จวกสนั่นเทรนด์ฮิต!! พ่อแม่ปิดประตูแกล้งลูกน้อยให้อยู่กับเอฟเฟกต์ผี ภาพและเสียงสุดหลอน ด้านหมอเด็กเผย สร้างบาดแผลในใจเด็กอย่างตั้งใจ!!
เทรนด์ไม่สร้างสรรค์!! เอาความกลัวลูกแลกยอดวิว
“ความสนุกของพ่อแม่ แต่ทำให้เด็กเกิดความหวาดวิตกกังวล เครียด เด็กบางคนจิตใจเข้มแข็งก็จริง แต่เราต้องเข้าใจว่า เด็กไม่ได้มีแต่แบบนั้น มีทั้งเด็กที่อ่อนไหวง่าย ภาพพวกนี้จะกลายเป็นภาพจำ มันจะทำให้เกิดอาการฝันร้าย นอนหลับไม่ลง
คำถามก็คือว่า แล้วพ่อแม่เอาความสนุกแบบนี้ไว้ทำอะไร ในขณะที่ลูกเกิดบาดแผลในใจขึ้น ลูกเกิดฝังใจหรือลูกกลายเป็นโรคกลัวความมืดไปเลย เพื่ออะไร หมอยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ต้องดูแลลูกให้ได้รับความรัก ความอบอุ่น และไว้วางใจ ไม่ใช่กลายเป็นความหวาดผวา หวาดวิตก”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เจ้าของแฟนเพจ “บันทึกหมอเดว” ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live สืบเนื่องจากกรณีที่ TikTok ในขณะนี้มีเทรนด์การเล่นเอฟเฟกต์ Haunted TikTok เอฟเฟกต์ผีพร้อมเสียงหัวเราะสุดหลอน ที่นิยมเล่นกันทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สมาชิก TikTok ชาวไทย
สำหรับคลิปวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลนั้น มียอดกดหัวใจ 2.3 ล้านครั้ง และยอดเข้าชมกว่า 22.8 ล้านวิว ปรากฏภาพพ่อแม่คู่หนึ่งตั้งกล้องโทรศัพท์มือถือและเปิดเอฟเฟกต์ดังกล่าวไว้ จากนั้นได้แกล้งปิดประตู ปิดไฟ และปล่อยลูกน้อยไว้คนเดียว หลังจากที่เด็กเห็นเอฟเฟกต์ผี ก็ร้องไห้อย่างเสียขวัญ และพยายามเปิดประตูออกไปด้านนอก
ทันทีที่คลิปนี้ถูกเผยแพร่ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ตำหนิการกระทำของพ่อแม่ที่คิดถึงแต่ความสนุกแต่ฝ่ายตนเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกน้อยเลย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กุมารแพทย์ด้านเด็กชื่อดัง ก็กล่าวต่อว่า การกระทำของผู้ปกครองในลักษณะนี้ อาจส่งผลถึงสภาพจิตใจของลูกในระยะยาวได้
“บันไดการพัฒนาพื้นฐานของมนุษย์ตาม อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงวัย มีปัจจัย 4 ได้แก่ บ้าน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
แต่บันไดขั้นที่ 2 Sense of Security ความหมายคือ ทำให้เขามีความรู้สึกว่าบ้านนี้ปลอดภัย ไม่ใช่บ้านผีสิง แล้วตอนนี้พ่อแม่เล่นกับประเด็น Sense of Security บ้านกลายเป็นที่ไม่ปลอดภัย นี่คือ พ่อแม่รังแกฉันแท้ๆ ต่อให้เป็นวิธีการทำโทษก็อย่าไปทำ การเอาเด็กไปขังในห้องแล้วบอกว่าเงียบเมื่อไหร่แล้วจะเปิดให้ ผิดหลักจิตวิทยา ทำไม่ได้ครับ
เขาเรียกว่า เกิดความแพนิกขึ้นมา มันคือชั่วชีวิต เคยเห็นไหมบางคนกลัวแมลงสาบ กลัวจิ้งจก กลัวความสูง กลัวยันโตเลยนะ แล้วถ้าอันนี้มันเกิดขึ้นจากฝีมือพ่อแม่สร้างขึ้นมา เอาความสนุกของตนเอง แต่เกิดบาดแผลในใจลูก”
ทั้งนี้ ผู้เป็นแม่เจ้าของคลิปไวรัล ได้ออกมาอัปเดตหลังจากที่ถูกชาว TikTok ถล่มคอมเมนต์ ในทำนองว่า แต่ละบ้านมีวิธีการเลี้ยงไม่เหมือนกัน และลูกของเธอก็สบายดี
[ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ]
“หมอต้องถามนิดนึง หัวใจของพ่อแม่ทำด้วยอะไร วิธีเลี้ยงลูกต่างกัน รู้มั้ยว่าลูกเองก็ต่างกัน อย่าลืมว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาว ต้องถามใจพ่อแม่ในการทดลองทำแบบนี้ ยอมลงทุนกันขนาดนั้นเลยใช่มั้ย ทำแล้วปรากฏว่ากลายเป็นบาดแผลในใจลูก กลายเป็นความหวาดผวาไปเลย มันได้คุ้มเสียไหมกับความสนุกของพ่อแม่
อีกประเด็นหนึ่ง เด็กวัยที่เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ดีเท่าไหร่นัก มันมีพัฒนาการเรียกว่า Separation Anxiety คือ วิตกกังวลความพลัดพราก อยู่ในระยะ 6 เดือน ถึง 3 ปี สังเกตดู ถ้าเล่นแบบนี้กับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เขาไม่ได้สนใจหรอก
แต่ถ้าเกิน 6 เดือน ถึง 3 ปี พัฒนาการของเขาถึงแล้ว แล้วพ่อแม่จะรังแกพัฒนาการของลูก เพียงเพื่อทดสอบสภาวะทางจิตใจเพื่ออะไร มันอาจจะไปทำให้ Separation Anxiety มันกลายเป็นภาวะผิดปกติไปเลย แทนที่มันจะหายที่อายุ 3 ขวบ
พูดง่ายๆ เวลาเราส่งลูกไปที่โรงเรียนอนุบาล ช่วงอาทิตย์แรก เขาก็จะร้องไห้ ติดพ่อแม่ แต่พออยู่ไปอีกสัปดาห์ เขามีความรู้สึกไว้วางใจ ไม่วิตกกังวลต่อความพลัดพราก นี่พ่อแม่กำลังทำให้ภาวะนี้ยังคงอยู่ สร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นเพื่ออะไร เพื่อความสนุกของพ่อแม่หรือทดสอบจิตใจความเข้มแข็งของเด็ก ลูกอาจจะเกลียดและกลัวความมืดไปเลยทั้งชีวิตของเขาก็ได้”
คอนเทนต์แกล้งลูก = ละเมิดสิทธิเด็ก !?!
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการที่พ่อแม่นำลูกมาสร้างคอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์บนโลกออนไลน์ หากแต่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ราวกับว่าที่เหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ไม่ได้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ
ทีมข่าวขอยกตัวอย่างคลิปวิดีโอที่เคยเป็นไวรัลในไทยช่วงต้นปี 60 เนื้อหาของคลิป คือ เด็กชายคนหนึ่งกำลังตั้งกล้องถ่ายตนเอง พร้อมพูดกับผู้เป็นแม่ที่กำลังรีดผ้าอยู่ด้านหลัง ในทำนองที่ว่า พ่อพาตนไปเที่ยวงานวันเด็ก แม่ใหม่ใจดีมาก ตามใจทุกอย่าง เมื่อแม่ได้ยินดังนั้นก็ยกเท้าถีบสามี ส่วนเด็กชายก็หันมาหัวเราะใส่กล้อง ในเวลานั้นคลิปนี้ผู้เข้าชมถึง 7 ล้านครั้ง
ทางด้านของผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า พฤติกรรมไม่เหมาะสมในบ้าน เป็นภาพจำที่ชัดเจนยิ่งกว่าสื่อสาธารณะมาก
“พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย ท่านบอกว่า ลูกดูสื่อ สื่อไม่ดี แต่แสบกว่าสื่อไม่สร้างสรรค์คือ สิ่งที่พ่อแม่ทำให้ดูเองในบ้าน มันฝังใจเด็กได้ง่ายกว่า เพราะเขาเห็นคาตาในสังคมของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ต้องกลับมาถามใจพ่อแม่ว่าตกลงท่านอยากสอนลูกให้เป็นแบบไหนกันแน่
ในอีกมุมนึง หมอกลับคิดว่า มันอาจจะไปละเมิดสิทธิเด็ก แล้วก็ไปละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก หมอก็ยังไม่เข้าใจว่า พ่อแม่จะทำอย่างนี้เพื่ออะไร เพราะว่าโดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องให้ลูกหลานตัวเองอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครอง การกระทำใดๆ ที่นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่ไปละเมิดสิทธิเด็ก โดยที่ทำให้เกิดความหวาดวิตก หรือความหวาดผวา ต้องบอกว่า นั่นคือ การผิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของพ่อแม่เลย
พ่อแม่บางคนเอาเรื่องดีๆ ของลูกไปลงในเฟซบุ๊ก หมอจำได้ว่า หมอก็เคยวิพากษ์ว่า เวลาเอาลงขออนุญาตลูกหน่อยก็จะดีมาก ทีนี้พ่อแม่หลายคนก็จะมองว่า ลูกยังเล็กอยู่เ ขายังไม่ประสีประสา จำเป็นต้องขออนุญาตไหม ท่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการลง ว่า ลงแล้วลูกปลอดภัย แล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้นต้องถามเขาอีกทีว่า ภาพแบบนี้อยากจะให้อยู่ไหม หรือจะให้พ่อลบทิ้ง ถ้าเขาให้ลบทิ้ง ท่านต้องตามไปลบนะ”
สุดท้าย คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ได้ฝากย้ำผู้ปกครองว่า ไม่ควรเอาความสนุกส่วนตนเป็นที่ตั้ง ควรให้ความสำคัญถึงการปลูกฝังพลังบวกให้แก่บุตรหลาน เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เติบโตขึ้นมา โดยมีพลังบวกเป็นเกราะป้องกันจิตใจ
“ประเด็นสำคัญคือ ช่วยกันใส่ประจุบวก การที่ใส่พลังบวกให้กับลูก ลูกจะเติบโตขึ้นมากลายเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก โลกก็จะโสภา เวลาที่เขาเจอวิกฤตปัญหา ก็จะไม่กลายเป็นภาวะซึมเศร้าเพราะเขามีพลังบวกสะสมมา แต่ถ้าพ่อแม่เองใส่ประจุลบ และทำให้มีความรู้สึกหวาดวิตกได้ตลอดเวลา เติบโตขึ้นมา เขาก็จะเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่โสภา โลกนี้น่าหวาดกลัว
เรากำลังสร้างลูกของเราไปในทิศทางไหน พ่อแม่ต้องช่วยกันเลือกหน่อย แล้วอย่าลืม ท่านมีลูก หัวใจของจิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ คือ ใส่พลังบวก และให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เอาความสนุกของตัวเองเป็นตัวตั้งครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **