนี้นะ มีเพลงโบว์จอยซ์ก็แมสเลย ก็นั่นแหละ ก็เลยรู้สึกว่า จุดร่วมของงานเรา มันคือ ส่วนผสมที่อยู่ระหว่างแมสกับอินดี้ คือมันไม่ได้แมสจนเกินไป และมันก็ไม่ได้อินดี้จนเกินไป”


ทะเลาะกัน แต่ไม่เคยคิดอยากแยกกันทำงาน

เป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงาน มักจะมีการโต้เถียงกัน แต่สำหรับพวกเธอแล้วนั้น เป็นการถกเถียงกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่ได้เป็นการเถียงเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายอย่างเดียว

แวว – “เรื่องทะเลาะเป็นเรื่องปกติ ถ้าเห็นเราเถียงกัน เห็นเสียงดังใส่กัน ก็คือคุยกันเฉยๆ ค่ะไม่ต้องตกใจ อีกอย่างเราว่าความแฝดของเราคือ เราไม่เกรงใจกัน รู้สึกอะไรพูดเลย อาจจะดูรุนแรงนิดนึงเวลาเราคุยกัน แต่ว่าไม่ได้ทะเลาะค่ะ คุยกันเฉยๆ

ก็เคยถามน้องผู้ช่วยคนนึงว่าแบบ เวลาเห็นเราเถียงกันรู้สึกยังไง เขาก็บอกว่าตอนแรกคิดว่าจะทะเลาะกันหรือเปล่า แต่พอทำงานด้วยกันมาหลายๆ คิว เขาก็รู้สึกว่า การเถียงของเรามันเหมือนรู้สึกว่า เป็นการเถียงกับตัวเอง คือเขารู้สึกว่า คนเราจะเถียงกับอีกคนมันจะเป็นการเถียงเพื่อเอาชนะ แต่ว่าสำหรับเราสองคนที่เขาเห็นมันเป็นการเถียงเพื่อหาทางออก มันไม่ได้เป็นการเถียงเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายอย่างเดียว

มันจะเป็นการเถียงเพื่อเอาสิ่งที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ เราเถียงแบบโต้วาที เถียงเพื่อให้เหตุผลของฉัน หรือข้อเสนอของฉันชนะเธอ เพราะฉะนั้นการเถียงแพ้มันไม่เป็นปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราไปตกลงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับงานอื่นๆ”


แม้จะมีการถกเถียงกันบ้าง ตามประสาคนทำงานร่วมกัน แต่พวกเธอก็ไม่เคยคิดว่าอยากจะแยกกันทำงานเลยสักครั้ง มีแต่ว่างานบางชิ้นต้องทำเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็มักจะทำคู่มาโดยตลอด

แวว – “เคยคิดว่าอยากแยกกันทำงานบ้างไหม?ไม่มีค่ะ งานที่ทำร่วมกันไม่ได้คืองานเขียนค่ะ แต่เขียนบทด้วยกันได้นะ แต่ว่าถ้าไปเขียนบทความ เขียนหนังสือ เราก็จะแยกกันเขียน แต่ว่างานกำกับต้องทำร่วมกันค่ะ

เรารู้สึกว่าการทำงานด้วยกันสองคน มันเหมือนมีคนช่วยแชร์ไอเดียกัน มันเหมือนว่า คือเรากับวรรณมีความคิดคล้ายกันๆ แต่มันก็ไม่ได้เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราหลุดไป วรรณอาจจะ cover สิ่งนั้นได้ มันก็เลยเหมือนกับว่า เราจะมีกระบวนการ คือถ้าทำคนเดียวมันจะมีกระบวนการคิดที่วนอยู่ในหัวคนเดียว อันนี้เหมือนกระบวนการของเราวนอยู่กับสองคนนี้”

วรรณ – “แล้วการที่พูดออกมา อธิบายให้อีกคนหนึ่งฟัง มันช่วยจัดระเบียบความคิด หรือไม่ก็ทำให้ต่อยอดกันไปต่อด้วย แต่ว่าความจริงอันนี้มันแล้วแต่ความถนัดของการทำงานแต่ละคน บางคนถนัดอยู่คนเดียว ใช้ความคิดกับตัวเอง แต่ว่าวรรณกับแววโตมา แชร์ไอเดียวความคิดกันไปกันมา มันก็เลยถนัดแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่าทำด้วยกันสองคนมั่นใจมากกว่า”


ลางสังหรณ์แม่น สื่อถึงความเจ็บปวด

ความพิเศษของฝาแฝดคู่นี้ พวกเธอนิยามว่า เป็นสายสัมพันธ์ที่มากกว่าพี่น้อง มากกว่าเพื่อนสนิท ซึ่งแม้ว่าจะมีความคิด และความชอบอะไรที่เหมือนๆ กัน แต่พวกเธอก็ยังมีเส้นแบ่งในการใช้ชีวิตให้กันและกันอยู่

นอกจากนี้ ความพิเศษอีกอย่างของฝาแฝดคู่นี้คือ มักจะพูดออกมาพร้อมๆ กันเป็นเรื่องปกติ เพราะขณะที่นั่งพูดคุยกันอยู่นั้น พวกเธอทั้งสอง ก็มีพูดขึ้นมาพร้อมกันอยู่หลายครั้ง

วรรณ – “เราว่าเบื้องต้นเบสิกความเป็นฝาแฝด เราว่ามันมีความคร่อมๆ ระหว่างความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อนสนิท คือเราเป็นพี่น้องกัน เพราะเราอยู่บ้านเดียวกัน โดนเลี้ยงมาในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่เหมือนพี่น้อง ตรงที่มันไม่มีอาวุโส เราศักดิ์ศรีเท่ากันแบบเพื่อน แต่ก็ไม่ใช่เพื่อน เพราะว่าเพื่อนอยู่คนละบ้าน โตมากันคนละแบบ มันก็จะมีเส้นแบ่งที่เว้นสเปซให้กันอยู่

แต่ว่าในความเป็นแฝด เราเหมือนเพื่อนสนิทที่เหมือนไม่มีสเปซตรงนั้น เราก็เลยคิดว่ามันมีสายสัมพันธ์ที่พิเศษอยู่ แต่ถ้าเกิดพูดถึงว่าคำถามที่แฝดทุกคนต้องเจอก็คือมีซิกซ์เซนส์ไหม จริงๆ ในหนังก็มีนะคะเรื่องนี้

เรารู้สึกว่ามันแล้วแต่คนมากๆ ที่จะแปลความแฝดของตัวเองว่ามันคือซิกซ์เซนส์ หรือแค่ความรู้ใจกันมากๆ หรือการรีเอคชั่นการพูดพร้อมกัน การแสดงออกอะไรไปในทางเดียวกัน มันจะแปลว่าเป็นซิกซ์เซนส์ก็ได้ หรือมันจะแปลว่าเขาแบบซิงค์กันมาก เพราะเขารู้ใจกันมาก หรือว่าเขามีรีเอคชั่นต่อสิ่งต่างๆ คล้ายกัน ในเวลาเดียวกันก็ได้”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะเคยได้ดูได้ยินเรื่องเล่า หรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ขอฝาแฝดกันมาบ้าง ว่าเมื่ออีกคนบาดเจ็บหรือถูกทำร้าย อีกคนจะรู้สึกเจ็บปวดไปด้วย ซึ่งก็จะมีบางคู่เท่านั้น เพราะบางคู่ ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น

ซึ่งแฝดในชีวิตจริงคู่นี้ ก็เคยมีเหตุการณ์เรื่องลางสังหรณ์ที่ค่อนข้างแม่นในระดับหนึ่ง ซึ่งแววเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าน่าจะมีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นกับวรรณ ซึ่งความรู้สึกแปลกในครั้งนั้นก็ได้เกิดขึ้นจริง

จนปัจจุบัน เธอก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น จะเรียกว่าซิกซ์เซนส์ได้หรือไม่ เธอเองก็ไม่กล้าฟันธง แต่เธอเชื่อว่า ทุกคู่น่าจะเคยเกิดเหตุการณ์หรือความรู้สึกแบบนี้ขึ้น


วรรณ – “ก็ความจริงการพูดพร้อมกันมันเป็นเรื่องปกติมากเลย ก็ที่เอามาใส่ในหนังเหมือนกัน ถ้าเกิดคนที่อยู่ในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือคนทำงานด้วยกัน ก็จะเห็นเราพูดพร้อมกันบ่อยมากเป็นเรื่องปกติ หรือแบบความคิดมันจะคล้ายๆ กัน เช่น สมมติเดินมาเจอวรรณ เราถามเขาเรื่องนี้ไป สักพักวนมาเจอแวว แววก็พูดเรื่องเดียวกัน คือเจอประโยคคำถามเดียวกัน”

แวว – “อันนี้ส่วนตัวมันก็น่าจะเป็นเรื่องของความรู้ใจมากกว่า ถ้าเป็นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว เราจะบอกว่าเราไม่มีหรอกซิกซ์เซนส์ ตอนนี้เราเริ่มไม่แน่ใจว่าอันนั้นที่รู้สึกแปลกๆ ตอนนั้นมันใช่ซิกซ์เซนส์หรือเปล่า ซึ่งอันนี้เราเคยรู้สึก ก็ไม่เชิงย้อนกลับไปคิด ตอนนั้นมันรู้สึกแปลกๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับไอ้วรรณไหมนะ แล้วมันก็เกิด เราก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะมี หรือไม่มี คือมันไม่มีคำตอบฟันธงว่ามีหรือไม่มี มันจะมีความแบบมีหรือไม่มี แต่ละคู่ก็เชื่อนะว่าเขามี

แล้วไอ้ร้องไห้แล้วอีกคนร้องไห้ตามจะแปลว่าซิกซ์เซนส์ก็ได้ แต่หรือจะแปลว่าพอเห็นเขาร้องไห้แล้วเรารู้สึกเสียใจไปด้วยที่เห็นมันเสียใจก็ได้ หรือไอ้ไม่สบายก็อาจจะติดกันก็ได้ (หัวเราะ) เพราะว่าอยู่ด้วยกัน ก็เลยรู้สึกว่ามันตีความได้หลายแบบมากว่าจะตีความเป็นซิกซ์เซนส์ หรือตีความเป็นใกล้ชิด ความรู้ใจ”


สร้าง Soft Power อาหารไทย ผ่านหนังไทย

วรรณ – “ความจริงการทำหนังยาวสักหนึ่งเรื่องก็เป็น เช็กลิสต์ในชีวิต โอเควันนี้เราได้เช็กแล้ว ทีนี้ถ้าถามว่าอะไรคือสูงสุด ทำจบแล้วฟิน ไม่ต้องทำอะไรต่อแล้ว ก็ไม่มี ไม่เคยคิดล่วงหน้าขนาดนั้น แต่ตอนนี้ที่ตั้งไว้คืออยากทำหนังเกี่ยวกับอาหาร

แล้วก็รู้สึกว่า ประเทศไทยยังไม่มีหนังหรืออะไรที่พูดถึงอาหารแบบจริงจัง ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีเขามีแล้ว แล้วเรารู้สึกว่าอาหารไทย อาหารที่บ้านมันมีสตอรี่นะ มันมีความเฉพาะ มีความเป็นไทย ก็เลยนรู้สึกว่าอยากทำ

วรรณไม่แน่ใจว่าจะพูดแทนภาพรวมได้แค่ไหน แต่แค่รู้สึกว่า ถ้าเราอยากจะเล่าเรื่องอาหารไทย เราก็ไม่ได้อยากจะเล่าแบบต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดไท

คือเรารู้สึกว่า Soft Power อย่างเราดูซีรีส์เกาหลีแล้วเรารู้สึกว่า อยากกินอาหารเกาหลีจัง จริงๆ มันค่อยๆ สั่งสมมา แล้วมันต้องใช้เวลา เราไม่สามารถบอกได้ว่าทำเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วอาหารไทยเป็น Soft Power เลย มันต้องสั่งสมผ่านหลายๆ สื่อ หลายๆ ช่วงเวลาที่ยาวนาน

เรารู้สึกว่าคนดูสัมผัสได้ว่าอันนี้ยัดหรือไม่ยัด ถ้าเกิดว่ามันถูกเล่าอย่างซื่อๆ ด้วยความจริงใจ แล้วมันมีความเฉพาะถิ่น เรารู้สึกว่ามันน่าจะไปมากกว่า ในเธอกับฉันกับฉัน มีอาหารเยอะมากค่ะ ไปหาดูนะคะ วรรณใส่อาหารเข้าไปในหนังเยอะ เพราะเราแค่ชอบ”

แวว – “อยากทำsubject อาหาร เพราะมันก็เป็นนอกจากแฝด ก็เป็น subject ที่เราอิน อันนี้พูดได้เลยว่าอิทธิพลจากครอบครัว เพราะว่าเรื่องอาหารนี่แหละ เพราะว่าจะเป็นครอบครัวที่สนใจเกี่ยวกับอาหารมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งมันจะอยู่ในรูปแบบซีรีส์หรือหนังไม่ยึดติดค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าตอนที่เราคิด มันเหมาะที่จะไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน

เรารู้สึกว่าถ้าเล่าเรื่องอาหารไทยมันต้องย้อนยุคเหรอ มันต้องเป็นไทยเดิมเหรอ มันต้องเป็นไทยที่เอาไปขายให้ฝรั่งได้เหรอ เรารู้สึกว่า เราอยากทำไทยแบบชีวิตจริง

ถ้าเกิดจะทำ Soft Power จริงๆ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทุกคนต้องเอามาเป็นagenda แล้วเอามาแทรกซึมในทุกพื้นที่สื่อ แล้วไม่ได้เอามาเป็นแก่นด้วยนะ จริงๆ Soft Power เกาหลีเขาไม่ได้ทำแต่หนังอาหารนะคะ เขาทำหนังเรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน เรื่องความรัก แต่เขาแทรกอาการเกาหลีอยู่ในส่วนย่อย ถึงแรกว่า Soft ไง เรารู้สึกว่าอาหารมันอยู่ในวิถีชีวิต พอใส่อาหารเข้าไปมันดูแบบเรียลขึ้น”

สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “WW Hongvivatana”, อินสตาแกรม @weawwan, @jetkeh



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น