xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหมอไซส์มินิ VS คนไข้ไซส์บิ๊กเบิ้ม” งานเสี่ยงตาย-ต้องใจรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียสละ-ใจกล้า-เสี่ยงอันตราย!! เปิดใจ “หมอโบว์” สัตวแพทย์หญิงคนเก่งแห่งโรงพยาบาลช้างกระบี่ กับหน้าที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา “คุมช้างตกมัน-อาละวาด-ทำร้ายคน” ก็ทำมาแล้ว พร้อมบอกเล่าอีกแง่มุมของสัตว์บกตัวใหญ่ที่สุดในโลก ที่หลายคนยังไม่เคยรู้!!

เล็กพริกขี้หนู “หมอโบว์” หมอรักษาช้าง

“ถามว่ามีอุปสรรคมั้ย โบว์สูง 157 ซม. สมมติมีหมอสูง 170 ซม. เขาก็ต้องต่อเก้าอี้หรือต้องให้ช้างก้มเหมือนกัน รู้สึกมันก็ไม่ต่างกันมาก ช้างบางตัวสูง 3 เมตร ยังไงคุณก็สูงไม่เท่าช้าง ส่วนใหญ่ช้างที่สูงมาก เขาจะให้นั่งลงอยู่แล้ว พอนั่งปุ๊บเราก็ตัวเท่าช้างแล้ว นั่งให้หมอฉีดยา เก็บเลือด หรือว่าทำอะไร ก็จะเซฟต่อหมอด้วย

ด้วยความที่ว่าเราเป็นคนตัวเล็ก มือเล็ก นิ้วเราเล็ก บางทีการล้างแผลเราแหย่เข้าในรูที่หมอคนอื่นไม่สามารถแหย่ได้ เพราะเขาตัวโตกว่าเรา หรือแขนเราเล็ก เราสามารถที่จะล้วงแขนเข้าไปในแผลฝีโพรงใหญ่ๆ ได้ ก็มีข้อดีเหมือนกันนะว่าไป มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขนาดนั้นค่ะ ถึงเราจะตัวเตี้ยแต่เราก็วิ่งไว (หัวเราะ)”

สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร หรือที่ชาวโซเชียลรู้จักกันในชื่อ “หมอโบว์” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

สัตวแพทย์หญิงวัย 29 ปีผู้นี้ ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของช่อง TikTok “หมอเตี้ย” (@bowy18) ที่มีผู้ติดตามถึง 4 ล้านบัญชี ขณะเดียวกัน แฟนเพจ “หมอโบว์” ก็มีผู้ติดตามกว่า 7.3 แสนคน



ด้วยเนื้อหาคลิปเกี่ยวกับประสบการณ์การรักษาช้าง และความรู้เกี่ยวกับช้างที่ถูกนำมาย่อยให้เข้าใจง่าย บวกกับความน่ารักของเหล่าช้างที่เธอรักษา อีกทั้งความน่ารักสดใสของเจ้าของช่องเอง ส่งให้หมอช้างผู้นี้ได้ใจชาวโซเชียลไปเต็มๆ

สำหรับภาพของคุณหมอตัวเล็กที่มือหนึ่งถือเข็มฉีดยา ส่วนปากก็คาบปลอกหลอดฉีดยาไว้ เป็นภาพชินตาที่บรรดาคนที่ติดตามหมอโบว์มักจะได้เห็นในเวลาที่เธอต้องออกปฏิบัติหน้าที่ประจำ โรงพยาบาลช้างกระบี่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาช้างนอกสถานที่ทั่วภาคใต้ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งการรักษาโรคที่พบได้ทั่วไปของช้าง หรือจะเป็นเผชิญหน้ากับช้างดุร้าย บ้างก็ตกมัน บ้างก็มีประวัติทำร้ายคนเสียชีวิตหลายศพ แต่ด้วยหน้าที่และหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่ไม่แพ้คนไข้ของตน ทำให้เธอก้าวผ่านทุกอุปสรรคไปได้

ย้อนกลับถึงเส้นทางการเป็นสัตวแพทย์ ชีวิตของหมอโบว์มีความผูกพันกับสัตว์มาตั้งแต่เด็ก และก่อนที่จะมาเป็นหมอช้าง เธอเกือบจะเป็นหมอม้าเสียแล้วด้วยซ้ำ?!



“โบว์เกิดและโตที่ภูเก็ตค่ะ คุณพ่อเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ หมูเป็นอาชีพอยู่แล้ว แต่จะมีจุดพีกตอนที่โบว์อยู่ประมาณ ม.ต้น พ่อซื้อหมาพันธุ์พิตบูลให้เลี้ยง น้องเป็นลำไส้อักเสบตาย เราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสัตว์ชนิดนี้ว่าต้องไปทำวัคซีนนะ ต้องไปถ่ายพยาธินะ เสียใจมาก เลยเป็นอะไรที่ฝังใจว่า ถ้าเรามีความรู้หรือว่าสามารถที่จะช่วยสัตว์ของเราได้คงจะไม่ตาย ก็เลยอยากเป็นสัตวแพทย์ อยากรักษาสัตว์ค่ะ ชอบที่จะเรียนด้านนี้

เราต้องเรียนรักษาสัตว์ทุกชนิด ในระยะเวลา 6 ปี ระบบประสาท หัวใจ หัวใจหมา หัวใจแมว หัวใจปลา อะไรต่างๆ ไม่เหมือนกัน ที่จริงมีเฉพาะทางเหมือนกันค่ะ เช่น หมอระบบประสาท ก็จะเรียนลึกซึ้งไปอีก

ตอนไปฝึกงาน เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะไปฝึกสัตว์เล็กหรือฝึกสัตว์ใหญ่ อย่างโบว์ชอบช้างก็มาฝึกช้างตอนเป็นนักศึกษาปี 6 ที่จริงโบว์อยากเป็นหมอม้า จะมีวิชาบังคับที่ต้องไปขี่ม้าให้เป็น ตอนที่เรียนรู้สึกแฮปปี้กับการขี่ม้า ก็เลยอยากเป็นหมอม้ามาก แต่ด้วยอะไรหลายอย่างตอนนั้น ม้าที่ประเทศไทยเลี้ยงเพื่อการกีฬาหรือไม่ก็เลี้ยงไว้ดูเล่น มีเงินอยู่แล้วซื้อมาเลี้ยง

มันไม่เหมือนกับช้าง บางทีเขาไม่ได้อยากดูเล่น เขาไม่ได้ร่ำรวย เขาเลี้ยงไว้เป็นอาชีพ เพราะอยากมีรายได้ด้วยส่วนหนึ่ง โบว์ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราได้ช่วยเหลือช้างเชือกนึงก็เหมือนกับได้ช่วยชีวิต ช่วยปากท้องของคนที่เขาเลี้ยงช้างไปด้วย ก็เลยเบี่ยงเบนมาชอบช้างมากกว่าค่ะ”

ตัวใหญ่ใจเสาะ ปวดท้องก็ช็อกตายได้
ด้วยไฟในการทำงานที่ลุกโชน ทำให้สัตวแพทย์ผู้เรียนจบใหม่หมาดๆ ในตอนนั้น รอที่จะสมัคร ณ โรงพยาบาลช้างกระบี่ และเมื่อได้เข้ามาทำงาน ช้างป่วยเคสแรกที่ได้รักษา ถือเป็นความท้าทายคุณหมอมือใหม่อย่างมาก เพราะเป็นเคสช้างป่วยติดเตียงถึง 2 เชือก

“เราเคยฝึกงานช้างมาก่อนสมัยเราเรียนปี 6 ก็ชอบเลยตั้งแต่ตอนนั้น มีความมุ่งมั่นมาก อยากเป็นหมอช้าง ตอนจบมาจะมีโรงพยาบาลช้างกระบี่ ตอนนั้นเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ ดูแลช้างทั่วภาคใต้ แต่ตอนนี้จะมีพวกมูลนิธิที่มีหมอก็มีเหมือนกัน

ตอนนั้นตำแหน่งก็ยังไม่ว่าง เราก็รอที่นี่ว่าเขาจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ ระหว่างนั้นก็เลยไปทำสัตว์เล็กได้ประมาณ 3 เดือน ประจวบเหมาะกับที่เขารับพอดีก็เลยได้มาทำค่ะ

ประสบการณ์การรักษาช้างครั้งแรก ที่จริงตอนที่โบว์เข้ามาทำงาน เพราะมีเคสฉุกเฉินของช้างป่วยติดเตียง ถ้าเกิดว่าได้ติดตามโซเชียล โบว์ก็จะชอบลง เจ้าบัวสวรรค์ตกจากที่สูง ตอนมาน้องนอนมาเลย ไม่สามารถขยับขาหลัง 2 ข้างได้

[ “หมอโบว์” และช้างน้อย “พังบัวสวรรค์” ]
พอเป็นช้างป่วยติดเตียงจะเป็นเคสที่หนักเพราะจะต้องรักษา ต้องพลิกตัว ต้องทำแผลกดทับ โบว์ก็เลยรู้สึกว่าได้เข้ามาทำงานเพราะบัวสวรรค์ ที่จริงจะมีอีกเชือกนึงแต่ตอนนี้เสียแล้ว ชื่อพังโซฟา มาพร้อมกับบัวแต่บัวยังอยู่”

สำหรับการทำงานในแต่ละวันของคุณหมอผู้นี้ เรียกได้ว่าต้องกายพร้อม ใจพร้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะอาจมีช้างป่วยฉุกเฉินเข้ามาเมื่อไรก็ได้

“ที่นี่จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รักษาช้างฟรี มีอาหารให้ช้างป่วยฟรี จะรักษาช้างมีเจ้าของเท่านั้น เวลาทำการประมาณ 08.30-16.30 น. เป็นเวลาปกติที่หมอต้องมาทำ แต่ช่วงที่มีเคสหนักอย่างช่วงนี้ ช้างเขามีร่างกายใหญ่โต การให้ยาหรือน้ำเกลือต้องให้ในปริมาณที่เยอะมาก

คนให้น้ำเกลือวันนึง 1 ขวด แต่ช้างบางที 80-100 ขวด มันใช้ระยะเวลานานในการให้แต่ละครั้ง ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย บางทีให้น้ำเกลือดึกดื่นยาวไปก็มีค่ะ หรือบางทีมีฉุกเฉินมาตี1 ตี 2 หมอก็ต้องลงมารักษา หรือตอนเช้ามีช้างลุกไม่ขึ้น หมอก็ต้องไปยกช้างเชือกนั้น เวลาจะไม่แน่นอน หมอต้องสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง มันก็แล้วแต่ช่วง

ช้างที่เขามารักษาจะมีทั้งที่ป่วยแล้วขนมา เป็นช้างที่ต้องรักษาเป็นระยะเวลานานๆ ป่วยหนักเข้ามาแอดมิต เราจะมีที่พักให้ควาญ เจ้าของ หรือว่าที่พักช้าง แล้วก็อาหารให้ช้าง อีกอย่างคือหมอออกไปรักษาถึงบ้านก็มีเหมือนกันค่ะ อย่างช้างที่ป่วยแบบไม่สามารถขึ้นรถมาหาหมอได้ หรือว่าบาดเจ็บเล็กน้อยที่ไม่จำเป็นต้องขนมาโรงพยาบาล หมอก็ไปหาได้”

และยังมีภารกิจ “สัตวแพทย์สัญจร” คือ การตระเวนตรวจสุขภาพช้างทั่วภาคใต้ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นกันเลยทีเดียว

“กรณีสัตวแพทย์สัญจร หมอออกไปหาช้างทุกเชือกในภาคใต้ถึงบ้าน เราจะทำทุก 6 เดือน ไปตรวจสุขภาพ ให้ยาบำรุง ยาถ่ายพยาธิ ค่ำไหนนอนนั่น บางคืนก็ไม่นอน ช้างป่วยหนักต้องให้น้ำเกลือ ให้ยาตลอดเวลา อยู่กับช้างไปเลย”

ถ้าเป็นช้างที่เข้ารักษาโรงพยาบาล ปีละประมาณ 200 กว่าเชือก ถ้าสัญจรปีนึงเราออก 2 รอบ ทุก 6 เดือน รอบนึงประมาณ 600 เชือกได้ เราออก 2 รอบก็ประมาณ 1,200 แต่อาจจะเป็นช้างที่ซ้ำๆ ด้วย บางเชือกไม่ได้ป่วยแต่ว่าเราไปตรวจสุขภาพ ไปจ่ายยาบำรุงค่ะ

(อาการป่วยที่เจอบ่อย) แล้วแต่ฤดูกาลด้วยค่ะ สมมติว่า ถ้าเป็นช่วง high season ช้างก็จะทำงาน บางคนใช้งานช้างหนักจนช้างมีปัญหาสุขภาพ มีแผล อ่อนแรง ก็จะมีมา แต่ถ้าช่วงไหนเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูแล้งไปฤดูฝน ช้างก็จะเริ่มกินดินเยอะ ท้องเสีย มีพยาธิเยอะ อย่างช่วงนี้จะมีช้างที่ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเยอะเขาอาจจะชอบไลฟ์สดขายผลไม้ ช้างกินผลไม้เยอะก็อาจจะทำให้ท้องอืด ท้องเสียได้เหมือนกันค่ะ”

เมื่อผู้สัมภาษณ์ให้หมอโบว์เล่าถึงความยากในการรักษาช้าง เธออธิบายว่า ด้วยความที่ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่และมีพละกำลังมาก ทำให้ต้องใช้ทีมงานหลายคนในการเข้ารักษาแต่ละครั้ง

“ถ้าเทียบกับสัตว์อื่นๆ ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักเขาเยอะ แรงเขาเยอะ อย่างหมา แมว สมมติเราจะทำแผลเราก็จับได้ แต่ช้างเราไม่มีกำลังที่จะจับเขาได้ขนาดนั้น เราต้องใช้อุปกรณ์หลายๆ อย่างและกำลังคน

ถ้าจะทำแผลช้างที่เท้า หมอจะต้องใช้เชือกมัดเท้า ใช้คนพร้อมระวัง ต้องใช้ซองรักษาที่มีความแข็งแรง มันจะยากเรื่องการจับบังคับถ้าเขาไม่ยอม แต่ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดมากนะคะ ส่วนใหญ่เขาจะเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าของหรือควาญ คนที่สนิทหรือดูแล ถ้าเราอยากให้ขยับซ้ายหน่อยก็ต้องบอกเจ้าของ เขาก็จะสั่งช้างว่าไปซ้าย บอกให้ขยับขวาคือไปขวา เขาฟังออกนะคะ

ถ้าเกิดเขาไม่เชื่อฟัง สมมติว่าเจ็บมากจนไม่เชื่อฟังเจ้าของแล้ว เราก็ต้องใช้การจับบังคับ ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างอันตรายแล้วก็ยากมาก ด้วยแรงกำลังร่างกายเขา ก็จะยากตรงนี้สำหรับการรักษาช้างถ้าเทียบกับสัตว์อื่นค่ะ”

ขณะเดียวกัน แม้ช้างจะตัวใหญ่แต่ด้านจิตใจกลับตรงกันข้าม เพราะในบางครั้งจากอาการปวดท้องก็อาจส่งผลให้ช้างช็อกตายได้

“ช้างเป็นสัตว์ที่ใจเสาะมาก บางทีปวดท้องก็ตายแล้ว เคยเจอหลายเชือก เขาจะน่าสงสารมาก ปวดท้องเป็นอะไรที่ค่อนข้างอันตรายมาก เขาเป็นสัตว์ที่มีลำไส้ยาว กินอาหารเมื่อ 2 วันที่แล้วถ่ายเพิ่งออกวันนี้ เวลาเขาปวดจะปวดทั้งท้องเลย ปวดมวน ปวดบิด ปากซีด และเกิดภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้นได้ เราต้องควบคุมเรื่องความเจ็บปวดของเขาให้ได้

แต่ช้างก็เป็นสัตว์ที่ทน เราจะกรีดผ่าฝี ไม่ต้องใช้ยาชา ไม่ต้องใช้ยาสลบ เราสามารถกรีดได้ เขาเจ็บแต่ทนได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเจ็บจากภายใน เขาจะทนไม่ได้

แล้วช้างจำคนแม่น สมมติว่า เขารู้สึกว่าคนคนนี้ชอบทำร้าย ไม่เคยป้อนอาหารเลย เขาจะหมายหัวได้ โบว์เคยเจอในกรณีช้างตัวเมีย แล้วช้างเชือกนี้ไปเจอตัวผู้ ช้าง 2 ตัวนี้ก็ชอบพอกัน แต่ควาญที่เลี้ยงตัวผู้จะชอบใช้แฟนให้ทำนู่นทำนี่ เขาก็จะเข้าใจผิด ตัวเมียหึงควาญ นี่คือแฟนฉันนะ คอยจ้องทำร้ายควาญของตัวผู้ เคยเจอแต่ก็ไม่ใช่ทุกเชือก

และเขาเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างจำกลิ่นคนได้แม่น จำกลิ่นเจ้าของ จำกลิ่นควาญ บางทีเขาจะชอบพูดกันว่า ถ้าเลี้ยงช้าง ห้ามไปผิดลูกผิดเมีย ห้ามไปอาบอบนวดนะเดี๋ยวกลิ่นผู้หญิงจะติดมา ผิดกลิ่นเดี๋ยวโดนช้างทำร้ายเพราะช้างจำกลิ่นไม่ได้ค่ะ”

ใจดีสู้ช้าง

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลช้างของภาคใต้ คุณหมอตัวเล็กได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปมากมาย มีทั้งความผูกพัน ความประทับใจ และความตื่นเต้นที่ไม่อาจคาดเดาได้ในแต่ละวัน

“ที่จริงมีประทับใจหลายเคส ถ้าเป็นเคสที่ผูกพันมาก็จะเป็นเจ้าบัวสวรรค์นี่แหละ เรารู้สึกว่าเข้ามาทำงานเพราะเขาด้วย เขาอยู่กับเรามานาน 4 ปีแล้ว เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวโรงพยาบาลช้างกระบี่ไปแล้ว เป็นช้างเด็ก 7 ขวบที่น่ารัก enjoy กับทุกคน ไม่ดุร้าย กินเก่ง คนที่นี่น่ารัก ถ้าเรารักษาหาย เขาจะมีขนมให้ตลอดแม้จะไม่ได้พาช้างมารักษา เขาก็มาเยี่ยม

หรือว่าจะเป็นเคสพวกจับช้างตกมันอาละวาด เขาต้องการให้เราไปยิงยาซึม ยาสลบ เราก็ต้องออกไปยิงให้ ด้วยความที่ว่าเป็นเคสเสี่ยงอันตราย ต้องใช้กำลังคนเยอะมาก ซึ่งบางคนเราไม่รู้จักแต่เขามาช่วยเราในการระวังภัยให้ รู้สึกประทับใจค่ะ

ช้างตกมันมีเรื่อยๆ เลยค่ะ ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการปกติของช้าง ช้างตัวผู้จะตกมันอยู่แล้วปีละครั้งอะไรก็ว่าไป ปกติก่อนที่จะตกมันเจ้าของเขาจะทำหลักตกมันไว้ เตรียมโซ่เตรียมหลักมัด เขาตกมันแล้วมีกำลังเยอะ พังเชือกที่มัดจะหลุด เขาก็จะให้เราไปยิงยาซึมให้เพื่อเข้าไปเปลี่ยนอุปกรณ์ผูกมัด เปลี่ยนโซ่ อีกอย่างช้างบางเชือกตกมันแล้วก็หลุดไป อันนี้ก็อันตราย หรือช้างที่ทำควาญ ทำเจ้าของเสียชีวิต หรือทำร้ายคน อาละวาดเตลิดไป ก็จะมีทุกๆ ปี”




[ ภารกิจ “ควบคุมช้างตกมัน” ]
ไม่เพียงแค่นั้น หมอโบว์ยังเล่าถึงประสบการณ์การรักษาช้างดุ ที่มีประวัติทำร้ายคนเสียชีวิตมาแล้ว 9 ศพ!!

“ด้วยความที่ว่าช้างที่ดุและชอบทำร้ายคนทีเผลอ เราหันหลัง เผลอตัว ก็ชอบทำร้าย เสียชีวิตมาเยอะมาก แม้กระทั่งตัวของควาญช้างหรือเจ้าของช้างเอง บางทีเขาก็ยังรู้สึกว่าเขาไม่ไว้ใจช้างของเขา 100 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งช้างที่เคยทำร้ายคนเสียชีวิตเช่นเชือกนั้นน่าจะ 9 ศพ การรักษาช้างดุแบบนี้เราต้องเซฟตัวเองก่อน ต้องเข้าซองรักษาที่แน่นหนาที่สุด ที่เขาไม่สามารถขยับตัวได้มาก ที่เรามัดเชือกขาติดกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือล่ามไว้อย่าให้เขาทำร้ายเราได้

มีควาญที่คอยเตรียมอาวุธ เช่น มีด หอกไปด้วย เพื่อที่จะไม่ให้ช้างเอางวงมาดึงหมอระหว่างที่เข้าไปหยอดตา แต่เคสนั้นคือน่ารักนะคะ ถ้าเขารู้สึกว่าสู้เราไม่ได้เขาจะยอม นิ่งเลย แต่เมื่อไหร่ที่เขาได้เปรียบ บางทีเขาพร้อมที่จะทำร้ายเราตลอดค่ะ”

แม้จะมีช้างผ่านมือหมอมาแล้วนับพันเชือก แต่ทุกวันในการรักษาก็ไม่สามารถวางใจช้างได้ ด้วยความที่ช้างสัตว์ป่า จึงจำเป็นต้องมีทีมงานในการดแลความปลอดภัยเสมอ


“ช้างไม่ได้ใจดีทุกตัว ช้างไม่ได้น่ารักทุกตัว ไม่ว่าช้างตัวนั้นจะใจดีกับเราแค่ไหน เราไม่ควรเข้าไปยุ่งกับเขาถ้าเกิดไม่มีเจ้าของหรือควาญ ทุกคนที่เคยเจอช้าง รู้จักช้างมาก่อนทุกคนจะกลัวค่ะ โบว์ก็กลัวเหมือนกัน อันตราย ช้างเป็นสัตว์ป่า เขาจะมีสัญชาติญาณความระวังตัวของเขา เวลาเขาเจอคนแปลกหน้า บางทีเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเราหรอกแต่เขาป้องกันตัว

เราเคยโดนทำร้ายบ่อยตั้งแต่กัดมือบ้าง โดนเตะบ้าง โดนสะบัดบ้าง หมอช้างโดนทุกคน แต่โชคดีที่ไม่ถึงชีวิตเพราะเรามีการระมัดระวังตัวระดับหนึ่ง เหมือนกับตอนที่เราโดนเรายังระมัดระวังตัวไม่มากพอ เพิ่งเข้าทำงานใหม่ ยังไม่รู้จักนิสัยใจคอช้าง เราเข้าไปเล่นกับช้างทั้งๆ ที่พี่ห้ามแล้ว คนเตือนแล้ว แต่หลังๆ ไม่ค่อยมีเพราะว่าเราเซฟตัวเองค่ะ

ต้องมีควาญ มีเจ้าของที่รู้จักเข้าไปกับเราด้วย เขาก็จะคอยปลอบโยนช้างว่าหมอไม่ได้มาทำอะไรนะ หมอมารักษานะ แต่ถ้าดุจริงๆ ก็ต้องมีทีมงานเยอะ แล้วแต่ช้างด้วยนะคะ ช้างบางเชือกนิสัยดีคือนิสัยดีเลย สามารถเข้าไปเล่นได้ แต่บางเชือกดุ เฉียดหน้ายังไม่ได้เลย บางทีขว้างของใส่ก็มีค่ะ แต่ว่าเราพยายามเซฟตัวเองมากกว่า เรารู้จักการเข้าหาก็เซฟได้ระดับหนึ่ง

บางทีเราเข้าไปเรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเข้าไปอาจจะโดนช้างทำร้ายได้นะ แต่ช้างต้องได้รับการรักษาตอนนี้ไม่งั้นมันอาจจะตาย ต้องเข้าไปแบบสู้ไปเลย บางทีเรารู้สึกกลัวแต่ก็ต้องทำ”


นอกจากนี้ หมอโบว์ยังได้ให้ความรู้ถึงธรรมชาติของช้าง โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าช้างกินผลไม้เป็นหลัก ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น

“คนมักจะคิดว่าช้างกินอ้อย กล้วย ผลไม้ต่างๆ เป็นอาหารหลัก แต่จริงๆ ไม่ใช่ ช้างกินพวกอาหารที่มีเยื่อใยสูง เช่น หญ้า ใบไผ่ ต้นสับปะรด ต้นกล้วย อันนี้คืออาหารหลัก ผลไม้คือของหวาน กินได้แต่ไม่เยอะ

มีคนมาบริจาคผลไม้ให้ช้างเยอะ บางทีช้างกินเยอะแล้วทำให้เกิดภาวะท้องอืด ท้องเสีย หรือผลไม้บางชนิดมียาฆ่าแมลงก็จะส่งผลต่อช้าง ส่วนใหญ่ที่นี่ไม่ให้ช้างกินผลไม้เลย กล้วยสุกที่มีรสหวานไว้กินเฉพาะตอนที่ใส่ยา

และมีคำถามเยอะว่าทำไมช้างยืนทั้งวัน ไม่เมื่อยเหรอ ไม่ให้เขานั่งหรือนอนบ้างเหรอ จะบอกว่าช้างเป็นสัตว์ที่นอนแค่ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เขาจะพักขาเฉพาะตอนที่เขานอนเท่านั้น หลังจากนั้นเขาจะยืนตลอด ยกเว้นช้างเด็กจะชอบนอนกลางวัน แต่ช้างที่โตเต็มวัยอายุซัก 10 ปีกว่า จริงๆ เขายืนทั้งวันอยู่แล้วถึงเราจะไม่มัด ถ้าเขานอนกลางวันแสดงว่าเขาเริ่มป่วย”

บทบาท “ช้างเท้าหน้า” ดูแลทั้งครอบครัว

นอกเหนือจากจะต้องดูแลช้างป่วยแล้ว หมอโบว์ยังมีอีกหน้าที่คือการเป็น “ลูกที่ดี” ที่ต้องดูแลและรับผิดชอบทุกชีวิตในครอบครัว

“ก่อนที่โบว์จะลงคลิปพวกช้าง โบว์มีคนรู้จักในนามผู้หญิงที่ดูแลแม่ป่วยอัลไซเมอร์ คุณแม่เป็นคุณครู ป่วยตั้งแต่อายุ 50 กว่าค่ะ หมอบอกว่าอาจจะเกิดจากภาวะซึมเศร้าด้วยส่วนหนึ่ง ก็เลยทำให้เป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าคนอื่น หลังจากที่เป็นไม่สามารถทำงานได้เลย ต้องลาออกก่อนที่จะเกษียณ

พอลาออกมาปุ๊บ เขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ยากเลยต้องมาอยู่กับโบว์ที่กระบี่ เพราะที่ทำงานของโบว์จะเป็นบ้านพักและเป็นโรงรักษา จะไม่ไกลกันมาก เดิน 20 ก้าวก็ถึงที่พักไปดูแม่ได้ แต่ถ้าอยู่กับพ่อ พ่อต้องไปสวนทุกวัน ก็จะลำบากที่พาแม่ไปด้วย บางทีเผลอแป๊บเดียวแม่เดินหลงทางแล้ว ก็เลยต้องมาอยู่กับโบว์กัน 2 คน ดูแลแม่อยู่ประมาณ 2 ปีได้

หลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าแม่เริ่มไม่ไหวแล้ว เราทิ้งแม่ไม่ได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว ทิ้งทีไรชอบเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟบ้าง เล่นน้ำท่วมบ้านบ้าง เหมือนสมองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งค่ะ เราไม่ไว้ใจแม่ให้อยู่บ้านคนเดียว บางทีต้องรับเคสดึกถึงตี 1 ตี 2 ต้องพาแม่ลงมาด้วย เรารู้สึกว่าเสียสุขภาพทั้งเราและแม่ ก็เลยคิดจะลาออกไปดูแลอย่างเป็นทางการ



[ หมอโบว์และคุณแม่ ]
ช้างก็รักนะ แต่รักแม่มากกว่า โบว์รู้สึกว่าแม่ให้กำเนิด เขาเลี้ยงดูเรามา ตอนนั้นเขียนใบลาออกเรียบร้อย ร้องไห้เสียใจ แต่ตอนหลังก็คุยกับพ่อว่าให้พ่อมาดูแลแม่แทนเรา เราจะเป็นคนส่งเงินทั้งค่าเลี้ยงดูแม่ ค่าเลี้ยงดูพ่อ จ้างพยาบาลดูแลแม่ด้วย รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมดโดยที่พ่อไม่ต้องทำงานค่ะ”

คุณหมอลูกกตัญญูได้กล่าวต่อว่า แม้ในตอนนี้จะจัดระเบียบชีวิตทางบ้านได้ค่อนข้างลงตัว แต่เรื่องงานค่อนข้างที่จะรัดตัว เนื่องด้วยตอนนี้เธอต้องรับหน้าที่เป็นกำลังหลักในการรักษา

ตอนนี้ดูแลทั้งครอบครัวเรียกว่าเป็นเสาหลักได้ค่ะ อาชีพหมอช้างอย่างเดียวไม่พอ แต่โบว์หารายได้นอก เรามีการรับงานรีวิวบ้าง ขายของออนไลน์ มาช่วยซัพพอร์ตตรงนี้ได้อยู่ ถามว่าได้เยอะมากมั้ยก็ไม่ขนาดนั้น แต่ว่ามันจะไม่ทำให้เราลำบากมากจนเกินไปค่ะ

แต่ช่วงนี้โบว์ค่อนข้างจะยุ่งเรื่องงานรักษาช้างมาก เพราะมีคุณหมอประจำอยู่ 2 ท่าน โบว์ก็ต้องเป็นเสาหลักของโรงพยาบาลช้างด้วย พอมีเคสเราก็ต้องดูแลและเป็นคนที่รักษาเป็นหลัก ช่วงนี้ตี 1 ตี 2 ต้องให้น้ำเกลือยาวตลอด ถ้าว่างเมื่อไหร่ต้องหาเวลานอน

หลังๆ โบว์ไม่ได้ลงโซเชียล ยุ่งมากเลย ทุกคนชอบถามว่าทำไมหมอไม่ลงคลิปเลยช่วงนี้ หมอหาเวลานอนยังไม่ได้เลย (หัวเราะ) เนื่องด้วยเราอายุยังไม่เยอะเลยรู้สึกว่ายังไหว หลังๆ ก็เลยคุยว่าต้องมีหมอเพิ่มเพื่อไม่ให้เราหนักเกินไป”


เมื่อถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นหมอช้าง หมอโบว์ กล่าวว่า “ความใจกล้า” ต้องมาเป็นอันดับแรก

ต้องเป็นคนใจกล้า ไม่กลัวไปซะทุกอย่าง ที่นี่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็เหมือนราชการ เขาจะมีสวัสดิการอื่นให้แทน เช่น รักษาพยาบาลฟรี อาจจะต้องเป็นคนที่ไม่ซีเรียสเรื่องเงินด้วย

แล้วที่สำคัญทางครอบครัวไม่ยอมให้ลูกมาทำ ลูกชอบมากอยากเป็นหมอช้าง แต่พ่อแม่เป็นห่วงความปลอดภัย เคยสอบถามน้องฝึกงาน พ่อแม่เขาจะแบบ… ไม่เอาดีกว่า ตัวใหญ่อันตราย ทำคลินิกโดนหมากัดทำแผลแป๊บเดียวก็หาย แต่ช้างถ้าโดนทำร้ายขึ้นมา พิการ เสียชีวิต ใครจะรับผิดชอบ จะมีประมาณนี้บ่อย

ตอนที่โบว์อยากเป็นหมอม้า ตอนที่โบว์ขี่ม้า มันวิ่งเร็ว พ่อค่อนข้างจะซีเรียส พ่อกลัว ตอนนั้นพ่อไปรับกลับบ้านเลย ไม่ให้ขี่แล้ว กลัวว่าเราจะได้รับอันตราย แต่พอมาช้างโบว์ก็แปลกใจเหมือนกันทำไมไม่ห้าม ด้วยความที่ว่าพ่อเป็นคนชอบช้างอยู่แล้ว ช้างเป็นสัตว์ของไทย คู่บ้านคู่เมือง แล้วแกรักช้าง เห็นช้างไม่ได้ ชอบไปถ่ายรูป จนโบว์มาทำงานกับช้าง พ่อรู้สึกแฮปปี้ ดีใจ ไม่ห้ามเลย แต่คอยบอกตลอดว่าต้องระวังตัวนะ เซฟตัวเอง”

สะท้อนดรามา “ใช้แรงงานสัตว์”

ทั้งนี้ ในฐานะที่คลุกคลีกับช้างมานาน คุณหมอยังได้สะท้อนอีกแง่มุมของช้างไทย โดยเฉพาะเรื่องของการใช้แรงงานช้าง เธอให้ความเห็นไว้ว่า การใช้งานช้างสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม

“พูดในความเห็นของตัวเองนะคะ โบว์อยากจะบอกว่าทุกอาชีพทำได้ โบว์ไม่เคยแอนตี้อาชีพไหนเลย แต่มันต้องอยู่ในความเหมาะสม ไม่หนักจนเกินไป ช้างต้องมีอาหาร มีแหล่งน้ำให้ ไม่ใช่ทำงานอย่างเดียว ทุกอย่างทำได้แต่มันต้องอยู่ในความสมดุลของร่างกายช้างด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นแก่เงินอย่างเดียว ไม่ยอมพักช้าง ไม่ยอมให้ช้างกินน้ำ อันนี้มันก็เกินไป

ถ้าคุณจะไลฟ์สดขายผลไม้ ต้องรู้ด้วยว่าช้างกินผลไม้ได้เท่าไหร่ถึงจะไม่มีอาการท้องอืดท้องเสีย บางคนมีคนจ่ายเยอะ ซื้อของให้ช้างกินเยอะจนช้างท้องอืดมันก็เยอะเกินไป ต้องคุยให้เข้าใจว่าตัวนี้เยอะไปแล้วให้ตัวอื่นกินบ้าง แล้วก็เสริมอาหารอย่างอื่นให้เขา เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์สูง หญ้าต่างๆ ได้เหมือนกัน



พวกเดินทัวร์ อันนี้โบว์รู้สึกว่าอาชีพเดินทัวร์ไม่ได้ทรมานช้างนะคะ ยกเว้นว่า คุณเดิน 20 รอบต่อวัน มันก็หนักเกินไปช้างก็เจ็บหลัง ถ้าเดิน 5-10 รอบต่อวันก็โอเค

หรือช้างลากไม้บางทีมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่าช้างที่ยืนเฉยๆ ด้วยซ้ำ จะมีเจ้าของเลี้ยงเองกับควาญที่ไม่ใช่เจ้าของแต่โดนจ้างมาเลี้ยง เจ้าของเขาก็จะมีความรักช้าง ซื้อมาตั้งตัวละล้านกว่า ลากไม้ไม่หนักมาก มีน้ำ มีอาหารให้กินสบาย อันนี้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาลากไม้หนัก ทำงานหนักไม่รู้จักลิมิตของช้าง ทำให้ช้างอ่อนแรง เป็นลมตายได้เหมือนกัน”

หลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นหมอผู้ให้การรักษาช้างแล้ว ช้างเองก็ยังเป็นครูให้เธอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย

“ช้างเป็นสัตว์ที่น่ารัก เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างผูกพันกับเจ้าของ เลี้ยงช้างเด็กเชือกนึง พอเราโตช้างก็โต สามารถส่งช้างไปให้ลูกให้หลานเลี้ยงต่อไปได้ ช้างเป็นสัตว์ที่อายุยืน 70-80 ปี คู่กับคนไทยมานาน เขาสามารถเรียนรู้ได้ สอนให้เชื่อฟังเราได้ ชาวช้างน่ารักทั้งเจ้าของ ควาญ เขาค่อนข้างเคารพหมอ หลายเคสก็เป็นครูให้นะคะ เราได้รู้เรื่องของโรคในช้าง

เชิญชวนน้องๆ มาเป็นหมอช้างกันเยอะๆ ถ้าเป็นสัตวแพทย์อันดับแรกต้องเรียนวิทย์-คณิตเลย สายสามัญ พอจบ ม.6 มาก็สอบสัตวแพทย์ที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ ที่ยากเลยคืออดทนเรียนให้จบ 6 ปี มันจะยากนิดนึง แล้วก็ออกมาเป็นหมอช้าง”


ท้ายที่สุดนี้ อีกหนึ่งภาคส่วนที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ชาวโซเชียลที่คอยให้กำลังใจและคอยสนับสนุนคุณหมอตัวเล็กผู้นี้มาเสมอ ซึ่งหมอโบว์ยังกล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจ ที่ได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคม ที่มีต่อช้างให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

“โบว์มีทุกวันนี้ได้เพราะทุกคน ต้องขอบคุณ FC ที่มาติดตามมากๆ เลยค่ะ ทุกคนทำให้โบว์มีคนรู้จักและมีวันนี้ ดีใจที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งทำให้คนรู้จักโรงพยาบาลช้างกระบี่ มีคนมาบริจาค ถ้าช้างป่วยเมื่อไหร่ก็เอาเข้ามาได้

หรือใครอยากจะมาเยี่ยมช้างในโรงพยาบาลกระบี่ก็ได้เหมือนกัน โบว์รู้สึกว่าพอเราทำไป บางทีธุรกิจการท่องเที่ยวช้างก็เริ่มรักช้างมากขึ้น ไปเที่ยวปางช้างมากขึ้น ทำให้คนมีรายได้ ก็ดีใจค่ะ

ถ้าใครดูคลิป โบว์ไม่เคยทำคอนเทนต์ เราไม่ได้คิดคอนเทนต์ ไม่มีการเตรียมการอะไรก่อน ถ่ายเรียลเลย ทำแผลโบว์ไม่เคยหยุดให้กล้องถ่าย ช้างต้องทำแผลให้เสร็จก่อน แต่ว่าเราจะเอาคลิปมาต่อๆ กัน ทำให้ดูมีเรื่องราว

บางคนบอกว่า เมื่อก่อนไม่เคยชอบช้างเลย พอมาดูหมอแล้วชอบช้างจัง รู้สึกช้างน่ารักน่าเอ็นดู มีคนเข้ามาให้ความสนใจในช้างมากขึ้น รักช้างมากขึ้น โบว์รู้สึกดีใจตรงนี้มากๆ เลยค่ะ”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : แฟนเพจ “หมอโบว์”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น