หมอนักอนุรักษ์เตือน “น้ำตกปนเปื้อนอีโคไล” เห็นน้ำใสๆ ที่แท้มาจากน้ำส้วมจากชุมชนต้นน้ำ นักท่องเที่ยวเผลอดื่ม-ใช้ไม่รู้ตัว เผย ปัญหาการจัดการน้ำ สะสมมานานแต่ไม่ได้รับการแก้ไข “ไม่ใช่เป็นหน้าที่รัฐอย่างเดียว ชุมชนต้องรับผิดชอบด้วย”
“แหล่งน้ำปนเปื้อนอีโคไล” อันตรายกว่าที่คิด!!
“จริงๆ โดยมาตรฐานมีการตรวจอยู่แล้วตามอุทยาน อย่างอินทนนท์ก็เคยเห็นรายงานวิเคราะห์ เท่าที่ผมทราบ มันไม่ได้สูงจนน่ากลัว หรือต้องปิดน้ำตก ถ้ามันเป็นน้ำมาจากป่าก็อาจจะมีขี้สัตว์ ขี้นก มันก็คงมีบ้าง แต่คงไม่เกินมาตรฐาน
แต่น้ำตกนี้มันไปผ่านชุมชมขนาดใหญ่ ปล่อยให้คนจำนวนมากไปอยู่บนยอดดอย แล้วก็ก่อปัญหา คุณอยู่บนต้นน้ำ คุณคร่อมลำธารอยู่ อยู่กันแออัด น้ำทิ้ง น้ำเสีย ก็ไม่เข้าไปจัดการ ถ้าอยู่แล้วคุณรับผิดชอบถึงผลกระทบที่จะมาสู่ปลายน้ำ แคร์ต่อส่วนรวม อันนี้ก็อาจจะดี
หรือถ้าหน่วยงานรัฐ มองว่า ชุมชนนี้เขาไม่มีกำลังในการทำเรื่องเหล่านี้ คุณก็ต้องเข้าไปช่วย ฝ่ายปกครองต่างๆ ก็น่าจะต้องเข้าไปช่วยกัน หางบประมาณอะไรก็ตาม จัดทำสุขาภิบาลให้มันถูกต้อง”
“หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์”คุณหมอนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
สืบเนื่องจากกรณีที่คุณหมอท่านนี้ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Rungsrit Kanjanavanit”ถึงการพบเชื้อแบคทีเรีย “อีโคไล” ที่เกิดจากการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลใน “น้ำตกรับเสด็จ” น้ำตกเล็กๆ บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักแวะพัก ถึงขั้นมีบางคนใช้น้ำล้างหน้าและตักขึ้นมาดื่มก็มี
ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความตกใจและนำไปสู่ความกังวล ว่า ไม่เพียงแค่น้ำตกแห่งนี้ แต่ยังรวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เป็นแหล่งน้ำ จะมีโอกาสการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลมากน้อยเพียงใด?!
ทางด้านของคุณหมอนักอนุรักษ์ กล่าวว่า หากเป็นแหล่งน้ำโดยธรรมชาติที่ไม่อยู่ใกล้ชุมชน ก็อาจจะมีบ้าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน ขณะเดียวกัน หากมีชุมชนตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำและไม่มีระบบจัดการน้ำที่ดี ก็อาจส่งผลกระทบมาถึงปลายน้ำ ดังเช่นน้ำตกรับเสด็จได้
หมอหม่อง ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เขาถูกทักท้วงเกี่ยวกับประเด็นเชื้ออีโคไล ว่า ไม่อันตราย ซึ่งคุณหมอก็ได้ยกตัวอย่างว่า จะอันตรายหรือไม่ หากอุปโภค-บริโภคน้ำ ที่มาจากส้วม ก็ลองคิดตามดู
“มีคนมาแย้งว่า อีโคไลไม่เป็นไร มันไม่อันตราย ซึ่งคำพูดนี้มันไม่ผิด เพราะอีโคไลมันเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้อยู่แล้ว มันไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การที่มีอีโคไลในน้ำ มันเป็นตัวชี้วัด สะท้อนว่าน้ำมันมีการปนเปื้อนอุจจาระ
อีโคไลมันไม่อันตรายก็จริง แต่มันมีเชื้อโรคอื่นได้ เชื้อโรคอื่นเขาไม่ได้ตรวจ มันก็จะมีเชื้อลำไส้อักเสบ salmonella shigella โปรโตซัว Giardia หรือว่าไวรัสตับอักเสบ A ฯลฯ มันก็จะมากับทางเดินอาหารทั้งสิ้น คนก็จะป่วยเพราะน้ำมันมาจากอุจจาระ ถามว่า อันตรายมั้ยกินน้ำส้วม ไม่รู้จะพูดยังไง แล้วมันดีเหรอ หรือนิยมแบบลัทธิพระบิดา”
หยุด“น้ำใส = น้ำส้วม” สุ่มตรวจ 2 ครั้ง/ปี
คุณหมอเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ยังได้สะท้อนปัญหาการปนเปื้อนเชื้ออีโคไลของน้ำตกรับเสด็จ โดยอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2560 ที่เคยมีการเก็บตัวอย่างน้ำจากน้ำตกแห่งนี้ พบเชื้ออีโคไลจากการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล สูงเกินมาตรฐานจนน่าตกใจ!!
“ปัญหามันมีอยู่มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบและชุมชนเองทำเป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่เห็นการจัดการ หรือการเปลี่ยนแปลง น้ำตกนี้มันไหลผ่านชุมชมร้อยสองร้อยหลังคาเรือนที่สูงขึ้นไปไม่กี่ร้อยเมตร มีร้านค้าเต็มไปหมด ปัญหาคือ ระบบบำบัดน้ำเสียมันไม่มี เขาทิ้งน้ำทุกอย่างจากส้วม ร้านค้า เลี้ยงสัตว์ ลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ แล้วไหลมาที่น้ำตก
ดูใสๆ ดี แต่เมื่อปี 60 มีนักศึกษาปริญญาโทจาก มช.เขาไปเก็บตัวอย่างน้ำก่อนเข้าชุมชน บริเวณชุมชน และน้ำที่น้ำตก เขาว่าตรงน้ำตกมันมีค่าโคลิฟอร์มแบคทีเรีย คือ เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่เจริญอยู่ในลำไส้ของคนของสัตว์
เวลาเขาวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ก็จะมีหลายมิติ ความใส กลิ่น ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ฯลฯ อันหนึ่งที่เขาวิเคราะห์กัน คือ การดูการปนเปื้อนของน้ำเสียจากสิ่งปฏิกูล เขาก็จะวัดอีโคไล ซึ่งเป็นแบคทีเรียขนาดเล็ก ตัวนี้ถ้าเจอคือมีปนเปื้อนแน่ๆ
จุดนี้ตอนที่เขาไปวัดมัน 92,000 โคโลนี สูงปรี๊ดเลย มาตรฐานของน้ำถ้าเราใช้ดื่ม ค่าอีโคไลมันต้องเท่ากับ 0 ถ้าเป็นน้ำใช้จะอยู่ประมาณ 120 ต่อน้ำ 100 cc. ขนาดน้ำทิ้งทั่วไปตามมาตรฐานเขาไม่ให้เกิน 10,000
ในช่วงหลังมีคนเดินขึ้นดอย วิ่งขึ้นดอย ออกกำลังกาย ขี่จักรยานขึ้นดอย นิยมกันมากครับ พอไปถึงจุดนั้นเขาก็มักจะเหนื่อย เห็นน้ำตกน่ารักๆ ก็จะไปเล่น ไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น บางคนก็ตักมาดื่ม ผมก็บอกตายๆ เขาไม่รู้กัน”
ในส่วนของความคืบหน้าของกรณีนี้ ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย Doi Suthep-Pui National Park” ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า จากกรณที่มีผู้นำข้อมูลคุณภาพน้ำห้วยผาลาด ที่เคยมีการตรวจวัดในอดีตมาเผยแพร่เป็นข่าว อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับสาธารณชน
และน้ำตกรับเสด็จ เป็นเพียงลำน้ำที่ไหลผ่านข้างทางสัญจร ไม่ได้ถูกใช้เป็นแหล่งนันทนาการ ซึ่งอุทยานฯได้มีแผนงานในการตรวจวัด สำรวจคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่จัดเป็นแหล่งนันทนาการปีละ 2 ครั้ง
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เทศบาลตำบลสุเทพ และหน่วยงานด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ในลำห้วยห้วยผาลาด 3 จุด ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ น้ำตก ปปป. กลางน้ำ คือ น้ำตกรับเสด็จ และปลายน้ำ คือ บริเวณสะพานวัดผาลาด เพื่อนำมาตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกครั้ง คาดว่า จะทราบผลภายใน 7 วัน
ทางด้าน หมอหม่อง ได้ให้ความเห็นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำจากน้ำตกที่กำลังเป็นประเด็น ว่า ในเมื่อมาเก็บตัวอย่างน้ำในน้ำตกหลังจากฝนตก ก็อาจจะเป็นการไปตรวจน้ำฝนเสียมากกว่า
“ไปเก็บหลังฝนตกที่เขาทำกัน มันก็กลายเป็นสำรวจคุณภาพน้ำฝน ก็คงมีปนเปื้อน แต่ตัวเลขมันก็คงไม่สูงขนาดนั้น จริงๆ ผมแค่จะเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ดื่ม ไม่ให้ใช้น้ำตรงนี้ แต่พอข่าวมันออกไปก็กลายเป็นว่า พยายามดิสเครดิตว่ามันไม่สำคัญ อีโคไลมันไม่อันตรายหรอก นี่มันงานวิจัยปริญญาโท ผมรู้สึกว่าทำไมต้องพยายามบอกว่ามันไม่มีปัญหา
ทำไมไม่คุยกับชุมชน ไม่วางแผนกันว่าจะตั้งเป้ายังไง จะแก้ปัญหายังไงจะดีกว่าไหม เขามีหน้าที่ในการดูแลเรื่องมลพิษ ก็น่าจะดีใจที่มีคนบอกว่าน้ำมีปัญหา คุณก็เข้าไปจัดการ อันนี้คือเข้าไปแล้วไปเก็บตัวอย่างน้ำหลังฝนตก เดี๋ยวผลวิเคราะห์ออกแล้วเขาจะพูดว่ายังไง ผมก็รอฟัง”
ทั้งนี้ แพทย์นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนที่อยู่ต้นน้ำทุกแห่ง ต้องมีการวางแผนการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน พร้อมฝากถึงประชาชนทั่วไป หากเจอแหล่งน้ำที่แม้จะมองดูใส แต่ก็ไม่ควรใช้โดยพลการ เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้ออันตรายที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเขาคงจะรู้ มันมีชุมชนขนาดนี้อยู่ คงจะต้องเฝ้าระวัง มีการติดตามเป็นระยะ มันน่าจะมีแผนชัดเจนในการตรวจสอบพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำเสียน้ำเน่าแบบนี้
ผมไม่รู้รายละเอียดของแผนเป็นยังไง แต่เขาคงมีของเขา ต้องติดตามและเข้าไปวางแผนแก้ไขร่วมกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่รัฐอย่างเดียว ชุมชนต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นคนก่อปัญหา ก็ต้องทั้ง 2 ฝ่าย
ประชาชนก็คงต้องพยายามดูว่าลำห้วยนั้น ผ่านชุมชนมั้ย จริงๆ ลำห้วยลำธารในป่า ถ้าไม่ได้ผ่านชุมชนเลย มันก็กินได้ แต่ว่าก็ไม่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องต้มก่อนเสมอถ้าจะใช้บริโภค แต่น้ำใช้เฉยๆ ก็คงดูแล้วกันว่าถ้าผ่านชุมชนขนาดใหญ่ก่อนก็ให้ระวังแล้วกัน เราอาจจะไม่ได้ดื่ม เราไปใช้ชะล้างกระเด็นเข้าปากเข้าจมูก บางทีมันก็เกิดได้”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **