เธอคือเจ้าของเหรียญทอง “กีฬาโพลแดนซ์” ระดับนานาชาติ วันทำงานคือ “หมอฟัน” เวลาว่างคือ “นักกีฬาเอ็กซ์สตรีม” ตัวยง!! ชอบความท้าทายตั้งแต่เด็ก แต่เพิ่งได้มาจริงจังในวัยใกล้เกษียณ แม้ต้องแลกด้วยการฝึกหนัก-ร่างเขียวช้ำ แต่ความรัก-ความฝัน คือ สิ่งที่เลือกแล้ว
ไม่สายเกินไป เรียน “โพลแดนซ์” ในวัยใกล้เลข 6
“เราก็อยากให้คนอื่นรู้ว่ากีฬาโพลแดนซ์ มันไม่ใช่แค่ความเซ็กซี่เท่านั้น คุณต้องใช้ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความตั้งใจฝึก ความมุ่งมั่น และความไม่สนใจคำคนอื่น คุณต้องหนักแน่นพอ
เสามันคือเหล็ก เนื้อเราจะต้องบดเบียดเพื่อที่จะได้การยืดอยู่ ไม่อย่างนั้นเราจะลื่น มันเจ็บปวด เขียวช้ำ และแสบเบิร์นมากๆ แต่เราจะต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เพราะเป็นคนชอบความท้าทาย เล่นกีฬาทุกอย่างคือมีเป้าหมาย ต้องทำท่าอย่างไรได้บ้าง จะต้องไปถึงจุดไหน มุ่งมั่นที่จะเอาชนะมันค่ะ”
“ทพญ.กีรติ ทองอำพัน” หรือ “คุณหมอหนุ่ย” ทันตแพทย์วัย 57 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
ภายในรอยยิ้มที่สดใส รูปร่างหน้าตาที่อ่อนเยาว์กว่าอายุ และสไตล์การแต่งตัวที่เปรี้ยวเข็ดฟัน หมอฟันท่านนี้สวมหมวกหลายบทบาท ในการทำงานเบื้องหน้า เธอรับราชการเป็นทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ขณะที่ชีวิตหลังเสื้อกาวน์นั้น เธอคือผู้หลงใหลในกิจกรรมผาดโผนเร้าใจนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น Inline Skate Aggressive, ว่ายน้ำฟรีสไตล์, ยิมนาสติกสากล ฯลฯ
และล่าสุด กับ โพลแดนซ์ (Pole dance) การออกกำลังกายที่ผสมผสานศิลปะการเต้นรำกับเสาโลหะ เพียง 2 ปีที่เข้าวงการนี้ หมอหนุ่ยก็สามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขัน 2019 Pole Sports Organisation (PSO) Taiwan Pole Championships มาครองได้สำเร็จ และจวบจนปัจจุบันเธอก็ยังพัฒนาตัวเองในเส้นทางสายโพลแดนซ์อย่างต่อเนื่อง
[ บทบาทหมอฟันคนเก่ง ]
ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวชีวิต หมอฟันวัย 57 ปี เล่าว่า ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ให้ลองเล่นในหลายๆ กิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งในสมัยเรียนยังเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
“หมอมีความชื่นชอบในกีฬาหลากหลายประเภท เป็นคนชอบแนว extreme เป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ สาเหตุหนึ่ง คือ มีน้าซัปพอร์ตการเล่นกีฬาของเรามาตั้งแต่เด็ก พาไปสวนสนุกมี Roller Coaster กับ Vikings ที่ชอบ เราก็จะมีความสนุกกับความหวาดเสียวตื่นเต้น น้าอีกคนก็ซื้อโต๊ะปิงปองให้เล่น อีกคนซื้อ Skateboard อีกคนพาไปบางแสน อีกคนพาไปเรียนว่ายน้ำ
หมอเป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำฟรีสไตล์มาราธอนของมหาวิทยาลัย จริงๆ เรียนทันตแพทย์ก็หนักมาก แต่ทุก 5-6 โมงเย็นต้องลงสระซ้อมด้วยตัวเอง ฝึกว่ายน้ำวันละ 2,500 เมตร เพื่อที่จะลงแข่ง 800 เมตร เสร็จจากนี้ก็ต้องไปทำแลปอีก 2-3 ทุ่มถึงกลับบ้าน จุดหมายของเราว่าเรียนก็ต้องได้ดี เป็นนักกีฬาก็ต้องซ้อม ให้สมดุลให้ไปด้วยกันได้”
[ เหมาหมดกิจกรรม extreme ]
แม้คุณหมอหนุ่ยจะมีความชื่นชอบกิจกรรมแนว extreme มาตั้งแต่เมื่อครั้งคำนำหน้าชื่อยังเป็นเด็กหญิง แต่กลับมามีโอกาสได้สัมผัสอย่างจริงจัง ก็เมื่อตอนที่ชีวิตผ่านมาถึง 5 ทศวรรษแล้ว
“ในกีฬาที่เราชอบมากที่สุดคือยิมนาสติก เราชอบดูโอลิมปิกมากแต่ไม่มีโอกาสได้เรียน ตอนเด็กที่บ้านก็จะกวดขันเรื่องเรียน พวกกีฬาโหดๆ เราได้มาเล่นก็คือได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ลูกโตแล้ว เราก็เริ่มที่จะมีเวลา มีความพร้อมที่จะไปเล่นกีฬาผาดโผนอย่างที่เราอยากเล่นตั้งแต่เด็ก ก็เริ่มหาที่เรียน
ตอนแรกก็ไปติดต่อที่ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เขาจะสอนแต่เด็ก ไปถามอีก 2-3 แห่ง ก็รับแต่เด็กทั้งนั้นเลย จนไปเจอที่ Thai Canadian Community Sports เขาให้ไปทดสอบคลาส advance ของเด็กโต พอไปเทสโค้ชก็บอกว่าเรียนได้
เริ่มเล่นยิมนาสติกสากลเมื่ออายุ 50 ปีค่ะ จนกระทั่งตีลังกาได้ทุกท่า พอเรียนไปประมาณ 2 ปี เลยคิดว่าอยากจะลองอย่างอื่นที่เราคิดว่ามันดูสวยและไม่น่าจะยากเกินไปสำหรับเรา ก็เลยลองมาเรียนโพลแดนซ์เมื่ออายุ 52 ปีค่ะ”
“Practice makes perfect”
แม้จะมีร่างกายที่แข็งแรงและมีพื้นฐานจากการเล่นยิมนาสติกมาก่อน แต่เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “โพลแดนซ์” ยากกว่าทุกกิจกรรมที่เคยทำมา
“ในความรู้สึกหมอ ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่ามันยาก ไม่เหมือนกีฬาอื่น ตอนแรกคิดว่ายิมนาสติกยากแล้วในการที่จะได้แต่ละท่า แล้วพอมาเรียนโพล โพลยากกว่ายิมนาสติกอีก นี่คือสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่ามันจะยากค่ะ
แตกต่าง (จากที่คิดไว้) อย่างมาก ตอนแรกคิดว่ามันเป็นกีฬาแนวเซ็กซี่ แต่ไม่ใช่เฉพาะเซ็กซี่ มันใช้ความยืดหยุ่น และ emotional แต่เน้นที่สุดคือความแข็งแรงค่ะ มันยากมากในการที่จะยกขึ้นไปทำท่าต่างๆ
เคยลื่นตกลงมาก้นกระแทก หรือเวลาเหวี่ยงขึ้นไปขาก็กระแทกกับเสา แต่บาดเจ็บหนักๆ ยังไม่เคยมี ในการเรียนทุกครั้งจะต้องเซฟด้วยการใช้เบาะ เพราะท่ามันค่อนข้างอันตราย มันไม่ใช่เล่นเฉพาะ on floor มันต้องขึ้นไป aerial อีก
ส่วนใหญ่คนที่ช่วงแรกท้อแท้ไปคือทนความเจ็บ ความแสบ ความเบิร์นไม่ไหว มันจะเขียวช้ำไปทั้งตัว ทั้งขา ทั้งแขน มันไม่ธรรมดา ช่วงประมาณ 2 เดือนแรกหลังจากนั้นกล้ามเนื้อและผิวเราจะค่อยๆ ปรับตัวชินกับมันค่ะ”
“หมอเข้าฟิตเนสอยู่แล้วโดยปกติ อันนี้มาเพิ่ม หมอจะเล่นหลายๆ อย่าง อย่างเช่น วันจันทร์จะเข้าโยคะ วันอังคารจะเล่นโยคะผ้า วันพุธก็จะเรียน static pole วันพฤหัสเรียน spinning pole วันศุกร์ก็อาจจะไปเล่น Skate Aggressive เสาร์-อาทิตย์ เรียนยิมนาสติกค่ะ นี่คือโปรแกรมทุกวันนี้”
ถือได้ว่าทันตแพทย์ท่านนี้เป็นคนที่ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง หลังเสร็จจากงานที่ทำก็เป็นอันต้องหากิจกรรมมาเติมเต็มตนเองตลอดเวลา ซึ่ง 5 ปีให้หลังมานี้ โพลแดนซ์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และกลายเป็นกิจกรรมที่เธอชื่นชอบ ถึงขนาดมีเสาไว้สำหรับฝึกฝนด้วยตนเองในบ้านเลยทีเดียว
“กีฬานี้ไม่ใช่เพิ่งมี เป็นกีฬาที่นิยมในต่างประเทศมานานแล้ว หมอมาเรียนตอนอายุ 52 เล่นโพลปีนี้ปีที่ 5 แล้วค่ะ เริ่มจากศูนย์ก็เล่นได้เพราะมันมี level เริ่มตั้งแต่มาคุ้นเคยกับเสา มาเดิน มาจับ ทุกคนก็เริ่มจาก beginner ทั้งนั้น
ไปลองที่สตูก่อนดีกว่าจะได้รู้ว่าชอบจริงมั้ย ทนได้มั้ย บางคนเรียนไปเรียนมา เจ็บ ไม่เอาแล้ว ยอม ไม่ต้องรีบซื้อเสามาติดเอง ลงทุนเสาก่อนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบจริงรึเปล่า บางคนไม่เล่นเลยมันก็จะเกะกะบ้าน (หัวเราะ)
นักกีฬาเยอะมากใน YouTube ใน IG พอเราเปิด IG เราก็จะเกิดอยากฝึกท่านี้นอกรอบ ก็เลยซื้อเสามาดีกว่า บางทีกลางคืนดึกๆ เราอยากลองทำท่านี้ดู เราก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอไปที่สตูฯแล้วไม่ได้เรียนอะไรที่เราอยากทำจาก IG บางทีขี้เกียจขับรถไปสตูฯไกลๆ แล้วเสียเวลาเดินทาง เสียค่าทางด่วน เสียค่าจอดรถ (หัวเราะ)”
ทั้งนี้ คุณหมอยังได้สะท้อนถึงข้อจำกัดของการเล่นโพลแดนซ์ ว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องมีทุนทรัพย์ในการเล่นพอสมควร
“ข้อเสียอย่างนึงก็คือเป็นกีฬาที่ใช้เงินเยอะเหมือนกัน เพราะค่าเรียนก็ไม่ถูกเลย เรียนปกติชั่วโมงนึงอย่างต่ำก็ 360 ไปเรียนชั่วโมงนึงรู้สึกว่าตัวเองไม่คุ้ม ยังไม่ทันเหนื่อยเลยหมดเวลาแล้ว ต้องเรียน 2 คลาส ก็ต้องมีเงินในการที่จะฝึก ตอนหมอไปเรียนหมอจะคิด ไหนจะค่าจอดรถ 120 ค่าทางด่วน คิดไปคิดมาเราฝึกเองก็ได้ ซื้อเสามาก็ 20,000 กว่า ติดตั้งเอง
โพลก็ต้องมีครูสอน แต่ถ้าในระดับที่แกะท่าได้ก็ซ้อมเองได้ ตอนนี้หมอจะเรียนกับครูนายที่เป็นโค้ชเรา ฝึก static อีกวันก็เรียนกับครูปอเป็นเสา spin เมื่อก่อนจะเรียน 4 วันต่อสัปดาห์ ตอนนี้ลดเหลือ 2 วัน แต่ไปเพิ่มยิมนาสติกแทน อันนี้คือความชอบมากเป็นพิเศษ ยิมนาสติกฝึกเองไม่ได้เลย ทั้งอุปกรณ์เยอะมากและต้องมีโค้ช
โพลแดนซ์บางคนถ้าเขาสามารถซื้อเสามาฝึกเองที่บ้านแล้วขยันฝึกก็จะเร็วค่ะ มันขึ้นอยู่กับการฝึกฝน แล้วแต่เวลาที่คุณทุ่มเทกับมันว่าจะช้าหรือเร็ว แล้วแต่ว่าคุณจะใช้เวลากับมันมากแค่ไหน มันไม่ได้รับประกันว่าคุณเรียน 3 เดือนแล้วคุณได้ level นี้เหมือนกันในทุกกีฬา ถ้าคุณให้เวลากับมันมากมันก็จะได้ดี อย่างที่เขาบอก Practice makes perfect”
เจ้าของเหรียญทองระดับอินเตอร์!!
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น คุณหมอหนุ่ยไม่เพียงแค่เล่นโพลแดนซ์ได้เท่านั้น แต่หากยังมีทักษะการเล่นที่ดีมาก จนนำไปสู่การแข่งขันระดับอินเตอร์
“ตอนนั้นเพิ่งเรียนโพลมาได้ 6 เดือน เมืองไทยเปิดการแข่งขันครั้งแรกในประเทศไทยที่เป็นการแข่งขันแบบ open หมอจะต้องแข่งกับเด็กๆ ที่เรียนด้วยกัน คนอื่นก็อายุ 20 กว่าแล้วหมอแก่สุด ตอนนั้นแข่งได้ที่ 4 ก็ภูมิใจในระดับนึง
พอเรียนมาได้ 2 ปี จนอายุ 54 โค้ชก็บอกเก่งมากควรไปแข่งเถอะ มีการจัดแข่งตามที่ต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ที่ใกล้สุดคือที่ไต้หวันเปิดการแข่งขัน Pole Sports Organisation (PSO) 2019 เป็นการแข่งขันแบ่งตามระดับอายุ หมอก็เลยรู้สึกอย่างนี้ค่อยแฟร์ ฉันจะได้แข่งในโซนอายุใกล้เคียงกับเราไม่ใช่แข่งกับเด็ก
การแข่งขัน Pole Sports Organisation (PSO) เป็นการแข่งขันระดับโลก เขาแบ่งอายุ 20-29 คือ Junior 30-39 คือ Senior 40-49 คือ Master หมออยู่รุ่น 50-59 คือ Grand Master ตอนนั้นเขามีแข่ง 1. Pole Sports Championship 2. Dramatic 3. Exotic เราถนัดความแข็งแรงเลยลง championship level 4 เป็นระดับของนักเรียนที่สูงสุด”
นอกจากจะต้องแข่งขันกับผู้เข้าสมัครท่านอื่นแล้ว หมอหนุ่ยยังต้องแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นไปดังที่ใจหวัง และในที่สุดเธอก็สามารถคว้าชัยชนะมาได้อย่างสง่างาม...
“ตอนซ้อมโค้ชเอาท่าของยิมนาสติกมาใส่ด้วย โค้ชบอกว่านี่แหละไม่มีใครสู้ได้แล้ว การแข่งมันกดดัน มันยาก เพราะเราต้องแข่ง 2 เสา เสานึงอยู่กับที่ เสานึง spin เสาก็สูง 4 เมตร แล้วไม่มีเบาะ การซ้อมของเรามันมีเบาะตลอด เสียวนะแต่ต้องมั่นใจในสิ่งที่ซ้อม
[ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ]
พอตอนไปแข่ง final หมอได้เหรียญทอง เข้ารอบแค่คนเดียว ทีนี้กรรมการเขาถามว่าจะลงมาแข่งกับรุ่น Master มั้ย ก็บอกแข่งสิอุตส่าห์ไปถึงที่แล้วก็อยากโชว์มั่ง ก็ไปแข่งกับคนที่อายุน้อยกว่าเรา แข่งเสร็จคนแรกก็ลงมาดูกับโค้ช ดูจนครบทุกคนโค้ชหันมากบอก พี่หมอรอรับมงได้เลย
พอประกาศเท่านั้น หมอได้ที่ 1 เจ้าภาพคือที่ 2 อายุ 40 เขาเรียนมา 4 ปี ในขณะที่หมออายุ 54 เรียนมา 2 ปี ชนะเจ้าภาพ ชนะเด็กด้วย เราก็เลยได้เหรียญทองมา ภูมิใจมากเพราะว่าแข่งอินเตอร์ครั้งแรก
ยังบอกทุกคนถ้าเริ่ม 30 ปีที่แล้ว ฉันเป็นแชมป์โลกไปแล้วบอกได้เลย เสียดายมาก (หัวเราะ) ทุกวันนี้สาวๆ เขาก็เรียนกันเร็ว เรามาเรียนตอนแก่ แต่ได้ระดับนี้โค้ชก็บอกเก่งกว่าเด็กเยอะมาก แล้วหลังจากนั้นก็ติดโควิด 3 ปีไม่มีการไปเมืองนอก ไม่มีการจัดการแข่งขันเลย”
ถามถึงการแข่งขันโพลแดนซ์ในอนาคต หมอฟันนักกีฬาก็ให้คำตอบว่ายังอยากลงแข่งขัน โดยเฉพาะเวทีทางฝั่งตะวันตก
“ยังบอกครูว่าอยากแข่งปีหน้า อยากไปแข่งที่ Saint Louis อเมริกา เป็นบ้านน้า ก็แพลนว่าได้พักบ้านน้าแล้วก็ไปแข่ง แต่ก็ต้องให้เก่ง ต้องแข่งกับฝรั่งเขาเก่งและแข็งแรงมาก การที่ไปสนามแข่งจะต้องเป็นคนที่คิดว่าตัวเองได้ในระดับเบื้องต้น ต้องการทดสอบตัวเอง ไหนๆ ไปแข่งแล้ว ค่าใช้จ่ายก็สูง เราไม่ฝึกซ้อมมันก็จะล้มเหลว
ถ้าคิดจะแข่งก็ต้องมีการฝึกซ้อม มันเป็นการกระตุ้นร่างกาย เราทำเต็มความสามารถ อาจจะเข้ารอบหรือไม่เข้ารอบก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องท้อแท้ คนเราไม่ได้ได้ที่ 1 ทุกคน นั่นเป็นการวัด progression ของเรา เราอย่าไปคิดอะไรที่ทำให้เราเป็นลบหรือทำให้สูญเสียกำลังใจ พอดีหมอเป็นคนชอบการแข่งขัน เป็นนักกีฬา เราพยายามทำเต็มที่ของเราเพื่อความสนุกไป
แต่ก็ไม่เป็นไรหมอก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะชนะฝรั่ง เราทำเต็มที่ของเราแค่นั้นเอง แล้วเราก็ได้ไปเที่ยวด้วย ได้ไปเจอน้า ถ้าเราคิดว่าไปแค่แข่งก็ใช้ตังค์เยอะนะ มันต้องใช้เงินเราเองหมดทุกอย่าง ไม่ได้มีสมาคมหรืออะไรซัปพอร์ต ก็เลยต้องว่าได้ทั้งเที่ยวทั้งอะไร ถ้ามีทีมชาติไปที่ไปเชียร์ด้วยกัน บรรยากาศมันก็สนุกดีค่ะ”
เปิดใจกว้างๆ อย่าตัดสินว่า“แค่กีฬารูดเสา”
“รู้สึกว่าคนไทยรู้จักมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นจากการที่เราสื่อออกไปว่า ไม่ใช่กีฬาที่ออกแนวยั่วยวนอย่างเดียว มันเป็นกีฬาที่ส่งเสริมให้คนใช้ความแข็งแรงที่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ อันนี้หมอสัมผัสได้โดยตรงจากตัวเอง”
สำหรับกีฬาโพลแดนซ์นั้นมีหลากหลายประเภทที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการยึดร่างกายให้อยู่กับต้นเสา
“โพลจะมีประมาณ 3 ประเภท 1. Pole sports แนวที่เล่นท่าต่างๆ เน้นความแข็งแรง ความยืดหยุ่น 2. Dramatic อาจจะเล่นเป็นแนว emotional เล่นให้สัมพันธ์กับเพลง 3. Exotic ออกแนวเซ็กซี่ มี body wave / body movement ก็จะดูเซ็กซี่ยั่วยวน แต่นั่นคือการคอนโทรลกล้ามเนื้อร่างกาย มันยากมาก
ที่เรามองเห็นภายในความสวยงาม นั่นคือ ความแข็งแกร่งที่เขามีมากๆ โดยเฉพาะการแข่งขัน exotic หมอบอกได้เลยว่าเซ็กซี่และแข็งแรงมากจริงๆ หมอเล่น exotic ยังเหนื่อยมาก ถ้าจะให้สวยงามต้องใส่เสื้อผ้าสวยงาม ดูวิบวับ มันก็จะทำให้น่าดูมากขึ้น ไม่ใช่ดูแค่เซ็กซี่นะคะ มันคือความเนียนไปหมดทั้ง performance ทั้ง costume ค่ะ
กีฬาโพลแดนซ์เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความพลิ้วในการเล่น สามารถที่จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น ทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในกรณีในสถานบันเทิงเขาอาจจะใช้ในการโชว์ อาจจะเป็นหนึ่งในอาชีพของเขาที่จะต้องทำเพื่อดำรงชีวิต บางทีเราก็ต้องเปิดใจกว้างนิดนึง”
หมอหนุ่ยยังอธิบายถึงเหตุผลที่กิจกรรมนี้มีเครื่องแต่งกายน้อยชิ้น นั่นก็เพราะต้องให้เนื้อตัวร่างกายแนบกับเสา ซึ่งเนื้อผ้าจะทำให้ลื่นหล่นลงมาได้รับบาดเจ็บได้
“ส่วนใหญ่คนที่รู้จักกันหรือเห็นมาตั้งนาน เขาจะรู้ว่าหมอเป็นนักกีฬา ไม่ใช่เพิ่งมาเล่น เวลาเล่นฟิตเนสก็แต่งมุ้งมิ้งเล่นตลอด หมอแต่งตัวสวย เล่นก็เก่ง ทุกคนจะเคยชินกับภาพลักษณ์เราอย่างนี้
แต่บางคนเขาก็จะบอกว่า ‘มันไม่เหมาะนะเป็นหมอแล้วมาใส่ชุดนี้เต้น’ บางท่ามันต้องฉีกขา แต่มันเป็นท่าไงคะ เป็นการ transition ของท่าก็ต้องมี ชุดมันก็อย่างนั้น การยึดอยู่ของตัวเรากับเสามันคือผิวหนัง ไม่ใช่เสื้อผ้าที่จะทำให้เกิดความลื่นมันจะไม่ปลอดภัย ต้องใช้เนื้อเบียดกับเสา เสื้อผ้าน้อยชิ้นจะทำให้เราปลอดภัย”
แม้ทุกวันนี้กีฬาชนิดนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ยังมีคนบางส่วนมองการเล่นโพลแดนซ์ในแง่ลบ และในกรณีของหมอหนุ่ยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแพทย์ ก็ยิ่งถูกจับจ้องเป็นพิเศษ
[ ความแข็งแรงภายใต้ความเซ็กซี่ ]
“หมอมองเรื่องนี้ว่าคุณก็ต้องเปิดใจกว้าง นี่มันคือกีฬาสากลที่ต่างชาติเล่นกันเยอะมาก ประเทศไทยต้องค่อนข้างปรับทัศนคตินิดนึง ค่อยๆ ปรับเดี๋ยวก็เข้าใจเอง ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วค่ะ
ให้คิดว่ามันไม่ได้มีรูปแบบเดียว มีทั้งแนวกีฬา แนวสันทนาการ หรือแนวดำรงชีพของแต่ละคน แต่ถ้าคุณอยากลองสัมผัสหรือลองมาเรียนรู้ดู คุณก็จะได้พบว่ามันเป็นอย่างไร อาจจะไม่เหมือนกับที่คุณคาดคิดก็ได้ค่ะ (ยิ้ม)
ทุกอย่างไม่เคยเป็นอุปสรรคสำหรับเรา เราอยากทำอะไร เราก็ต้องทำตามความชอบของเรา ความมุ่งมั่นของเรา เดี๋ยวนี้คนที่มีอาชีพเป็นแพทย์ก็มาเรียนเยอะมาก ในสตูที่หมอเรียนก็มีหมอตั้ง 3-4 คน แล้วเก่งๆ ทั้งนั้นเลย
ตอนนี้มีเด็กๆ มีสาวๆ เล่นเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ หมอแก่สุดแล้วล่ะ มีรองจากหมอก็อ่อนกว่าประมาณเกือบปี แต่ทุกคนบอกนี่คือแรงบันดาลใจและไอดอล”
“อายุ-อาชีพ” ไม่ใช่ข้อจำกัดความสุข
ในคนที่อายุมากแต่ชอบทำกิจกรรมผาดโผนท้าทาย มักจะมีคำเตือนที่ว่า ‘รุ่นนี้อะไหล่หายาก’ แต่คำนี้ใช้ไม่ได้กับคุณหมอหนุ่ย เพราะไม่เพียงแค่การมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างเดียว แต่ยังต้องรู้จักใช้ร่างกายอย่างรู้ขีดจำกัดของตนเองด้วย
“ต้องประเมินตัวเองให้ได้ก่อนว่าไหวมั้ย มีสุขภาพแข็งแรงเพียงพอมั้ย อย่างที่หมอไปเรียน Inline Skate Aggressive นั่นโหดมากเหมือนกัน โค้ชบอกไม่เชื่อว่าจะทำได้ ตอนหลังเขารู้จักเราเรื่อยๆ เรามีของเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้วถึงเล่นได้ แต่ถ้าเราไม่มีพวกนี้เลย เป็นคนไม่ผาดโผน ไม่ได้เล่นกีฬาในระดับนึง ไม่สามารถเล่นได้หมอบอกเลย
เล่นอย่างอื่นมาตลอดยังไม่แข็งแรงเท่าตอนมาเล่นโพลเลยบอกตรงๆ ทั้งที่มาเล่นโพลตอนแก่กว่าด้วย ตอนนี้กลับไปเรียนยิมนาสติก โค้ชบอกว่าคุณหมอแข็งแรงมาก ตอนเรียนยิมนาสติกมา 2 ปียัง pullover bar ไม่ได้ แต่ตั้งแต่เรียนโพล เรากลับไปเรียนยิมนาสติกก็เล่นได้แข็งแรงมาก แต่ที่ทำไม่ได้จริงๆ คือ กีฬาวิ่ง เราไม่ชอบ มันเบื่อ ชอบอะไรที่มันมี dynamic”
แม้ในปีนี้คุณหมอจะมีอายุ 57 ปีแล้วแต่ก็ยังดูสดใสอ่อนกว่าวัย เมื่อถามถึงการดูแลตนเอง แน่นอนว่า อย่างแรกคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรับประทานสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
“สำคัญที่สุดอันดับ 1 ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเพื่อที่จะไปทำอย่างอื่นที่อยากทำอีกตั้งเยอะ หมอคิดว่าตัวเองได้ร่างกายที่แข็งแรง เล่นกีฬาหนักๆ ได้ก็เนื่องจากเราสะสมพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วมันก็จะส่งผลในอนาคต
คนอยากจะรักษาสุขภาพก็ต้องออกกำลังกายบ้าง แต่ไม่ใช่หักโหม อย่าไปคิดว่าจะต้องเล่นอะไรที่ยาก ที่โหด อะไรที่เป็นกระแส ถ้าเราไปเล่นที่ไม่ชอบ ก็จะเล่นได้ไม่นาน ไม่มีความต่อเนื่อง แบ่งเวลามาดูแลสุขภาพ โดยการเล่นกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบและทำได้สม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อการดำรงซึ่งสุขภาพที่ดีและส่งไปภายในภาคหน้า แค่นี้เองค่ะ
กินแคลเซียม กินน้ำมันปลา ที่มันจะเสริมกระดูกเรา เพราะใช้เข่าเยอะอีกอย่างนึงที่เซอร์ไพรส์ หมอเป็นซีสต์ในรังไข่ ตัดออกไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หม่าม้าเป็นมะเร็งรังไข่ เขากลัวเป็นกรรมพันธุ์ หมอบอกตัดมดลูกไปเลยเพราะไม่มีลูกแล้ว ต้องตัดรังไข่อีกข้างไปด้วย สรุปหมอตัดหมอทั้งยวง
ถ้าเทกฮอร์โมนก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม หมอก็ไม่เคยเทคฮอร์โมนตั้งแต่ตัดมาเลย 10 กว่าปี ก็ยังเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าฉันก็ยังแข็งแรง ฉันยังเล่นกีฬาได้ ไม่รู้หรือว่าเป็นเพราะตัวเองอาจจะเล่นกีฬา สร้างร่างกายมาตั้งนานแล้ว มันอาจจะเป็นฮอร์โมนของกีฬา ฮอร์โมนความสุขที่หล่อเลี้ยงเราโดยที่เราไม่ต้องพึ่งฮอร์โมนสังเคราะห์”
นอกจากสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว หมอหนุ่ยยังมีสุขภาพใจที่ดี เพราะมีครอบครัวที่เข้าใจและคอยสนับสนุนในทุกเส้นทางที่เลือกเดิน
“เรารับราชการก็ทำงานดูแลคนไข้ หมอเป็นคนที่ friendly กับคนไข้ คนไข้ก็ชอบเรา ตกเย็นก็คิดจะเล่นอะไรดี เหมือนเป็นคนที่ไม่ค่อยคิดหวาดระแวง ไม่มีข้อกดดันอะไร อาหารการกินก็ไม่มีอะไรพิเศษเลย จริงๆ กินเก่งด้วย กินเบเกอรี่ ไขมันก็สูงขึ้นบ้างแต่ไปตรวจทุกปีก็โอเค นอนก็ดึกเพราะเล่น Youtube เล่น IG เราก็ยังแข็งแรง ก็คิดว่าไม่เป็นอุปสรรค มีความสุขค่ะ
โชคดีที่ที่บ้านมีสามีดี มีลูกดี ไม่ไปเกเร รับผิดชอบชีวิตเขาดี เราก็เลยไม่มีความกลุ้มใจ ที่บ้านก็ซัปพอร์ต บ้านหมอเองเขาก็รู้อยู่แล้วเป็นอย่างนี้ วันไหนไม่ไปก็จะถาม ‘ทำไมวันนี้อยู่บ้าน ไม่ไปไหนเหรอ’ สนับสนุนดีค่ะ ไม่ได้ห้ามไปเล่น
เป็นคนส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา แต่ลูก 2 คนไม่เล่น เมื่อก่อนลูกเรียนรำ เรียนเต้น ก็จะไปขอครู ถ้าครูให้เรียนก็จะเรียนคลาสต่างๆ ที่ลูกเรียน อย่างเช่น เทควันโด้ ปันจักสีลัต กลายเป็นว่าเราไปเรียนกับลูกแล้วเก่งกว่าลูกอีก (หัวเราะ) แฟนหมอก็ชอบไปวิ่ง ไปว่ายน้ำ ทุกวันนี้ก็ไปเล่น skate ด้วยกัน จะได้แข็งแรงไปด้วยกัน (ยิ้ม)”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย หมอหนุ่ย หมอฟันสายลุยก็ได้กล่าวว่า อย่าให้ข้อจำกัดเรื่องอายุและอาชีพ มาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้มีความสุข
“สำหรับหมอ หมอคิดว่าความสุขคือมีชีวิตการทำงานที่ราบรื่นปกติ ตอนเย็นมีการได้เล่นกีฬาที่เราชื่นชอบ หมออยากเล่นโพลแดนซ์ อยากเล่นยิมนาสติก เรามีอายุมากแล้วแต่สุขภาพร่างกายเราแข็งแรงเล่นได้นะ ก็ทำไปตามที่กำลังวังชาเรายังมี
เราไม่คิดว่าความแก่ อายุ หรือเราเป็นหมอแล้วจะเล่นอะไรไม่ได้เลย เราอย่าไปคิดเช่นนั้น เราอย่าให้อะไรมากำหนดเราหรือเป็นขีดจำกัดเรา อายุ อาชีพ ไม่ได้มีผลในการกีดกันการเกิดความสุขในการกระทำแต่ละอย่าง ตามเรื่องราวที่แต่ละคนสนใจ อาจจะเป็นด้านกีฬา งานอดิเรก อะไรที่มีความสุขจงทำไปเถอะค่ะ
ทุกวันนี้มีคนรู้จักหมอมากขึ้นจากสื่อ เขาก็จะพูดชื่นชมว่าหมอเป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคม ถึงแม้จะอายุมาก ถึงแม้จะมีอาชีพเป็นหมอ ก็ยังมีความสามารถ มีความสุขในการที่จะเล่นกีฬา เล่นโพลแดนซ์ซึ่งมันจะผาดโผนนิดนึง ก็ยังทำได้อยู่ถ้าสุขภาพร่างกายเราเอื้ออำนวย ก็ขอขอบคุณที่ทุกคนคิดว่าหมอเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่เกิดแก่สังคมนี้ค่ะ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...สมแล้วกับประโยคทีเล่นทีจริงของคุณหมอว่า “ถ้าเริ่ม 30 ปีที่แล้ว เป็นแชมป์โลกไปแล้ว”...
>>> https://t.co/EuR3hgVEGN
.
“ไม่ใช่แค่ความเซ็กซี่เท่านั้น คุณต้องใช้ความแข็งแรง ยืดหยุ่น ความตั้งใจฝึก มุ่งมั่น ไม่สนใจคำคนอื่น คุณต้องหนักแน่นพอ”
.#โพลแดนซ์ #กีฬา #แรงบันดาลใจ pic.twitter.com/UIs37h8cE6— livestyle.official (@livestyletweet) December 4, 2022
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช, อิสสริยา อาชวานันทกุล
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Dent Nui” และอินสตาแกรม @dentnui
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **