ถึงเวลายกเลิก!? “แบกกระเป๋านักเรียนหนัก” เสียงสะท้อนจากพ่อแม่-ผู้ปกครอง หวั่นปัญหาเรื้อรัง ห่วงอันตรายสุขภาพเด็ก
...หนักเกินไปแล้ว เกินจะแบก แบกมันไว้จนเต็มบ่า...
“เด็ก ป.3 มันหนักมากนะคะ ลูกขึ้นสะพานลอย กลัวหงายหลัง เด็กสูง 125 ซม. น่ากลัวค่ะ 15 เล่มจัดตารางสอนแล้วนะคะ”
คือเสียงร้องทุกข์ของคุณแม่ท่านนึง ที่หลังไมค์ไปหาแฟนเพจวิเคราะห์ปัญหาสังคมชื่อดัง “Drama-addict” เพื่อให้โรงเรียนประถมทั้งหลาย อนุญาตให้เก็บหนังสือไว้ที่โรงเรียน
คิดดูว่าแค่เคสนี้ เด็กตัวเล็กๆ ต้องแบกจนหลังอาน กับจำนวน 15 เล่ม น้ำหนักกว่า 5 กก. แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาแสดงความรับผิดชอบ แม้แต่กระทรวงศึกษาฯ
.
หลงเหลือไว้เพียงเสียงสะท้อนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เจอปัญหาเรื้อรังแบบเดียวๆ กัน และห่วงสุขภาพลูกหลาน จนเกินเก็บเงียบได้
“ลูกสาวเรียน ป.4 กับ ป.2 ร.ร.เอกชนแห่งหนึ่งในสุราษฎร์ฯ จัดตารางเรียนทุกวัน ยังเต็มกระเป๋าหนักมาก ขึ้นสะพานลอยที เล่นเอาหมดแรง ไหล่ลู่ กลัวมีผลต่อกระดูกสันหลังในระยะยาว”
“แค่ข่าวที่เคยเห็น เด็กสะพายกระเป๋าหนัก เสียหลักล้มแล้วแขนหัก ยังสงสารเลย น้ำหนักกระเป๋าเวลาขึ้นรถเมล์ ลำบากนะ ยืนด้วย ถือของหนักด้วย”
“แก้ง่ายๆ ให้ทุกโรงเรียนมีล็อกเกอร์ของนักเรียนแต่ละคน เอาไว้เก็บหนังสือ แค่นี้ก็จบแล้ว ถ้าเด็กจะเอาเล่มไหนกลับบ้าน เพื่อไปอ่านก็เอากลับไปแค่ที่อยากเอากลับ ก็แค่นั้น ง่ายๆ”
“ควรเปลี่ยนได้แล้ว แค่สมุดจดแต่ละวิชา อุปกรณ์ และอื่นๆ ก็หนักมากแล้ว ควรมีล็อกเกอร์ให้เด็กทุกคนได้แล้วค่ะ เอาไว้ที่โรงเรียน เอากลับเฉพาะการบ้าน”
“ปัญหาเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าหนังสือหนักๆ มาโรงเรียนในแต่ละวัน ไม่ใช่แค่เพิ่งมาถกเถียงกัน แต่ยังมีให้เห็นอยู่ทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ถือว่าเป็นเรื่องอันตราย ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาจได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง มีผลต่อร่างกาย การเรียนรู้ และอันตรายต่อพัฒนาการทรงตัวในอนาคต”
ทุกความคิดเห็นไม่เกินจริง เพราะ “อธิบดีกรมการแพทย์” ก็เคยเตือนเอาไว้ว่า ปัญหานักเรียนสะพายกระเป๋าหนักเกินไป อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กได้
ตามมาตรฐานที่ปลอดภัยแล้ว เด็กควรสะพายกระเป๋านักเรียน ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เช่น ถ้าเด็กหนัก 30 กก. กระเป๋าต้องไม่เกิน 3 กก.
แต่ทุกวันนี้ แค่กระเป๋านักเรียน 1 ใบ ก็ปาเข้าไป 4-6 กก.แล้ว และยิ่งแบกนานเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงทำให้บาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย หนักถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น
โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล-ประถมต้น ที่ยังทรงตัวได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังในช่วงเติบโตและพัฒนาการการทรงตัว ไหนจะแขนขาที่ยังไม่แข็งแรงมาก ทำให้เดินลำบาก-ล้มง่าย
ส่วนเรื่องกระเป๋าส่วนใหญ่ที่เด็กใช้ จะมีอยู่ 2 แบบ คือ กระเป๋าแบบมือถือ กับกระเป๋าแบบแขวนหลัง ซึ่งให้ผลร้ายพอกัน ไม่ว่าจะใช้มือหิ้ว หรือสะพายของหนักนานๆ แต่ถ้าใช้หลังรับน้ำหนัก อาจส่งผลต่อ “แขน-ไหล่-สะบัก” ของเด็กด้วย
ข่าว : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **