เปิดใจ “แมว-ประกิต กอบกิจวัฒนา” ครีเอทีฟโฆษณามือฉมัง ประสบการณ์วงการโฆษณาเกือบ 30 ปี ต่อยอดสู่เบื้องหลังกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร “ทีมชัชชาติ” ทำนโยบาย 216 ข้อ ให้ย่อยง่าย เผย “งานที่ทำให้อาจารย์ เป็นรางวัลที่ดีที่สุดครั้งนึงสำหรับชีวิต”
กว่าจะเป็น “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”
“ไม่ได้คิดเลยว่าคำนี้จะเป็นไวรัล ตอนนั้นถ้าเราดูแคมเปญทางการเมือง ทุกคนจะมีคำสวยๆ จะทำให้ประชาชน ประเทศชาติ … เรารู้สึกว่าใช้คำฟุ่มเฟือยจัง สื่อสารกับคน ใช้คำง่ายๆ นี่แหละ
สิ่งที่เราเขียนผมว่ามันสะท้อนตัวตนของอาจารย์ อาจารย์เป็นคนทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปไหน สะท้อนบุคลิกของอาจารย์ที่เป็นคนไม่ได้พูดมาก ตรงไปตรงมา ชัดเจน ทำจริง
สังเกตมั้ยเวลามาอยู่บนเสื้อยืด ผมว่ามันแข็งแรง ลองจินตนาการเสื้อยืดคำนี้ไปอยู่บนคนอื่น ผมคิดว่าแบรนด์กับ message มันต้องแมตช์กัน มันคือการเขียนแบรนด์ให้แตกต่างและฟิตกับแบรนด์ที่เรากำลังสร้าง”
“แมว-ประกิต กอบกิจวัฒนา” อดีต Executive Creative Director วัย 57 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
เขาคือผู้คร่ำหวอดในแวดวงโฆษณาบ้านเราเกือบ 3 ทศวรรษ ปัจจุบันได้ early retire ตัวเองเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะผันตัวมาเป็นหนึ่งในทีมกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร ผู้อยู่เบื้องหลังสโลแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” สีเขียวคุ้นตา ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนล่าสุด
สำหรับทีมกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร เริ่มต้นขึ้นราว 3 ปีก่อน การคิดแคมเปญหาเสียงเป็นโจทย์ท้าทายที่ทีมทำงานต้องตีให้แตก ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลจากสิ่งที่ผู้สมัครผู้ว่าฯท่านอื่นต้องการสื่อสาร เปรียบได้กับการวิเคราะห์คู่แข่ง เมื่อครั้งทำงานเป็นเอเยนซีโฆษณา
“จุดสตาร์ทจริงๆ เราทำงานมา 3 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทีมกลยุทธ์จะเป็นทีมแรกๆ ที่เข้ามาก่อนว่าเราจะทำกลยุทธ์ยังไง สื่อสารยังไง ในปีแรกที่ผมมาทำงานกับอาจารย์ เขามีคำอยู่คำนึง คือ Better Bangkok เป็นชื่อกลุ่มคนทำงานหลากหลายที่อยากทำกรุงเทพฯให้ดีขึ้น อาจารย์เขาทำมาก่อน
[ ทีมงาน Better Bangkok ]
แต่ผมเองรู้สึกว่า ถ้าจะทำแคมเปญการเมือง Better Bangkok มันไม่ได้บอกอะไร มันบอกแค่ว่ากรุงเทพฯดีเฉยๆ ก็ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวช่วย อาจารย์ต้องมี mission สักอัน เช่น อยากจะทำอะไรกับกรุงเทพฯ ผมก็พยายามจะทำให้มันจับต้องได้ให้มากที่สุด ตอนนั้นก็เขียนคำให้แก “กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่”
แต่อาจารย์รู้สึกว่าเมืองมันเหลื่อมล้ำ แล้วการพัฒนากรุงเทพฯมันไม่ได้เพื่อทุกคน หมายถึงว่า เส้นเลือดใหญ่ได้รับการพัฒนามากที่สุด เส้นเลือดฝอยจะถูก ignore อาจารย์แกก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องของทุกคน แกเลยเติมคำว่า “ทุกคน” เข้าไป จริงๆ “กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผมรู้สึกมันจะน่าสนใจพอมั้ยในแง่ของการสื่อสาร
เราก็ต้องทำแบรนด์คาแรกเตอร์ให้มันชัด เราต้องเอาแบรนด์แต่ละแบรนด์มาวาง เวลาเราทำแคมเปญก็ต้องไปอ่าน messege ทางการเมืองที่ผ่านมา ตอนนั้นพอมีคุณจักรทิพย์ เขาก็จะขายความเป็นแบรนด์เขา เช่น รักชาติ ศาสนา ขายความเป็นข้าราชการ ผู้ว่าฯที่มาจากประชาธิปัตย์ เคยสื่อสารเรื่องอะไรก็ต้องมาอ่าน พอเป็นอาจารย์ชัชชาติเราจะขายอะไร”
และที่มาที่ไปของคีย์เวิร์ด “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” อันแสนเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความแข็งแรง อาจกล่าวได้อย่างติดตลกว่า เกิดจากความเหนื่อยล้าของกูรูกลยุทธ์การสื่อสารผู้นี้
[ ชนหมัดกับผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ]
“ทุกครั้งเวลาที่ผมทำงาน คอมฯผมจะมีอาจารย์ตัวเล็กๆ ยืนอยู่บนเฟรมดำๆ แล้วผมจะใส่ข้อความใหญ่ลงไปข้างบนเหนือหัวอาจารย์ ถามว่าทำไมต้องทำวิธีคิดงานแบบนี้ ผมอยากรู้ว่า message นี้เข้ากับคนที่ยืนอยู่มั้ย
วันนั้นผมจำได้ผมพรีเซนต์ไปสิบๆ ประโยค แต่ประโยคสุดท้ายมันโคตรเหนื่อย แล้วก็เบื่อกับการเขียนประโยคสวย ผมก็เลยเขียนประโยคนึงเป็นคำว่า ‘ทำงานๆๆ’ ปรากฏว่าทุกคนในทีมกลยุทธ์ชอบหมด นี่แหละตัวตนอาจารย์
และที่สำคัญ อาจารย์ก็เป็นคน simple แบบนี้แหละ เป็นคนที่ไม่ได้พูดอะไรประดิดประดอย ทุกคนชอบ อาจารย์ก็ชอบ เลยเป็นที่มาของ wording อันนี้ ที่เป็น core หลักของแคมเปญ ที่ผ่านมากรุงเทพฯขาดคนทำงานมากๆ
เท่าที่ผมเจอแกมา แกทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปไหน เป็นคนก้มหน้าก้มตาทำงานทุกวัน ตี 3 ก็ตื่นแล้ว ตี 5 แกไปวิ่ง ที่เห็นไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ แกเป็นอย่างนี้จริงๆ ทุกครั้งที่แกเดินกลับมาในห้องแกก็กลับมาด้วยงาน”
จากเบื้องหลัง “อนาคตใหม่” สู่ “ทีมชัชชาติ”
เมื่อทีมข่าวย้อนถามถึงเส้นทางการทำงานเอเยนซีโฆษณา ว่า มีจุดเกี่ยวพันกับการเมืองได้ยังไง แมว เล่าว่า ความรุนแรงการเมืองอยู่กับเขามาทุกช่วงชีวิต จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเพิกเฉยต่อสถานการ์ตรงหน้า ต่อยอดกลายเป็นงานศิลปะ “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป”
“ผมว่าการเมืองมันอยู่ในตัวเรา คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือการเมือง เรียนจบเราไปอยู่อังกฤษ เห็นวัฒนธรรมการต่อต้าน วัฒนธรรมการประท้วงตั้งแต่สมัย มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ผมพูดเสมอว่า การเมืองมันเชื่อมโยงกับทุกๆ เรื่องของเรา ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การศึกษา มันผูกผันอยู่ในตัวเรา
ช่วงที่ผมอยู่เอเยนซีตอนปี 53 มีการยิงกันที่ราชประสงค์ ออฟฟิศผมอยู่กลางม็อบ มันทำให้เราสงสัยว่า ประเทศนี้ทำไมมีความรุนแรงทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ จน 53 เราก็ยังไม่ไปไหน
มีแคมเปญ Stronger Together ที่เอาดาราเซเลบมา มันยิ่งทำให้ผมสงสัยใหญ่เลยว่า การล้อมปราบขนาดนี้ มีคนตายขนาดนี้ คุณสามารถทำให้มันเข้มแข็งได้ด้วยการทำแคมเปญ 1 แคมเปญแค่นี้เหรอ สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจ คือ คนรอบข้างเราไม่สงสัยเลยเหรอ การที่คนไม่ตั้งข้อสังเกตกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตระหนก
มันก็เป็นจุดเริ่มที่ให้ผมทำงานศิลปะอยู่ชุดนึง ผมใช้ชื่อมันว่า “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” เพื่อชวนคนให้มาสงสัยว่าสังคมเรามันอยู่ด้วยความป๊อป อยู่ด้วยความปากว่าตาขยิบ ปรากฏว่า การทำงานศิลปะมันไปพ้องกับช่วงเวลานึงของการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย งานของผมถูกเผยแพร่ไป มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ ลุกขึ้นมาทำงานศิลปะ
เลยทำให้ผมคิดว่าชีวิตโฆษณาของผมมันเปลี่ยน งานศิลปะเรามันสามารถส่งสารไปกระตุ้นความคิดของคนในสังคม ให้กลับมาทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้น น่าจะเป็นบรรทัดแรกๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า ทำไมโลกโฆษณามันมีปัจจัยต่อโลกการเมือง”
ส่วนที่มาที่ไปของการได้ร่วมงานกับผู้ว่าราชการที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนั้น แมวเล่าว่า เขาและอาจารย์ชัชชาติ รู้จักกันผ่านเพื่อนของเขาที่เป็นเพื่อนร่วมก๊วนนักวิ่งของอาจารย์ จนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดกันบนโต๊ะอาหาร พร้อมตบปากรับคำว่าจะช่วยเหลือ หากอาจารย์ลงสมัครผู้ว่าฯในอนาคต
“ผมรู้จักอาจารย์ชัชชาติโดยบังเอิญ ตอนนั้นผมเป็น Creative Director อยู่ในบริษัทโฆษณามาก่อน พอดีมีเพื่อนผมเป็นเจ้าของสตูดิโอถ่ายรูป เป็นเพื่อนก๊วนวิ่งอาจารย์ วันนึงเขาก็มาบอกว่าอาจารย์อยากเจอผม แกเปรยๆ ว่า อยากลงผู้ว่าฯ ผมก็บอกถ้าอาจารย์จะลงผมก็ยินดีช่วยนะ เพราะผมเองผมก็ชอบคอนเซ็ปต์ของรถไฟความเร็วสูงของอาจารย์อยู่
ด้วยความที่แกเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด ฟังดูแล้วก็น่าสนใจ เราทานข้าวกับอาจารย์เสร็จก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่รู้จะมีวี่แววได้เลือกผู้ว่าฯหรือเปล่า ตอนนั้นก็เป็นยุคของคุณอัศวินแต่งตั้งกันมา ก็คุยเมื่อ 4-5 ปีก่อน
หลังจากคุยกับอาจารย์ไม่นาน ผมก็ early retire ชีวิตโฆษณามันหนักแล้วก็เครียดมาก (ก่อนจะ early retire) เป็นผู้บริหารเอเยนซี ตื่นเช้ามาก็ทำแบบเดิม คิดแบบเดิม โจทย์เดิมๆ แก้ปัญหาเดิมๆ เจอผู้คนเดิมๆ ในขณะที่คุณจะไปโลกข้างหน้าแต่คุณทำแบบเดิม บวกกันสถานการณ์การเมืองที่มันน่าเบื่อ ผลสุดท้ายปัญหาเหล่านี้มันก็มากระทบเศรษฐกิจ ตอนนั้นผมก็บริหารจัดการชีวิตจนหมด เลยตัดสินใจ early retire พอออกมา ผมก็อยู่ได้ ชีวิตปัจจุบันก็มีความสุขกว่าเดิม”
แต่ก่อนที่จะมาเป็นเบื้องหลังของทีมชัชชาตินั้น เขาเคยได้ชิมลางงานกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง ให้กับพรรคอนาคตใหม่มาก่อนแล้ว
“พอดีพี่ๆ น้องๆ ก็มาบอก มาช่วยทำแคมเปญให้อนาคตใหม่หน่อย ก็ตบปากรับคำไปช่วยอนาคตใหม่เรื่องของ communication ตั้งแต่ตั้งพรรคจนเขาได้ ส.ส. ช่วงนั้นงานผมมันก็ถูกนักศึกษาหยิบยืมไปทำทุนในการเคลื่อนไหว เราก็ให้ฟรีหมด เขารู้สึกว่างานพี่แมวสวยดี ก็ไปทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา เราก็คิดว่าเป็นประโยชน์ก็ให้ไป
พอตอนที่ไปอนาคตใหม่ อย่าง โรม (รังสิมันต์ โรม) ผมก็เจอตั้งแต่ยังเด็กๆ ก็ผูกพันกันมา แล้วพวกนี้ผมว่าเขาเป็นคนรักการเมืองโดยชีวิตจิตใจ และอยากขับเคลื่อนประเทศ
ถ้าเรามีประโยชน์ในแง่ของการสื่อสาร ถ้าเราช่วยได้มันก็ดี ผมว่าความรู้ที่ผมมีมันไม่ใช่มรดก ถ้าเราไม่ใช้ให้มันเป็นประโยชน์มันก็ตายไปกับผมนี่แหละ ก็ตกลงปลงใจช่วย แต่พอไปทำจริงๆ ปีนึงนี่เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่าเอเยนซีเยอะเลย
ทำงานสินค้า เป้าหมายมันชัดเจน บางอันก็อาทิตย์นึง บางอันก็เดือนนึง บางอัน 3 เดือน ไม่มีแคมเปญไหนยาวๆ แต่พอมาทำการเมือง เราเจอคนมากมายหลากหลาย ที่สำคัญ ในการแสดงความคิดเห็น แสดงไอเดีย มันจะต่างจากเราทำงานครีเอทีฟ คุณต้องเปิดพื้นที่ทำประชาธิปไตย มันใช้พลังเยอะมากๆ
และทุกอันมันจะเกิดการถกเถียงเพื่อไปสู่ไฟนอล เหมือนเวลาคุณเจอลูกค้าหลายๆ คนในจ๊อบนึง หน้าที่ของคุณต้องขมวดให้มันเหลือ 1 อัน แต่ละอันมันยากกว่าจะจบ จะทำยังไงให้ข้อคิดเห็นสะเด็ดน้ำนำไปสู่เรื่องการสื่อสาร”
ชีวิตของครีเอทีฟโฆษณาผู้นี้ มีเหตุให้ต้องหวนมาสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ด้วยเพราะเคยรับปากกับอาจารย์ชัชชาติไว้ สมัยเจอกันครั้งแรก
“เราก็รู้สึกเหนื่อยมากกับการเมือง พอหยุดไปซัก 2-3 เดือน ก็มีโทรศัพท์มา ปรากฏว่า เป็นอาจารย์ชัชชาติ บอกว่า แกจะลงผู้ว่าฯ ผมเคยรับปากกับแก ความมุ่งมั่นของแกมันก็น่าช่วย รู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวแก เหมือนยังขาดความเชี่ยวชาญในมุมของการสื่อสารในทิศทางการเมือง ก็เลยตัดสินใจช่วย ปรากฏว่า รัฐบาลก็ไม่มีการประกาศให้เลือกตั้งสักที กว่าจะได้เลือกตั้งอีก 3 ปี ก็ทำงานผูกพันกันมาถึง 3 ปี จนถึงการเลือกตั้งปัจจุบันครับ
ทำกับอาจารย์ ทำด้วยใจจริงๆ ผมคิดว่ามันสนุก มันชาเลนจ์ โจทย์มันท้าทายกว่าชีวิตเอเยนซี ไม่ได้บอกว่าเอเยนซีไม่ดี แต่ผมที่ทำมา 20 กว่าปี ก็เบื่อ ผมคิดว่าการเมืองมีผลต่อการที่ผม early retire ในฐานะเราเป็นคนไทยมันโคตรเหนื่อยเลย
ตอนปีท้ายๆ ของชีวิตครีเอทีฟ ต้องการงานใหม่ ต้องการเปลี่ยนโลก ผม retire มา 6 ปี โฆษณาผ้าอนามัยไม่เห็นจะเปลี่ยน เอาดารามานอนพลิกซ้ายพลิกขวา พอได้ใส่ผ้าอนามัยก็มั่นใจ ร่าเริง ตั้งแต่รุ่นแม่ผมก็อย่างนี้ สุดท้ายมันก็ย่ำอยู่กับเรื่องเดิมๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกเบื่อ และผมคิดว่าวัยผมถึงเวลาท้าทายชีวิต ตอนนี้ควรทำสิ่งที่ยังไม่เคยทำ
การที่เราทำแคมเปญให้อนาคตใหม่ หรือทำให้อาจารย์ชัชชาติ เป็น new experience มากๆ ประสบการณ์ในอนาคตใหม่หลายๆ เรื่อง ผมก็หยิบยืมมาใช้กับอาจารย์ได้ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าหาไม่ได้ในเอเยนซี มันเป็นช่วงชีวิตสุดท้าย เราได้ตื่นเต้น คนชอบมาถามผมนะตั้งแต่ทำแคมเปญกับอาจารย์ชัชชาติแล้วพี่แมวจะไปทำพรรคไหนต่อ ไม่ล่ะ พักผ่อน”
งานโฆษณา VS งานการเมือง ความเหมือนที่แตกต่าง
เมื่อผู้สัมภาษณ์ให้ครีเอทีฟมากฝีมือผู้นี้ เปรียบเทียบการทำงานระหว่างงานโฆษณากับงานการเมือง แม้จะมีจุดคล้ายกันหลายเรื่อง แต่โดยรวมแล้ว งานการเมืองมีความยากกว่างานโฆษณาในทุกมิติ
“ผมกับ ปราบ (ปราบ เลาหะโรจนะพันธ์) ทำงานด้วยกันอยู่ในทีมกลยุทธ์ หน้าที่หลักของผมดูเรื่อง communication ดูเรื่องสื่อสาร ส่วนปราบจะทำเรื่องของ Data และงานโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่
การทำงาน 3 ปี ผมแบ่งเป็น 3 ช่วง ปีแรกเดินลงพื้นที่กับอาจารย์ เก็บข้อมูล เก็บความรู้สึกของผู้คน เก็บข้อมูลว่าเขาฟีดแบกมายังไงกับกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ผมลงคนเดียว มีหลายคน ทีมนโยบายก็ลงไปเดินด้วย ในปีที่ 2 มันก็จะเป็นปีที่เข้มข้นเรื่องของการทำนโยบาย พอเข้าปีที่ 3 จะเริ่มเป็นเรื่องของแคมเปญเลือกตั้ง ป้ายหาเสียงเป็นกระเป๋า จริงๆ มันท้ายๆ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเดินลงพื้นที่และเก็บเกี่ยวมาเป็นนโยบาย 200 กว่าข้อ ผมคิดว่ามันต่างจากผมทำงานบริษัทโฆษณา อย่างงานโฆษณา โจทย์คือไปทำให้ผิวขาว เข้าใจตรงกัน แต่ว่าการเมืองมันเป็นอะไรที่ยากกว่า กว้างกว่า ลึกกว่า และทุกๆ ความลึกคุณต้องอ่านนโยบาย ไม่ใช่แค่อยู่ดีๆ อยากจะเขียนโฆษณา
การเมืองผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของมุมมอง ทัศนะ เวลาคุยพูดถึงอะไรสักเรื่องนึง สมมติเรื่องเกษตร คนในเมืองก็จะมี view point แบบนึง แต่เกษตรกรเขาก็จะมีมุมมองอีกแบบนึงถูกมั้ย เพราะฉะนั้นผมว่ามันไม่ง่ายในงานงานนึงที่จะเข้าใจทั้ง 2 มุม แล้วก็เอาความเข้าใจทั้ง 2 มุม มาเบลนด์เพื่อให้เกิด messages ในการสื่อสาร”
ทั้งนี้ นโยบายกว่า 216 ข้อนั้น มาจากการทำงานร่วมกันของคนรุ่นใหม่ในทีมชัชชาติ ซึ่ง แมว ได้ให้คำนิยามของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้หมายถึงวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนที่มีความคิดทันโลก แม้จะมีอายุมากอีกด้วย
“อาจารย์มีสิ่งที่หายากมากในบรรดานักการเมืองคนอื่นๆ แกมีความเป็น pop culture อยู่ในตัว ถ้าเอาแบรนด์มาชำแหละ ผมว่าอาจารย์แกเป็นคนร่วมสมัย คือ การเปิดรับความคิดเห็น มันกินความไปถึงตั้งแต่คนรุ่น Y ไปจนถึงรุ่น Z หลายๆ ปีที่ผ่านมา ผมว่าคนรุ่นใหม่โตมากับแกก่อนที่แกจะมาลงเลือกตั้งอีกนะ หมายถึงว่าในความหิ้วถุงแกงเป็นไอคอน
เราก็ต้องกลับมาดูทีมชัชชาติ มันมีวัฒนธรรมองค์กรที่ผมคิดว่าหลายๆ คนไม่ค่อยเคยเห็น ที่นี่มีตั้งแต่เด็กมากๆ ไปถึงซีเนียร์มากๆ ผมเห็นว่า ผู้ใหญ่ที่นี่หลายคนเขาอาจจะโตด้วยอายุ แต่เป็นคนสมัยใหม่ เราพูดถึงคนรุ่นใหม่ แต่มันอาจจะกินใจความไปถึงคนที่สูงอายุที่มีความคิดทันสมัย
ครั้งนึงผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เติบโตมากับคน generation เขา ตอนนั้นอาจารย์เองมีกลุ่มที่เหนียวแน่นมากๆ คือ X ปลายๆ กับ Y คนทำงานที่เติบโตมากับอาจารย์ในช่วงปีที่เป็นรัฐมนตรี กลุ่มคนรุ่นใหม่เราอาจจะได้บ้างแต่ไม่เยอะ ตอนแรกก็คิดกันอย่างนี้
แต่ผลปรากฏว่า สิ่งที่เราสื่อสารออกมา เรื่องนโยบายที่มันตอบคนรุ่นใหม่ในหลายๆ มุม ไม่ว่าเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ต้องอยู่กับเขาไปอีกนาน และเท่าที่ผมฟังจากสัมภาษณ์ เด็กรุ่นใหม่อ่านนโยบายกันทุกคน ไม่ได้เลือกตามกระแสด้วย อันนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ ผมคิดว่าอันนี้เป็นหัวใจสำคัญนอกเหนือจากภาพลักษณ์ของงานครีเอทีฟ”
[ “แวน - วริทธิ์ธร สุขสบาย” (ขวา) เจ้าของดีไซน์ตัวอักษร “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” และทีมกราฟิก ]
กล่าวได้อย่างเต็มปากว่า อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้การนำเสนอนโยบายของทีมชัชชาติประสบความสำเร็จ เป็นเพราะทีม “เพื่อนชัชชาติ” ที่เจาะพื้นที่โซเชียลฯ ครอบคลุมทั้ง Instagram, TikTok และ Twitter ผ่านฝีมือคนรุ่นใหม่
ตลอดจนเพื่อนชัชชาติ ที่ได้จากการลงพื้นที่และมาจากหลายภาคส่วน ช่วยกันขับเคลื่อนให้การทำงานผ่านไปได้อย่างราบรื่น
“อาจารย์มักจะพูดเสมอ การทำงานอะไรก็ตามแกอยาก open ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม เราไม่ได้เก่งคนเดียว ฟังคนอื่นมั่ง เลยกลายเป็นไม่ว่าจะทำอะไร เราก็มักจะเปิดพื้นที่ให้คนตลอด เพื่อนชัชชาติก็เป็นพื้นที่เปิดให้คนเข้ามาทำงานกับเรา
ตอนที่อาจารย์ประกาศลงอิสระ เราไม่มีหัวคะแนน เรามีแค่เครือข่ายเพื่อนชัชชาติเพื่อนอาจารย์ในที่ต่างๆ เขาก็รวมตัวกันมาช่วย ที่ผ่านมา คนที่เขาอยากจะช่วยอาจารย์เยอะมากๆ เขามีไอเดียอยากแก้ปัญหาของกรุงเทพฯ อาจารย์เปิดพื้นที่ให้ มันก็ทำให้เพื่อนชัชชาติแข็งแรง ผมคิดว่าถ้าเปิดไปแล้วแล้วไม่ได้ฟังเขาเลย มันก็ไม่มีประโยชน์
ถามว่า ทำไมเว็บไซต์นโยบายของเรามันสำเร็จ นอกเหนือจากการเขียนภาษาที่ง่ายของทีมนโยบายแล้ว ผมว่าสำคัญที่สุด เราทำเว็บไซต์ให้มันเปิดโอกาสให้คนเข้ามาเขียนเพิ่ม วิธีนี้มันเป็นการเปิดให้คนมีส่วนร่วมในความคิด ผู้ว่าฯไม่ได้เป็นคนที่เก่งไปซะทุกเรื่อง ซึ่งอาจารย์ย้ำกับพวกเรามาตลอดในเรื่องนี้ ทำยังไงก็ได้ให้คนมามีส่วนร่วมกับเราให้มากที่สุด
มันเลยกลายเป็นการสร้างทิศทางใหม่ให้กับการเมืองไทย เมื่อก่อนเราคิดว่าถ้าเปิดแล้วจะโดน io มาถล่มหรือเปล่า คนจะมาเขียนด่าเราเสียๆ หายๆ มั้ย ทำเว็บไซต์ เขียนยาวๆ คนจะอ่านรึเปล่า แต่ผลสุดท้ายมันหักล้างความเชื่อเราหมดเลย การเปิดมันทำให้เขาอ่าน พอเขาอ่านเสร็จแล้ว เขาถึงจะมีข้อคิดหรือไอเดียกลับมา”
เปรียบกรุงเทพฯ เป็นอเมริกา
เพื่อมองภาพปัญหาของเมืองหลวงของประเทศไทยให้เห็นชัดเจนขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การสื่อสารของทีมชัชชาติ ให้ลองจินตนาการกรุงเทพฯ เป็นสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีแค่ปัญหาร่วมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแต่ละ 50 พื้นที่ก็มีจุดเด่นและปัญหาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
“ผมก็จะพูดเสมอว่า ถ้ากรุงเทพฯเท่ากับอเมริกา ไม่ได้พูดถึงสเกล แต่เรากำลังพูดถึง 50 เขตกายภาพไม่เหมือนกันสักเขต คนอาจจะมองกรุงเทพฯมีปัญหาคล้ายๆ กัน เช่น รถติด แต่ถ้าเรามองไปในดีเทล มันมีทั้งปัญหาร่วมและปัญหาย่อยที่แตกต่าง ก็เหมือนอเมริกา 50 รัฐ ก็มีความแตกต่างของเขาไป คุณต้องมองกรุงเทพฯอย่างนั้น
ถามว่า ทำไมอาจารย์ต้องคิดถึง 200 กว่านโยบาย มันก็มาจากความหลากหลายในปัญหาที่มีอยู่ในชีวิตคน กทม.ถ้าไปอ่านจะรู้เลยว่ามันมีปัญหาปลีกย่อยที่ต้องแก้เยอะมากๆ
อาจารย์เองก็พูดเสมอว่า กรุงเทพฯ มันถูกพัฒนาจากเส้นเลือดใหญ่ แต่พอเดินไปตรอกซอกซอยถนนย่อยเดี้ยงหมด อาจารย์เลยให้ความสำคัญในการลงพื้นที่ เพื่อจะไปดูเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ที่จะไปเชื่อม ถ้าเราเห็นอาจารย์ใน live ที่ลง ส่วนใหญ่คืองานเส้นเลือดฝอยนะ อย่างน้ำท่วม ถ้าคุณไม่แก้เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่มันไปไม่ถึง
หนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ อาจารย์อยากจะทำให้เส้นเลือดฝอยมันแข็งแรง เรื่องของความเหลื่อมล้ำมันมีเยอะ เส้นเลือดใหญ่มันก็สะท้อนเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เราจะทำยังไงให้ gap มันน้อยลง”
และตามที่หลายคนทราบกันดี อาจารย์ชัชชาติลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ ซึ่งสิ่งนี้ก็อีกหนึ่งความท้าทายให้ทีมทำงานต้องฝ่าฟันไปให้ได้
“ความท้าทายที่สุดครั้งนึงของผม ผู้ว่าฯอิสระเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นครั้งแรกที่อาจารย์ไม่มี backup หลายคนบอกเพื่อไทย backup ผมบอกได้เลย ตั้งแต่ทำงานผมยังไม่เคยเห็นพรรคเพื่อไทยสักคน ตอนแรกมันเป็นอะไรที่ผมกังวลนะกับการที่ไม่มี backup ในพื้นที่ ส.ก. ส.ข. หรือหัวคะแนนจัดตั้ง หัวคะแนนของอาจารย์เป็นคนในชุมชน บางคนเป็นอาเจ็กอาแปะแต่วิ่งแข็งแรงมาก คนเล็กคนน้อยที่เขามาช่วย อาจารย์แกเป็นคนมีเสน่ห์ ไปที่ไหนมีแต่คนรัก มีแต่คนเข้ามารุม
สิ่งที่ผมเห็นตลอด คือ นักวิชาการเก่งๆ ที่เขาเกษียณแล้ว เด็กก็เหมือนกัน อยากเดินเข้ามาทำงานกับอาจารย์เยอะมาก เป็นคนหนุ่มสาวแล้วเก่งระดับจีเนียส ผมทำงานกับคนพวกนี้ผมได้ความรู้เยอะมากๆ เราเรียนรู้จากเด็กด้วย ไม่ใช่เขาต้องมาฟังจากเราอย่างเดียว
มีคนที่มีมุมลึกทางการเมืองมากๆ กับมุมที่มันเฟรชมากๆ มาเจอกัน ผมคิดว่ามันเป็นส่วนผสมที่ดีและหายากในพรรคการเมืองอื่นๆ เลยทำให้งานขับเคลื่อนทางการเมือง มันไปตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่เป็น 1.4 ล้านเสียง เป็นเรื่องที่สำคัญนะ นโยบายที่มันสามารถครอบคลุมพื้นที่คนขนาดใหญ่ จากวัฒนธรรมองค์กรในทีมชัชชาติที่ฟังมาจากหลายๆ มุมมอง”
นโยบายทั้งหมดกว่า 216 ข้อนั้น ได้มาจากการคิด วิเคราะห์ และลงพื้นที่สำรวจความต้องการพี่น้องชาว กทม. ผ่านการนำเสนอที่ย่อยง่าย ในคอนเซ็ปต์ ‘เกิดดี แก่ดี เจ็บดี ตายดี ในกรุงเทพมหานคร’
“ทีมนโยบายเขาก็จะมีนักวิชาการเขียน ประกอบด้วยทั้งคนรุ่นใหม่และผู้เชี่ยวชาญมากมาย แต่เราในฐานะครีเอทีฟ ต้องเข้าไปฟังอยู่ตลอด เพื่อที่จะถ่ายทอดนโยบายให้เป็นภาษาที่ง่ายในการสื่อสาร
แต่ก่อนหน้ามาทำงานกับอาจารย์ ผมเคยทำรีเสิร์ชส่วนตัวว่าปัญหาของกรุงเทพฯคืออะไร เช่น เวลาคุณอยากจะเลือกพรรคการเมืองสักพรรค ในชีวิตคุณต้องการอะไร เขาก็ไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็น basic needs ในชีวิตที่ทุกคนต้องการ โดยเฉพาะเจ็บป่วยได้ไข้ มันจำเป็นมากๆ เรื่องรัฐสวัสดิการ ตอนทำอนาคตใหม่ก็ไปตามเก็บเรื่องพวกนี้
ตอนนั้นก็เขียนประโยคคอนเซ็ปต์อยากให้แกเอาไปใช้ในหลายๆ เวที ก็เอาจากรีเสิร์ชเมื่อกี้มาตั้งคำถามกับตัวเอง ในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพฯที่เสียภาษีให้กับรัฐ แล้วรัฐเคยทำอะไรให้กับเรา รวมไปถึงลูกของเราที่เกิดมา ต้องการอะไร ‘เกิดดี แก่ดี เจ็บดี ตายดี ในกรุงเทพมหานคร’ ซึ่งมันถูก developed เป็น ‘9 ดี’ ของอาจารย์”
แมว ได้ย้ำถึงประโยค ‘เกิดดี แก่ดี เจ็บดี ตายดี ในกรุงเทพมหานคร’ ว่าทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งพื้นฐานที่คน กทม.ควรจะได้รับอยู่แล้ว และไม่ใช่สิ่งที่ขอเกินตัว
“เกิดดี หมายถึงว่า ตั้งแต่ Day1 เด็กต้องมีโรงพยาบาลที่ดี โรงเรียนดี สิ่งแวดล้อมดี การเดินทางดี เติบโตมามีพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้เขาไปต่อได้ เจ็บดี คุณต้องมีโรงพยาบาลที่มารองรับชีวิตของเขา รัฐก็ต้องเข้าไปดูแล ตายดี ตายคุณก็ไม่ควรจะตายอย่างเป็นหนี้ ทิ้งลูกหลานให้มานั่งแก้ปัญหาหนี้สิน
ผมคิดว่าในประเทศที่เจริญแล้วก็เป็นแบบนี้ และการที่เราเคยอยู่เมืองนอกมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นอะไรที่ประชาชนไม่เคยขออะไรเกินตัวเลยนะ
ประโยคนี้อาจารย์ชอบมาก แกบอกว่ามัน remind แกเรื่องงานเขียนของอาจารย์ป๋วย “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ผมก็เออจริง ลืมไปเลย ผมก็รู้สึกนะหรือเราเดินทางมาถึงอายุเท่าอาจารย์ป๋วยแล้ว เราคิดอะไรอย่างนี้ได้ ผมชอบข้อเขียนตรงนี้ของอาจารย์ป๋วยอยู่แล้ว แต่ตอนเขียนไม่ได้นึกถึงเลย แค่นึกถึงหน้าลูก
และที่สำคัญ เราก็อยากให้ลูกของเราเติบโตในกรุงเทพมหานครด้วยสิ่งเหล่านี้ มีโรงเรียนดี มีโรงพยาบาลที่ดี มี park เป็นที่หย่อนใจ คุณตายไปก็ไม่ต้องครอบครองอะไร รีเทิร์นให้กับสังคมไป ผมคิดว่ามันเป็นสังคมที่น่าอยู่ มันก็เพียงพอแล้วนะ เกิดดี แก่ดี เจ็บดี ตายดี เห็นมั้ยว่า 200 กว่านโยบายจะ fill in the box พูด 5 นาทีก็เข้าใจ”
แม้งานหลักของเขาจะอยู่ในทีมเบื้องหลังด้านการสื่อสาร แต่ขณะเดียวกัน ด้วยความรู้ ความสามารถและคอนเนกชันในวงการโฆษณาที่สะสมมาเกือบ 30 ปี ต่อยอดออกมาเป็นนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม
“ส่วนใหญ่ผมดูเรื่องงานศิลปวัฒนธรรม ผมจบศิลปากรมา ที่ผมทำส่วนนึงก็ให้ไอเดียด้วย แต่หน้าที่หลักๆ ของผมในแง่ของนโยบาย ผมพยายามจะรวบรวมคนที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชนมาเจอกัน ให้ออกไอเดียและทำนโยบายร่วมกัน เราพยายามเปิดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แล้วผมก็รู้จักคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมเยอะ
ผมคิดว่า ลำพัง กทม.เองทำไม่ได้ ต้องอาศัยพลังของภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกันทำ เราเป็นตัวตั้งนโยบาย คิดเสร็จแล้วดึงภาคีพวกนี้มาทำงาน กทม.ช่วยพื้นที่ การ open มันดีตรงนี้ คนที่เขาอยากช่วยก็มีพื้นที่ในการเข้ามาทำงาน หนังกลางแปลงอะไรพวกนี้ก็กลุ่มคนทำหนังอิสระ ก็รู้จักกัน เขาก็ต่อสู้มาหลายปีแล้ว อาจารย์ก็เปิดพื้นที่ให้คนพวกนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องดี
ตอนนี้มันก็จะไปสอดคล้องกับการกระจายตัวของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเมือง กระจายไปพื้นที่ต่างๆ 50 เขต จะทำยังไง จริงๆ มันอยู่ในนโยบายแล้ว แต่อีเวนต์จะทำยังไง ก็อาจจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม.กับศิลปินในเขตนู้นเขตนี้อะไรก็ว่าไป ส่วนในอนาคตจะมีอะไรในเรื่องของนโยบายศิลปวัฒนธรรมก็ต้องติดตาม”
ช่วยงานอาจารย์ คืองานที่ดีที่สุดของชีวิต
สำหรับความประทับใจของคนเบื้องหลังผู้นี้ที่ได้ร่วมงานกับผู้ว่าฯชัชชาติ มาตั้งแต่ก่อนได้ตำแหน่งจวบจนถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่า ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และสัมผัสได้ถึงความใส่ใจของอาจารย์ ครอบคุลมตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่
“จริงๆ ก็ทุกโมเมนต์นะ ผมได้ความรู้จากแกมากมาย แกจะพูดเสมอว่าแกอยากทำแคมเปญการเมืองให้เป็นแคมเปญรักเมือง หมายถึงว่า อะไรก็ได้ที่อย่าไปรบกวนคน ยกตัวอย่างเรื่องที่ประทับใจมากๆ เวลาไปหาเสียง นักการเมืองคนอื่นจะใช้โทรโข่ง แต่แกไม่ใช้ ใช้แต่ปากพูดแล้วเดิน knock door แกจะใช้เสียงดังเท่าที่จำเป็น แกพูดเสมอ คุณไม่รู้หรอกบ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียงบ้าง คนเฒ่าคนแก่เขาต้องนอน กลับไปดูได้เลย
แม้กระทั่งป้ายสติกเกอร์ที่ชอบติดกัน แกไม่ให้ใช้นะ ติดแล้วลอกยาก มันทำลายทัศนียภาพของเมือง แม้กระทั่งการใช้พลาสติก ไวนิลก็ทำให้ขนาดเล็กลง แกจะบอกต้องใช้ทรัพยากรที่ไปสร้างมลพิษให้กับโลกให้น้อย เวลาลงพื้นที่จะไปเท่าที่จำเป็น ถ้าใครไม่เกี่ยวไม่ต้องเดินตามล้อมหน้าล้อมหลัง เวลาเดินไม่ใช่เดินเป็นแผง ต้องไม่ให้รบกวนคนค้าขาย
มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมคิดว่ามันสะท้อนความใส่ใจของแก ต้องเป็นคนที่ข้างในโคตรดี ความขี้เกรงใจคน อาจารย์ครีเอทีฟยิ่งกว่าครีเอทีฟอีก คิดลงไปลึกแบบเข้าใจคน และจิตใจของแกมันทำให้วัฒนธรรมองค์กรของทีมชัชชาติเข้มแข็ง มันสะท้อนไปกับคนทำงาน
ถ้าใครทำงานกับอาจารย์แรกๆ แกจะเขียนคำใหญ่ๆ อยู่คำนึงคือคำว่า “สนุก” แกบอกว่าทำงานกับทีมชัชชาติต้องสนุก อย่าไปเครียด ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เวลาเราเขียน ทำงาน ทำงาน ทำงาน มันก็สะท้อนเรื่องความสนุก ผมว่าอาจารย์เองก็สะท้อนไปกับคนทำงานด้วยกัน สะท้อนไปกับคนที่อยู่ในชุมชนที่ช่วยอาจารย์ สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่ผมประทับใจ”
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแม้ไม่ได้รางวัลตอบแทน แต่ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจยิ่งกว่ารางวัลใดๆ ที่เคยได้รับตลอดชีวิตการทำงาน
“ผมทำงานโฆษณามา 20-30 ปี ได้รางวัลมาเยอะแยะมากมาย ต้องบอกว่างานที่ทำให้อาจารย์ ไม่มีใครมอบรางวัลให้ผมนะ แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตครั้งนึง อาจจะมีผู้ว่าฯที่ดีกว่าอาจารย์ชัชชาติอีกในอนาคตก็ได้ แต่อย่างน้อยรู้สึกว่า การทำงานของเรามีส่วนช่วยทำให้ได้ผู้ว่าฯที่ทำงานให้คน กทม. ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมโคตรภูมิใจ
การที่เราได้ผู้ว่าฯคนนี้ ผมจะได้ประโยชน์ด้วย ประโยชน์ไม่ใช่เงินทอง หมายถึงผมจะได้เมืองที่ดี ลูกผมจะได้เมืองที่ดีได้เดินทางดี ได้มีต้นไม้อีกล้านต้นขึ้นมา ลูกผมไม่ต้องเดินเข้าห้างตลอด ได้เดินเข้าพื้นที่ใหม่ๆ หรือแม้การเจ็บป่วยได้ไข้ที่โรงพยาบาล กทม.จะทำให้ดีขึ้น ผมคิดว่าแค่นี้ผมก็สำเร็จแล้ว สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด ในอาชีพทำงานครีเอทีฟโฆษณามา ผมว่าจ๊อบนี้ Great Job ที่สุดแล้ว
ส่วนอนาคตยังไม่ได้คิดอะไร เพราะว่าผมก็ยังช่วยอาจารย์อยู่ แต่อาจจะไม่ได้ช่วยเต็มตัวแบบต้องไปนั่งในศาลาว่าการ อาจารย์โทร.มาเรียกใช้อะไรก็ต้องช่วยแก เพราะเราก็อยากให้อาจารย์ทำงานได้ราบรื่น และดูแลกรุงเทพฯให้ครบ 4 ปี เป็นเป้าหมายสั้นๆ อย่างอื่นไม่ได้คิดอะไร ‘พักผ่อน พักผ่อน พักผ่อน’ เพราะว่า 3 ปีที่ผ่านมาก็ยาวนาน”
สุดท้ายนี้ ตัวแทนทีมกลยุทธ์ด้านการสื่อสารของ ทีมชัชชาติ ขอขอบคุณ คน กทม.ที่ให้โอกาสพวกเขาได้เข้ามาทำงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะได้เห็นพี่น้องในจังหวัดอื่นๆ ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองด้วยเช่นกัน
“ถ้าจะบอกอะไรกรุงเทพฯ ผมต้องขอบคุณที่ออกมาเลือกอาจารย์ ผมหวังว่า การที่เราได้อาจารย์ชัชชาติมาจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนให้การเมืองไทยไปข้างหน้า ผมอยากเห็นนักการเมืองที่ลงมือทำงานอย่างอาจารย์ในทุกระดับ
และที่สำคัญ ผมอยากเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกๆ จังหวัดของประเทศไทย ให้อำนาจประชาชนในส่วนนี้ ให้เขาได้ตัดสินใจอนาคต ผมคิดว่ามันอยู่ที่การตัดสินใจของคนในอนาคตของจังหวัดนั้นๆ
เวลาทำงานอาจารย์แกชอบใช้คำอยู่คำนึง ก็คือ คำว่า prototype งานที่เราเห็นเป็นนโยบาย บางทีแกก็ทดลองเล็กๆ มันเวิร์กหรือเปล่า กรุงเทพฯ วันนี้เดินทางมาเป็นต้นแบบแล้ว ลองเลือกหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อที่จะค่อยๆ ขับเคลื่อน
ผมคิดว่าต้องปล่อยให้ประชาชนทุกๆ คน เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง ยิ่งเลือกตั้งเยอะเท่าไหร่ เรายิ่งเรียนรู้ไปกับมัน คนที่ทำไม่ดีก็จะถูกคัดออกไป ประชาชนก็ได้เรียนรู้การเมืองผ่านการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และหวังว่า จะเป็น good start ให้เห็นว่าเราปกครองกันได้ เราดูแลกันเองได้ในแง่ของการเมืองท้องถิ่น
การเมืองท้องถิ่นต้องใช้คนในท้องถิ่น ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจและอยากเห็นพี่น้องในต่างจังหวัดได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ คนไทยทุกคนก็คนละ 1 สิทธิ 1 เสียง หมายถึงเราเป็นหุ้นส่วนของประเทศนี้ ประเทศมันจะดีจะแย่ อยู่ที่เราด้วยส่วนนึง ส่วนเรื่องการเมืองใหญ่เดี๋ยวค่อยว่ากัน”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...“ผมโคตรภูมิใจ” แม่ทัพผู้สร้างแบรนด์ #ชัชชาติ...
.
“พอเขียน ทำงานๆๆ ไป คนในทีมกลยุทธ์ชอบหมด บอกเฮ้ยนี่แหละ ตัวตนอาจารย์ คนที่ไม่พูดประดิดประดอยมากมาย ชัดเจน ทำจริง” @chadchart_trip
.
คลิปเต็ม>> https://t.co/SyYJm3BvHz#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่ากทม #ผู้ว่ากรุงเทพ #ผู้ว่าฯกทม pic.twitter.com/vYTPnxampp— livestyle.official (@livestyletweet) July 14, 2022
@livestyle.official ...“ผมโคตรภูมิใจ” แม่ทัพผู้สร้างแบรนด์ชัชชาติ “รางวัลที่ได้ทั้งชีวิต ยังไม่เท่ารางวัลชีวิตนี้”... #LIVEstyle #ชัชชาติ #ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่ากทม ♬ เสียงต้นฉบับ LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”, “Better Bangkok”, www.chadchart.com, เฟซบุ๊ก “Prakit Kobkijwattana”, อินตาแกรม @chadchartandfriends, @maewisart
ขอบคุณสถานที่ : คิดNap - KiddNap Workplace (อาคาร Mint Tower ถ.บรรทัดทอง)
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **