xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่าความหวาน!! จาก “แม่ค้าเสื้อผ้ามือ 2” สู่ “แชมป์เค้กเวทีโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง!! เปิดใจ “ฝ้าย-พรประภา” แชมป์เค้กเวทีโลก จากวัยเด็กที่ล้มลุก กับความฝันเกือบแตกสลาย แม่เดิมพันด้วยการตัดความสัมพันธ์แม่-ลูก สู่เส้นทาง “นักปั้น” ไกลระดับโลก




ปั้นฝัน “น้ำตาลปั้น” ไกลระดับโลก!!


“จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองเก่งค่ะ แต่รู้สึกแค่ว่าตัวเองเป็นคนชอบหาประสบการณ์ให้ตัวเอง อะไรที่เรามีโอกาส ที่เราจะสามารถวัดฝีมือ... เราไม่เคยคิดว่าตัวเองสามารถจะชนะในเวทีนี้ได้


เพราะมันเป็นเวทีระดับนานาชาติเลยค่ะ แล้วคนที่มาลงแข่งในหมวดเดียวกับเรา เขาก็เป็นคนเก่งๆ ที่เราติดตามผลงานเขาอยู่ตลอด

อย่างเช่นคนที่มาจากฟิลิปปินส์เขาก็เก่งมากๆ เลย แล้วเราก็ไม่คิดว่าตัวเองชนะเหมือนกันค่ะ เราแทบไม่มีหวังเลยด้วยซ้ำ เราแค่อยากส่งไปเพื่อวัดกับตัวเอง แข่งกับตัวเองว่า อย่างน้อยเราก็รู้ว่าก้าวมาไกลจากจุดแรกที่เราเคยอยู่แค่ไหน เพราะว่าทุกการแข่งขัน หลังจากการแข่งขันจบมันจะได้ข้อคิด ทำให้ฝีมือเราพัฒนาได้เยอะเลยค่ะ”


ฝ้าย-พรประภา แสงเลิศ วัย 28 ปี เจ้าของผลงาน “A lady from the hell” กล่าวกับทีมสัมภาษณ์ MGR Live หลังจากกลายเป็นแชมป์จากการแข่งขันทำเค้ก ในรายการ “Cake Star International Competition” หมวด “Sculpture Figure” หรือ “ปั้นโมเดลจากน้ำตาล”

มีตัวแทนแต่ละประเทศส่งเข้าแข่งขันมากถึง 150 ประเทศ โดยเธอต้องแข่งกับผู้เข้าแข่งขันกว่า 500 คน ในประเทศเบลเยียม

โมเดลรูปมังกร ที่มีเทพธิดาสวมชุดสีฟ้า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คืองานที่คว้ารางวัลเวทีโลก และกลายเป็นกระแสชื่นชมในสื่อสังคมออนไลน์

เธอบอกเล่าเหตุผลในการตัดสินใจแข่งขันในรายการ “Cake Star International Competition” เพราะเป็นการแข่งขันรายการออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องส่งชิ้นงานไปให้กรรมการตรวจสอบ เพียงใช้ภาพและวิดีโอทุกมุมของชิ้นงานโดยไม่ผ่านการรีทัชส่งไปเท่านั้น

“จริงๆ แล้วเวทีนี้เขาเป็นเวทีออนไลน์ค่ะ ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันก็จะมาจากทั่วโลกเลย เพราะว่ามันสะดวก จริงๆ รู้จักเวทีนี้ได้ประมาณ 1-2 ปีแล้วค่ะ

เพราะว่าเราก็ติดตามผลงานของคนที่เคยลงแข่ง และปีที่แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่บนเฟซบุ๊กของเรา เป็นชาวฟิลิปปินส์ แล้วเขาชนะจากหมวดเดียวกันของปีที่แล้ว แล้วเราเห็นว่าเขาทำได้ แล้วเราก็อยากจะลองดู เขาไปในนามของคนฟิลิปปินส์ เราก็อยากลองดูว่าจะทำได้ไหม

กติกา คือ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องส่งรูป วิดีโอทุกมุม แบบห้ามรีทัช และรูปตอนที่ตัวเองทำไปยืนยันกับผลงาน จะทำให้เราไม่สามารถโกงได้เลย

และคณะกรรมการที่มาตัดสินในการประกวดนี้ก็เป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการน้ำตาลปั้นระดับโลกทั้งนั้นเลยค่ะ เป็นคนที่ถ้าบอกชื่อไป คือถ้าเราอยู่ในวงการน้ำตาลปั้น เชื่อว่าทุกคนรู้จัก เพราะเป็นคณะกรรมการระดับบิ๊กๆ ทั้งนั้นเลย


เขามีกำหนดเดดไลน์มาให้ว่าเราต้องส่งภายในวันที่เท่าไหร่ และเขามีเวลาตั้งแต่เขาบอก concept งาน บอกหมวดมาให้ เขาก็ให้เวลาเราประมาณ 3-4 เดือนเลยนะคะ

บางคนก็จะชอบประมาทเวลา จะคิดว่าเพราะมันเป็นงานชิ้นเล็กๆ หรือว่าเราทำบ่อย เราไปทำ 1 อาทิตย์สุดท้ายก็ได้แต่มันทำอย่างนั้นไม่ได้ค่ะ

เพราะว่าเคยลงประกวดงานหนึ่งของเบลเยียม ปี 2020 ก่อนโควิด-19 ฝ้ายก็ประมาทเรื่องเวลาเหมือนกัน แล้วเวทีนั้นกดดันตัวเองมากๆ จำได้เลยว่าข้าวไม่กิน น้ำหนักลดไป 10 กิโลฯ แล้วก็ทำงานจนเดดไลน์วันสุดท้ายที่เราจะต้องเอางานไปโชว์แล้ว

พอมาเวทีที่ 2 เราก็เลยรู้ว่าเราเผื่อเวลายังไง เราก็เลยให้เวลากับตัวเอง 2 เดือนเต็มๆ เลย เดือนแรกคือเราจะให้เวลากับตัวเอง โดยการออกไปเที่ยว แล้วเก็บไอเดีย เอาไอเดียไปเขียนในสมุด เราก็พักผ่อนให้สมองมันโล่งที่สุด

พอเราได้ไอเดีย สรุปไอเดียให้ตัวเองเสร็จเรียบร้อย เดือนสุดท้ายก่อนส่งงานเราลงมือเต็มๆ เลย เราก็จะได้ไม่มาเครียดค่ะ”


เธอตั้งใจถ่ายทอดความเป็นตัวเองหลายอย่างลงไปในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหารการกิน ที่เราจะเห็นอาหารไปปรากฏในงาน “A lady from the hell” สู่สายตาทุกคนในมุมโลก

“กรรมการเขาก็บอกงานสะอาด งานสวย detail ดี และโทนธีมงานที่ทำมันสวย มันพลิ้ว คะแนนได้เกือบ 100 หลายคนเลยค่ะ และได้เต็มร้อยด้วยจากบางท่าน

งานที่แข่งรอบนี้ คือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด เขาก็จะแบ่งไปตามหมวดหมู่ มันจะมีทั้งหมด 10 หมวดหมู่ค่ะ เช่น หมวดเค้กแต่งงาน เค้กวันเกิด คัพเค้ก แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนเลย

ส่วนตัวฝ้ายลงฟิกเกอร์ ก็จะเป็นเหมือนงานปั้นตุ๊กตา แต่กติกาหลักๆ คือ เราจะต้องใช้อะไรที่กินได้ แม้กระทั่งสี เพราะว่าเราต้องส่งวัตถุดิบ และอุปกรณ์ทั้งหมดที่เราใช้ ต้องส่งรูปให้กรรมการดูด้วย และจะมีขั้นตอนการทำของเราด้วย”

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ที่ต่อสู้กับความฝัน และใจของตัวเองในการแข่งขันครั้งนี้ เต็มไปด้วยความทุ่มเท และประสบการณ์ล้ำค่า ที่อาจจะไม่ได้รสหวานอย่างน้ำตาลที่ปั้น

“ถ้าประสบการณ์ที่ได้ ครั้งนี้ได้ประสบการณ์เยอะเลยค่ะ เรารู้ว่าครั้งหน้าเราจะต้อง manage ตัวเองยังไง ต้องวางแผนตัวเองยังไง และเราได้ skill จากการทำงานนี้

เพราะเอาจริงๆ งานที่ทำก็เป็นครั้งแรกที่ทำเหมือนกัน เราก็จับเทคนิคตัวเองได้ และถ้าถามว่าเรื่องรางวัล ก็ได้เป็นเงิน 2 หมื่นบาท”





เติมไฟด้วยการหยุดพัก!!



“จู่ๆ บางทีคนเราก็หมดไฟเหมือนกัน คนเรากินอาหารซ้ำๆ บ่อยๆ มันก็มีเบื่อกันบ้าง เราก็ทำเค้ก บางทีเจอปัญหาเข้ามากระทบ นอกจากปัญหาเรื่องเค้กแล้ว มันก็กระทบกับใจเราด้วย

เวลาเจอปัญหาแบบนี้เราก็จะปิดเลยค่ะ จะไม่เล่นโซเชียลฯ และพักสมองตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง ออกไปเที่ยว เพราะส่วนตัวแล้วฝ้ายเป็นคนชอบอยู่คนเดียว หรือไม่ก็อยู่กับลูก, แฟน และครอบครัว

ก็จะให้เวลาตัวเองมากขึ้น ออกไปเดินเล่นคนเดียว ออกไป shopping ไม่ก็ดูหนัง ทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองอยากจะทำ สักอาทิตย์หนึ่ง พออาทิตย์หนึ่งอยู่กับตัวเองมากๆ ก็จะเริ่มคิดถึงงานปั้นแล้วค่ะ สุดท้ายก็วนกลับมาทำงานปั้น”






เสียงความฝันที่ต้องเลือก กับ “คำขอ” ผู้เป็นแม่


ทว่า แม้จะได้รับรางวัลระดับโลกมาครอง แต่กว่าฝ้ายจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปชีวิตของเธอต้องต่อสู้ ล้มลุกคลุกคลาน เจอคำดูถูกมานับไม่ถ้วน จนถึงขนาดผู้เป็นแม่เคยจะตัดขาดสัมพันธ์ "แม่-ลูก" หากเธอเลือกเดินตามความฝันของตัวเอง

“แรงบันดาลใจตอนแรกเลยไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำขนม หรือทำอาหารค่ะ เป็นคนที่ไม่มีสกิลด้านนี้เลย จริงๆ จุดเริ่มต้นมันเริ่มตั้งแต่ตอน ม.ปลายเลย เแต่ที่บ้านเขาไม่สนับสนุนเรื่องนี้ โดยเฉพาะแม่ก็จะแอนตี้มากๆ เลยค่ะ

พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่ยังเด็ก แล้วฝ้ายอยู่กับแม่ โตมากับแม่ พอเข้า ม.ปลาย เราก็ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร เราก็อยากลองไปเรื่อยๆ


ตอน ม.ต้นเรียน English program พอ ม.ปลายมาเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะตัวเองไม่รู้ อยากทดลอง แล้วพอจะจบ ม.ปลาย จะต้องจะเข้ามหาวิทยาลัย ทางโรงเรียนเขามีโควตามหาวิทยาลัยมาให้ แล้วคะแนนของฝ้ายสามารถยื่นโควตาเอกคหกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ ฝ้ายก็อยากเอาโควตานี้ 

ส่วนตัวตอนนั้นแค่อยากจะทำอาหาร อยากจะลองดูเพราะว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้ว ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก เราก็เลยคิดว่าอยากจะทำอาหาร เราเลยเอาโควตาคหกรรมนี้ไปปรึกษาแม่ เพราะแม่เป็นคนส่งเรียน

ปรากฏโดนแม่ด่า แม่บอกว่า 'ถ้ามึงเลือกเรียนคหกรรม ก็ตัดแม่ตัดลูกกับกูไปเลย ก็ไปส่งตัวเองเรียน' แล้วเขาทำอย่างนั้นจริงๆ นะ คือ เขาก็ไม่ได้ให้ค่าขนมเลย

แล้วก็ทะเลาะกับแม่หนักมาก ด้วยความที่ว่าทั้งชีวิตของแม่ ในวัยทำงานของแม่ ทำงานอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาว แม่ก็จะได้เห็นหน้า front ส่วนตัวแม่ก็จะมีอคติกับคนที่ทำงานครัว ว่าคนที่ทำงานครัวจะต้องใช้แรงงานเยอะ

ทำงานเหมือนจับกัง ก็จะไม่ได้เห็นคน เห็นดาวเห็นเดือน ไม่ได้พูดคุยกับคนอื่น ในแต่ละวันก็ตัวเหม็นเหงื่อ เหม็นกลิ่นอาหาร แล้วก็ไม่ได้แต่งตัวสวยๆ ไม่มีโอกาสออกไปพบผู้คนใหม่ๆ แม่ก็เลยค่อนข้างแอนตี้เรื่องนี้มากๆ เลย

ตอนนั้นเลยตัดสินใจว่า ในเมื่อตัวเองไม่รู้ตัวเองชอบอะไร ก็เลยตัดสินใจเดินตามแม่ แม่อยากให้เรียนเอกท่องเที่ยวและการโรงแรม เราก็สอบเข้าให้แม่

แต่ปรากฏว่าเรียนได้ 2 ปี พอขึ้นปี 2 ก็ดรอปเลยค่ะ เพราะว่ามันไม่ใช่ทาง และหลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่อให้จบ แล้วหลังจากนั้นฝ้ายก็มีลูกค่ะ”


แน่นอนว่าเธอถูกตัดความฝันที่จะได้ใช้ชีวิตทำในสิ่งที่เธอรัก แต่ฝ้ายไม่ได้รู้สึกโกรธผู้เป็นแม่แต่อย่างใด กลับเข้าใจความหวังดีของแม่ทุกอย่าง

หลังจากชีวิตหันหลังให้ความฝัน เธอยึดอาชีพขายเสื้อผ้ามือสองเพื่อหารายได้ เพราะในเวลานั้นเธอได้กลายเป็น Single Mom ทำให้ต้องพยายามหาอาชีพที่ทำเงินและเลี้ยงลูกในเวลาเดียวกัน

“พอคลอดน้องออกมา 9 เดือน ตอนนั้นฝ้ายชีวิตมีปัญหา ก็กลายมาเป็น single mom ค่ะ ก็ต้องเลี้ยงน้องคนเดียว ด้วยความที่ว่าตอนนั้นทุนมันน้อย ฝ้ายก็ไม่มีความรู้ ไม่มีวิชาชีพอะไรเลย ก็เอาเงินที่ตั้งตัวตอนแรก ไปลงทุนขายเสื้อผ้ามือ 2 ของเด็ก

แต่ด้วยความที่ธุรกิจของเด็กไม่ได้เฟื่องฟู เท่ากับผ้ากระสอบมือ 2 มันก็มีปัญหาเยอะ ตอนนั้นก็ไปขอ ไปรบเร้าแม่ ขอทุนมาซื้อเตาอบ กับเครื่องตีเล็กๆ ตัวหนึ่ง

เพราะไปเลื่อนในเฟซบุ๊กแล้วเห็นในกลุ่มที่เขาทำขนมค่ะ เขาลงรูปแล้วเราก็คิดว่าอยากจะทำ เผื่อมันจะช่วยให้เรามีรายได้ขึ้นมาบ้าง”




ก้าวผ่านมรสุม ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้

[เบื้องหลังความสำเร็จ ปลุกใจให้สู้ต่อ]
เรียกได้ว่าฝ้ายต้องเผชิญมรสุมชีวิตแทบทุกทาง แต่เพราะความรักที่มีต่อการทำขนมต่างๆ และการอยากมีชีวิตที่ดี ผลักดันให้เธอกล้ามีชีวิตของตัวเอง

“พอซื้อเตาอบและเครื่องตีมาได้ ก็ลองทำขนมครั้งแรก ถ้าจำไม่ผิดเป็นคุกกี้ แล้วก็ไหม้ หลังจากนั้นก็ทำขนมปังไส้กรอก ก็แข็ง มันก็กินไม่ได้ จากนั้นก็ไม่กล้าจับเตาอบอีกเลย ก็ปล่อยเตาอบทิ้งเอาไว้ จนวันหนึ่งพี่สะใภ้เขามาบอกว่าเขาอยากจะกินบราวนี แล้วมันใกล้จะวันเกิดหลานแล้วด้วย เขาก็บอกช่วยทำให้หน่อยได้ไหม อยากให้หลานกินเค้ก

ก็เลยบอกว่าโอเค จะลองทำอีกครั้งหนึ่ง สรุปว่าไปซื้อของลองทำอีกครั้ง ก็ไม่ผ่านมันไหม้ มันกินไม่ได้ แต่ครั้งนั้นเราไม่ได้ถอดใจ เราก็ไปซื้อวัตถุดิบมาอีก ...ก็ทำอีก สุดท้ายก็ทำจนมันได้

จากนั้นเราก็เริ่มทำให้คนในบ้าน เพื่อนๆ หรือว่าคนข้างๆ บ้าน เขาช่วยกันชิม สุดท้ายเราก็เริ่มทำขายค่ะ แต่ว่าแรกๆ ด้วยความที่ทุนเราไม่มีเราก็อาศัยจากการเรียนในอินเทอร์เน็ต เราก็จะทำได้แค่ขนมเล็กๆ น้อยๆ ง่ายๆ พวกบราวนี เค้กหน้านิ่ม

แต่ตอนนั้นเพิ่งจะทำเค้กปอนด์ขาย ก็จะเป็นพวกเค้กครีม ไม่ได้ใช้เทคนิค เอาแค่ปาดครีมทั่วไป เพราะเราไม่มีทุน

จนวันหนึ่งย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบๆ 7 ปี ก็ได้พบกับแฟนปัจจุบัน เขาเป็นคนต่างชาติ แล้วเขาก็เป็นคนที่คอยสนับสนุน เขาบอกว่าถ้า You ชอบอันนี้ You อยากเรียน เดี๋ยวฉันจะสนับสนุนเอง

เขาเป็นคนที่ส่งเรียนตลอดทุก class เลย ตั้งแต่แรกที่อยู่ที่ไทย จนทุกวันนี้ผ่านมา 7 ปี เขาก็คือคนที่สนับสนุนเบื้องหลังตลอด โดยที่คนในครอบครัวไม่ได้สนับสนุนเลย เพราะว่าแม่เขาค่อนข้างแอนตี้มากๆ เลย”

[บางส่วนของผลงาน]


เธอกล่าวกับผู้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า ในช่วงแรกที่ตัดสินใจทำตรงนี้ ตนเองเริ่มจากศูนย์ เพราะต้องฝึกฝนเอง และพยายามสมัคร workshop ในคลาสเรียนต่างๆ

โดยฝ้ายเริ่มต้นจากการลงเรียน Workshop น้ำตาลปั้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเรียนที่ทำให้ได้รู้จักน้ำตาลฟองดองต์ และได้รู้ว่าการทำเค้กนั้นสามารถต่อยอดไปเป็นงานศิลปะอื่นๆ ได้

“ค้นพบครั้งแรกจริงๆ ตอนการจัดประกวดที่กรุงเทพฯ เขาจะมีการประกวดน้ำตาล ในงานนั้นจะมีพวก workshop จากคุณครูที่เขาทำขาย เขาก็มาเปิด workshop สอน เราก็บินจากภูเก็ตไปเลยค่ะ ไปวันเดียวเพื่อจะไปเรียน 

อีกวันก็นั่งเครื่องกลับมาทำงาน ไปลงเรียน และครั้งนั้นก็เป็นครั้งแรกที่ได้รู้งานแบบนี้ แล้วหลังจากนั้นก็มาบอกแฟน เขาก็บอกว่าถ้าชอบ เขาก็จะส่งเรียน

ฝ้ายเรียนเยอะมากเลยนะคะ แรกๆ ที่ลงเรียนกับคุณครูอลิส คุณครูทีมที่ประเทศไทยค่ะ ก็จะเรียนตั้งแต่ class basic เลย ตั้งแต่เริ่มปั้นคน ปั้นมังกร ปั้นพญานาค และเรียนต่อตัว

พอย้ายออกมาจากประเทศไทย ก็ไปลงเรียนกับครูต่างชาติ ก็มีการ paint สีบนเค้ก ปั้นดอกไม้ เรียนเยอะมากๆ ค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังเรียนอยู่

ทุกวันนี้ก็ยังซื้อ class ก็ลงเรียนทั้งออนไลน์และ face to face ด้วยค่ะ เยอะมากๆ เลย นับไม่ถ้วนเลย”

เธอได้ศึกษาค้นคว้า และลงเรียนตั้งแต่คลาสเริ่มต้นไปจนถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด แต่เมื่อเรียนจบคอร์สแล้ว กลับมาอยู่บ้านที่ จ.ภูเก็ต กลับไม่ได้ใช้ความรู้ และได้ฝึกฝีมือในสิ่งที่เรียน เพราะเค้กที่ทำจากน้ำตาลฟองดองต์มีราคาค่อนข้างแพง

เมื่อฝ้ายได้มีโอกาสย้ายไปอยู่ที่ประเทศเบลเยียมกับสามี เธอจึงได้ฝึกฝนฝีมือการทำเค้กเพิ่มเติมกับแม่สามีที่ชื่นชอบการทำเค้กเหมือนกัน

และมีงานอดิเรกคือการเก็บสะสมอุปกรณ์ทำเค้ก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของเธอในปัจจุบัน จนต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้




ศิลปะที่ใช่ กลายเป็นอาชีพ

[อุปกรณ์ปั้นน้ำตาล]
“ทำงานแบบนี้ครั้งแรกก็อยู่ที่ต่างประเทศแล้วค่ะ ทำจริงๆ จังๆ ที่ต่างประเทศค่ะ ที่ไทยก็เคยลองทำเหมือนกัน แต่ฝีมือก็ไม่ได้เลย ถ้าเทียบระหว่างก้อนแรกกับก้อนนี้”


เมื่ออยู่ในประเทศที่เปิดกว้าง พร้อมกับสามีที่พร้อมสนับสนุน ทำให้เธอเข้าสู่วงการทำน้ำตาลปั้นอย่างจริงจัง เด็กสาวผู้ไม่มีความฝันในตอนนั้น เริ่มเห็นฝันตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้น จนพาตัวเองมาอยู่ในเวทีประกวด

“เริ่มฝึกงานปั้นจริงๆ ประมาณ 4 ปีค่ะ ส่วนใหญ่ก็ฝึกเอง ถึงแม้เราจะเรียนกับครูมาเยอะ หรือว่าเราเรียนออนไลน์ สุดท้ายเราก็ต้องมาฝึกเอง

คือฝ้ายจะฝึกทุกวัน ในตอนที่ตัวเองว่างค่ะ วันที่เราไม่ติด order ลูกค้า หรือวันที่เราไม่มี order เท่าไหร่ เรามีเวลาว่างเยอะ เราก็จะทำ แล้วก็วางไว้ตามบ้าน เต็มบ้านไปหมดเลย

การปั้นน้ำตาลมันเหมือนทำให้เรา relax ค่ะ ทำให้เราผ่อนคลาย ไม่ว่าเราจะเจอเรื่องที่เครียดมา การปั้นน้ำตาลมันช่วยได้มากๆ เลยค่ะ ถือว่าได้ฝึกมือด้วย แล้วก็ได้ผ่อนคลายในตัวเองด้วย

ฝ้ายเป็นคนไม่จับเวลาในการทำ จะปล่อยให้ตัวเองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แล้วให้งานออกมา ถ้ามันเสร็จเราชอบ ก็ถือว่าเสร็จแล้วค่ะ เราจะไม่จับเวลา จะไม่กดดันตัวเองค่ะ

แต่ถ้าเป็นงานประกวด คือเราจะแพลนเอาไว้เลยว่าอาทิตย์นี้ วันนี้เราต้องเสร็จตรงนี้นะ ...เราให้เวลาตัวเองอีก 3 วันนะ ภายใน 3 วันต้องเสร็จตรงนี้นะ ไม่งั้นตารางงานจะรวนค่ะ เราต้องรู้จัก manage เวลาด้วย”

[กับรางวัลสนามแรก รองชนะเลิศอันดับ 1 ]


สาวนักปั้นพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เจอสิ่งที่ยากๆ ก็พร้อมจะทำให้ดีกว่าเดิม และยังมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลาในงานที่ทำ ไม่มีวันไหนที่น่าเบื่อ

“จริงๆ ตอนแรกชิ้นงานนี้มันไม่ได้เป็นแบบนี้นะคะ ต้นแบบจริงๆ ในตอนแรก มังกรทำไปได้ 50% แล้วฝ้ายเห็นว่ามันไม่โอเค มันไม่ชอบฝ้ายก็ต้องรื้อใหม่ ทำใหม่ ขึ้นโครงใหม่หมดเลย ก็จะเสียเวลาตรงนั้น

กดดันไหม...ไม่ได้กดดันค่ะ เพราะว่าส่วนตัวแล้วแพลนเวลาไว้แล้ว แต่ถามว่ามีปัญหาไหม ...มีค่ะ มีปัญหา เจอปัญหาหลายข้อมากเลย เช่น น้ำตาลไม่เซตตัว รีดชุดเอาไปใส่แล้วชุดขาด เพราะว่าผ้ามันพลิ้วจริงๆ น้ำตาลมันบางจนมันเห็นมองทะลุไปเลย ซึ่งพอเราหยิบขึ้นมามันก็ขาด

เวลาเราคิดโทนสี แล้วโทนงานมันไม่ได้แบบที่เราคิด เราก็ใช้ความคิดตัวเองอย่างเดียวตัดสินไม่ได้ เราก็ต้องไปปรึกษาคนใกล้ตัว ปรึกษาซาวนด์เสียงจากหลายๆ คน จากเพื่อน จากคนในครอบครัว ให้เขาช่วยดูว่ามันโอเคไหม แล้วเราก็ต้องใช้ความรู้สึกตัวเองด้วย

จริงๆ มังกรตัวแรกเป็นสีทองค่ะ หัวเขาอยู่ข้างล่าง ไม่ได้อยู่ข้างบน เรารู้สึกว่ามันไม่โอเค เราก็เลยต้องแก้ นั่นคือปัญหา เพราะว่าพอเราแกะตัวที่ดามน้ำหนักของมังกรออก ทำให้ชิ้นงานตัวโครงข้างในพัง ก็ต้องหาวิธีแก้ ก็เจอปัญหาเยอะอยู่ค่ะ”

[หนึ่งในผลงานการทำเค้ก]
จากประสบการณ์กว่า 4 ปี เธอมองว่าสิ่งสำคัญของการทำน้ำตาลปั้น นอกจากมีจินตนาการเป็นของตัวเองแล้วนั้น จะต้องรู้จักจัดการความคิดของตัวเองด้วย อีกทั้งหากวางแผนไม่ดี น้ำตาลปั้นที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป อาจจะทำให้งานมีปัญหาทั้งหมด

“มีประสบการณ์เยอะขึ้น พังเยอะมากๆ เลย เพราะว่าจริงๆ ตั้งแต่เรียนมาจากที่ไทยเราก็ไม่ใช้เลยค่ะ เพราะว่าที่ประเทศไทยตลาดน้ำตาลเขาไม่ค่อยกว้าง เท่ากับต่างประเทศ ราคาเค้กน้ำตาลค่อนข้างสูง ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ใช้ประสบการณ์ที่เรียนมาเลย

ต้องระวังเรื่องจินตนาการของตัวเองด้วย เวลาทำไปแล้วจินตนาการมันพุ่ง แบบมันจะเปลี่ยน เราต้องคอยบล็อกตัวเองเอาไว้ ให้อยู่บนแบบของตัวเอง ไม่งั้นจะเสียเวลาไปเยอะเลย แล้วสุดท้ายงานไม่เสร็จค่ะ”


เรียกได้ว่ากว่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ พบเจอความฝันของฝ้าย บนเส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก่อนบทสนทนาทางไกลจะจบลง ผู้ปั้นวัย 28 ปีบอกกับเราว่า อยากจะให้คนที่มีความฝันที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ ได้ลองเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง เพราะอาจจะพบว่าสิ่งใหม่ๆ อาจจะเปลี่ยนตัวเองได้ในอนาคต

“จริงๆ ถ้าอยากลอง ลองดูก่อนก็ได้ค่ะ คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ลอง และถ้าคิดว่าตัวเองชอบงานด้านนี้จริงๆ ต้องฝึกให้เยอะๆ และต้องพยายามหาไอเดียตลอด ต้องดูคนที่เขาเก่งกว่าเราเยอะๆ เอาตัวเองเข้าไปใกล้คนที่เก่ง แล้วเราก็จะเก่งขึ้นเหมือนกัน”





ช่องโหว่ไทยไร้คนสนับสนุน!!



“คิดว่าที่ไทยก็มีโอกาสมีชื่อเสียงนะคะ แต่ถ้าต่างประเทศฝ้ายมองว่ามันมีโอกาสเยอะกว่า ด้วยตัววัตถุดิบ ตัวภูมิอากาศและการที่รัฐฯ เขาสนับสนุน มีการจัดประกวดเยอะ เบลเยียมเองก็มีการจัดประกวด ประเทศฝรั่งเศสที่อยู่ใกล้ๆ ก็มีการจัดประกวด

เป็นเมืองขนมหวาน มีการประกวดช็อกโกแลต ประกวดเค้ก ประกวดงานน้ำตาล คือรอบประเทศที่นี่ เขาประกวดกันทุกประเทศเลย

เราเองก็ต้องเป็นที่ยอมรับของที่นี่ก่อน และในแวดวงของคนไทย ถ้าเราไม่มาต่างประเทศ ก็คงไม่มีโอกาสได้โชว์งานแบบนี้เท่าไหร่

ที่ไทยก็มีงานประกวดนะคะ แต่ก็ยังไม่ได้บ่อยเหมือนที่ต่างประเทศค่ะ มีแค่บริษัทเดียวที่เขาผลิตน้ำตาลปั้น ทำให้ตัวเลือกไม่เยอะ ต่างประเทศมีคนที่ผลิตหลายยี่ห้อมากๆ เลย และการแข่งขันจะเยอะมากๆ เลย

น่าจะเป็นเพราะที่ไทยไม่มีโอกาสได้โชว์ฝีมือเยอะ แล้วก็ตัวเลือกวัตถุดิบค่อนข้างน้อย ถึงจะมาจากต่างประเทศก็จริง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ตลาดน้ำตาลปั้นค่อนข้างที่จะแคบ

เพราะว่าเค้กก้อนหนึ่งที่เป็นน้ำตาลปั้นที่ไทยก็เริ่ม 3,000-4,000 บาทแล้ว ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ใช้ฝีมือตรงนี้ค่ะ แต่ถ้าที่ต่างประเทศ เค้กน้ำตาล คือเป็น basic เลยค่ะ ลูกค้าทุกคนที่มาสั่ง เกือบ 95% จะเป็นงานน้ำตาลค่ะ เราก็จะได้ใช้ฝีมือตรงนี้เยอะมาก และได้พัฒนาฝีมือทุกวัน

ส่วนตัวถ้าพูดถึงตัวเค้ก ฝ้ายจะใช้เค้กเหมือนคนไทยทำ คือที่ประเทศไทยจะนิยมเค้กนิ่มๆ ในขณะที่ต่างประเทศจะเป็นเค้กเนื้อหนักๆ

นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฝ้ายตีตลาดต่างประเทศได้ เพราะเราเอารสชาติของคนไทยมาขาย เพราะต่างชาติเขาจะกินหวานมากๆ เลย คือเค้ก ขนมที่นี่จะหวานมากๆ หวานแบบตัดขา เขาเทน้ำตาลตกไปรึเปล่า

แต่ส่วนตัวเราเมื่อทำให้ลูกค้า เราจะทำในรสที่เราชอบ เราจะไม่ค่อยกินหวาน ก็จะ drop หวานให้ลูกค้าและจะไม่ทำเค้กแข็ง ฝ้ายจะทำรสแบบไทยค่ะ”




สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก "Saenglert Ponprapa"



กำลังโหลดความคิดเห็น