xs
xsm
sm
md
lg

ให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ใกล้กัน…เจาะเบื้องหลัง “นักสตัฟฟ์สัตว์” ผู้ปลุกซากให้มีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะใจ “กูรูสตัฟฟ์สัตว์” ประสบการณ์กว่า 1 ทศวรรษ คืนชีพซากสัตว์ให้ราวกับมีชีวิตมาแล้วนับร้อยตัว เผยเบื้องหลังงานสุดหินที่แลกมาด้วยความเสี่ยง “โรคติดต่อ-สารเคมี-ข้อกฎหมาย” พร้อมอัปเดตการสตัฟฟ์ “น้องมาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย

“สตัฟฟ์สัตว์” ศาสตร์แห่งวิทย์และศิลป์

“เริ่มตั้งแต่ไม่รู้จักการสตัฟฟ์ เพียงแต่ว่าได้ยินว่าการสตัฟฟ์คืออะไร แต่พอได้มาทำจริงๆ คือ ยากมาก ตัวแรกที่เริ่มทำ คือ นกกระทาก็ขนหลุดเยอะมากครับ (หัวเราะ) ต่อมาเป็นหนู หนูก็รูปร่างไม่ค่อยเหมือนหนูเท่าไหร่ เราก็ปั้นหุ่นได้ยาก ก็เป็นคุณครูของเรา

คุณสมบัติของนักสตัฟฟ์สัตว์ สิ่งแรกต้องเรียนรู้สรีรวิทยาของสัตว์ เวลาทำจะได้เหมือนจริงมาก ต่อมาในเรื่องของงานศิลปะ บางตัวต้องมีปั้น มีเพนต์สี ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ก็จะมีการทำโครงสร้างเพื่อปั้นหุ่น เป็นวิทยาศาสตร์กับศิลปะใช้ด้วยกัน

จริงๆ การสตัฟฟ์ไม่จำเป็นต้องจบวิทยาศาสตร์มา จะจบสายไหนก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนเยอะๆ หลายๆ อย่างเรามาเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ก็สามารถทำได้ครับ”



“หน่อย-วันชัย สุขเกษม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ วัย 39 ปี แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

เบื้องหน้าของผู้สัมภาษณ์ เต็มไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เสือโคร่ง กวางผา ม้า ยีราฟ จระเข้ นกนานาชนิด และสัตว์น้ำอื่นๆ อีกมากมาย ที่ดูมีชีวิตชีวาราวกับว่าอยู่ในป่าขนาดย่อม แต่เมื่อมองให้ชัดๆ ก็ทำให้ทราบสัตว์เหล่านี้ “ไร้ลมหายใจ” โดยสัตว์ที่กล่าวมานั้น ได้ผ่านการคืนชีพจากชายผู้นี้มาทั้งสิ้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าที่เขาจะมาเป็นนักสตัฟฟ์สัตว์มือฉมังอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปราว 11 ปีก่อน วันชัยได้เรียนรู้การสตัฟฟ์สัตว์เป็นครั้งแรก จากการที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของการยกระดับงานสตัฟฟ์สัตว์ในเมืองไทยก็ว่าได้

“ผมเรียนจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างที่เรียนปริญญาโท ได้มีโอกาสมาเป็นอาสาสมัครที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทำงานที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หลังจากนั้น ก็เป็นผู้ช่วยของพี่ที่ทำงานด้านสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ทำมาได้ประมาณ 3 ปี ก็ได้เลื่อนเป็นลูกจ้าง

หลังจากนั้น มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการสตัฟฟ์สัตว์ เราเพิ่งมาเริ่มอย่างจริงจังเมื่อปี 2554 ก่อนหน้านี้ ทีมสตัฟฟ์สัตว์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (วว.) แต่ว่าทีมรุ่นนั้นก็เกษียณตัวเองแล้ว ก็ไม่มีคนมาเป็นลูกศิษย์ถ่ายทอด ทำให้ขาดช่วงไป ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ก็เห็นว่า มันสำคัญก็เลยเชิญอาจารย์มาสอนครับ



[ ทีมสตัฟฟ์สัตว์และ อ.อีริค แกรนควิสต์ (คนกลาง) ]
ปีนั้นได้เชิญอาจารย์มาจากประเทศฟินแลนด์ มาสอนชื่อ อีริค แกรนควิสต์ (Eirik Granqvist) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ ระหว่างที่อาจารย์มาอยู่กับเรา ก็ถ่ายทอดความรู้ให้เราได้เยอะมาก มาสอนการสตัฟฟ์สัตว์ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ นก ปลา เป็นการเปิดโลกงานสตัฟฟ์สัตว์ให้เหมือนกับมาตรฐานของต่างประเทศ”

ตลอดระยะเวลาผ่านมานับทศวรรษจากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีซากสัตว์หลากหลายชนิด ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ผ่านมือคู่นี้และทีมงานมาแล้วนับร้อยตัว!!

“ตอนนั้นก็เรียนครบหลักสูตร สำหรับการสตัฟฟ์สัตว์เอาตัวผมเป็นหลัก ก็ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการฝึกฝนตัวเอง ก็ทำบ่อยๆ อย่างนก ตัวที่ประมาณ 5-6 ก็จะเริ่มมีความสมบูรณ์และสวยมากขึ้น ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง ก็ทำได้ในที่สุด

หลังจากนั้น ก็ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานสตัฟฟ์สัตว์เป็นต้นมาตั้งแต่ปีนั้น ปัจจุบันผมเป็นนักสตัฟฟ์สัตว์โดยตรงของที่นี่ (เคยสตัฟฟ์) เป็นร้อยตัวทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ครับ เราจำเป็นต้องทำให้ได้ครบทุกตัว เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะทำตัวนี้หรือว่าชอบตัวนี้ งานหรือสัตว์ที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์จะเข้ามาหลากหลาย เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ที่นี่ต้องทำให้ได้ทุกอย่าง ทุกตัว

ถ้าเป็นคอลเลกชันด้านนก ที่นี่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้วครับ ณ ตอนนี้ (ฝีมือ) เทียบกับต่างประเทศถ้าเป็นนก ผมคิดว่าเราเทียบได้แล้ว แต่เทคนิคในเรื่องของสัตว์ขนาดใหญ่ยังตามหลังต่างประเทศ แต่ไม่น่าจะทิ้งห่างกันเยอะ”



[ ซาก “น้องมาเรียม” รอการสตัฟฟ์ ]
และหากยังจำกันได้ ยังมี “น้องมาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย ที่จากไปจากการกินขยะพลาสติกในท้องทะเล เมื่อปี 2562 ทาง อพวช. ก็ได้มีการนำร่างมาสตัฟฟ์ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย คาดว่า จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

“สำหรับมาเรียมเราได้รับการติดต่อมา ก่อนที่เขาจะมาก็แช่ห้องเย็น เป็นการรักษาสภาพที่ดีที่สุด มีการขนส่งมาทางอากาศ จะมีทีมไปรับที่สนามบินแล้วก็เอามาเก็บไว้ ตอนนั้นซากก็ผ่านการพิสูจน์ซากมาเรียบร้อย ที่นี่ก็มารับช่วงต่อ

ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯพอดี ก็ไม่มีเวลา เอามาแล้วก็แช่ไว้ก่อน หลังจากจบงานเราก็เริ่มรักษาสภาพ เลาะหนัง วัดขนาดเอาไว้แล้วเริ่มทำ

ปัจจุบันก็ปั้นหุ่น หนังก็รอการขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการแช่น้ำยา ตอนแรกเราคิดว่ามันจะทำได้เลย แต่ระยะเวลาในการกำจัดไขมันค่อนข้างนาน ก็แช่มาได้ซักพักแล้ว แต่กำลังจะขึ้นหุ่น รวมทีมกันแล้วเริ่มทำน่าจะเสร็จไม่เกินตุลาคมนี้ครับ”

เปิดขั้นตอนการคืนชีพซากสัตว์

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าผลงานการสตัฟฟ์สัตว์ของที่นี่นั้น ถ่ายทอดออกมาได้สมจริงราวกับว่าสัตว์เหล่านี้ยังมีชีวิต วันชัยอธิบายว่านี่คือเทคนิค Taxidermyที่เมื่อทำออกมาแล้วจะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

“Taxidermy” เป็นศัพท์ต่างประเทศที่ใช้กัน บ้านเราก็คุ้นหูกับการสตัฟฟ์สัตว์ แต่การสตัฟฟ์กับ taxidermy มันก็มีความแตกต่างกันอยู่นิดนึง การสตัฟฟ์เป็นการรักษาสภาพหนัง พอสตัฟฟ์เสร็จเลาะหนังออก ยัดหุ่นด้วยสำลี เพราะฉะนั้นรูปร่างหน้าตา กล้ามเนื้อของเขาจะไม่ค่อยมี เหมือนตุ๊กตาเป็นหลัก

แต่ Taxidermy เน้นให้เหมือนกับตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีเรื่องของกล้ามเนื้อหรือท่าทางให้เหมือนกับธรรมชาติ จะมีความแตกต่างกันตรงนี้ ยกตัวอย่างเช่น กวางที่เราสตัฟฟ์ก็จะมีกล้ามเนื้อขึ้นมา มองเห็นกล้ามเนื้อชัดเจน


สำหรับการปั้นหุ่นสิ่งที่ต้องมี คือ 1. รูปถ่ายตอนที่เขามีชีวิต ตัวจริง 2. รูปถ่ายตอนที่เราเลาะ เราก็จะเห็นกล้ามเนื้อของเขา 3. ภาพอะนาโตมีกล้ามเนื้อจากในหนังสือ เราจะดู 3 อย่างนี้ควบคู่กัน ว่า ตำแหน่งนี้กล้ามเนื้อจะเป็นลักษณะนี้ เน้นที่เราเห็นภายนอกเป็นหลักและปั้นขึ้นมา”

สำหรับทีมงานสตัฟฟ์ของ อพวช. มีด้วยกัน 5 คน แบ่งหน้าที่เป็นนักสตัฟฟ์สัตว์ 3 คน และนักปั้นประติมากรรม 2 คน โดยขั้นตอนและกระบวนการสตัฟฟ์นั้น ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนถอดเสื้อผ้าไปซักแล้วกลับมาใส่ จะเป็นอย่างไรติดตามได้จากบรรทัดต่อจากนี้

“สำหรับกระบวนการสตัฟฟ์สัตว์ ที่นี่เริ่มตั้งแต่การประสานงานนำซากที่มา จะต้องเป็นซากที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือรับบริจาค หลังจากที่รับมาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพหนัง ถ้าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และผ่านการพิสูจน์ซากมาแล้ว หรือว่าเราแน่ใจว่าสัตว์ตัวนี้ไม่มีโรคติดต่อ เราก็เริ่มกระบวนการเลาะหนังออก

ส่วนสำคัญที่สุด ก็คือ ขน หนัง ต้องให้มีความสมบูรณ์ สัตว์สตัฟฟ์จะสวยไม่สวยขึ้นอยู่กับหนังเป็นหลัก เลาะหนังเสร็จแล้วก็มีการวัดขนาดเพื่อไว้สำหรับปั้นหุ่น หนังที่เลาะแล้วก็จะไปผ่านกระบวนการฟอกหนัง

เมื่อเอาหนังไปแช่ในน้ำยาฟอกหนังแล้ว ก็จะต้องผ่านกระบวนการแช่โนวาแทนเพื่อปรับสภาพหนัง ใส่ไขมันเทียมเข้าไปเพื่อให้หนังมีความชุ่มชื่นอีกครั้งนึง หนังก็จะมีไขมัน เราก็ต้องไปทำให้หนังเขากลับมาฟูเหมือนเดิม ด้วยการเอาไปปั่นในขี้เลื้อยเพื่อดูดความชื้น ก็เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการของหนัง”


ยังไม่เสร็จเพียงแค่นั้น ยังมีขั้นตอนในส่วนของหุ่นที่ต้องเก็บรายละเอียดให้เป๊ะไม่แพ้กัน

“ส่วนตัว หลังจากที่เราวัดแล้วก็จะมีการเก็บกระดูกบางส่วนเอาไว้ เช่น กระดูกขา ส่วนหัว กระดูกเชิงกราน จากนั้นเราก็เอาขนาดสัดส่วนที่เราวัด มาวัดขนาดลำตัวเพื่อทำโครงหุ่นขึ้นมา แล้วก็เอาดินเหนียวมาปั้นให้เป็นตัว ถ้าได้ขนาดเรียบร้อยแล้วเราก็ทำการหล่อหุ่นด้วยปูนปลาสเตอร์หรือว่าโพลียูรีเทนก็ได้

เมื่อได้หุ่นแล้ว เราก็เอาหนังที่ทำเสร็จแล้วมาทดลองคลุมอีกรอบ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีเขาจะได้ดูตำแหน่งเขา หลังจากที่เช็กตำแหน่งเขาเรียบร้อย ก็มาเข้าสู่กระบวนการเย็บหนัง เราก็จะเริ่มต้นจากการทากาวที่หนังและตัวหุ่นก่อนเพื่อให้มันติดกัน เสร็จแล้วก็ไล่เย็บไปเรื่อยๆ ส่วนตาที่เห็นในสัตว์สตัฟฟ์จะเป็นตาปลอม เราก็ใส่ตาปลอม

เย็บเสร็จแล้วขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดหนังให้เข้าที่ อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าถ้าลายหรือแนวขนไม่ตรง มันก็จะดูไม่เหมือนธรรมชาติ จัดขนเสร็จก็ปล่อยทิ้งให้แห้ง ถ้าเป็นสัตว์ขนาดกวาง ก็ประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือน แล้วแต่สภาพอากาศ หลังจาก 15 วันแล้ว เราก็มาเอาพวกตะปู เข็มหมุด ที่ปักหนังเอาไว้ออก แล้วก็ตกแต่งหน้าตากับทาสีในส่วนที่สีซีดจาง แต่งในส่วนที่มีรอยแผล ทาสีซ่อมก็เสร็จเรียบร้อย”


ในส่วนของสัตว์ขนาดเล็กนั้น วิธีการสตัฟฟ์เบื้องต้นก็จะใกล้เคียงกับสัตว์ใหญ่ แต่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย

“สัตว์ขนาดเล็กก็เหมือนกันครับ ถ้าเรารู้ว่าสัตว์ตัวนี้ไม่มีโรคเราก็สามารถที่จะผ่าท้องสตัฟฟ์ได้เลย แต่ถ้าเราไม่มั่นใจอย่างเช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เราก็เอาไปแช่ตู้เย็นที่ -15 องศา ประมาณ 3 วัน อุณหภูมิที่ติดลบสามารถฆ่าเชื้อโรคบางตัวได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ก็ป้องกันคนทำไปได้ระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็ลอกหนัง วัดขนาด ปั้นหุ่น

หุ่นของสัตว์ขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็น นก หนู กระต่าย กระรอก ก็จะใช้เป็นฝอยไม้เล็กๆ หรือว่าจะเป็นโพลียูรีเทนโฟม ในต่างประเทศนิยมใช้มาก ก็จะเหลาเป็นหุ่นขึ้นมาสำหรับโครง แต่ถ้าฝอยไม้จะปั้นใช้ด้ายพันให้เป็นหุ่นขึ้นมา หนังที่เราเลาะเสร็จแล้วก็จะไปผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาด พอล้างเสร็จแล้วเราก็จะเอาไปแช่ในยูลานเพื่อป้องกันแมลง

หลังจากแช่ยูลาน สัตว์ขนาดเล็กหนังค่อนข้างบาง เราจะใช้วิธีการทาแอลกอฮอล์ด้านในหนังให้ทั่ว แล้วเสียบลวดที่ขา ที่ปีก ปั้นกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ เสียบลวดที่คอและปั้นกล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ เสร็จแล้วก็เอาหนังกับตัวหุ่นมายึดติดกันและเย็บให้เรียบร้อย ตาก็เป็นตาปลอมเหมือนกัน

สำหรับสัตว์สตัฟฟ์ทุกตัวจะใช้ตาปลอมทั้งหมด เหตุผลที่เราใช้ตาปลอมเพราะตาจริงของสัตว์ เวลาแห้งแล้วตาเขาจะยุบเข้าไปเนื่องจากว่าในตาจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ เราจึงไม่นิยมใช้ ส่วนตาที่เรานิยมใช้ก็จะมี 2 ประเภทด้วยกัน เป็นตาแก้วกับตาอะคริลิก สีที่เราเห็นที่สัตว์สตัฟฟ์จะเป็นสีที่เราเพนท์ขึ้นมาจากสีน้ำมัน”

ดูแลรักษา ยากไม่แพ้สตัฟฟ์

แม้จะสั่งสมประสบการณ์ในวงการนี้มานับ 10 ปี แต่นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้นี้ก็ยอมรับว่า ยังมีความท้าทายเข้ามาเป็นบททดสอบเสมอ

“เริ่มที่สัตว์ขนาดเล็ก ตัวแรกก็จะเป็นนก ความยากของเขาจะอยู่ในส่วนของการปั้นหุ่น ปั้นยังไงให้ขนาดเท่า เวลาใส่ปีกแล้วออกมาสวย การจัดขน อันนี้สำคัญมากเลยเพราะว่าเวลาเราสตัฟฟ์เสร็จ ใส่ทุกอย่าง บางทีขนมันไม่ถูกตำแหน่ง การจัดขนจะใช้เวลาตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง ยิ่งจัดขนเยอะ ขนก็จะเรียงตัวสวยเหมือนกับของจริงเลยครับ

ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่หนังค่อนข้างสั้น ความยาวของเขาในส่วนของกล้ามเนื้อเพราะมันเห็นชัด ต้องเน้นไปที่การปั้นตัวและการเพิ่มกล้ามเนื้อ

ถ้าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ความยากของเขาขึ้นอยู่กับแต่ละตัว ยกตัวอย่างเช่น ช้าง ความยากคือขนาดใหญ่ การจะพลิก จะยกต้องใช้คนเยอะ และการสตัฟฟ์ต้องใช้ทีมค่อนข้างเยอะ ที่ยากอีกอย่างคือการเลาะหนังช้าง เป็นอะไรที่ยากมากเพราะเราต้องใช้เครื่องมือ ใช้เวลา ค่อยๆ เลาะไปเรื่อยๆ”



[ สตัฟฟ์ช้าง หนึ่งในผลงานสุดหิน ]
ทั้งนี้ เขายังได้ยกตัวอย่าง 3 ผลงานที่คิดว่ายากที่สุดตั้งแต่สตัฟฟ์มา ให้ทีมข่าวได้ฟังอีกด้วย

“ยากที่สุดงานสตัฟฟ์แรกจะเป็น ช้าง เราใช้เวลาในการเลาะหนังตั้งแต่ช่วงเช้ายันตี 1 ใช้คนประมาณเกือบ 20 คน ช่วยกันทำงานแยกส่วนกัน ต้องรีบรักษาหนังให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

พอหลังจากรักษาหนังแล้ว ก็ยากในเรื่องของการปั้นหุ่น ขึ้นตัว เย็บทุกอย่าง ทุกอย่างมันใหญ่ไปหมด น้ำหนักเยอะ เราไม่เคยทำด้วย โชคดีมากที่อาจารย์อีริคกลับมาสอนเราอีกครั้งนึง เราถึงได้เรียนรู้วิธีการทำช้าง

ต่อมาสำหรับผมเป็น กระเบนราหูน้ำจืด เป็นปลากระเบนตัวแรกที่ทำ ปลาตัวนี้เสียชีวิตจากเรือน้ำตาลล่มเมื่อปี 54 เราได้รับมา 1 ตัว ในสภาพที่เน่าแล้วก็คิดว่ามันสตัฟฟ์ไม่ได้ แต่มาดูหนังก็ยังสตัฟฟ์ได้ก็เลาะหนัง ซึ่งมันก็กลิ่นแรงมาก

ความยากของเขาเวลาหนังเปียกเขายืด หุ่นเราก็ทำพอดีหนัง สุดท้ายเวลาหนังเขาแห้ง หด ก็ดึงหุ่นที่เราทำไว้ ดึงปีกปลากระเบนพลิกกลับมาเลย ดีที่หุ่นไม่หัก ก็ต้องแก้กัน กรีด ตัดหุ่นออกลดขนาด เป็นอะไรที่ยากมากเพราะเราก็ไม่รู้วิธีทำยังไง

อีกตัวคือ เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่กระดองเป็นหนัง ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่ทำจะมีปัญหาในเรื่องของการดูแล เนื่องจากเขาไม่มีเกล็ด ต้องยัดอะไรเยอะๆ แล้วก็มีไขมันเยอะ ตอนทำค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของไขมัน หนังที่ยุบตัวได้

เวลาปั้นหุ่นแล้วบางทีมันไม่ตรง ก็ขยับและแก้ไปแก้มาจนหุ่นมีน้ำหนักเยอะ หลังจากที่เราเย็บเสร็จแล้ว กระบวนการที่น่าเป็นห่วงคือช่วงเวลาที่หนังแห้ง หุ่นจะต้องแน่นเลย บางทีหดตัวแล้วมันผิดรูป ก็มีความยากเหมือนกัน”



อีกสิ่งที่ยากไม่แพ้ขั้นตอนการสตัฟฟ์ นั่นก็คือ การเก็บรักษา ที่หากเก็บไม่ถูกวิธีก็จะทำให้ผลงานเสียหายได้

“การดูแลรักษาเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะอากาศบ้านเรามีทั้งฝนตก ชื้น บางทีร้อนจัด มันไม่คงที่ ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ได้ ความชื้นให้ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่คุมอุณหภูมิก็จะมีปัญหา คือ เราจะเก็บสัตว์สตัฟฟ์ไว้ไม่ได้นาน ราก็จะขึ้น ก่อนหน้านี้ เราประสบปัญหาราขึ้นทุกตัวในห้องนี้ ต้องขนออกไปแล้วทำความสะอาด ผึ่งแล้วเอากลับมา

ราขึ้นที่หนังสัตว์แรกๆ จะไม่เป็นอะไร พอนานๆ ไปเขาจะปล่อยกรดย่อยผิวหนัง ขนก็จะหลุดก็จะเป็นปัญหา พอเอากลับมาก็จะต้องมาเซตระบบ ควบคุมอุณหภูมิที่ประมาณ 23 องศา ราก็จะไม่ขึ้น แล้วก็จะมีเรื่องของแสง ต้องหลีกเลี่ยงการเอาไปไว้ในแสงแดด หรือไฟที่มีความร้อน จะเป็นอันตราย ทำให้สีซีดหรือว่าหนังแตกได้

ต่อมาจะเป็นเรื่องของ สัตว์กัดแทะ ก็จะเป็นพวกหนู แมลงบางตัว จะมีรอบการตรวจเช็กทุก 3 เดือน จะมีการลงสารเคมีเพื่อฆ่าแมลงกินซาก แล้วก็ป้องกันแมลงภายนอกเข้ามาด้วย จะเป็นการดูแลที่ค่อนข้างละเอียด

สัตว์ที่เราสตัฟฟ์ไว้เกือบทุกตัวได้ถูกเวียนกันไปจัดแสดงข้างนอก ตอนนี้ไปเกือบทั่วประเทศไทยแล้วครับ ครบทั้ง 4 ภาคเลย ไกลสุดเราไปถึงประเทศลาว ต้องเป็นรถที่มีหลังคาคลุม ไปจอดในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนจัด ยกเว้นสัตว์ใหญ่ที่เราไม่สามารถขนได้ บางครั้งการขนย้ายบ่อยๆ อาจจะมีผลกระทบต่อตัวอย่าง เราก็หลีกเลี่ยง”

3 เสี่ยงพึงระวัง “โรคติดต่อ-สารเคมี-ข้อกฎหมาย”

ในการทำงานกับซากสัตว์นั้น นอกจากความยากแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่นักสตัฟฟ์สัตว์อาจจะเจอ ทั้งในส่วนของ โรคติดต่อที่อาจแพร่มาสู่มนุษย์ และสารเคมีที่ใช้ในการทำ

“สิ่งแรกความเสี่ยงในเรื่องของโรคติดต่อที่มาสู่คน ถ้าตายแล้วเราไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้จะเป็นสัตว์สำคัญแต่ถ้าชันสูตรแล้วมันเป็นโรค เราก็ต้องทำลายซากเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งเป็นอันตราย

อีกอันก็คือ สารเคมีที่ใช้อันนี้เป็นหัวข้อที่สำคัญมากเลย เพราะว่านักสตัฟฟ์บางครั้งไม่ได้มีความรัดกุม ในสมัยก่อนอาจารย์เล่าให้ฟังว่า มีนักสตัฟฟ์สัตว์ใช้อาร์เซนิก (สารหนู) มันติดที่แขนเสื้อ เวลากินข้าวแล้วลงไป กินไปก็เป็นอันตราย


ต่อมาจะเป็นการใช้ฟอร์มาลิน ก็เป็นสารก่อมะเร็ง แนะนำว่าเวลาใช้ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตลอด เพราะว่าในระยะยาวสารเคมีมันเข้าไปทีละนิดๆ กว่าเราจะรู้ก็ทำร้ายร่างกายเราไปแล้ว”

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด คือ ข้อกฎหมายที่คุ้มครองสัตว์แต่ละชนิด เพราะหากสตัฟฟ์สุ่มสี่สุ่มห้า ก็อาจจะกลายเป็นการทำผิดกฎหมายได้


“ต่อมาในเรื่องของข้อกฎหมาย นักสตัฟฟ์สัตว์ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี อย่าคิดว่านกที่บินข้ามหลังคาบ้านเรามันสตัฟฟ์ได้หมดเวลาตายแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ นกที่ถูกรถชนแล้วเราคิดว่านกตัวนี้จะเอาไปสตัฟฟ์

ถ้าเป็นนกที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมายอาจจะได้ แต่ถ้าเป็นนกกะปูด นกกวักก็ไม่ได้เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าเราจะเอามาทำก็ต้องไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันว่าขอเก็บตัวอย่างซากไว้ที่นี่ จากนั้นก็จะต้องไปขออนุญาตกรมอุทยาน เพื่อทำตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นเราสตัฟฟ์มาแล้วสัตว์ที่เรามีจะผิดกฎหมาย

แต่ถ้าในเรื่องของการสตัฟฟ์สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าสงวนแบบนี้ ถ้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะเลี้ยง ก็ต้องมีใบขออนุญาต มีหลักฐานว่าเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะเลี้ยง เขาถึงจะสตัฟฟ์ได้”


แม้เหตุผลหลักของการสตัฟฟ์ของที่นี่ คือ การเก็บตัวอย่างสัตว์ไว้เพื่อประโยชน์ในงานวิจัย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นดรามา ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงการนี้อีกด้วย

“เหตุผลที่เราต้องสตัฟฟ์สัตว์ สิ่งแรกคือเพื่องานศึกษาวิจัย จัดแสดง เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลังเป็นหลักครับ เราเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่นี่เป็นแหล่งเก็บรวมรวมตัวอย่างของประเทศไทย เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญมาก ใครมาที่ประเทศไทยต้องมาที่นี่ เพราะทำให้เขารู้ว่าประเทศไทยมีสัตว์อะไรบ้าง มีพืชอะไรบ้าง

ถ้าเราไม่รู้เราก็จะไม่สามารถที่จะเอามาใช้ประโยชน์ได้ สิ่งต่างๆ มันเริ่มต้นจากการศึกษาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบ้านเราเป็นหลัก บางอย่างสามารถที่จะพัฒนาในด้านการแพทย์หรือประยุกต์ไปทำอย่างอื่นได้ ในเรื่องของการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ การสตัฟฟ์สัตว์บางทีเราสตัฟฟ์ตัวเดียวเราเก็บได้เป็นร้อยปี ให้คนศึกษาได้เป็นร้อยปี


ส่วนที่มีปัญหาผมว่าน่าจะเกิดจากส่วนที่ไปทำเพื่อการค้า อันนี้ค่อนข้างควบคุมลำบาก บางคนก็เป็นนักสะสม เลยทำให้การสตัฟฟ์สัตว์บางครั้งถูกมองในแง่ลบ บางคนคิดว่าสตัฟฟ์สัตว์ต้องไปฆ่ามันแล้วเอาสัตว์มาสตัฟฟ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ที่นี่จะได้รับบริจาคตัวอย่างที่ตายมาแล้ว การสั่งฆ่าเพื่อการขาย เราไม่สนับสนุน

เรื่องของการสตัฟฟ์สำหรับคนเลี้ยงสัตว์ที่ยังผูกพัน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ที่เคยเจอมาคือเขามีความผูกพัน อยากเห็นเขาทุกวันก็อยากจะสตัฟฟ์เก็บไว้ บางคนสตัฟฟ์เสร็จแล้วพอเริ่มทำใจได้เขาก็จะเอาไปเผา ถ้าเป็นกรณีที่ผมถ้าเป็นส่วนตัวยังไม่เคยทำ แต่มีเครือข่ายที่มาเรียนสตัฟฟ์สัตว์แล้วกลับไปทำ เขาก็เล่าให้ฟัง”

เผยความฝัน อยากมี “สมิธโซเนียน” เมืองไทย

ในส่วนของประสบการณ์ความประทับใจที่ได้สัมผัสกับอาชีพนี้มานับ 10 ปี นอกจากเนื้องานแล้ว อีกความฝันของนักสตัฟฟ์สัตว์ผู้นี้ คือการมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ที่ต่างประเทศต้องบินมาดูบ้านเรา

“สำหรับความประทับใจที่ได้เริ่มทำงานสตัฟฟ์สัตว์ แรกๆ เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอะไรที่เปิดโอกาสให้หลายๆ คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์มากขึ้น เพราะว่าเราจะไปใกล้ชิดกับเสือหรือสัตว์ที่ค่อนข้างน่ากลัวหรือดุร้ายก็ยาก



หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่เห็นตัวได้ยากในธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น กวางผา การสตัฟฟ์สัตว์ทำให้มีโอกาสได้เห็นสัตว์พวกนี้อย่างใกล้ชิด ได้รู้รายละเอียดของเขาว่าเขามีหน้าตายังไงบ้าง

หลายครั้งที่เอาสัตว์ออกไปแสดง ก็จะมีฟีดแบคหรือความสนใจของเด็กๆ เด็กบางคนชอบสัตว์ จะมอง จะคุยกับคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เราประทับใจ และเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำงานสตัฟฟ์สัตว์

แรงผลักดันอีกอย่าง เราอยากสร้างสมิธโซเนียนเมืองไทย (Smithsonian) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่ต่างประเทศ ที่เขามีจัดแสดงสัตว์สตัฟฟ์เยอะแยะ เราต้องนั่งเครื่องบินไปดูที่ต่างประเทศ

แต่เราเองอยากสร้างอะไรที่ต่างประเทศต้องมาดูบ้านเรา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเลย เรายังไม่มีขนาดนั้น บ้านเราเพิ่งเริ่มพัฒนาเรื่องของงานพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ปัจจุบันที่นี่ก็เริ่มเก็บสัตว์สตัฟฟ์ในเมืองไทยเอาไว้บางส่วน เพื่อที่จะเอาไว้จัดแสดงครับ”



นอกจากนี้ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ยังมีการเปิดอบรมเรื่องการสตัฟฟ์สัตว์สำหรับคนที่สนใจอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ งานสตัฟฟ์สัตว์ก็ยังไม่เป็นที่นิยม หลังจากนั้นคนภายนอกก็เริ่มสนใจ ปัจจุบันนี้การสตัฟฟ์สัตว์สามารถเรียนรู้ได้จาก Youtube แล้วก็การฝึกอบรม ที่นี่เปิดหลักสูตรอบรมนักสตัฟฟ์สัตว์ ค่อนข้างครบวงจรตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ปีที่แล้วเปิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก นก แล้วก็พวกกุ้ง ปู

กลุ่มที่สนใจก็จะเป็นนักวิจัย คนที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็บุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องการสตัฟฟ์สัตว์ เป็นกลุ่มเฉพาะ ยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่ ถ้าสนใจก็ติดต่อผ่านเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติครับ

อีกอย่างที่นี่เราเปิดรับนักศึกษาฝึกงาน สามารถมาฝึกงานเกี่ยวกับการสตัฟฟ์สัตว์ได้ น้องๆ ก็จะมาเรียนรู้เรื่องการสตัฟฟ์สัตว์ทุกอย่าง แล้วก็งานทำโครงกระดูกสัตว์ การดูแลสัตว์ในพิพิธภัณฑ์ครับ”



นักสตัฟฟ์สัตว์คนเก่ง แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ตั้งใจจะทำหน้าที่นี้ต่อไปเรื่อยๆ ด้วยหวังว่าการคืนชีพซากสัตว์ให้กลับมามีชีวิตนั้น จะเป็นการส่งมอบขุมทรัพย์ความรู้และเป็นสมบัติของชาติให้คนรุ่นหลังสืบไป

“ก็ทำไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้เวลา การที่จะสะสมสัตว์ขึ้นมาแต่ละตัวมันใช้เวลา เราไม่สามารถไปสั่งได้ เราก็ต้องรอ บางทีกกตัวนี้เป็นโรคไม่สามารถสตัฟฟ์ได้ ก็ต้องปล่อยไป รอตัวหน้า

คนที่ทำสตัฟฟ์สัตว์ในพิพิธภัณฑ์เป็นบุคคลที่เสียสละมาก เพราะว่าเขาต้องอยู่กับซากสัตว์ อยู่กับโรค บางครั้งความเสี่ยงกับโรคกับสารเคมี กว่าจะทำสัตว์แต่ละตัวให้เก็บไว้เป็นสมบัติของประเทศไทย ค่อนข้างผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย

ผมคิดว่าทำไปจนเกษียณ ตอนนี้ก็เผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนทั่วไป แล้วก็คนที่สนใจ บางครั้งเราจำเป็นต้องมีโอกาสและถ่ายทอด เพื่อให้องค์ความรู้นี้อยู่คู่กับประเทศเราต่อไป

ในความลำบากแต่เราก็ยังมีความประทับใจ มีแรงผลักดัน ก็คือ คนที่เขาได้ดูเขาให้กำลังใจเราผ่านคำชม หรือการมายืนดูแล้วสนใจถาม เราก็แฮปปี้แล้วครับ เพราะว่าอย่างน้อยสิ่งที่ทำมันก็จะอยู่คู่ประเทศไปได้อีกหลายสิบปี ถ้าเราเก็บดีๆ ก็อยู่ได้เป็นร้อยปีครับ”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และ อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณสถานที่ : ตึกปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คลอง 5



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น