ปิด Line หนี-หงุดหงิดง่าย-ขาดสมาธิ เมื่อการคุยงานผ่าน Line = กระทบชีวิต!! ผู้เชี่ยวชาญเตือนพฤติกรรมคนวัยทำงาน กลายเป็น “โรควิตกกังวล” เผชิญเรื่องส่วนตัว-เรื่องงาน คือ เรื่องเดียวกัน ชี้ทางออก “ความสุข” = องค์กร!!?
กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่กระทบชีวิตคนวัยทำงานหลายๆ คน เมื่อ “เรื่องงาน” กับ “เรื่องส่วนตัว” ปะปนเป็นเรื่องเดียวกัน หากใคร “เครียด-แพนิก-กลัวถูกทวงเข้า-ไม่กล้าเช็กข้อความ Line” ถ้าใครกำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้ ให้รู้ไว้ได้เลยว่า คุณอาจเข้าข่าย...
โดยเป็นประเด็นที่ชาวทวิตเตอร์ นำมาพูดถึงแล้วรีทวีตไปกว่า 6 หมื่นทวีต อีกทั้งโควตข้อความว่ามีอาการเช่นนี้เหมือนกัน เพื่อถอดหัวโขน “งาน” ออกจากชีวิตส่วนตัว หาจุดพอดี เพราะอาจจะมีผลต่อสุขภาพของคนวัยทำงานในระยะยาวได้
“อยากลบไลน์ทิ้ง ใครมันเป็นคนต้นคิดให้คนไทยใช้ไลน์คุยงาน แพนิกกับทุกงานในไลน์มากตอนนี้…”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายผ่านปลายสาย ว่า การใช้แอปพลิเคชันสำหรับพูดคุยเรื่องงาน ควรจะแยกตัวออกมาจากแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับชีวิตประจำวัน
“ถามว่าเป็นโรคซึมเศร้าเลยไหม อันนี้คงเป็นแล้วแต่คน สำหรับคนที่ไม่สามารถจัดการได้ แน่นอนเขาอาจจะรู้สึกเศร้ามากกว่าเดิม จะป่วยหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับเขาจัดการมันยังไง
ถ้าเกิดเขาซวย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เจ้านาย เพื่อนร่วมงานส่งข้อความมารัวๆ ข้อความเด้งนาทีละ 20 ข้อความ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดอย่างมหาศาล
ถ้าเขาไม่จัดการอย่างดี อาจจะไม่ได้ถึงโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรควิตกกังวลก่อน เพราะกังวลไปหมดเลย ว่า ข้อความจะเด้งไหม ข้อความที่โผล่มาจะสำคัญมากไหม สำคัญขนาดต้องอ่านไหม ถ้าเกิดมีความกังวลอย่างนั้นอยู่ตลอด ก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลได้ครับ
แยกการทำงานกับเวลาส่วนตัว มันแยกกันอยู่แล้ว แต่ช่องทางที่มันใช้ ผมว่าเป็นใครก็คงไม่ happy ที่เปิดข้อความส่วนตัว แต่มีเรื่องงานแทรกมาตลอด มันก็กลับมาบ้านไม่มีความสุข
ผมก็แนะนำว่า วัฒนธรรมการทำงานหลายที่ ถ้าเกิดสามารถ ไม่จำเป็นต้องพูดกันตลอดเวลา สามารถสรุปงานได้ การใช้ E-mail ในการติดต่อ ในการทำงานยังเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ามีเหตุผล สมควรทำ
ถ้าหากเราสามารถปรับวัฒนธรรม ในการทำงานได้ ให้สามารถส่งข้อความ เป็นช่องทางใดช่องทางหนึ่ง อาจจะใช้แอปพลิเคชันใดเป็นที่สำหรับคุยงาน ส่วน Line, Facebook ก็ใช้เป็นช่องทางส่วนตัว”
ดร.นพ.วรตม์ ยังบอกถึงสิ่งที่ระวังมากที่สุด คือ เรื่องของความเป็นส่วนตัว และการใช้แพลตฟอร์มแล้ว อีกสิ่งที่มักจะตามมาสำหรับการใช้โปรแกรมแชต ในชีวิตประจำวันคุยเรื่องงาน คือ การคุยงานนอกเวลา
หากมีปัญหาเหล่านี้ เพียงแค่ข้อใดข้อหนึ่งก็แสดงว่า ร่างกายเริ่มจะส่งสัญญาณของโรควิตกกังวล ในการทำงานแล้ว
“ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเอง work life balance ไม่ได้ แยกเวลาทำงาน รู้สึกกังวลตลอดเวลา ที่มันมีอะไรเด้งขึ้นมา อย่างแรกที่อยากให้เช็ก คือ อารมณ์ ความคิด พฤติกรรมเราเปลี่ยนไปไหม
ถ้าหากอารมณ์เราเปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิดง่ายมากขึ้น กังวล กลัว ง่ายมากขึ้น ไม่อยากเช็กไลน์ ไม่อยากเช็กข้อความต่างๆ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทำงานสายมากขึ้น ไม่อยากไปทำงาน ทำงานช้าลง ขาดสมาธิ มีความคิดจะถูกต่อว่า ถูกจับจ้อง ถ้าตัวเองมีอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เป็นอาการเบื้องต้น
มันส่งผลให้การทำงานมันแย่ลง อาการสัญญาณต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวบอกแล้วว่า มันเกิดความรุนแรง และผลกระทบเกิดขึ้นต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญครับ”
มุมมืด “แอปฯ แชต” ไม่แยกแยะ = ทำลายสุขภาพจิต
เมื่อเทียบความตื่นตัวของหลายประเทศแล้วนั้น ถูกนำกฎหมายเข้ามาดูแล เพื่อจะทำให้ตระหนัก หาจุดสมดุลถึงประเด็นนี้ขึ้นมาบ้าง ไม่ว่าเราจะเป็นผู้รับ หรือผู้ส่งข้อความไปยังเวลานั้น
เพราะ “ความเครียด”, "ความกลัว” ในที่ทำงาน มักจะจบลง ถ้าเราไม่แบกกลับมาด้วย แต่จะหลอกหลอน ถ้ามันตามมาถึงในพื้นที่ส่วนตัวอย่างโทรศัพท์
เมื่อเกิดความเครียดกับพนักงาน อาจจะส่งผลถึงคุณภาพของงาน เพราะเมื่องานออกมาจากผู้ผลิตที่กังวล และเกิดอาการวิตกกังวลไปหมด
“แน่นอนเป็นวัฒนธรรมการทำงานของประเทศเรา ถ้าเราเทียบวัฒนธรรมการทำงานต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
การทำงานในต่างประเทศใช้การส่ง E-mail เป็นหลัก เขาไม่ใช้การส่ง instantmessaging การส่ง Line การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กต่างๆ คือ เป็นข้อความด่วนทันที คล้ายๆ การส่ง message
การติดต่องานในต่างประเทศ จะไม่มีเลย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ไม่มีการใช้ instantmessaging ในการทำงาน ยกเว้นบางองค์กรจริงๆ ที่ใช้การคุยกันตลอดเวลา เช่น หน่วยงานเทคโนโลยี startup หรือเรื่องที่ต้องดีลงานเร่งด่วน ฉุกเฉินตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นของเราจะเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ เพราะเราจะมีความรู้สึกว่าเราจะถูกตามงานตลอดเวลา ถูกพูดคุยงาน แล้วบางครั้งการพิมพ์ข้อความในแต่ละครั้ง พอใช้ instantmessaging เป็นหลัก มันทำให้หลายครั้งเราไม่ได้สรุปความ ไม่ได้ขมวดปมในแต่ละเรื่อง
การส่งข้อความเยอะๆ มันทำให้มันปะปน เต็มไปด้วยการไม่กลั่นกรองทั้งหมด และในขณะเดียวกัน ช่องทางพวกนี้ เป็นช่องทางเดียวกับเราสื่อสารกับชีวิตประจำวัน มันทำให้ชีวิตการทำงานกับชีวิตประจำวัน มันมาปนเปกัน
ในต่างประเทศ E-mail จะใช้สำหรับการทำงาน ชีวิตประจำวันเขาจะส่ง message เขาใช้ Whatsapp หรือ Facebook messenger ในการติดต่อกัน แยกกันขาด แต่ของไทยเกิดความไม่แยกกันขาด
พอไม่แยกกันขาด เราเองเวลาที่จะใช้ในการติดต่อ เราจะเจอข้อความที่เป็นงานแทรกมาเป็นหลัก มันก็ทำให้ชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัวแยกกันยากขึ้น ปัญหามันตามมา คือ เมื่อเราไม่สามารถ balance ระหว่างชีวิตการทำงาน กับชีวิตส่วนตัวได้ ความเครียดตามมา”
นอกจากนี้ ยังเป็นอาวุธทำร้าย หรือทิ่มแทงในการหาผลประโยชน์ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก และจิตใจของเพื่อนร่วมงาน
หากเป็นการคุยในเรื่องแย่ๆ หรือเรื่องทางลบแล้วล่ะก็ นอกจากจะถูกคนในกลุ่มไลน์เข้าใจผิดแล้ว อาจจะส่งผลเสียที่เกิดขึ้นถึงชีวิต และหน้าที่การงานจริงๆ ถึงขั้น “ไล่ออก” เลยก็ได้ ทางมุมมองของจิตแพทย์ มองว่า ให้คิดทบทวน และตระหนัก เพราะอาจจะมีคนที่ประสงค์ไม่ดี หยิบข้อความนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้องก็ได้
“เราต้องพึงตระหนักว่า พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะวางอยู่ในแพลตฟอร์ม instantmessaging ก็จริง แต่มันก็ต่างจากโซเชียลมีเดีย มันมีคนที่รับรู้ได้
เขาอาจจะระบุตัวตนไม่ได้ หรืออาจจะระบุได้ก็ตาม แต่มันมีคนมากกว่า 1 คน เพราะฉะนั้นข้อความที่เราพูดไป อาจจะไม่ถูกใจทุกคน
อย่างแรก คือ ให้คิดทบทวนก่อน ที่เราจะพูดอะไรออกไป ในส่วนที่เป็นสาธารณะ เขาบอกว่าจะพูดอะไร ให้คิด 1 ครั้ง จะทำอะไรให้คิด 2 ครั้ง จะโควตหรือจะพิมพ์อะไรลงไปให้คิด 3 ครั้ง เพราะการคิด การโพสต์ มันต้อง save ตัวเอง เพราะมันมีร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ มัน save ได้ มัน copy ได้ มันส่งต่อได้
ไม่มีใครรู้หรอกว่าทุกคนเขาหวังดีกับเราแค่ไหน อาจจะไม่ได้ทุกคนที่หวังดี หรือชอบเรา การที่เราโพสต์ในพื้นที่สาธารณะ ก็เหมือนโลกทวิตเตอร์ เราเองต้องระมัดระวังในการโพสต์ เพราะอาจจะมีคนที่ประสงค์ไม่ดี หยิบข้อความนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้องก็ได้”
ไม่เพียงเท่านี้ จิตแพทย์รายเดิม ได้ชี้แจงว่า หากรู้สึกกลัว กังวล หรือความไม่ปลอดภัยในการใช้ แอปฯ Line ในการคุยงาน แนะควรหาทางออก จัดการความเครียดตัวเอง รวมทั้งทางพนักงาน และองค์กร ควรทำความเข้าใจ ก็สามารถพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้
“สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน คือ การทำงานที่เข้าใจความต้องการ เข้าใจวัฒนธรรมคนในองค์กร เรื่องเหล่านี้ผมว่า มันคือการพูดคุย
ที่สำคัญ คือ ถ้าเราแยกแอปพลิเคชันแล้ว เมื่อจบเวลาทำงานแล้ว เราคงต้องตระหนักนะครับว่า ทุกคนก็ต้องมีชีวิตส่วนตัว ทุกคนควรจะต้องได้รับความเคารพ ว่า ชีวิตส่วนตัวเขา เราก็ไม่ควรไปตามงาน หัวหน้างานในต่างประเทศ ตามงานลูกน้องนอกเวลา คือ ติดคุก โดนฟ้อง
แต่ของไทย ยังไม่เป็นแบบนั้น แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นมารยาท ที่หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานควรจะพึงมี ถ้าเกิดเราตั้งสมาธิ ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ผมคิดว่านอกเวลางาน มันไม่จำเป็นจะคุยเรื่องอื่นแล้ว
ยกเว้นมันฉุกเฉินจริงๆ ผมไม่คิดว่าเราจะต้องใช้เวลานอกเหนือจากนั้น ในการทำงานไปมากกว่า ทุกคนควรมีเวลาพักผ่อนครับ
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **