โลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว!! เปิดใจ “Konggreengreen” คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายสิ่งแวดล้อม ชวนคุยเรื่องขยะแนวใหม่ “สนุก-ย่อยง่าย-ช่วยโลก” สะท้อนเมืองไทย ยังปลูกฝังการจัดการขยะไม่มากพอ!!
แค่แยกขยะ โลกก็เปลี่ยน
“การรักษ์โลกมันทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องทำทั้งหมด จนรู้สึกว่าหรือเราควรจะบอกต่อเทคนิคเหล่านี้ ไหนๆ เราก็เริ่มเข้าสู่วงการกรีนแล้ว ก็อยากจะชวนคนอื่นๆ ให้มาร่วมกันทำ ก็เลยเริ่มที่จะเอาเรื่องนี้มาถ่ายทอดเป็นคอนเทนต์ อย่างเรื่องของการแยกขยะ หรือว่าลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน ก็เลยเกิดเป็นช่อง Konggreengreen ขึ้นมา
ถ้าสมมติเราเปิดมาด้วยคำว่า ‘วันนี้เราจะมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมกัน’ น้อยคนนะที่จะหยุดฟังเรา แค่คำว่าสิ่งแวดล้อมบางคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อมโยง แต่ถ้าเราพูดเรื่อง ‘ฝาขวด’ มันเป็นสิ่งที่เราจับเปิดดื่มอยู่ทุกวัน ถ้าเราทิ้งไม่ถูกที่มันจะไปอยู่ในท้องปลาหรือท้องนก ถ้าเราทิ้งได้ถูกที่ มันอาจกลายเป็นกระถางต้นไม้ รีไซเคิลออกมาเป็น product มากมาย
เราสามารถเชื่อมโยงเขาได้ง่ายๆ ให้เห็นภายในช่วงต้นคลิป ว่า สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเขายังไง มันดีต่อโลกยังไง และมันไม่ได้ยากเกินไปในการที่จะเปลี่ยน ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเขาสามารถมีส่วนร่วมได้ในชีวิตประจำวัน”
นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกับการหยิบประเด็น “สิ่งแวดล้อม” หรือ “การแยกขยะ” มาเป็นหัวใจหลักของการทำคอนเทนต์ในยุคนี้ และที่ยากไปกว่านั้น คือ การจะทำอย่างไรให้คนในสังคม ลุกขึ้นมารักษ์โลกอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ “ก้อง - ชณัฐ วุฒิวิกัยการ” คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายกรีน บน TikTok ในช่อง @Konggreengreen เลือกที่จะนำเรื่องราวนี้มาย่อยให้สนุกและเข้าใจง่าย พร้อมเสิร์ฟให้แก่ผู้ที่สนใจ ทั้งหน้าใหม่และคนกรีนกรีนเช่นเขา
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หลายคนน่าจะคุ้นหน้าค่าตาของเขาดี กับบทบาทพิธีกรรายการสารคดี รวมถึงผลงานในวงการบันเทิง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอีกมากมาย
และในส่วนของการแยกขยะนั้น ชายหนุ่มเจ้าของแววตาสดใสที่ซ่อนตัวอยู่หลังกรอบแว่นผู้นี้ ก็ยอมรับกับทีมข่าว MGR Live ว่า เมื่อก่อนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก
“ผมก็คิดว่าน่าจะเหมือนกับเพื่อนๆ เรามีความรู้ในเรื่องของการแยกขยะ และการถูกปลูกฝังการแยกขยะอาจจะน้อยมาก เมื่อก่อนที่บ้านก็จะรับหนังสือพิมพ์ทุกวัน พอมันรวมได้ประมาณซักเดือนนึง คุณป้าที่บ้านก็จะบอกให้เราเอาไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า มันไม่ได้มีแค่หนังสือพิมพ์ เราได้เห็นขวดพลาสติก ขวดแชมพู ขวดเบียร์ ขวดแก้ว กระป๋องต่างๆ
เราเริ่มตั้งคำถามว่า เอ๊ะ… ทำไมขยะเหล่านี้ถึงมีมูลค่า ทำไมมันถึงขายได้ เอาไปแลกแล้วเป็นเงินกลับมาได้ ทำไมพี่ๆ ซาเล้งถึงเอามาขายได้ ของบางอย่างในเมื่อขายได้ มันก็น่าจะมีประโยชน์กับคนอีกกลุ่มนึง เราก็สังเกตและเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ การแยกขยะมันสำคัญ ไม่เคยได้รับความรู้ที่แท้จริงว่า การมาขายมันคือการส่งขยะเข้าสู่การรีไซเคิลครับ”
กระทั่งเขาได้เดินทางไปศึกษาต่อ และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในอีกซีกโลก จึงได้เห็นอะไรอีกมากมาย รวมถึงระบบการจัดการขยะอย่างเป็นระเบียบของที่นั่น หากเทียบกับบ้านเกิด จนกลายเป็นการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ติดอยู่ในใจเรื่อยมา
“การได้ไปอยู่ต่างประเทศมาสักพักนึง เราก็ได้เห็นว่า มันมีรายละเอียดของการใช้ชีวิต หรือกฎระเบียบของเมืองที่แตกต่างกัน มันก็จุดแรงบันดาลใจให้เราหลายเรื่อง เรื่องของระเบียบในการแยกขยะก็เป็นหนึ่งในนั้น
ถึงแม้ว่าตอนนั้นประเทศที่ไปอยู่ คือ อเมริกา อาจจะไม่ได้เป็นประเทศที่สะอาดมาก หรือการแยกขยะดีมาก โดยเฉพาะเมืองนิวยอร์กที่ไปอยู่ แต่ว่าอย่างน้อยๆ เขาก็มีกฎที่จะทิ้ง หรือห้ามทิ้งอะไรในแต่ละวัน เช่น ในอพาร์ตเมนต์ก็จะต้องแยะขยะบางอย่างที่เราไม่เคยแยกเลยตอนที่เราอยู่เมืองไทย อย่างกล่องกระดาษ พวกอะลูมิเนียม ขวดพลาสติก
ตอนเราอยู่เมืองไทย ก็ไม่มีใครออกกฎให้เราได้แยก เราก็ทิ้งรวมๆ กันไป หรือว่าตามที่เห็นข่าว บางทีโยนโซฟา เบาะ ที่นอน ลงไปในคลองใช่มั้ยครับ แต่พอไปอยู่ที่นั่น เขามีการออกกฎ จะมีวันที่จะสามารถเอาขยะชิ้นใหญ่ๆ เอาเฟอร์นิเจอร์ที่อาจจะไม่ใช้แล้ว ไปวางไว้เฉพาะวันนี้เท่านั้น ถึงจะมีการเก็บ ใครไม่แยกขยะ ใครทิ้งขยะผิดวัน ก็จะโดนปรับ
เราก็เริ่มเก็บมาเป็นข้อสงสัยว่าทำไมถึงต้องแยกนะ หรือว่าขยะเหล่านี้มันมีประโยชน์คนเลยต้องแยก ก็เลยจุดแรงบันดาลใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจากที่ได้เห็นในต่างประเทศ”
หลังจากสำเร็จภารกิจและเดินทางกลับบ้านเกิด ประจวบเหมาะกับที่เขาได้มีโอกาสทำรายการด้านสิ่งแวดล้อม และได้ลองลงมือแยกขยะด้วยตนเอง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม ที่มองว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องไกลตัว
“พอกลับมาก็มาทำรายการโทรทัศน์อยู่ซักพักนึงครับ แล้วก็ได้รับงานเป็นรายการที่ชื่อว่า The Green Diary เป็นรายการทาง YouTube ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เราที่เป็นเหมือนผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการ ก็เริ่มได้สัมผัสใกล้ชิดกับคนกรีนกรีน คนที่ใช้ชีวิตแบบแยกขยะละเอียดมาก ร้านค้าไม่แจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า เอาอย่างอื่นมารียูส
ถ้าพูดถึงการทำตัวรักษ์โลก หรือการทำตัว Zero Waste คนอาจจะคิดว่ายากจังเลย หรือต้องปรับชีวิตเยอะ แต่พอเราได้ไปคุยกับคนเหล่านี้ ได้ไปถอดรหัส ได้ไปเรียนรู้เทคนิคต่างๆ เรารู้สึกว่าเราก็ทำได้นะ เพราะไหนๆ เราก็เป็นผู้ดำเนินรายการนี้ด้วย เราก็ถ่ายทอดให้คนอื่นหันมาใส่ใจโลก เราก็ควรทำตัวเป็นตัวอย่างด้วย
ปรากฏว่า มาทำมันก็ไม่ได้ยาก ก็เลยเริ่มชวนน้องๆ ในออฟฟิศช่วยกันแยกขยะ เราแยกขยะของคนในออฟฟิศไว้ 1 ปี เอามาเทกองรวมกัน เราช็อก ทั้งออฟฟิศมีอยู่ไม่กี่คนสร้างขยะเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าไม่แยกไว้ เราไม่มีทางเห็นเลยว่าขยะมันจะไปไหนต่อ บางอย่างก็เก็บรวบรวมไว้ บางอย่างก็ส่งไปรีไซเคิล ส่งไปทำหมอนหลอดให้ผู้ป่วย เราเริ่มรู้แล้วว่าขยะแต่ละอย่างมันมีที่ไปที่ไหนได้บ้าง พอเราแยกไว้มันก็มีแรงบันดาลใจที่จะช่วยลดขยะและแยกขยะ”
เจาะกลุ่ม TikTok เล่าเรื่องขยะยังไงให้ย่อยง่าย
หลังจากรายการ The Green Diary ทาง YouTube มาได้เกือบ 4 ปี ก็เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านของโซเชียลมีเดีย ที่แพลตฟอร์ม TikTok เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้เองได้ทำให้ชื่อของ “Konggreengreen” กลายเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง แถมยังเคยได้รางวัลการันตีคุณภาพ จากเวที Thailand Influencer Awards 2021 สาขา Best Green Change Maker Influencer อีกด้วย
“เริ่มแรกจริงๆ จะเป็น YouTube เรารู้สึกว่าผู้ชมอาจจะคุ้นเคยกับการเล่าเรื่องแบบถ่ายทอดชีวิตประจำวัน หลังจากนั้นพอเข้าสู่ช่วง Covid มีการ lockdown เราก็ไม่ได้มีการมาเจอกันกับทีมงานทำคลิป ก็เลยเข้าสู่วงการ TikTok เราก็ชอบเข้าไปดูคอนเทนต์ในนั้น เพราะรู้สึกว่ามันสนุก มันสั้น แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผู้ชมบน TikTok จะพร้อมเปิดรับคอนเทนต์แนวสิ่งแวดล้อม แนวกรีนกรีน แนวแยกขยะรึเปล่า
ก็เห็นอะไรบางอย่างว่า ผู้ชมบน TikTok ไม่ได้เสพแค่คอนเทนต์ entertainment อย่างเดียว แต่มันมีคอนเทนต์ที่ให้สาระความรู้ด้วย เช่น เทคนิคการทำอาหาร การเงิน เทคนิคการทำกราฟิก งั้นเราขอเป็น 1 พื้นที่ใน TikTok ได้มั้ยที่พูดเรื่องของการแยกขยะ ก็เลยเกิดคอนเทนต์บน TikTok ตามมา รู้สึกว่าคนจะรู้จัก Konggreengreen ผ่านทาง TikTok ค่อนข้างเยอะ
ยอด followers ค่อยๆ ขึ้นมาตามลำดับครับ ช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่า ยากมาก เราทำใจไว้ระดับนึงแล้ว ไม่ได้คิดว่าเราจะเป็นช่องที่มีผู้ติดตามมากมายเหมือนกับคอนเทนต์ประเภทอื่น เพียงแต่ว่าเราต้องการพื้นที่ที่จะบอกเล่าเรื่องนี้
แต่ว่าก็น่าประหลาดใจเหมือนกัน มันมีอยู่ช่วงนึงพอมีคลิปที่คนแชร์เยอะๆ เป็นที่รู้จักกันเยอะๆ อย่างเช่น คลิปที่ล้างถุงแกง ก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์เยอะ ฉันก็ทำ นึกว่าฉันทำอยู่คนเดียว คลิปนั้นมันก็เลยทำให้ยอด followers เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้น ก็จะมีคลิปที่ไปตลาดโดยที่ไม่ใช่ถุงพลาสติกเลย หรือว่าเป็นคลิปที่ไปที่บ่อขยะ เพื่อที่จะพาทุกคนไปดูว่า ถ้าเราไม่แยกขยะ ขยะของทุกคนจะไปกองอยู่ที่ภูเขาขยะแบบนี้ ก็ไปแตะ 2-3 ล้านวิว มันก็เลยทำให้ยอด followers เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ 200,000 กว่า followers แล้ว”
จากความกังวลในตอนแรก ว่า เมื่อทำเรื่องการแยกขยะไปสักพักอาจจะหมดคอนเทนต์หรือไม่ แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ผู้ชมทางบ้านให้ความสนใจและตั้งคำถามส่งมาให้ทีม Konggreengreen หาคำตอบอย่างไม่ขาดสาย
“ตอนนั้นก็คิดเหมือนกันนะครับ ว่า เราเป๊ะขนาดไหน แต่ก็กลับมานั่งคิดอีกที เรื่องพวกนี้มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็น professional เรื่องเหล่านี้ไม่เคยถูกปลูกฝังในบทเรียนเลยด้วยซ้ำ มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องค้นคว้าด้วยตัวเองด้วย ถ้าไม่เริ่มตอนนี้แล้วเมื่อไหร่เราจะเป็นผู้รู้ ที่พร้อมพอที่จะทำสื่อถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้บ้าง เราก็เริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนดูเลยครับ
ถ้าสังเกตคอนเทนต์ใน Konggreengreen จะเริ่มจากการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ แล้วมาบอกต่อ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และในทุกๆ คลิปจะเปิดโอกาสให้คนดูได้เข้ามาแชร์เทคนิคต่างๆ เราทำแบบนี้ถูกหรือผิด คิดว่าอย่างไร คุณมีวิธีแบบไหน ลองมาแชร์กัน ทำถูกหรือทำผิด ดีกว่าไม่เริ่มทำเลย ก็เลยคิดว่าเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
พอเริ่มทำคอนเทนต์ จะเห็นได้เลยว่าผู้ชมคนไทยมีความสนใจเรื่องแยกขยะกันเยอะมาก เยอะกว่าที่เราคิดไว้อีก มีคำถามเข้ามามากมาย ทั้งในคอมเมนต์ใต้คลิป หรืออินบ็อกซ์ที่ถามเข้ามาหลังไมค์ อย่างแก้วน้ำชานมไข่มุก มันเปียกหรือแห้ง มันเป็นแค่ตัวหนังสือบนถังขยะสีเขียว สีฟ้า สีเหลือง ไหนๆ ก็เห็นตาหมอนี่ทำเรื่องแยกขยะแล้ว เขาน่าจะมีคำตอบให้
เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นคอนเทนต์ที่สามารถรันต่อไปได้เรื่อยๆ พอเราทำคลิปนี้ปุ๊บ มันมีคำถามจากเพื่อนๆ เสริมเข้ามาอีก เราก็ไปหาคำตอบ แล้วก็มาทำคลิปต่อ พอทำคลิปต่อมาก็มีคนเข้ามาชวนคุย มาถามอีก มาแบ่งปันเทคนิคอีก ก็เลยทำให้คอนเทนต์เรื่องแยกขยะ ที่ตอนแรกคิดว่าจะมีเรื่องเล่าได้มากมายแค่ไหน กลายเป็นว่าตอนนี้ขยายออกไปได้ไม่รู้จบ”
แม้จะผ่านประสบการณ์การทำงานในวงการมาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาอย่างโชกโชน แต่เมื่อต้องมาจับแพลตฟอร์ม TikTok ก้อง ยอมรับว่า เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการปรับตัวไม่น้อย
“แน่นอนเลยครับ เพราะว่าแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีวิธีการเล่าไม่เหมือนกัน พฤติกรรมของคนดูก็ไม่เหมือนกัน ต่อให้เป็นคนคนเดียวกัน แต่ว่าบางอารมณ์เราเลือกที่จะเข้า YouTube คนเข้าไปเสพคอนเทนต์ใน TikTok ก็เป็นอีกพฤติกรรมนึง
เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์ต้องเลือกด้วยว่าเราจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน คนพร้อมที่จะเสพคอนเทนต์เราในลักษณะไหน เขามีเวลาเยอะแค่ไหน มันก็มีผลต่อการผลิตคอนเทนต์แล้ว ตอนนี้เขาสะดวกที่จะพลิกโทรศัพท์เป็นแนวนอนในการดู หรือเขาสะดวกที่จะถือโทรศัพท์เป็นแนวตั้ง เพื่อที่จะสวิตช์ไปแอปพลิเคชันอื่นๆ ก็ต้องคิดถึงพฤติกรรมตรงนี้ด้วย
มันก็เลยต้องมีการลองผิดลองถูกกัน จากเดิมที่เราเคยทำรายการโทรทัศน์ เราเคยทำรายการบน YouTube ที่สามารถมีความยาวได้ แต่พอมันต้องเปลี่ยนมาอยู่บน TikTok มันจะต้องอัปเดต อย่างน้อยๆ เปลี่ยน video เป็นแนวตั้ง แล้วก็ต้องสั้น ต้องกระชับ เราก็ต้องหาวิธีการเล่า เราจะขึ้นต้นคลิปอย่างไร เล่าอย่างไร และทิ้งท้ายให้ message นี้มันเข้าใจ ให้เรื่องที่คนอื่นคิดว่ายากมันเข้าใจได้ และเขาอยากที่จะแชร์ต่อ คล้ายๆ เป็น set list ในแต่ละคลิป เราติ๊กถูกได้ครบทุกข้อมั้ย
ค่อนข้างหาอยู่นานนะครับ แต่ว่าด้วยพื้นฐานเคยทำรายการสารคดีมาก่อน เราก็ค่อนข้างมีทักษะในการเอาข้อมูลที่มันเยอะมากๆ หรือยากๆ มาเล่าย่อยให้ง่าย ก็เลยลองเอาเทคนิคที่ทำรายการสารคดีมาใช้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ย่อยเรื่องที่เขาคิดว่าไกลตัวหรือยากๆ ให้เป็นเรื่องที่เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของเขาเหมือนกัน”
ในส่วนของเทคนิคในการดึงดูดผู้ชมนั้น แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่หากอยู่คนละแพลตฟอร์มก็จะมีการนำเสนอที่แตกต่างกันไป โดยอิงจากพฤติกรรมของผู้เข้าใช้เป็นหลัก
“เราต้องคิดถึงพฤติกรรมของคนดูให้มากๆ คนอยากดู อยากฟัง อยากเสพอะไร ส่วนใหญ่คอนเทนต์ครีเอเตอร์มักจะคิดว่าเราอยากได้อะไรเป็นหลัก แต่อีกอย่างที่สำคัญเหมือนกัน แล้วเขาอยากฟังเรื่องที่เราเล่ารึเปล่า มีคนที่สนใจรึเปล่า เขาอยากฟังในลักษณะไหน ต้องหาจุดกึ่งกลางของ 2 อย่างนี้ให้เจอ คือ คนที่อยากเล่ากับคนที่ฟังเขาอยากฟังในลักษณะไหน
เท่าที่ทดลองมา สมมติเรามี production หรือดูเป็นมืออาชีพมากๆ คนบน TikTok อาจจะรู้สึกว่าเขาพบคลิปที่มีคุณภาพดีๆ ได้ที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าคลิปบน TikTok คุณภาพไม่ดี แต่หมายความว่าบุคลิกในการเล่ามันจะต้องเป็นไปตามแพลตฟอร์ม ควรจะเรียล จริงใจ เข้าเรื่อง พูดตรงประเด็นแล้วก็ย่อยง่าย
TikTok ต้องเปิดเรื่องให้คนเข้าใจเลย ว่า คลิปนี้เราจะพูดถึงอะไร พฤติกรรมของคนดู TikTok อาจจะต้องการอะไรที่เรียล ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มันมีเสน่ห์และมีพลังมาก เขาอาจจะหนีจากโทรทัศน์ หนีจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีการปรุงแต่งตัดต่อเทคนิคที่สวยงาม ถ้าเราไปดูคลิปแบบนี้ในแพลตฟอร์มที่เหมาะสม มันก็จะทำให้คนดูเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น
ซึ่งไม่ได้เวิร์กแค่ใน TikTok อย่างเดียว เดี๋ยวนี้หลายๆ แพลตฟอร์มก็สนับสนุน short video มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Instagram reel, Facebook คลิปบน TikTok บางทีก็ไปอยู่บน Facebook ก็ค่อนข้างได้รับ engagement ที่ดีมากๆ รวมถึง YouTube ก็มี short แล้ว เพราะฉะนั้น video ตัวสั้นก็สามารถไปอยู่บนหลายๆ แพลตฟอร์มค่อนข้างเข้าถึงได้ดีเลย”
ยกเคสเมืองนอก ปลูกฝังแยกขยะตั้งแต่ของเล่น
จากประสบการณ์การเดินทางไปเยือนหลายประเทศ ทำให้หนุ่มรักษ์โลกผู้นี้ได้เห็นการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมจากหลายๆ แห่ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างความประทับใจให้ทีมข่าวได้รับฟังอีกด้วย
“ประสบการณ์ที่ต่างประเทศ ก็อยากจะเล่าถึงทริปที่เพิ่งกลับมา ไปเที่ยวที่ยุโรปแล้วก็ถือโอกาสไปดูด้วยว่าเขาเป็นยังไงเรื่องขยะ ก็ได้แรงบันดาลใจ ได้ไอเดียมาจากหลายๆ ที่ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เราก็คุ้นเคยกับชื่อเสียงเรื่องความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ความสวยงามของเมืองเขา
จริงๆ แล้วความสวยงามมันอาจจะอยู่ที่ภูมิประเทศส่วนหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่มันสำคัญมากๆ เขารักษามันไว้อย่างไร เขาดูแลยังไง ทุกอย่างเป็นระบบ เป็นกฎ เป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดี หลายๆ หมู่บ้านแทบจะไม่เห็นขยะเลย น้ำก็ใส อากาศก็ดี เรารู้สึกว่าถ้าเราอยากมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ เราก็ต้องทำกันด้วย ไม่ใช่ใช้อย่างเดียวโดยที่ไม่รักษา
[ ถังแยกขยะ ในสวิตเซอร์แลนด์ ]
รวมถึงระบบการจัดการขยะ ที่สวิตเซอร์แลนด์เขาก็จะมีกฎของการที่จะต้องใช้ถุงขยะของที่เมืองจัดหาให้ ที่ไม่ต้องไปซื้อถุงขยะ มันก็เป็นกุศโลบายอย่างนึง ถ้าเราไม่อยากซื้อถุงขยะเยอะ เสียเงินเยอะ ก็จะต้องเอาขยะบางส่วนไปส่งเองเพื่อรีไซเคิล เขาก็จะมีเป็นจุดที่รับ ถังนี้รับพลาสติก ถังนี้รับอะลูมิเนียม ถังนี้รับขวดแก้ว มีตู้รับบริจาคเสื้อผ้า
เวลาเขารีไซเคิลแก้วจะรีไซเคิลแยกสีกัน ส่วนใหญ่รีไซเคิลออกมาก็จะเป็นสีเดิม ให้ประชาชนแยกไว้เลย ปลายทางจะได้ไม่ต้องเหนื่อย จะได้ลดปริมาณขยะที่บ้าน จะได้ไม่ต้องซื้อถุงขยะเยอะ ทุกคนก็ตื่นตัวและร่วมแรงร่วมใจกันมาก”
ขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาที่เมืองไทย การจัดการขยะ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่รอคอยการแก้ไข
“กลับมาที่บ้านเรา ขยะรีไซเคิลหลายๆ อย่าง ขายได้นะ อย่างขวดพลาสติก ถ้าแยกดีๆ ขายได้กิโลกรัมละ 7-10 บาทด้วยซ้ำไป ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปเขาทิ้งแบบฟรีๆ เขายังทำ แต่ของเราแยกแล้วขายได้ เรายังแยกกันได้น้อยเลย ก็ต้องคิดทบทวนกันว่าเพราะอะไร เราได้รับการปลูกฝังหรือให้ข้อมูลน้อยไปหรือว่าเราทำให้มันไม่สะดวกรึเปล่า
จะบอกว่า การพยายามไม่สร้างขยะ หรือการแยกขยะ มันเป็นเรื่องง่ายแสนง่ายก็คงไม่มีใครเชื่อ จริงๆ แล้วมันก็คือการต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าเราได้เห็นว่าเราทำแล้วมันดีต่อสิ่งแวดล้อมยังไง หรือแม้แต่ไปเห็นปลายทางว่า ถ้าเราไม่ทำ แล้วขยะในแต่ละชิ้นในชีวิตประจำวันเรามันไปอยู่ที่ไหน
ประเทศของเราใช้งบประมาณเยอะมากในการกำจัดขยะ ถ้ามันไม่มีโอกาสกลับมารีไซเคิล มันก็ตกค้างอยู่มากกว่าชีวิตเราอีก อยู่ไป 400-500 ปี มันก็อาจจะหลุดลอดไปสู่แม่น้ำลำคลอง ไปสู่ธรรมชาติ ทำลายทุกอย่าง นอกเหนือจากมนุษย์
เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโลกร้อนด้วย อย่าคิดว่าขยะไม่เกี่ยวกับโลกร้อน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พอมันไม่ถูกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ก็ผลิตทรัพยากรใหม่ๆ มาเรื่อยๆ ก็เป็นการปล่อยคาร์บอน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
หากจะย้อนไปถึงสาเหตุที่การจัดการขยะของบ้านเราไม่เป็นรูปธรรมเสียที ก็คงต้องมองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่การปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจจะยังไม่มากพอ
“แน่นอนครับว่า เวลาทำสื่อเรื่องแยกขยะ มีหลายเสียงโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่สะท้อนกันมาว่า จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้มันควรจะอยู่ในโรงเรียน ควรจะถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ หลายประเทศ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น เป็นประเทศต้นแบบที่ปลูกฝังจิตสำนึกระเบียบวินัยให้กับเยาวชน เคยเห็นบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียน
หรือแม้แต่ที่เดนมาร์ก ร้านของเล่นที่มีชื่อเสียงของเขา ที่เด็กๆ นิยมทั่วโลก คือ เลโก้ ก็ไปประทับใจของเล่นกล่องนึงที่เป็นเซตรถขยะ จินตนาการไม่ถูกว่า ถ้าเรามีชุดของเล่นที่ขายในประเทศไทยที่เป็นเซตรถขยะจะมีคนซื้อมั้ย แต่ที่เลโก้เขามีเซตนี้ มีรถขยะ มีถังขยะ แล้วก็มีขยะแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ปลูกฝังตั้งแต่การเล่นเลยครับ เขาโตขึ้นแล้วต้องเจอในทุกวัน
มันจำเป็นที่จะต้องอยู่ในบทเรียน ถ้าเราให้ความสำคัญมากพอ อยู่ในทุกๆ อย่าง อยู่ในการเล่น ในของเล่น อยู่ในเกมได้หมดเลยครับ แต่ว่าเราให้ความสำคัญในการที่จะปลูกฝังเด็กรึยัง
จริงๆ ตอนนี้ก็เห็นหลายโรงเรียนที่เป็นที่ชื่นชมมาก ผมอยากจะไปดูหลายๆ ที่ มีโซนแยกขยะและปลูกฝังเรื่องของการแยกขยะ ดีไม่ดีน้องๆ ไปโรงเรียนกลับมาอาจจะเอาความรู้เหล่านี้มาสอนที่บ้านแยกขยะด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ
ถ้าโรงเรียนไหนพร้อม ทำเลยครับ เราอยากให้เรื่องเหล่านี้มันถูกปลูกฝังในสังคม และเขาจะเป็นพลเมืองที่มีความรู้เพียงพอในการแยกขยะ ไม่เกิดคำถามมากมายในอนาคต เพราะทุกคนเข้าใจในความสำคัญและหลักการของการแยกขยะ”
ฮาวทูทิ้ง ทิ้งขยะอย่างไรให้ช่วยโลก
นอกจากนี้ เจ้าของช่อง Konggreengreen ยังได้แชร์ประสบการณ์สุดประทับใจ จากการได้พบเจอกัน “คนกรีนกรีน” จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาในอีกหลายๆ แง่มุม
“ถ้าให้พูดถึงคนที่ประทับใจ ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะนึกถึง พี่กาน (ศศิกานต์ ศรีประทีปบัณฑิต) ที่เป็นเจ้าของร้านวัสดุก่อสร้าง เขามีความพยายามอย่างมากในการที่จะไม่สร้างขยะ พยายามที่จะไม่แจกถุง โดยการรียูส ซึ่งดีมากๆ ดีกว่ารีไซเคิลอีก โดยเฉพาะขยะพลาสติก single-use
เขาเอาซองรีฟิลของน้ำยาล้างจาน ซึ่งเป็นพลาสติกที่หนามาก ดีเกินกว่าที่จะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก็นำมาทำความสะอาดแล้วเจาะเป็นหูหิ้วเอาไว้ใส่สินค้าในร้าน เช่น ตะปู นอต เทปกาวต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการใส่ของจากร้านกลับบ้านได้ไม่ต่างจากพลาสติกใหม่ เพียงแต่ว่ามันได้ใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม
ก็เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรามาก ว่าขนาดเขาเป็นธุรกิจ เขาสามารถที่จะใช้ถุงพลาสติกได้ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาล้างถุง เจาะถุง สิ่งที่เขาทำมันเป็นต้นทุนทางด้านเวลา แต่มันเซฟต้นทุนของโลก
[ ร้านวัสดุก่อสร้างรักษ์โลก ตัวอย่างคนกรีนกรีน ]
ส่วนอีกคนนึงก็จะเป็นครอบครัวของน้องภูมิ มีคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ลูก 2 คน ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่บ้านเขามา บ้านนี้สอนลูกดีมาก เห็นเรื่องของการกักโซนแยกขยะ สมมติได้รับถุงพลาสติกมาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณแม่ก็จะทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ ส่งไปกำจัดให้ถูกที่ ตอนนั้นเรายังแยกขยะไม่เป็นเลย แล้วได้เด็กคนนี้ที่มาสอนเรา เขาแค่รู้ว่านี่คือพลาสติก นี่คือ กระดาษก็แยกขยะได้แล้ว จริงๆ เรื่องแยกขยะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ยาก”
ส่วนใครก็ตามที่อยากเข้าวงการคนกรีนกรีนบ้าง วิธีที่ง่ายที่สุดคือการ “แยกเศษอาหาร” ออกจากขยะทั้งหมด
“เริ่มง่ายที่สุด ใครที่อยู่กรุงเทพมหานคร อาจจะได้ยินแคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ มันเป็นเบสิกของการแยกขยะที่สำคัญที่สุด แยกเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ แทนที่เราจะเทน้ำก๋วยเตี๋ยว เส้นก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ รวมไป เราแค่แยกอีก 1 ถุง
ถ้ามันเลอะมันรวมกับขยะชิ้นอื่นๆ ทุกอย่างเละหมด ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะอื่นๆ ไม่ว่าจะรีไซเคิลได้หรือรีไซเคิลไม่ได้ อย่างน้อยเขาไม่เลอะ พี่ท้ายรถขยะสามารถแยกได้ง่ายขึ้น หรือคุณลุงซาเล้งสามารถเก็บขยะได้ง่ายขึ้น
[ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการ “แยกเศษอาหาร” ]
อย่างที่ 2 ลองแยกขยะรีไซเคิล ง่ายที่สุดคือ ขวดน้ำดื่มใส วิธีการแยก ฉลากและฝาขวดยังอยู่เหมือนเดิมได้ แค่ทำให้เขาแบน บิดให้ประหยัดพื้นที่ที่สุด รวบรวมไว้ เต็มถุงเมื่อไหร่ค่อยเอาไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าใกล้บ้าน
อะไรที่มันรีไซเคิลได้ กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดน้ำดื่มพลาสติก กระดาษ พลาสติกต่างๆ แยกไว้ เราจะได้ไม่ต้องไปตัดต้นไม้ทำกระดาษเพิ่ม เพราะกระดาษเก่ามันรีไซเคิลได้ พลาสติกจะได้ไม่ต้องไปใช้ปิโตรเลียมมากขึ้น ในการผลิตพลาสติกใหม่
ยิ่งเราทำแล้วเคยชินกับมัน เราจะไม่รู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ผมแยกได้ค่อนข้างละเอียด แทบจะไม่มีขยะไปกับรถขยะไปที่หลุมฝังกลบเลย มันอาจจะไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินว่าที่เราจะทำ
สำหรับใครที่อยากจะเริ่มแยกขยะ อยากจะหาวิธีการแยกขยะที่ถูกต้องและง่าย ใช้ได้กับชีวิตประจำวัน ตอนนี้ทีมเรามีคอนเทนต์ทำเป็นซีรีส์ 20 ตอน เข้าไปดูในเพลย์ลิสต์ ‘คู่มือแยกขยะ’ มีอยู่ในทั้ง TikTok, Facebook และ YouTube ‘Konggreengreen’ นอกจากจะเป็นวิธีที่ง่ายๆ แยกขยะได้ถูกต้อง บางทีเป็นทริกที่แยกขยะยังไงให้ขายได้แพงขึ้นได้ด้วยครับ”
ทั้งนี้ ก้อง ยังสะท้อนถึงประโยคที่ว่า “แยกไปแล้วเขาก็เอาไปรวมกัน” ผ่านมุมมองของเขาไว้ดังนี้
“‘แยกไปแล้วเขาก็เอาไปเทรวมกัน’ จริงๆ ผมก็ไม่สามารถไปตอบแทนรถขยะทั้งประเทศได้ว่าเขาทำกันยังไง แต่เท่าที่เห็นรถขยะไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เขามีโซนแยกขยะที่ท้ายรถ ไม่ว่าจะเป็นกระสอบที่ใส่พลาสติก ใส่อะลูมิเนียม กระดาษลัง
แต่ว่ามันเป็นการแยกที่ดูไม่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ พี่รถขยะเขาแยก เพราะเขาสามารถหารายได้จากการแยกขยะเหล่านี้ ไม่ได้เป็นกฎของเมืองว่าจะต้องแยก มันก็เลยทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เราแยกไปเขาก็เอาไปเทรวม เพราะหลายๆ บ้านอาจจะไม่ได้แยกแล้วใส่ถุงสีดำมา เขาอาจจะรวมไปก่อนแล้วค่อยไปกรีดถุงเพื่อที่จะไปคัดแยก
ถ้าเราไม่ไว้ใจระบบ แยกไว้แล้วคนเก็บจะเอาของเราไปรวมรึเปล่า เดี๋ยวนี้มันมีที่รับขยะรีไซเคิลที่สะดวกและใกล้เรามากขึ้น หลายๆ ห้างสรรพสินค้า ก็รับขวดพลาสติก สำนักงานเขตก็รับบริจาคขวดพลาสติก ขวดแชมพู ถุงพลาสติกยืด กล่องนม รับบริจาคพลาสติกใส สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นชุดเรืองแสงให้กับพี่ๆ พนักงานกวาดถนนด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีใจอยากจะแยกจริงๆ ลองหาที่เหล่านี้ดู ดีกว่าที่จะเอาเหตุผลนี้มาบอกว่าแยกไปก็เทรวมอยู่ดี ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่รู้ถูกหรือผิด มาบล็อกไม่ได้ เราเปลี่ยนวิธีการ เราเปลี่ยนเลยครับ มันมีหลายทางที่ทำให้เราทำได้”
เมื่อให้ช่วยวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่จะทำให้ “การแยกขยะ” กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญ หนุ่มสายกรีน กล่าวว่า ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น รัฐ เอกชน และประชาชน ต้องทำงานสอดประสานกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตนเองทันที โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดเป็นนโยบาย
“ย้อนกลับมาถึงจุดที่ควรจะเป็นมันก็ถูกต้อง ตอนนี้เรากำลังขับเคลื่อนด้วยภาคประชาชน ภาคเอกชนเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่จะทำให้มันเป็นจริงได้ ต้องวางระบบพื้นฐานที่ดี ในหลายๆ ประเทศที่เขาสามารถทำได้ ก็เกิดจากการวางระบบของประเทศ ของรัฐ มันก็เลยทำให้นโยบาย แคมเปญหลายๆ อย่าง หรือแม้แต่เอกชน ประชาชน มันสอดคล้องกันไป
เขาทำจากศูนย์กลางออกมา มันก็เลยค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาชัดเจนกับระบบจัดการขยะ ออกแบบวิธีการจัดเก็บ บางวันอนุญาตให้ทิ้งแค่กระดาษลังเท่านั้น เขาก็จะมาเก็บแค่กระดาษ เมื่อมันเป็นศูนย์กลาง ทั้งระบบเก็บเอย ทั้งคนทิ้งเอย ก็จะ follow ตามกัน
แต่ตอนนี้ประเทศเรายังเป็นแบบ… ใครที่มีจิตใจอยากจะรักษ์โลกก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ มันก็เลยกระจัดกระจาย คนก็เลยมองว่ายากจังเลย สิ่งที่มันที่ดีสุด คือ เราทำอะไรได้มากกว่ารอ การที่เรานั่งรอแล้วก็บอกว่าเมื่อไหร่ประเทศเราจะมีระบบอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะได้แยกขยะซักที มันอาจจะช้าเกินไปรึเปล่า
อย่างน้อยตอนนี้มันมีหลายๆ ที่ หลายๆ สื่อ ที่พร้อมจะป้อนข้อมูลให้อยู่ หรือติดตามเพจ Konggreengreen ก็จะบอกหมดทิ้งที่ไหนอะไรยังไง คุณอาจจะเริ่มจากแยกซักประเภทนึง ลองเลย แล้วจะรู้สึกว่าเรื่องของการแยกขยะมันไม่ได้ไกลตัว”
สำคัญกว่าแยก คือช่วยกันลด
ถามถึงเสียงตอบรับจากผู้ชมช่อง Konggreengreen ก้อง กล่าวพร้อมรอยยิ้ม ว่า ดีใจที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เพราะในตอนนี้มีผู้คนในสังคมเริ่มต้นแยกขยะกันมากขึ้น
“ผมจะมี Facebook group ชื่อว่า ‘แยกขยะกันเถอะ’ เป็นกลุ่มที่ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือสายกรีนอยู่แล้ว จะเข้ามาแลกเปลี่ยนการแยกขยะ มือใหม่ก็จะมาถามว่า อย่างนี้ต้องแยกมั้ย ต้องล้างมั้ย ต้องส่งที่ไหน สายกรีนที่โปรแล้วก็จะมาช่วยกันตอบ ผมชอบสังคมแบบนี้มาก มันคือการแลกเปลี่ยนกัน มีคนที่พร้อมปรับเปลี่ยน อยากจะเข้าสู่วงการสายกรีนมากขึ้น
ฟีดแบ็กน่าจะเป็นเรื่องของหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ คนรุ่นใหม่ นักศึกษา หรือแม่บ้าน ที่คอมเมนต์ หรืออินบ็อกซ์มาว่า ตั้งแต่ดูคลิป เราก็เริ่มแยกขยะ ก็รู้สึกดีใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือ โรคติดต่อ ผมก็ติดมาจากคนอื่นจากการที่เราเห็นตัวอย่าง ผมก็ติดมาแล้วก็มาแพร่เชื้อรักษ์โลกต่อ
ทุกคนอยากเห็นเมืองที่ดีขึ้น อยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น อยากเห็นชีวิตลูกหลานเราดีขึ้น มันรู้สึกภูมิใจ ไม่ว่าคลิปเราจะถูกเผยแพร่ไปทางไหน เพื่อนก็แคปมาบอกว่าคลิปแกมาอยู่ในกรุ๊ปบริษัท อยู่ในกรุ๊ปไลน์หมู่บ้าน เราดีใจมากๆ”
สำหรับทิศทางของคอนเทนต์ในอนาคต เจ้าของช่อง Konggreengreen กล่าวว่า ยังคงคอนเซปต์รักษ์โลกไว้ แต่อาจจะขยับขยายไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับเชิญชวนให้คนในแวดวงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ลองหันมาพูดเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น
“เราอยากจะชวน ถ้าใครที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ใครที่เก่งๆ ในการย่อยข้อมูล หรือมีความสนใจเรื่องโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม มีหลายช่องที่ชอบเอาเรื่องต่างๆ ประวัติศาสตร์ต่างๆ มาเล่า ลองมีคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ถ้ามีความสนใจที่อยากจะช่วยกันทำให้โลกดีขึ้น ก็อยากจะเชิญมาช่วยกันเล่า เพราะเรื่องโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก หลายคนคิดว่ามันคือเรื่องไกลตัว อย่าคิดว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จริงๆ แล้วเราเปลี่ยนได้
ที่รณรงค์เรื่องของการแยกขยะมาตลอด เป้าหมายปลายทางที่มองภาพใหญ่สุด คือ เรากังวลเรื่องโลกร้อน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราเริ่มเห็นอากาศแปรปรวน เรื่องทรัพยากรต่างๆ ที่มันสูญหายไป
คนที่ดูเราเขาอาจจะไม่สามารถลุกขึ้นมาลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกได้ เขาไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในองค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆ เขาไม่ได้มีอำนาจในการออกนโยบาย เขาไม่สามารถเปิดโรงงาน clean energy ได้ แต่สิ่งที่เขาทำได้เลย คือ เขาลดขยะหรือแยกขยะ เราก็เริ่มจากสเตปนี้ก่อน สเตปต่อมา ผมก็อยากจะพูดเรื่องที่พาไปตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น”
ตลอดระยะเวลากับการเดินในเส้นทางของ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายกรีน” ของชายผู้นี้ เขากล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับความภูมิใจในแววตา โดยหวังว่า แรงกระเพื่อมเล็กๆ ของเขา จะนำไปสู่การลุกขึ้นมารักษ์โลกของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
“อนาคตของช่อง Konggreengreen ก็หวังว่า จะมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็อยากจะขยับคอนเทนต์ไปสู่จุดอื่นๆ ที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กว้างขึ้น แต่ยังอยากให้มันเข้าใจง่ายอยู่ครับ
จริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เรียกว่า เหนือความคาดหมายดีกว่า เหนือความคาดหมาย คือ คนให้ความสนใจเรื่องแยกขยะมากกว่าที่เราคิด แล้วเราก็ดีใจมากๆ ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนจุดประกายมากมาย เพียงแต่ว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เป็นคนทำสื่อ หน้าที่เราคือรู้อะไรมารีบบอกต่อ
สิ่งที่คาดหวัง คือ มีคนช่วยกันแยกขยะกันเยอะๆ หรือแม้แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ช่วยกันลดการสร้างขยะ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคอย่างเรา คนที่เป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ หรือองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีเพาเวอร์มากพอ คุณรู้ว่าผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วกลายเป็นขยะจำนวนมาก หันมาช่วยกันลดขยะ ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นจะดีขึ้นมาก”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เพจเฟซบุ๊ก “Konggreengreen” และรายการ “The Green Diary”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **