จับกล้องลั่นแฟลช สร้างอาชีพ โบกมือลาวงการไทย เธอคือช่างภาพสตรีทหญิงไทย ที่เลือกเดินทางชีวิต เปิดโอกาส-กรุยทางตามความฝันของตัวเอง สู่ช่างภาพสื่อระดับโลก “The New York Times” มีทุกวันนี้ได้ เพราะมีพื้นที่เห็นคุณค่าของเธอ
ข้างหลังภาพ “The New York Times”
“ต้องถามคนที่รู้จักมากขึ้น คือ ที่ไทยหรือที่นี่ ...ที่นี่เราเป็นหุ่น เราตัวเล็กมาก ที่ไทยก็รู้จักมากขึ้น เพราะว่าเราถ่ายให้สื่อเมืองนอก มันก็เลยโอ้...คนไทยถ่ายให้สื่อเมืองนอก ดูยิ่งใหญ่ แต่ว่าในโลกกว้าง เราก็ไม่มีใครรู้จักอยู่ดี”
ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพหญิงไทยอนาคตไกล วัย 30 ปี ที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับสื่อระดับโลกอย่าง The New York Times, The New Yorker, The Wall Street Journal และ New York Magazine
ทาง MGR Live ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สุดพิเศษ ส่งตรงจาก New York ในฐานะที่เธอก้าวเข้ามาสู่การเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ให้กับสื่อระดับโลก พร้อมขนประสบการณ์เล่าเส้นทางถ่ายภาพ และยังสามารถสร้างรายได้จากงานเป็นมูลค่ากว่าหลักแสนบาท
“ตอนนั้นเราไป workshop ถ่ายรูป กับ Street Photo Thailand แล้วรู้สึกว่าเป็นการเปิดโลกเราดี เหมือนก่อนหน้านี้ เราจะเห็นถ้าถ่ายรูป ก็จะเห็นเขาไปเที่ยวกันที่ไกลๆ ไปต่างประเทศ ไปถ่าย
เรารู้สึกว่า เราไม่มีเงินที่จะไปเที่ยวต่างประเทศได้บ่อย แต่การถ่ายรูปประเภทนี้ มันคือเราออกจากนอกบ้าน แค่ออกไปตลาดก็ถ่ายได้ หรือว่าถ่ายแถวบ้านเราก็ได้ ก็เลยรู้สึกชอบ
ตอนนั้นทำงานตัดต่อแล้ว routine งานตัดต่อ lifestyle การตัดต่อ มันคนละแบบกับการถ่ายรูปเลย ตัดต่อมันอยู่ในหน้าคอมฯ ก็ไม่ค่อยได้ออกไปไหน คือ ถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกเราอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดว่าจะทำเป็นอาชีพได้ พอชอบถ่าย street ก็มีความอิน”
บทบาทนอกสนามเธอกลับมองว่า เป็นหนึ่งคนตัวเล็กๆ ในพื้นที่แห่งความฝันแห่งนี้ ซึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ เส้นทางความฝันของเธอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาชีพนี้กลับถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ผู้ชายทำมากกว่าและถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ในประเทศไทย
“เราฝึกเยอะนะ เพราะมันคือการที่เราต้องรู้ มันไม่ใช่เป็นการวางแผนมาก่อน มันเหมือนต้องมีการใช้เซนส์นิดนึง เราต้องฝึกมากพอจนที่เราจะรู้ว่า เรายืนอยู่ตรงไหน แล้วคือจุดที่จะได้รูป ที่น่าจะดีที่สุด ณ เวลานั้น ที่เราจะทำได้
เราก็เล่าเรื่องผ่านภาพแบบการวางเฟรม ให้มันเล่าเรื่องให้มากที่สุดในภาพๆ นึง ...การจับองค์ประกอบ อย่างสมมติก่อนหน้านี้ในช่วงที่เราฝึก ก็แค่พลาดเยอะ
เช่น สมมติว่า เราเดินไปตรงนั้นเร็วไม่พอ ได้จังหวะที่ไม่ดี สมมติถ่ายรูปมาไม่เห็น เบลอ หรือโฟกัสไม่เข้า หรือมีปัญหา มันก็จะต้องฝึกมาเรื่อยๆ จริงๆ ทำงานบางครั้งก็มีพลาดอยู่บ้าง แต่ก็พยายามพลาดให้น้อยที่สุดในแต่ละครั้ง
ถ้าเป็นทางเทคนิคเราก็จะใช้แฟลช หรือสีจัดๆ มีความป๊อปๆ แต่นี่คือที่เขาบอกกันมานะ แล้วเราก็ฟังมาอีก ว่าเราจะเด่นในเรื่องของการจับจังหวะ moment คน หรือว่างานที่สนุก หรือว่างานปาร์ตี้ จริงๆ ถ้าเราไปเดินนอกบ้าน เราก็จะพยายามหาซีนที่สนุก
เราคิดว่าเราควรจะต้องหาจุดเด่นของตัวเอง ว่า เราถนัดงานแบบไหน เช่น บางคนถ่ายคน บางคนถนัดถ่าย landscape สถานที่ ถ่ายของ
อย่างเราจะถนัดถ่ายจับจังหวะ หรืองานที่ไม่ได้เซ็ตจ๋า คือ เราก็ไม่ได้เป็นคนที่ถ่ายสตูดิโอเก่ง เราจัดไฟไม่เป็น แต่ก็ควรจะรู้ว่าตัวเองถนัดแบบไหน แล้วก็ทำแบบนั้นจนเชี่ยวชาญ”
ไม่มีสูตรสำเร็จ ในอาชีพช่างภาพ ใครว่าการถ่ายภาพในต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย สุขสบาย? ชีวิตปูเป้เต็มไปด้วยการดิ้นรน ไม่หยุดนิ่ง เธอต้องสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะใช้ในการยื่นขอ VISA ประเภท O-1 (สำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์, ศิลปะ, การศึกษา, ธุรกิจ, กีฬา, หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านภาพยนตร์ หรือรายการทีวี และได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ) อีกทั้งให้มีสิทธิหางานทำที่อเมริกาต่อได้ เธอต้องถ่ายรูปส่งประกวด ส่งนิทรรศการ อยู่หลายชิ้นกว่าจะได้รับการยืนยันเพื่อให้ได้ VISA นี้มา แต่ใช่ว่า การได้ VISA ทำงานมาแล้ว ชีวิตจะสุขสบาย เธอต้องดิ้นรน หางานทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ในเมืองนี้ “เราก็ถ่ายไปเรื่อย เราทำไปเรื่อย เราถ่ายรูปครอบครัว เราถ่ายเด็ก ถ่ายคู่รัก ถ่ายนักท่องเที่ยว เราทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ เหมือนเล็กๆ น้อยๆ เราก็เอา ชม.ละไม่กี่ 10 เหรียญก็ทำ แต่ก็เอาตัวเองไปผูก ที่เขาจะมีนักท่องเที่ยวมา แล้วไปถ่ายรูปนักท่องเที่ยว ตอนนั้นก็เป็นรายได้หลัก ถ่ายพรีเวดดิ้งก็ถ่าย แต่ว่าเราทำไปสักพักนึง เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องที่เราอยากทำมากกว่า เพราะว่าพอทำงานกับพวก magazine หรือพวก newspaper ที่นี่ มันได้ทำ story มากกว่า แต่เราไม่เคยลืมเลย เพราะสุดท้ายเรารู้ว่าเราอยากถ่ายให้สื่อเมืองนอก และถ้าเราลืมปุ๊บ เราจะไม่มีทางถึง เราก็เลยทำไปคู่กัน อย่างของเราเป็น VISA O-1 เป็น VISA เฉพาะทาง เพราะฉะนั้นต้องมี port ที่ยืนยันมากพอว่าเรามีความสามารถเฉพาะทางในด้านนั้น ที่จะทำ ให้เขาออก VISA และน่าจะอยู่ในประเทศเขาได้ ต้องลองศึกษากับพื้นที่จะไป ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน จะเป็นอเมริกา หรือเป็นยุโรป ต้องลองดูว่าเขามีแบบนี้ เขา support ทางนี้รึเปล่า” |
บอกลาประเทศไทย สู่ช่างภาพโกอินเตอร์!!
ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับสื่อระดับโลก เธอได้ผ่านงานด้านตัดต่อมาก่อน เพราะสมัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เคยฝันอยากทำอาชีพนักตัดต่อภาพยนตร์ และในขณะเดียวกัน ก็ออกไปถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกไปด้วย
แต่กลับพบว่า อาชีพตัดต่อ จะต้องนั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อยู่ในห้องมืดๆ ในขณะที่การถ่ายรูป ต้องออกไปข้างนอก เพื่อไปเก็บประสบการณ์ และสร้างภาพใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ จนในที่สุดก็เริ่มค้นพบว่า ตัวเองเริ่มสนใจการถ่ายรูปมากกว่า จะนั่งอยู่ในห้องตัดต่อในมุมเดิมๆ
“โอกาสมันเยอะกว่า แต่สิ่งที่มันดีสำหรับการเรียนต่อ มันเห็นโอกาสตัวเองมากขึ้น เหมือนตอนที่เราอยู่ไทย คือ ทุกคนก็จะบอกว่ามันไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ กับการถ่ายรูปประเภทนี้ เราคิดว่าตอนนี้ก็ยากอยู่
แต่พอมา New York มาอเมริกา มันเหมือนโอกาสมันเปิด ประตูมันเปิดให้ทุกคนจริงๆ ยิ่งตอนนี้เขายิ่งสนับสนุนให้มีพื้นที่ความคิดที่หลากหลาย สิ่งที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่ไม่ใช่คนอเมริกา ที่จะมีโอกาสในพื้นที่แห่งนี้”
ช่างภาพหญิงวัย 30 ปี เล่าว่า เธอโชคดีที่ทางบ้านสนับสนุนสิ่งที่เธอรัก เก็บทุนเอาไว้ให้อยู่ก้อนหนึ่ง เพื่อให้เธอไปเรียนต่อ
ด้วยความสนใจด้านภาพที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน เธอจึงตัดสินใจบินเพื่อไปเรียนด้านการถ่ายภาพ ICP (International Center of Photography)ใน New York เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม
“เราว่าการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองก็ดี ถ้าถามเราในต่างประเทศสำคัญ ในต่างประเทศจะมีการแข่งขันสูง ในอาชีพนี้ ถ้าเราอยากจะโดดเด่นเราก็ควรที่จะมีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะทำให้เขาจำเราได้ว่างานเราเป็นแบบไหน”
ทว่า หลังจากเรียนจบด้านภาพถ่ายที่ New York นักล่าฝันคนนี้ตัดสินใจกลับมาทำงานที่ไทย ก่อนจะค้นพบว่าการเป็นช่างภาพที่บ้านเกิดนั้น ยังไม่ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่หวัง เธอจึงตัดสินใจบินกลับไป New York อีกครั้ง ก่อนที่โรคระบาดจะมาเยือน
กว่าจะมีเป็นช่างภาพสตรีทหญิง ผู้ถ่ายทอดตัวตนผ่านภาพถ่าย ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จับจังหวะโมเมนท์ พัฒนาตัวเอง ไม่ย่ำอยู่กับที่ ลั่นชัตเตอร์เพื่อพิสูจน์ตัวเองเสมอ
เพราะกว่าจะเข้ามาทำงานสายช่างภาพได้ ต้องส่งผลงานถึง 2 รอบ ฝ่าฝันความยาก การโดนปฏิเสธ จนตอนนี้เธอร่วมงานกับสื่อ “The New York Times” มาเกือบ 3 ปี และได้ร่วมงานถ่ายภาพมาอีกนับไม่ถ้วน
“มันเกิดที่ว่าเราก็ follow ในอินสตาแกรม แล้วเราก็ทักเมลไปถามเขาว่า เราส่งงานไปให้เขาดูได้ไหม เขาก็บอกว่าได้ ส่งมาเลย คือ ข้อดีของที่นี่คือประตูมันเปิดให้ทุกคน ถ้าเขาชอบงานเรา มันก็มีโอกาสมามากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน
มันไม่ได้ใช้เส้นจัด”
เธอเล่าพร้อมความตื่นเต้นถึงวินาที ที่เลือกจะติดต่อไปทางสื่อระดับโลก ที่เธอใฝ่ฝันอยากร่วมงานด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธ ซึ่งเธอมองว่าการจะก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้ความพยายามสร้างสรรค์ผลงาน จนเขาเล็งเห็น
“ครั้งแรกโดนปฏิเสธ เราไม่ได้ส่งชุดภาพโควิด แต่เราส่งงาน Event ไป แล้วเขาก็บอกว่าเขาคงไมได้ลงนะ อยากให้ส่งเป็นคอนเซปต์เรื่องมากกว่านี้
ครั้งที่ 2 เราก็เลยทำเป็นซีรีส์ภาพชุดโควิดส่งไป เขาก็ชอบ แต่เขาก็ยังไม่ได้ให้งานเลย แล้วมาให้งานอีกประมาณ 3 เดือนหลังจากนั้น
มันมีความรู้สึกเฟล แต่ว่ามันก็มีวิธีเดียว คือ ต้องทำ เพราะว่าถ้าเฟล เราไม่ทำก็ไม่มีวันได้ คือ ฝีมือตกไม่ได้ และห้ามบกพร่องในหน้าที่การงาน คือ ห้ามไปสาย ห้ามลืมนัด หรือ อุปกรณ์ก็ต้องเตรียมไปสำรอง จะพังหน้างานก็ไม่ได้
เรารู้สึกว่า ถ้าพลาดทีเดียว ก็อาจจะชวดตลอดไปเหมือนกัน และมาตรฐานงานก็ห้ามตก เพราะว่ามีคนใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้างเราไปตลอด มันเป็นวงการที่แข่งขันสูง และต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
มีวันนี้เพราะการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง!! ภาพยิงแฟลช-ความโดดเด่นในสไตล์งานสร้างตัวตนของปูเป้ ให้กลายเป็นช่างภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งที่ทำให้สะดุดตา คือ ภาพงาน after party ของ Met Gala 2022 และผลงานติดลิสต์ the year in picture 2021 มาแล้ว “วิธีการคัดเลือกของเขาเราไม่รู้เลย เรารู้อีกที คือ รูปได้เป็น 1 ใน year in picture 2021 ก็รู้สึกเป็นเกียรติ เรารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ดี เพราะก่อนหน้านี้เราดูงาน the year in picture มาตลอด มันคือ การรวบรวมภาพที่ดี และเป็นเรื่องราวที่สำคัญในปีนั้น ตอนนั้นเราไปถ่ายให้ section art ศิลปวัฒนธรรม ของ The New York Times ก็เป็นวันที่ Broadway กลับมาเปิดอีกรอบ เพราะตอนโควิดได้ปิดไป แล้วเขาก็กลับมาเปิดใหม่อีกรอบ และคนที่เขารักละคร คนที่ชอบความบันเทิง หรือนักแสดงเอง คนที่ทำงานอยู่บนเวที เขาโหยหางสิ่งนี้ มันเป็นการที่ทุกคนยืนปรบมือในโรงละครก่อนที่จะเริ่มเรื่อง เราก็ได้มีโอกาสได้เข้าไปถ่ายข้างใน ก็เป็น moment ที่รู้สึกอิ่มเอมใจ เพราะว่ามันกลับมาแล้วสิ่งนี้ ความบันเทิงนี้ เราเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ แล้วการเป็นฟรีแลนซ์ ข้อดีของเรา ได้ทำงานที่อื่นด้วย เราไม่ได้ทำแค่ The New York Time ก็ทำให้ The New Yorker, The New York Magazine ทำได้หลายที่ เพราะเป็นฟรีแลนซ์” |
เจาะหลังเลนส์ ไทย VS เมกา ออกนอกกรอบ-มีพื้นที่?
หากนิยามของการถ่ายภาพ คือ การกดชัตเตอร์ ให้ได้รูปแล้วนั้น คงไม่ผิดนักถ้าภาพคุ้นตา ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ผู้ชายทำมากกว่าและไม่ผิดนักที่จะบอกว่าใครๆ ก็ถ่ายภาพกันได้
แต่ภาพสวยๆ ที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก จับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะที่ประเทศไทย ที่ยังไม่มีพื้นที่ให้ “ช่างภาพ” แสดงผลงานผ่านมุมมองมากที่ควร
“เราชอบที่จะเห็นงานใหม่ๆ และชอบที่จะเห็นมุมมองที่แตกต่างที่เราเคยเห็น เพราะฉะนั้นหลายครั้งเราจะพยายาม ทำให้เป็นแบบนั้นในงานเรา
บางทีสุดท้ายแล้วสื่อเขาอาจจะไม่ได้เลือกก็ได้ อย่างสมมติเขาจ้างเราไปถ่ายปาร์ตี้ เราก็ถ่ายดารา มันต้องมีใน list ว่า You ต้องถ่ายดารา แต่สิ่งที่เราถ่ายเพิ่มไปมากกว่าดารา อาจจะเป็นแก้วแตกบนพื้น หรือเราเห็นคนกำลังซ่อมรองเท้าตัวเองอยู่ เราก็จะถ่าย
คือ เราจะถ่ายในสิ่งที่แบบว่า ไม่ได้เป็นสิ่งปกติที่เราเห็นในงานปาร์ตี้นึง อย่างปาร์ตี้เราจะเห็นดารา แล้วมันอาจจะมีจังหวะที่คนทำน้ำหกในงาน เราจะพยายามถ่ายสิ่งนั้น ที่มันนอกเหนือจากกรอบ ที่ไม่ควรจะเป็น สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้ลง แต่เราสามารถเอางานนั้นมาเป็นงานส่วนตัวได้ จริงๆ แล้วในงานปาร์ตี้เราสนใจสิ่งนี้ ที่มันไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากงานปาร์ตี้ เราก็จะพยายามทำแบบนั้นในทุกๆ งานที่เราได้
สมมติว่า เขาให้เราไปถ่ายอาหาร เราอาจจะถ่ายเศษอาหารที่ตก หรือถ่ายขยะ เราจะชอบอะไรที่มันจะนอกเหนือจากสิ่งที่คนคาดคิด”
อย่างที่กล่าวตอนต้น ปูเป้ก็เคยเป็นหนึ่งคน ที่เคยทำงานเป็นช่างภาพเบื้องหลังในกองซีรีส์ในไทย และเคยผ่านการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย เธอมองว่าวงการในไทย ไม่ให้ให้คุณค่ากับงาน แต่ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของบุคคลกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ได้รับการประเมินค่ามากกว่าผลงาน... นั่นจึงจุดชนวนให้เธอหันหลังให้งานในประเทศบ้านเกิด
“ถ้าเป็นอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องช่างภาพเลย ยิ่งช่วงนี้ยิ่ง support ช่างภาพผู้หญิงกันแบบเยอะมากๆ เขา support ทั้งหลายเชื้อชาติ และเพศ
มันเคยเป็นวงการของผู้ชายมายาวนาน แล้วตอนนี้ผู้ชายก็ยังเยอะอยู่ดี แต่ว่าเขาก็มีการสนับสนุน และก็จ้างงานให้กับช่างภาพ ทั้งคนดำ คนเอเชีย คนหลายเชื้อชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นที่นี่โอกาสมีให้กับทุกคน
คือ ถ้าเป็นผู้หญิงที่เป็นช่างภาพ เรารู้สึกว่าที่ไทยมีความยึดโยงอยู่ที่ภาพลักษณ์เยอะ ยิ่งภาพลักษณ์ดียิ่งได้โอกาสเยอะมากกว่า ในขณะที่นี่ไม่มี แล้วเราชอบแบบนี้ เราชอบดูกันด้วยงาน ไม่ได้ว่าดูด้วยงานแล้วก็ภาพลักษณ์ด้วย
เมืองไทยค่อนข้างจะใช้ใครก็จะใช้ซ้ำๆ แต่ที่นี่เขาอยากหาคนที่มีมุมมองใหม่ๆ อยากหาคนที่เล่าเรื่องใหม่ๆ
เรารู้สึกว่าเมืองไทยต้องให้ความสำคัญกับให้กับคนที่ทำงานเล่าเรื่องมากกว่านี้ เพราะเราว่านั่นคือแก่นที่สำคัญ ไม่ใช่ช่างภาพด้วย แต่คือการเล่าเรื่อง
กล้องคืออุปกรณ์ที่จะสื่อสารการเล่าเรื่อง ประเด็น และเนื้อหาออกมา แต่สำหรับเราเมืองไทยการถ่ายภาพถ่ายหลายครั้ง เราไปโฟกัสที่อุปกรณ์มากกว่า ที่จะเล่าเรื่อง หรือเนื้อหา หรือประเด็น
เรารู้สึกว่า ยิ่งเราให้คุณค่ากับวัตถุหรืออุปกรณ์มากๆ มันจะทำให้เราหลงลืม ว่าเนื้อหาของเรา ประเด็นเนื้อหา ที่จะสื่อสารคืออะไร
คนที่ทำงานด้านศิลปะ เพื่อสื่อสารเนื้อหา ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ และช่างภาพมืออาชีพควรได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้
เรตไทยกับอเมริกาก็ต่างกันมากอยู่ แต่ถ้าช่างภาพข่าวจริงๆ ก็ไม่ได้รายได้เยอะอยู่แล้ว เราคิดว่าไม่ว่าจะที่ไหน ช่างภาพข่าวจะไม่ได้เยอะ แต่อย่างโฆษณา คิดว่าก็ต่างกันเยอะอยู่
เราเคยทำงานได้สูงสุดประมาณหลายหมื่นเหรียญ ประมาณ 3 แสนบาทไทย เรามองว่า ไทยไม่ค่อยให้คุณค่ากับทักษะหรือประสบการณ์ของอาชีพนั้นๆ มากเท่าที่ควร คือ ถ้าเป็นที่นี่อย่างต่ำ คือ 400 เหรียญ (15,184 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยมากประมาณนึงในวงการที่นี่
ถ้าเป็นโฆษณาจะโหดกว่านี้เยอะ คือ โฆษณาจะหลากหลายมาก มีทั้งได้ 3,000-30,000 เหรียญ (113,220-1,132,200 บาท) ถ้าเป็นแบรนด์เล็กจะ 3,000-5,000 เหรียญ (113,220-188,600 บาท )
ถ้าแบรนด์ใหญ่มาก แล้วยิ่งเป็นช่างภาพที่ใหญ่มาก คือ ราคาขึ้นเลย 20,000-50,000 เหรียญ (754,400-1,886,000 บาท) แล้วแต่ประสบการณ์ แล้วแต่แบรนด์ มีเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย การซื้อขายภาพ และประสบการณ์ ส่วนเรื่องราคาจริงๆ แล้วแต่ job และแต่ project เลย”
นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มูลค่าของผลงานภาพถ่ายที่ New York ได้รับผลตอบรับ และถูกประเมินในผลงานในระดับที่น่าพึงพอใจ
อีกทั้งมองเห็นคุณค่าทางศิลปะ ผู้คนที่สนใจจะเดินทางในเส้นทางนี้ ก็มีโอกาสเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งช่วยให้วงการถ่ายภาพเดินหน้าต่อ และมีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อประกอบอาชีพอย่างจริงจัง
เพราะอาชีพช่างภาพ ไม่ได้ถูกมองว่าจะยึดเป็นอาชีพได้ ซึ่งไม่เคยเห็นใครทำในสายงานด้านนี้มาก่อน สำหรับช่างภาพหญิงคนนี้ มีความเชื่อและความพยายาม คือ แรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้อยากจับกล้อง
เพื่อสร้างอาชีพ พร้อมพัฒนาผลงานอยู่ตลอดเวลาเพื่ออนาคต เดินตามเส้นทางชีวิตที่ตัวเองเลือก ไม่เพียงแค่นั้นยังมีความสนุก ท้าทายอยู่ตลอดเวลาในงานที่ทำ
“ในแง่วงการเรารู้สึกว่า ที่นี่ให้โอกาสเราดีจัง แล้วเรารู้สึกขอบคุณที่เขาเปิดโอกาสให้เราเยอะ จากคนที่แบบว่าไม่มี connection อะไรที่นี่เลยตอนแรก เราแค่ส่งงานไปแล้วเขาชอบงานเรา แล้วเขาให้โอกาสที่มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
แล้วมันทำให้เติบโตไปในวงการได้มากขึ้นเรื่อยๆ การ support ที่นี่มันสูง ถ้าคุณตั้งใจทำผลงานจริงๆ สำหรับ connection สำคัญทุกที่ ที่นี่ก็มี connection เยอะ แต่ว่า connection กับเส้นไม่เหมือนกัน คือ เรารู้สึกว่าถ้าเราทำงานได้ดี แล้วมีคนเห็น มีเพื่อนปากต่อปาก คนนี้ทำงานได้ และสนใจงาน นี่ก็คือ connection ก็ต่อไปเรื่อยๆ
แต่ว่าเส้น คือ คุณไม่ต้องมีผลงานอะไรมากก็ได้ แต่คุณก็ได้งาน เพราะว่ารู้จักกัน หรือด้วยความเอ็นดูก็ตาม
คือ เราเป็นเพื่อนกับหลายคน เช่น เราเป็นเพื่อนกับคนที่ทำงานให้ facebook เราเป็นเพื่อนกับคนที่ทำงานให้ google แต่ถ้างานมันไม่ตรงกันกับที่เขาต้องการ เขาก็ไม่ได้ให้งานเรา ต่อให้เราเป็นเพื่อนกัน ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นเพื่อนกับเจ้าของ gallery แล้วเราจะได้โชว์งานใน gallery
แต่ถ้าถามเรา ที่ไทยไม่ใช่แบบนั้น คือ คุณเป็นเพื่อนกับคนที่ทำงาน gallery วันนึงคุณจะได้โชว์งานใน gallery แน่นอน
ในอนาคตเราอยากถ่ายงานออสการ์ แต่ไม่รู้ว่าจะได้รึเปล่า เอาจริงๆ ความทรหดของที่นี่ คือ เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะได้ไหม ต่อให้ปีนี้เราถ่าย Met Gala ปีหน้าเราอาจจะไม่ได้ถ่าย Met Gala
มันไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะได้ถ่าย เราถึงบอกว่าเราชอบความยุติรรมของที่นี่ ถ้างานดีก็ได้ ถ้าไม่ดีก็ตก เราว่ามันแค่นั้น
เราว่าตรงนี้ดี ไม่ได้หมายความว่า จะอยู่ตรงนี้แล้วจะอยู่ได้ตลอดไป ต่อให้คุณเคยเก่ง แต่ถ้าวันนึงมีเด็กที่เก่งกว่าคุณ คุณตกได้ เพราะฉะนั้นห้ามตก เราว่ามันยุติธรรมดี”
ไม่ย่ำอยู่กับที่-ฝีมือห้ามตก!! “มันมีวันที่พักอยู่แล้ว มีแน่นอน แต่ก็พักนานไม่ได้ ถ้าพักนานแล้วมือตกไม่มีใครจ้าง เราก็คงต้องไปทำอาชีพอื่น แต่ว่าเราไม่อยากทำอาชีพอื่น เราชอบทำอาชีพนี้ ก็เลยยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ มันมีวันที่ขี้เกียจนะ แต่อย่างที่บอกเราเป็นฟรีแลนซ์ เราจะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้ เราฝีมือตกไม่ได้ ไม่งั้นจะมีคนที่ขึ้นมาเสียบแทนเรา หรือพร้อมขึ้นมาเสียบแทนเราตลอดเวลา แล้วเราชอบงานนี้มาก เราชอบอาชีพนี้มาก มันสนุกมาก เราก็เลยอยากทำต่อไปเรื่อยๆ และเราก็อยากให้เขาจ้างเราต่อไปเรื่อยๆ เราก็ต้องพยายามที่จะออกไปถ่าย ออกไปหามุมมองใหม่ๆ ทำงานใหม่ๆ ของตัวเองให้มากขึ้น ต่อให้วันที่ว่างไม่มีใครจ้าง ก็พยายามที่จะฉุดตัวเองออกไป เพราะถ้าวันนึงเราตก มันก็ตก” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...เธอคือ “ช่างภาพอินเตอร์” รายได้หลักแสน ผู้เสิร์ฟศิลป์ให้ “สื่อโลก”...
>>> https://t.co/ptpWXiaU1t
.
“ถ้าเราอยากจะโดดเด่น ก็ควรมีแนวทางที่ชัดเจน ต้องฝึกมากพอ จนรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน แล้วคือ จุดที่จะได้ รูปที่ดีที่สุด”
.#ช่างภาพ #สตรีทอาร์ท #streetphoto #streetart pic.twitter.com/UiG5tKlinQ— livestyle.official (@livestyletweet) November 9, 2022
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @poupayphoto, เฟซบุ๊ก “Poupay Jutharat”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **