ในทุก “วิกฤต” มี “โอกาส” ซ่อนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับอุปสรรคโหดหินที่ “นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ” ประจำประเทศญี่ปุ่น ได้พบเจอ ระหว่างสานสัมพันธ์ “โครงการโรงเรียนพี่น้อง” กับประเทศไทยในช่วง “วิกฤตโควิด” ที่ผ่านมา แต่กลับพบ “ทางออก” มากกว่าปัญหา พอๆ กับที่เจอ “ความประทับใจ” มากกว่าความรู้สึกเสียดายในโชคชะตา
“วิกฤตโควิด” ทำให้รู้ทริก “ปีกเครื่องบินสองข้าง”
“มันเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่าที่ผมคาดคิดไว้เสียอีกครับ” คือ คำตบท้ายบทสนทนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ จากปาก “Mr.Tsubone Shusuke” นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ (Koge Town) จ.ฟุกุโอกะ (Fukuoka) ประเทศญี่ปุ่น หลังเดินทางมาลงนามสัญญาความร่วมมือ “โครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools)” ระหว่าง โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม กับ เมืองโคเงะ ประเทศญี่ปุ่น
โดยครั้งนี้เป็น การลงนาม MOU (Memorandum of Understanding) เป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังสานสัมพันธ์-แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน จนเข้าสู่ “ปีที่ 7” แม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา จะเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสร้าย ทำให้ไม่สามารถส่งตัว “นักเรียนแลกเปลี่ยน” จากทั้งสองฝั่ง ไปเรียนรู้ชีวิตในต่างแดนได้
แต่ในทุก “วิกฤต” ย่อมมี “โอกาส” ซ่อนอยู่ และด้วยมิตรไมตรีที่แน่นแฟ้นของคนทั้งสองฟากวัฒนธรรม จึงผลักให้สิ่งที่เคยเป็น “จุดอ่อน” กลับกลายมาเป็น “จุดแข็ง” อยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะอุปสรรคเรื่องเดินทางข้ามประเทศไม่ได้ชั่วคราว ซึ่งถูกซ่อมแซมอุดช่องโหว่ ด้วยการใช้ระบบออนไลน์-เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเสริมพลัง
“ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่เป็นโจทย์หินสำหรับโครงการนี้ ตอนนี้ก็มีอุปสรรคเรื่องโควิดครับ ที่ถือเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝั่งขาดหายไปเลย แม้ว่าทางสาธิตจุฬาฯ และเมืองโคเงะ จะไม่ได้แลกเปลี่ยนเด็กในโครงการนานถึง 3 ปี
แต่ถึงอย่างนั้น เราทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมุ่งมั่นในเป้าหมายเดียวกันเหมือนเดิมครับ ว่า เราจะไม่ยอมแพ้โควิด และจะใช้วิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วย ให้เด็กๆ สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน ซึ่งถึงจะเป็นแบบออนไลน์ แต่ก็ยังช่วยเชื่อมให้เรามีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกันได้”
“ส่วนถ้าถามว่า ‘การแลกเปลี่ยนแบบพบปะเจอตัว’ กับ ‘การแลกเปลี่ยนผ่านออนไลน์’ แบบไหนดีกว่า คงเป็นเรื่องที่ตัดสินได้ยากครับ คือ ถ้าเทียบกับ ‘เครื่องบิน’ แล้ว ยังต้องมีปีกทั้งสองข้างที่เท่าๆ กัน เพื่อพยุงให้ยังบินต่อไปได้
ผมเลยมองว่า การแลกเปลี่ยนผ่านออนไลน์ก็สำคัญ เพราะข้อดีของมันคือมีความรวดเร็วครับ สามารถที่จะทำได้ทันที แต่การแลกเปลี่ยนแบบไปมาหาสู่ระหว่างกัน ก็ได้ในแง่เนื้อหาและความลึกซึ้งที่มากกว่าครับ
ดังนั้น การหยิบข้อดีของทั้งสองแบบมาใช้ คือให้มีแบบพบปะเจอหน้า และเชื่อมต่อทางออนไลน์ด้วย ก็น่าจะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ตัวโครงการไปได้ดียิ่งขึ้น”
เด็กญี่ปุ่น-เด็กไทย = จุดแข็ง-จุดอ่อนที่เสริมกันได้
เปิดหู-เปิดตา อยากให้ “กล้า” ลองผิด-ลองถูก คือ วัตถุประสงค์หลักที่นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ ตัดสินใจเริ่มต้น “โครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools)” ขึ้น โดยมีแรงผลักสำคัญจาก “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์” นักเรียนแลกเปลี่ยนไทยไปญี่ปุ่น และอดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้หนุนให้โครงการนี้เริ่มขึ้นมาได้
หลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลทุกอย่างแล้ว “Mr.Tsubone Shusuke” ก็พบ “จุดแข็ง” ของระบบการศึกษาใน “สาธิตจุฬาฯ” คือ เป็นสถาบันที่สามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ส่งต่อให้เด็กอย่างต่อเนื่องได้ ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก จนเติบโตถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโมเดลที่เจ้าตัวได้ศึกษาอย่างละเอียด และหยิบไปใช้กับโรงเรียนในเมืองโคเงะเรียบร้อยแล้ว
“ที่ผมเห็นคือ ที่นี่จะมีตั้งแต่ สาธิตประถม, สาธิตมัธยมต้น-มัธยมปลาย ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นวงจรที่ดี เหมือนตัวระบบการเรียนช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ ได้อยู่ในบรรยากาศการเรียนที่ต่อเนื่อง
ตั้งแต่เด็กเล็ก จนอายุ 20 และออกไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เพราะวงจรการเรียนรู้ของเด็กไม่ควรหยุดอยู่ที่ช่วงปีสั้นๆ แต่ควรเรียนต่อเนื่อง
อย่างตอนนี้ที่เมืองโคเงะของเรา ก็เปิดแผนกนึงขึ้นมาแล้วครับจากการเรียนรู้ระบบของสาธิตจุฬาฯ เราตั้งชื่อว่า ‘แผนกอนาคตเด็ก’ คอยทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมด้านการศึกษาของเด็กๆ ให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มากกว่าจะผลักดันโครงการสั้นๆ ครับ”
“ทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษ” คือ อีกหนึ่งจุดอ่อนของนักเรียนญี่ปุ่น ที่นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะคนนี้มองเห็น แม้ว่าที่นั่นจะมีคลาสสอนภาษาเยอะแยะมากมาย แต่ผลที่ได้กลับ คือ การที่เด็กญี่ปุ่น “ฟังไม่ออก-พูดไม่ได้”
“ถือเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างใหญ่เลยครับ เรียนมาก็จริง แต่สุดท้ายแล้วความรู้เหล่านั้นจะอยู่แต่ในหนังสือ เพราะเวลามีบทสนทนาจริงๆ ส่วนใหญ่จะฟังไม่ออก ไม่เข้าหู เลยทำให้โต้ตอบกลับไม่ได้
พอมีโครงการแบบนี้ ผมก็หวังว่าอย่างน้อยๆ เด็กๆ จะได้คุ้นเคยกับการสื่อสารภาษาอื่น ให้กล้าที่จะผิดพลาดก่อน อยากให้เขาลองก่อนครับ แม้ว่าจะพูดผิดหรือพูดถูกก็ตาม แล้วพวกเขาจะค่อยๆ เติบโตขึ้นเอง”
บันดาลใจอนาคตเด็ก-เติมเต็มชีวิตผู้ใหญ่
ในเมื่อ “มิตรภาพ” คือ สิ่งที่ยั่งยืนที่สุดสิ่งหนึ่งบนโลกใบนี้ จากมุมมองผู้บริหารเมืองโคเงะแล้ว เขาจึงให้ความสำคัญกับมันที่สุด ดังนั้น ลงนามต่อสัญญาความร่วมมือ “โครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools)” ในครั้งนี้ จึงมากกว่าผลลัพธ์เรื่อง “การแลกเปลี่ยนผ่านโครงการ” แต่คือ “ความสัมพันธ์ที่ยาวนานได้ตลอดชีวิต”
“ตอนที่เด็กๆ ของเรามาแลกเปลี่ยนที่ไทย จะมีวันนึงที่ต้องไปทัศนศึกษาที่สถานทูต หลังจากกลับมา เด็กคนนึงก็พูดขึ้นมาครับว่า อยากทำงานในกระทรวงต่างประเทศ หรือเกี่ยวกับการทูตในสถานทูตครับ ทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้น และมีความคิดที่โตขึ้น พูดถึงเรื่องอนาคต”
“และพอเด็กของเรากลับจากไทย หลายๆ คนก็ยังติดต่อกับครอบครัวคนไทย ที่เคยเป็นโฮมสเตย์ให้ และมีการนัดหมายเที่ยวกันส่วนตัวด้วย ผมเลยมองว่านี่ไม่ใช่แค่ผลที่ได้จากแลกเปลี่ยนผ่านโครงการแล้วครับ แต่ยังสานต่อมาเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างครอบครัวเองด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่าที่ผมคาดคิดไว้เสียอีกครับ
ผมมองว่า ถ้าเด็กๆ ไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศอย่างนี้ เด็กวัยรุ่นเขาก็จะไม่ค่อยสนใจเรื่องราวของประเทศอื่นกันเท่าไหร่นะครับ อาจจะอยู่แต่ในโลกของตัวเอง ไม่ได้รับรู้วัฒนธรรมภายนอก และอาจไม่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อ”
“แต่พอได้มาแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ได้เห็นความแตกต่างของกันและกัน ก็จะช่วยผลักให้เด็กรู้สึกอยากพัฒนาว่า อ๋อ..เราต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ตามสเต็ปนี้ๆ นะขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนได้ใช้เพื่อนวัยเดียวกันมาเป็นแรงผลักในชีวิต
และจริงๆ แล้ว เรื่องช่วยผลักดันมุมมองให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวเด็กๆ เองนะครับที่ได้รับ แต่กับตัวผู้ใหญ่ที่มาเข้าร่วมก็ได้ผลบวกไม่แพ้กัน
อย่างผมเองก็ได้รับรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายเยอะแยะ ไม่ใช่นั่งก้มหน้าทำแต่งานอย่างเดียว ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายเราก็หยิบเอาไปปรับใช้ในเรื่องงานได้ด้วย”
ไม่มีโชคร้าย ถ้าเตรียมตัวดี
“ความเข้าใจ” และ “การปรับตัว” คือ สิ่งที่นักเรียนฝั่งไทยใช้รับมือกับ “วิกฤตไวรัสร้าย” ที่ทำให้พลาดโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบเจอตัวกันเป็นๆ ในแดนซากุระ
และ “รศ.พัชรี วรจรัสรังสี” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ก็เชื่อว่าโอกาสแห่งการเรียนรู้ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบอุปสรรคเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเตรียมแผนรับมือเอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว
“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานแล้ว ซึ่งทั้งสองประเทศก็มีวัฒนธรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน ทำให้พวกเรามีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันเรื่อยมา
ครั้งนี้ทางโรงเรียนได้รับเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ในการร่วมลงนามทำสัญญา MOU ต่อกัน ซึ่งหมายถึงการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”
“รวมถึงกิจกรรมต่อจากนี้ ที่ทั้งสองประเทศจะพัฒนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ให้หลากหลาย ทั้งในด้านดนตรี ศิลปะ และการจัดกิจกรรมในห้องเรียนแบบออนไลน์ด้วย
หวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทั้งสองประเทศ จะบรรเทาและคลี่คลายลงในไม่ช้า เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ได้เดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น และเพิ่มเติมประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเอง
และทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น สามารถเดินทางไปได้ นักเรียนของเราก็จะไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ทางญี่ปุ่นเองก็พร้อมจะส่งนักเรียนของเขา มาเยี่ยมเยียนที่โรงเรียนของเราเหมือนกันค่ะ ซึ่งคิดว่าปีการศึกษาหน้า 2566 ทุกอย่างน่าจะกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติแล้วค่ะ”
“ส่วนเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนผ่านระบบออนไลน์แทนตอนนี้ ก็ถือว่ามีข้อดีเหมือนกันค่ะ คือ นักเรียนจะแสดงออกต่อกล้อง อัด DVD ไว้ แล้วก็ส่งคลิปมา ทางเราก็จะส่งไปให้ทางญี่ปุ่น
การอัดคลิป เด็กบางคนก็จะมีความเชี่ยวชาญ และกล้าแสดงออกต่อกล้องมากขึ้น และเราก็สามารถส่งไปได้จำนวนไม่อั้น ตามที่เราต้องการเลย
ส่วนถ้าเป็นการเรียนออนไซต์ เจอกันตัวเป็นๆ ก็จะมีข้อดีอีกแบบ คือ นักเรียนของเราได้ไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้ไปอยู่โฮมสเตย์ของเขา ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ตรงที่เด็กจะได้รับมากกว่าค่ะ
แต่เด็กๆ ก็เข้าใจค่ะว่าต้องเป็นแบบนี้ไปสักระยะ เพราะมันเป็นสถานการณ์ที่มีปัญหา แต่ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาปกติ ทุกอย่างก็พร้อมจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมแน่นอนค่ะ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่องและภาพ : อิสสริยา อาชวานันทกุล
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **