xs
xsm
sm
md
lg

ภัยเงียบ “ออกกำลังกาย = ตาย” มัจจุราชร้ายผู้พรากชีวิต “ลองโควิด”!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพนิกกันไม่น้อย เมื่อมีเคส “ลองโควิดอันตราย” แค่ “ออกกำลังกาย = เสียชีวิต!!” ทวีตลงโซเชียล เตือนใจสังคม ด้านหมอ 2 ราย ร่วมวิเคราะห์ ให้คำตอบเสี่ยง-ไม่เสี่ยง?




เสี่ยงไหม? วัดได้จาก ฝืนแค่ไหน?


กลายเป็นเคสที่ถูกพูดถึงและแชร์กันยกใหญ่ในโลกทวิตเตอร์ เมื่อคนเป็นพี่ออกมาทวีตเตือนว่า ให้คนที่เป็น “ลองโควิด” หรือญาติของผู้ป่วยระวัง อย่าออกกำลังกายหนัก เพราะน้องชายของเจ้าของทวีต เพิ่งเสียชีวิตจากการออกกำลังกายหนัก หลังหายโควิดได้ไม่นาน


ทั้งที่น้องคนนี้ปกติแล้ว เป็นคนออกกำลังกายเป็นประจำ แต่พออยู่ในช่วงลองโควิดแล้ว ร่างกายกลับรับไม่ไหว

เรียกได้ว่า สะเทือนวงการออกกำลังกายอยู่ไม่น้อย เพราะทันทีเรื่องราวนี้ได้ถูกโพสต์และแชร์ออกไป ต่างก็เกิดคำถาม และสร้างความหวาดกลัว กับการออกกำลังกายในภาวะลองโควิด สามารถพรากชีวิตได้จริงหรือไม่

[หมอมนูญ]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทีมข่าวจึงติดต่อไปยัง “นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ให้มาช่วยให้คำตอบที่ถูก

โดยให้คำตอบไว้ว่า สำหรับเคสดังกล่าว อาจจะมีโรคอื่นเป็นเหตุการณ์ร่วม การออกกำลังกายไม่ได้เป็นสาเหตุในการเสียชีวิต

“มันคงเป็นเหตุการณ์ร่วมมากกว่า คงมีโรคประจำตัวของเขามากกว่า และอาจจะเป็นโควิดมาแล้วมีเหตุการณ์ร่วม ทำให้เขาเสียชีวิต ต้องดูว่าก่อนเขาเสียชีวิตเขามีอาการยังไง

ต้องดูว่าเขาอายุเท่าไหร่ เพศอะไร มีโรคประจำตัวไหม มีเบาหวาน ความดัน มีหัวใจรึเปล่า แล้วการไปออกกำลังกายเป็นการออกแบบไหน คือ ต้องทราบรายละเอียด”

[หมอธีระวัฒน์]
เช่นเดียวกันด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งบุคลากรด่านหน้า ได้ให้คำตอบถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า ไม่อยากให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายเป็นอันตราย เพราะการออกกำลังกาย เป็นหนึ่งตัวช่วยให้หายขาดจากลองโควิด

“คำว่าออกกำลังกายหนัก คือ เริ่มต้นทีละน้อย ไม่ฝืน และรู้ว่าตัวเองมีต้นทุนเท่าไหร่ ต้องรู้จักตัวเองก่อน และประเมินตัวเองหลังจากที่ติดโควิดไปแล้ว ว่า เราทำอะไรได้แค่ไหน และค่อยๆ ทำทีละน้อย อย่าฝืน ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะไม่หายเลย

คือ สำหรับการออกกำลังกายแล้วเสียชีวิต อาจจะมีอะไรประกอบอยู่ด้วย แต่ว่าเราต้องเข้าใจว่าคนไม่มีอะไร กับมีไม่รู้ตัว จะปรากฏมาให้เด่นชัด นี่คือ ความยากของลองโควิด พราะฉะนั้นการที่หักโหม ไปออกกำลังกายรุนแรง จากการติดโควิด และมีอาการโควิด ตรงนั้นต้องประเมินตัวเองก่อน

ข้อสังเกต 1. ต้องประมาณตนว่าของเดิมของเรามีอะไรอยู่แล้วรึเปล่า 2. ถ้าของเดิมที่มีอยู่แล้วนั้น ควบคุมดูแลได้รึเปล่า และ 3. ถ้าหากว่ามันมีอาการรู้สึกรุนแรงมากขึ้น ตรงนี้อาจจะต้องไปประเมินใหม่ว่าของเก่าที่เคยเป็น และเคยควบคุมได้ ตอนนี้มันอาจจะแย่ลง

แต่ถ้าหากว่าของเก่าที่เคยเป็นนั้น มันไม่แย่ลง คือ ค่อยเริ่มออกกำลงกายทีละนิดได้ ทว่าหากไม่ออกกำลังกายเลย จะไม่มีวันหายจากลองโควิด”





ลองโควิด” ≠ ป่วยโควิดทุกคนต้องเป็น


สำหรับอาการลองโควิด คือ ภาวะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยโควิด-19 ในบางรายแม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร หรือในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจด้วย

แน่นอนว่า หลายคนที่หายป่วยแล้ว และรู้สึกว่าไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรมากนัก อาจเลือกกลับไปออกกำลังกายตามเคยชินปกติ แต่ความจริง ผู้ป่วยบางรายมองว่าจะมีอาการลองโควิดตามมา ร่างกายอ่อนแอลงเห็นได้ชัด ส่งผลเสียในระยะยาว


ในสายตาของหมอมนูญ มองว่า สำหรับระยะเวลาความปลอดภัย จากการหายขาด ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และจิตใจ ต้องหมั่นตรวจเช็กความผิดปกติของตัวเอง โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป และอาการลองโควิดในปัจจุบันมีโอกาสเกิดน้อย

“อย่าไปตื่นกลัวมากเกินไป มีคนพูดว่าลองโควิดเป็นเยอะแยะเลย ตัวเลข 20-30% ไม่จริงเลยครับ ในชีวิตจริงของหมอในการดูคนไข้ส่วนใหญ่แล้วก็หายเป็นปกติครับ

ส่วนใหญ่ก็ประมาณแค่ 1-2 เดือน ถ้าหากคนป่วยน้อยๆ ก็หายเอง คือ คนที่หายแล้วส่วนใหญ่กลับมาปกติ มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็น ส่วนใหญ่ 90% ขึ้นไปกลับมาปกติ บางคนเป็นหวัด แต่ในที่สุดก็หายเอง ก็กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมปกติ

ถ้าเราเหนื่อยเราก็ไม่ควรออกกำลังกาย อย่างเราเดินไปปุ๊บ แล้วเราหายใจไม่ออกแล้ว เราก็ต้องหยุด อย่าไปฝืนมัน เพราะร่างกายต้องใช้เวลาซ่อมแซม


เพราะบางทีเราอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ เรานอนเป็นอาทิตย์ ไม่ได้เดินเลย ไม่ได้ออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อมันก็อ่อนแรง เสื่อมสลายไป ก็ต้องคอยให้ระบบฟื้นฟู และหาคุณหมอกายภาพให้มาช่วยด้วยครับ ก็ต้องดูตัวเองและค่อยๆ ไป ไม่ต้องไปรีบร้อนเดี๋ยวก็ฟื้นเอง”

นอกจากนี้ ยังได้ฝากถึงการจัดการ ข้อควรระวัง ในการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ ควรเช็กร่างกายหรือตรวจสภาพร่างกายให้ตัวเองพร้อมก่อนเสมอ

“ค่อยๆ ฟื้นฟูสุขภาพตัวเอง การที่เรากักตัวเองอยู่ในห้องนอนเป็นเวลา 5-7 วัน เราไม่ได้เดิน ไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย มันก็ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ

เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ กลับมา ค่อยๆ ฟื้นฟู และออกกำลังกายช้าๆ และดูสุขภาพตัวเองด้วย ว่ายังแข็งแรงอยู่ ยังไหว ไม่เหนื่อย หัวใจเราเต้นไม่เร็ว แล้วเราค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องไป จนในที่สุดก็จะกลับมาเหมือนปกติ”




สกู๊ป : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น