เมื่อการป่วยของผู้เป็นแม่ ปลุกชีวิตมือกลองคนดัง หันหน้าเข้าสู่ทางธรรม ค้นพบสัจธรรม “ทุกคนต้องพบความตาย” ไม่ยึดติด สู่การใช้ชีวิตเรียบง่าย พบความสุขที่แท้จริง!! เปิดศูนย์การเรียนรู้-ปลูกต้นไม้หมื่นต้น-สร้างโรงทาน เพื่อช่วยเหลือ ผู้ยากไร้-คนพิการ และคนตกงานโดยไม่หวังอะไรตอบแทน นอกจากมีรอยยิ้มกลับไป...
ได้ดี-ดึงสติ เพราะ “แม่”
“เป็นคนธรรมดา ไม่ต้องไปยึดติดกับลาภยศ สิ่งนอกกาย ก็เป็นแค่คนธรรมดาที่แม้แต่ตัวเราเองเอาอะไรไปไม่ได้ แล้วยังเอาร่างกายตัวเองไปไม่ได้ ก็คือ เป็นคนธรรมดาแค่นั้นครับ…”
นี่คือ คำนิยามถึงตัวตนของ “วรเชษฐ์ เอมเปีย” หรือ เชษฐ์ วงสไมล์บัฟฟาโล นักดนตรีชื่อดัง ปัจจุบันใช้ชีวิตในวัย 51 ปี อยู่กับวิถีธรรมชาติบนความสมถะ ณ บ้านหนองขยาด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ใช้เวลากว่า 20 ปี พบความสุขที่แท้จริง
เบนชีวิตสู่ “เกษตรกร” ปลูกต้นไม้หมื่นกว่าต้นในพื้นที่สวน พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้ โรงทานให้คนยากไร้ อุทิศตนกับการเป็นผู้ให้อีกนับไม่ถ้วนในเวลาเดียวกัน
“ผมไม่ชอบทำแนวเรตติ้ง ไม่เอาแนวนั้น ไม่เอาทั้งสิ้น คือ ไปด้วยใจ ช่วยด้วยใจ ช่วยไปอย่างนี้ ไม่ชอบแนวคอนเทนต์ คือ เรื่องจริงของชีวิตคน ผมช่วยเขาจริง แค่นั้นพอ ไม่ได้ต้องการจะทำอะไรให้เกิดผมประโยชน์ต่อเรากลับมา...ไม่เอาเลย
ผมช่วยเพื่อให้เขามีความสุขพอ เราสุขใจ เพราะเขาไม่มีโอกาส ถ้าเราไม่ยื่นมือช่วยเขา เพราะเขาไม่มีโอกาสเลย ผมผ่านมาเยอะ ประสบการณ์ในการช่วยคนหลายปีมาก ยาวนานมาก
หลายคนที่ยังช่วยอยู่ก็เยอะแยะ เพราะคิดในใจตัวเราเอง เรากินแค่อิ่ม เรารู้แค่ว่าเราไม่ได้สนใจ รถมีแค่พาหนะ เราไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอะไร ถ้าเลิศหรูเป็นอะไรไปเราเอาไปไม่ได้”
ใครจะรู้ล่ะว่า จากคนที่เคยหลงแสงสีเสียง ใช้ชีวิตหรู สมัยเป็นนักดนตรีอยู่กรุงเทพฯ เปลี่ยนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย แรงผลักดันให้เชษฐ์ ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต คือ การได้เห็นสัจธรรมของชีวิต เมื่อครั้งไปเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาล
“เดิมทีแต่ก่อนผมอยู่กรุงเทพฯ ผมต้องใช้ชีวิตที่ต้องไปเล่นคอนเสิร์ต มันก็ไม่ได้คิดที่ใช้ชีวิตสมถะแบบนี้ มันจะเป็นคนละแบบ ตอนนั้นจะอยู่กับแสง สี เสียง แต่บังเอิญแม่ผมป่วย ผมก็เลยกลับมาเฝ้าแม่
กลับมาสักพักก็ต้องกลับไปกรุงเทพฯ เพราะมีอะไรค้างคาอยู่เยอะมาก ผมเองก็คิดว่ากลับมาอยู่เฝ้าแม่ก่อน เดี๋ยวแม่หายแล้วค่อยไปกรุงเทพฯ
แต่ปรากฏว่า แม่ป่วยยาวมาก จนเราเองเห็นสัจธรรมทุกวัน ทุกๆ วันที่เราเห็น ที่ออกมาจากห้องที่เยี่ยมแม่ เดินไปเจอคนสวนผ่านไปมา มีคนเจ็บ คนตาย คนแก่ หรือหนุ่มๆ
บางคนรวยมากมาย ก็เห็นทุกอย่าง ใส่ทอง พอเขาจะต้อง X-Ray ก็ต้องถูกถอดหมด แล้วบางคนเสียชีวิตไป ก็เอาอะไรไปไม่ได้ ก็เลยคิดในใจ...ทุกอย่างมันเป็นสัจธรรม เราเข้าใจมันแล้ว
เรารู้สึกว่าตรงนี้มันไม่จำเป็นกับเราอีกต่อไปแล้ว คือ ถ้าเราไปทำอะไรต่างๆ สุดท้ายแล้วเราเอาไปไม่ได้ เราจะต้องใช้เวลาให้มันเสียทำไม ก็เลยคิดว่าชีวิตที่เราเหลืออยู่ มันน่าจะทำอะไร ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้
เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ เราเห็นเด็กบางคนก็ตาย อายุเท่าไหร่ก็ตาย โดยที่ความตายมันอยู่รอบข้างหมด เราเองเราก็ไม่รู้ว่าเราตายเมื่อไหร่ ดังนั้น เวลาตรงนี้ก็เลยฉกฉวยโอกาส มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสังคมให้มากที่สุดในเวลาที่เหลือ มองว่าสิ่งที่เรามีอยู่เราก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี
คิดในใจว่า เราจะทำไปเพื่ออะไร จะเอาไปได้ยังไง สุดท้ายเราก็ไม่มีทางที่จะเอาไปได้สักอย่างเดียว ก็เลยเปลี่ยนวิถีชีวิตครับ”
จากเหตุการณ์แม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยวัยชรา ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของชีวิตในปัจจุบัน ว่า ควรจะรีบทำอะไรสักอย่าง และใช้เวลาให้มันคุ้มค่ากว่านี้
“ตอนนั้นแม่มีความแข็งแรง เป็นคนขยันทำงาน แต่พอเริ่มวัยชราขึ้น เขาก็มีโรควัยชราไปเรื่อยๆ อยู่นานๆ จนพอออกมาจากโรงพยาบาล ก็เข้ากลับไปอีก ไป-มา อย่างนี้ ทำให้ผมเองก็ได้ดูแลเขา ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไป
ยังโชคดีผมยังได้ดูแลแม่ ยังไม่เสียใจ ตอนนี้แม่จากไปแล้ว เป็นธรรมดา แต่เราได้ดูแลท่านในตอนที่มีชีวิตอยู่ได้อย่างเต็มที่แล้ว
และทุกอย่างเราก็ได้ช่วยเหลือพี่น้องสมัยก่อนมาตลอด เราก็เลยไม่เสียใจมาก เพราะว่ารับได้ว่าทุกคนต้องตาย เลยเห็นความตายเป็นธรรมดาไปหมด
เหมือนอาจารย์สอนสัจธรรมเลยครับ เหมือนเป็นคนที่ทำให้เราเห็นด้วยตัว เห็นด้วยตา และนึกคิดด้วยจิตเราโดยแท้จริง โดยที่ว่าความที่เราเห็นทุกวันมันสะสมเรา
เพราะการไปเฝ้าโรงพยาบาลแม่ มันหลายเดือนมาก มันก็ต้องไปทุกวัน ดูแลทุกวัน จนรู้ว่าไม่มีใครที่จะเอาอะไรไปได้เลยแม้แต่คนเดียว คนรวยก็ยื้อชีวิตตัวเองไม่ได้ คนรวยๆ ต่อให้เขามีเงินมาก จะยื้อชีวิตโดยการที่ไปซื้อการแพทย์ต่างๆ เพื่อยื้อชีวิตมันก็ไม่ได้”
ใช้ธรรมนำทาง เปลี่ยนชีวิตเป็นคนใหม่ “แต่ก่อนที่หักดิบก็ไปปฏิบัติธรรม 1 พรรษา เพื่อให้นิ่งกว่านี้ เพื่อให้มันขาดเลย เห็นอะไรเราจะไม่โลภเลย เห็นวัตถุอะไรเราไม่สนใจเลย เห็นอะไรเรารู้ว่ามันไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครจะเอาไปได้ ถึงคนจะแก่งแย่งชิงดีกันเป็นเรื่องของเขา แต่เรารู้ว่าการที่ทุกคนแก่งแย่งชิงดีกันไป สุดท้ายก็เอาไปอะไรไม่ได้ เรารู้ก่อนเขา เราเลยไม่เอาเลย เราไม่โลภใดๆ ทั้งสิ้น พอปฏิบัติธรรมมา เราไม่ต้องการเลย 3 เดือน มันทำให้รู้ว่ายิ่งตัดขาด แต่ผมไม่เคร่งกับธรรมะ ผมรู้หลัก ใช้หลักธรรมของธรรมะมา แค่ใช้เตือนสติเรา ผมรู้จักการปฏิบัติธรรมเยอะ แต่ไม่ได้บรรลุอะไร ก็เป็นคนธรรมดา เข้าใจว่า ธรรมะเป็นความธรรมดา ความธรรมดา เป็นการเกิดแก่เจ็บตายแน่นอน เราฝืนธรรมชาติทุกอย่างไม่ได้ ธรรมชาติจัดสรรทุกอย่างไว้แล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติ เป็นอย่างเดียวกันเลย ส่วนตัวเราเอง เรารู้หลักนี้เลยว่า ตายไปเอาไปไม่ได้ มีอะไรเราก็นึกถึงผู้อื่น นึกถึงคนลำบากยากไร้ คนที่เขาพิการติดเตียง เราจะช่วยเขาตลอด แม้แต่คนลำบาก คนแก่ๆ เข็นของเก็บของเก่า เจอก็ต้องดูแล ไม่ใช่ดูแลอย่างเดียว ไม่ใช่ให้แค่ทางผ่านตรงนั้น แต่ถามว่า บ้านอยู่ไหน จนไปถึงบ้านดูสภาพ ถึงรู้ว่าบางคนลูกเขาเป็นใบ้ด้วย 2 คน มันลำบากแล้ว ลำบากซ้ำทับซ้อนไปอีก เขาเกิดมาลำบากตรงนี้ เราก็พอช่วยเขาได้ เราแบ่งปันให้เขาพ้นทุกข์ในเวลาที่เราพอจะเจียดเวลาให้เขา ผมจะช่วยจนถึงที่สุด สามีเขาติดเตียง ผมก็ช่วยจนเขาเสียชีวิตเลย และผมช่วยดูแลคน ตามไปถึงบ้าน หรือไม่มีบ้าน ผมก็ปลูกบ้านเล็กๆ ให้เขา ผมดูแลยันตายก็หลายคน และมีภาพที่ผมเก็บไว้ จนส่งเข้าพิธีสงฆ์เลยก็มี” |
ปลูกป่าด้วยมือ 2 มือ สร้างลมหายใจอนาคต
เมื่อตัดสินใจว่าจะวางมือจากอดีต มือกลองอย่างเชษฐ์ เขาเริ่มต้นการให้ ด้วยการปลูกต้นไม้หมื่นกว่าต้นบนเนื้อที่ 10 ไร่ของเขาเอง
“ผมเลยเห็นว่า คนรวย คนจน คนอะไรก็ตายเหมือนกันหมด ดังนั้น เราเองก็ต้องตายเหมือนกัน แต่ก่อนจะตาย เราใช้ชีวิตอย่างนั้นมันเสียเวลา ก็เลยหักเหชีวิต หักเหทุกอย่างหมดเลย และเข้าสู่การที่สร้างอะไรที่เป็นธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ สร้างทุกอย่าง ให้มันลืมแสง สี เสียง ให้มันอยู่กับสิ่งที่เป็นจริง ให้อยู่กับป่า สร้างป่าขึ้นมา
ตอนนั้นไม่มีไฟฟ้าด้วย ผมปลูกป่าเป็นหมื่นๆ ต้น และตอนแรกๆ ผมไม่ได้นำไฟฟ้าเข้า ตอนนั้นยังไม่มีบ้านด้วย ปลูกต้นไม้ก่อน แล้วก็วางแผนผัง ตรงไหนมีสระน้ำ มีอะไรล้อมรอบ ใช้เวลานานมาก”
ถึงแม้สวนป่าของเขา เต็มไปด้วยสีเขียวขจี จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ตาม แต่เขามีความเชื่อว่า สามารถเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ช่วยโลกใบใหญ่ได้ รวมทั้งใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สอนดนตรีไทยให้กับเยาวชนในพื้นที่ และเกิดประโยชน์ในอนาคตได้
“ผมคิดว่า ผมเป็นคนที่ไม่ต้องไปเที่ยวไหน ผมไม่ชอบการไปเที่ยว ไปแสวงหา ไปเขา ไปสูดอากาศดีๆ ที่ไหนก็แล้วแต่
ทุกวันไม่เคยไปเที่ยว กลับบ้านมาอยู่คนเดียว อยู่กับหมา เลี้ยงสรรพสัตว์ เพราะเราต้องการสร้างป่า อยู่กับความเพลิดเพลิน สรรพสัตว์มาขอกิน เราก็หว่านทางให้กิน
บางทีนกมาเล่นน้ำ เราก็ดูมันเล่น เราสร้างเพราะเราคิดว่าต่อไปเราไม่ไปเที่ยวที่ไหน เราจะสร้างเหมือนเป็นที่เราอยู่ในการเที่ยวบ้านของเราเองทุกวัน
จนคนอื่นเขาเห็นทางเฟซบุ๊ก ก็ขอเข้ามา ตอนหลังเลยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ไปเลย แต่ตอนนี้ปิดอยู่นะครับ แต่ตอนเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ คนมาศึกษากัน
ผมศึกษาจากธรรมชาติเลย ผมเรียนรู้จากธรรมชาติ ตอนแรกยังไม่มีต้นไม้เลย มันเพิ่งถมดิน เพิ่งขุดร่องสวน มันก็ไม่มีต้นไม้ ปรากฏดินดานมันขึ้นอยู่ข้างบน มันก็ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น ตายไปหลายรอบ ผมก็เรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าปลูกอะไรก็ตาย เพราะยังไม่ได้ปรับดิน
เรารู้สึกท้อแล้ว เพราะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น สุดท้ายก็มาดูว่าทำไมบางต้นปลูกขึ้นเองได้ เราก็สังเกตว่า ทำไมบางอันขึ้นได้ เราก็คิดว่ามันไม่ยากหรอก เพราะมันขึ้นแบบธรรมชาติได้
ต่อให้เป็นดินดาน เราก็ไม่กลัวแล้ว เราก็หาวิธีที่ทำ ปรับดินให้มันดี ใช้ปุ๋ย หรืออะไรที่เรามีอยู่ หาวิธีที่ทำให้มันขึ้นได้ในดินดาน จนสู้กับมันมาจนสำเร็จแล้ว แต่ดินอื่นๆ ยังไม่กล้าสู้”
แน่นอนว่า การอุทิศทำเพื่อสังคม ต้องใช้ ทั้งแรงกาย แรงใจ ที่อยากจะช่วยเหลือ ผู้อื่นด้วยใจจริง รวมทั้งหากจะช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้ ต้องมีเรื่อง “เงิน” มาเกี่ยวข้อง อีกทั้งข้อกังขาต้องมีชีวิตที่สุขสบายก่อน กลับไปมองที่ผู้อื่น
และนี่คือ คำตอบของนักดนตรีมากความสามารถ ที่ให้คำตอบกับทีมสัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมา ยิ่งทำให้รู้จักเขามากยิ่งขึ้น...
“ผมขายบ้านที่กรุงเทพฯ ทิ้งหมดเลย และผมเอาเงินมาปรับพื้นที่พัฒนาชุมชน คือ แปลง 7 ไร่ ผมทำโรงทาน แต่ทุกวันนี้ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของผมแล้ว พอแม่เสียไปก็เป็นของพี่สาวแล้ว
แต่ตอนนี้ก็เจริญไปอีกแบบ ชาวบ้านมาทำมาค้าขาย ผมก็สร้างเป็นคนที่บุกเบิกไว้แล้ว จากนั้นทุกที่เหลือ ผมก็เอามาทำตรงบ้านผม ผืนดินที่ผมอยู่ ทำเป็นป่าด้วยมือ 2 มือของผม เราจะจ้างสำหรับที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น อย่างเช่น รถที่ต้องขุดตักดิน
ตอนแรกเป็นที่โล้นๆ เลย ตอนนี้เป็นป่าที่ผมสร้าง การปลูกป่าปลูกด้วยมือผม ใช้ระยะเวลาจนถึงตอนนี้รวมๆ ก็ 20 ปีได้ บางต้นก็ปลูกไว้ 20 กว่าปี บางต้นก็หลายๆ รุ่น ตอนนี้ก็เพาะเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เพื่อจะปลูกเพิ่มเข้าไปอีก และไม่หยุด
ผมปลูกเอง เพราะแต่ก่อนมันเป็นที่โล้น มันเป็นพื้นที่ท้องนา แล้วผมก็ปรับเป็นร่องสวน ดังนั้น ก็ไม่มีต้นไม้สักต้น ผมปลูกปรับเป็นร่องสวน มีน้ำผ่าน ปลูกได้เรื่อยๆ ใช้ระยะเวลา 20 ปีครับ
ถ้าเกิดทุกวันนี้ ใช้กินอยู่คนเดียวชาตินี้ก็กินไม่หมด เพราะว่าตอนที่ขายบ้านไป เป็นสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตต่างๆ ไว้เยอะแยะ
ส่วนที่เหลือก็มาเวนคืน ให้มอบคืนกับสังคม และผมเป็นคนที่ขยันทำกิน ไม่ว่าจะการเกษตรผมก็เก็บกิน แล้วขาย และผมก็มีพรีเซ็นเตอร์ 2 ตัว ไม่ใช่แค่ถ่ายทำอย่างเดียว จ่ายเงินเสร็จนะครับ เขายังทำบุญต่อเนื่องกับผมตลอด และผมมีกัลยาณมิตรที่เยอะมาก
โชคดีที่ผมทำมาหลายปี มีสายบุญของผมแต่ละสายที่ร่วมบุญกับผม มาสร้างความยั่งยืนไปสู่คนมากขึ้น ที่เราช่วยเหลือได้มากขึ้น จากที่เราได้ช่วยคนหลักร้อย เดี๋ยวนี้ช่วยเป็นหลักพัน
ผมเองก็มีธุรกิจส่วนตัว คือ การเกษตรของผม แต่ผมเอาแค่มีกินมีใช้ นอกนั้นผมแบ่งปัน แต่ถ้าผมทำธุรกิจผมก็รวย ปลาผมเต็มมาก ผมไม่ค้าขาย เพราะเป็นเขตอภัยทาน ถ้าผมเอาปลาขึ้นมาผมได้ทีกี่ล้าน กี่แสนก็บ่อ แล้วมีล้อมรอบไม่รู้กี่บ่อ แต่ผมไม่ทำไง
ผมไม่ชอบจะเป็นคนรวย เป็นคนที่มีเงินเยอะๆ มีเงินกี่ล้าน แต่ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ผมไม่สนแล้ว และชีวิตเขาชีวิตเรา ใครชอบแบบไหนก็แบบนั้น
การเกษตรมันมีหลายแบบ แต่ผมเลือกที่จะใช้ผักที่ปลอดสาร และผลไม้ที่เราไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เราให้นกกินบ้าง เรากินบ้าง ให้ประชาชนกิน ให้เด็กๆ เอาไปขาย ได้เงินไปโรงเรียน ผมแนวนี้ คือ คนไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร”
ตัดโลกดนตรี สู่การอุทิศตนเพื่อสังคม
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เขาคือนักดนตรี ฝากฝีไม้ลายมืออยู่กับวงการดนตรีมานับว่าเป็นระยะนานหลายปี เมื่อย้อนกลับไปในยุคเพลงประเภทอัลเทอร์เนทีฟไทยรุ่งเรือง คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักมือกลองอย่าง “เชษฐ์ สไมล์ บัฟฟาโล่”
จากความโด่งดังในวงการดนตรีที่โลดแล่นอยู่ บางคนอาจจะติดอยู่กับสังคมที่หรูหรา ปาร์ตี้ เงินทอง เพื่อนฝูงมากมาย แต่ไม่ใช่สำหรับเขาคนนี้ ที่หันหลังให้กับวงการบันเทิง เพื่อเข้าสู่เส้นทางสายสมถะ มีความสุขกับสิ่งเรียบง่าย ไม่ต้องปรุงแต่ง
“ตอนแรกมีปัญหา เรื่องผมไม่ค่อยจะรับงาน แต่เพื่อนๆ เข้าใจ เพราะที่วงแต่ละคนมีความสามารถกันหมด เขาเปิดห้องอัด มีงานทำ
คือ กลายเป็นว่า เขาไม่ได้ว่าอะไรเราแล้ว แต่ตอนนี้เราก็เกรงใจ ในยุคนี้เขาจะติดต่อมา เพราะตอนนี้เขาย้อนยุคจะเอารุ่นเก่าๆ มาทำใหม่ เล่นคอนเสิร์ต เราก็เข้าใจ ก็รับเป็นบางงาน นี่ก็เพิ่งรับไปเป็นของเดือนหน้า
แต่ก็บอกไปว่าอย่ามากมาย เพราะเราเองเราไปทำแค่หน้าที่ เราไม่ได้แนวหลงระเริง เราไม่ได้สนใจอะไรแล้ว เขาก็เข้าใจ
คือ บางครั้งเราเห็นสมควร อย่างเช่น เขาต้องการยุคนี้ แล้วสไมล์บัฟฟาโล ถ้าไม่มีมือกลอง มันก็ไม่ใช่ มันต้องมีมือกลองที่เป็นผม ยังไงก็ขาดผมไม่ได้หรอก
เราก็เข้าใจว่า สิ่งนี้เราต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนสมาชิกด้วย เราอย่าลืมสิ่งที่เราเคยสร้างตำนานไว้เขาเรียกกลับตำนานสักครั้ง สองครั้งก็ไม่เป็นไร แต่ยาวๆ ไปคงจะไม่ได้ เพราะภารกิจผมมันเยอะ”
แต่ด้วยวิชาชีพและความรักในเสียงดนตรี ธรรมะและดนตรีจึงสามารถผนวกไปด้วยกันได้อย่างลงตัว สอดคล้องเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไปกับธรรมะ ทั้งฆ่ากิเลสในใจ และสร้างความสุขด้วยตนเอง
“วิถีชีวิตก็เหมือนเดิมครับ กินง่าย อยู่ง่าย ไม่ยึดติดกับอะไร ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แต่ว่ามีอะไรที่ให้นึกถึง กับการที่เราต้องไปช่วยบ้านที่เราต้องดูแล และคนรอบข้าง เด็กๆ ต่างๆ ที่เราส่งเรียนหนังสืออยู่ ก็นึกถึงแค่นั้น และวันๆ ก็หมดแล้ว ไม่ได้ไปคิดมาก ไม่ต้องไปวางแผนผัง
ไม่ต้องไปสนใจอนาคตว่าจะเป็นยังไง อย่าไปสนใจ มันไม่มีจริง อนาคตถ้าทำแต่ละวันให้ดีๆ วันอื่นๆ มันจะดีเอง มันไม่มีจริงหรอก
มันต้องทำไปเรื่อยๆ มันต้องวัดจากปัจจุบัน อนาคตมันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ใฝ่ฝัน เพราะบางคนบอกว่าอยากจะเป็นอย่างนี้ แต่ผมไม่เคยเชื่อ มันทำตัวอย่างนี้มันจะเป็นได้ยังไง ก็เลยต้องมาปรับเปลี่ยนความคิดเขาให้ทำอย่างนี้”
ทำความดี ไม่ต้องรออนาคต!!
แน่นอนว่า หากใครได้ติดตาม คงจะทราบกันดีว่า ก่อนที่จะมาเปิดศูนย์การเรียนรู้นั้น เขายังเปิดโรงทานช่วยคนยากไร้ อีกทั้งยังผันตัวเองไปเป็นชาวนาปลูกข้าว ก่อนจะเจอปัญหา จึงพัก “นา” เอาไว้ก่อน
“ศูนย์การเรียนรู้จะเป็นการเกษตร เพราะเด็กๆ ไม่รู้จักเลยสักต้นว่าเรียกว่าอะไร แต่เรามีทุกต้น มีระบบนิเวศที่ดี ก็ต้องมีทุกอย่างนานาพันธุ์
ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่เด็กๆ ไม่เคยเห็น หรือเป็นไม้โบราณ ไม้ในสมัยพุทธกาล ก็มีให้เห็น อย่างเช่น ต้นหว้า แต่ถ้าเป็นต้นไม้แพงๆ ก็มี พะยูง…ตอนนี้ผมปิด เพราะผมมีโลกส่วนตัว และเป็นป่าหมดแล้ว แล้วมีโรคระบาดมา เลยทำให้ผมไม่อยากเจอคนไปมากกว่าขึ้นไปอีก”
ไม่แปลกที่ “เชษฐ์”จะกลาย “พี่เชษฐ์” หรือ “ลุงเชษฐ์” ของใครหลายคน เพราะเขาไม่เคยปฏิเสธการช่วยเหลือผู้อื่น ใช้ทั้งเงินส่วนตัวที่หามาได้จากการเล่นดนตรี และสายบุญที่หยิบยื่นน้ำใจเข้ามาช่วยเหลือส่งต่อผู้อื่นอีกนับไม่ถ้วน
พร้อมใช้หลักธรรมนำทางในการดำเนินชีวิต และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อพบความสุขมากยิ่งขึ้น
“ความสุขของผม คือ แค่เห็นคนจนมีรอยยิ้ม มีกินมีใช้ ในสิ่งที่เราพอช่วยได้ตามกำลัง ให้เขามีกำลังใจลุกขึ้นสู้ ไม่คิดว่าโดนถูกทอดทิ้ง เพราะคนจนก็มีคุณค่าเหมือนกัน และคนจนมีบทบาทจากคนที่เหมือนอยู่ขุมนรก ที่สังคมไม่เอา แล้วเราฉุดเขาขึ้นมาได้
เราเห็นรอยยิ้มคนจนที่ตกทุกข์ได้ยาก ที่สังคมรังเกียจ ขับไล่ ไสส่ง แต่เราไปฉุดชีวิตเขาขึ้นมาได้ เราก็ให้เกิดมีชีวิตใหม่ที่ดี แค่นี้เราเห็นความสุขของเขาเราชื่นใจแล้ว ไม่ได้ต้องการสิ่งใดทั้งสิ้น”
สุดท้ายสำหรับอนาคตต่อไปหลังจากนี้ ถามเขาว่าคิดจะมีโปรเจกต์หรือโครงการอื่นๆ อีกหรือไม่นั้น “ไม่ต้องรออนาคต” ผู้ที่ให้เสมอ อย่างเขาให้คำตอบ พร้อมบอกถึงเจตนารมณ์กับสิ่งที่มุ่งหวังให้คนตกทุกข์ได้ยาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ตอนนี้ทำแล้วครับ เป็นศูนย์คนจนต้องดิ้นรนเรื่อยไป เพื่อให้เด็กมีกินมีใช้ และไปโรงเรียนได้ มีอาชีพ เป็นคนที่แบ่งปันได้ มีจิตอาสาได้
เป็นคนที่สืบทอดและสานต่อในสิ่งดีต่อไป เด็กๆ พวกนี้ก็จะเป็นจิตอาสา ไม่ต้องรออนาคตครับ ทำเลย อย่าไปเที่ยวพูดว่าอนาคตจะเป็นแบบนี้ ผมมองว่าทำเลยดีกว่า เดี๋ยวทุกอย่างมันจะเห็นเอง”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “วรเชษฐ์ เอมเปีย”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **