อักษรฯ จัดเสวนาชวนคิดในหัวข้อ “สอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างไรในวันที่เราบอกเด็กไทยให้มองไปข้างหน้า” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจโลก ชวนมองมุมต่าง อย่าเรียนแบบเดิมๆ สร้างความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์โลก ช่วยให้เด็กสนุกมากขึ้น
ไม่เน้นท่องจำ แต่เน้นจุดประกายให้อยากค้นหาคำตอบ
หนึ่งในวิชาที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงนี้ และยังถูกดราม่าออกมายาวเหยียดเห็นจะหนีไม่พ้น “วิชาประวัติศาสตร์” ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายขานรับจากทางภาครัฐให้แยกออกมาเป็นวิชาเดี่ยวจากกลุ่มสาระสังคมฯ และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเรื่องนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ ศธ. กำลังจะลงนามประกาศใช้ โดยมีกำหนดจะเริ่มต้นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
แม้จะมีฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ยังคงมีคำถามในใจ อีกทั้งมุมมองต่อวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กยุคใหม่ก็ยังเปลี่ยนไปมาก อักษร เอ็ดดูเคชั่น จึงได้จัดเสวนา “สอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างไร ในวันที่เราบอกเด็กไทยให้มองไปข้างหน้า” โดยมี “ตะวัน เทวอักษร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ “ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน” วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกมาร่วมเสวนาด้วยในหัวข้อนี้
เราเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม? ท่ามกลางโลกที่หมุนไว และดูเหมือนจะเป็นวิชาที่พูดถึงกันแต่เรื่องของอดีต ในประเด็นนี้ ดร. วิทย์ ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่าหนึ่งในปัญหาของการเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เด็กไม่สนุก คือ เด็กไม่เห็นความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์โลก หากเด็กเห็นประเทศไทยอยู่ในบริบทโลกการเรียนรู้ก็จะสนุกยิ่งขึ้น
“หนังสือเรียนประวัติศาสตร์เหมือนสารตั้งต้นในการพูดคุยกัน แต่คนที่จะให้ชีวิตกับประวัติศาสตร์ คือ นักเรียน ที่จะต้องตั้งคำถาม และครู ที่คอยช่วยไกด์เพราะประวัติศาสตร์เป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ขึ้นอยู่กับเราจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร เรียนแล้วได้อะไร และจะต่อยอดอย่างไร ฉะนั้น การเรียนประวัติศาสตร์ก็เพื่อไม่ทำผิดซ้ำ”
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์อาจมีการผสมปนเปกันระหว่างความจริงและเรื่องเล่า เด็กบางส่วนรู้สึกว่าเป็นเรื่องล้าหลัง แต่หนึ่งในทักษะสำคัญที่เด็กจะได้ฝึกฝน และเรียนรู้จากวิชานี้เพื่อวิเคราะห์แยกแยะว่า ควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร คือ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 และยังเป็นหนึ่งในสมรรถนะของเด็กยุคใหม่อีกด้วย ดร. วิทย์ จึงมองว่า นี่เป็นทักษะที่โดดเด่นของเด็กยุคนี้อยู่แล้ว
การสอนประวัติศาสตร์ในยุคนี้ จึงอาจไม่ได้มีเป้าหมายให้เด็กจดจำข้อมูลทุกอย่างได้ตามหนังสือเรียน แต่เป็นการสอนเพื่อจุดประกายให้เด็กอยากรู้ แล้วไปหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยตนเองมากกว่าครูต้องทำให้เด็กเห็นว่า สิ่งที่เรียนมันเจ๋งแค่ไหน ถ้าเด็กสนุก เขาจะไปหาคำตอบด้วยตนเองเมื่อเด็กมีแรงบันดาลใจที่จะค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เขาจะสร้างทักษะในการดำรงชีวิตจากกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการหาหลักฐาน การพิสูจน์ความจริง ได้คิดไตร่ตรอง แล้วสรุปผล โดยคุณตะวัน ได้เล่าถึงแนวคิดที่มีมากกว่าแค่การออกแบบหนังสือเรียนไว้ว่า
“เราทำหนังสือเรียนก็จริง แต่เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (Learning Design) ที่ครอบหนังสือเรียนอยู่เพื่อให้ครูเห็นว่า ควรจัดการเรียนการสอนอย่างไร เริ่มต้นจากทำไมต้องเรียนเรื่องนี้ น่าสนใจอย่างไร จะต่อยอดไปเรื่องอื่นอย่างไร เป็นการจุดประกายให้ครูทำให้เด็กเห็นว่า เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร”
สร้างระบบการสอนที่ดีให้ครู เพื่อกระตุกต่อมคิดให้ผู้เรียน
แท้จริงแล้ววิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งสร้างให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และฝึกฝนให้ใช้กระบวนการคิดอย่างชำนาญ จนก่อให้เกิดทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อักษร จึงได้ออกแบบวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับกระบวนการคิดของผู้เรียนในรูปแบบที่เรียกว่า 5Es ได้แก่ กระตุ้นความสนใจ (Engage) สำรวจค้นหา (Explore) อธิบายความรู้ (Explain) ขยายความเข้าใจ (Expand) และ ตรวจสอบผล (Evaluate) เป็นรูปแบบที่เน้นกระบวนการพัฒนาศักยภาพการคิด และการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง คุณตะวันได้อธิบายแนวคิดสำคัญของการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า
“เป็นความท้าทายที่จะทำให้ครูทั่วประเทศเห็นเป็นภาพเดียวกันว่า จะทำให้มันน่าสนใจได้อย่างไร เราจึงมีกระบวนการเรียนรู้ (Learning Design) กำกับไว้ มีไกด์ไลน์คร่าวๆ ในการตั้งคำถามด้วยการใช้ Why และ How ที่ตอบยากกว่า แทนการถามWhat, Where, When, Who คำถามเหล่านี้กระตุ้นให้เด็กคิด ไตร่ตรอง และหาคำตอบ
สิ่งนี้จะช่วยสนับสนุนทำให้ครูผู้สอนสร้างการสอนที่ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้น แล้วก็อยากจะเรียนรู้ได้ นอกจากนั้นเราก็ยังมีการอบรมครูกว่าแสนคนในทุกๆ ปีให้เข้าใจถึงกระบวนการนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะในวิชาประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นทุกวิชา ทุกระดับชั้นเลย”
นอกจานี้ คุณตะวันยังกล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า “สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือเรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้วผู้เรียนจะต้องสามารถนำหลักคิดไปบูรณาการข้ามศาสตร์ให้ได้ สิ่งสำคัญคือครูต้องทำให้เด็กคิดเป็น วิพากษ์เป็น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เป็นมันเป็นพื้นฐานของทุกวิชา และเป็นวิชาที่สร้างทักษะแห่งโลกยุคใหม่”
ด้าน ดร. วิทย์ ก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งสำคัญคือครูผู้สอนต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กอยากเรียนรู้ ในขณะที่เด็กเองก็ต้องรู้จักตั้งคำถามและรู้จักใช้ประสบการณ์ต่อยอด เพราะนอกจากรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์บ้านเมืองที่จะได้รับแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คือ จะได้ฝึกระบบการคิดมากขึ้น
“ประวัติศาสตร์ก็เหมือนตึก ถึงจะวิวัฒนาการไปขนาดไหน แต่ฐานรากมันเหมือนเดิม คือ มีความเชย เป็นคอนกรีตแท่งซีเมนต์ แต่ถ้าไม่มีตึกก็อยู่ไม่ได้ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่มันเป็นระบบคิด”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **