xs
xsm
sm
md
lg

"เรียนไม่จบ แต่รวยกว่าคน ป.ตรี" เจาะเทรนด์ "วัยรุ่นสร้างตัว" ไม่สนวุฒิ-เน้นรายได้-อวดว่อนโซเชียลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สะท้อนใจเทรนด์ฮิต!! “วัยรุ่นสร้างตัว” ต้องรีบมีชีวิตดี เติบโตตามสังคมที่กดดัน ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่นเผยตั้งรับการสื่อสารในโลกโซเชียลฯ ก่อนจะสายเกินแก้!!




ยุคสร้างภาพ-ปลดปล่อยตัวตนบนโซเชียลฯ!!?


“มันเกิดขึ้นจากกระแสของโซเชียลมีเดีย เวลามีโซเชียลมีเดียที่เอามาเปรียบเทียบกัน ลองสังเกตประชากรคนไทยใช้โซเชียลมีเดียสูงมาก หมอเข้าใจว่าน่าจะเป็น Top ของโลกเลย

แค่เราไปเที่ยวตรงไหน ที่ไหน อย่างไรมา เราก็เอามาลงหมดเลย ส่วนคนที่ขยันทำงานกันอยู่ เมื่อนั่งดูก็มีความรู้สึกจิตตกเหมือนกัน ตัวเองไม่ได้เที่ยว ซึ่งก็มีวุฒิภาวะที่เบรกตัวเองได้

แล้วมาเจอเด็กกันเองที่ใช้โซเชียลมีเดียในการที่จะเอามาโอ้อวดกัน เอามาโชว์กัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ก็เป็นหมดเลย ทั้ง facebook, twitter, instagram มันไปในกระแสแบบนั้นหมดเลย”

[รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ]
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เจ้าของแฟนเพจ “บันทึกหมอเดว” ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live หลังจากมีกระแสเทรนด์วัยรุ่นสร้างตัว ต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย จนในขณะนี้มีการพูดถึงในโลกโซเชียลฯ เป็นจำนวนมาก


ล่าสุดกลายเป็นดรามาชวนชาวโซเชียลสงสัยต่อเหตุการณ์วัยรุ่นคนหนึ่งถ่ายรถป้ายแดง ประกาศเรียนไม่จบ แต่ได้รับเงินเดือน 5 หมื่น พร้อมทั้งเทียบกับคนจบปริญญาตรี เงินเดือนแค่ 15,000 บาท

อย่างไรก็ดี เมื่อถูกแชร์ออกไป นำมาซึ่งความคิดเห็นไปทางเดียวกัน คือความผิดปกติของโพสต์ดังกล่าว บวกกับความหมั่นไส้นิดๆ ที่ดูอวดชีวิตดีจนเกินไป ทำให้ทัวร์มาลงวัยรุ่นรายนี้ ต้องรีบลบโพสต์ดังกล่าวออกไป

“คนจบปริญญาบางคน ทำงานได้เงินเดือน 15,000 บางคนเรียนจบไม่สูงอ่านออกเขียนไม่ได้ แต่เงินเดือน 50,000 มันคือเรื่องจริง”


ผ่านสายตาของคุณหมอเดวมองว่าในยุคที่เราเห็นความสำเร็จของคนอื่นได้ง่าย การเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเองก็เลยเกิดขึ้นได้ง่าย

“จริงๆ ณ ขณะนี้มันเป็นกระแส คือหมอมองว่าเราอยู่ในยุคของ fast life กระแสของดิจิทัล เด็กทุกคนที่เกิดมาอยู่ในระบบดิจิทัลหมด

การใช้ระบบดิจิทัลมันเป็น fast life หมด แล้วกระแสของโซเชียลมีเดียมันก็กดดันกันเอง เพราะแนวคิดที่เป็นทุนนิยมที่จะต้องการรวยเร็ว รวยทางลัด ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มันเป็นแนวคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่หมดเลย

การที่จะต้องมาคอยการรักและผูกพันในองค์กร พวกนี้ร่อยหรอหมด ก็บวกกับชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะวิถีชีวิตทั้งในบ้าน ทั้งในชุนชน และรั้วสถาบันการศึกษา ก็ถูกเร่งรัด

เราจะสังเกตเห็นเลยว่าเขาใช้ระบบเร่งรัดเรียน ฉะนั้นในรั้วเองก็ไม่ได้ทำให้ slow life ขึ้น แต่เป็น fast life หนักขึ้นไปอีก และมีการเปรียบเทียบไปอีก คนที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เหลื่อมล้ำทั้งในรูปแบบของการศึกษา ซึ่งเป็นผลกระทบหมดเลยที่ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ เขาเรียกว่า mindset ของเด็กรุ่นใหม่ครับ”




ตั้งรับความอ่อนแอ “เครียด-คิดสั้น”


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการที่เห็นการสร้างคำถามถึงการประสบความสำเร็จ อยากได้ อยากมีบนโลกออนไลน์ หากแต่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นการสร้างความกดดันให้ชีวิตของตัวเอง รุนแรงไปถึงเกิดภาวะตึงเครียด คิดสั้น

“เวลาเราดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว และต้องการกดดันขึ้นมา มันจะนำมาสู่ความตึงเครียด ความคาดหวัง แล้วจะนำมาสู่ภาวะทางจิตที่อ่อนแอ

บางคนอาจจะอ่อนแอต้องไปพึ่งยาเสพติด บางคนอาจจะอ่อนแอถึงขั้นโรคจิต อย่างเช่น ภาวะความตึงเครียดจะนำมาสู่ซึมเศร้า วัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 รายต่อวัน ยังไม่นับที่พยายามฆ่าตัวตาย 20 เท่า ซึ่งจะเห็นเลยว่าจำนวนอย่างนี้ เป็นจำนวนที่เยอะมาก และมันกำลังมากขึ้น เพราะโดนแรงกดดัน โดนแรงเปรียบเทียบ ตั้งความคาดหวังตัวเองก็สูง

มีกลไกที่ทำให้เขาต้อง slow life ความรู้สึกตั้งสติได้ มันอ่อนไปด้วย ซึ่งเป็นงานวิจัยทุนชีวิตของหมอเอง ที่จะเห็นว่าครอบครัวก็อ่อนแอลง หลังคาบ้านมีแค่อาศัยอยู่แค่นั้น หรือแม้กระทั่งรั้วโรงเรียนก็อ่อนแอลง ชุมชนก็อ่อนแอลง กลไกตัวนี้อ่อนแอ บวกกับปฏิกิริยาถูกเร่งอย่างแรง มันก็เลยเกิดผลลัพธ์แบบนี้”


ทว่า ในขณะที่สังคมบีบบังคับให้เติบโต ความเครียดจากการเป็นผู้ใหญ่ก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ มีเรื่องการเงิน การงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ต่างๆ มาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ควรให้ความสำคัญถึงการปลูกฝังพลังบวกให้แก่บุตรหลาน เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เติบโตขึ้นมามีพลังบวกเป็นเกราะป้องกันจิตใจ รวมถึงการตั้งรับการสื่อสารในโลกโซเชียลฯ ที่กลายเป็นหนึ่งในชีวิตไปแล้ว


“ถอยกันมาตั้งหลัก สื่อสารดีๆ สื่อสารด้วยพลังบวก ใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ อีกเรื่องที่หมอรู้สึกว่าสำคัญมาก คือ ภารกิจเปลี่ยนแปลงอินเนอร์จากข้างใน โดยเลือกมา 1 พฤติกรรม และเกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ในบ้าน ชุมชน โรงเรียน ซึ่งเป็นกลไกหลักของเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตกันอยู่ ก็ทำให้ช่วยเยียวยาสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตนี้ลงไปได้

เพราะสังคมกลายเป็นสังคมดิจิทัล เราก็ไม่ได้ปฏิเสธดิจิทัล แม้แต่เรื่องคุณธรรมเราก็ทำในรูปแบบของที่สามารถวัดได้แล้ว คุณธรรมสัมผัสได้ แล้วคุณธรรมกินได้ ทั้งหมดนี้เรากลายมาให้เป็นประเด็นที่สามารถจับต้องได้

มันเป็นพฤติกรรมที่ดีครับ เพราะฉะนั้นถ้าพฤติกรรมที่ดี มันจะทำให้สิ่งที่น้องตั้งคำถามมา มันจะช่วยเยียวยาสภาวะทางจิตใจของประชาชนได้ เราเชื่อว่านี่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ลดทอนความวิกฤตที่มันเป็นอยู่ครับ”





สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น