xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ #น้ำท่วมกรุงเทพ ยังแย่กว่านี้ได้อีก!! ปริมาณฝนทุบสถิติ 6 ปี เพ่งเล็งตรวจการบ้าน “ชัชชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนกรุงกุมขมับ!! นักวิชาการกางสถิติย้อนหลัง 5 ปี ชี้ วันที่ “น้ำท่วม-ฝนตก” หนักที่สุดใน กทม. ยังมาไม่ถึง คาดปีต่อๆ ไป ยิ่งหนักกว่านี้ พร้อมส่องนโยบายระบายน้ำ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ทำแล้วกี่ข้อ?!

วันที่แย่ที่สุดของ กทม.ยังมาไม่ถึง!!

กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบการใช้ชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครอย่างเลี่ยงไม่ได้ในขณะนี้ กับสถานการณ์ “ฝนตกหนัก” ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ด้วยปริมาณน้ำฝนมหาศาล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ที่ฝนมักจะตกช่วงเย็น ซ้ำเติมผู้คนต้องเดินทางกลับบ้าน

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม กทม.ที่เกิดขึ้นนั้น ได้นำไปสู่การตั้งคำถามจากประชาชน มาจากปริมาณฝนที่ตกหนัก หรือว่าเป็นที่การบริหารจัดการไม่ดีกันแน่?!


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรงอาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊ก “Sunt Srianthumrong” ไว้ ว่า น้ำท่วมแบบฝนตก ส่วนมากเกิดจากการระบายระยะสั้นไม่ทัน ส่วนค่าปริมาณฝนรายเดือนจะเหมาะกับการวิเคราะห์การท่วมของ กทม.จากน้ำเหนือ ซึ่งปัญหาที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มาจากฝนตกหนักในพื้นที่แบบรายวัน

ทั้งนี้ เขายังได้กางข้อมูลตัวเลขปริมาณน้ำฝนรายวัน ที่วัดได้ที่สถานีวัดย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560-2565 พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี สรุปได้ว่า ปริมาณฝนที่ตกในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายวันสูงมาก และมีจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มากสุดในรอบ 6 ปี มีเพียงสถิติเดียวที่ยังไม่ทุบ คือ ปริมาณฝนสูงสุดรายเฉพาะวัน ของวันที่ 14 ต.ค. 2560 ที่วัดได้ถึง 223 มม.


ดร.สันต์ ยังทิ้งท้ายไว้ว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น วันที่สถานการณ์ น้ำท่วม-ฝนตกหนัก ที่สุดอาจจะยังมาไม่ถึง และปีที่แย่ที่สุดก็น่าจะยังมาไม่ถึงเช่นกัน และด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายลงทุกปี ในอนาคตอาจส่งผลให้ กทม.และพื้นที่ใกล้เคียง อยู่อาศัยไม่ได้ก็เป็นได้...

“บางทีผมคิดว่า นี่คือ แค่จุดเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของปีนี้นะครับ แต่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของหายนภัยที่จะมาในปีต่อๆ ไปด้วย ยิ่ง Global Warming รุนแรงขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งเจอ Extreme Weather Event แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ หายนะจริงย่อมรุนแรงกว่าสัญญาณเตือน

และถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่านี้อีกในช่วงปี ค.ศ. 2050 สิ่งที่ผมกังวลที่สุดตอนนี้ คือ กทม.และอีกหลายพื้นที่โดยรอบ จะยังคงสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่นะครับ ถ้าผู้คนยังไม่ใส่ใจและละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมกันแบบนี้ มนุษย์เราส่วนมากก็มองเห็นกันแต่ พวกใครพวกมัน การเมือง เงินในกระเป๋า GDP และความมักง่ายสารพัด”

ส่องนโยบาย “ระบายน้ำ” วอน WFH-เรียนออนไลน์

อีกภาคส่วนที่กำลังถูกจับตามอง คือ การปฏิบัติหน้าที่ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด ได้มีการลงพื้นที่สำรวจจุดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นระยะ ตามที่ปรากฏในไลฟ์สดบนแฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

ทั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ทำการสำรวจนโยบายจากเว็บไซต์ www.chadchart.com ก็พบว่า ในหมวดหมู่ “โครงสร้างดี” หัวข้อ “ระบายน้ำ” มี 8 นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำท่วม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้



1. ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที 2. แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต 3. ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม. 4. เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันฤดู

5. เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ 6. ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก 7. เซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ และ 8. ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม

ล่าสุด จากงาน “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ที่เป็นการแถลงเปิดผลงานผลงาน ของทีมผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตลอด 99 วันที่ผ่านมา วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำท่วม ว่า ขณะนี้ได้ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ และทำความสะอาดท่อระบายน้ำไป 3,358 กม.



ขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล 32 คลอง ระยะทาง 1,665 กม.สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 กม. ซึ่งเรื่องนี้กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของที่เพื่อทำเขื่อนถาวรด้วย

ส่วนเรื่องของการลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณถนนสายหลัก ในปี 2565 ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักจาก 9 จุด เหลือ 2 จุด และในช่วงน้ำท่วมนี้ จะมีรถบริการรับ-ส่งประชาชน โดยมีหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยเหลือด้วย

และสำหรับสภาพอากาศในระยะนี้ ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศ ร่วมไปถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งยังต้องเฝ้าระวังน้ำเหนือ (มวลน้ำที่ระบายลงมาจากภาคเหนือ) และน้ำทะเลหนุนอีกด้วย



แน่นอนว่า น้ำท่วมหนักครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ทางด้านของโลกโซเชียลฯ โดยเฉพาะคนในวัยเรียนและวัยทำงาน ได้ออกมาทวิตข้อความเสนอแนะว่า ช่วงนี้ในพื้นที่เสี่ยงควรหันไปเรียน online และทำงานแบบ WFH ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งมีคนรีทวีตดังกล่าวไปเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้เห็นด้วยกับไอเดียนี้ไม่น้อย

“แต่เอาดีๆ ฝนตกน้ำท่วมแบบนี้ควรให้หยุดเรียน หยุดทำงานแล้ว WFH เรียน online แทนเอาอ่ะ การเดินทางมันลำบากจริงๆ ไหนจะน้ำท่วมขัง จราจรติดขัด บางคนบ้านน้ำท่วมก็ต้องลุยออกไปเรียนออกไปทำงาน เช่น ฉันเลยค่ะบ้านน้ำท่วม แต่ต้องลุยน้ำออกมาทำงาน สู้ชีวิตไม่ไหวเลย #น้ำท่วม”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งให้แฮชแท็ก #น้ำท่วมกรุงเทพ และ #ฝนตก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยอยู่ในตอนนี้





ขณะที่ สถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการเร่งระบายน้ำ แต่อุปสรรคใหญ่ของภารกิจนี้ คือ “ขยะ” ที่เก็บได้เฉลี่ยวันละกว่า 5-10 ตัน ที่มีตั้งแต่ขยะมูลฝอย พลาสติก ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่ อย่างฟูกที่นอนหรือโซฟาก็ยังมี และล่าสุดทาง กทม.ยังมีการปรับสูงสุด 10,000 บาท คนที่ทิ้งน้ำมันลงท่อระบายน้ำอีกด้วย

เห็นทีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จะโทษปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก หรือโทษการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวคงไม่ได้ และแม้จะขุดลอกคูคลองหรือเพิ่มการระบายน้ำให้มากขึ้น ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุอยู่ที่จิตสำนึกและพฤติกรรมการทิ้งขยะ หากยังมีประชาชนที่มักง่ายทิ้งขยะปิดทางน้ำไหลเช่นนี้ ยังไงการปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพ” คงไม่จบแน่นอน....

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” และ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น