xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเสี่ยงโดนเท-ยาสำรองขาดตลาด? สารพัดปัญหา “จัดการยาโควิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แชร์สนั่น!! ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ร้องเพจดัง ไม่ได้รับยา แม้เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 แพทย์แนะเร่งกระจายยาสู่ร้านขายยาให้ไว “ต้องทำให้เข้าถึงยาได้เร็วที่สุด” แต่ยาสำรองตอนนี้ไม่น่าเพียงพอ!!

ไม่ได้ยาต้านไวรัสแม้เป็นกลุ่มเสี่ยง!?!

กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียลฯ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” โพสต์ข้อความจากลูกเพจที่ส่งเข้ามาระบายความอัดอั้นตันใจ ว่า แม่อายุ 70 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง 608 ตามที่รัฐระบุ

แต่เมื่อไปโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่กลับไม่จ่ายยาให้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มียา ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ พร้อมแจ้งให้เจ้าของเรื่องลงทะเบียนในระบบ และให้รอเจ้าหน้าที่ติดต่อไป เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เธอทุกข์ใจหนัก เพราะที่บ้านมีพ่ออายุ 76 ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกคน



ทันทีที่ประเด็นนี้ถูกนำมาตีแผ่ ก็มีชาวเน็ตจำนวนมาก มาบอกเล่าประสบการณ์ของตนเช่นกัน ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ไปโรงพยาบาลหลังเป็นโควิด-19 ก็ไม่ได้ยาอะไรเช่นเดียวกัน แม้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง 608

ในเวลาต่อ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า ถ้าผู้ติดเชื้อมีภาวะเสี่ยง 608 จะได้รับยาต้านไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง ขึ้นกับภาวะและดุลพินิจของแพทย์ ประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถประสานไปที่โรงพยาบาล หรือศูนย์เอราวัณ ส่วนภูมิภาค ประสานโรงพยาบาลใกล้บ้านได้





เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งบุคลากรด่านหน้า เพื่อให้ช่วยสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะว่าในระบบที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันมีกฎเกณฑ์ และระเบียบค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกัน เราพยายามจะทำให้ประเทศมองดูเหมือนโควิดเป็นโรคธรรมดา เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้

ที่เราเสนอไปหลายครั้งแล้ว คือ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่การทำให้การเข้าถึงยาไปซื้อที่ร้านขายยาเลย ในเมื่อเราไปโรงพยาบาล คนที่ติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อ เดินทางไม่ว่าจะแท็กซี่ หรือรถโดยสารประจำทาง ก็มีสิทธิที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่น

ในโรงพยาบาลเอง ก็ต้องไปนั่งรอ ก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้ ขั้นตอนต่อไปต้องมีการประเมินโดยคุณหมอ หมอเองก็มีอยู่จำนวนจำกัด ก็ต้องใช้เวลารวมทั้งหมดไหนจะนั่งรอ ตรวจประเมิน พอประเมินเสร็จเรียบร้อย ก็มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างเข้มงวด ถ้าไม่ใช่ 608 ก็ไม่ให้ ได้แต่พาราฯ หรือฟ้าทะลายโจร



[ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ]

ในเมื่อเรายังมีปัญหาอยู่ โรคยังไม่สงบ แต่เราอยากเปิดประเทศ ตรงนี้เองต้องทำให้เข้าถึงยาได้เร็วที่สุด และยาก็มีราคาถูก ซึ่งสามารถที่จะทำกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้หลวมขึ้นมาหน่อย คือ การที่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้เป็นขั้นตอน เราอาจจะใช้ยาเยอะขึ้น แต่ความสำคัญคือเราไม่ต้องให้คนไข้ไปแออัดที่โรงพยาบาล”

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวที่ ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์กำลังขาดแคลน โรงพยาบาลทั้งประเทศ มีสำรองเพียง 7 วันเท่านั้น พร้อมกับถามว่า องค์การเภสัชกรรม ผลิตไหวหรือไม่ และหากรัฐบาลเปิดกว้างให้เอกชนผลิต หรือนำเข้าได้ ปัญหาดังกล่าวคงคลี่คลายไปนานแล้ว



เมื่อกระแสข่าวถูกตีแผ่ออกไป หน่วยงานที่ถูกกล่าวถึง อย่าง องค์การเภสัชกรรม ต้องโร่ออกมาชี้แจงว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยังมีสำรอง 25 ล้านเม็ด ส่วน “ยาโมลนูพิราเวียร์” ได้ส่งมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้วจำนวน 2 ล้านแคปซูล และอยู่ระหว่างจัดหาอีก 3 ล้านแคปซูล

แต่ทางด้านของคุณหมอท่านเดิม ให้ความเห็นว่า จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ และ ยาโมลนูพิราเวียร์ ที่เปิดเผยมานั้น ไม่เพียงพอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้

“ไม่พอแน่ๆ ถ้าเราดูเป็นล้านเม็ด อาจจะเยอะ แต่ถ้าเราดูใน 1 ชุดต่อคน ต้องใช้กี่เม็ด ยาจำนวนนี้ก็ไม่ได้มากนะ เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ คนนึงใช้ 70-80 เม็ดต่อชุด ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 วัน คนนึงก็ใช้ 40 เม็ดแล้ว”

แนะเร่งกระจายยา ตัดตอนเชื้อลาม

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นที่ คุณหมอธีระวัฒน์ เสนอแนะว่า ประชาชนที่ติดเชื้อควรมีโอกาสซื้อยาได้ตามร้านขายยา เพราะการเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็วนั้น จะเป็นการป้องกันไม่ให้อาการของโควิด-19 ลุกลามหนัก

“เหตุผลที่ต้องทำในลักษณะร้านขายยาแบบนี้ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรือ โมลนูพิราเวียร์ การใช้ยาพอติดปุ๊บต้องใช้เร็ว โดยที่อาการยังน้อย มันก็จะสามารถสยบอาการไม่ให้มันลุกลามมากขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องแบ่งว่า เป็น 608 หรือไม่ใช่ เพราะตอนนี้อายุ 30-40 ปี ก็มีอาการหนักได้ ขั้นที่ 1 อาจจะต้องใช้ฟ้าทะลายโจร ในขณะเดียวกัน ก็มีการประเมินว่า อาการหนักขึ้นรึเปล่า ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็กลับมาที่ร้านขายยาโดยที่ตัวเองไม่ต้องมาก็ได้ ให้ครอบครัวมารับเป็นยาตัวที่ 2 อาจจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ หรือเป็นโมลนูพิราเวียร์



ทีนี้ก็มีคนกลัวว่า ถ้าให้ยาพร่ำเพรื่อเกินไปจะดื้อยา ตรงนี้ก็ไม่น่าห่วง เพราะร้านยาก็มีเภสัชกร ถ้าตัวเองไม่มา ก็ให้ญาติบอกว่าคนป่วยอยู่ที่บ้าน เราก็สำแดงตัวตนได้โดยการให้ video call โชว์ผลว่าเป็นของตัวเอง ก็สามารถบอกให้ประเมินอาการง่ายๆ กรณีนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข เอง ก็เคยมีประกาศเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว มันอยู่ในแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งมีหัวข้อหนึ่ง คือ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล

เพราะฉะนั้น ร้านขายยาทั่วประเทศก็สร้างระบบออนไลน์ขึ้นมา ถ้ากลัวว่า เภสัชกรบางท่านอาจจะไม่แน่ใจว่าควรจะให้ยาอะไร เราก็ให้มีเวรที่เป็นหมอให้คำแนะนำได้ ชื่อ บัตรประชาชน เลขหมายต่างๆ ก็สามารถเข้าระบบได้เลย ก็จะรู้ว่าคนไข้ที่ติดเชื้อมีอาการบางเบาหรือหนัก หรือควรจะต้องได้ยาอะไร เป็นการใช้ยาสมเหตุสมผล ไม่ใช่เหวี่ยงแหไปเลยว่าต้องเป็นยาต้านไวรัสในทุกคนหรือเปล่า”

ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ได้ยกตัวอย่างการจัดการที่ได้ผลที่ดูได้จากประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งฝากถึงเรื่องการดูแลตัวเอง ตราบใดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรับยาได้อย่างสะดวก ก็ต้องดูแลตนเองให้ดีต่อไป



“สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเหมือนกับในประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ อินเดีย จริงๆ เขามีการขอผลิตยาเอง ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ สมมติว่า เราไม่สบาย ก็มีการตรวจ ATK เสร็จแล้วก็เข้าไปที่ร้านขายยา ประเมินโดยเภสัชกร ก็ง่าย

เวียดนามเปิดประเทศไปแล้ว ไม่ได้ใส่หน้ากากแล้วตอนนี้ ติดเป็นหมื่นเป็นแสน เขาบอกว่าติดก็ติด ติดก็เดินเข้าร้านขายยา ถ้ากลัวว่าจะไปติดคนอื่น ก็ให้เพื่อนไปรับยาได้ ในขณะเดียวกัน อาจจะกักตัว พอทานยาโมลนูพิราเวียร์ เรียบร้อยแล้วก็จบ เท่านั้นเอง มันดูง่ายมาก ไม่เห็นต้องมีพิธีรีตองอะไรเยอะแบบเมืองไทย

ตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนต้องเดินหน้าทำมาหากิน แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่พอช่วยได้ในตอนนี้ คือ ตราบในที่ยายังเข้าถึงไม่ได้ที่ร้านขายยา อาจจะต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างระดับนึง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราเข้าใกล้เป็นโรคประจำถิ่น ถ้าหากว่า สามารถเข้าถึงยาต้านโดยสะดวก ตรงนั้นไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันเลยจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศ แล้วก็ต้องย้ำว่าไม่ต้องกลัวเรื่องของยาปลอม เพราะตรงนี้รัฐเป็นคนควบคุมคุณภาพ และส่งให้ร้านขายยา”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น