เปิดเคล็ดลับ “ครูนกเล็ก” ยูทูบเบอร์ขวัญใจวัยทีน เจ้าของ 2 ช่องสุดปัง ยอดติดตามรวม “ทะลุ 10 ล้าน” กับทริกแพรวพราวจนดึงดูดความสนใจของเด็กได้ตลอดเวลา จากคนดูหลักสิบ สู่คนดูหลักหลายล้านวิว พร้อมความสนุก สดใส ที่แฝงไปด้วยแง่คิด ที่ครูยุคดิจิตอลต้องอดไม่ได้ที่จะไปทำตาม
ทริกดึงความสนใจ จาก“ยูทูบเบอร์รุ่นบุกเบิก”
“สิ่งที่เราได้มาจากการทำยูทูบ ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มองเห็นคุณค่าในชีวิต
มีเป้าหมาย มีแรงที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ อีกต่อไป”
ครูนกเล็ก-จีรภัทร์ สุกางโฮงครูประจำโรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) ย่านบางมด กรุงเทพฯ ที่เป็นทั้งครูทั้งยูทูบเบอร์ที่มีคนติดตามในช่องกว่า
9 ล้านคน
เธอคือยูทูบเบอร์รุ่นบุกเบิก ทำช่อง “ครูนกเล็ก” ตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว โดยทำคลิปเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน มียอดชมสูงสุดถึง473 ล้านวิว คลิประดับร้อยล้านวิวก็หลายชิ้น คลิปที่แตะล้านวิวก็มีหลายสิบชิ้น และด้วยเทคนิคอันแพรวพราว
ทำให้ครูนกเล็กสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ตลอด
และทุกวันนี้ก็ขยายเป็น 2 ช่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่อง “ครูนกเล็ก” มีคนติดตามทะลุ 9 ล้าน และช่อง “krunoklek” ใกล้ทะลุ 1 ล้านคนติดตาม เรียกได้ว่าปังทั้งสองช่องกันเลยทีเดียว
แต่ก่อนที่จะไปฟังทริกอันแพรวพราวของครูนกเล็ก จนกลายเป็นยูทูบเบอร์ขวัญใจวัยทีนได้ล้นหลาม เราจะพาไปย้อนดูจุดเริ่มต้นที่สำคัญในครั้งนี้ก่อน
“จุดเริ่มต้นในการทำคลิป เริ่มมาจาก 10 ปีที่แล้ว ที่ตั้งครรภ์ลูก กะว่าจะเก็บเป็นโมเมนต์ในครอบครัวไว้เท่านั้น ตั้งแต่น้องอยู่ในท้อง จนถึงคลอดเลย
จากนั้นก็พัฒนาทำสื่อในการเรียนการสอนก็ประมาณ 9 ปีได้แล้ว สื่อชิ้นแรกที่ทำก็คือสื่อที่ใช้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชื่อ“แรงเสียดทาน” ตอนนั้นทำเป็นละครสั้น เอานักเรียนในห้องเรียนมาแสดง”
ครูนกเล็กเล่าอีกว่า หลังจากเรียนจบเอกดนตรี และได้บรรจุเป็นครูตอนแรกก็ได้สอนวิชาเอกของตัวเอง แต่พอย้ายโรงเรียน ก็มีครูวิชาดนตรีอยู่แล้วและชั่วโมงมันน้อย ครูคนเดียวสอนได้ เนื่องจากโรงเรียนมันเล็ก ครูนกเล็กก็ต้องไปช่วยสอนวิชาอื่น ซึ่งเป็นวิชาที่ไม่ได้จบมา นั่นก็คือวิชาวิทยาศาสตร์
ซึ่งตอนเด็กๆ เป็นวิชาที่ไม่ชอบ และมองว่าเป็นเรื่องที่อยาก พอมาเป็นครูก็เลยอยากให้เด็กได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานและได้ความรู้ไปด้วย ไม่อยากให้เรียนแล้วเบื่อ หรือว่าไม่เข้าใจ ก็เลยผลิตสื่อการสอน เป็นคลิปละครสั้นๆ
ให้เด็กๆ เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว
“เริ่มแรกถ่ายในครอบครัวก่อน ถึงมาทำเป็นสื่อการสอน ตอนนั้นยังอัดใส่แผ่นซีดี แล้วก็ไปเปิดให้นักเรียนดูในโทรทัศน์อยู่เลยแล้วก็เอาไปโพสต์ไว้ในยูทูบ ตอนนั้นยูทูบเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ นะคะตอนนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้จัก มียอดวิวแค่ 10 วิว”
จากนั้นครูนกเล็กก็ผลิตสื่อการเรียนการสอนออกมาเรื่อยๆ จนมาดังเปรี้ยงปร้าง ทำให้คนรู้จักมากขึ้น จากการทำโฆษณาช่วยนักเรียนขายสารส้มในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์
“พอดีว่าทางวิชาวิทยาศาสตร์ เขาทำโครงงาน เด็กนักเรียนทำสารส้มแล้วก็เอามาจำหน่ายในสหกรณ์โรงเรียน เดิมทีเราก็ทำโฆษณาเฉพาะในโรงเรียนอยู่แล้ว ก็คือเล่นละคร เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนมาซื้อ ก็เลยถ่ายเป็นคลิปวิดีโอเผื่อผู้ปกครองจะได้ดูด้วย เผื่อได้มาอุดหนุน
ก็เป็นโฆษณาขายสารส้ม เราก็เลียนแบบละครช่อง 3 กำลังดัง เรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ท่านชายท่านหญิง ก็เลยเอามาล้อเลียน โฆษณาขายสารส้ม โพสต์ไป 7-8 เดือน อยู่ๆ คนก็เอามาแชร์ คลิปนั้นก็เลยดังชั่วข้ามคืน ตอนนั้นคลิปก็ขึ้นมาเกือบสองแสนวิว สื่อก็ให้ความสนใจ มันก็อาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่หยิบขึ้นมาทำ”
สอนด้วยความสนุก จนกลายเป็นยูทูบเบอร์ขวัญใจวัยทีน
เมื่อถามถึงเอกลักษณ์ของช่องครูนกเล็ก ที่สามารถตราตรึงกลายเป็นขวัญใจเด็กๆ ได้มากมายขนาดนี้ นั่นคือความสนุกที่สอดแทรกไปด้วยสาระและแง่คิด บวกกับความสดใสและเป็นกันเอง จนทำให้ครูนกเล็กเป็นที่ยอมรับทั้งเด็กๆ และผู้ปกครองกันเลยทีเดียว
“น่าจะเป็นความสดใส แล้วก็ความสนุกสนานเป็นกันเอง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ ช่องครูนกเล็กไม่มีพิษภัย หยาบคายไม่มี ก็จะ strict มาก ด้วยความที่เป็นแม่และเป็นครูด้วย แล้วอีกอย่างคือถ้าเป็นคลิปวิดีโอ ก็ต้องให้แง่คิด ให้ข้อคิดกับเด็กด้วย จะสรุปจบท้ายเสมอว่าทำแบบนี้แล้วผลที่ออกไปจะเป็นยังไง
ที่เด็กๆ ชอบ ก็น่าจะเป็นเพราะครูนกเล็กไม่เพิกเฉยต่อปฏิกิริยาของเด็ก เด็กอยากคุยด้วยก็คุยด้วย เรื่องอะไรก็ได้ที่เด็กเขาอยากจะคุย อยากจะมาเล่าให้เราฟัง เราก็รับฟัง เราก็คุยด้วยเป็นเพื่อน
แล้วอีกอย่างคือเด็กเขาสนใจอะไร ครูนกเล็กก็จะไปตามเรื่องนั้น แล้วก็เอามาเป็นส่วนหนึ่งกับเขา เด็กเขาคงคิดว่า ครูก็เหมือนเพื่อน เหมือนที่ปลอดภัย อยากคุยด้วย อยากอยู่ใกล้ๆ ไว้ใจ แล้วก็ต้องมีความใส่ใจด้วย
แม้กระทั่งประทับใจมากที่ผู้ปกครองบอกว่าได้มีโอกาสมานั่งเรียนกับลูก ทำให้เขาอ่านหนังสือ คือผู้ปกครองไม่ได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือมา เขาได้มานั่งเรียนกับลูก เขาก็อ่านออก เขียนได้ไปพร้อมกับลูกเลย ก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มีประโยชน์”
นอกจากนี้ การถ่ายทำทุกครั้ง ครูนกเล็กยังให้ความสำคัญกับสิทธิ์เด็ก ด้วยการขออนุญาตก่อนถ่ายทำทุกครั้ง
“ครูนกเล็กก็ขออนุญาตเด็กและผู้ปกครองทุกครั้งก่อนจะถ่ายวิดีโอ อีกอย่างที่เราถ่ายทำเผยแพร่ออกไป ผู้ปกครองก็จะได้เห็นพฤติกรรมของลูกๆ ด้วย เป็นกล้อง 360 องศา เห็นกระดาน เห็นเด็ก เห็นครู
และการถ่ายทำเราก็ต้องเข้าไปคุยกับผู้บริหารโรงเรียนด้วย เราก็จะอธิบายว่าไม่มีในเรื่องแง่ลบ หรือโจมตี ให้ว่าร้าย จะไม่มี”
เปลี่ยนยอดวิว “หลับสิบ” สู่ “หลักล้าน” ต้องอ่าน!!
สำหรับทริกในการสร้างสรรค์คอนเทนต์จากคนดูแค่ 10 คน สู่คนดูหลักหลายล้านนั้น ครูนกเล็กได้บอกว่า หยิบจับเรื่องที่อยู่ใกล้ๆ ตัวนำมาสร้างสรรค์ และด้วยความที่เป็นเด็ก ก็อยากจะดูเด็กด้วยกันเอง
“ในการจับข้อสังเกตวิธีการดู คือเด็กเขาจะมีพฤติกรรมที่ว่า เวลาเขาดูอะไรแล้วเขาจะดูซ้ำ ดูวน ด้วยความที่เขาเป็นเด็กเหมือนกัน เขาก็อยากจะดูเด็กด้วยกัน มันเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ไกลตัวจากเขาเลย แบบนี้ก็เคยทำนะ มันเหมือนชีวิตที่เขาเคยเจอมา
ก็เลยคิดว่าเป็นการที่เราหยิบยกสถานการณ์ใกล้ตัวเด็กๆ เอามาทำ ถ้าเกิดทำเรื่องไกลตัวมากเกินไป เขาก็จะเริ่มรู้สึกไม่สนใจแล้ว แน่นอนว่าทุกคนมีความสนใจในตัวเองอยู่ ก็ให้ความสนใจในเรื่องใกล้ตัว อะไรก็ได้ที่ฉันสัมผัสได้ ฉันเข้าถึงได้”
นอกจากนี้ ทริกสำคัญอีกอย่างเลยของครูนกเล็กในการสร้างสรรค์คอนเทนต์สู่สายตาผู้ชม นั่นก็คือ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกับกระแสที่ผ่านเข้ามา
“เนื่องจากพฤติกรรมการดูมันมีความเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เด็กก็ต้องเติบโตขึ้นทุกวัน ความคิดเด็กก็เปลี่ยน มุมมองเด็กก็เปลี่ยน พฤติกรรมเด็กก็เปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนไปตามคนดู ไปตามยุคสมัย”
เชื่อว่าการศึกษา เปลี่ยนแปลงอนาคตได้
ครูนกเล็กเชื่อว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ เพราะครูนกเล็กก็ได้รับโอกาสจากการศึกษา พร้อมกับใช้การศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้
ดังนั้น จึงพยายามอยากส่งมอบการศึกษาให้กับเด็กๆ ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีในอนาคต
“เริ่มตั้งแต่มัธยมจะมีอาจารย์คนนึงเริ่มใส่ใจเรามาตลอด ชื่ออาจารย์กุมารี เป็นผู้สอนดนตรีไทย ดูแลทุ่มเทให้กับเด็กมาก ไม่เคยให้ใครทุ่มเทให้เด็กมากขนาดนี้ คุณครูก็พามาสอบ พอสอบได้ก็พามาหาหอพัก ระหว่างเรียนก็มาเยี่ยมตลอด และตอนรับปริญญาก็มา
ก็รู้สึกว่าจากลูกชาวนาเด็กบ้านนอกคนนึง ครอบครัวไม่ได้มีฐานะอะไร รู้สึกว่าเขาทุ่มเทให้เรา ครูก็ไม่ได้อะไรจากเรา ทำไมเขามาทุ่มเทให้เรา มามอบอนาคตให้เรา มาชี้ทางให้เรา เราก็เลยอยากส่งมอบการศึกษาให้กับเด็กๆ เขาจะได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ให้เขามีชีวิตที่ดีในอนาคต มีชีวิตที่ดีที่เขาต้องการ”
ซึ่งครูนกเล็กถือเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การศึกษาสามารถนำพาอนาคตที่ดีเข้ามา พร้อมกับย้ำอีกว่า อยากให้เด็กๆ เป็นเด็กดี และอย่าทิ้งการเรียน
“สามารถมีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงตัวเองได้ สร้างครอบครัวได้ ตามที่เขาอยากจะเป็น เพราะโรงเรียนที่เราสอนก็เป็นโรงเรียนรัฐบาล เด็กก็ค่อนข้างที่จะขาดแคลน คือเราก็จะบอกเด็กเสมอเลย ว่ายังไงก็อย่าทิ้งการเรียน ต้องเรียนนะ เรียนยังไงก็ช่าง ต้องเรียน เพราะการเรียนมันจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของหนูได้
หนูรู้ว่าตอนนี้ที่บ้านลำบากใช่ไหม อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน อยากจะใส่อะไรก็ไม่ได้ใส่เหมือนคนอื่น เราก็ต้องเรียนหนังสือเพราะเราไม่มีต้นทุนเหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างต้นทุนของเรา เรื่องการศึกษานั่นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงได้
อย่างครูนกเล็ก ทุกวันนี้ก็สามารถเลี้ยงดูแม่ได้ ตอนนี้ก็เป็นเสาหลัก ในลูก 5 คนเรามีโอกาสเรียนจบปริญญาคนเดียว ก็ได้รู้ว่าถ้าเราไม่เรียนหนังสือก็ยังคงลำบากอยู่ก็อยากให้เด็กๆ เป็นเด็กดี แล้วก็ตั้งใจเรียนหนังสือ อย่าทิ้งการเรียน”
มุมเศร้า “ครูไทย” แบกเอกสารไว้บนบ่า
ปัญหาครูไทยที่มัวแต่เอาเวลาไปทำเอกสารประเมินจนไม่มีเวลาสอน ถือเป็นเรื่องถกเถียงกันมาโดยตลอด แต่ก็ยังดูเหมือนว่า ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนัก
ซึ่งในเรื่องนี้ ก็สอบถามไปยังครูนกเล็กเช่นกันว่า จริงหรือไม่ที่ครูหลายคน ต้องเบียดเวลาสอน ไปทำเอกสารการประเมิน เพื่อให้ทันตามกำหนดที่ต้องส่ง
“อันนี้คือความจริง ก็เข้าใจครูนะคะ เพราะว่าเราก็อยู่ในหน่วยงาน ก็รู้ว่าสถานการณ์บริบทมันเป็นยังไง เอกสารครูเยอะจริง และเยอะมากไปด้วยซ้ำ เยอะมากเกินความจำเป็น แล้วก็ซ้ำซ้อนมากเกินไปเข้าใจเลยว่าทำไมครูถึงบ่นท้อ
เรียกร้องกันมาหลายปี แต่ก็ปรับเปลี่ยนไม่ได้สักปี เรื่องงานเอกสาร งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน หรือเอาให้น้อยที่สุด
แต่มันก็ไม่เห็นมียุคไหน หรือสมัยไหนที่ทำได้ มีแต่จะเพิ่ม แต่ก็เข้าใจว่ามันก็เป็นช่วงปรับเปลี่ยนจากเปปอร์มาเป็นดิจิตอล
แต่มันก็เป็นการกรอกข้อมูลอยู่ ก็ถือว่าเยอะ เพราะมันต้องใช้เวลา เอกสารมันก็เยอะ
แทนที่จะเอาเวลาไปวางแผนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เอาไปสอนเด็กๆ ให้อ่านออกเขียนได้ เอาเวลาไปดูเด็กๆ”
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ครูนกเล็กก็มองว่า เห็นด้วยว่าการประเมินก็ควรจะมีต่อไป แต่ปัจจุบันมองว่า มีมากเกินความจำเป็น
“การประเมินมันควรต้องมี ถ้างั้นเราจะประเมินคุณภาพของเด็กไม่ได้ แต่บางอย่างมันเกินความจำเป็น ซ้ำซ้อนจนเกินไป บางข้อบางอย่าง สามารถเอามารวมกันได้ ไม่ต้องซ้ำซ้อนกันด้วย”
นอกจากนี้ ครูนกเล็กยังช่วยสะท้อนถึงคำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว” ซึ่งในฐานะครูก็ยอมรับอีกว่า ระบบการศึกษาไทยมีช่องโหว่มากมาย
“ช่องโหว่เยอะแยะเต็มไปหมดเลยก็รู้สึกว่า เฮ้อ!! ใช่มันควรจะปฏิรูป แต่ก็ยังทำไม่ได้ ระบบการศึกษาไทยมันควรปรับเปลี่ยนให้ตามยุคตามสมัย ไม่ควรจะเจาะจงว่าทุกคนต้องเรียนทุกวิชา เรียนทุกอย่างเลย
มันควรจะปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของเด็ก และให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ตามความถนัด ตามความสนใจของเขา ควรจะส่งเสริมตรงนั้น”
ยูทูบเบอร์ผู้เสียสละเพื่อสังคม “ได้รับรางวัลผู้เสียสละจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้โดยที่เราไม่ต้องส่งผลงานไปประกวดกับใคร ได้เพราะเขาเล็งเห็น เสียสละเพื่อสังคม แล้วเขาก็มองว่า คลิปที่เราทำมันมีคุณค่า มีประโยชน์กับสังคม อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คุณครูบางคนไม่ได้สอนผ่านซูม ไม่ได้สอนออนไลน์ ก็เอาสื่อเราไปใช้สอนแทน ก็เป็นประโยชน์กับสังคม ซึ่งการได้รับรางวัล มันก็เป็นกำลังใจ และสิ่งที่เราได้มาจากการทำยูทูบ ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มองเห็นคุณค่าในชีวิต มีเป้าหมาย มีแรงที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ อีกต่อไป” ท้ายนี้ ครูนกเล็ก ก็ได้ฝากถึงคนที่อยากจะทำยูทูบว่า อยากให้ผลิตคอนเทนต์ออกมาโดยคำนึงถึงสังคม และความถูกต้องเป็นหลัก ไม่อยากให้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเรียกกระแสเท่านั้น “สำหรับคนที่จะทำยูทูบ ก็อยากให้คำนึงถึงกลุ่มเปราะบางที่เขาดูคลิปด้วยว่ามันจะส่งผลกระทบในระยะยาวขนาดไหน มันอาจจะไม่เกิดตอนนี้หรอก แต่ถ้าเกิดว่าเขาดูและซึมซับไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน ความเคยชินนั้นก็จะกลายเป็นว่าไม่เป็นไรหรอก เขาก็ทำกัน ซึ่งไม่รู้เลยว่ามันผิด สุดท้ายก็ฝากติดตามช่อง ครูนกเล็กด้วยนะคะ ติดตามให้กำลังได้ตลอด ผ่านทางช่องยูทูบ ครูนกเล็ก แล้วก็แฟนเพจครูนกเล็กค่ะ” |
...เจาะทริกจากประสบการณ์ จากทำขำๆ คนดู “10 วิว” จนทุกวันนี้ ยอดติดตาม 2 ช่องยูทูบคือ “10 ล้าน”!!...
>>> https://t.co/Jio9405lyw
.#โรงเรียน #นักเรียน #ครอบครัว #ยูทูบเบอร์ #การศึกษา #การศึกษาไทย pic.twitter.com/TM5l9XAHRB— livestyle.official (@livestyletweet) December 25, 2022
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ครูนกเล็ก”
ขอบคุณคลิป : ยูทูบ “ครูนกเล็ก” และ “krunoklek”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **