xs
xsm
sm
md
lg

“ใช้ความรู้สึกในทุกความรัก” นางเอกเกิร์ลเลิฟสุดฮอตแห่งยุค “ฟรีน-สโรชา” แพลนเอเชียทัวร์-แฟนอินเตอร์เพียบ!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเบื้องหลังความสำเร็จ “ฟรีน” กับการดีไซน์คาแรกเตอร์ “คุณสาม” ในซีรีส์เกิร์ลเลิฟสุดฮอต จนติดเทรนทวิตเตอร์โลกทุกสัปดาห์ ปังจนฐานแฟนคลับขยายกว้าง ฮอตไปถึงระดับอินเตอร์ กับมุมมองความรักที่ไม่แบ่งแยก ขอแค่ “ใจรู้สึก”






วันนี้ “เอเชียทัวร์” วันหน้าอาจมี “เวิลด์ทัวร์”

“หนูว่ามันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่ได้เปิดขนาดนี้มาก่อน เป็นซีรีส์เกิร์ลเลิฟเรื่องแรกๆ ด้วย แฟนคลับอาจจะให้ความสนใจทั้งในและก็นอกต่างประเทศด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ถ้าสมมติว่าเราแค่พยายามถ่ายทอดความรักของเขาสองคนออกมาแค่นั้นเอง”

ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ 
ที่รับบท “คุณสาม” จากซีรีส์ยูริ หรือ Girls’ Love เรื่องแรกๆ ของไทยอย่าง “ทฤษฎีสีชมพู” (GAP The Series) ที่นำเสนอเรื่องราวของระยะห่างระหว่างคนสองคนที่มีความรักให้กัน ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างของชนชั้นทางสังคม ระยะห่างของอายุ และระยะห่างของฐานะทางการเงิน ที่นำแสดงโดย ฟรีน และ เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง
ซีรีส์เรื่องนี้ปังไม่หยุดตั้งแต่EP แรกที่ออนแอร์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยและเทรนทวิตเตอร์โลกทุกสัปดาห์ ปังจนผู้ติดตามในไอจีของฟรีน “@srchafreen” แตะ1 ล้านก่อนที่ซีรีส์จะจบอีกด้วย

และแม้ว่าซีรีส์จะจบลง แต่ความฮอตของตัวละครและนักแสดงยังไม่จบลง เพราะด้วยความที่ฐานแฟนคลับขยายกว้าง ฮอตไปถึงระดับอินเตอร์ ถึงขั้นออกประกาศงาน “Fan Meeting” ครั้งแรกที่จะจัดขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ตอบรับกระแสกันเลยทีเดียว จัดยิ่งใหญ่ถึงขนาด ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เพื่อรองรับแฟนๆ ที่ล้นหลามกว่าที่คิดไว้


และล่าสุดตอนนี้กำลังมี “เอเชียทัวร์” เดินทางไปพบปะกับแฟนๆ ที่ต่างประเทศมากันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และต้องแอบกระซิบว่าบางประเทศจะจัดขึ้น มากกว่า 2 เมือง เพื่อตอบรับกระแสให้เต็มอิ่มกันไปเลย

ซึ่งฟรีนก็ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ชมให้การตอบรับ ฮอตจนได้ใจแฟนอินเตอร์มากขนาดนี้ ตอนนั้นเธอเพียงแค่ทำหน้าที่นักแสดงให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้แต่ขอบคุณแฟนๆ ที่ให้ความตอบรับเป็นอย่างดี และพยายามจะสร้างสรรค์ผลงานต่อไปให้ออกมาดีที่สุด

“เป็นซีรีส์เกิร์ลเลิฟเรื่องแรกๆ ด้วย แฟนคลับอาจจะให้ความสนใจทั้งในและก็นอกต่างประเทศด้วย ถ้าส่วนตัวหนูเอง ถ้าหนูเป็นคนดูเอง หนูก็จะสนใจว่ามีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในโลกของเรา แล้วซึ่งมันเป็นเรื่อง normal มากๆ ถ้าสมติว่าเราแค่พยายามถ่ายทอดความรักของเขาสองคนออกมาแค่นั้นเอง

ตอนนั้นหนูไม่คาดหวังเลยว่า จะมีใครมาติดตาม หรือว่ามีใครมารอชมหรือรอดูเราเยอะขนาดนี้มาก่อน ณ ตอนนั้นหนูแค่respect การเป็นนักแสดงมากกว่าว่าหนูจะต้องทำยังไงจะเป็นคุณสามได้โดยที่ไม่เอาตัวเองไปเป็นเขาเลย เพราะว่าคาแรกเตอร์มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยค่ะ จนสุดท้ายแล้วเราก็ดีใจที่เรา blend ตัวเองให้เข้ากับเขาได้ดีมากๆ เหมือนกัน"

[เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง นางเอกอีกคนของซีรีส์เรื่องนี้]
ซีรีส์แนวหญิง-หญิง นอกจากความฟิน ความจิ้น ที่จะทำให้แฟนๆ เขินจิกหมอนแล้ว เธอยังเชื่ออีกว่าถือเป็นการเปิดโลกซีรีส์ไทย ด้วยความรักสีสันใหม่ให้กับโลกใบนี้อีกด้วย

“จริงๆ หนูว่ามันเปิดนานแล้วแหละ แต่ว่าเขาแค่ยังไม่ได้ลงมือทำเป็นชิ้นเป็นอันหรือเปล่า ใช่ค่ะ แต่ว่าหนูก็มองว่า ณ ตรงนี้ ถ้ามันเปิดกว้างขึ้น มันจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกๆ คน ที่แบบว่าเขามีความรักแบบนี้จริงๆ นะในโลกใบนี้ แค่อยากแสดงออกแบบนั้นจริงๆ ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ ค่ะ

[โชว์พิเศษคู่นาง-นาง ตอบแทนแฟนซีรีส์]
เลิฟซีนเทคเดียวผ่าน ปล่อยให้ใจรู้สึก

สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จที่ออกมาปัง จนสร้างฐานแฟนคลับขยายกว้าง ฮอตไปถึงระดับอินเตอร์ได้ขนาดนี้ เธอบอกถึงการดีไซน์คาแรกเตอร์สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยก็คือ “Story” เพราะการสร้างเรื่องราวเบื้องหลังนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคาแรกเตอร์

“การดีไซน์คาแรกเตอร์ค่อนข้างยากมากๆ หมือนกันค่ะ ตั้งแต่อ่านนิยายเลย ตอนนั้นยังไม่ได้บทเลยด้วยซ้ำ ตอนนั้นหนูได้บทมารอบแรกเฉพาะที่ถ่าย Pilot ก็เลยยังไม่ได้ดีไซน์เขาถึงปมลึกๆ ข้างในใจเขาเท่าไหร่ แล้วก็ background ตัวละครเขาเท่าไหร่ ก็เลยออกมาตามที่ทุกคนเห็น แล้วก็ตามที่ผู้กำกับบรีฟค่ะ

สุดท้ายตอนนั้นหนูก็ทำหน้าที่นักแสดงให้ดีที่สุด พอเริ่มเห็นฟีดแบ็กมาบ้างแล้ว ก็ได้จับบทสั้นๆ แบบจริงๆ จังๆ ครั้งแรก ซึ่งพอหนูอ่านบทตั้งแต่แรกถึงตอนจบก็รู้เลยว่า ตัวละครcontrast กับเรามากๆ 100% เลยค่ะ

พอมาจับคาแรกเตอร์เขา เขาเป็นคนที่จะต้องสื่อสายตาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าสีหน้าเขาคือไม่สามารถที่จะบอกอะไรเราได้เลยว่ารู้สึกอะไร จะมีแค่ช่วงหลังๆ ที่เขาแสดงออกมากเพราะเขาเจอน้องม่อน (รับบทโดย เบ็คกี้ - รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง) ที่ทำให้เราแบบรู้สึกว่าการแสดงออกทางความรู้สึกมันก็เป็นเรื่องที่ดี

คือหนูก็เจาะตั้งแต่ครอบครัวเขาเป็นยังไง พื้นฐานเขาเป็นยังไง แล้วทำไมถึง come out ออกมาแบบนั้น มีเหตุผลในการที่จะเป็นแบบนั้นทำไม ก็ต้องมาไล่เรียงกับผู้กำกับด้วยว่าเขาต้องการที่จะได้แบบไหน จริงๆ เขาบอกหนูแค่ว่า ต้องเป็นคนที่โตขึ้น ต้องดูสมาร์ท ต้องพร้อมที่คุมลูกน้องให้ได้ แล้วมันค่อนข้างที่จะ เหรอหนูจะทำได้เหรอ (หัวเราะ)

ผู้กำกับก็ช่วยหนูเยอะมากๆ ในการที่เอาตัวเองไปเป็นเขาในเวอร์ชั่นคุณสามที่เป็นฟรีน บางทีเราอาจจะใส่ความน่ารักของเราลงไปได้ เพื่อให้ซีรีส์มันไม่ได้ดูแบบอึมครึมขนาดนั้น”

[พี่ฟรีน-น้องเบ็คกี้ เบื้องหลังความสำเร็จ เทคเดียวผ่าน]
ถ้าใครได้ติดตามซีรีส์เรื่องนี้ คงเห็นฉากเลิฟซีนกันอยู่บ้าง ซึ่งเธอมองว่า ฉากเลิฟซีนที่เธอเล่น ไม่ได้รู้สึกว่ายาก เพราะเธอพยายามเล่นด้วยความรู้สึกจริงๆ และด้วยความที่พยายามตั้งใจอยากให้ผลงานออกมาดีที่สุดจึงสามารถเล่นแค่เทคเดียวผ่านได้เลย

“อันไหนที่ยากที่สุดเหรอคะ จริงๆ หนูว่ามันง่าย (หัวเราะ) หนูรู้สึกว่า ความรู้สึกตัวละคร ณ เวลานั้น มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หนูก็เลยเล่นตามความรู้สึกของเขาจริงๆ แล้วมันflow กว่า การที่จะเข้าซีนดราม่า หรือเข้าซีนตลก หนูแค่ใช้ความรู้สึก ณ ตอนนั้น หนูก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก ที่จะต้องมานั่งคิดว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร หนูแค่รู้สึกเป็นคุณสาม รักน้องม่อนอย่างนี้ หนูก็เลยมองว่ามันได้ยากเลย

ส่วนใหญ่เทคเดียวค่ะ แต่มันจะมีภาพกว้าง ภาพแคบ ภาพมีเดียม แต่ละลำดับภาพก็จะเทคเดียวทั้งหมดเลย หนูรู้สึกว่าสิ่งที่เขาแสดงออกครั้งแรก น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจากเขาแล้ว เพราะว่าหนูเล่นจากหัวใจหนูจริงๆ เลยวันนั้น

จริงๆ หนูว่าความสนิทสนมจะอยู่นอกเหนือการทำงานของหนู เพราะว่ารู้สึกว่า ณ ช่วงเวลาที่หนูถ่ายจริงๆ มันไม่ใช่น้องเบ็คพี่ฟรีนแล้วอะ หนูรู้สึกว่าหนุเป็นคุณสามจริงๆ หนูรู้สึกว่าน้องเบ็คเป็นน้องม่อนจริงๆ หนูใช้ความรู้สึกนั้นในการเล่นของหนูทั้งหมด เพื่อที่จะให้คนดูรับรู้ให้ได้ว่าหนูรักเขาแบบไหน แล้วความรักของเราเป็นไปในรูปแบบไหน

ส่วนตัวหนูไม่เขินเลย หนูพูดกับน้องตลอดว่าเบ็คปะไปเป็นเขากัน ไปใช้ชีวิตในแบบของเขากัน เราจะกอดกันมากกว่า ในช่วงเวลาที่คัทแล้ว หลังจบซีนแล้ว ณ เวลานั้น ฟรีนก็จะบอกยูเก่งมาก ยูเป็นม่อนที่เก่งมาก เบ็คก็จะบอกหนูตลอดว่า พี่ฟรีนเป็นคุณสามที่เก่งมากๆ เหมือนกัน ณ ตอนนั้นรู้สึกว่าเราทำเต็มที่แล้ว เราทำดีที่สุดแล้วค่ะ”


เปลี่ยน “กลัว” เป็น “ไม่กลัว” เอาชนะแรงกดดัน

แม้ช่วงแรกที่ปล่อยทีเซอร์ออกมา แล้วมีฉากที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม ทำให้เกิดกระแสลบสะท้อนกลับมาแรงมาก แต่ท้ายที่สุด ทางผู้ผลิตก็กลับไปศึกษา และเก็บไปแก้ไข จนประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับจนถึงตลาดสากลในวันนี้

ซึ่งกระแสในตอนนั้น เธอยอมรับว่าเป็นแรงกระแทกที่เข้ามาค่อนข้างจะแรง เพราะเธอเองก็ได้อ่านและรับรู้ในทุกๆ ฟีดแบ็ก แต่เธอก็สามารถจัดการกับความกดดัน รวมไปถึงกระแสเหล่านั้น ด้วยการเก็บมาเป็นแรงผลักดัน จนในที่สุดก็พิสูจน์ให้เห็น และยอมรับในผลงานและฝีมือของเธอ

