ดรามาสนั่น!! โครงการ “ปลูกป่าทางอากาศ” โดยกองทัพบก โปรย “เมล็ดกระถินยักษ์” จากเฮลิคอปเตอร์ลงป่า กูรูด้านพันธุ์พืช เผย พืชรุกรานไม่ควรปลูกในป่าธรรมชาติ เสี่ยงกระทบระบบนิเวศ แถมใช้ประโยชน์ได้น้อยมากนอกจากเป็นถ่าน!!
อย่าหาทำ!! โปรยเมล็ด “กระถินยักษ์” ลงป่า
“กระถินยักษ์พวกผมยังกลุ้มใจเลยเวลาจะปราบปราม เมล็ดมันล่องมาตามแม่น้ำแล้วมาขึ้น เราเอาอยู่ยาก หลายแห่งมองกระถินยักษ์ เป็นวัชพืชเลยนะ เพราะคำว่าวัชพืช คือ พืชที่เราไม่ต้องการ เราถือว่ามันเป็นพืชรุกราน”
รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
สืบเนื่องจากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก “กองทัพบก Royal Thai Army” โพสต์ภาพ เจ้าหน้าที่ขณะโปรยเมล็ดพันธุ์ลูกหว้าในลูกดินเหนียวปั้นจำนวน 2,000 เมล็ด จากเฮลิคอปเตอร์ลงพื้นที่ป่าต้นน้ำ เขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในโครงการ “ปลูกป่าทางอากาศ”
งานนี้ทำเอาชาวเน็ตพากันตั้งคำถามถึงโครงการดังกล่าว ว่า ได้ศึกษาหรือประเมินผลว่าโครงการจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ และอีกหลายความเห็นที่มองว่าเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน
ทำให้ในเวลาต่อมา เพจดังกล่าวต้องโร่ออกมาชี้แจงในโพสต์ใหม่ โดยมีใจความว่า การโปรยเมล็ดพันธุ์ทางอากาศนั้น เป็นไปตามแผนภารกิจทางทหารอยู่แล้ว ไม่ได้มีการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มเติม เพราะเป็นเส้นทางบินของอากาศยาน
กองทัพบกได้แสวงประโยชน์จากใช้อากาศยานในภารกิจทางทหาร เช่น การบินลาดตระเวน การบินส่งเสบียงในพื้นที่ป่าเขา โดยนำเมล็ดพันธุ์ขึ้นเครื่องไปด้วย เมื่อพบพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม ก็จะโปรยเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ
สำหรับเมล็ดพันธุ์ก็มีหลายชนิด อาทิ ต้นสัก ลูกหว้า กระถินยักษ์ โดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ ค่ายอาสา ร่วมกันจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมา ได้โปรยเมล็ดพันธุ์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
ทว่า... คำชี้แจงนี้กลายเป็นการกวักมือเรียกรถทัวร์มาจอดอีกครั้ง เพราะหนึ่งในเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกนำไปโปรยคือ “กระถินยักษ์” ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ!!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวว่า กระถินยักษ์เป็นพืชรุกรานตามที่กล่าวมา นอกจากจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังกำจัดได้ยากอีกด้วย
“ผมไม่เข้าใจทำไมเขาโรยกระถินยักษ์ มันไม่ใช่พืชที่เอามาปลูก ในป่าเขายิ่งไม่เอากระถินยักษ์ไปปลูกเลย มันทำให้พืชอื่นมันย่ำแย่ เขาพยายามกำจัดอยู่ โดยเฉพาะทางเหนือ ไม้อื่นมันอาศัยอยู่ร่วมกันได้ แต่กระถินยักษ์มันจะรุกราน เป็น Invasive plants
[ รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ]
มันจะปกคลุมไปหมด มันสู้เขาไหว เพราะเจริญเติบโตได้ดี มันมีความสามารถ เก่งในการแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตได้รวดเร็ว มันรุกรานจนขึ้นโดดเด่นและพืชอื่นก็น้อยลง
แล้วการกำจัดมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ลำบากมาก ส่วนการใช้ประโยชน์ก็แทบจะน้อยมากนอกจากเป็นถ่าน คิดดูว่า อนาคตถ้าคุณเห็นต้นกระถินยักษ์ มันไม่มีสภาพของป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เราขายธรรมชาติ เราจะเป็นป่าที่มีแต่กระถิน ควรจะหาพืชในท้องถิ่นในป่านั้นร้อยแปด เอาเมล็ดของมันมาโรยก็น่าจะเหมาะครับ”
แค่ไม่บุกรุก ก็เท่ากับอนุรักษ์
เมื่อถามถึงโอกาสที่โครงการลักษณะนี้จะสำเร็จ อาจารย์จากคณะเกษตร มองว่า ป่าธรรมชาติก็ควรให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ และที่สำคัญ ควรขอความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนลงมือปฏิบัติ
“ผมว่า จริงๆ ธรรมชาติของป่า แค่คุณกั้นบริเวณไว้ไม่ให้คนบุกรุก ป่ามันก็จะขึ้นเองตามธรรมชาตินะครับ แต่ถ้าอยากเร่งเราก็เอาเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นในป่านั้นไปโรยได้ อันนี้มันก็ไม่ใช่การปลูกป่าในเชิงพาณิชย์ มันเป็นการปลูกตามธรรมชาติ เป็นป่าอยู่แล้ว เรายิ่งไม่ควรเอาพืชอื่นไปรุกราน
ถ้าเรามาปลูกป่าเชิงพาณิชย์ เช่น เรามีพื้นที่ว่างเปล่า แล้วปลูกกระถินยักษ์ เพื่อเอาไม้มาทำเชื้อเพลิงไฟฟ้าก็น่าสนใจ เพื่อประโยชน์โดยเฉพาะแล้วเราควบคุมดูแลได้ ผมว่ามัน makes sense นะ
กรมป่าไม้น่าจะให้ความรู้ที่ดีได้นะ ก็ต้องหาพันธุ์ไม้ที่ปรับตัวได้ดีในป่า สมมติเขาไปสำรวจในป่าแล้วจะรู้ดีว่ามีต้นอะไรบ้างที่เมล็ดมันเหมาะกับถิ่นนั้นและก่อให้เกิดประโยชน์”
ทั้งนี้ อ.วิเชียร ได้ยกตัวอย่างพืชและสัตว์ที่มีลักษณะเป็น Alien Species สายพันธุ์ต่างถิ่น ที่เข้ามาแพร่ระบาดจนสร้างความเสียหายและส่งผลต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศ
“เราไม่ควรไปเปลี่ยนนิเวศมันนะ เหมือนกับสมัยก่อนเราเอาผักตบชวามา จริงๆ ผักตบเป็นพืชที่เอาไว้สวยงาม พอเรามาปลูกเดี๋ยวนี้มันก็ทำลายพืชอื่น เป็นพืชรุกราน
หรือปลาซ่งฮื้อ ปลาจีนที่ก้างเยอะๆ พวกนี้ก็เป็นสัตว์รุกรานที่อเมริกาเอาไปปล่อย มันทำลายแม่น้ำ Mississippi มันก็เป็นปลารุกรานที่มันรุกจนตัวอื่นตายหมด มันกินเกลี้ยง โตเร็วกว่า จนเขาต้องขอให้ยิงปลาทิ้งเลย
เขาก็ไม่กินเพราะมันเป็นกระดูก มันมีก้าง เขาก็กินไม่เป็นหรอกนะหัวปลาหม้อไฟแบบเรา แล้ว ณ ปัจจุบันก็ยังเอามันไม่อยู่ เพราะฉะนั้นกระถินยักษ์มันไม่ใช่พืชที่เหมาะกับท้องถิ่นนั้น”
สุดท้าย กูรูด้านพืชพันธุ์ ได้ย้ำถึงการทำโครงการลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาหาความรู้ว่าพืชชนิดนั้นๆ เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาเป็นสำคัญ
“ให้มันเป็นความสมดุลของธรรมชาติ มันต้องมีหลากหลายพันธุ์ ถ้าเราเอากระถินยักษ์ไปแล้วมันรุกรานจนพืชอื่นเติบโตได้น้อย มันก็กลายเป็นป่ากระถินยักษ์
มันก็ไม่เป็นป่าธรรมชาติ มันไม่เหมือนไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็ต้องมีความหลากหลาย อันนี้เรากำลังไปลดความหลากหลายของสภาพป่าเมืองไทยไป”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : กรมป่าไม้ และเพจเฟซบุ๊ก “กองทัพบก Royal Thai Army”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **