รอยรั่ว ช่องโหว่เพียบ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ “เมาน์เทน บี ผับ” คนหนีเอาชีวิตรอด นำมาสู่ดรามาสังคมออนไลน์ตั้งคำถามด้านความปลอดภัย มาตรฐานผับ “ล็อกทางหนีไฟ-ประตูหลังร้าน” ด้านกูรูหวั่นซ้ำรอย แนะภาครัฐเข้มงวด!!
ไฟไหม้ผับ...ไร้ทางหนีไฟ = ปิดตาย?
สุดสลดจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ภายในสถานบันเทิง “เมาน์เทน บี ผับ” หรือ Mountain B จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัส เรียกได้ว่าซ้ำรอยกับเหตุการณ์ไฟไหม้ ซานติก้าผับ เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ไร้ทางหนีไฟ-ไม่มีป้ายบอก แตกต่างเพียงสถานที่ เวลา แต่จุดจบกลับเหมือนกัน
ทว่า ไฟไหม้ครั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างตื่นตระหนกวิ่งหนีตายไปคนละทิศละทาง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพนักงานล็อกประตูหลังร้าน และทางเชื่อมประตูหนีไฟ
อีกทั้งวัตถุล้วนแล้วแต่ติดไฟร่วงลงมาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการตกแต่งจะประกอบด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคงถาวร ทำให้ช่วงเกิดเหตุนักท่องเที่ยวหนีออกมายากลำบาก มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 15 ราย บาดเจ็บ 40 คน
ขณะที่ด้าน พ.ต.อ.วุฒิพงษ์ สมใจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจพลูตาหลวง ได้ออกมาแถลงข่าว ไม่ทราบพื้นที่ตรงนี้เป็นสถานบันเทิง และประเด็นเคยมีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องเสียงดัง ว่า ช่วงที่ไปตรวจดำเนินคดีเฉพาะเรื่องเสียงเท่านั้น เพราะมีผู้แจ้งมาแค่เรื่องเสียง ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องเปิดผับ ส่วนเรื่องโซนนิ่งไม่ทราบว่าตรงนี้ หรือห้ามเปิดอย่างไร จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมยืนยันไม่มีผู้มีอิทธิพล หรือคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
“ว่าแล้วสักวันประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย “ซานติก้าผับ” เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ไฟไหม้ในคืนปีใหม่ตายเจ็บร่วมร้อย วันนี้กลับมาเกิดเรื่องอีกด้วยเหตุเดิมๆ คือ นึกอยากเปิดผับก็เปิด ไม่อยากจะซ้ำเติมแต่ขั้นตอนป้องกันต้องมี
1. ทางเข้าออก ทางหนีไฟ ต้องมีหลายทาง 2. ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง จากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น 3. ต้องจำกัดจำนวนคนเข้าตามขนาดพื้นที่ที่รับไหว หากคนเกินก็ไม่ให้เข้า จนกว่าจะมีคนออก ขั้นตอนง่ายๆ ไม่ทำ ปล่อยปละละเลย ข้างในนอกจากมืดแล้ว ยังเสียงดัง มีทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
ชักสงสัยเหมือนกันว่า ใน กทม.บรรดาผับดังของทุนจีน ทั้งเอกมัย ทองหล่อ อาร์ซีเอ มีทางออกกี่ทาง มีใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตผับ-บาร์ ถูกต้องไหม?
อยากให้ กทม.ยุคของท่านชัชชาติ วิ่งไปดูหน่อยครับ ผับซานติก้าเมื่อ 10 กว่าปีก่อนยังหลอกหลอนไม่หาย คนเข้าเป็นพัน แต่มีทางออกทางเดียว เพราะไม่ได้ขอเป็นผับแต่ต้น
ไหนจะใบอนุญาตตำรวจ คงให้เป็นแค่ร้านอาหาร แต่เปิดกันมั่วเนียนๆ เป็นผับทุกที่ คงไม่ต้องร้อง Traffy Fondue เพราะตอนนี้ กทม. เฉพาะตอบข้อร้องเรียนก็ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว”
ขณะเดียวกัน ถึงเรื่องนี้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกเขตลงตรวจสอบความเสี่ยงอัคคีภัย ทางหนีไฟ สถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ล่าสุดปิดแล้ว 3 แห่ง หวั่นซ้ำรอยเหตุไฟไหม้ใน จ.ชลบุรี
แน่นอนว่า กลายเป็นเรื่องที่ฝังใจของประชาชน เหตุหวั่นซ้ำรอยไฟไหม้โศกนาฏกรรมซานติก้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง เพจ “วิศวกรดับเพลิง” ผู้เชี่ยวชาญอัคคีภัยและความปลอดภัย ให้ช่วยวิเคราะห์ และให้ความรู้เรื่องมาตรฐานทางหนีไฟ และป้องกันเหตุอัคคีภัย
“มันเป็นเรื่องการตรวจตรา เพราะเป็น Safety Mind ของผู้ประกอบการ และเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งวิศวกรที่เขาออกแบบ คือ ทุกคนก็มีส่วน เพราะว่าคนที่ออกแบบผับ ยังไงก็ต้องใช้วิศวกร ถ้าวิศวกรรู้กฎหมายแล้ว ยังไงเขาก็ต้องเตรียมทางหนีไฟไว้
ประเด็นอาจจะออกแบบถูก แต่ตอนสร้างอาจจะไม่มีเงินก็ได้ อันนี้ก็หลายปัจจัย แต่ต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่ายถึงจะได้ครับ เพราะสุดท้ายคนที่ไปใช้ คือประชาชนธรรมดา เขาอาจจะไม่มีความรู้มากนัก”
ทว่า เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นกับอาคารสถานบันเทิง เพื่อให้มีการป้องกันการเกิดอัคคีภัย ลดการเสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน สิ่งที่สำคัญคือ ประตูหนีไฟ
“ใช่ครับ ไม่มีทางหนีไฟ เท่ากับปิดตาย คือคนเรานิสัยเขาจะชินว่าเข้าทางไหน ออกทางนั้น ปัญหามันอยู่ตรงนี้ พอเข้าทางที่เราเข้า มันออกไม่ได้ ก็จะงงแล้วว่าชีวิตจะต้องออกทางไหน นี่คือความเสี่ยง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องควรที่จะคุ้นชินให้มาก
และสถานบริการ ภาครัฐอาจจะต้องเข้มงวดเรื่องของทางหนีไฟ และควรพิจารณาว่ามันอาจจะต้องใหญ่กว่าสถานที่ทั่วไปนิดหนึ่ง เพราะว่าสติของผู้ใช้อาการไม่เท่ากัน
ทางเส้นทางหนีไฟ อย่างแรกคือ ภายในพื้นที่ของที่อพยพ ถ้าเข้าสู่เส้นทางหนีไฟ เส้นทางหนีไฟจะต้องเป็นเส้นทางที่ปลอดภัย จะต้องไม่มีทั้งควัน ทั้งไฟที่เข้าไป ในนั้นต้องเข้าไปแล้วปลอดภัย
และเส้นทางหนีไฟจะต้องพาออกสู่พื้นที่ปลอดภัยนอกอาคาร คือถ้าไม่ออกพาสู่พื้นที่ปลอดภัยภายนอกอาคาร เขาเรียกว่า refugee area (พื้นที่อพยพหลบภัยในอาคาร) สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ว่าพื้นที่บริเวณนั้นต้องกั้นและล้อมกำแพงกันไฟทุกด้าน รวมทั้งประตูทนไฟด้วย
มันต้องมีระยะเวลาการทนไฟเพื่อให้คนอยู่ในนั้นได้ จนกว่าทีมดับเพลิงเข้ามาช่วยเหลือ อย่างนี้ในภาษามาตรฐานจะเรียกว่า refugee area ซึ่งในผับเขาไม่ทำกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นอาคารชั้นเดียว สามารถออกได้เลย
เพราะฉะนั้น refugee area คงไม่จำเป็นกับผับ แต่แค่พื้นที่ควรมีประตูกั้นแยกทนไฟ ผนังทนไฟสำหรับการเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมา มันจะไม่ลามเข้าไปในทางหนีไฟ แล้วคนที่สามารถออกจากผับวิ่งเข้าไปเส้นหนีไฟได้แล้วจะปลอดภัย มันค่อนข้าง refugee นิดหนึ่ง”
เทียบซานติก้า VS เมาน์เทน บี ไฟเพลิงไร้บทเรียน!!
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาสู่คำถามและข้อข้องใจของสังคมอย่างต่อเนื่อง ถึงประเด็นการเปรียบเทียบไฟไหม้ซานติก้าผับ บทเรียนครั้งใหญ่ โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดการเรื่องความปลอดภัยที่บกพร่อง และไร้มาตรฐานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าของสถานบันเทิงหรือไม่นั้น
เพื่อยืนยันคำตอบ กูรูรายเดิมจึงถอดบทเรียนของการเกิดไฟไหม้ครั้งนี้ว่าสามารถย้อนกลับไปดูกฎหมายทางด้านความปลอดภัยของสถานบริการที่ถูกปรับปรุงภายหลัง จากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมของซานติก้าผับ ได้มีการกฎหมายออกมา ให้บริหารจัดการอย่างไรให้ระบายคนออกได้เร็ว รวมถึงโครงสร้างของอาคารทางออกหนีไฟต่างๆ ตามกฎหมายอาคารทั่วไป
“เรื่องมาตรฐานจริงๆ บ้านเรามีมาตรฐานของวิศวกรรมสถานอยู่แล้ว ว่าด้วยอัคคีภัย เรื่องเส้นทางอพยพ แล้วเรื่องวิธีการคำนวณมันก็มีหมดอยู่แล้ว กฎหมายก็มีเขียนไว้
แต่ประเด็นคือ เราหยิบมาใช้ไหม และคนที่มีอำนาจในการตรวจสอบ เราปฏิบัติอะไรกับมันไปบ้าง หรือว่ามันเล็ดลอดสายตา หรือปล่อยให้เล็ดลอด ก็ต้องไปดูเป็นกรณีไป
กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เกิดเหตุหลังซานติก้า ประมาณปี 55 จริงๆ สถานบันเทิงเขาจะมีบอกอยู่แล้วว่าทางหนีไฟจะต้องมีกี่มากน้อย เรื่องคำนวณขนาดประตูทางหนีไฟ หรือเส้นทางการหนีไฟต่างๆ มันขึ้นอยู่กับอัตราการบรรจุคนในนั้น มันมีกฎหมายว่าสูงเท่าไหร่ ต้องติดระบบดับเพลิง จะประมาณ 15 เมตร ตั้งแต่พื้นจนไปถึงเพดาน”
ส่วนมาตรการที่จัดควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้น ทางผู้เชี่ยวชาญได้ให้มุมมองไว้ว่า สถานบันเทิงต้องออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องมีความชัดเจนทางด้านความปลอดภัย ช่องทางการหนีไฟ ส่วนสำหรับนักท่องเที่ยว หากไปพื้นที่ไม่คุ้นชิน จะไปที่ไหนต้องรู้จักสังเกต
“โดยหลักการ และนิสัยคนไทยเราต้องฝึก อย่างแรกเรื่องของไปในอาคาร หรือสถานที่ไหนก็ตาม ที่เราไม่ชิน เราควรที่จะสังเกตทางหนีไฟเป็นอันดับแรก
ประเด็นคือ อย่างแรกต้องฝึกตัวเองว่าไปที่ไหนต้องรู้จักสังเกต เรื่องที่ 2 หากทางหนีไฟมันไกลมาก ซึ่งโดยหลักการถ้าเป็นไปตามมาตรฐาน หรือกฎหมาย มันไม่ควรไกล
แต่ถ้าสมมติว่าเหตุเกิดมันเป็นอาคาร หรือสถานบริการที่มันไม่เข้าข่าย หรือว่าไม่ได้ทำตามกฎหมายก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดได้ยาก มันขึ้นอยู่กับบริบทว่าเราอยู่ตรงไหนของอาคาร ในการที่จะหนีไปอยู่ในห้องน้ำ ซึ่งซานติก้าก็หนีเข้าห้องน้ำ ถ้าเป็นเคสที่เพิ่งเกิดก็เหมือนกัน
คือ เคสการหนีเข้าห้องน้ำ อาจจะมองเป็นเรื่องที่ดี แต่จริงๆ แล้วถ้าเป็นสถานบันเทิง การหนีเข้าห้องน้ำมันปิดตาย มันหนีไม่ออก เพราะสถานบันเทิงเขาจะตกแต่งภายใน เขาจะมีวัสดุที่ติดไฟ และลามไปเร็วมาก”
สกู๊ปโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **