โซเชียลฯ วอนทบทวน “ค่า service charge” ควรให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกมัดมือชก หลังพบร้านแค่เสิร์ฟอาหาร แต่เรียกเก็บถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ด้านกูรูพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เผย ร้านไหนไม่แจ้ง “ค่า Service Charge” ให้ชัดเจน มีความผิด “เรามีสิทธิจะปฏิเสธได้ ถ้าเราไม่เห็นด้วย”
ผู้บริโภคโวย อย่ามัดมือชก “ค่า Service Charge”
ยังคงเป็นประเด็นที่กำลังถูกตั้งคำถามบนโลกโซเชียลฯ ในขณะนี้ กับกรณีของ “Service Charge” หรือค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ เป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน
เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chakaraht Phromchittikhun ออกมาแชร์ประสบการณ์ “ปฏิเสธการจ่ายค่า service charge มาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา”
ใจความระบุว่า ตนเองได้ปรึกษากลุ่มทนายเพื่อค้นหาและวิเคราะห์ข้อกฎหมายว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่า service charge ลูกค้าได้หรือไม่ จนได้ข้อสรุปว่า ลูกค้ามีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า service charge และทางร้านก็ไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บ
“ผมพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราไปร้านอาหาร เราไปซื้ออาหาร หลังจากที่เราสั่งอาหาร ถือว่าการตกลงซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว และกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการกินอาหาร ก็มีแค่พนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้เรา
การเรียกเก็บค่า service charge 10% จึงไม่มีความเป็นธรรม เพราะไม่ได้มีบริการเสริมใดๆ ขึ้นมาจากการเสิร์ฟอาหารปกติ และต่อให้มีบริการอะไรที่เพิ่มเป็นพิเศษ ลูกค้าก็ต้องมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อบริการนั้นหรือไม่”
เขากล่าวต่อว่า ได้ปฏิเสธการจ่ายค่า service charge ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน อีกทั้งท้าให้ร้านอาหารฟ้องร้อง ปรากฏว่า ไม่มีร้านไหนเก็บค่า service charge กับเขาแม้แต่ร้านเดียว พร้อมขอให้ทุกคนปฏิเสธการจ่ายค่าบริการในทุกกรณี เพราะทางร้านไม่มีสิทธิมาเก็บ
เขามองว่า ที่ผ่านมา ตนเองเสียค่าโง่ไปเป็นจำนวนมาก และร้านอาหารไม่ควรผลักภาระค่าบริการมาให้ลูกค้า ส่วนใครที่ประทับใจในการบริการ ก็สามารถให้เป็นทิปแก่พนักงานได้โดยตรง และควรเป็นการให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกมัดมือชกแบบ service charge
ทันทีที่เรื่องราวนี้ถูกส่งต่อออกไป ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นอย่างหลากหลายบนโลกโซเชียลฯ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้บริโภคดีกว่า อย่ามัดมือชกกันเลย อีกด้านก็มีหลายคนมาแชร์บรรดาร้านอาหาร ที่พวกเขามองว่ามีการเก็บค่า service charge อย่างไม่สมเหตุสมผล
ทางด้านของผู้ทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคอย่าง โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น จัดทำนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวกับทีมข่าว MGR ว่า ผู้บริโภคส่วนมากไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิจะปฏิเสธการจ่าย service charge ได้
[ โสภณ หนูรัตน์ ]
“service charge เป็นค่าบริการอย่างหนึ่งที่ร้านค้าเรียกเก็บกับผู้บริโภค การที่ทุกวันนี้ผู้บริโภคจ่าย ส่วนหนึ่งเพราะว่ามันปรากฏอยู่ในบิลเรียกเก็บรวมมากับค่าอาหาร แต่ผู้บริโภคบางคนเขาไม่ติดใจ เพราะอาจจะคิดว่าเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เขาอาจจะลืมนึกไปว่าถ้าเกิดถูกเก็บ service charge 100 คน ก็เป็นเงินจำนวนมากเหมือนกัน
ส่วนหนึ่งผมคิดว่า คนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิจะปฏิเสธได้ ถ้าเราไม่เห็นด้วย ผู้บริโภคทราบหรือไม่ว่า ร้านค้าจะเก็บ service charge ต้องให้ข้อมูลกับผู้บริโภคก่อน ยิ่งถ้าไม่แจ้งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผิด เราก็จะเจอร้านค้าทั้งร้านที่แจ้ง service charge อยู่ในเมนูอาหารเลย กับร้านค้าที่ไม่แจ้งอะไรเลย
[ ตัวอย่าง Service Charge 10% ที่ปรากฏบนใบเสร็จ ]
ที่ผมเคยเจอมาบางร้านเขาก็ทำตัวเล็กมาก บางทีสีก็อ่านยาก กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเรื่องการแสดงฉลาก เขาก็มีการกำกับในเชิงขนาดตัวอักษร ความชัดเจนเห็นได้โดดเด่น
และตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ก็มีการกำหนดอยู่ว่า ต้องมีการแสดงราคาให้ผู้บริโภคทราบ เป็นอำนาจของกรมการค้าภายในที่กำกับเรื่องของราคาสินค้าและบริการ ต้องมีความชัดเจนว่าจะเก็บอะไรบ้าง ซึ่ง service charge ก็เป็นค่าบริการอย่างหนึ่ง ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบด้วย ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ดูแล ถ้าไม่มีการแจ้งหรือติดข้อความที่เห็นได้ชัด ให้ผู้บริโภคทราบก่อนว่ามีการเรียกเก็บ ก็อาจจะไม่ถูกต้อง”
เช็กด่วน! บริการแบบไหนไม่ต้องจ่าย?!
ด้านหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ก็ได้ออกมาให้คำตอบถึงประเด็นที่กำลังถูกพูดถึง โดยมีใจความสำคัญดังนี้
อัตราการเรียกเก็บ service charge ที่เหมาะสมตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่ ต้องไม่เกิน 10% และร้านอาหารต้องติดป้ายแสดงทุกอย่างให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า ทั้งราคา และ service charge เพื่อให้ผู้บริโภคทราบก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
และต้องแสดงให้ผู้บริโภคต้องสามารถมองเห็นชัดเจน ถ้าผู้ประกอบให้ข้อมูลอย่างชัดเจนเรื่อง service charge แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคว่าจะตัดสินใจใช้บริการหรือไม่ แต่หากไม่แสดง service charge หรือมี แต่อ่านไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่าย และร้านก็มีความผิด โทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
กรณีลูกค้าไม่พอใจการให้บริการ ประกอบกับมีการคิด service charge ที่แพงเกินจริง ภาครัฐมี พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 โดยระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการขายจำหน่ายสินค้าในลักษณะทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างกลไกการตลาดบิดเบี้ยว ราคาเกินจริง โดยชี้แจงสาเหตุที่เรียกเก็บราคาสูงเกินจริงไม่ได้นั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ เกิดผล แก้วเกิดทนายความชื่อดัง ก็ออกมาให้ข้อมูลถึงประเด็นนี้ “ถ้าร้านอาหารติดประกาศโดยชัดแจ้ง ให้ลูกค้าเห็นก่อนสั่งอาหาร ว่า มีเซอร์วิสชาร์จด้วยก็ถือว่าลูกค้ารับรู้และยินยอมครับ แต่ถ้าร้านค้าไม่ติดประกาศหรือแอบแฝงมาในบิลค่าอาหาร โดยลูกค้าไม่รู้ ไม่ยินยอม ลูกค้าไม่จ่ายก็ได้ครับ”
ทั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของ สอบ. ยังกล่าวต่อถึงในประเด็นการให้บริการที่มีสิทธิเรียกเก็บ service charge ควรจะเป็นไปในทิศทางใด
“เรื่องของการให้บริการลักษณะไหน ที่ควรจะมีสิทธิเรียกเก็บ service charge ตอนนี้ต้องบอกว่ากฎหมายบ้านเรายังไม่มีแนวหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ถ้าในความเห็นของตัวผม อย่างร้านอาหารเกาหลี ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เขามีการบริการทำอาหารให้ด้วย หรือว่ามีการเสิร์ฟน้ำ ดูแลอย่างใกล้ชิด อันนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นการบริการที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค
แต่ถ้าเพียงแค่เอาอาหารมาเสิร์ฟให้กับผู้บริโภค แล้วเรียกเก็บ service charge การที่ร้านค้าจ้างพนักงานมาเสิร์ฟอาหาร มันเป็นเรื่องของหน้าที่ ต้นทุนทางธุรกิจที่คุณต้องมีอยู่แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกอะไรเพิ่มเติมจากการให้บริการของคุณ ก็ไม่ควรที่จะมีสิทธิเก็บ หรือถ้าร้านค้าประเภทที่เราต้องเดินไปหยิบอาหารเอง self service ร้านเหล่านี้ก็ไม่ควรที่จะมีการเรียกเก็บ service charge กับผู้บริโภคครับ
ส่วนอัตรา service charge ที่เป็นธรรมจะเป็นเท่าไหร่ ต้องบอกว่ายังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมือนกัน โดยสากลส่วนมากเขาจะคิดไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าอาหาร ตรงนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือเปล่า เป็นประเด็นที่หน่วยงานรัฐที่กำกับอย่างกรมการค้าภายใน จะต้องมาดูเรื่องนี้ หรือตัว สคบ.เองก็มาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย”
สุดท้าย ผู้ทำงานด้านสิทธิผู้บริโภค ได้ฝากถึงทั้งในมุมของผู้บริโภค ให้หมั่นตั้งคำถามถึงเรื่องสิทธิของตนเอง เพื่อที่จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ ขณะที่มุมของผู้ประกอบการ ก็ต้องมีความโปร่งใสและตรงไปตรงมากับผู้ใช้บริการเช่นกัน
“ณ ตอนนี้ผมว่าผู้บริโภคควรตั้งคำถาม หรือสังเกตเวลาที่ถูกเรียกเก็บ service charge หรือค่าบริการใดๆ ก็ตาม ที่ผู้ประกอบธุรกิจเขาเรียกเก็บกับเราในแต่ละครั้ง ร้านได้ตอบแทนอะไรบ้างกับเงินที่คุณต้องจ่ายไป เขามีการแจ้งเรามั้ย ถ้าเขาไม่แจ้งเราก็ต้องสอบถาม ถ้าสอบถามแล้วไม่โอเค เราก็ไม่ควรใช้บริการ เรามีสิทธิเลือกในฐานะผู้บริโภค
แค่เขาเก็บ service charge แล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับบริการอะไรพิเศษเพิ่มขึ้น เราก็ร้องเรียนไปที่กรมการค้าภายใน เขามีหน้าที่ตรวจสอบการคิดราคาค่าบริการที่ค้ากำไรเกินควร มีการเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม เกินสมควร ผมคิดว่าเข้าข่าย เว้นแต่เขาจะชี้แจงได้ว่าที่เขาเก็บ service charge มันเป็นค่าบริการอะไรที่เขาสมควรได้ตรงส่วนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์กัน
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจเอง ถ้าคิดว่ามีความจำเป็นต้องเก็บไม่ว่าค่าอะไรก็ตาม ต้องแจ้งราคาให้ชัดเจน อย่าหมกเม็ด อย่าทำให้ตัวเล็ก อย่าทำให้คนมองไม่เห็น อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเขาเหมือนกันที่ต้องทำ
ถ้าผู้ประกอบการตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็ยินดีสนับสนุน แต่ถ้าผู้ประกอบการที่ไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็ควรจะช่วยกันร้องเรียนเพื่อให้เขาปรับปรุงบริการครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **