เปิดใจ “เกต-เกษรา” จากครูพละ เบนเข็มสู่นักบินหญิงสุดแกร่งในอเมริกา ที่สัมผัสความท้าทาย ฟันฝ่าผ่านความกลัว สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน ตีแผ่ความจริง -สร้างแรงบันดาลใจ จนได้ค้นพบคำตอบว่าทุกคนทำได้ ถ้าออกจากความกลัว!!
ภาคภูมิใจ “นักบินหญิงไทย” ในอเมริกา
“ถามว่า ฝันตั้งแต่เด็กๆ ไหม คือ บอกเลยว่าไม่มีในหัวสมองเลย มันใหญ่กว่าที่เราจะกล้าฝัน ก็เห็นเครื่องบินบินผ่านหัวก็แค่นั้น เพราะที่บ้านไม่เคยมีใครได้ไปต่างประเทศ
พูดง่ายๆ ทั้งหมู่บ้านนี้ ในซอยนี้ ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ คือ มันเป็นอะไรที่ไกลกว่าความฝันมาก ก็ไม่ได้ฝันตั้งแต่เด็กๆ…คนก็ถามกันมาเยอะว่าเป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ รึเปล่า
เพราะว่าส่วนใหญ่คนอเมริกา เขาจะบอกว่า ทำไมคุณถึงอยากเป็นนักบิน เขาก็จะบอก...อ๋อ ฉันฝันตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ฉันเห็นเครื่องบินฉันก็ฝัน แต่สำหรับเกต คือ ไม่กล้าที่จะฝัน เพราะว่ามันไกล เหมือนเป็นรอยต่อช่วงชีวิตค่ะ”
นี่คือ คำกล่าวจาก “เกต-เกษรา ขันติ”นักบินหญิงไทย (Commercial Pilot) ในประเทศสหรัฐอเมริกา วัย 32 ปี เจ้าของแฟนเพจ “Thai girl can fly in USA”ที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต “นักบิน” ในต่างแดน ที่ไม่ได้มีเส้นทางสวยหรูอย่างคนอื่นมอง แต่กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม คำดูถูกสารพัด
แน่นอนว่า หากพูดถึงอาชีพในฝัน “นักบิน” คือ หนึ่งในอาชีพที่ใครหลายคนอยากเป็น แต่สำหรับ “เกต” หญิงไทยนุ่งกางเกง ผูกไทด์ สวมชุดในมาดนักบินสุดเท่คนนี้ เธอบอกกับทีมสัมภาษณ์ไว้ว่า เธอไม่เคยมีเป้าหมายในชีวิต ที่จะเป็นนักบินนี้มาก่อน เพียงอยากมีชีวิตที่ดี และนี่คือ คำตอบจากมุมมองบวกๆ ของเธอคนนี้
“ตอนวัยรุ่นก็ไม่เคยฝัน แต่เป็นรอยต่อของช่วงจังหวะชีวิตมากกว่า เพราะว่าเรามาอยู่อเมริกา เราทำงานในร้านอาหาร แล้ววันนึงเรารู้สึกว่า เราอยากเสิร์ฟอาหารในเครื่องบิน เราไม่เสิร์ฟอาหารในร้านอาหารแล้ว
เกตได้สมัครเป็นแอร์โฮสเตส จากนั้นพอเราเป็นแอร์โฮสเตสได้สักพักนึง แล้วเรารู้สึกอยากไปนั่งข้างหน้าแล้ว นั่นคือ ความเป็นมา ที่ทำไมถึงมาเป็นนักบินค่ะ
เกตมาจากเมืองไทย 8-9 ปีที่แล้ว ตอนมาที่นี่ ไม่ได้คิดมาอยู่ที่อเมริกา คิดจะมาเรียนเฉยๆ คิดว่า จะมาเรียนแล้วก็กลับ เพราะว่าปกติติดบ้าน อยากกลับ
ต่างจากเพื่อนที่มาด้วยกัน เพื่อนคนนั้นอยากจะอยู่ที่อเมริกาตลอดชีวิตเลย แต่เราบอกเรียนจบเราก็จะกลับ ตอนนั้นที่ประเทศไทยก็ไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวายอย่างที่เกิดขึ้น
เราก็มาเหมือนนักเรียนไทยทั่วไป แต่โชคชะตาพลิกผันได้มาเจอแฟนที่นี่ และได้มาอยู่ที่นี่ เราก็อยู่ที่นี่ไป และดูว่าเราชอบไหม แต่เพื่อนอีกคนนึงต้องกลับไทย เพราะ VISA หมด
กลับกลายที่เป็นเราที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาอยู่ ตั้งใจจะเก็บกระเป๋าจะเรียนจบแล้ว แต่เราได้ฝึกงาน โชคชะตาก็พลิกผัน ตอนนั้นก็บอกแฟนว่าเราจะกลับไปอยู่ไทยด้วยกัน เพราะเราไม่อยากอยู่ประเทศนี้
เราคิดว่า เราจะทำอาชีพอะไร เขาก็คงไม่ยอมรับเรา แต่แฟนก็บอกว่าให้อยู่ไปก่อน คือ ชีวิตไม่เคยตั้งเป้าหมายอะไรไว้เลย ก็ไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นอะไรที่เป็นช่องทางก็ไปตามนั้นค่ะ”
มุมมองความคิดต่ออาชีพและประเทศนี้เปลี่ยนไป เมื่อเธอได้ลองก้าวเข้าไปฝึกบิน เพื่อพิสูจน์ความสามารถ ซึ่งใครจะรู้ล่ะว่า ชีวิตของอดีตครูพละคนนี้ ได้สัมผัสความสนุก และท้าทายมาแล้ว ทั้งงานร้านอาหารไทย, แอร์โฮสเตส และครูสอนบิน
“ต้องบอกก่อนว่า เกตเป็นคนทะเยอทะยาน เราไม่รู้เป็นคำชมรึเปล่านะ อยู่ดีๆ ก็อยากเป็นอย่างลอง แล้วก็ไปทำ
พอบินนานๆ เราก็รู้สึก burn out คือ เบื่อ ทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เวลาไปพักที่โรงแรม ถ้าพักนานๆ เหมือนมีเวลาเราก็จะไปดื่มกัน
มีนักบินผู้หญิงเขาก็ชวนเราไปดื่ม แล้วเราก็ไปนั่งข้างเขา เขาก็บอกว่า You ดูเป็นคนมีการศึกษานะ ทำไมไม่เป็นนักบินล่ะ
เราก็ตกใจ แล้วบอกว่าเป็นไม่ได้หรอก ฉันไม่ฉลาด มันยาก ใครจะไปขับเครื่องบิน...ไม่เอา เขาก็บอกว่ามันก็ไม่ยากขนาดนั้น ลองไหม ฉันว่าคุณเป็นได้
เขาเหมือนเห็นอะไรในตัวเรา เราก็มองว่า แถวบ้านมีสนามบินเล็กๆ อยู่นะ เราสามารถไปลองบินเล่นๆ ถ่ายรูปสวยๆ ขำๆ เราก็ลองไปสนามบินแถวบ้าน ไปลองดู เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชอบไหม เราจ่ายเงินไปประมาณ 200 ดอลลาร์ 6,000 บาทไทย
ก็ไปนั่งข้างครู ครูก็บอกลองเร่งเครื่องดู เราก็ลองเร่งดู แล้วเครื่องกำลังจะขึ้น เราก็รู้สึกว่าเราชอบ มันใช่เลย นับตั้งแต่วันนั้นมา เราก็ตั้งใจมากขึ้น แล้วมีความคิดอยากเป็นนักบิน อันนั้นคือจุดเริ่มต้นเลย คือ มีคน inspired เรา มีคนเห็นเรา
แล้ววันนึงนั่งอยู่ที่โรงเรียนการบินคนเดียว เราก็นั่งกลัวๆ เพราะนักบินมีแต่ผู้ชายหมดเลย มีนักบินสงครามโลกคนนึงที่มีอายุ และเกษียณนานแล้ว เดินมาหาเรา แล้วมาบอกว่าเป็นนักบินเหรอ เราก็บอกว่าใช่ค่ะ “เขาก็บอกว่ารู้ไหมตอนที่บินสงครามโลก นักบินที่เก่งที่สุดคือนักบินผู้หญิงนะ” เขาพูดแค่นี้เอง แล้วเดินออกไป คือ ตอนนั้นน้ำตาไหลเลย มันเหมือนเป็นกำลังใจที่ดีมาก”
คำพูดจุดประกายในวันนั้น ทำให้ความคิดในการเป็นนักบินของเธอยิ่งชัดเจนขึ้น โดยเริ่มจากการค้นคว้าหาข้อมูล ตัดสินใจลาออกจากงาน มุ่งเบนเข็มเส้นทางสู่อาชีพนักบิน ที่กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ต่างด้าวอย่างเรา ใครจะมาจ้าง!! “เล่า 2 วันก็ไม่จบเรื่องนี้ คือ โดนทั้งคนไทยด้วยกันเอง โดนทั้งคนที่นี่ด้วย คนไทยเกตทำร้านอาหาร ในร้านคนไทยปกติทั่วไป ก็เป็นงานที่ดี ได้เงินเยอะ ได้ทริปดีในอเมริกา สามารถสร้างรายได้เยอะพอสมควร เอาตรงๆ รายได้เยอะกว่าที่เกตบินด้วยซ้ำ เราก็คุยกับป้าคนนึงที่เขาอยู่มานานแล้ว บอกว่า วันนึงเกตอยากไปทำงานอย่างอื่นบ้าง เช่น เป็นแอร์โฮสเตส หรือทำงานตามห้าง ขายเครื่องสำอาง เขาก็หัวเราะเยาะเราบอกว่า ต่างด้าวอย่างเราเหรอ ใครจะมาจ้าง ดูภาษาดิ ไม่มีใครจ้างเราหรอก เราก็ตกใจนิดนึง พอตอนที่เราไปสมัครเป็นนักบิน เราเดินเข้าไป เราผ่านขั้นตอนแรก ว่า เรามีใบอนุญาต และความรู้ในส่วนที่เขาต้องการไหม พอเราเริ่มบิน เรานั่งอยู่ในโรงเรียน คนก็คิดว่า เราเป็นแม่บ้าน คิดว่าเราเป็นพนักงาน ทำงานที่โต๊ะ เป็นพนักงานบัญชี เราก็บอกว่า เป็นนักเรียนบิน เขาก็ตกใจ เพราะบางคนเขาไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ เขาไม่เข้าใจสำเนียงเรา เวลาเราพูดกับเขา เขาก็จะถามว่าอะไรเหรอ เขาไม่เข้าใจเรา เขาก็ขำที่เราพูด เราก็เลยเสียความมั่นใจ ซึ่งหลายเรื่องมาก” |
กดดัน-ความเครียด สิ่งที่ต้องเจอ!!
เป็นนักบินว่ายากแล้ว... แต่การที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ต้องเป็นผู้ควบคุม ขับเครื่องบินอยู่บนท้องฟ้า พาผู้โดยสารไปยังที่หมายโดยปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องง่าย และวันนี้เธอทำสำเร็จ เธอพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าอาชีพนักบิน ไม่ได้มีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้
“กดดันทุกอย่างเลย ตื่นมาก็กดดันแล้ว คือ รู้ว่าไปไหน พอมาดูสภาพอากาศแล้ว ทั้งหิมะตก ลมแรง ลูกเห็บตก เครื่องบินขัดข้อง แล้วเราใหม่ เราก็แอบประหม่า เพราะเราไม่คุ้นเคยกับเส้นทางนี้ แต่เราก็ต้อง the show must go on และใช้ความรู้ ว่าฉันทำได้ ฉันต้องเก็บความรู้สึกนี้เอาไว้
เหมือนหนัง frozen เอลซ่าที่ต้องซ่อนความรู้สึกเอาไว้ คิดว่าเรียนมาทำได้ แต่ในใจคือแพนิกนิดหน่อย คือ ตื่นขึ้นมาก็ต้องเปิดแผนการบิน ทำความเข้าใจ อะไรไม่เข้าใจก็ไปถามนักบินที่เขาเคยทำมาก่อนแล้วว่า อันนี้ไม่เข้าใจเลย เขาก็จะบอกเรา เราก็จะเตรียมตัว พอเราไปถึงเครื่องบินเห็นผู้โดยสาร เราจะทำผิดพลาดไม่ได้ คือ มันมีความกดดัน”
เธอยังเล่าประสบการณ์การบินครั้งหนึ่งที่จำได้ไม่ลืม เพราะเกือบจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ด้วยความมีสติ ช่วยแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนปลอดภัยกันทั้งคนขับและเครื่องบิน
“ประสบการณ์ตกหลุมอากาศ ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ เคยประสบที่เดนเวอร์ ของรัฐโคโลราโด ซึ่งภูเขาเยอะมาก การบินบนภูเขาจะเป็นอันตราย มีลมแรง
เหมือนหัวเราตีกับผนังเครื่องบิน เราไปทางไหนไม่ได้เลย เพราะมืดไปหมดเลย เราก็ลงจอดไม่ได้ด้วย เพราะเป็นภูเขาไปหมด เราก็มองหน้ากับกัปตันและคุยว่าเราจะไปทางไหนดี เขาเลยบอกให้ขึ้นไปสูงอีกหน่อย เราก็บินไปสูงขึ้น
ก็มีความ smooth ขึ้น เราก็หันไปดูผู้โดยสารดูกลัว เราก็ทำยิ้มสู้ บอกว่าโอเค ไม่เป็นไร หลังจากนั้น เราก็บินตามขั้นตอน แล้วลงจอดอย่างปลอดภัยค่ะ
แต่ที่สำคัญเลย เราต้องมีสติก่อนค่ะ คือ เวลามีปัญหาขัดข้อง จะบอกกับตัวเองว่าเราฝึกมา อย่าตกใจ อย่าแพนิก เราก็ต้องรับมือกับตรงนั้น มันก็เป็นจุดที่ยากตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว ประสบการณ์ก็ช่วยสอนเราค่ะ”
ลงลึกไปถึงการเตรียมพร้อม จนไปถึงคุณสมบัติ นักบินจะต้องผ่านบททดสอบยากๆ หลายด่าน ที่กดดันสุดๆ ซึ่งการเผชิญปัญหา ประสบการณ์ต่างๆ บนเครื่อง ถือเป็นรอบทดสอบจิตใจของนักบิน และความมั่นคงทางอารมณ์ “ภาษาคือใบเบิกทาง” เธอบอก
“การมานั่งในเก้าอี้นักบินต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก ตอนทำงานก็เครียด ในอนาคตตอนที่เราบินเก่งๆ แล้ว เราอาจจะง่ายขึ้น แต่เราก็ไม่รู้อนาคต บินๆ อยู่เครื่องยนต์อาจจะพัง นกมาบินชน เราไม่สามารถรู้ได้เลย ก็เป็นอาชีพที่ตาต้องลืมตลอด ต้องคอยระมัดระวังตลอด
เพราะมีครั้งนึงผู้โดยสารเป็นลม เราก็ต้องจอดฉุกเฉิน เราก็ต้องหาสนามบินใกล้ๆ แล้ววัดระยะ เพราะเครื่องบินเราเร็ว มีโรงพยาบาลแถวนั้นไหม ก็ต้องคิดให้เร็ว เพราะเขาอาจจะเสียชีวิตในไม่กี่นาทีก็ได้ ก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับฟังพูดอ่านเขียน ที่เขาเข้าใจ คนที่จะเป็นครูที่จะสอนเรา เขาจะถามคำถามเราเหมือนคนปกติทั่วไป เขาฟังรู้เรื่อง คือ ผ่านนะคะ
และจะมีการสอบเยอะมาก มีทั้งข้อเขียน สอบพูด สอบบิน เกตมีทั้งหมด 7 licence (ใบอนุญาต) แต่ละใบก็แบ่งเป็นย่อย คือ สอบพูด สอบเขียน สอบบิน แต่ละอย่างก็ยาก และต้องบอกว่าอากาศก็ไม่ดี ลมแรง เครื่องบินขัดข้อง ครูคุมสอบไม่ดี หรือเงินหมด น้ำมันแพง
ก็อุปสรรคเยอะ กว่าจะได้แต่ละใบ และช่วงที่เกตจบเป็นช่วงที่โควิด คนก็ไม่อยากมาสอนเรา ไม่อยากมาบินกับเรา เพราะเขากลัว
อุปสรรคมันเยอะ มันยากมากๆ บางครั้งก็ร้องไห้ บางครั้งท้อ และคิดว่าไม่เอาแล้ว ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย มันมากกว่าความเครียด แต่พอเราสอบผ่านมันเหมือนเป็นรางวัลให้ชีวิตค่ะ”
ไม่เพียงแค่นั้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบนักบินคนไทยไม่เกิน 10 คน ในจำนวนนักบินทั้งหมด 1 แสนคน ซึ่งไม่ว่าใครจะเรียนจบหรืออะไรมาก่อน ก็มาเริ่มเรียนนักบินได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับทุกเพศอีกด้วย
“เท่าที่รู้จักไม่เกิน 10 คนค่ะ ก็ถือว่าน้อยมาก นักบินที่อเมริกามีเป็นแสนคน ซึ่งเกตถือ 2 สัญชาติ ถือที่ไทยด้วย ถือที่นี่ด้วย ในเรื่องของ VISA คือได้ แต่ในเรื่องการบิน เกตถือใบอนุญาตที่อเมริกา ถ้าเกตอยากไปบินที่ไทย เหมือนต้องไปปรับ ไปเรียน เพื่อให้เข้ากับหลักสูตร เพราะว่าในอากาศของการบินที่อเมริกาจะกว้างกว่าที่ไทย ผลเลยจะต้องต่างกันอยู่แล้วค่ะ
เพราะเกตก็ได้รับคำถามจากนักบินที่ไทยเยอะมาก เขาอยากมาเป็นนักบินที่อเมริกา เขาจะอยู่ดีๆ ถือ licence ที่ไทยมาเลยก็ไม่ได้ ต้องมาทำคอร์สเพิ่มเติม ถ้าเกตอยากกลับไปต้องทำคอร์สเพิ่มเติมเช่นกัน
สำหรับนักบินที่ไทย เราก็ไม่ได้รู้จักหลายคนมาก แต่พอมาได้เปิดเพจก็มีนักบินเข้ามาคุย ถามสารทุกข์สุกดิบ ถามคำถามเยอะมาก
ได้คุยกันเป็นการส่วนตัวในข้อความ ก็รู้ว่ามันมีสิ่งที่แตกต่างกันเยอะอยู่ อย่างเรื่องการบินก็จะคล้ายๆ กัน เรื่องกฎเกณฑ์ข้อบังคับก็จะต่างกันเยอะ
อย่างบางสายการบินที่ไทย ก็ไม่รับนักบินผู้หญิง ก็แอบน้อยใจเหมือนกัน ส่วนที่อเมริกาเขาต้องการผู้หญิงมาก เพราะว่าเขา support ผู้หญิง, คนผิวสี และคนที่เป็น LGBTQ
ก็เลยแอบน้อยใจประเทศไทยนิดนึง ฉันเป็นผู้หญิง ทำไมถึงเป็นนักบินไม่ได้ บางสายการบินเราก็เห็นผู้หญิง แล้วนักบินที่ไทย คือ สวย น่ารักทุกคนเลย ผิวพรรณดี ทรงผมดี แต่งหน้าสวย เราก็แอบติดตาม”
อาชีพ “นักบิน” = ไม่มั่นคง!?
หลายคนคิดว่าอาชีพนักบิน ลูกเรือ ในต่างประเทศ เป็นอาชีพมั่นคง ทำงานสบาย ใช้ชีวิตหรู เงินเดือนหลักแสน แต่สำหรับนักบินคนนี้ ได้ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาไว้ว่า เป็นอาชีพที่รายได้ไม่เยอะ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องรับผิดชอบ เลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งไลฟ์สไตล์ชีวิตเปลี่ยน ทำให้ยังมีปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย
“ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน การเข้าห้องน้ำไม่ปกติ เราไม่ได้เข้าทุกวัน บางครั้งเกิดท้องผูก หรือเราไม่ได้กินผักผลไม้เพียงพอ มีผิวแห้ง ปากแห้ง เพราะอากาศข้างบน และมีอาการหูดับ ปวดหลัง ปวดก้นค่ะ
สำหรับรายได้ตอนนี้รายได้ไม่เยอะเลยค่ะ คิดเป็นเดือน เดือนนึงเกตบิน 70 ชม. บางเดือนก็บิน 50 ชม. บางเดือนก็บิน 40ชม. ก็แล้วแต่ค่ะ อย่างวันนี้บินแค่ 2 ชม.
ทางกฎหมายกำหนดไว้ว่านักบินห้ามบินเกิน 8 ชม.ต่อวัน ก็แล้วแต่วันค่ะ อย่างวันที่อากาศไม่ดี หมอกลงหนามาก เครื่อง delay ก็ช้าเข้าไปอีก มันก็เลยไม่แน่นอน สำหรับรายได้เริ่มต้นที่นี่เป็น 35 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง คือ น้อยมาก
แต่ในอนาคตก็อาจจะขึ้นไปถึง 70-200 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แล้วแต่ประสบการณ์ของเรา คือ เกตตอนนี้เพิ่งเริ่มทำงานได้ 6 เดือน ก็จะเป็นขั้นต่ำสุดๆ เพราะว่าสาเหตุที่เขาไม่จ่ายเราเยอะ เพราะเขารู้ว่าเราต้องการชั่วโมง เพื่อไปต่อยอดในสายการบินใหญ่ๆ
พูดง่ายๆ ว่า นักบินอย่างเกต คือ ไม่ได้สนใจรายได้เลย สนใจในชั่วโมงมากกว่า เพราะว่าตอนเกตเป็นนักบินจ่ายค่าชั่วโมงต่อการบินแพงมาก คือ เรียนบินต้องบอกก่อนว่า แพงมากๆ แต่ตอนนี้เราได้ชั่วโมงฟรี โดยไม่ต้องจ่าย ก็เป็นกำไรมาก เขาเลยไม่ได้จ่ายเงินเราเยอะมากค่ะ รายได้แต่ละเดือนที่ได้รับน้อยค่ะ
เทียบเป็นเงินไทย ต่อเดือนที่เกตได้ประมาณ 2,000 กว่าดอลลาร์ ประมาณ 80,000-100,000 ซึ่งเหมือนเยอะ แต่ไม่เยอะเลยค่ะ เพราะว่าค่าใช้จ่ายที่นี่ก็ตามตัว น้ำมันตอนนี้ก็แพงมาก
คือ แต่ละเดือนก็ไม่ได้เหลือเก็บเลย เพราะว่าเกตก็กู้เงินมาเรียนนักบินด้วย แต่ในอนาคตยาวๆ ก็น่าจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ดีเลยค่ะ”
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ “นักบิน” ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกสายการบินมีความจำเป็นต้องลดเที่ยวบินลง และปลดพนักงาน
“ไม่ได้ประสบปัญหากับตัวเองตรงๆ แต่เห็นในข่าว เห็นเพื่อนตัวเอง กระทั่งผู้หญิงคนที่บอกให้เราเป็นนักบิน ก็โดนไล่ออกเหมือนกัน
ก็เกิดความคิดว่าอาชีพนี้จะดีเหรอ หรือเราจะไปเป็นหมอดี เพราะหมอและพยาบาลขาดแคลน อาชีพนักบินก็เริ่มลังเลมากเลย เหมือนมันหมดกำลังใจไปช่วงนึงค่ะ
เพราะเกตก็ยังไม่ได้เริ่มทำงานเลย แต่เริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะตอนนั้นก็เกิดปัญหาคล้ายเหตุการณ์ 911 เหมือนกัน เครื่องบินไม่ได้หยุดบิน นักบินโดนไล่ออก เป็นเดือน
พอเจอโควิดเข้าไปก็เซกันเยอะเลย เป็นทั่วโลก เราก็ไม่รู้ว่าข้างหน้ามันจะเป็นยังไง ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ใหญ่มาก คือ เราไม่รู้ว่าสงครามจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราก็แอบคิดๆ อยู่เหมือนกัน แต่ว่าทุกอาชีพก็มีความเสี่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ new normal หมดเลย ทุกคนจะต้องปรับตัวกัน ต้องมาลองดูว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเป็นยังไง ก็ไม่มีใครตอบได้ค่ะ”
นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านการขับเครื่องบินที่มี สิ่งที่เธอได้มา นั่นก็คือ ความอดทน สติ การไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา สุดท้ายยังได้พิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า แม้จะเป็นผู้หญิง แต่ก็สามารถทำหน้าที่ได้เท่าเทียมไม่แพ้ผู้ชายเลยสักนิด รวมถึงยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงหลายๆ คน ที่อยากตามฝันของตัวเอง จนประสบความสำเร็จอีกด้วย
“เกตอยากจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ไม่อยากให้กลัว เพราะเกตเคยกลัวมาก่อน กลัวมากๆ
ถ้าใครไปถามครอบครัว หรือไปที่บ้าน จะเห็นบ้านเกตเป็นบ้านตึกห้องเช่าเล็กๆ ไม่ได้เป็นคนรวยอะไรเลย ถ้าเกตทำได้ขนาดนี้ คุณก็ทำได้ แต่ต้องออกจากความกลัวตรงนั้น และหาช่องทางที่มันสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ลองดู
และต้องมีความมุ่งมั่น ความพยายาม อย่าไปฟังว่าคนอื่นพูด ว่าเราทำไม่ได้ เราต้องเชื่อมั่นในตัวเองค่ะ”
จาก “ครูพละ” ดิ้นรนสู้ชีวิต “เกตลำบากมาก ถ้าคนแถวบ้านหรือเพื่อนจะรู้ว่า เกตพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ในเวลาไล่เลี่ยกัน คุณพ่อเสียก่อนแล้วคุณแม่ ตอนนั้นเราก็เคยมีชีวิตที่สุขสบาย และมีพี่ชายด้วย 1 คน คุณตาคุณยายก็มีภาระมากอยู่แล้ว เลี้ยงเรากับพี่ชาย ก็ต้องรับภาระตรงนั้นไป เราก็ต้องย้ายจากโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนดีๆ กลับกลายมาเรียนโรงเรียนระดับตำบล ปั่นจักรยานไปโรงเรียน ตอนเด็กๆ ก็ช่วยคุณน้าทำสวนผัก ไปตลาดช่วยขาย ต้องทำงานพิเศษตลอดเลย มัธยมปลายทำงานร้านตัดขนหมา จันทร์-ศุกร์ ไปโรงเรียน เสาร์-อาทิตย์ จำได้ว่าได้เงินวันละ 150 บาท ทำทุกเสาร์-อาทิตย์เลย เพื่อที่จะได้เงินไปโรงเรียน มหา’ลัยก็ทำงานพิเศษ ตอนนั้นก็ได้ไปเป็นครูพละ เกตจะไปตัดสินกีฬาตามโรงเรียนต่างๆ ได้วันละ 500 วันละ 300 ก็จะทำงานพิเศษตลอดเลย ไม่ได้มีเงินมากมาย และได้อยู่หอพักที่มหา’ลัย เพราะว่าค่าใช้จ่ายสูง และก็กู้เงิน กยศ.ปกติ ตอนนี้ก็ยังใช้หนี้อยู่ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยอะไรเลย ไม่มีเลย ก็ถือว่าลำบากพอสมควรค่ะ เราเป็นคนที่เรียนเก่งอยู่แล้ว เล่นกีฬาก็ได้ แล้วที่บ้านก็สนับสนุน คุณยายก็สนับสนุนว่าอยากเรียนขนาดไหนก็ไปเลย แต่เราก็รู้ว่าบ้านเราฐานะก็ไม่ได้ดี เราไม่ได้เรียนมหา’ลัยที่มันแพงมาก แต่เราก็ขวนขวาย เพราะเราอยากเก่งภาษาอังกฤษ ณ ตอนนั้นยังไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตเหมือนตอนนี้ เราก็ไปห้องสมุด จำได้ว่าเพื่อนคนนึงมีช่อง HBO ตอนนั้นเป็น True เราไปขอเขาดู เพราะว่ามันเป็นภาษาอังกฤษ เราก็นั่งเรียนตรงนั้น ไปนั่งบ้านเขาทั้งวันเลย ไปนั่งดูทีวีที่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ได้มี Youtube เหมือนทุกวันนี้ เราก็เรียนจากเพลงเอาค่ะ คือ แกะจากเพลงแล้วแปลคำศัพท์เอา เวลาเจอคนต่างชาติก็ขออาสาไปคุยกับเขา ผิดๆ ถูกๆ ก็ไปคุยค่ะ” |
สัมภาษณ์โดย : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Thai girl can fly in USA”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **