เปิดใจ “หมอป๊อบ” หมออนามัย สู่การขายหมูปิ้ง แลกรอยยิ้ม-อิ่มอร่อย ราคาถูก พร้อมอัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจ กับหน้าที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่การปรึกษา ลดการป่วย แต่ยังใช้ “ความสุข” ของครอบครัวนำทางชีวิต พร้อมบอกเล่าอีกแง่มุมของอาชีพหมออนามัยที่หลายคนยังไม่เคยรู้
จากหมออนามัย...สู่ “หมอหมูปิ้ง”
“ตอนแรกคิดแค่อยากจะหาประสบการณ์ หาเงินไปเที่ยวโดยไม่รู้สึกผิดมากเฉยๆ คือไม่คิดว่าจะดังเลยจริงๆ
รู้สึกตลกค่ะ เพราะว่าภาพแรกที่เขาแชร์คือตอนนั้นเราถ่ายรูปจะโพสต์ในกลุ่มชุมชนค่ะ ว่าวันนี้เปิดร้านนะคะ เราเชิญชวนมากินที่ร้าน แต่ว่าตอนถ่ายเราไม่ได้มองข้างหลังว่าเตาย่างไฟไหม้
พอลงไปโซเชียลฯ ชาวเน็ตเขาก็สังเกตกัน แล้วก็แชร์กันเยอะมากภายในข้ามคืนเดียว ก็ตกใจเหมือนกันค่ะ ตื่นมาเพื่อนก็แท็กมาให้ดู”
หมอป๊อบ-วันวิสา พินิตธรรมนาถ หรือที่ใครๆ เรียกว่าหมอหมูปิ้ง นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวกับทีมผู้สัมภาษณ์ MGR Live หลังกลายเป็นไวรัลสุดฮิตในโลกโซเชียลฯ ในฐานะ “แม่ค้าหมูปิ้ง” ที่ขายเพียงไม้ละ 5 บาท
ที่สะดุดตาไปกว่านั้นคือรอยยิ้ม บุคลิกภาพ และงานที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บไข้ได้ป่วย แน่นอนว่าต้องตามมาด้วยความกดดัน จุดเครียด แทบจะไม่มี “เวลา” เป็นของตัวเองแล้วด้วยซ้ำ แต่เธอกลับเลือกเส้นทางชีวิตที่สุดแตกต่างด้วยตัวเธอเอง ทำให้หลายคนถึงกับขอวาร์ป และอยากรู้จักเธอคนนี้มากยิ่งขึ้น
“จริงๆ ก่อนที่มีกระแสคือขายหมดอยู่แล้วนะคะในทุกๆ วัน เพราะว่าวันหนึ่งทำไม่เยอะ ทำประมาณ 300-400 ไม้ แต่พอเริ่มมีกระแสมา ก็จะเป็นคนไกลๆ มาซื้อ
อย่างเช่น ป๊อบอยู่ตรงศรีราชา อยู่ฝั่งใกล้บึงพัทยา ก็จะมีคนจากแหลมฉบังที่ไกลไป 30 กิโลฯ มาซื้อ ก็จะมีลูกค้ามากขึ้น หมดเร็วขึ้นค่ะ
ป๊อบขายไม้ละ 5 บาท และข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท จริงๆ มันก็ได้กำไรอยู่นะคะ เพียงแต่ว่าได้น้อย แต่เราพอใจขายราคานี้ เพราะเราอยากเห็นคนกิน
เราเข้าใจว่าคนที่มาทำงานโซนนี้มันเป็นโซนพนักงานบริษัท โรงงาน เป็นโซนที่ทำงาน หาเงิน ส่งเงินกลับที่บ้าน เราเข้าใจว่าทำยังไงจะช่วยเขาเซฟคอร์สได้ในช่วงเช้าสั้นๆ แล้วทำยังไงให้คนตัดสินใจซื้อของเราเร็วที่สุด ...โอเค ราคาเดียวเลย 5 บาท”
ทั้งกระแสออนไลน์อันล้นหลาม ลามมาถึงกระแสออฟไลน์ในชีวิตจริง ทำให้หมูปิ้งของหมอป๊อบได้รับความสนใจจากคนต่างพื้นที่แวะเวียนเข้ามาลิ้มชิมรส
ซึ่งใครจะคิดล่ะว่าจากจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้น ใช้เวลาหลังเลิกงานหมักหมูสูตรโบราณ เสียบไม้ เพื่อนำเงินจากการขายไปใช้ชีวิต ท่องโลก ตั้งแคมป์ ในช่วงว่างจากการทำงานประจำ
“รู้สึกว่าเป็นอาหารที่กินเช้า ปกติเป็นคนที่ชีวิตเร่งรีบอยู่แล้ว แล้วก็คิดว่าตอนเช้าเราจะขายอะไรดี แล้วในช่วงเวลาช่วงเช้า เป็นช่วงเดียวที่เราว่าง เพราะว่าช่วงเย็นเราก็อยากใช้ชีวิตทำอย่างอื่น เช้ามาเราแค่ตื่นเร็วกว่าคนอื่นประมาณ 2 ชม.
2 ชม.นี้เราสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง ก็มองเป็นอาหารเช้า แล้วอาหารเช้าเป็นอะไรได้บ้าง 1. อาจจะเป็นแซนด์วิชไหม หรือ 2. ข้าวเหนียวหมูปิ้งไหม ก็คุยกันว่าเราไม่ชอบกินแซนด์วิช ชอบกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง ก็เลยเป็นหมูปิ้ง
โดยปกติคนรอบตัวไม่ว่าจะเป็นพี่ๆ ที่ทำงาน หรือตัวเอง หรือว่าคนในครอบครัว ก็อยากจะกินหมูปิ้งที่เป็นหมูปิ้งโบราณ ใช้เตาถ่าน เราก็เลยทำตามใจตัวเอง ยึดความชอบของตัวเองเป็นหลัก
ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำเป็นสูตรของตัวเอง แล้วก็เป็นสูตรโบราณ เดี๋ยวนี้หากินยาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นนมสดแบบไม้
โดยปกติการหมักกับเสียบหมูจะทำทุกวันช่วงเย็นอยู่แล้ว แต่มันไม่นาน มันใช้เวลาประมาณ 3 ชม. และแค่ตื่นเร็วประมาณชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมงเองค่ะ คือระยะเวลาการขายมันไม่ได้นานเลย
สัปดาห์แรกๆ รู้สึกเพลียอยู่บ้างค่ะ แต่พอเราได้คุยกับลูกค้า เวลาลูกค้ามาคุย หรือลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำ สนุก ยิ่งได้นับเงินยิ่งสนุก แล้วได้เงินไปเที่ยว ล่าสุดเพิ่งไปตั้งแคมป์ที่เขาเขียวมา ก็เอาเงินจากการขายหมูปิ้งไปแคมปิ้งอีกทีหนึ่ง”
บทบาท “หมออนามัย” ลดภาระ “โรงพยาบาล”
เมื่อย้อนกลับถึงเส้นทางการเป็นหมออนามัย หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับหมออนามัย แต่ก็มีไม่น้อยที่แทบไม่รู้จักเลยเกี่ยวกับวิชาชีพนี้
ชีวิตหลังเสื้อฟ้าของเธอนั้นเป็นอาชีพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะคอยเฝ้าระวังการป่วย และแพร่ระบาดของโรค โดยจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานส่งเสริมสาธารณสุข งานส่งเสริมและสร้างเสริมสุขภาพ วางแผนสาธารณสุขชุมชน เพื่อช่วยแบ่งเบาการเจ็บป่วยหนัก ให้แก่โรงพยาบาล
“จริงๆ แล้วคำว่าหมออนามัย เขาจะใช้เรียกบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานอยู่ในอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
อย่างป๊อบเป็นนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการค่ะ ในส่วนนักวิชาการเราก็จะดูแลผู้ป่วยก่อนที่เขาจะป่วย ทำยังไงให้เขาไม่ป่วย
ซึ่งเราจะเป็นหน้าที่ก่อนที่คนไข้จะไปถึงหมอ ก่อนที่คนไข้จะไปถึงพยาบาล คิดโครงการลดน้ำหนัก หรือว่าโครงการควบคุมเบาหวาน ความดัน ทำยังไงให้คนปกติไม่กลายเป็นคนป่วย หรือทำยังไงให้คนป่วยไม่มีโรคแทรกซ้อน หรือทำยังไงให้คนป่วยไม่ใช้ชีวิตลำบากไปกว่านี้ อันนี้คือเป็นงานหลักๆ ของอนามัยค่ะ
ส่วนงานรักษา ปฐมพยาบาล ก็จะมีการรักษาปฐมพยาบาลเบื้องต้น อันนี้เราสามารถทำได้ ทำแผล ฉีดยา หรือให้คำแนะนำทางสุขภาพ การให้คำปรึกษาด้านครอบครัว การวางแผนครอบครัว ก็สามารถทำได้ เราก็จะใกล้ชิดชุมชน ใกล้ชิดกับคนในหมู่บ้านมากกว่าโรงพยาบาลใหญ่ เหมือนหมอที่โรงพยาบาล
ตอนนี้ในเรื่องของการป้องกันการเกิดโรค ทางอนามัยเราก็มีการดำเนินการต่อเนื่องเลย เช่น การค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ทุกวันนี้จริงๆ แล้วประเทศไทย 1 แสนคนจะเจอผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 172 คน ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าใครบ้าง
หน้าที่ของนักวิชาการสาธารณสุข ยกตัวอย่างคือ ทำยังไงที่เราจะหาคนที่แฝงเป็นวัณโรคในประเทศ ที่ยังไม่หมดไป เราก็เลยคิดโครงการมาว่า เราจะจับคนในชุมชนเรามา x-ray ให้หมดเลย เพื่อค้นหาว่าใครมีความเสี่ยงจะเป็นวัณโรคบ้าง
พอเราเจอปุ๊บ คนนั้นก็จะได้ระวังตัว พอระวังตัวก็จะไม่ส่งผลกระทบให้คนในบ้านเสี่ยง หรือติด แล้วคนที่เจอ เพิ่งเจอ รู้จักโครงการของเรา ก็ได้เข้าระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที
คือคนที่ป่วยอยู่ พอเขารู้ตัว เขาก็จะมีการระวังตัวมากขึ้น เขาก็จะไม่แพร่ให้คนอื่นอีก ก็ลดความรุนแรงการกระจายของโรคได้”
ถามถึงขั้นตอนการทำงาน และข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานของ “อนามัย” กับ “โรงพยาบาล” มีแตกต่างกันหรือไม่ บรรทัดหลังจากนี้คือคำตอบของเธอ ที่มีประสบการณ์สายงานนี้มาแล้วกว่า 6 ปี
“คือในส่วนของนักวิชาการสาธารณสุข เราไม่ใช่แพทย์อยู่แล้ว เราไม่สามารถเปิดคลินิกได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของป๊อบจะรับผิดชอบงานที่เป็นโรคระบาด คือ เราจะไม่มีสิทธิ์ไปเปิดคลินิก
สามารถอยู่ในอนามัยได้ หรือจะอยู่หน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล ถ้าอยู่โรงพยาบาลเราก็จะเป็นงานเอกสาร งานโครงการ งานข้อมูล ก็แล้วแต่หน้างานของแต่ละที่ไป ว่าแต่ละที่มีปัญหาสุขภาพแตกต่างกันยังไงบ้าง
มีออกเวรค่ะ ก็จะมีเวรตรวจรักษา ช่วงเย็นถึง 6 โมงเย็น หรือว่าวันเสาร์อาทิตย์เราก็มีเจ้าหน้าที่มาออกเวรตรวจรักษาตลอด
แล้วแต่ภาระหน้าที่ของพื้นที่ด้วย อย่างที่อนามัยที่ป๊อบอยู่ การอยู่เวรวันหนึ่งก็มีคนไข้มารับบริการประมาณ 70-80 คน แล้วแต่ที่นะคะ บางอนามัยก็จะ 5-10 คน ก็แล้วแต่พื้นที่
แต่พื้นที่ป๊อบอยู่ มันจะเป็นพื้นที่พักอาศัยกึ่งอุตสาหกรรม มีโรงงาน มีอะไรเยอะด้วย คนจะมาใช้บริการเยอะ ก็ต่างชาติ ต่างด้าว หรือแรงงานข้ามงานก็จะมาใช้บริการเยอะ
ในส่วนของความหนัก หมอโรงพยาบาลหนักกว่าอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าหมอโรงพยาบาลเขาเน้นไปที่การรักษา คนป่วยแล้วทำยังไงจะ save ชีวิตคนได้ หมอที่โรงพยาบาลจะหนักอยู่แล้ว ส่วนหมออนามัยเรามีสิทธิ์แค่ให้คำแนะนำทางสุขภาพ โดย consult (ปรึกษา) แพทย์จากโรงพยาบาลอีกทีหนึ่ง
สำหรับเครื่องมือทางการแพทย์จะต่างเลยค่ะ ที่นี่ทำได้แค่การปฐมภูมิทั่วไปเบื้องต้น ฉีดยาเบื้องต้น หรือถ้าแผลเหวอะหน่อย ก็อาจจะให้คนไข้ไปที่โรงพยาบาล”
ช่องโหว่สังคมไทย = การบริจาค!?
หากพูดถึง ‘การให้’ , ‘การบริจาค’ ความหมายมักเป็นไปในเชิงบวกเสมอ เพราะคือเครื่องหมายของความดี ฉะนั้น เมื่อเราได้ยินว่าใครบางคนให้บางสิ่งบางอย่างแก้คนอื่นๆ นั่นจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี
และเรื่องเหล่านี้อยู่ในสังคมไทยมานาน ทั้งงานการกุศลเพื่อระดมทุนหาเงินบริจาคช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งในการแพทย์เอง ก็มีการเปิดรับบริจาค “เครื่องมือแพทย์”
แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่า และต้องย้อนกลับมาทบทวนถึงสาเหตุปัญหา ช่องโหว่ต่างๆ ซึ่งยังมีอีกหลายโรงพยาบาลที่เครื่องมือแพทย์ไม่เพียงพอเช่นกัน
ผ่านสายตาของหมอป๊อบแล้ว เธอให้คำตอบไว้ว่า ขอไม่ตัดสินทุกความคิดเห็น เพราะว่าเป็นความสมัครใจของผู้บริจาค
“จริงๆ แล้วเรื่องของช่องโหว่ เราได้รับการสนับสนุนมาเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาล เรามีโรงพยาบาลแม่ข่าย เขาจะสนับสนุนเราอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะขาดเหลืออะไรก็ตาม เขาก็จะสนับสนุนเราได้ส่วนนี้อยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาเลยในเรื่องของเครื่องมือการแพทย์
ในส่วนของการบริจาคนะคะ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนที่บริจาคเขามีวัตถุประสงค์หรือความสบายใจอย่างไร ถามว่าช่วยไหม ในส่วนที่ได้มาสามารถช่วยได้อยู่แล้ว
แต่ถามว่าเกิดไม่มีการบริจาค ทางโรงพยาบาลเรามีหน้าที่ support ช่วยเหลือ คนไข้อยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้ว
ส่วนในการบริจาคขึ้นอยู่กับความสบายใจของคนบริจาค คือตัวเจ้าหน้าที่จะไม่ตัดสินใจว่าสามารถช่วยได้ หรือไม่สามารถช่วยได้ จะช่วยได้อยู่แล้ว แต่จะไม่ตัดสินว่าคุณจะต้องทำมากนะถึงจะถึงมือหมอ... ไม่เลยค่ะ อันนี้เป็นเรื่องของฝั่งบริจาค ว่าสบายใจ หรือว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร”
เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริจาคเป็นเรื่องของความรู้สึกของผู้ให้เองส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อได้ให้ ก็เหมือนปลดล็อกความในใจ ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และยังช่วยสังคมอีกด้วย
ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ได้ตอบอย่างตรงไปตรงมาไว้ว่า ในส่วนของการผลักดันเรื่องสุขภาพ ลดการเจ็บป่วย ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง
"มุมมองของป๊อบเลย ที่เรียนมาเป็นสาธารณสุข รู้ว่าจริงๆ เรื่องสุขภาพมันเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน หรือเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากร แต่มันหมายถึงทุกคน เพราะว่ามันเป็นเรื่องของส่วนบุคคล
ถ้าเกิดทุกคนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และใส่ใจว่าทำยังไงก่อนที่เราจะเป็นเบาหวาน ทำยังไงก่อนที่เราจะเป็นไขมัน ถ้าเราสนใจกระบวนการตรงนี้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้นเองเลยค่ะ มันขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลจริงๆ
เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้เราจะไปโฟกัสที่สิ่งรอบข้างกันอยู่ แล้วก็เลยหลงลืมไปว่า อ๋อ จริงๆ แล้วคำว่าสุขภาพดี หรือระบบบริการสุขภาพที่ดี มันอาจจะเริ่มที่ตัวเราก็ได้
ถ้าเกิดเรามีความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เช่น เป็นหวัดธรรมดา เรารู้เราต้องกินอะไรบ้าง 1 2 3 4 ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐาน
อย่างเป็นหวัด คนเรารู้ว่าภายใน 2 สัปดาห์จะหายเองได้ ต้องกินยาอะไรบ้าง เป็นยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา หรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน
อันนี้ถ้าเกิดคนมีความรู้มากขึ้น แล้ว walk in ไปที่โรงพยาบาลน้อยลง โรงพยาบาลก็จะมีพื้นที่สำหรับรับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือว่ามีเวลาสำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารถมีเวลาตรงนั้นได้มากขึ้น
ระบบการให้บริการสุขภาพก็อาจจะเร็วขึ้น เพราะว่าคนไข้ที่ไม่มีอาการรุนแรงสามารถดูแลตัวเองได้ และรู้ว่าเราดูแลตัวเองได้อยู่ที่บ้านนะ มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ ตามลำดับ เพียงเริ่มจากตัวเรา และเดี๋ยวมันจะค่อยๆ ดีขึ้นไปเอง
เรื่องสุขภาพ ต้องการเสริมแค่นี้เองค่ะ จริงๆ ที่ต้องการเสริม คือความตระหนักของทุกคนมากกว่าในการดูแลสุขภาพตัวเองค่ะ"
“จริงๆ แล้ว สติมันอยู่กับตัวเรา ถ้าเราเตือนตัวเองได้ว่า ถ้าฉันกินมันเกินไป กินเค็มเกินไป กินหวานเกินไป ณ ตอนนี้ ต่อไปความดัน เบาหวานมาแน่ เดี๋ยวเตรียมรับยาเลย ขอให้มีสติกับการกินของตัวเอง เพราะว่าโรคพฤติกรรมมันเกิดง่ายมาก มันสะสมตั้งแต่เราวัยรุ่น ตั้งแต่เราเด็ก เรากินมาเรื่อยๆ สะสม แล้วไปโป๊ะตอนอายุ 45 มันเป็นช่วงที่ร่างกายก็เริ่มแย่ด้วย และมีโรคแทรกด้วย ตอนนั้นเราอาจจะหนัก ก็อาจจะฝากให้ทุกคนนึกภาพถึงเราในอายุ 45 ปีไว้ 50 ปีไว้ ว่าตอนนั้นอยากเป็นอย่างไรค่ะ” |
ใช้ความสุข “ครอบครัว” นำทาง
ชีวิตของเธอ ผู้มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มเสมอนั้น มีหลายส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ได้รู้จัก เธอเลือกความสบายใจของ “ครอบครัว” เป็นตัวนำทาง
ผ่านเรื่องราวต่างๆ ด้วยมุมมองบวกๆ เริ่มต้นจากการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยการสอบเข้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อลิ้มลองเมนูชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
“จริงๆ แล้วตัวป๊อบเป็นคนชอบพูดชอบคุยมากๆ เลย แล้วบวกกับว่าตอนเด็ก เวลาที่มีกิจกรรมอะไรที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราจะเป็นคนจับไมค์พูดตลอด
เลยคิดว่าถ้าเกิดเรามาทำงานที่อนามัย เราจะได้คลุกคลีกับชุมชน แล้วพอได้คลุกคลีชุมชน เราก็จะได้มีสิทธิ์มีเสียงไปพูดแค่นั้นจริงๆ
เพราะว่าเวลาเราลงไปชุมชน ไปเยี่ยมคุณป้า คุณตา คุณยาย เราก็จะได้พูดคุย บางคนคุยยาวจดเย็นเลย คิดว่ามันเป็นความสุขในการทำงานค่ะ ถือว่าเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่งนะ การทำงานแล้วมีความสุขค่ะ
ตัวป๊อบมีความฝันตั้งแต่เด็กเลย คืออยากเป็นผู้ประกาศข่าว หรือคนที่ทำงานอยู่ในวงการบันเทิง เพราะว่าตอนเด็กคือเป็นสายประกวดเลยค่ะ เป็นตัวโรงเรียนเลยนะคะ
ณ ตอนที่จบ ม.6 เขาให้มีสอบตรงโควตาของกระทรวงสาธารณสุข แล้วคราวนี้มันสอบได้ ที่บ้านป๊อบก็เป็นบ้านคนจีน เขาก็ชอบสายงานที่มันเป็นทางราชการ ครู หมอ เขาก็จะชอบ และด้วยตัวเราเป็นเด็กกิจกรรมมาตลอด ที่บ้านก็สนับสนุน ก็ไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ได้ดันเต็มที่
ณ ตอนนั้นเราก็เลยรู้สึกเกรงใจปะป๊าว่า จะเอายังไงกับชีวิตดีนะ ด้วยนิสัยเป็นคนแคร์คนอื่นมากกว่าตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยคุยกับที่บ้านว่า งั้นเอาอันนี้แหละ เดี๋ยวป๊อบเรียนอันนี้ ป๊อบเชื่อว่าน่าจะได้ใช้ความสามารถตัวเองในวิชาชีพนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
แล้วมันก็ได้ใช้จริงๆ ซึ่งถามว่าเสียใจไหมที่ตัดสินใจมาเลือกทางนี้ ไม่เสียใจ แต่เราก็ไม่รู้อีกว่าถ้าในอดีตเราไปเลือกอีกทางจะเวิร์กกว่านี้รึเปล่า เราก็จะไม่สร้างคำถามว่าถ้าในวันนั้น...
แต่เรารู้สึก happy ในทุกวันนี้ ก็คิดว่าการที่เราเลือกมาทางนี้ มันเหมือนเราได้ทำความฝันของเราไปด้วย และได้ควบคู่ไปกับความสบายใจของที่บ้านไปด้วย”
เธอกล่าวกับผู้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง ว่า ในช่วงแรกที่ตัดสินใจทำตรงนี้ตนเองไม่รู้สึกกังวล และไม่คาดคิดถึงความเสียใจกับทางเลือกเลย เพราะมองว่าการมีใจรักในอะไรสักอย่าง สามารถสอดแทรกไปในสิ่งที่เลือกได้เสมอ
"ตอนโทร.ไปหาป๊า บอกว่าจะเอาอันนี้ ตัดสินใจแล้ว จะไปรอแอดแล้ว จะเอารับตรง คำถามแรกที่ป๊าถามคือ หนู แล้วหนูจะเรียนได้เหรอลูก คือป๊าก็ตกใจ ก็ชอบ แต่ว่าก็งงอยู่ว่าทำไม
ตอนตัดสินใจ คือเราเสิร์ชเลยนะตอนนั้น ว่าที่เราเรียนจบจากคณะนี้จะไปอาชีพไหนต่อได้บ้าง แล้วอาชีพนี้สามารถใช้ความสามารถของเราได้ไหม แล้วช่วงนั้นจะมี Hi5 มี facebook เราก็คิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวไปทำสายนี้ แล้วไปทำคอนเทนต์ลงใน facebook ลงในเพจ
คือป๊อบเป็นคนที่เวลาที่ตัดสินใจที่จะทำอะไร จะเหมือนเอาที่บ้านเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วเราพยายามหาลู่ทางในใจของตัวเองอยู่ ว่าทำยังไงจะไม่อึดอัด จะไม่เบลมคนที่บ้านว่าเพราะป๊าให้ทำอย่างนี้ หนูถึง...จริงๆ มันสามารถสอดแทรกอยู่ได้ค่ะ
จริงๆ แพสชันอยู่ทุกที่เลยค่ะ ถ้าเรามีแพสชั่น จริงๆ แพสชันมันจะมาได้ทุกที่เลยค่ะ ไม่ต้องรอว่าต้องได้ทำอย่างนี้ถึงจะได้ทำเป็นแพสชันของเรา
คิดว่าคำว่าแพสชันมันสามารถแฝงได้อยู่ในทุกๆ อิริยาบถสิ่งที่เราทำ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนแพสชันคืออะไร แต่เราก็ต้องมองความเป็นจริงด้วยควบคู่ไปกับแพสชันของเราว่า ความเป็นจริงของเรา คืออาจจะเกี่ยวกับครอบครัว เรื่องเงิน การหาเลี้ยงชีพของตัวเอง บางคนอาจจะมีภาระแตกต่างกัน
เราจะทำยังไงให้ชีวิตเราอยู่ได้ โดยที่เราเอาแพสชันเรามาใส่ โดยที่อยู่กับมันอย่างมีความสุข บางทีถ้าเรากดดันมากเกินไป แล้วท่องกับตัวเองว่า ไม่มีแพสชันเลย ...เรารู้รึเปล่าแพสชันจริงๆ แล้วของเราคืออะไร
เพราะว่าถ้ามันคือแพสชันจริงๆ เดี๋ยวมันมาเองค่ะ ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ตรงจุดไหน พยายามอย่ากดดันมากเกินไปว่าเราจะต้อง 1 2 3 4"
สำหรับภาพของคุณหมอตัวเล็ก ที่มีรอยยิ้มเสมอๆ ส่วนมือหนึ่งถือหมูปิ้งไว้ เป็นภาพชินตาที่บรรดาคนที่ติดตามหมอป๊อบมักจะได้เห็นในเวลาที่เธอไม่ได้ออกปฏิบัติงาน
แต่หากเมื่อเธอต้องออกปฏิบัติหน้าที่ประจำอนามัยตามที่รับมอบหมายนั้น ตลอดจนเข้าไปเยี่ยมคนในละแวกชุมชน เธอคือคนที่มีแพสชันกับงาน มีความสุขกับสิ่งที่เธอทำเสมอ
“ในส่วนของอนาคตไม่ได้แพลนอะไรที่เป็นรูปร่างอะไรมากมาย คือแพลนตอนนี้คือใช้ชีวิตให้มีความสุขแค่นั้นพอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปวันไหน เพราะชีวิตคนเราสั้นมากเลย บางทีสัมภาษณ์เสร็จรถชนก็เป็นไปได้ เราจะตระหนักถึงความตายอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นภายในอนาคตเราจะไม่วาง ฟิกซ์มาก ว่าจะต้องเป็นแบบนี้ คือไม่ได้ฟิกซ์เลย แค่อยากหาความสุขในชีวิตให้ได้ทุกวัน เก็บไปเรื่อยๆ”
สุดท้ายหมอป๊อบได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจถึงมุมมองการใช้ชีวิต โดยเธอกล่าวว่า เป็นคนมองเรื่องใกล้ตัวให้มีความสุขได้ง่าย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอในตอนนี้ก็พึงพอใจแล้วกับเส้นทางชีวิตที่เราเลือกเดิน
“เหมือนเมื่อก่อนเราเป็นดอกไม้ที่รอวันบานมาตลอด ตอนนี้เราเหมือนได้อยู่ในเศษเสี้ยวหนึ่งของวงการบันเทิงนิดหนึ่ง เราก็รู้สึกว่าบานแล้ว แค่นี้เราก็พึงพอใจแล้วกับเส้นทางชีวิตที่เราเลือกเดิน
สำหรับยุคนี้น้องๆ หรือรุ่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ใช้แพสชันเป็นตัวนำทางชีวิต ก็ขอให้แพสชันมันนำทางเราไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ ให้สมกับคำว่ามันเป็นแพสชัน
เพราะคำว่าแพสชัน ป๊อบคิดว่าสามารถแทรกอยู่ได้ในทุกๆ ที่เลย ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราชอบ ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ลำบาก วันหนึ่งสถานการณ์ที่ลำบาก ให้ทุกคนจำไว้เลยว่า เราลำบากวันนั้นมาเพื่อที่ให้รู้ว่า ในวันที่เราสำเร็จในวันข้างหน้า หรือในวันนี้ มันมีความคุ้มค่า มันมีความหมายแค่ไหน กว่าที่เราจะมาถึงจุดนี้
บางทีเราอาจจะกำลังลำบาก เพื่อก้าวไปในจุดที่สูงกว่าก็ได้ เพราะฉะนั้นในความลำบากพยายามมองเห็นแสงสว่างให้ได้ แม้ว่าจะริบหรี่น้อยนิด พยายามมองหาให้ได้ เชื่อว่ายังไงก็มี ความลำบาก ความทุกข์ยากอย่างน้อยก็สอนให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งได้”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Wanvisa Pinittammanath”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **