คิดให้กว้าง-มองให้ไกล-แบบไร้ขีดจำกัด!! เปิดใจ “แบงค์-ชินดนัย ภูวกุล” จากนักเต้น สู่ผู้บริหารค่ายเพลง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินไทยและต่างชาติ กับนามสกุลที่คุ้นหู เพราะเป็นพี่ชาย “แบมแบมGOT7” นั่นเอง พร้อมคุยลึกถึงเส้นทางการเป็นคนเบื้องหลังในวงการบันเทิงต่างแดน ที่กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กับโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดา พร้อมเล่าบรรยากาศการทำงานร่วมกับน้องชายที่เป็นนักวางแผนกันทั้งคู่
เปิดตัวศิลปินเบอร์แรกก็ปังเลย
“สิ่งที่ทำให้ผมมาถึงทุกวันนี้ได้ คือ เป็นคนที่มองโลกมุมกว้าง ผมเอากำแพงเรื่องของประเทศออก เพื่อให้กรอบความคิดของเรามันไร้ขี้ดจำกัดมากขึ้น
ไม่ได้แค่เอากำแพงของตัวเองออก เอากำแพงของประเทศอื่นออกด้วยเช่นกัน ให้เขาเปิดใจยอมรับของเรา แล้วเรามาคุยสร้างสิ่งใหม่ๆ ผมคิดว่าไอเดียใหม่ๆ ภาพใหม่ใหม่ๆquality ใหม่ๆ ของเพลงผม น่าจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ของวงการไทยได้อยู่บ้าง”
หลังจากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และเป็นที่ปรึกษาให้ค่ายเพลงต่างๆ ในวงการบันเทิงไทย และเกาหลีใต้ มานานกว่า7 ปี ถึงเวลาของ “แบงค์-ชินดนัย ภูวกุล” วัย 30 ปี กับบทบาทใหม่ที่ท้าทายความสามารถ ขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารค่ายเพลง “E29 MUSIC IDENTITIES”
หลายคนคงคุ้นหูกับนามสกุลกันอยู่บ้าง เพราะเขาเป็นพี่ชายของนักร้องไอดอลชื่อดัง “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” หรือ “แบมแบม GOT7” นั่นเอง
เขาถือว่าเป็น ผู้บริหารค่ายเพลงรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มีโปรไฟล์ไม่ธรรมดา โดยมีจุดเริ่มต้นของการมานั่งแท่นในบริหารค่ายเพลงในครั้งนี้ เขาเริ่มจากเป็นครูสอนเต้นที่ต่างประเทศ ก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์มามากมาย สู่การทำงานเบื้องหลัง โดยทำเกี่ยวกับ Support Music Label
จนกระทั่งมี “พิชญ์ โพธารามิก”นักธุรกิจชื่อดังผู้บริหารMono 29 ได้ผู้ชักชวนให้มาร่วมงานกัน โดยมีความฝัน และเป้าหมายร่วมกันว่า อยากยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เติบโตไปในระดับglobal และอยากผลักดันเพลงไทย และความสามารถของศิลปินไทยสู่สายตานานาชาติได้รับรู้
ซึ่งเรียกได้ว่าไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเปิดตัวศิลปินเบอร์แรกของค่ายอย่างน้อง “แองจี้-ฐิติชา สมบัติพิบูลย์” ทายาทร็อกเกอร์ดังของเมืองไทย “โป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์” หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “พี่โป่ง-หิน เหล็ก ไฟ” ที่มีความสามารถครบเครื่อง จนทำให้กระแสดีเกินคาด ปล่อยเพลงออกมาไม่นาน ก็ฟาดยอดวิวเอ็มวีบนยูทูบไปถึง61 ล้านวิวแล้วตอนนี้
“ผลตอบรับก็ 61 ล้านวิว เรียกว่าเป็นอะไรที่เกินคาดสำหรับเรามากๆ ไม่ได้คิดว่าเปิดตัวครั้งแรกจะมาได้ไกลขนาดนี้ ถ้าเราคุยในเรื่องของStack มียอดวิวจากต่างชาติมาสมทบประมาณ 50% เลย ยอดวิวมันก็เลยจะกระโดดขึ้นมาในระดับหนึ่ง ถือว่าโอเคมากๆ
และด้วยจุดเด่นของน้องแองจี้ ที่ผมเห็นในตัวน้องก็คือ เรียกว่าเอกลักษณ์ส่วนตัวก่อนครับ รูปแบบการ performance ของน้อง ความมั่นใจในเสียงของน้อง รวมถึงความสามารถ แล้วน้องก็เชี่ยวชาญเรื่องการแต่งเพลงค่อยข้างมาก เป็นเด็กวัยรุ่นคนนึงที่เข้าใจในเรื่องของเพลงและเสียงดนตรีแบบมากจริงๆ
ซึ่งอาจจะเติบโตมากับพี่โป่งด้วย เลยเข้าใจในส่วนของ process พอสมควร น้องเข้าใจทุกกระบวนการ และก็สามารถแสดงความคิดเห็น ออบแบบไอเดีย สร้างผลงานร่วมกันได้ตลอดเวลาเลย”
เพลงนี้ยังได้ น้องแบมแบม น้องชายสุดที่รัก มาช่วยแต่งเพลงพร้อมดีไซน์เมโลดี้ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ และสามารถเต้นตามได้ไม่ยาก เรียกได้ว่าเพลงนี้จะเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานวงการ T-POP เพื่อก้าวไปสู่ระดับสากลได้อย่างดีเยี่ยม
“ผมสนิทกับน้องชาย แล้วก็เราร่วมงานกันตลอดเวลาอยู่แล้ว วันหนึ่งถ้าเราขึ้นมาเป็นผู้บริหารของค่ายเพลง เราก็มีการอัพเดทให้น้องฟัง ซึ่งน้องก็บอกว่า งั้นอยากขอโอกาสแต่งเพลงให้กับศิลปินไทยสักหน่อย
ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็มาจากแรงซัพพอร์ตจากแฟนคลับน้องแบมแบมด้วย จากอากาเซ่ ต้องขอบคุณมากจริงๆ แล้วก็ด้วยความที่เรามีการโปรโมทหลายๆ พื้นที่ มีการโปรโมทนอกเหนือจากไทยด้วย ไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งผลตอบรับมันก็ค่อนข้างโอเคพอสมควรเช่นกัน”
พี่แบงค์-น้องแบมแบม นักวางแผนกันทั้งคู่
อย่างที่ทราบกันดีว่า เปิดตัวศิลปินเบอร์แรก ก็ได้น้องชายมาช่วยแต่งเพลงพร้อมดีไซน์เมโลดี้ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ เราจึงให้ช่วยเล่าถึงบรรยากาศในการทำงานของพี่น้องคู่นี้ ที่ต่างคนต่างเป็นนักวางแผนกันทั้งคู่ และด้วยความที่สนิทกันมากๆ ทำให้บรรยากาศการทำงานไม่ได้ซีเรียส ไม่มีความตึงเครียด หรือกดดันอะไร
“บรรยากาศเวลาทำงานร่วมกับน้องชาย คือจริงๆ แล้วก็คือพี่น้องทั่วไปตามปกติเลยครับ คุยเหมือนไม่ได้มีเรื่องอะไรซีเรียสเลยครับผม ถึงแม้มูลค่างานจะเยอะมาก ก็ไม่เคยคุยกันตึงเครียดใดๆ
พอน้องชายถนัดความเป็นเบื้องหน้า ผมถนัดความเป็นเบื้องหลังเวลาคุยกันมันก็คุยกันเข้าใจ และง่าย และเร็ว เช่น ผมมีคอนเสิร์ต ผมก็ถามน้องว่า อยากมาเล่นไหม เดี๋ยวจะใส่ลิสต์ให้ น้องขอรีเควสแบบนี้ๆ ผมก็โอเคได้ เดี๋ยวไปจัดมาให้
หรือบางทีผมมีงาน น้องก็จะมาบอกว่า ขอร่วมด้วยได้ไหม ขอให้นายทุนจ่ายค่าตัวน้องได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ เดี๋ยวไปคุยให้ หรือว่าผมมีเพลงนี้ ช่วยแต่งให้หน่อยสิ เขาก็โอเคได้ เข้าก็ทำมาให้ มันจะเป็นแค่นี้เลยครับ มันจะเป็นการแลกเปลี่ยนชิลมากๆ
เวลาทำงานกับน้องชาย”
ต่างกันต่างเป็นที่ปรึกษาที่ดีต่อกัน เรียกได้ว่าเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยเสริมการทำงานขอต่างฝ่ายให้เดินไปสู่เป้าหมายกันทั้งคู่ได้อย่างยอดเยี่ยม
และข้อดีอย่างหนึ่งที่มองว่า ได้ทำงานร่วมกันกับน้องชายคือ ด้วยความที่น้องชายเชี่ยวชาญงานเบื้องหน้า ส่วนตัวเองเชี่ยวชาญงานเบื้องหลัง ทำให้ประสานกันได้อย่างลงตัว เพราะมองว่าวงการบันเทิง เบื้องหน้าและเบื้องหลังคือสิ่งที่ต้องการกันและกันอยู่แล้ว
เบื้องหน้าและเบื้องหลังคือฟันเฟืองสองอันที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เบื้องหลังจะไม่เกิดถ้าไม่มีเบื้องหน้า และเบื้องหน้าก็จะไม่เกิดถ้าไม่มีเบื้องหลังด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเป็นความต้องการกันและกันอยู่แล้ว
“เวลาเราโยนความต้องการอะไรไป หรือเขาโยนอะไรมา มันจะประสานกันได้พอดี เราเหมือนกันตรงที่ว่า เป็นนักวางแผนเหมือนกันทั้งคู่ เราเป็นคนที่คิดแบบมีสเต็ปเหมือนกัน พอมันเข้าใจ process การวางแผนก็ง่าย คนนึงจะเก็บงานข้างหน้า อีกคนจะเก็บงานข้างหลัง มันเลยแบบไม่ต้องการ discuss อะไรเยอะเยอะมากมายครับ ต่างคนต่างรู้หน้าที่
และด้วยความที่สนิทกันมากๆ มันเข้าใจกันและกันดีว่า ถ้างานอย่างนี้ผมจะรู้ว่าน้องชายผมต้องการอะไร ผมจึงจะต้องเป็นคนเคลียร์มาให้ น้องชายก็จะรู้ว่าจริงๆ ใจผมอยากได้อะไร เขาก็จะเป็นคนไปเคลียร์มาให้ พอมารวมกันทุกอย่างมันก็เลยพอดี ร่วมงานกับน้องทีไรทุกอย่างมันก็มีความพอดีตลอดเลย”
จุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นคนเบื้องหลังในวงการบันเทิง
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ให้เขาก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ แน่นอนว่าโปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เขาเริ่มจากทำ Dance Community มาก่อน เรียกว่าเป็นครูสอนเต้นคนนึงในประเทศไทย ที่รับจ้างสอนทั่วไป สอนตามสถาบัน จนวันนึงได้ลงคลิปวิดีโอการเต้น แล้วทางฟิลิปปินส์ก็ได้เห็นคลิปตัวนั้น จึงได้รับโอกาส ถูกเชิญให้ไปสอนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ สำหรับครูสอนเต้นคนไทยที่ได้ไปสอนต่างประเทศเช่นนั้น
ตอนนั้นเขาออกไปท่องประสบการณ์ในต่างประเทศด้วยวัย 23 ปี ทำให้ภาพครูสอนเต้นของเขาฉายแววชัดขึ้น มีโปรไฟล์ที่ดี ทำให้เริ่มได้งานจากประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น สิงค์โปร อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว
เรียกได้ว่าประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เขาประสบความสำเร็จมากๆ ที่สิงค์โปร มีฐานนักเรียน มีพาร์ทเนอร์ มีจุดที่ค่อนข้างมั่นคงมากๆ กับการทำเรื่องของDance Training ในต่างประเทศ
จุดเริ่มต้นถัดมา มีโปรไฟล์ว่าได้สอนในประเทศแถบเอเชียแล้วเรียบร้อย ก็เลยเป็นที่มาให้ทางเกาหลีเห็น จึงมีโอกาสได้ไปสอนที่ประเทศเกาหลีใต้ด้วย จึงทำให้เขารู้จักกับหลายๆ ค่าย หลายๆ คนในวงการเกาหลี
พอเริ่มเติบโตขึ้น ก็ค่อยๆ ขยายในเกาหลีมากขึ้น เร็วขึ้น หลังจากนั้นก็กลับมาทำที่ประเทศไทย ก็ได้โอกาสดีที่ได้เจอกับเต๋า-เศรษฐพงศ์ เพียงพอ หรือ เต๋า AF8 ได้มอบหมายให้ทำ mv ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ทำแบบเต็มรูปแบบ พอภาพออกไป คนก็รู้จักขาในนามครูสอนเต้นที่ดูแลเบื้องหลัง หลังจากนั้นก็ได้ทำงานร่วมกับศิลปินมากมาย แล้วก็เติบโตมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับค่ายเพลงทั้งในไทย และอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีการเข้าไปดูแลหลายภาคส่วน โดยส่วนมากจะดูแลในเรื่องของแดนซ์คอมมูนิตี้ ดูแลศิลปิน ครีเอทีฟ การโปรโมท โปรดักชั่น รวมทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับศิลปินฝึกหัดของค่ายเพลงเกาหลีใต้ชื่อดังSM Entertainment มาก่อน ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่
“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ขยายสายมาสู่การเป็นเบื้องหลัง Entertainment พอเรารู้จักกับศิลปินมากๆ เริ่มเกิดความสนิทสนม เพราะได้ทำงานด้วยกันมาก ได้เห็นprocess หลายอย่าง มันเลยเป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เวลามีอะไรเราก็เล่าสู่กันฟัง แล้วก็ขอคำปรึกษากัน
บางทีก็มีแบบว่าแบงค์มีอย่างนี้มาทำยังไงดี มันเหมือนได้เป็นการให้คำปรึกษาเล็กๆ พอมันได้ consult มันก็อาจจะเป็นผลดี สักพักผมก็ได้รับโอกาสว่าพี่แบงค์ฝากดูงานนี้ให้หน่อย พี่แบงค์ช่วยรับงานนี้ให้หน่อยได้ไหม หรือคุยงานนี้ให้หน่อย
เลยเป็นที่มาว่า เราเริ่มได้เป็น consult ให้กับค่ายเพลงแบบเต็มตัวแล้ว และจุดเริ่มต้นของผมอีกอย่างคือ ได้ทำคอนเสิร์ตเริ่มมีประสบการณ์ จนวันนึงเราสามารถทำคอนเสิร์ตเองได้ทั้งหมด
[จากนักเต้น สู่ผู้บริหารค่ายเพลงรุ่นใหม่ไฟแรง]
ในส่วนของไทย ของจีน ก็เคยดูครับ เช่น Youth With You ผมก็เป็นคนดูในส่วนของประเทศไทย รายการProduce 101 เราก็มีส่วนได้ทำ ได้ทำ KCON รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับ Universal, Warners ในสิงค์โปร
จริงๆ เคยทำมาหลายอัน ถ้าของต่างประเทศที่ดังๆ เป็นตัวจุดประกาศทีทำให้บูมก็คือ ผมทำ KCON ปี 2018-2019 แล้วก็มีอันนึงที่เริ่มบูมในวงการโปรดักชั่นก็คือ ผมทำแฟนมีตติ้งให้กับหนังหน้าโรง แล้วก็มีทำคอนเสิร์ตให้SBFIVE ที่ประเทศพม่า และก็ดูแลอีกหลายคอนเสิร์ตมากๆ เลยครับผม คอนเสิร์ตของน้องชายผม GOT7 ผมก็เคยช่วยดู หรือแบบคอนเสิร์ตรวมศิลปินไทย แล้วก็มีmv หลายๆ ตัวก็ช่วยดีก็มีอยู่เหมือนกัน
ผมมี Community ส่วนตัวอันนึง ชื่อว่า B House Studio ซึ่งเราก็ค่อยๆ ขยายสาย ดูแลซัพพอร์ตทั้งหมดของในประเทศไทย และในต่างประเทศ จนวันนึงเราเป็นconsult ให้กับทางเกาหลีใต้ด้วย หลายประเทศก็เข้ามาเรื่อยๆ”
ย้อนเส้นทางสายดนตรี “คุณแม่” คือแรงผลักดันสำคัญ
เมื่อถามถึงว่า อะไรที่ทำให้เขาพุ่งเป้าสู่เส้นทางนี้ ซึ่งเขาบอกว่า คนแม่คือแรงผลักดันสำคัญที่ส่งให้ลูกๆ ทุกคนไปเรียนเต้นตั้งแต่เด็ก ซึ่งบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน ที่มาสายดนตรีครั้งแรกคือ น้องสาวและพี่ชาย เขายังบอกอีกว่า ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบทางนี้ด้วยซ้ำ
“ตอนนั้นคุณแม่ส่งไปเรียนเต้นทั้งหมด คนที่ไปเรียนเต้นก่อนคนอื่นเลย คือ พี่เบียร์กับน้องเบบี้ จากนั้นผมก็ตามเข้าไป คือที่บ้านเขาเรียนสาย K-POP กัน ตอนนั้นเราอาจจะยังไม่ชอบ ก็ไปเรียนในเวลาสั้นๆ ก็เลยออกมา น่าจะเป็นตอนนั้นสไตล์ที่เขาเรียนเราไม่ชอบ ตอนนั้นอายุ 13 ปี อีกอย่างตอนนั้นก็มีกิจกรรมอย่างอื่นทำอยู่ด้วย มีแข่งเกมทัวร์นาเมนต์ ก็เลยไม่ได้โฟกัสการเต้นเป็นเรื่องเป็นราวมาก
เขาก็เรียนเต้นกัน ไปประกวดกัน จนวันนึงแบมแบมเขาออดิชั่นค่ายJYP Entertainmentได้เขาก็เลยมีเป้าหมายในอนาคตว่าจะไปเกาหลีแน่นอน”
จนเมื่อเวลาผ่านไปในวัย 17 ปี เขากำลังจะเรียนจบม.6 ก็ได้มีโอกาสเข้าชมรมเต้นกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นการเต้นแนวhip hop ก็เลยกลายเป็นว่าชื่นชอบ จนสามารถจุดประกายเป็นอาชีพเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
แน่นอนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เขาต้องลองทำหลายสิ่งหลายอย่าง นอกจากนี้ เขายังเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด ก็รู้ใจตัวเองว่าชอบเต้นมากที่สุดจากสิ่งที่ได้ไปลองมาแล้วทั้งหมด
“นอกจากเต้นก็ไปจับอย่างอื่นเยอะแยะมากมาย ตอนนั้นช่วงอายุ 17 ก็มีการเอาเกมมาพัฒนา พวกเซิร์ฟออนไลน์ เปิดเล่นให้คนโดเนทกัน ลองทำมาหลายสิ่งหลายอย่าง เคยเป็นนักกีฬายิงปืน เคยเป็นหน่วยกู้ภัยทางน้ำ เคยไปทำค่ายหนัง เคยเป็นดีเจ แล้วก็ชอบทำอาหาร แต่สิ่งที่เราจับต้องได้มากที่สุด และเป็นเรามากที่สุดก็คือสายเต้น แล้วก็ชอบการทำภาพทางด้านการแสดง”
นอกจากนี้ เขายังแนะนำสำหรับใครที่ยังหาสิ่งที่ชอบ หรือตัวตนไม่เจอ แนะนำว่า ถ้าอยากจะหยิบจับอะไรขึ้นมาทำ ให้ดูว่าตัวเองมีความสนใจแน่หรือเปล่า ถ้ามีความสนใจจริงๆ ก็ให้ลองทำไปก่อน และที่สำคัญถ้าได้ลองทำแล้ว ก็ทำให้ถึงที่สุดเสียก่อน
“ทำไปให้มันสุดในระดับหนึ่งก่อน อย่าทำแค่เดือนหรือสองเดือนไม่ใช่ก็วาง อย่างตอนนั้นผมรู้สึกว่า ตอนที่ผมทำ ต่อให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ หรือมันไม่ชัวร์ ผมก็ทำจนมันถึง เช่น การเล่นเกม เราก็ทำจนไปถึงการได้ไปแข่งทัวร์นาเมนก่อน หรือทำจนให้เราหยิบจับปั้นเป็นเรื่องเป็นราวได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ใช่เราค่อยเลิก เป็นนักกีฬายิงปืนไปซ้อมจนกว่าจะได้เข้าแข่งขันก่อน ทำจนกว่าที่จะสามารถให้เรียกตัวเองได้เต็มร้อยว่าเป็นนักกีฬายิงปืดมาก่อน พอมาถึงไม่ใช่ก็ค่อยเลิก อย่างการไปเป็นหน่วยกู้ภัยทางน้ำก็เหมือนกัน ไม่ใช่ก็แค่เลิก แต่ต้องทำให้ถึงที่สุดก่อน”
ผสานทีมงานทั่วโลก-ทลายกำแพงภาษา-สร้างผลงานแบบไร้ขีดจำกัด
สำหรับเป้าหมายและแนวคิดในการพัฒนาค่าย E29MUSIC IDENTITIES ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง เล่าให้ฟังว่า ค่ายมีจุดเด่น คือ มีการผสานทีมงานทั้งไทยและต่างชาติ มีการนำพาร์ทเนอร์และนำผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้, สิงค์โปร, อเมริกา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย มารวมกันไว้ที่เดียว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จะมีกลิ่นอายความเป็นสากลผสมผสานกับความเป็นไทยค่อนข้างมาก อีกทั้งยังทลายกำแพงเรื่องของประเทศออกไป เพื่อให้สร้างสรรค์ผลงานอย่างไรขีดจำกัด
และเหตุผลอะไรกัน ที่ต้องมีการผสานทีมงานทั้งไทยและต่างชาติ คำตอบของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงก็คือ จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเพลงไทยสู่สายตาชาวโลกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
“ทำไมเราถึงเลือกวงการบันเทิงชาตินั้นๆ มาร่วมงาน เหตุผลก็คือ เช่น เกาหลีใต้ ผมว่าเรื่องของความครีเอทไอเดีย ความสร้างสรรค์ ความเป็นสตาร์ทอัพ เขาค่อนข้างไปไกลกว่าเรา และการครีเอทของเขา มันเป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการบันเทิงทั่วโลก ซึ่งการได้ร่วมงานกับเขาก็สร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของประเทศสิงคโปร์ ผมมองในเรื่องของเทคโนโลยี การถ่ายทำ โปรดักชั่น การตัดต่อ ค่อนข้างล้ำ แล้วก็เกินสเกลใหญ่กว่าที่คนไทยทำได้ ซึ่งสิงค์โปรเขาเป็นระดับโลกอยู่แล้ว เขาถือสเกลแบบฮอลลีวูดเลยทีเดียว
ส่วนของอเมริกาก็เหมือนกันครับ หรือฝั่งนิวยอร์ก คือ เป็นเรื่องของความอาร์ต ที่สามารถสอดแทรกอยู่ในชิ้นงานต่างๆ ได้ รูปแบบการแต่งเพลงที่มีเอกลักษณ์ มีศิลปะ มีความหมาย มีลูกเล่น สะท้อนในคุณภาพ แล้วเวลาที่ทางอเมริกาผลิตชิ้นงานที่มีอาร์ตผสมกับโปรดักชั่นของสิงค์โปรเข้าด้วยกัน มันเลยทำให้ชิ้นงานของเรามันมี meaning มากกว่า
ส่วนฟิลิปปินส์ ได้เรื่องการทำมาร์เก็ตติ้ง การพรีเซนต์ คือเขามีความสัมพันธ์แบบหลายโซน โดยเฉพาะในโซน South East Asia มันเลยทำให้เราพอไปเข้าไปฟิลิปปินส์ มันก็เลยกระจายได้ง่าย ได้เร็ว
แล้วเราก็ได้การตลาดที่ดี ได้กลยุทธ์การสร้างชิ้นงานดีๆ และเส้นทางการวางแผนperformance และก็ด้วยเอกลักษณ์จากศิลปินไทย รูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ลักษณะของเสียง ภาษา แล้วก็ความเป็นเอกลักษณ์ของชาติบ้านเราที่เป็นเฉพาะเจาะจง ของความเป็นไทย พอมาผนวกรวมกันมันก็เลยกลายเป็นจุดใหม่ๆ ขึ้นมาได้”
ไม่เพียงเท่านี้ เป้าหมายที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง คืออยากผลักดันวงการไทยในทุกๆ แขนง ทุกๆ อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาพ ครีเอทีฟ เสียง ดนตรี อาชีพอะไรที่มันสามารถดีขึ้นได้ในอุตสาหกรรมเพลงไทย อยากผลักดันทั้งหมด ไม่ว่าต่อให้ตลาดจะพูดว่าความต้องการของอาชีพนี้น้อยมากๆ แต่เขาเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถทำได้หมด
นอกจากนี้ ทางค่ายยังมีคอนแซ็ปต์ คือเป็นพื้นที่free space สร้างศิลปินให้หลากหลายรูปแบบ พร้อมตอบโจทย์กับหลายเชื้อชาติ
เพราะเจ้าตัวมองว่า ปัจจุบันเรื่องของวงการบันเทิง กำแพงภาษามันน้อยลงไปแล้ว จึงอยากให้มีจุดยืนของคนไทย ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานไปตรงไหนก็ได้ และในอีกแง่หนึ่งก็คือ อยากเป็นพื้นที่ให้กับศิลปิน ในการสามารถสร้างผลงานได้อย่างเต็มที่ ด้วยความเป็นตัวเองมากที่สุด
“เราไม่ได้จำกัดว่าค่ายเราจะเป็น T-POP หรือ เกิร์ลกรุ๊ป เรามีหลาย category อยู่ในค่าย เพื่อให้เป็นพื้นที่ซัพพอร์ตศิลปิน ดูแลศิลปิน และพลักดันมากกว่า
ทางค่ายเราให้ศิลปินได้วางแผน ได้เป็นคนชี้เส้นทางเดินของตัวเองทั้งหมดเลยครับ เราให้เขาเป็นคนตั้งมาก่อน แล้วเราให้ผู้เชี่ยวชาญนำทุกสิ่งทุกอย่างมาประกอบกับความคิดของเขา เพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นศิลปินด้วยตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง และเป็นเจ้าของผลงานทุกอย่างด้วยตัวเอง
เราต้องการศิลปินที่มีความสามารถมากๆ คือ ศิลปิน ต้องมีความรู้ และเข้าใจในเรื่องของกระบวนการในการทำค่ายเพลง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การอัดเสียง การครีเอทชิ้นงาน การเต้น รวมไปถึงเรื่องด้านสไตล์ลิสต์ เพื่อที่จะได้แสดงความคิดเห็นในชิ้นงานที่เป็นตัวเองมากที่สุด”
ทำไม? วงการ T-POP ถึงไม่ดังอย่างวงการ K-POP
“จริงๆ วงการT-POP บ้านเราผมไม่ได้มองว่ามันแย่นะครับในความเป็นจริง วงการบ้านเราเสียสมดุลช่วงประมาณปี 2014 ได้มั้งครับ แล้วมันก็ซบเซาลงมาในระดับหนึ่ง จนมันมาเติบโต ได้รับการกระตุ้นอีกครั้งช่วงประมาณปี 2016-2017 คือช่วงBNK48 กลับมา คนเลยมาโฟกัสกับประเทศเรามากขึ้น
และด้วยความที่ประเทศไทย เปิดรับวัฒนธรรมข้างนอกมาเยอะ แล้วกำลังของเราผลิตตามไม่ทัน มันก็เลยเกิดการเสียสมดุล แล้วเราไปโฟกัสต่างชาติกันเยอะ เราไม่ได้โฟกัสกันเองในไทย พอมีกลุ่มBNK48 เข้ามา ซึ่งผมดีใจมากเลยที่มีการสร้างขึ้นมา ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ศิลปินที่อยู่ในโมเดลไทย 100% แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนไทยมองคนไทยกันเอง แล้ววงการมันก็ค่อยๆ โตขึ้น”
เมื่อถามถึงกระแสวงการ T-POP บ้านเรากับคำถามที่ว่า ทำไมวงการ T-POP บ้านเราทำไมยังไม่บูมเท่าที่ควรผู้บริหารน้องใหม่ไฟแรงวัย 30 ปี เขาก็มองว่าศักยภาพคนไทยไม่ได้น้อย ศิลปินไทยมีข้อดีหลายอย่างที่ชาติอื่นยังไม่มีเช่นกัน หากได้รับการซัพพอร์ตดีๆ คนไทยไปได้ไกลอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในฐานะคนเบื้องหลัง ที่ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงทั่วโลก ยังการันตีอีกว่า วงการT-POP กำลังจะดีขึ้นภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ค่าย E29MUSIC IDENTITIES เท่านั้น แต่ทุกค่ายก็มีศักยภาพขึ้นมากๆ เพราะเห็นได้จากที่มีศิลปินGen ใหม่ๆ ออกมามากขึ้น ศิลปินเก่าๆ ก็มีผลงานออกมาไม่ขาดสาย และเริ่มเติบโตไปในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างเยอะมากๆ ซึ่งถือเป็นภาพที่สวยงามเลยทีเดียว
“มีอยู่ประมาณปี 2017 ที่มีศิลปินไทยเกิดขึ้นเยอะ มันก็เลยไม่สมดุลกัน มันอาจจะมีเรื่องการเสียสมดุลด้านมูลค่าไปบ้างในช่วงแรกๆ เลยทำให้ตลาดผันผวนมาจนถึงทุกวันนี้ มูลค่าของศิลปินไทยบางทีมันไม่ได้เยอะเท่าที่ควร ไม่ได้รับการซัพพอร์ตเท่าที่ควร เลยทำให้ศิลปินไปขึ้นงานทีนึงค่าจ้างก็ไม่ได้เยอะมาก ต่อให้มีคุณภาพมากๆ
พอไม่ได้รับการซัพพอร์ตเท่าที่ควร พอเงินลุงทุนน้อยลง เราไปเจอเกาหลี อเมริกา ที่เขามีมูลค่าสูงขึ้น เขาก็ยิ่งจะผลิตผลงานที่มีมูลค่าสูงขึ้นมาดันใส่เราเรื่อยๆ มันก็เลยทำให้คนไทย หรือผู้บริโภคเห็น เขาก็จะรู้สึกว่าดูต่างชาติดีกว่า เพราะquality มันดีกว่า
ซึ่งช่วงหลังๆ ปี 2021-2022 มันดีขึ้น พอโควิดเข้ามา มันทำให้ทุกๆ ชาติซาลง แล้วมันทำให้ทุกประเทศมาตั้งต้นใหม่พร้อมกัน ทำให้พวกเรามีโอกาสดันตัวเองขึ้นมาจริงๆ สักที พอเราดันขึ้นมา ก็มีเสียงตอบรับดีขึ้นมา เพราะว่าโควิดมันทลายกำแพงภาษาลง คนเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ทุกคนเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น มากขึ้น ข้อจำกัดหลายสิ่งหลายอย่างหายไป ทำให้คนไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
ไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่เรียกว่ามั่นคงในชีวิต “ไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ เรียกว่าผมมั่นคงแล้วกัน ในเรื่องหน้าที่การงานเราโอเคแล้ว เรามีทรัพย์สิน เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูที่บ้านได้ มีเงินลงทุน มีเงินใช้ในอนาคต ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ผมคิดว่าในตัวผมเพิ่งอยู่บันไดขั้นแรก บริษัทกำลังโต มันก็คือเพิ่งจะเริ่มต้นใหม่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมันสำเร็จไหม หรือมันจะไปได้ตลอดรอดฝั่งไหมอันนี้เราก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ผมก็พูดไม่ได้ว่ามันสำเร็จ ผมเรียกว่าเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่มันมาแล้ว เพื่อที่เราจะก้าวขึ้นต่อไปได้เรื่อยๆ” |
สายกิจกรรม เชื่อว่าได้ดีนอกเหนือโลกแห่งการศึกษา “ตัวผมเป็นสายกิจกรรมมาก่อน เรียนม.ปลายก็เรียนห้องกิจกรรมมาก่อน ห้องมันถูกสร้างขึ้นมาให้เด็กทำกิจกรรมให้โรงเรียนเป็นหลักมากกว่า ทดทอนการศึกษาลงให้ เพื่อให้เด็กๆ เรียนสบาย ในห้องคือรวมตัวนักกีฬาหมดเลย นักไอซ์สเกต เทคคอนโด ลีลาศ ร้องเพลง จะอยู่ด้วยกันหมด คือเขาทอนวิชาลง เพื่อให้เด็กมีเวลาซ้อมมากขึ้น ทำกิจกรรมทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ถ้าคนรู้จักผมจริงๆ ตอนเป็นนักศึกษา จะรู้ว่าผมไม่ได้โฟกัสเลย ไม่ได้สนใจด้านการเรียนเลย รู้เลยว่าชีวิตตัวเองได้ดีนอกเหลือจากโลกแห่งการศึกษาแน่นอน 100% ผมมีช่วงชีวิตในมหาลัยที่สั้นมากๆ เพราะผมเรียนจบเร็ว ผมใช้เวลาเรียนประมาณปีครึ่ง เรียนจบตอนอายุ 19 ปี จบมาเร็วก็เลยได้ทำงานเร็วกว่าคนอื่น จริงๆ ผมไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น ผมแค่มีเวลาสตาร์ทเร็วกว่าคนอื่นเฉยๆ คนอื่นเรียนจบมา 23-24 ปี แต่ผมทำงานมา 3 ปีแล้ว มันก็เลยโอเคกว่า ผมทำงานครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 16 ปี ตอนนั้นเป็นเด็กฝึกของค่ายGDHมันก็เลยมีประสบการณ์ในด้านการทำงานมาระดับหนึ่ง แต่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีไม่ได้ มันต้องมี แต่ว่าทุกคนมีทางเลือก ผมมองว่าจริงจุดบอดของการศึกษาไทยคือมันถูกสร้างมาในแพทเทิร์นเดียวกันกันเกินไป เราตอบไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นมีความต้องการอะไร หรือจะเติบโตเป็นยังไง สิ่งหนึ่งที่มันควบคู่กับมนุษย์เราคือ มันมีสายวิชาการ และก็สายกิจกรรม ซึ่งการศึกษาไทยมันไม่ได้ซัพพอร์ตกิจกิจกรรม มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสามารถทำให้คนทำข้อสอบได้ ให้คนคิดทุกย่างเหมือนกัน แล้วโลกเรามันกว้างมากกว่านั้นมากๆ สำหรับผู้ปกครอง ให้ดูว่าลูกคุณเกิดมาเป็นสายจกรรมหรือวิชาการ ถ้าเป็นวิชาการเรียนให้สุดครับ วันนึงเขาจะโตเป็นบัญชี แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรที่แบบเขาใช้วิชาการในสิ่งที่เขารัก เติบโตไปได้เต็มร้อย แต่ว่าถ้าเขาชอบกิจกรรมขึ้นมา แล้วเราผลักดันไปวิชาการ ต่อให้คุณจะเสียค่าเรียนพิเศษเยอะเท่าไหร่ ต่อให้คุณจะผลักดันเขาไปเยอะเท่าไหร่ เขาก็จะไม่ได้เติบโตเป็นวิชาการที่มีคุณภาพ เพราะใจเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น หลายคนบอกว่า กิจกรรมบางทีมันหากินไม่ได้ เราเต้นกินรำกินไม่ได้ เราไม่สามารถอยู่กับเสียงเพลง อยู่กับการเล่น แล้วมันจะมาเป็นอาชีพในอนาคต อันนี้ผมค้าน 100% มันเป็นได้จริงๆ แต่แค่เราต้องเปิดใจให้กว้าง ถามว่าเวลามีคนมาค้านว่า ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจกิจกรรม ไม่เข้าใจเรื่องการเต้น ไม่เข้าใจการไปเรียนร้องเพลง ตีกลอง ผมไม่ได้ซีเรียสเลยครับ ผมเข้าใจ เพราะว่าGenนึงของคนไทยตอนนั้นมันไม่ได้มีแบบนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเพิ่งเติบโตมาแค่ 10-20 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งในรุ่นของผู้ปกครองบางคนเขาไม่ทัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเขาจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมามันคืออะไร สิ่งที่เราเห็นว่าผู้ใหญ่ไทย เข้าใจและยอมรับมากสุดคือการร้องเพลง เพราะร้องเพลงมันมีมาเป็น 100 ปี แต่สิ่งอื่นที่มันเข้ามามันมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นไม่แปลกครับที่จะมีคนไม่เข้าใจเกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นยุคสมัยมันเปลี่ยน มีGen ใหม่ๆ ขึ้นมา โลกไม่ได้หมุนที่เดิมอยู่ตอลดเวลา แนะนำให้ทุกคนเปิดใจ มันสามารถศึกษา สามารถปรับจูนกันได้ บางครั้งคุณสามารถสนุกร่วมกับลูกคุณได้ แล้วมันจะนำพาลูกคุณไปในสิ่งที่ลูกคุณอยากเป็นจริงๆ” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม@ c_bhuwakul
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **