xs
xsm
sm
md
lg

เจาะหลังเลนส์ “แม่ค้าออนไลน์สุดฮอต” ถ่ายภาพกว่า 4,000 แบรนด์ ได้หลักแสนต่อเดือน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจสาวเก่งวัย 27 ปี แม่ค้าออนไลน์วุฒิ ม.6 ต่อยอดอาชีพจากความชอบ “รับถ่ายภาพสินค้า” เพียง 2 ปีมีผลงานผ่านมือแล้วกว่า 4,000 แบรนด์ สร้างรายได้เพิ่มหลายแสนต่อเดือน เผยคิดจะลุยตลาดออนไลน์ ต้องปรับตัวให้โลกทันทุกแพลตฟอร์ม!!

“Aumza Studio” รับทรัพย์ 6 หลักต่อเดือน

“จริงๆ อุ้มไม่ถึงขั้นช่างภาพ เพราะตั้งแต่แรกอุ้มก็ไม่ได้เก่ง ที่เราถ่ายเล่นๆ มา มันคนละแบบกัน เราไม่ได้ซีเรียสถึงขั้นนี้ อันนี้เรารับถ่ายภาพ พอมันถ่ายทุกวันๆๆ เหมือนสะสมประสบการณ์ ตอนนี้งานมันเลยง่ายขึ้น ถ่ายงานเร็วขึ้น น่าจะเป็นความมีวินัยในการฝึกฝน

เราตั้งใจให้คนที่ใช้ภาพเราฟีลเขาถ่ายเอง ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด ยังคุยกับพี่สาว ว่า เราอาจจะไม่ได้ถ่ายสวยที่สุด หรือเป็นช่างภาพเก่งที่สุด แต่ภาพที่เราถ่าย ลูกค้าซื้อ พี่สาวบอกมันก็จบแล้ว

เราก็ต้องดูแล้วว่าคนที่มาจ้าง เขาต้องกลุ่มลูกค้าอายุเท่าไหร่ สมมติต้องการกลุ่มลูกค้าเด็กๆ ก็จะเลือกธีมน่ารักๆ แต่ถ้าแบรนด์ไหนโตหน่อยเป็นเครื่องสำอาง ต้องถ่ายสไตล์หรูๆ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ ค่ะ (4,000 กว่างาน) ตั้งแต่เริ่มรับมาเลย เป็นแบรนด์และเป็นงานด้วย แต่หลักๆ จะเป็นสกินแคร์และอาหารเสริมค่ะ”



“อุ้ม - พรสวรรค์ ภูเรียนคู่” สาวอายุ 27 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live จากชีวิตแม่ค้าออนไลน์ที่หันหลังให้รั้วการศึกษาตั้งแต่เรียนจบมัธยมปลาย ด้วยความชอบถ่ายภาพเป็นทุนเดิม และมองเห็นโอกาสในการทำเงิน กลายเป็นอาชีพใหม่ คือ การรับถ่ายภาพสินค้าและเปิดคอร์สสอนถ่ายภาพ ในชื่อ “Aumza Studio” ที่สร้างรายได้ให้เธอถึงหลักแสนต่อเดือน!!

“ย้อนกลับไปช่วงประมาณ ก.พ. 63 ที่โควิดกำลังจะมา เราเริ่มเห็นแล้วว่าพ่อค้าแม่ค้ามาขายสินค้าเยอะขึ้น คนในหมู่บ้านขายกันเยอะ ช่วงโควิดคือว่างจริงๆ เฟซบุ๊กก็จะตาย ไอจีก็ยังไม่ติด ก็เลยหาอะไรทำค่ะ

เราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว แล้วเราอยากหาอะไรกินด้วย (หัวเราะ) ก็เลยเปิดรับถ่ายภาพสินค้าฟรี คุณส่งมาถ่ายเสร็จเราจะกินนะ เขาก็ส่งมากัน มีกวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวทุเรียน ขนมจีบ ขนมเปี๊ยะ ทุเรียนทอด รับถ่ายให้คนละ 20-30 รูป ลงทุนซื้อพร็อบ ที่ใส่ตะเกียบ ถ้วย จาน มาถ่ายให้เขาฟรีด้วย





[ รับถ่ายภาพอาหารฟรีช่วงโควิด ]
ตอนนั้นถ่ายฟรีเสร็จก็มีผลงาน ก็มีน้องทักมาว่า ‘หนูชอบผลงานพี่นะ พี่รับถ่ายภาพมั้ย’ เราก็เอ๊ะ ไม่เคยมีใครที่ทักมาขอว่าอุ้มถ่ายภาพให้หน่อยเลย เราก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสแล้วแหละ ที่เราทำทุกวัน ที่เราชอบจะเกิดรายได้

ก็เอามาโพสต์ไอจีว่าอุ้มจะเปิดรับถ่ายภาพนะ มีใครสนใจมั้ย กลายเป็นว่ามีคนเยอะมากที่กำลังสนใจอยู่ เดือนแรกที่ติดต่อมาก็ได้ประมาณ 70-80 คิวค่ะ ทำมา 2 ปี ตั้งแต่ช่วง มิ.ย. 63 ยาวจนมาตอนนี้เลยค่ะ ตอนนี้คิวยาวไปถึงช่วง ก.ย.

รายได้ที่เคยได้มากสุดน่าจะเป็นช่วงเดือน ม.ค.คือ ได้เกือบ 800,000 บาท ปัจจุบันรายได้ที่สม่ำเสมอประมาณ 500,000-600,000 ต่อเดือน รวมทั้ง 2 อย่าง คือ รับถ่ายภาพและเป็นคอร์สค่ะ”

เมื่อมองไปรอบๆ สตูดิโอถ่ายภาพของเธอ ก็จะพบกับอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือพร็อบเป็นจำนวนมาก ทั้งประเภทที่ใช้วางตกแต่งและเป็นภาชนะ โดยเธอให้เหตุผลว่า ที่ต้องมีพร็อบมากมายขนาดนี้ เพื่อให้สอดรับกับสินค้าที่ว่าจ้างให้มากที่สุด

“เรารู้สึกว่าพอถ่ายไปแล้ว ลูกค้าบางคนไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว มาแล้วได้พร็อบเซตนี้เขาโอเค แต่ถ้ารอบหน้าเขามาอีก เขายังได้พร็อบเซตนี้อีก อุ้มมองว่า ลูกค้าน่าจะไม่โอเค มันเหมือนเราได้เงินมา แต่เราก็ต้องลงทุนออกไปบ้าง ก็เลยมีการหมุนเวียนพร็อบอยู่ตลอด เรารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนให้เขานะ ต้องลงทุนให้เขานะ อย่างน้อยมันได้เงินมาก็ต้องหมุนเวียนกัน



ในช่วงเริ่มต้นมี 10-20 ชิ้น ก็ได้ค่ะ มันจะได้เหมาะกับประเภทสินค้า จริงๆ ที่มีหลายอัน คือ ซื้อสะสมมา 2 ปี เพิ่งเคลียร์ออกไป แต่ถามว่าต้องมีเยอะมากๆ มั้ย ไม่จำเป็นค่ะ อย่างน้อยมี display Box จานหวาย จานไม้ หนังสือปลอม หนังสือที่เปิดได้ เซรามิก ตะกร้า อะคริลิก ถาดใส ได้ใช้หมดเลย ให้โชว์เนื้อ โชว์ผลิตภัณฑ์

เพื่อให้พร็อบทุกอย่างมันเล่าตัวสินค้าได้ชัดเจน สมมติสบู่ต้องคู่กับพร็อบอะไร เราล้างหน้าเสร็จ ก็ต้องใช้ผ้าขนหนูหรือกระดาษทิชชูมาซับหน้า เลือกว่าสบู่น่าจะเหมาะกับที่รอง หรือตะกร้า เหมือนเล่าเรื่องว่าเราอยู่ในห้องน้ำ

เคยผิดพลาดถึงขั้นว่าเอาสบู่ไปวางข้างๆ เค้ก เรารู้สึกว่าเค้กมันน่ารัก ส่งให้ครูคอมเมนต์ เค้กมันเกี่ยวอะไรกับสบู่ล้างหน้า มันกินได้ด้วยกันเหรอ เอาไปวางไว้ขอนไม้ ผิดพลาดมาเยอะค่ะ บางทีมันไม่ได้เล่าเรื่อ งหรือไม่ได้แมชกันเลย”



นอกเหนือจากการรับถ่ายภาพแล้ว อุ้มยังต่อยอดมาสู่การเปิดคอร์สถ่ายภาพ โดยมีเนื้อหาการสอนตั้งแต่ครอบคลุมเรื่องกล้องและการถ่ายภาพ อีกทั้งประสบการณ์จากการเป็นแม่ค้าออนไลน์นับ 10 ปี ก็ทำให้เธอได้นำเทคนิคการทำการตลาดออนไลน์มาใช้สอนคนที่สนใจได้อีกด้วย

“กลายเป็นว่า ถ่ายมาได้ 1 ปี ก็มีเสียงเข้ามาอยากให้สอน เรารู้สึกว่างานยังต้องไปต่อ ก็เลยเปิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ได้ประมาณ 5 ครั้ง ตอนนั้นโควิดมาแรงเลย ก็เลยงดการเจอกัน เปลี่ยนมาเปิดเป็นออนไลน์

เนื้อหาการสอนก็จะเป็นของกล้องใหญ่ การตั้งค่ากล้องใหญ่ เทคนิคการจัดไฟ การหาพร็อบ การจัดการบริหารร้านตั้งแต่เราเริ่มต้น การเลือกกล้อง การเลือกเลนส์ จนไปถึงการเปิดหน้าร้าน บางคนถ่ายเป็นอยู่แล้วแต่ไม่รู้จะหาลูกค้ายังไง จัดการร้านยังไง เขาก็มาเรียนเพราะเราสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนเปิดร้านได้เลย

ลูกค้าก็เป็นครูให้เราได้เหมือนกัน ประสบการณ์เรื่องความผิดพลาดด้วย บางทีถ่ายภาพไปแบบนี้ลูกค้าก็ไม่โอเค ตอนนั้นเราตั้งค่ากล้องไม่เป็นขอบสินค้ามันละลายเกินไป พอรอบ 2 ที่เขากลับมาจ้างซ้ำ เขาบอกขอขอบสินค้าไม่หายนะคะ เรารู้แล้วว่ามันละลายเกินไปเพราะอะไร สุดท้ายมาแก้ไข น้องเขาก็โอเค”

บอกลารั้วมหา’ลัย สู่แม่ค้าออนไลน์ 100 โพสต์ต่อวัน

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก่อนที่เธอจะมารับงานถ่ายภาพสินค้านั้น พื้นเพอุ้มเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม ที่ทำงานหาเงินมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ก่อนที่จะหันหลังให้กับการศึกษาในระบบ เพื่อมาเป็นแม่ค้าออนไลน์เต็มตัว

“ย้อนกลับไปประมาณช่วง ม.4-ม.5 ชอบซื้อของกระจุกกระจิก พ่อแม่ทำนา ไม่ได้ลำบาก แต่ก็ไม่ได้มีถึงขั้นอยากได้อะไรแล้วแม่ให้เลย ด้วยความที่เราก็รู้สึกว่าเราอยากสบาย เราอยากมีนั่นมีนี่เหมือนเห็นใครมีอะไรสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้คิดไม่ดีว่าจะอิจฉา เราอยากทำมันขึ้นมาได้เอง อยากมีรายได้เอง

ตอนนั้นเริ่มจากการขายสบู่ล้างหน้า สกินแคร์แบบไม่สต๊อกสินค้า พอมีออเดอร์ก็ส่งออเดอร์ให้เจ้าของแบรนด์ ขายมาจนช่วง ม.5-ม.6 ก็เริ่มมีทุนมากขึ้น มีการสต๊อก ตอนแรกๆ ได้กำไรเดือนละ 2,000-3,000 พอได้เงินมาก็พาแม่ไปชอปปิ้ง บริหารเงินไม่เป็น สุดท้ายเงินหมด ขอเงินต้นทุนกับแม่ใหม่ พอเริ่มจะจริงจังเราได้เรียนรู้ บริหารเป็นก็เก็บเงินได้ระยะยาวเลย

ก็ตัดสินใจเรียนต่อนิติศาสตร์ เพราะว่าอยากที่จะทันคน อยากรู้กฎหมายค่ะ แต่สุดท้ายพอไปเรียนจริงๆ เราจำอะไรไม่ได้ค่ะ เราไม่ได้หัวการจำ รู้สึกว่าเราเลือดแม่ค้า สุดท้ายเรียนได้ 1 ปี ก็เลยออกมา”



ถามถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้ ว่า เหตุใดครอบครัวจึงอนุญาตให้เธอออกจากรั้วมหาวิทยาลัยกลางคัน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าค่านิยมของครอบครัวไทยส่วนมาก ที่มักจะตั้งความหวังต้องให้ลูกจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย

“ช่วงก่อนที่ออกมามันมีจุดที่ตัดสินใจว่าเราไม่ขอเงินพ่อแม่แล้วนะ เราเลี้ยงดูตัวเองได้ เราขายของตลาดนัดและขายในออนไลน์ด้วย รู้สึกว่าพ่อแม่น่าจะมั่นใจแล้วว่าเราจะทำตรงนี้ได้ ก็เลยขอเขาว่าไม่เรียนต่อนะ เขาก็อนุญาตค่ะ

เรื่องใหญ่ค่ะแต่ว่าโชคดี ตอนนั้นพ่อแม่ก็หนัก พี่ชายอยู่ปี 4 เราอยู่ปี 1 ส่งพร้อมกัน เพราะว่าไม่ได้กู้เรียนทั้ง 2 คน ต้องรอให้ขายข้าวก่อน พอเราเข้าปี 1 ก็รายจ่ายเยอะ ซื้อเสื้อผ้าค่าเทอม พี่ชายอยู่ปี 4 กำลังจะจบก็หนัก พอเราว่าเราจะไม่เรียนต่อปี 1 เขาก็แล้วแต่การตัดสินใจของเรา ค่อยกลับมาเรียนใหม่ สุดท้ายก็ยาวจนถึงวันนี้ค่ะ (หัวเราะ)

กลัวเหมือนกันค่ะแต่ก็คิดว่ามันต้องไปต่อได้ มันเป็นยุคที่เริ่มด้วย ถ้าตัวนี้ไม่ได้ก็เปลี่ยนสินค้าเป็นตัวใหม่ ตัวไหนขายดีจะไปต่อ แต่ก็ยังมีสินค้าที่ปัจจุบันยังขายได้อยู่คือสบู่ล้างหน้า พอเป็นแม่ทีม ภาพที่แบรนด์มีให้ก็ไม่เยอะ เราอยากมีภาพที่ไม่ซ้ำกับคนอื่นก็เลยถ่ายรูปด้วยตัวเองใช้เอง พอมีทีมเราได้ถ่ายรูปซัพพอร์ตเราก็ได้แจกทีมเรา ทำให้มีคนรู้จักเราผ่านผลงานค่ะ


[ กล้องตัวแรกที่ใช้ถ่ายภาพส่งให้ทีม ]
ตอนนั้นที่เริ่มถ่ายรูปไว้ใช้เองเริ่มมาจากกล้องฟรุ้งฟริ้งก่อน ตอนนั้นไม่ได้ถ่ายสวยหรืออินขนาดนั้น แต่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ตัวแทน พอเอาไปถ่ายสินค้ามันติดสีชมพู สินค้าเราคือสีส้มถ่ายมาสีเพี้ยนก็ยังใช้ไป แล้วตอนนั้น Sony A5100 กำลังออกมา ต้องมีแล้วแหละ ก็เลยตัดสินใจซื้อกล้อง Mirrorless ตัวแรก ใช้มาได้ 4-5 ปี คุ้มมากค่ะ”

หลังจากที่ตัดสินใจออกมาเผชิญโลกการทำงานอย่างเต็มตัว ถือได้ว่าช่วงนั้นเป็นยุคแรกๆ ของการเกิดขึ้นมาของเฟซบุ๊กและบุกตลาดออนไลน์ ด้วยความที่ตนเองยังไม่มีความรู้ตรงนี้ อุ้มถึงขั้นที่ว่าโพสต์ขายของบนเฟซบุ๊กถึงวันละ 100 โพสต์เลยทีเดียว!!

“จะบอกว่ารายได้มันไม่มั่นคงแหละเพราะมันไม่ใช่เป็นเงินเดือนหรือบริษัท แต่ว่าพอเราทำเองเราจะรู้ว่าถ้ามันแผ่วเราจะรู้ว่าต้องเพิ่มการตลาดตรงไหน ต้องโพสต์ตรงนี้เพิ่มนะ มันเหมือนให้เราฝึกการบริหารตนเอง บริหารธุรกิจไปในตัวค่ะ

วันไหนที่ไม่มีออเดอร์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึง 100 โพสต์ เราอยากขายได้ ไม่รู้ต้องทำยังไงแล้ว เรารู้สึกว่ายิ่งเงียบมันต้องยิ่งแอกทีฟ ใช้ทั้งรูปภาพ ทั้งภาพของแบรนด์ ภาพการส่งของ ภาพตัวเอง ทุกอย่างรวมกันประมาณ 100 โพสต์ต่อวัน

ก็มีคนบอก ‘จะโพสต์เยอะอะไรขนาดนั้น’ บางคนก็มีคำถาม โพสต์เยอะๆ แล้วมันจะไม่ปิดกั้นการมองเห็นหนักกว่าเดิมเหรอ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คนก็กดไลก์น้อยลงแต่เรารู้สึกว่าสบายใจที่ได้ทำ โพสต์ไปเลยให้คนเห็น กลายเป็นว่าเจ้าของแบรนด์ก็จำได้ คนในเฟซบุ๊กอย่างน้อยก็จำความขยันเราได้ สุดท้ายเอ็นดูก็มาอุดหนุนกัน ถือว่าตั้งตัวได้จากเฟซบุ๊กเลย”

ตามให้ทันทุกแพลตฟอร์มโซเชียลฯ

ตลอดหลายปีที่ขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กนั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตของหญิงสาววัย 20 กว่าๆ อย่างเธอให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ แต่เมื่อเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีแอปพลิเคชันอื่นตีคู่กันมามากมาย ประกอบกับการปิดกั้นการโพสต์ของเฟซบุ๊กที่มีมากขึ้น ทำให้เธอต้องโยกย้ายสถานที่ทำงาน จนมาได้อาชีพใหม่จาก “อินสตาแกรม”

“ถือว่าตั้งตัวได้จากเฟซบุ๊กเลย สมัยนั้นก็ยิงแอดไม่เป็น คิดว่าเริ่มจากส่วนตัวน่าจะประหยัดงบและเริ่มต้นได้ง่ายกว่าค่ะ ก็เลยไม่ได้ใช้แฟนเพจ แต่ช่วงหลังๆ เขาปิดกั้นการมองเห็น สมมติเราพิมพ์ ลูกค้า โพสต์ไปปุ๊บมันจะมีการแจ้งเตือนขึ้นมาว่า โพสต์นี้คุณขายสินค้าใช่มั้ย ถ้าเราตกลงว่าขาย จะเป็นลิงก์ให้กดเข้าอินบ็อกซ์เรา ก็ต้องมากด ไม่ สุดท้ายก็โดนปิดกั้น กลายเป็นว่าถ้าเราจะโพสต์คำว่า ลูกค้า ซื้อ ขาย ขาวใส ต้องเคาะ (เว้นวรรค) ทุกคำ

อุ้มทำการตลาดบนเฟซบุ๊กอย่างเดียว ตอนที่โควิดมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าเฟซบุ๊กมันเงียบ มันลำบากแล้วไปหาที่อื่นดีกว่า ก็เลยย้ายถิ่นฐานมาที่ไอจีค่ะ ตอนนั้นยอดฟอลอยู่ที่ 1,500 คน ลงภาพวันนึง 6-9 ภาพ เพื่อดันฟีดเหมือนตอนที่ทำกับเฟซบุ๊กที่เคยโพสต์วันละ 100 โพสต์

กลายเป็นว่าคนในไอจีเห็นว่าเราถ่ายภาพคือเขาชอบ น้องเขาทักมาว่ารับถ่ายภาพมั้ย เราก็แบบ… ถ่ายในเฟซบุ๊กมาตั้งนานไม่เห็นมีคนจ้างเลย สุดท้ายก็มีคนสนใจ ทักมาคุยกัน ก็ได้มาดีลกัน”



จากผลงานการถ่ายภาพเมื่อครั้งขายของออนไลน์ จนได้มาอวดฝีมืออย่างจริงจังเมื่อครั้งรับถ่ายภาพอาหารฟรีช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ก็ไปเข้าตาผู้คนจนเกิดการรับถ่ายภาพในเวลาต่อมา จากยอดผู้ติดตามอินสตาแกรมในตอนแรกราว 1,500 บัญชี ก็ค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นในเวลา 2 ปี ปัจจุบันอินสตาแกรม @aumza_official มีผู้ติดตามแล้วกว่า 65,000 บัญชี

“หลายปีนะคะตั้งแต่เริ่มถ่ายน่าจะ 9 ปี การรับถ่ายภาพฟรีช่วงโควิดคือทำบนเฟซบุ๊กก็จบไปตั้งแต่ 30-40 คิวตอนนั้น แต่พอไปลุยไอจีอย่างเต็มตัว แต่คราวนี้เราเริ่มมาสังเกตภาพที่แม่ค้าโพสต์ เขาใช้เป็นพื้นผ้านะ ใช้ตะกร้าหวายนะ ดอกทิวลิป ก็เลยเริ่มซื้อมาถ่ายให้ตัวเองก่อนเพื่อที่จะลงวันละ 6-9 โพสต์

กลายเป็นว่า คนเห็นผลงานก็ชอบงานแบบนี้ สไตล์การถ่ายภาพเราอยากให้ความรู้สึกเหมือนเจ้าของไอจีถ่ายเอง ง่ายๆ สบายๆ ก็เลยได้ทำมายาวจนถึงตอนนี้เลย เราโพสต์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เราก็สู้ ตอนนี้ยอดฟอลน่าจะ 65,000 ประมาณนี้ค่ะ ก็ถือว่าพลังความขยันค่ะ (ยิ้ม)

แต่เฟซบุ๊กเริ่มกลับมาติดอีกครั้งนึงแล้ว เขาเริ่มผลักดันคลิป reels ค่ะ เราก็โพสต์ Tiktok อยู่แล้วก็เอามาโพสต์ reels กลายเป็นผู้ติดตามเพิ่มมา 100,000 ภายในประมาณ 3 เดือน เราเฟซบุ๊กทิ้งไม่ได้แล้ว ก็เลยเพิ่งกลับมาเล่นเฟซบุ๊กค่ะ”

ทั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ได้ให้เธอลองเปรียบเทียบการใช้โซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ช่วงบุกตลาดบนเฟซบุ๊ก จนถูกปิดกั้น มาแจ้งเกิดใหม่บนอินสตาแกรม และขยายฐานไปยัง Tiktok ว่า แต่ละช่วงให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไร

“อย่างเฟซบุ๊กเราเริ่มมาตั้งแต่เขาให้เยอะมาก โพสต์อะไรไปขายได้ ตั้งตัวได้จากเฟซบุ๊กเลย พอมาปิดกั้น วิธีการเอาตัวรอดของเรา คือ เอาข้อความที่เราจะพิมพ์ในแคปชันไปใส่ในรูปภาพ แล้วเอารูปภาพมาโพสต์แทน ทุกอย่างคือดิ้นรนมาก สุดท้ายปลายทางมันก็ยังถูกปิดกั้นอยู่ดี ไม่มีลูกค้า งั้นลองเปลี่ยนช่องทางดูไปไอจี เฟซบุ๊กให้มันเป็นส่วนตัวไปแล้วกัน

ไอจีโชคดีตรงที่ว่าเรื่องการเป็นแม่ค้า เรื่องการถ่ายรูป มันโชว์ขึ้นไปเป็นรูปภาพ เปิดหน้าไอจีมาเป็นรูปภาพทั้งแผง มันเหมือนเอื้อต่อเราด้วยที่จะขายสินค้าอะไรคนก็เห็น จะถ่ายรูปผลงานคนก็เห็น ก็ถือว่าไอจีให้อาชีพใหม่แล้วก็ให้วิธีการทำงานใหม่ๆ ปกติจะมีทั้งไลฟ์สไตล์ทั้งอะไรในเฟซบุ๊กที่มันปนกัน แต่ไอจีไลฟ์สไตล์จะไปอยู่ในไอจีสตอรี่ กินข้าวนู่นนี่นั่น ส่วนหน้าบ้านเราจะเป็นเรื่องงานเลย กลายเป็นว่าทุกวันนั้นไอจีคือออฟฟิเชียลของเราค่ะ”



นอกจากการขายของผ่านภาพแล้ว อีกช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน คือ Tiktok, เฟซบุ๊ก reels และไอจีสตอรี่ ที่เน้นเป็นคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องพูดให้กระชับและใจความครอบคลุมในเวลาอันสั้น

“ตอนนี้ Tiktok มาแรงมากในเรื่องของคลิป อุ้มก็ได้โอกาสหลายๆ อย่างจาก Tiktok เหมือนกัน เห็นกูรูใน Tiktok บอกว่า ตอนนี้เฟซบุ๊กมี reels แล้วนะ reels เป็นคลิปสั้นๆ ประมาณ 1 นาทีค่ะ ตอนแรกเหมือนเฟซบุ๊กให้แค่ 30 วิด้วย แต่เขาพยายามปรับตัว ก็กลายเป็นให้ 1 นาที ส่วนมากอุ้มจะลงคลิปไม่เกิน 45-50 วิเท่านั้นเลย มันก็เลยใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม

เราลงคลิป Tiktok แล้วเอามาลงในไอจี เราแค่เพิ่มอีกช่องทางนึงคือเอามาลงเฟซบุ๊กที่เราเคยใช้ คลิปเคยขึ้นไปถึงล้านวิวจากเฟซบุ๊ก ซึ่งคลิปนั้น Tiktok คือยอดหลักพัน เฟซบุ๊กคือดันขึ้นไปหลักล้าน หลักแสน ช่วงแรกๆ ที่เขาเปิดใหม่ๆ ได้เกือบทุกคลิป จำได้ว่าผู้ติดตามเดือนแรกห้าหมื่น แล้วอีก 2 เดือน ทยอยมาแสน ตอนนี้ประมาณแสนสองค่ะ

ถ้าเป็นการพูดขายของผ่านคลิปจะเริ่มมาจากสตอรี่ คลิปนึงได้ 15 วิ ตอนนั้นพูดยาวมาก 1 นาที ยังไม่จบเลยเรื่องเดียว เรามาฟังเองยังขี้เกียจฟัง แรกๆ พูดไม่ทัน เลยเริ่มใหม่ 1 นาที มาทำให้จบ แล้วก็ฝึกพูดอีกๆๆ กลายเป็นว่าทุกอย่างอยู่ใน 15 วิได้ค่ะ บางทีเนื้อหาที่ไม่จำเป็นเราพูดเยิ่นเย้อเกินไปก็ตัดออก อยู่ที่การฝึกฝน เบื้องหลังมันหลายขั้นตอน”

“ตั้งเป้าหมาย” เคล็ด(ไม่)ลับความสำเร็จ

ถามถึงเรื่องการแบ่งเวลาทำงาน อุ้มได้เล่าว่า ในแต่ละวันได้มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ทุกอย่างแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง แม้บางครั้งอาจจะทำได้ไม่ครบตามที่กำหนดไว้ แต่ก็ถือว่าดีกว่ายังไม่เริ่มทำ

“อันนี้แนะนำว่าอยากให้ลองเขียนดู ว่าวันนึงมีแผนงานอะไรบ้าง สำคัญมากค่ะ เคยเขียนไว้แล้วไม่ได้ทำได้ตามเป้า สมมติว่าเราเขียนไป 5 แต่ทำได้ 3 อย่างน้อยก็ได้ทำ แต่ถ้าเราไม่เขียนเลยเราไม่น่าจะได้เริ่มซักอย่าง

ตอนนี้อุ้มเขียนไป 40 หัวข้อ ก็จะเขียนไว้เลยว่าจะต้องมีคลิปอะไร จะต้องพรีเซนต์เรื่องอะไร เรื่องเทคนิคการถ่าย เรื่องกล้อง เรื่องสตูฯ จะถ่ายคลิปอะไรบ้าง เปลี่ยนกี่ชุด พรุ่งนี้ต้องทำอะไร มีงานอะไร มีคิวกี่คิว เขียนไว้หมดเลย

สมมติพรุ่งนี้มีถ่ายงาน อาจจะเป็นการถ่ายเบื้องหลังตั้งกล้องไว้แล้วถ่ายคลิปเราตอนทำงานค่ะ แต่ถ้าวันไหนตั้งใจทำคอนเทนต์วันนั้นก็คือทำคอนเทนต์ทั้งวันเลย เคยถ่ายมากสุดวันนึง 15 คลิป ตุนมาก เสื้อผ้าก็คือกระจุยกระจาย เพราะเปลี่ยนบ่อยมากแต่ทรงผมทรงเดิม (หัวเราะ)”





[ เขียนทุกเป้าหมายลงกระดาษ ]
แม้ค้าออนไลน์วัย 27 ปี ผู้นี้ ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเป้าหมายที่อยู่ในอากาศ มาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศให้คนอื่นได้รับทราบ เธอให้เหตุผลว่าวิธีนี้เป็นดั่งเข็มทิศที่นำเธอให้ไปถึงเป้าหมายได้มั่นคงมากขึ้น

“ทำตาม sense ของเรา แล้วก็ชอบฟังพวก YouTube เกี่ยวกับแนวคิด การตั้งเป้าหมาย เคยย้อนกลับไปดูสมุดเก่าๆ มีตั้งเป้าว่าจะมีเงินแสนแรกให้ได้ในอายุ 19 ปี เราก็แบบ… เด็กมันก็คิดได้เนอะ ก็โชคดีว่าได้ฟังสื่อดีๆ แล้วลองเอามาเขียนและลงมือทำจริง ทุกวันนี้ก็ยังมีกระดาษที่เรามีเป้าหมายแผ่นนั้นอยู่

19 ปี มีเงินแสนปุ๊บ เราก็ตั้งเป้าหมายต่อไป ต้องมีเงินล้าน จากการขายออนไลน์ในอายุ 20 ปีให้ได้ ก็ทำได้ประมาณใน 9 เดือนก็เขียนๆๆ จะสร้างบ้านให้แม่เมื่อไหร่ ตอนไหนจะมีบ้านตัวเอง เขียนไว้ทุกอย่าง แต่บางอันก็มีการปรับเปลี่ยน ตอนนั้นเขียนจะซื้อรถเงินสดแต่สุดท้ายก็เงินผ่อนค่ะ แต่อย่างน้อยเหมือนมีไกด์นำทางเราว่าเราจะมีอะไรบ้าง

ตอนนั้นได้แรงบันดาลใจจากพี่คนนึงในเฟซบุ๊ก เขาขายสบู่แล้วก็เอาเงินล้านนึงที่เป็นมัด 10 มัด แล้วมีซีล เขามาวางไว้ข้างหน้า แล้วเอาสมุดมาวาง เรามีความฝันว่าอยากถือเงินแบบนั้น ก็เลยเก็บเงินสดให้ครบตามจำนวน เพื่อถอนมาถ่ายรูป วันที่ถอนให้พ่อแม่มาจากต่างจังหวัดเพื่อมาถ่ายรูปด้วยกัน

เคยได้ยินมาจากคลิปเหมือนกันว่า ถ้าเราอยากได้อะไรแล้วเราประกาศออกไป คนก็รอดูเราแล้ว ถ้าเราทำไม่ได้ตามเป้าเราอายเขาแน่เลย อุ้มก็คิดอย่างนั้น แล้วโพสต์เพื่อกดดันตัวเองค่ะ ฉันต้องทำให้ได้ ให้คนเห็นเป้าหมายของเราคืออะไร”



[ หนึ่งในความฝัน จับเงินล้านตอนอายุ 20 ปี ]
และเธอยังให้เทคนิคในการค้นหาตัวตน เพื่อนำสิ่งที่ถนัดมาต่อยอดเป็นรายได้ โดยส่วนตัวนั้นอุ้มจะให้เวลาตนเอง 6 เดือน หากยังมีรายได้สม่ำเสมอก็สามารถยึดเป็นอาชีพได้

“บางคนก็บอกว่าโชคดีที่อุ้มเริ่มเร็ว ประมาณช่วง 19-20 เริ่มบริหารเงินเป็น พอได้เงินมาเป็นก้อน ก็จะแยกกำไร แยกต้นทุน แล้วใช้ต้นทุนหมุนในรอบนั้น ถ้ามันไม่พอจริงๆ ค่อยยืมกำไรออกมา สินค้าไหนที่เรามองว่าดีแต่กระแสมันหมดไปเราก็เปลี่ยนสินค้าใหม่ เริ่มเร็วก็ได้โอกาสเร็ว พอเรามาอยู่ตรงนี้เรารู้แล้วว่าสินค้าไหนที่น่าจับหรือสินค้าไหนที่ยังไม่น่าจับ

ตอนนี้เริ่มมาขายขาตั้งกล้อง เพราะรู้สึกว่าของอะไรที่เราได้ใช้จริงๆ เริ่มเอามาบอกต่อ 2 ปี ถึงจะมาเริ่มขายสินค้าที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ สะสมประสบการณ์และเครดิตมาเยอะ พอเรามาขายปุ๊บ ลูกค้าก็เชื่อมั่น มั่นใจค่ะ

จริงๆ มีหลายคนแอบมาปรึกษาเหมือนกัน อยากออกจากมหา’ลัย อยากมารับถ่ายรูปอย่างเดียว ก็เลยบอกว่า เอาจริงๆ พ่อแม่ทุกคนห่วงและรักลูกแหละ ถ้าสมมติจู่ๆ ออกมาโดยที่ไม่มีอะไรการันตี มันเสี่ยง

เลือกจุดที่ตัวเองโอเคในเงินประมาณไหน เราอยากจะมีเท่าไหร่ สมมติ 20,000-30,000 เราก็ลองทำดูประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ถ้ามันยังได้อยู่ค่อยตัดสินใจ มันก็แล้วแต่คนค่ะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเงินก้อนนั้นมันจะทำให้เราอยู่ได้กี่เดือน

ตอนนั้นที่อุ้มมารับถ่ายรูป อุ้มขอดู 6 เดือน ถ้ารายได้มันสม่ำเสมอมันก็เริ่มมาด้วยเกือบ 6 หลัก ถ้าสมมติไม่หลุด 6 หลักใน 6 เดือนนี้ อุ้มจะไปต่อ สุดท้ายมันทำได้ ก็เลยเลือกเป็นอาชีพนี้ค่ะ”


และสำหรับเป้าหมายต่อไปของเธอนั้น คือ การผ่อนบ้านที่อาศัยในปัจจุบันให้หมดภายในสิ้นเดือนนี้

“เคยได้ยินเขาให้เอารูปสิ่งที่เราอยากได้มาตั้งเป็นหน้าจอ แต่ตั้งไปมันก็ชิน (หัวเราะ) ก็เลยเปลี่ยนรูป สุดท้ายมันมีเป้าในใจอยู่แล้วค่ะว่าเราโพสต์เฟซบุ๊ก คนเห็นแล้วว่าเรามีเป้าตรงนี้ เราต้องทำให้ได้ ไม่งั้นอายเขานะ ประมาณนี้ค่ะ

หลักๆ ก็คือ 19 ปี มีเงินแสน แล้วก็ 20 ปี มีเงินล้าน กับซื้อรถ ส่วนเป้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับอายุน่าจะเป็นการสร้างบ้านให้พ่อแม่ น่าจะประมาณ 22 ปี สร้างที่จังหวัดมหาสารคามค่ะ เงินสดเลยตอนนั้น พอของพ่อแม่เสร็จก็มาซื้อของตัวเอง

เป้าหมายหลังจากนี้ ก็คือ ปิดบ้านให้เสร็จเรียบร้อย ทุกอย่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น อย่างน้อยถ้าบ้านหมดก็ไม่มีอะไรน่ากลัวแล้ว เราก็หากินวันต่อวันนี่แหละค่ะ ในอนาคตเราก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น เราก็มีพออยู่พอกิน แล้วแพลนปีหน้าน่าจะซื้อรถค่ะ อยากมีรถใหม่ก่อนอายุ 28 ปี ต้องเขียนทุกๆ ปีเลยเพื่อมารีเช็กว่าเราทำได้มั้ย หรือถ้าไม่ได้ มันได้อะไรมาแล้วบ้าง”

มีวันนี้เพราะอิสระจากครอบครัว

กว่าที่แม่ค้าออนไลน์อย่างอุ้มจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากอาศัยความพยายามอย่างมากแล้ว อีกภาคส่วนสำคัญคือ “ครอบครัว” ที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนในทุกเส้นทางที่เธอเลือกเดิน

“ส่วนสำคัญจากครอบครัว เขาให้อิสระเยอะมากในการตัดสินใจ ล่าสุด อุ้มไปฟังคลิปนึงวิธีการสอนลูก เขาบอกว่า การที่ลูกจะประสบความสำเร็จ มันมาจากครอบครัวด้วย ครอบครัวให้อิสระ ข้อนี้ใช่เลย

เคยย้อนกลับไปตอนที่เราออก มีพี่คนนึงเขาเคยพูดว่า แม่คิดอะไรอยู่ถึงกล้าให้ตัดสินใจอย่างนั้น พอเราไปถามแม่ แม่ก็แอบคิดอยู่แต่เขาไม่ได้มาบอกเรา เราขอแม่มาอยู่กรุงเทพฯ เอง มาเป็นเด็กรับจ้างแพ็กของ แม่ก็แบบ…จะยังไงดี จะอยู่ได้มั้ย คิดถูกหรือคิดผิด แต่พอเราทำจนให้มาเห็นในวันนี้ เขาก็คิดว่าเขาคิดไม่ผิด

พอรับถ่ายรูปมา 6 เดือน แม่ซื้อกล้องตัวนี้ให้ แม่รู้ว่าเราจริงจัง ก็ถือว่าลงทุนให้ลูกครั้งแรก สุดท้ายก็ต่อยอดมา อย่างเลนส์ที่อุ้มใช้แม่ก็ซื้อให้ พอมันมีปัญหาต้องเข้าศูนย์ 2 เดือน อุ้มก็ใช้เงินเราก็พอมีทุน ซื้อมาอีกเลนส์นึงที่เหมือนกันไว้สลับกันใช้ แม่ก็บอก ถ้าแม่ไม่ซื้อกล้องเราก็คงไม่เติบโต เหมือนแซวว่าเพราะแม่นะ (หัวเราะ) คุยกันแบบนี้ค่ะ เขาก็สนับสนุนเต็มที่ เงินที่เราส่งให้เขา เขาก็สะสมไว้ พอลูกต้องการใช้เขาก็คืนให้ลูก”



[ ครอบครัวผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ]
ไม่เพียงแค่ครอบครัวที่เคารพการตัดสินใจของบุตรหลานเท่านั้น อุ้ม ย้ำว่า ผู้ที่ได้รับโอกาส ก็ต้องพิสูจน์ตนเองให้ครอบครัวได้เห็นด้วยเช่นกัน

“อุ้มคิดว่าการได้อิสระจากครอบครัว ส่วนนึงมันมาจากเราทำให้เขาเห็นก่อนว่าทำแล้วมันเกิดรายได้จริงๆ พอวันที่เราตัดสินใจว่าจะออกจากมหา’ลัย อย่างน้อยแล้วต้องมีรายได้เป็นของตัวเอง ตอนนั้นไม่ขอเงินพ่อแม่แล้ว เราก็ดูแลตัวเองได้

สมมติว่า ครอบครัวไหนที่ลูกกำลังจะตัดสินใจอะไรแบบนี้ ในเรื่องเรียนหรือตัดสินใจเรื่องการทำงาน อุ้มก็อยากให้ลองให้โอกาสเขาก่อนว่าเขาพิสูจน์ตัวเอง หรือว่ามันน่าจะไปต่อได้แค่ไหน อยากให้ลองทำไปก่อน ถ้าวันนั้นแม่อุ้มไม่ตัดสินใจให้อุ้มลาออก อุ้มก็อาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้ค่ะ เหมือนเขาเชื่อใจเรา เขาอยากให้เราพิสูจน์ตัวเอง ทุกวันนี้ก็ยังขอบคุณเขา ทำไมแม่กล้าให้อุ้มตัดสินใจเอง เขาก็บอกว่า ถ้าลูกชอบอะไรก็อยากให้ไปลองทำ

อย่างน้อยก่อนที่จะตัดสินใจไปบอกเขา เราทำให้เขาเห็นหรือยัง ไม่ใช่ลอยๆ ยังไม่มีอะไรเลย จะออกจากมหา’ลัยแล้วไปเริ่มใหม่ เรายังไม่ทำอะไรให้เขาเห็นเลย อันนี้ไม่แปลกที่เขาจะไม่ให้ออก อย่างน้อยต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อน”

และแม้เธอจะไม่ได้อยู่ในการศึกษาในระบบ แต่ทุกวันนี้ก็ไม่หยุดเรียนรู้ ยังคงพัฒนาตนเองผ่านการลงคอร์สออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนฟังแนวคิดจากคนที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ

“ทุกวันนี้ก็มีไปลงเรียนทำคอนเทนต์ ทำ Tiktok ศึกษาไว้ เรียนพูดหน้ากล้อง คอร์สถ่ายรูปต่างๆ ก็ลง เรียนตัดต่อด้วย ทุกอย่างเรียนมาหมดเลย เหมือนเรารู้สึกว่าเราไม่เก่ง เราเรียนมาน้อย ประสบการณ์อาจจะไม่ได้เยอะมากเพราะไม่ได้ไปเจอใคร เลยเลือกที่จะเรียนออนไลน์

เรื่องการเรียนพัฒนาตนเอง อุ้ม มองว่า สำคัญ มันไม่จำเป็นว่าต้องตลอดเวลาแต่อย่างน้อยมันต้องมี อุ้มก็รู้สึกที่ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เจอไม่กี่คนแต่เรายังเติบโตได้ น่าจะสื่อ ชอบลงเรียนในออนไลน์ ชอบดู YouTube ช่วยได้เยอะ อุ้มเริ่มดู YouTube พวกแนวคิดต่างๆ ตั้งแต่สมัยเรียนเลย ม.5-ม.6 พ่อแม่เราก็ชาวไร่ชาวนาก็อาจจะไม่ได้รู้ในมุมนั้น

ทุกวันนี้ก็ฟังของ คุณแท็ป (รวิศ หาญอุตสาหะ) เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ เราชอบช่องเขา จะเป็นคลิปสั้นๆ 5 นาทีเกี่ยวกับมุมมองธุรกิจ มุมมองผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ พนักงาน คือ เล่าหลายมุมมอง เราไม่เคยทำงานออฟฟิศ เราไม่รู้ว่าในสังคมออฟฟิศเป็นยังไง ข้อดี-ข้อเสียยังไง หรือข้อไหนที่เขาต้องแก้ไขหรือหนักใจ ก็ถือว่าได้เรียนรู้จาก YouTube ค่ะ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย สาววัย 27 ปี ผู้นี้ ผู้ประสบความสำเร็จในทุกอาชีพที่ได้ทำ ก็ได้ฝากมุมมองถึงการเป็นเจ้านายตัวเอง ที่ต้องอาศัยความมีวินัยและความรับผิดชอบเป็นอย่างมากกว่าที่จะมีวันนี้ได้

“ถือว่าโชคดีที่ไม่เคยจมทุน ไม่เคยผิดพลาดในการเลือกสินค้ามาขาย พอมารับถ่ายรูปก็เติบโต ก็แอบคิดว่าวันนึงจะเจออะไรรึเปล่า แต่มีรายการนึงถามอุ้มว่าทำไมถึงมาถึงวันนี้ได้ อุ้มมีคีย์ในใจว่าอุ้มอยากมีอยากได้ ชอบความสบายให้ชีวิต แต่อะไรจะไปหาจุดนั้นได้ ก็คือการทำงานทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

มี YouTube อันนึงอุ้มฟังมาเขาบอกว่าทำวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ วันนั้นอุ้มขี้เกียจมากแต่เราถ่ายคลิปมาดองแล้ว อุ้มจะเอาคลิปทุกอย่างที่ถ่ายมามาเรียงกันในแอปตัดต่อ อีกนิดนึงแล้วกัน ตัดให้มันเสร็จว่าส่วนไหนเอาส่วนไหนไม่เอา ก็ตัดๆๆ เราจะไปพัก มันตัดมาแล้วลองพากย์เสียงดีมั้ย สุดท้ายเสร็จจ้า เหมือนไม่ให้ตัวเองว่าง ทำทีละนิดทีละหน่อย มันจะจบแล้ว

เอาจริงๆ ยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็ยังขี้เกียจมาถ่ายคลิป ขี้เกียจถ่ายรูปเหมือนกัน แต่ว่ารับเงินเขามาแล้วมันคืองานที่เราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำเป้าหมายที่เราตั้งไว้ อยากปิดบ้าน อยากซื้อรถ มันก็ไม่ได้

ยิ่งการเป็นเจ้านายตัวเองการที่ไม่มีใครมาเป็นเจ้านายคือเรื่องยากเลย เราจะนอนตื่นกี่โมงก็ได้ จะยังไงก็ได้ การรับผิดชอบชีวิตตัวเองมันยากมากๆ ถ้าใครรักษาวินัยในตนเองได้ ควบคุมตัวเองได้ ก็เป็นฟรีแลนซ์ได้ค่ะ”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “พรสวรรค์ ภูเรียนคู่”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น