xs
xsm
sm
md
lg

“สัตว์ในตำนานประจำชาติก็น่ารักได้” แกะรอยไวรัล #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ สร้าง “นาค” เป็น “Soft Power ไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศิลปินอิสระแนะ “เพิ่มความน่ารัก-เจาะการท่องเที่ยวท้องถิ่น” ต่อยอด “นาค” สัตว์ในตำนานประจำชาติ สู่ Soft Power หวังดึงคนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์

สัตว์ในตำนาน” สู่ Soft Power

นอกจาก ช้าง สัตว์ประจำชาติของประเทศไทย และ ปลากัดไทยที่เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ที่เราคุ้นเคยกัน รู้หรือไม่ว่าในตอนนี้ประเทศไทยมี นาค เป็นสัตว์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน เพิ่มเข้ามาอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้แล้ว!!

สืบเนื่องจากกระแสข่าวที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ และยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรม มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศอีกด้วย

สำหรับภาพต้นแบบของนาคนั้น ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาค ที่สื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ(สีรุ้ง) และ ตระกูลกัณหาโคตรมะ (สีดำ) และมีนาคตัวใหญ่สุด คือ นาควาสุกรี ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์

ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และ ศาสนสถาน สื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา

[ พญานาค วัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี ]
จากกระแสข่าวดังกล่าวนี้ ชวนให้ผู้ใช้โซเชียลฯ นึกถึงแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ที่เคยเป็นกระแสในบ้านเราราว 2 ปีที่แล้ว กับไวรัลภาพประติมากรรม “สัตว์หิมพานต์” ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วไทย จากฝีมือช่างท้องถิ่น ที่ไม่ได้มีสัดส่วนตามแบบฉบับช่างหลวง มองดูเรียบง่ายและน่ารักนุ่มนิ่ม คล้ายกับขนมมาร์ชเมลโล่

มีทั้ง มอม จากวัดเจติยภูมิ จ.ขอนแก่น, เหรา จากวัดชัยภูมิการาม จ.อุบลราชธานี, สิงห์ จากวัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง และ นาค จากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี ในตอนนั้นเอง บรรดาศิลปินรุ่นใหม่ก็ได้พากันสร้างสรรค์ผลงานกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพการ์ตูน พวงกุญแจ สติกเกอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย


[ “โม่–คมกฤษ เทพเทียน” ]
และหนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ก็คือ โมเดลสัตว์ในตำนาน “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ของ “โม่-คมกฤษ เทพเทียน” ศิลปินอิสระวัย 37 ปี แห่ง MOTMO Studio และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เจ้าของ “โมเดลหิมพานต์มาร์ชเมลโล่” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงข่าวดังกล่าวว่า รู้สึกดีใจ เพราะเมืองไทยผูกพันกับ พญานาค หรือ นาค มาช้านาน พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า การที่จะขับเคลื่อนต่อยอด นาค ในแง่เศรษฐกิจนั้น ผลงานที่ออกมานั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องทำให้สัตว์ชนิดนี้ดูน่าเกรงขามตลอดเวลาก็ได้

“ตอนแรกเราไม่มีความรู้ ว่า สัตว์ประจำชาติเป็นสัตว์ประเภทตำนานได้ รู้แค่พวกช้าง แต่พอรู้ว่าเป็นเรื่องของตำนานเอามาใช้ได้ ก็ดีใจครับในฐานะคนผลิต ความจริงบ้านเราทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตำนานพญานาคที่ผูกพันมานาน มีความเป็นประเพณี วัฒนธรรม รากมันก็มาจากศาสนาพุทธที่รับมาจากอินเดียอีกที แถบเราทั้งโซนก็มีพญานาคหมด


“เห็นเขาจำกัดว่า มีประมาณ 4 ประเภท แต่สำหรับผมในฐานะที่ทำหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ บางครั้งผมก็คิดเล่นๆ ว่าสัตว์ประจำชาติอาจจะไม่ต้องวิจิตรบรรจง ไม่ต้องดูน่าเกรงขามก็ได้ ในงานสร้างสรรค์มันอาจจะดูน่ารักก็ได้ โดยพื้นฐานคนไทยเป็นคนเฮฮา สยามเมืองยิ้มครับ

ต้องยอมรับว่า #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ช่วงนั้นเป็นกระแส มีหลายๆ คนช่วยกันหาข้อมูล มีคนทำ fan art ผมถนัดปั้นผมก็เลยปั้นออกมา มันดีมากตรงที่กระแสมันถูกปลุกขึ้นมาและทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ย่อยๆ ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหนังสือที่เราเรียนกัน เป็นเรื่องเล่าชาวบ้าน เป็นพญานาคฝีมือชาวบ้านที่เขาปั้นกันด้วยความเชื่อ ความศรัทธาแบบพื้นบ้าน ไม่ได้มีความรู้แบบช่างหลวง ที่เราเห็นพญานาคเป็นวิจิตร ลายกนกเยอะๆ

ตอนนี้ผมกำลังจะทำกาชาปองชุดหิมพานต์ หาข้อมูลตามวัดต่างจังหวัดเพิ่มเติม หลังจากโปรเจกต์นี้ผมจะเริ่มเอาเงินไปถวายตามวัดต่างๆ ที่เขามีตัวพวกนี้อยู่ครับ”

ฝีมือ “ช่างหลวง-ช่างพื้นบ้าน” คุณค่าไม่แพ้กัน

นอกจากโมเดลสัตว์ในตำนานแล้ว คมกฤษ ก็เคยมีผลงานสร้างชื่อในลักษณะเดียวกัน คือ กาชาปองชุด “อับเฉาไม่อับเฉา” ที่หยิบเอาประวัติศาสตร์มาย่อยให้เป็นรูปแบบของเล่น ก่อนจะคลอดผลงานโมเดล “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่”ตามมา ซึ่งในตอนนั้นก็มีศิลปินหลายท่านทำออกมาร่วมจุดกระแสเช่นกัน

“ปกติผมทำกาชาปองอยู่แล้ว ชุดอับเฉาไม่อับเฉา เป็นตุ๊กตาจีนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เอารูปปั้นมาย่อส่วนเล็กๆ พอหยอดเสร็จจะมี QR code ให้เข้าไปดูว่ามาจากไหน ชื่ออะไร เหมือนเอาประวัติศาสตร์ไปใส่ไว้ในของเล่น ชุดนั้นผมทำตั้งแต่ปี 2018 ตอนนี้ผมก็ยังปล่อยออกมาเรื่อยๆ ให้คนได้สะสมกัน และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยไปด้วย


ตัวหิมพานต์ช่วงนั้นมีหลายๆ สตูดิโอทำออกมา ผมไม่สามารถจะเหมารวมได้ว่ามาจากผมอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ความรู้ชุดนี้มันอยู่แค่ในตัวอักษร พอมันถูกเปลี่ยนมาเป็นของเล่นที่เข้าถึงคนสมัยปัจจุบันได้ง่าย คนก็เลยกลับมาสนใจใหม่

กระแสตอบรับที่เกิดขึ้น เกิดข้อถกเถียงกัน เช่น ตัวมอมหัวขาวๆ มาจากไหน กระแสตอบรับอีกอย่างคือท้องถิ่นเอง ก่อนหน้านี้จะถูกมองว่าเป็นศิลปะชาวบ้าน มักถูกกดอยู่เนืองๆ ชอบเอามาโพสต์ด้อยค่ากัน มันไม่วิจิตร ไม่บรรจง ไม่งดงามเหมือนศิลปะแบบช่างหลวง

แต่พอเกิดกระแสนี้เขาเลยเห็นความสำคัญ กรมศิลปากรก็เข้าไปบูรณะ ทำให้คนในท้องถิ่นเองเริ่มเห็นว่ามันมีคุณค่าไม่ได้ต่างกัน ผมก็เลยมองว่ากระแสที่ผ่านมา 2 ปี มันทำให้คนยอมรับมากขึ้น งานที่เคยโดนกดมันเริ่มเบ่งบานและมีคุณค่าไม่ได้ต่างกัน เป็นสภาพสังคมเราที่กำลังยอมรับความหลากหลายไม่ว่าจะเรื่องเพศ วัฒนธรรม ภาษา หรืออะไรก็ตาม”


ศิลปินอิสระแห่ง MOTMO Studio ยังให้ข้อคิดเห็น ทิ้งท้ายถึงการผลักดันสัตว์เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน ไปสู่การเป็น Soft Power นั้น จะต้องทำให้ครบวงจร โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“ผมว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น ถ้าเกิดทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องนี้ เหมือนจะผลักดันในความเป็นวัฒนธรรม Soft Power อาจจะใช้พญานาคมาโยงกับการท่องเที่ยวด้วยก็ดีครับ ความจริงตัวหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ มันปลุกกระแสอยู่ช่วงนึง ตอนนั้น ททท.(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็สนใจและผลักดัน


ผมคิดว่า พญานาค มันจะถูกโยงไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรม ของคนลุ่มแม่น้ำโขงหรือคนที่ผูกพันกับน้ำ ถ้าเราจะเอาส่วนนี้มาทำ ให้ต่างชาติเขาเข้ามาผ่านวัฒนธรรม ประเพณี เหมือนที่เราพยายามให้คนต่างชาติมาเล่นสงกรานต์ ผมมองว่าเขาจะทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับความเป็นเอเชียใต้อย่างเราได้

ตรงนี้น่าสนใจมากถ้าเกิดรัฐบาลผลักดันเรื่องนี้จริงจัง ต้องไปถึงปลายทางให้สุดในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีของคนท้องถิ่นที่เกี่ยวโยงกับตัวพญานาค เรามีเรื่องเล่าท้องถิ่น ตำนานเยอะแยะ

ถ้ามันถูกปลุกกระแสและทำเป็นผลิตภัณฑ์ โปรโมตให้เป็นระบบ คาแรกเตอร์พื้นถิ่นเอามาคอลแลปร่วมกัน มันก็สามารถทำให้คาแรกเตอร์เกิดความผูกพันกับผู้คนได้ มันสามารถสร้างมูลค่าได้อีกครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก MOTMO Studio และ Komkrit Tepthian



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น