“จริงๆ หนูอ่านทุกๆ ฟีดแบ็ก ถามว่ามีกลัวไหม มันท้อไหม มันกลัว แล้วก็แรงกระแทกมันค่อนข้างที่จะแรง ตอนนั้น แต่ว่าหนูสู้กับความกลัวให้กลายเป็นไม่กลัว เหมือนหนูเก็บทุกๆ คำ มานั่งคุยกับตัวเองว่า สิ่งที่เราขาดคืออะไร แล้วเราจะเติมอะไรเพื่อการเป็นคุณสามที่ดีได้บ้าง

แล้วทีนี้เหมือนเราลองเอาตัวเองไปเป็นคนดู ไปเป็นผู้รับชม ว่าคนที่เขาอยากดู อยากเห็น เขาอยากเห็นอะไรในซีรีส์เรื่องนี้ เขาอยากเห็นคุณสามในเวอร์ชั่นอะไร การที่มีแรงกระแทกตอนนั้น หนูก็เอามารวมกัน แล้วก็โอเคเอาใหม่ เป็นอย่างนี้

ตอนนั้นหนูไม่ร้องไห้เลย คือยอมรับกับตัวเองว่า โอเคมันเป็นไปแล้ว แล้วสิ่งที่จะทำได้ก็คือเรามาแก้ไขปัจจุบันดีกว่า เพราะว่าตอนนั้นมันผ่านมาหมดแล้ว มันเป็นอดีตหมดแล้ว

แต่ว่าสิ่งที่หนูเคยร้องไห้ หรือว่าท้อ น่าจะเป็นช่วงที่หนูกำลังถ่ายซีรีส์ ด้วยการถ่ายอาจจะเหนื่อยเกินไป หรือว่ามันหนักเกินไป น่าจะเป็นช่วงที่ร่างกายอาจจะไม่ไหวมากกว่า ที่จะร้องไห้ออกมา หรือว่าเรื่องการกดดัน หรือการท้อ หนูจะไม่ร้องไห้เลย หนูจะสู้แล้วหนูจะเปลี่ยนคำว่ากลัว ให้เป็นไม่กลัวให้ได้”


นอกจากนี้ เธอยังมีวิธีเอาชนะกระแสลบๆ เหล่านั้น ด้วยการเปลี่ยนคำว่า“กลัว” ให้เป็นคำว่า“ไม่กลัว” ด้วยแนวคิดที่ว่า อดีตไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า

“เราไม่รู้ว่าวันนี้ วันข้างหน้า หรือวันต่อๆ ไป เราจะเจออะไรเกิดขึ้นบ้างในชีวิต วันที่ถ่ายทำหนูก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า วันที่ come out ออกมาจะเจอกระแสหรือว่าการตีกลับของเราแบบไหน แต่ว่าหนูทำวันนั้นเต็มที่ที่สุดเท่าที่หนูจะทำหน้าที่ของหนูได้แล้ว

หนูเลยรู้สึกว่า ทำไปเถอะในชีวิตนี้ เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วเป็นวันที่เต็มที่ที่สุด ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราไม่มีชีวิตอยู่แล้วตอนนี้ เราจะไม่เสียดายที่ทำไมตอนนั้นเราไม่ทำแบบนั้น ทำไมตอนนี้เราไม่ทำแบบนี้ เรามองย้อนกลับไป เราจะไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้แล้ว เราจะทำวันนี้ให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ดีกว่า”


“Love is love” เสียงเล็กๆ สะท้อน “สมรสเท่าเทียม”

สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้พยายามสะท้อนคือ “สมรสเท่าเทียม” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเรื่องการสมรสเท่าเทียมที่ต้องการให้ทุกเพศสภาพสามารถจดทะเบียนสมรส สร้างครอบครัวอย่างถูกต้อง และได้รับสิทธิ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิรับมรดก สิทธิในการกู้ร่วม รวมทั้งข้อปฏิบัติด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสาคัญในการสร้างความเสมอภาคและความทัดเทียมในสังคมไทยยุคใหม่

สำหรับประเด็นนี้ นอกจากในซีรีส์ที่พยายามสะท้อนออกมาแล้ว เธอเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องการ“สมรสเท่าเทียม”อยู่แล้ว เพราะเธอมองว่าเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรจะได้รับ

“จริงๆ หนูมองว่าซีรีส์ของหนูเป็นซีรีส์ทั่วไป เป็นซีรีส์ที่แสดงความรักของคนสองคนจริงๆ อยากให้มองเป็นพาร์ทของความรักเป็นเรื่องปกติแบบ love is love จริงๆ ค่ะ ถ้าสมมติว่าสามารถสะท้อนได้ไหม หนูว่าอาจจะสอดแทรกเข้าไปได้ แต่ว่าสุดท้ายมันเป็นเรื่องของกฎหมายที่มันใหญ่มากๆ หนูก็อาจจะเป็นเสียงเล็กๆ แล้วกันค่ะ มองว่าเป็นเสียงเล็กๆ ได้

จริงๆ หนูซัพพอร์ตอยู่แล้วค่ะ หนูมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะมี เป็นสิทธิ์ที่ควรได้รับ มันก็ค่อนข้างที่จะอิมแพคกับเรามากๆ เหมือนกันค่ะ”


“ความลื่นไหลทางเพศ” ยังคงเป็นประเด็นเรื่องเพศวิถีที่หยิบยกขึ้นมาศึกษาและถกประเด็นกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแปลอย่างเข้าใจง่ายที่สุดคือการที่มนุษย์มีเพศไม่ตายตัวลื่นไหลไปเหมือนสายน้ำ ไม่มีนิยามความเป็นชาย เป็นหญิงตายตัว สุดแล้วแต่ละคนจะนิยามตัวเอง ซึ่งในนิยามของความรักคำนี้ เธอเองก็เห็นด้วย พร้อมกับมองว่าทุกคนสามารถรักกับคนได้ทุกเพศ ถ้าเจอคนที่ใช่

“คำนี้ (ความลื่นไหลทางเพศ) หนูว่ามันโอเคนะคะ มันดีมากเลยด้วยซ้ำไป หนูใช้ความรู้สึกกับทุกอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเพศไหน หรืออะไรก็ตาม ทุกคนเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ทุกคนมีความรู้สึก มีความคิด มีความรัก มีความชอบ มีความไม่ชอบ มีความเกลียดได้ทุกอย่าง หนูเลยรู้สึกว่ามันสามารถลื่นไหลได้อยู่แล้วในทุกๆ ความรัก เพราะความรักในทุกๆ รูปแบบน่ารักมากๆ ค่ะ

หนูใช้ความรู้สึกในทุกๆ ความรัก หรือว่าการเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว หนูรู้สึกว่า ถ้าสมมติวันหนึ่งหนูเจอคนที่ใช่ แล้วมาในรูปแบบไหน ถ้าหนูชอบคนนี้ หนูรู้สึกกับคนนี้ หนูก็จะสานต่อเหมือนกัน

จริงๆ หนูใช้ความรู้สึกกับความรัก ไม่ได้มองว่าต้องสเปคแบบไหน สูง ขาว หรือไม่ได้มองว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าหนูรู้สึกกับคนนี้หนูก็จะรู้สึก แต่ว่าถ้าคนไหนไม่รู้สึกก็คือไม่รู้สึก ถึงแม้ว่าบางทีก็จะมีเหมือนกันเขารู้สึกกับเราเยอะๆ แต่เราไม่ได้รู้สึก เพราะว่ามันก็คงไปด้วยกันไม่ได้หรือเปล่า มันควรที่จะเป็นของคนสองคนที่มาเจอกันตรงกลาง แล้วไปต่อด้วยกันได้ ใช้ความรู้สึกล้วนๆ เลย

คนที่ใช่สำหรับหนู หนูว่ามันคือคนที่คลิก มันจะมีความรู้สึกบางอย่างที่เรามองว่าเรารู้สึกชอบจัง น่ารักจัง ดีจัง คือไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม เขาจะน่ารักไปหมดเลย หนูว่านั่นคือเป็นคนที่ใช่สำหรับเรา

เป็นคนที่เราพร้อมที่จะโอบกอดเขา เขาก็พร้อมที่จะโอบกอดเราคืน ด้วยทุกๆ ปัญหาที่เจอ หรือว่ามีความสุขด้วยกัน มีความทุกข์ด้วยกัน อยู่ข้างๆ กันเสมอ เติบโตไปด้วยกัน หนูว่าอันนี้น่าจะเป็นคนที่ใช่สำหรับหนู ณ เวลานี้ คงไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราแย่ลง ไม่ใช่ toxic relationship”


แม้ในชีวิตจริงเธอจะบอกว่า ยังไม่เคยเจอความสัมพันธ์แบบtoxic relationship แต่เธอก็แนะนำว่า ถ้าใครเจอความสัมพันธ์ที่เป็นพิษแบบนี้ให้รีบถอยออกมา และควรเห็นคุณค่าตัวเองก่อนอันดับแรก จากนั้นพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่คนเห็นคุณค่าในตัวเรา

“ยังไม่เคยเจอ (toxic relationship) เลยค่ะ อาจจะเจอแต่หนูอาจจะไม่ได้มองว่ามันเป็น toxic relationship ก็ได้ คือหนูมองว่าเราจัดการด้วยการเปลี่ยนMindset ตัวเอง เราอาจจะมีบ้างที่ไม่ได้เห็นคุณค่าตัวเองในบางครั้ง เพราะว่าเราก็เคยรู้สึกแบบนั้นเหมือนกันว่า เหมือนrelate กับตัวเองว่าทำไมยอมให้เขาทำแบบนั้นกับเรา หรือว่ายอมให้ใครก็ได้มาทำอะไรกับเราแบบนี้

หนูว่าเราควรเห็นคุณค่าตัวเองก่อนอันดับแรก ว่าเรามีค่าพอที่จะไม่อยู่จุดจุดนั้นก็ได้ เราควรที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในที่ใครเห็นค่าเรามากขึ้น หรือว่าเราอยู่ตรงไหนที่เขารักเรา เขาเห็นคุณค่าการเป็นตัวเรา หนูว่าถ้าใครเจอ toxic relationship จัดการแบบนี้น่าจะดีกว่า”


“จะไม่มีฟรีนในวันนี้เลย ถ้าขาดคนคนนี้”

เบื้องหลังของความสำเร็จในชีวิตเธอ จะไม่มีฟรีนในวันนี้เลย ถ้าขาดคุณแม่ที่เป็นผู้คอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ ในยามที่ท้อ ยามที่เหนื่อย หรือแม้กระทั่งยามที่มีความสุข ไม่ว่าจะเจออะไร เธอจะมีแม่ตลอดอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต

“นึกถึงคุณแม่ หนูรู้สึกว่าคุณแม่อยู่กับหนูในทุกช่วงเวลาที่เป็นหนูเลย วันที่หนูท้อ หรือว่าเหนื่อย หนูไม่ไหว หนูมีความสุขมากๆ หรือหนูภูมิใจในตัวเองมากๆ แม่จะอยู่กับหนูในทุกช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่า ณ ตอนนั้นหนูไม่ได้อยู่กับแม่เต็มตัว แม่กับหนูจะอยู่คนละบ้านกันค่ะ แม่จะอยู่ที่ฉะชิงเทรา แต่หนูจะอยู่ที่กรุงเทพฯ คนเดียว แต่หนูรู้สึกว่าคำคำนี้หนูให้แม่เลย

ไม่ว่าจะเจออะไร หรือตั้งแต่เด็กเลยที่เจอปัญหาครอบครัว ก็เจอมาด้วยกัน หนูมีแม่ตลอดในทุกๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเหนื่อยด้วยกัน เราลำบากด้วยกัน เราอยู่ด้วยกัน จะร้องไห้แล้วเนี่ย ในทุกๆ วันของชีวิต จนวินาทีนี้ หนูก็ไม่รู้ว่า ถ้าวันหนึ่งจะไม่มีเขาขึ้นมา ก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง ก็เลยอยากขอบคุณแม่มากๆ (เสียงสั่น น้ำตาคลอ) ที่อยู่กับหนูในทุกๆ ช่วงเวลาของหัวใจหนูเลย”

[ครอบครัวคือกำลังใจที่ดีในทุกช่วงเวลาของชีวิต]
แม้จะไม่มีคำพูดที่สวยหรู แต่คำว่า “สู้” ของแม่ ที่พยายามบอกย้ำและให้กำลังใจลูกสาวสุดที่รักเสมอ ก็ทำให้ฟรีนฮึดสู้ได้กับทุกปัญหาของชีวิตที่บางครั้งจะกระหน่ำเข้ามาเหมือนพายุลูกใหญ่ก็ตาม เธอก็พร้อมจะสู้เสมอ

“แม่จะพูดให้หนูสู้ ไม่ว่าวันนั้นหนูจะไม่ไหวแค่ไหน แต่จริงๆ หนูจะบอกกับแม่ตลอดว่า ให้หนูสู้กับอะไร (เสียงสั่น น้ำตาคลอ) หนูจะ relate กับแม่ว่า แม่หนูสู้ไม่ไหว หนูทนไม่ไหว หนูจะทำได้เหรอ แต่เขาเชื่อในหนูมากๆ จนแบบโอเคได้ หนูเชื่อในตัวเองก็ได้ ถึงแม้วันนั้นหนูจะไม่เชื่อในตัวเองเลย แต่แม่เชื่อว่าหนูทำได้ หนูก็จะเชื่อ ถึงแม้ว่าหนูไม่รู้จะสู้กับอะไรวันนี้ หรือว่ามันต่อๆ ไป แต่พอแม่พูดว่า สู้หน่อย ไหวหน่อย หนูก็จะฮึบไป”

ทั้งนี้ เธอถือว่าโชคดีที่ครอบครัวเปิดกว้างเรื่องการเล่นซีรีส์เกี่ยวกับ LGBTQ+ ทั้งยังเข้าใจ และพร้อมซัพพอร์ตในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร หรือได้รับบทไหน

“หนูคิดว่าครอบครัวหนูน่ารักมากนะ เขาซัพพอร์ตหนูในทุกๆ เรื่อง อย่างเช่น ซีรีส์เรื่องนี้ หรือซีรีส์เรื่องก่อนๆ หนูว่าครอบครัวน่ารักมากๆ เขาไม่ได้มามายว่าทำไมเป็นซีรีส์แบบนี้ ทำไมเป็นซีรีส์อันนั้น หนูก็จะบอกตลอดว่า หนูทำหน้าที่ในการเป็นนักแสดงนะคะ เขาก็จะเย้  you เก่งมาก แม่ภูมิใจในตัวหนูมากๆ หนูก็จะรับรู้ได้ในความภาคภูมิใจของทุกคนในครอบครัวหนู รู้สึกว่ามันกลายเป็นว่าเขาซัพพอร์ตในฐานะนักแสดงส่วนหนึ่ง เขาก็รู้สึกว่าไม่ได้มาเปิดใจ หรือจะปิดใจในเรื่องนี้ค่ะ”

แต่แน่นอนว่าในสังคมไทยที่ยังไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศมากหนัก ก็ยังทำให้มีอีกบางครอบครัวปิดกั้นลูกหลานเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ในฐานะนักแสดงที่รับบทเกี่ยวกับ LGBTQ+ เธอจึงช่วยสะท้อนเรื่องนี้ว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจ อยากให้มองความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก เพราะมนุษย์สามารถมีความรักได้ในทุกๆ รูปแบบ

“จริงๆ หนูคิดว่า เราไม่สามารถไปว่าขนาดนั้น แต่หนูว่าเวลา โอกาส สังคมตอนนี้มันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็จะค่อยๆ เปิดใจมากขึ้น หนูอยากให้เขามองความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก แล้วมนุษย์สามารถมีความรักได้ในทุกๆ รูปแบบ”



 เต็มที่ทุกเป้าหมาย พร้อมรับโอกาส “วงการบันเทิง”


 

 “จริงๆ หนูอยากทำงานให้เป็นงานที่ดีที่สุดสำหรับเรา หนู respect การทำงาน ในทุกๆ ผลงาน หนูรู้สึกว่าหนูเต็มที่มากๆ หนูไม่รู้สึกวันหนึ่งหนูจะไปอยู่จุดไหน หรือว่าจุดไหนที่เรียกว่า goal ของหนู จุดไหนที่เรียกว่าสูงสุดของหนู แต่ว่าทุกๆ วันของหนูมันคือ goal of the best ของหนูแล้ว ทุกๆ วันหนูจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่หนูจะทำได้ ในทุกๆ วัน หนูก็เลยมองว่า ถ้าทุกวันมันดีที่สุดสำหรับหนูแล้ว อนาคตก็จะเป็นยังไงก็ได้ เพราะว่าเรามีวันนี้แค่วันเดียว ไม่ได้ฝัน ไม่ได้วาดภาพ หนูพร้อมปะทะกับทุกๆ โอกาสอยู่แล้ว มาได้เลย


ส่วนตอนนี้หนูอยากจะเล่นบทภาษาถิ่น สวัสดีเจ้า อะไรอย่างนี้ หนูรู้สึกว่ามันน่ารักแล้วก็ท้าทายในฉบับที่ไม่ใช่แค่ใครก็ทำได้ มันจะต้องมีสำเนียง หรือว่าความสามารถบางอย่างที่เกิดขึ้นในตัว แล้วหนูก็รู้สึกว่า หนูก็แอบมี (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าอยากลอง แล้วถ้าได้ลองแล้ว จะได้รู้ตัวเองว่าเราทำได้ดีมากแค่ไหน   


ฟรีนเป็นคนกรุงเทพฯ ค่ะ แต่รู้สึกว่าเราชอบภาษาถิ่นของประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง คือเขามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หนูก็เลยรู้สึกว่า ถ้าได้ลองน่าจะเพิ่มความสามารถแล้วก็เพิ่มสปีดเข้าไปได้อีก


จริงๆ หนูพร้อมปะทะอยู่แล้ว (หัวเราะ) ในทุกโอกาส หนูรู้สึกว่า หนูเหมือนเป็ด หนูสามารถทำได้ทุกๆ อย่างโดยที่หนูก็ไม่รู้ว่า หนูจะทำได้ดีที่สุดคืออันไหนนะ แต่หนูขอบคุณทุกๆ โอกาสที่เข้ามาในชีวิตหมดเลย หนูพร้อมทุกอย่างเลยค่ะ”




 “ฟรีน” เวอร์ชั่นที่ดีที่สุด


 

 “อืม...หนูว่านิยามของคำว่าฟรีนคือ ตัวตนของหนูที่เขามีความธรรมชาติมั้งคะ หนูไม่อยากเติมแต่งอะไรในชีวิตของหนูเลย ถ้าอะไรที่ทำออกไปคือความธรรมชาติของหนูเลย คือหนูอยู่กับธรรมชาติทั้งหมด หนูมีความสุขเล็กๆ จากสิ่งรอบตัว หนูเอาอะไรออกมาด้วยอินเนอร์ของหนูข้างในเอง หนูก็มองว่า เขาน่าจะเป็นฟรีนในเวอร์ชั่นที่หนูขอบคุณตัวเองว่าหนูเติบโตมาได้เป็นเวอรชั่นนี้ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองเหมือนกัน”




 ประสบการณ์เยอะ คฑากร-รำโขน-ประกวดสาวงาม


 

 สำหรับเส้นทางในวงการบันเทิงของเธอ เธอเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยรังสิต สาขาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร และเริ่มเข้ามาด้วยการที่ตอนแรกๆ คุณแม่ให้เข้าประกวดมีสทีนไทยแลนด์ จนได้เข้าไปยืนเป็น 15 คนสุดท้าย หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปเล่นมิวสิควิดีโอ และมีโอกาสได้แคสงานโฆษณาอื่นๆ ต่อ จนมาได้เล่นซีรีส์ นอกจากนี้เธอยังมีอีกหนึ่งความฝันที่อยากเป็นก็คือ พิธีกร


นอกจากนี้ เธอยังได้ย้อนเล่าโมเมนต์ตอนเด็กๆ สุดประทับใจให้ฟังว่า เธอถือเป็นเด็กกิจกรรม ที่มีความชอบหลายอย่าง เช่น ตอนที่รำโขน เป็นคฑากรโรงเรียน ซึ่งตอนนั้นเธอรู้สึกสนุก และมีความสุขมากที่ได้ลงมือทำ


“จริงๆ หนูประทับใจเยอะมากเลย ตอนอยู่ ม.ปลายหนูก็ได้ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะมากๆ อย่างมหาวิทยาลัย หนูก็ได้ทุนมหาลัย ต้องทำกิจกรรมไปแลกชั่วโมงทุนด้วย ก็คืออย่างเช่น หนูต้องไปจัดห้องสมุด อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่หนูรู้สึกว่า หนูชอบอ่านหนังสือจากการไปทำกิจกรรมตรงนี้เหมือนกัน อ่านหนังสือบางทีในวันที่เราเหนื่อย หรือบางทีที่เราท้อ


ทุกวันนี้หนูก็จะอ่านหนังสือชูใจของหนูที่แฟนๆ ซื้อให้ แต่ก่อนหนูจะซื้อเองแล้วจะชอบถ่ายลงให้พี่ๆ เขาใจฟูไปกับเราในการอ่าน น่าจะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยแหละที่หนูได้ทำกิจกรรม โน่น นี่ นั่น กับเพื่อนด้วยกันเยอะ หรือย่าง ตอน ม.ปลาย ก็มีเป็นคฑากร ถือป้ายโรงเรียนอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ค่อนข้างที่แบบเราก็ผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน


แล้วก็มีรำโขนด้วย เป็นการรำโขนที่ติดอยู่ในใจหนูเหมือนกัน ยากมากเลยนะคะที่ต้องไปอ้าขาเพื่อที่จะไปฉีกเหลี่ยมให้ตัวเรายืนตรง ยืนตั้งฉาก ถือว่าเป็นเกียรติมากๆ ในการได้ใส่ชฎา หรือว่าได้ใส่ชุด รู้เลยว่ามันยากมากๆ แล้วก็หนักมากๆ ในการที่จะใส่อะไรแบบนั้นออกมา รู้สึกอยากลองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ณ ช่วงเวลาวัยเด็กที่เรายังมีพลังที่จะทำ ก็ทำเท่าที่หนูทำได้เลย”







สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล

ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ทฤษฎีสีชมพู GAP The series”, อินสตาแกรม “@srchafreen”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น