เปิดใจ “เข้ม-ทศพร” ไรเดอร์ ขับส่งอาหาร-พัสดุ ทำรายได้ช่วงโควิด กลับพลิกผันสู่นักเขียนนิยาย แต่งฝันนิยาย ระบายอารมณ์ ลดความกดดันงานประจำ ติดTop 3 อันดับสูงสุด รวมรายได้ 7 หมื่น ท่ามกลางการสู้กับชีวิต คำครหา “นักเขียนไส้แห้ง” และนี่คือคำตอบของเขา
แจ้งเกิดเพราะ “แค้นใจนิยาย-หงุดหงิดท้องถนน”
แป้นพิมพ์ พร้อมโทรศัพท์ 1 เครื่อง ที่มาพร้อมรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ผู้อยู่เบื้องหน้าผู้สัมภาษณ์ คือ “เข้ม-ทศพร พันธานนท์” เจ้าของนามปากกา Mr.Montora วัย 30 ปี ผู้แต่งนิยายแฟนตาซีเรื่อง “ข้าจะเป็นหมอยา” ที่ปัจจุบันทำอาชีพ “ไรเดอร์” และเขียนนิยายออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน
เขายอมรับว่า แม้งานประจำอย่าง delivery จะมีค่าตอบแทนในช่วงโควิด แต่ใครจะรู้ล่ะว่าในช่วงเวลานี้ เขาใช้เวลาว่างอ่านนิยายออนไลน์ทุกวัน จนวันหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ อยากหวนกลับมาแต่งนิยายของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง จึงตัดสินใจแบ่งเวลามาแต่งนิยายแฟนตาซี และในเวลาไม่นาน นิยายเรื่องนี้ก็ก้าวขึ้นไปติดท็อป 3 ในหมวดนิยายแฟนตาซี และกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ อีกทั้งช่วยปลดเปลื้องแรงกดดันในการทำงานที่มีอยู่
“ที่มาเขียนนิยายเพราะว่า เราอยากจะเขียน เพราะเราแค้นนิยายเรื่องนึง ซึ่งผมจะชอบอ่านนิยายที่รักษาคน การเป็นหมอ แต่นิยายเรื่องนี้เป็นของจีน
พระเอกเป็นหมอ สืบทอดวิชามาจากอาจารย์ แต่มันกลับวนลูปอยู่กับผู้หญิง คือ ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง ยังรักษาไม่ถึง 10 คน
เรามองว่าอย่าเรียกว่าเป็นหมอเลย เพราะคุณยังรักษาไม่ถึง 10 คน คุณก็ใช้แต่อำนาจ ในการสร้างเพิ่มพูนในตัว โดยที่ไม่ได้สนใจประชาชน
อาชีพเป็นหมอเราต้องรักษาคน วนแต่ผู้หญิง 20 คน ล้อมตัวเป็นฮาเร็ม (Harem) เลย เรารู้สึกว่ามันไม่โอเคสำหรับเรา เมื่อเรามีประสบการณ์เคยเขียนมาก่อนเรื่องแรก และมีประสบการณ์ในการอ่านนิยายที่มันหลากหลายเป็นร้อยเรื่อง ในระยะ 10 กว่าปี มันทำให้เราสามารถเขียนนิยาย 10 ตอนแรก ใช้เวลาแค่ 4-5 วัน
วันแรกๆ คือ วันละ 2 ตอน อัดเข้าไป พิมพ์วันแรกน่าจะเดือนกันยาฯ ปีที่แล้ว มันทำให้เรารู้สึกไปกับมัน การเขียนนิยายมันแปลก เขียนแล้วเหมือนเราได้ปลดปล่อยตัวเอง จากการที่เราได้ไปเจอท้องถนน คือ มันได้ผ่อนคลายอีกรูปแบบเลย มันก็เหมือนเป็นศิลปินที่ได้สร้างสรรค์
ผมเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม ที่จะเน้นพิเศษคือผจญภัย และนิยายกำลังภายใจ เพราะเราเป็นสาย active
นิยายเรื่องแรกที่ผมเขียนเกือบ 10 ปี แล้ว เขาทวงทุกวัน เราก็ยังไม่กลับไปเขียน เขียนมาตั้งแต่ตอนช่วงบวชใหม่ๆ ตอนนั้นเรายังไม่เคร่งอะไรมาก เราเขียนตอนนั้นเพราะว่าเราชอบทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราสามารถเอามา move กับการเป็นนิยายได้ คือ พระเอกข้ามไปอยู่อีกจักรวาลนึง ที่มีพลังพิเศษมากมาย เราสามารถใช้จินตนาการได้
เราเขียนไปแล้วบวช และศึกษาพระธรรม ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับการที่สงฆ์จะมาทำเรื่องเหล่านี้ เราก็เลยเบรก และทำหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ให้เสร็จ”
เขาเรียกเราว่า “Hero” หากจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจลาออกจากพนักงานปั๊ม มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะอยากมีเงินมาจุนเจือครอบครัว “ถ้าขยันได้เงินเดือนละ 30,000-40,000 แต่ standard เกินเดือนละ 15,000 อยู่แล้ว ถ้าวิ่งทุกวัน ตกวันละ 500-600 นี่คือ standard เลย แต่ถ้าคนขยันเก่งๆ เทพๆ 15 วัน ก็ทำได้ 50,000 บาท ตั้งแต่โควิดเข้ามา พวกผมดีใจมาก เพราะว่าลูกค้าไม่ออกจากบ้าน มันกลายเป็น delivery ถือว่าเป็นความคิดแรกที่ลูกค้าจะเรียกใช้งาน มันทำให้เรามีงานมากขึ้น และตอนที่เขาล็อกดาวน์ รถไม่มี ทำให้พื้นที่ในการที่เราไปรับส่งอาหารท้องถนนโล่ง พอโล่งแล้ว เราก็ขับรถสบายๆ อุบัติเหตุเกิดน้อยมากครับ แต่มันจะค่อนข้างเสี่ยงหน่อย เพราะเราอาจจะต้องไปเจอเชื้อไวรัส เจอโควิด มันทำให้ตอนนั้นเขาเรียกเราว่า hero ทุกค่ายคือ hero หมด ทุกคนจะต้องเข้าไปส่งอาหารให้ลูกค้า ต้องไปเจอ ต้องไปเสี่ยงภัยแทน สุดท้ายเขาก็ให้เกียรติเรา แต่พอหมดหลังโควิดมา เริ่มจางลง เขาก็กลับไปเป็นลูปเดิม คือ บางที่ก็ทำดีต่อไป บางทีก็กลับไปเละเหมือนเดิม” |
บันดาลใจจากชีวิตจริง ช่วย “ยายทวด” รักษาผู้คน
สำหรับนิยาย “ข้าจะเป็นหมอยา” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยายชวด ที่เป็นหมอเก่ามาก่อน ถูกยายเล่าเป็นตำนานให้ฟัง
แต่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ที่เขาบอกกับทีมสัมภาษณ์ไว้ว่า ด้วยประสบการณ์การเป็นนักอ่านมาก่อนนั้น ทำให้เขาเข้าใจผู้อ่าน มีความเกรงใจเสมอ ทำให้ไม่กล้าเปิดขายนิยายของตัวเอง โดยกว่าจะตกผลึกเรื่องราวเหล่านี้ มาใช้ในงานเขียนจะต้องสะสมประสบการณ์ไม่น้อย
“ของผมเคยติด Top สูงสุด น่าจะเป็นอันดับ 3 ของหมวดแฟนตาซี และติดอันดับที่ 50 ของหมวดรวมใหญ่
ถ้าเป็นนักเขียนนิยายไทยระดับตัวอักษรไม่ค่อยเยอะ ประมาณ 6,000-10,000 ตัวอักษร เขาจะมีเรตประมาณ 1.5 บาท
เราก็ทำเหมือนเขา เพราะเราก็พิมพ์ประมาณ 5,000-7,000 ตัวอักษร ถ้าเข้าไปอ่าน จะเห็นเลยว่าเขียนไว้กี่พันตัวอักษร โดยไม่นับจุด เรานับแต่ตัวอักษรอย่างเดียวที่พิมพ์จบตอนปั๊บ เราถึงจะนับแค่ถึงช่วงนั้น พอเราได้เรต เราก็ใส่ 1.5 บาทต่อตอน วันแรกขายได้ประมาณ 100 กว่าบาท รู้สึกดีใจ
นิยายของผมถูกมาก และอินดี้ พอผมเริ่มขายได้ เดือนแรกผมได้ 2,000 หลังจากหักค่าดำเนินการทุกอย่าง พอมาเดือนที่ 2 เว็บ Dek-D ติดต่อสัมภาษณ์เข้ามา เขาก็เลยโปรโมตช่วย มันเลยทำให้เปิดโอกาส
เขาทำหน้าปกให้ เขาสนับสนุน แล้วก็ในเว็บ Dek-D เขาจะมีบอร์ดนักเขียนที่มีจากทีมงานด้วย นักเขียนท่านอื่นด้วย มาแนะนำสำหรับมือใหม่ หรือที่เขียนเป็นแล้ว ก็จะมาแนะนำวิธีการตั้งราคาเหรียญเหมาะสมไหม คือ เข้ามาพูดคุย มันทำให้วงการในเว็บค่อนข้างที่จะอบอุ่นในระดับนึง
เพราะเขาไม่ได้ดูถูกนิยายกัน บางเรื่องไป copy มา เขาจะเข้ามาเตือนว่าเรื่องนี้มัน copy มาแล้วเอามาขาย โดยที่ไม่ติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเคสล่าสุด แล้ว Dek-D ก็เข้ามาดูแลเร็วมาก”
ความหลงใหลในความ “แฟนตาซี” ผ่านมุมมองของเข้ม มองว่า มีเฉพาะกลุ่ม กลับช่วยพยุงให้เขายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อลองสังเกตดูก็จะพบว่า นักเขียนนิยายแฟนตาซีมีไม่มากนัก
“ตอนนั้นอยู่ในช่วงหลัก 30 ตอน การเขียนนิยายของผม คือ ผมจะมีเวลาพิมพ์จบตอน ผมจะมีใส่ ปล.ไว้พูดคุยกับผู้อ่าน แล้วผู้อ่านเขาจะมาคอมเมนต์ตอนนั้น เราก็จะรู้แล้วว่าเขาคุยอะไรกับเรา
ทำให้รู้ว่าในหัวข้อของนักเขียน จะมีโชว์ยอดวิว โชว์การกดหัวใจ โชว์คอมเมนต์ว่าผู้อ่านรู้สึกยังไง เราสามารถเรียลไทม์กับเขาได้เลยว่า คุณอยากได้แบบไหนเราก็ใส่เข้าไปบ้าง
ถ้านิยายไม่เละ เราก็จะเอาไปใส่ให้ พอเป็นแบบนั้นเรารู้สึกว่ายอดมันสูงมาก แล้วตอนนั้นขึ้นไปติด 1 ใน 20 แล้ว ใน 30 ตอนแรก ถือว่างงเหมือนกันมาได้ยังไง เพราะนิยายของผมจำนวนตอนไม่เยอะมาก
และเราเพิ่งลงได้เดือนสองเดือนเอง มันน่าจะไม่ไวขนาดนี้ ก็คงเป็นความแปลกใหม่ของนิยายฟรีสไตล์ของโหมดแฟนตาซีตอนที่เราลงมันเป็นการฉีกเลย เพราะ 1 ใน 10 แทบจะเป็นเกี่ยวกับระบบแนวเกม มันทำให้นิยายเราเป็นนิยายที่ฉีกไปเลย แล้วมันหาแทบจะไม่ได้แล้วในนิยายแฟนตาซีของไทย
เพราะว่าแทบจะไม่มีคนเขียนแนวนี้แล้ว ที่เป็นแนวไทยๆ ที่ความรู้สึกของคนไทยมันซึมซับง่ายกว่า นอกนั้นก็เป็นแนวจีนจ๋าไปเลย ทำให้มีผู้อ่านเขาอยากอ่านแนวนี้บ้าง เลยกลายเป็นจุดสนใจที่มีคนเข้ามาอ่าน และเขาพร้อมที่จะสนับสนุนเรา ตรงที่ว่าเราได้คุยกับเขา เราขออนุญาตเขาก่อน
ผมก็จะสอบถามความคิดเห็นก่อน ว่าจะเปิดเหรียญแล้ว เพื่อหาค่าน้ำค่าไฟ เราก็จะบอกตรงๆ พอมีคนมาคอมเมนต์เป็น 10 คอมเมนต์เหมือนกัน ว่า เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนเรา
เราถึงเปิด เพราะบางทีเขาก็เกรงใจ ถามเราว่าเมื่อไหร่จะเปิดขายสักที ก็เกรงใจอ่านฟรีมาหลายตอนแล้ว เราก็ถามว่าจะดีเหรอ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้ติดต่อประสานการขายเลย”
กว่า 10 ปีที่อยู่ในเส้นทางนักเขียน และนักอ่าน เข้มได้สานต่อความฝันด้วยการใช้ประสบการณ์การเป็นนักอ่าน มาช่วยในการแต่งนิยายในสังกัด Dek-D เว็บไซต์ยอดนิยมของวัยรุ่นไทย ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้
“ที่เห็นตอนนี้มีให้เลือกอ่านเยอะมาก มี NovelRealm, Thainovel, Dek-D, Fictionlog, Meb มีเป็น 10 เว็บ แต่เราร็สึกว่าเราผูกพันกับ Dek-D มาก่อน เราอยู่ Dek-D มาตั้งแต่สมัย 10 กว่าปีที่แล้ว
เราได้ทั้งที่เขาแนะนำการศึกษาด้วย และเราอ่านนิยายจาก Dek-D เป็นที่แรกเหมือนกันที่เป็นนิยายออนไลน์นะครับ
มันทำให้เรารู้สึกว่าผูกพัน และง่ายกว่า เพราะตึก Dek-D ก็อยู่ข้างบ้าน ถ้าเรามีปัญหาจริงๆ เราสามารถติดต่อกับเขาได้ไวกว่า
กลุ่มคนที่อ่านหลากวัยมากเลยครับ มีตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นยันจนไปวัยพี่ๆ ระดับสูงอายุเลยที่เข้ามา แล้วบอกว่าชอบ มีบางคนพิมพ์รู้เลยว่าเขาเป็นระดับรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา
คือ Dek-D เป็นเว็บที่ไม่จำกัดอายุ คุณสามารถมาได้ทุกวัย เพราะนิยายเรามีทุกประเภท สืบสวนสอบสืน freestyle นิยายแฟนฟิค ที่หลากหลายมากจริงๆ นิยายเป็นหลักแสนเรื่อง”
หยุด “นักเขียนไส้แห้ง” เมื่อออนไลน์ได้ผล
“ถ้ารวมนิยายเรื่องที่สร้างรายได้ ตั้งแต่ขายวันแรก คิดเงินวันแรกที่ทางแอปฯ จ่ายกลับมา ก็ประมาณตั้งแต่เดือนมกราฯ ยาวมาจนถึงเดือนนี้ ก็ได้เงินประมาณ 7 หมื่นบาท เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่น
เพราะบางเดือนเราได้น้อย ได้มาก ผู้อ่านเราจะเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีคนอบนิยายเราเยอะ ก็ถือว่าช่วยให้เรามีรายได้ตรงจุดนี้ เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเยอะขนาดนี้ด้วย เพราะเราเป็นนักเขียน no name ไม่ได้เขียนดีขนาดนั้น แต่ก็ยังมีคนมาช่วยสนับสนุนเรา เรารู้สึกว่าเราดีใจแล้ว
แค่ 1,000 บาท เราก็ดีใจแล้ว เอามาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จุดนั้นที่เราเก็บเงินวันแรก ความตั้งใจคืออยากจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จนกลายเป็นเขามาช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวเราได้ ทั้งค่ากิน ค่าอยู่”
แน่นอนว่าอาชีพ “นักเขียน” ในเมืองไทยในอดีตยังคงผูกกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หากไม่ใช่นักเขียนชื่อเสียง มีนักเขียนน้อยคนที่จะสามารถอยู่ได้โดยไม่มีสังกัด
อาชีพนักเขียน จึงมักมีคำพูดติดปากไว้ว่าเป็น “อาชีพไส้แห้ง” และติดใจใครหลายคนมานาน เฉกเช่นนักเขียนที่นั่งอยู่ข้างหน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้ ที่เคยมีเส้นทางการเขียนนิยายเรื่อง “ชาวนาหน้าโหด” แต่กลับต้องหยุดไว้เพียงชั่วคราว จนกระทั่งจนถึงวันนี้
“เรื่องนี้เหมือนกรอกหูเรามาเมื่อก่อน อย่าง เจ.เค.โรว์ลิง (J.K. Rowling) กว่าจะเขียน Harry Potter ส่งสำนักพิมพ์ได้ ใช้เวลากี่ปี เขียนไปแล้วโดนสำนักพิมพ์ตีกลับ
แล้วคุณจะทำอะไรต่อในช่วงนั้น ที่คุณไม่มีรายได้ คุณเขียนนิยายแต่คุณไม่มีรายได้การขาย มันเป็นภาวะที่เราคิดว่าไส้แห้งจริงๆ
มันอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ทำอาชีพอื่นด้วย เพราะจะให้มานั่งเขียนนิยาย แล้วส่งสำนักพิมพ์ตายแน่นอน แล้วเขาก็ไม่การันตีว่านิยายเราจะดัง มันกลายเป็นว่ามันมารอความหวังเรื่องพวกนี้ไม่ได้”
และหากจะอยู่ได้ก็ต้องใช้เวลาสั่งสมฐานของแฟนหนังสือมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เน้นงานตามตลาดที่เป็นกระแสด้วยเช่นกัน การผันเปลี่ยนจากยุคอนาล็อก สู่ยุดดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามา จึงมีบทบาทมาก เอื้อ และช่วยให้เหล่านักเขียน มีรายได้ยิ่งขึ้น
“เมื่อก่อนเราจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการอ่านนิยาย ต้องไปร้านคอมฯ ต้องมีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน มันถึงจะเข้าถึงนิยายออนไลน์ได้ พอเป็นแบบนั้น ในยุคสมัยสมาร์ทโฟนที่ทุกคนมี แอปฯมีการเข้าถึงง่ายขึ้น เราสามารถดูนิยายได้
ง่ายขึ้น
มันทำให้ตอบโจทย์มากกว่าว่า เราไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงสำนักพิมพ์แล้ว สำนักพิมพ์ก็มีอีกตัวเลือกที่ผู้อ่านบางท่านยังชอบความเป็นกระดาษ ไม่ใช่ว่าเขาจะทิ้งเลย แต่ผมมองว่า ยุคสมัยนี้กระดาษมันค่อนข้างจะแพงแล้ว มันทำให้ผู้อ่านเข้าถึงยากขึ้น เพราะคุณต้องสั่งจองออนไลน์ หรือคุณต้องไปที่ร้านค้า
เราเลยมุ่งมั่นมาที่การเขียนออนไลน์มากกว่า มันง่ายกว่า เร็วกว่า และไม่จำเป็นต้องผ่านตัวสำนักพิมพ์ เราแค่ผ่านตัวกลางที่เป็นเจ้าของเว็บแค่นั้นเอง มันคือง่ายมาก
มันทำให้ความคิดไส้แห้งมันเปลี่ยนไป เพราะเราวัดใจกับผู้อ่าน เราไม่ได้วัดใจกับตัวสำนักพิมพ์ว่าเขาจะดันเรารึเปล่า เพราะถ้ายิ่งเรา no name สำนักพิมพ์จะดันยากมาก คุณจะไปดันยังไงในเมื่อคุณไม่มีประสบการณ์มาก่อน
แล้วผู้อ่านจะไปวัดใจเขาว่าเขาจะซื้อไหมเล่มละ 200-300 แต่ของเราตอนละ 1 บาท 50 สตางค์ คุณวัดใจเอาเลย อยากอ่านต่อไหม ถ้าไม่อยากอ่านต่อ คุณก็รอเปิดฟรีไป ผู้อ่านเขาก็สบายใจว่าเรารออ่านก็ได้”
เขาเล่าเสริมอีกว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาเคยเขียนนิยายเรื่องแรกนี้เขียนเพื่อตัวเอง แต่กลับเขียนไม่จบ เพราะในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยประสบการณ์ยังน้อย และยังมีข้อผิดพลาดในหลายๆ ด้าน ทำให้การเขียนในครั้งนั้นมันไม่สนุก อย่างที่ใจต้องการ
“เป็นเรื่องแรกที่รู้สึก impact เพราะเราเป็นนักเขียนหน้าใหม่มากๆ แล้วเราพิมพ์ผิด พิมพ์ถูกอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่ได้จบอักษรศาสตร์ของเอกภาษาไทยมา
มีความรู้บ้านๆ จบ ม.6 มันทำให้เวลาเราพิมพ์ตามความเข้าใจของเรา เราก็เลยโดนเรื่องการเขียนนิยาย ที่ค้อนข้างสับสนมึนงง เราอธิบายสับสน และมีการพิมพ์ที่ตกหล่น สุดท้ายเราก็โดน feedback เรื่องนี้ ว่านิยายคุณมันไม่โอเค
มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่คนเดียว พอมันขึ้นอันดับ 1 คนเห็นเยอะ คนก็เข้ามาอ่านเยอะมากขึ้น มันก็กลายเป็นว่าคนก็ยิ่งเข้ามาแทงความรู้สึกเราไปเรื่อยๆ
คนชมมันก็มี ว่านิยายเรื่องนี้สนุก เพราะว่าบางคนรับได้ ที่มีคำบางคำตกไป เขาก็ไม่ได้ซีเรียส มันก็พออ่านได้ มันไม่ได้ถึงขั้นที่อ่านแล้วตาย บางคนเขาก็อ่านไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็รู้สึกรับไม่ได้จุดนี้ มันก็ไม่ได้อะไรกลับมาอยู่แล้ว เราก็เททิ้งเลย”
คำพูดที่ทิ่มแทงใจที่ผ่านมา กลายเป็นครูชั้นดี ให้เขาเข้มแข็งแกร่ง พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก่อนกลับเข้าสู่วงการเขียนนักยายที่มีชื่อเสียง อย่างทุกวันนี้
“พอโตขึ้น 6 ปี ที่เราทิ้งนิยายเรื่องนี้ไว้เลย ไม่ยุ่ง ไม่กลับไปแตะ เรากลับเข้าไปดูว่าเขามีคอมเมนต์อะไรมาเพิ่ม ก็มีคนมาเขียนว่ารอนะ เรารู้สึกว่าเขายังรอเราอยู่
พอเราโตขึ้น มันทิ้งไป 6 ปี เราก็ผ่านประสบการณ์หลายอย่างมากขึ้น มันไม่ได้ มนุษย์จะหยุดอยู่กับตรงนั้นจุดเดียว แล้วเราไม่โตขึ้นเลย
พอเราผ่านที่บวชมาแล้ว ทำงานมาแล้ว เราเจอสารพัดทุกอย่าง คำดูถูก ที่เราเจอตรงหน้า มันทำให้เรารู้สึกว่าเราโตขึ้น และเราอ่านนิยายช่วงใน 6 ปีที่ผ่านมา เราก็โดนเท แทบจะไม่จบเลย เพราะนิยายจีนมันค่อนข้างเป็นหลายๆ พันตอนขึ้นไปเยอะ
มันกลายเป็นปัญหา ที่เรารู้สึกว่า เราไม่อยากเทเขา เขาอ่านมาตั้งแต่ยุคแรกที่เขาเข้ามาสนับสนุนเรา ให้กำลังใจเรา
เพราะมีครั้งนึงที่เราได้รายได้จากเรื่องชาวนาหน้าโหด คือ เคสที่พ่อตกจากนั่งร้าน ด้วยความเราไม่มีเงิน เราก็ขอโดเนท ขอบริจาค ขอให้สนับสนุนนิยาย เพื่อจะเอาไปช่วยพ่อ เราก็ได้มาประมาณ 2,000-3,000 ส่งเงินมาช่วยดูแลท่าน
มันเลยรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้มันก็มีประโยชน์ มันก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสมอไป จนสุดท้ายเรามาซื้อคอมฯได้ หลังจากขึ้นมากรุงเทพฯ ได้ 2 ปีที่แล้ว พอเรากลับมามีคอมฯ เราก็กลับไปเว็บ Dek-D อีกครั้ง ไป log-in อีกครั้ง แล้วกลับไปดูนิยายที่เราเท
นั่งอ่านคอมเมนต์ว่าเขาเขียนอะไร ที่เขาเขียนใหม่ๆ เขาเขียนว่าเขารอเราอยู่ เรารู้สึกว่ามีคนรอ ในเมื่อมีคนรอ เราต้องกลับไป ต้องทำแล้วล่ะ เพราะเราโดนเทมาเยอะแล้ว เราไม่อยากเทเขาเหมือนกัน”
“ปรับอารมณ์-มีวินัย” หนทางสู่ความสำเร็จ
“เรารู้สึกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่วุ่นวาย มันเหนื่อยต่อการที่ต้องมาเจอผู้คน รถมันก็ค่อนข้างอันตราย”
ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า เขาใช้การเขียนนิยายเป็นงานอดิเรก ลดแรงกดดันจากงานประจำ จนในที่สุดความตั้งใจของนักเขียนหนุ่ม ที่ตอนเช้าออกไปทำงานเป็นไรเดอร์ ส่วนกลางคืนกลับมาเป็นไรท์เตอร์ก็ประสบความสำเร็จ
“แรงกดดันในการทำงานไรเดอร์ ผมมองว่า มันค่อนข้างสูงนะ ทั้งเรื่องจราจร การเดินทางในกรุงเทพฯ มันค่อนข้างจะอันตรายสำหรับรถทุกประเภทเลย ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ รถเก่ง รถกระบะ รถบรรทุก มันทำให้เราแทบจะปล่อยสติกับการกลับรถไม่ได้เลย
จะปล่อยใจในการจะไปมองท้องฟ้าว่าวันนี้สวย ข้างหน้ารถไปแน่นอน ทำให้เราสะสมความเครียด แรงกดดัน จากการที่เราเจอ แล้วเราจะต้องไปเจอร้านที่มีทุกประเภท มีทั้งดูถูกไรเดอร์ รังเกียจ หรือบางที่ที่ดูแลเราดีมากๆ บางร้านน่ารักมาก ที่ดูแลเรา
เข้าไปเหมือนเราเป็นลูกค้าท่านนึง มีน้ำมาเสิร์ฟให้ นี่คือ ถือว่าโอเคเลย มันทำให้เราไปเจอร้าน เราก็ต้องไปเจอถนนที่เราต้องขับไปส่งลูกค้า
ต้องเจอลูกค้าหลากหลายมาก ที่บางคนปักหมุดผิด เราก็ต้องไปส่งอีกที่นึง ที่ด้วยราคาเท่าเดิม โดยเราไม่ได้เพิ่ม เพราะบางทีติดต่อบริษัทค่อนข้างยาก มันก็เลยต้องไปวิ่งฟรี มันก็กลายเป็นสิ่งที่สะสม จนเราต้องไปหาระบาย
บางคนก็ไปออกกำลังกาย ไปเล่นกีฬา เล่นเกม แต่เราการใช้ระบายอารมณ์ของเราได้มากที่สุด คือ การอ่านนิยาย กับการเขียนนิยาย พอเราอ่านเรารู้สึกว่ามันสนุกและผ่อนคลาย
แต่นิยายบางเรื่องมันช่วยขัดอารมณ์เรา เราก็เลยเอาสิ่งนี้มาเขียนเพื่อระบาย มาหาจุดที่ไม่ซ้ำกับเขา เปลี่ยนยังไงก็ได้ ให้มันดูมีทิศทางที่ดีกว่า แล้วเราก็เอาประสบการณ์ที่เราเจอทั้งในชีวิตประจำวัน เจอทั้งในนิยายที่เราอ่านมาก่อน เอามาใส่”
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามไรเดอร์ ที่มากฝีมือในการเขียนผู้นี้ เปรียบเทียบการทำงานระหว่างงานเขียนกับงานการดีลิเวอรี่ ผ่านสายตาที่มุ่งมั่น และคำพูดที่ตรงไปตรงมา เขามองว่า แม้จะมีจุดคล้ายกันหลายเรื่อง แต่โดยรวมแล้ว การเป็นไรเดอร์มีความกดดันในทุกมิติ ทั้งการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงรถที่ขี่ ส่วนงานเขียนจะมีช่วงหมดไฟ ที่ต้องปลุกกำลังใจจากตัวเราเอง
สุดท้าย ยังได้พิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นๆ ได้เห็น และมีแรงบันดาลใจ ว่าทุกคนก็สามารถทำหน้าที่ และอยากตามฝันของตัวเอง จนประสบความสำเร็จได้
“การแบ่งเวลาไม่ยากครับ เช้าเราออกจากบ้านประมาณ 8 โมงครึ่ง ก็ยิงยาวไปจนถึงช่วงบ่ายโมงครึ่ง แวะกลับบ้านมาทานข้าวถ้าเราอยู่ใกล้ๆ
เราก็จะใช้เวลาในช่วงพักประมาณ 3-4 ชม.ก่อน 5 โมงเย็น ที่จะเป็นช่วงพีก order จะมานั่งเขียนนิยายบ้าง ฟังเพลงบ้าง เพื่อปรับอารมณ์ก่อน
ก่อนเขียนนิยายจะปุบปับมาเขียนเลย มันไม่มีทาง มันยากมากครับ เพราะบางทีกว่าเราจะหาจุดที่เราพร้อมจะเขียนมันค่อนข้างยาก เราก็เลยมานั่งปรับอารมณ์ และใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งในการเขียนนิยาย 1 ตอน
ถ้า Dek-D ไม่สัมภาษณ์ ผมก็จะไม่บอกใครที่บ้านเลย ว่าผมเขียนนิยาย ผมจะบอกแค่น้องชาย ว่าผมเขียนนิยาย
ผมบอกเสมอมา ถ้าพี่เป็นอะไร เกิดอุบัติเหตุ แล้วเราทำไม่ได้ ช่วยมาบอกในนิยายหน่อย ว่าตอนนี้ผู้แต่งไม่ได้อยู่แล้ว จะได้ทำให้เขาไม่ค้าง เขาจะได้เข้าใจว่ามันจบแล้งแค่นี้
มันเลยกลายเป็นเราไม่กล้า เราอาย จนมาสัมภาษณ์ เรารู้สึกว่ามันก็ไม่น่าอาย มันเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นด้วย
เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้เห็นว่า อาชีพไรเดอร์มันก็แต่งนิยายได้นะ อาชีพอะไรคุณก็แต่งได้ แค่ขอให้คุณรักมัน และทำตามในสิ่งที่คุณอยากทำ นิยายไม่ได้จำกัดแค่ว่า จะต้องสดใส แฟนตาซี สวยงามเสมอไป คุณชอบแนวสืบสวน ฆาตกรรมทำได้หมด
แค่เราไม่ไปพาดพึงความขัดแย้งมากมาย ไม่เกิดเรื่องเกิดราว มันก็ถือว่าชีวิตคุณก็มีความสุขกับกรเขียนนิยาย แค่นี้ก็โอเคแล้ว”
สัมภาษณ์ :ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **