xs
xsm
sm
md
lg

"นักศัลยกรรมปลา" สะกิดเกล็ด-ลงมีด-เพิ่มมูลค่า จากงานอดิเรก สู่ธุรกิจ 6 หลัก/เดือน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สะกิดเกล็ด-ลงมีด-เย็บครีบ-รักษา” เปิดใจ “บุญมา พรหมสุวรรณ์” นักศัลยกรรมปลา ประสบการณ์ 25 ปี มีปลาผ่านมือหลายพันตัว

“ศัลยกรรมปลา” เพิ่มมูลค่าให้ปลาเป็นสิบเท่า!!

“ผมเป็นคนรักปลาอยู่แล้ว หลักๆ ที่ทุกคนรู้จักผมก็คือการศัลยกรรมปลา ตลอดระยะเวลา 25 ปีก็มีปลาผ่านมือหลายพันตัวครับ ผมมองว่าศิลปะกับการทำงานมันต้องควบคู่กัน เพราะฉะนั้นทำออกมาต้องสวยด้วยและปลาสุขภาพดีด้วย”

“มา-บุญมา พรหมสุวรรณ์” ชายวัย 46 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ชื่อของชายผู้นี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงคนเลี้ยงปลาสวยงามบ้านเรา เนื่องด้วยเขาคือ “นักศัลยกรรมปลา” ที่อยู่ในวงการมานานกว่า 25 ปี

ไม่เพียงแค่การรับศัลยกรรมปลาเพื่อเพิ่มความสวยงามและช่วยให้การดำรงชีวิตของปลาดีขึ้นเท่านั้น เขายังดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปลาแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงปลา ขายปลาพันธุ์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ขายอาหารปลา ยารักษาโรคปลา ตลอดจนสร้างบ่อปลา สร้างรายได้ถึง 6 หลักต่อเดือน



สำหรับจุดเริ่มต้นนั้น เดิมที บุญมา เป็นช่างดูแลเครื่องจักรของบริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ที่มีโอกาสจับพลัดจับผลูมาช่วยพี่ชายที่อยู่ในวงการซื้อ-ขายปลามาก่อนหน้านี้ ซึ่งการทำศัลยกรรมปลาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ปลากว่าสิบเท่า?!

“ทำมาประมาณปี พ.ศ. 2540 ครับ เริ่มมาจากพี่ชายมีร้านขายปลาคาร์ป ก็ไปช่วยเป็นคนขับรถให้ ได้เห็นว่าพี่ซื้อปลามา 200 บาท พอมาศัลยกรรมปุ๊บ เสร็จก็ตัวละ 2,000 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าให้ปลาตัวนั้นเป็นสิบเท่าเลยครับ

ไปเห็นเขาทำก็ยังไม่เป็น ลองไปทำเป็นอาชีพเสริม ตอนแรกเราก็ถามพี่ชายว่าทำยังไง ก็ให้เขาทำให้ดูสักครั้งสองครั้ง ที่เหลือกลับมาฝึกเอง ฝึกทำเรื่อยๆ ผมใช้เวลาฝึกอยู่ประมาณ 4-5 ปี เราเรียนรู้ทีละขั้นตอน ค่อยๆ ฝึกศัลยกรรมแบบง่าย แล้วค่อยขยับขึ้นไปขนาดกลางและแบบยากครับ

ศึกษาหาข้อมูลมีแค่เรื่องยา ศัลยกรรมจริงๆ ใช้เครื่องมือไม่เยอะ มีกรรไกร มีด แค่นั้นเอง แต่ต้องฝึกให้ชำนาญครับ ผมใช้วิธีการปรับปรุง เปลี่ยนวิธีการ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่าเราใช้เครื่องมือที่เราถนัดก็ใช้อันนั้นมาตลอด”



หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนชำนาญ ก็นำไปสู่การว่าจ้าง สำหรับค่าบริการในการทำศัลยกรรมของเขาจะเป็นไปตามความยาก-ง่าย โดยจะเริ่มต้นที่ตัวละ 500 บาท

“เมื่อก่อนยังไม่มีเฟซบุ๊ก ก็จะมีแต่เว็บไซต์ เราก็ชอบปลาอยู่แล้ว ก็มาฝึกที่บ้าน พอเริ่มศัลยกรรมมันเปลี่ยนแปลงเราก็ไปลงในเว็บไซต์ ก็จะมีเพื่อนๆ มาเชียร์ว่าทำสวย แล้วก็เกิดการจ้าง เราก็ต้องรู้จริง พอลูกค้าถามมาเราจะตอบเขาได้

ค่าศัลยกรรมผมเริ่มต้นจากตัวละ 500 บาทแล้วก็ขึ้นไปเรื่อยๆ เคยรับมากสุดก็ตัวละ 5,000 ครับ เราไม่ได้คิดราคาลูกค้าแพง เพราะว่าลูกค้าไว้ใจเรา ปลาเขามีความเสี่ยง เราก็เสี่ยง ถ้าเกิดเราคิดเขาแพง เราก็รับผิดชอบเขาไม่ไหว

มูลค่าตัวปลาส่วนใหญ่ที่ผมทำก็จะเป็นหลักพันปลาย ไปจนถึงตัวละเป็นหมื่นแล้วก็หลายๆ แสน บางตัวก็เป็นล้านก็มีครับ ถ้าเป็นปลาใหญ่ผมจะทำได้วันละ 10 กว่าตัว ไซส์ประมาณ 50-80 เซนติเมตร แต่ถ้าปลาเล็กๆ เราทำได้วันละประมาณ 50 ตัวครับ อยู่ที่ความยากง่าย

ถ้าตัวไหนง่ายก็แป๊บเดียวเสร็จครับ ทำ 5 นาทีก็เสร็จแล้ว แต่พอทำให้เราก็อยากทำสิ่งที่ยากๆ บางเคสก็ใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนกัน ทำไม่สำเร็จก็พักไว้ก่อน พอเราไม่เหนื่อยมากก็มาต่อ เราไม่ได้ทำจริงจังทุกวันเพราะมีอาชีพประจำอยู่แล้ว คืองานเสริม แต่ส่วนใหญ่จะทำตลอด เพราะเรารักและอยากทำให้สำเร็จ”

ฝ่าดรามา "ทารุณสัตว์"

สำหรับการทำศัลยกรรมให้ปลานั้น บุญมาอธิบายว่า คือการทำให้ปลามีความสวยงามตามลักษณะที่ต้องการ ทั้งการทำให้สีคมชัดขึ้น นำสีส่วนเกินออก ฯลฯ

“ผมรับทำทุกประเภทที่สามารถทำได้ ถ้าเป็นปลาที่แพง ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมีรูปที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นส่งให้เราดูก่อนว่าสามารถแต่งได้มั้ย ถ้าแต่งได้ผมก็ออกแบบให้เขาดูก่อนว่าเราแต่งยังไง พอเขาเอาปลามาหรือเราไปทำที่บ้านลูกค้า เราก็จะทำให้ใกล้เคียงกับแบบที่เราออกแบบไว้

สีส่วนเกินอย่างเช่นตันโจ ปลาที่เป็นตัวขาว หัวแดงจะต้องกลมเหมือนธงชาติญี่ปุ่น บางทีเขาเลี้ยงๆ ไปสีก็จะลามออกมา ตามสภาพอากาศแล้วก็ตามระยะเวลา หมายความว่าเขาจะไม่กลม เหมือนคนเราฝ้ากระขึ้นตามผิว หน้าที่ของผมต้องทำให้กลมเหมือนเดิม



ประเภทที่ทำได้คือสีจะต้องลอยอยู่ข้างบนสุด อีกประเภทจะมีสีตรงกลาง ส่วนประเภทสีลึก ไม่สามารถทำได้ เบสิกเลยคือถอดเกล็ดส่วนเกิน ถ้าสะกิดเกล็ดข้างนอกก็หลุดเลย

ต่อมาคือทำให้ขอบสีคมจะเป็นขนาดกลาง ทำให้ขอบสีแดงคมเป็นผืนเดียวกัน แต่ถ้าเกิดว่ายากๆ เอาสีออกจากหนังตา แบ่งตอน แบ่งสี ต้องอ่านดีๆ ว่าสามารถทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ฝืนธรรมชาติครับ

(เคสที่ยากที่สุดที่เคยทำ) เป็นปลาไซส์เกือบๆ 90 เซนฯ ปลาเขาค่อนข้างอายุเยอะแล้วหนังตามันแข็ง เราเอาปลามาวางในกะละมังและวางยาสลบ พอปลาสลบเราก็ค่อยๆ ใช้มีดกรีด ถ้าเกิดเราพลาดไปจะทำให้ตาบอดได้ เราก็ต้องเปลี่ยนใบมีดบ่อยๆ ให้คมมากๆ แล้วก็ค่อยๆ เฉือนออกบางๆ ไม่ทำร้ายให้ปลาเจ็บ เราก็เกร็ง แต่สุดท้ายก็สำเร็จ”

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า หากศัลยกรรมนำเกล็ดปลาที่เป็นสีส่วนเกินออกแล้ว โอกาสของเกล็ดที่งอกใหม่จะเป็นสีเดิมหรือไม่ เขาก็ให้คำตอบว่า มีโอกาสน้อย แต่หากขึ้นมาเป็นสีเดิมเมื่อทำซ้ำก็จะหาย

“ส่วนใหญ่ตอนที่ผมทำผมจะอ่านสีให้ขาดเลยตั้งแต่ก่อนทำศัลยกรรมว่าทำสำเร็จมั้ย ผมพอดูออกครับเพราะผมทำมาเยอะ ส่วนใหญ่ปลาที่มีราคาแพงเราจะให้ลูกค้าส่งรูปมาก่อน ปลาประมูลหรือปลาเกรดสูงมีรูปอยู่แล้ว เราให้เขาส่งมา

เราก็ประเมินว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้ อันไหนเสี่ยงเราก็ไม่รับทำครับ ประเมินเบื้องต้นและคุยกับเจ้าของปลาให้เรียบร้อยก่อนค่อยลงมือทำครับ



เหมือนที่ผมบอกว่าสีมันมี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 คือชั้นเกล็ด ชั้นที่ 2 ลงไปในหนังนิดหน่อย เอาออกก็มีโอกาสขึ้นได้นิดหน่อย แต่ชั้นที่ 3 ไม่สามารถทำศัลยกรรมได้ครับ

สมมติเกล็ดข้างใต้เป็นสีขาวแล้วข้างบนเป็นสีแดง เราเอาสีแดงออก สีแดงก็จะหายไป เกล็ดจะขึ้นมาเป็นสีขาว ถ้าสักเดือนเศษสีขึ้นมาอีกเราเอาออกก็หมดแล้วครับ วุ้นมีโอกาสขึ้นครับ เราก็ทำซ้ำอีกก็เหมือนกัน เราต้องอ่านสีให้ขาด ต้องเป็นสีเข้มและสีลอย”

ขณะเดียวกัน บนโลกโซเชียลฯ ก็มีการตั้งคำถามถึงอาชีพนี้ ว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ซึ่งนักศัลยกรรมปลาก็ขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงตามบรรทัดต่อจากนี้

“การทำศัลยกรรมหมายความว่าเราจะทำให้เขาบาดเจ็บน้อยที่สุดและสวยที่สุด มีวิธีการรักษาแผลให้หายไว ไม่ติดเชื้อ ปลาก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลกระทบอะไรครับ

ก่อนที่จะมาเราต้องเคลียร์กับลูกค้าก่อนว่า ปลาต้องผ่านการกักเชื้อเรียบร้อย ไม่ติดเชื้อ เราถึงจะเอามาทำ หรือไปทำที่บ้านลูกค้าก็ต้องผ่านการกักโรคก่อน

ถ้าเราทำหนักๆ เขาจะรู้สึก จะเป็นการฝืนธรรมชาติและทำให้ปลาเจ็บตัว ถ้าลูกค้าเอาไปรักษาไม่ถูกวิธีก็จะทำให้แผลติดเชื้อได้ เราทำแค่ไม่เยอะมาก เราทำให้ปลาสวยโดยที่ปลาเจ็บตัวไม่เยอะ เป็นการไม่ฝืนธรรมชาติ ของผมก็จะมีการฉีดยา ทายา และแช่ยาในน้ำ ที่เราทำอยู่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ จากประสบการณ์ที่ทำมาก็ไม่มีปัญหาครับ”



[ ใส่ยาให้ปลาหลังการทำศัลยกรรม ]
นอกจากศัลยกรรมให้สวยงามแล้ว ยังมีการรักษา เพื่อให้ปลาสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกด้วย

“ถ้าปลาเขารู้สึกไม่สบายตัวก็จะมีการฉีดยาและมีการให้อาหารบำรุงให้แข็งแรงขึ้น ผมรักษาด้วยครับ รักษาเท่าที่เรามีความสามารถ อย่างเช่น ปลาลูกค้าว่ายชนครีบหัก ก็ต้องไปเย็บให้ ดูว่าติดหรือยัง เราก็ไปตัดด้ายที่เราเย็บไว้ออก ก็สามารถช่วยได้ครับ

มีเคสป่วยหนักที่ช่วยได้คือปลาป่วยทั้งบ่อ ติดเชื้อแบคทีเรีย มูลค่าทั้งบ่อเป็น 10 ล้านบาท ผมสามารถเอายาฆ่าแบคทีเรียไปใส่ ปลาเขาหายก็ไม่เสียหายแม้แต่ตัวเดียว อันนี้รู้สึกภูมิใจมากๆ ครับ เจ้าของเขาก็ไว้ใจเราให้เราไปรักษาครับ

ความรู้สึกของหมอศัลยกรรม เราก็ทำให้ปลาสวยถูกต้องตามลักษณะ ประกวดได้รางวัลเราก็ภูมิใจมาก แต่ถ้าไปรักษาปลาป่วย เราจะทำยังไงก็ได้ให้ปลาเขาหายป่วยเพื่อให้เขามีชีวิตต่อ

ลูกค้าจะมีความกังวล ต้องคุยกับเราตลอด ไม่สบายใจนะปลาป่วย ถ้าเกิดทิ้งเวลามากกว่านี้ก็จะทำให้ปลาเขาตาย ตรงนี้เราก็ทำยาแล้วผสมใส่ให้เขา ปลาหายป่วยเราก็ดีใจ เพราะเราได้ช่วยชีวิตของปลา ให้ลูกค้าไว้วางใจเราทำงานต่อไปครับ”

สร้างบ่อ-ยารักษา-อาหารปลา จบที่คนเดียว

เมื่อย่างเท้าเข้ามาในบ้านพรหมสุวรรณ์ ก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่น และความสวยงามของบ่อปลาและน้ำตกแต่งสวนขนาดกำลังดี ที่มีปลาสวยงามว่ายวนอยู่ภายใน ทั้งหมดเป็นการสรรค์สร้างจากฝีมือช่างบุญมา

และตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เขาทำงานเกี่ยวกับปลาสวยงามแบบครอบจักรวาล อีกทั้งยังมีแบรนด์อาหารปลาเป็นของตนเอง

“(บ่อปลาที่บ้าน) สร้างเองทั้งหมดครับ เพราะเรารับทำอยู่แล้ว บางครั้งจ้างช่างมาช่างไม่ตามใจเรา สุดท้ายต้องออกแบบเอง ทำเอง ให้ช่างช่วยทำว่าเราอยากทำแบบนี้ ทำให้เราได้มั้ย แล้วก็คุมช่างไปในตัว บ่อปลามงคล เราก็ต้องมีข้อมูลเพื่อตอบลูกค้าได้ ทำแบบนี้ๆ ต้องหันเข้าบ้าน ต้องอธิบายลูกค้าด้วย ลูกค้าประทับใจก็จะให้เราทำครับ



[ สร้างบ่อปลาให้ลูกค้า ]
ผมทำธุรกิจนี้ครบวงจร เริ่มตั้งแต่ ลูกค้ามีปัญหา ปรึกษาในเรื่องบ่อทำไมน้ำไม่ใส ผมก็ไปปรับปรุงให้ แล้วก็จะมีการสร้างบ่อปลาให้ลูกค้าถูกลักษณะ และขายปลาให้ลูกค้า มีทั้ง 2 สายเลยครับ สายประกวดก็มี บางคนก็เลี้ยงเพื่อความสวยงาม คุยกันในเรื่องของเลี้ยงปลายังไงให้มีสุขภาพดี

ปลาป่วยเราก็ไปรักษาให้ หรือถ้าอยู่ไกลมากก็ต้องคุยกันให้เขาใส่ยา ถ้าเราไปไม่ได้หรือไปไม่ทันเวลา รวมไปถึงผมเป็นเจ้าของแบรนด์อาหาร (ยี่ห้อตันโจ Tancho Healthy Koi Food) ในส่วนที่เราไปทำเรื่องประกวด เราก็ช่วยบอกลูกค้าว่าเลี้ยงยังไงให้สวย และจัดส่งประกวดปลาให้ลูกค้าครับ”

สำหรับรายได้ในตอนนี้ มาจากการก่อสร้างบ่อปลาเป็นหลัก เมื่อคำนวณเฉลี่ยคร่าวๆ รายได้ในแต่ละเดือนก็จะอยู่ที่ราวหลักแสนต้นๆ



“ตอนนี้เป็นอาชีพหลักครับ ต่อเดือนก็ได้ประมาณ 2-3 แสนบาท หลักๆ ที่ได้เยอะสุดตอนนี้เป็นเรื่องการก่อสร้าง ทำบ่อปลา แล้วก็ศัลยกรรม การขายอาหารปลา ขายยารักษาโรค ก็จะรวมๆ กันหมดเลยครับ

ของผมถ้าเป็นการขายปลามี 2 ลักษณะ จะซื้อจากฟาร์มมาขุนแล้วขาย ลักษณะที่ 2 เราเอามาเลี้ยงไว้ก่อนสักพัก แต่ผมเล่นเฉพาะปลานำเข้า ปลาที่เพาะในไทยผมไม่ได้เล่นครับ

ทำของเราด้วยแล้วก็ทำให้ลูกค้าด้วย ทำทั้ง 2 แบบครับ แต่ ณ ตอนนี้ของผมทำเพื่อจำหน่ายอย่างเดียว เวลาเราน้อย ผมทำงานรับสร้างบ่อปลาคาร์ปให้ลูกค้า รับทำก่อสร้าง ทำบ่อปุ๊บ ลูกค้าก็จะให้เราหาปลาให้ ก็จะมีต่อยอดขายอาหาร ยารักษาโรค จบที่เราคนเดียวได้เลย”

ทั้งนี้ นักศัลยกรรมปลาวัย 46 ปียังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะสวยงามตามหลักสากลนิยมของปลาคาร์ปไว้อีกด้วย



“ปลาประกวดจะต้องสวยงามตามตำราที่เขานิยมเล่นตามหลักสากลครับ เป็นปลาสวยจริงๆ ค่อนข้างมีราคาแพง แต่ว่าปลาเลี้ยงเล่นจะเน้นให้มีสุขภาพดี น่ารักๆ ตามที่ลูกค้าชอบ

ปลาประกวดอันดับแรกจะดูหุ่นต้องสวยงาม ไม่อ้วนมากเกินไปและต้องไม่ผอม แล้วก็มาดูที่ผิวพรรณของปลา ส่วนใหญ่ขาวจะต้องขาวเป็นเงา เวลาว่ายน้ำปลาจะสวยมาก สีเขาจะต้องสวยงามคมเข้ม ขอบตัดของสีต้องเสมอกันครับ ต้องมีความบาลานซ์ในตัว

จริงๆ แล้วปลาประกวดผมเห็นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์อาจจะต้องศัลยกรรมเพราะปลาใหญ่หรือปลาที่เลี้ยงนำเข้ามาจากญี่ปุ่น พอเลี้ยงไปนานๆ สีที่เราไม่ต้องการให้ขึ้นก็ขึ้นมา ก็ต้องเอาออก หรือสีบางจุดที่เสียหายไปก็ต้องทำการศัลยกรรม

บางทีปลาจากญี่ปุ่นมาเมืองไทยแล้วมันจะคนละอย่าง ของญี่ปุ่นอุณหภูมิน้ำจะเย็น อากาศก็เย็น แต่พอมาเมืองไทย อากาศจะค่อนข้างอุ่นนิดหนึ่งก็อาจจะทำให้สีเขาเพี้ยนนิดหน่อย”

คนทำน้อย ตลาดยังต้องการสูง

สำหรับงานประจำที่ทำอยู่ก่อนหน้านั้น คือการเป็นพนักงานดูแลเครื่องจักร โดยใช้การเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรกและกิจกรรมหย่อนใจจากความเหนื่อยล้า

“ตอนที่ทำงานควบคู่กัน ถ้าเกิดว่าเราทำงานมาเหนื่อย อันดับแรกผมจะทำบ่อปลาเล็กๆ เราก็ลงน้ำทั้งเสื้อผ้าเลย ประมาณวันละชั่วโมงหนึ่ง เราเลิกงานมาก็มาดูปลา ไม่ไปไหน สังเกตดูสีปลา ฝึกการเลี้ยงให้ปลาสุขภาพดี แล้วก็ฝึกการศัลยกรรม

เราเลี้ยงปลาเราดูปลาตอนเช้าก่อนไปทำงาน เย็นมาก็มาทำงานเกี่ยวกับปลา แล้วตักปลาดูทุกวัน เราลงน้ำ น้ำเย็น เหมือนได้พักผ่อน พอเราอารมณ์ดีเราก็ฝึกทำปลาทุกวันเรื่อยๆ ปลาก็ได้อย่างที่เราคิดไว้เราก็ภูมิใจ

ผมทำ 2 อาชีพ งานประจำและงานศัลยกรรมปลามาพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะพักผ่อนส่วนตัวน้อย ลูกค้ายาวตลอด ทำงานประจำก็เยอะอยู่แล้วเป็นบริษัทเอกชน ก็ยากตรงที่เรามีเวลาจำกัด ต้องบริหารเวลาดีๆ สุขภาพก็ค่อนข้างเหนื่อยหน่อย ดีที่ลูกค้าไว้วางใจเรา


ในขณะที่ปลาที่เราทำเป็นอาชีพเสริม เราทำแล้วชัดเจนว่าปลาที่ผมทำให้ลูกค้าส่งประกวดได้รางวัลเยอะแยะมากมาย และที่ผมทำจะไม่บาดเจ็บเยอะ แค่สีส่วนเกินออก และมียาของเรา ทำแล้วแผลปลาจะหายไวไม่อักเสบ สุขภาพดี”

ปัจจุบันช่างดูแลเครื่องจักรผู้นี้ได้ตัดสินใจออกจากงานประจำ เพื่อมาทำธุรกิจเกี่ยวกับปลาอย่างเต็มรูปแบบได้ราว 2 ปีแล้ว

“ตอนนี้ไม่ได้ทำให้งานประจำแล้วครับ ลาออกมาได้เกือบ 2 ปี ก็จะมีเวลาทำตรงนี้เต็มที่มากๆ เดือนหนึ่ง 30 วันทำไม่ได้หยุดเลยครับ คิวยาวเหยียดเลยครับ

จุดที่ผมคิดแต่ไม่รู้ว่าใครคิดอย่างผมรึเปล่า สมมติเราทำงานประจำได้ 10 บาท ถ้าทำงานอดิเรกผมมองว่ามันจะต้องได้ 20 งานประจำเงินเดือนแน่นอน แต่ว่างานอดิเรกงานมีขึ้นมีลง เพราะฉะนั้นเวลาทำต้องได้มากกว่า ต้องมีฐานลูกค้า ลูกค้าให้เรา เราก็ให้ลูกค้า ต่างให้กัน ผมว่าจุดนี้ไปได้ เราทำงานจริงใจ ไม่เอาเปรียบลูกค้า มีความซื่อสัตย์ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วครับ



ต้องใจรักและดูทุกวัน พอผมมีเวลา เว็บไซต์ต้องเล่นทุกวัน เวลาศัลยกรรมปลา ข้อดีของผมคือผมทำปุ๊บจะถ่ายรูปไว้ และเก็บสถิติว่า 1 วัน 3 วัน 5 วันเป็นยังไง ว่าวิธีการนี้ อย่างไหนสำเร็จไม่สำเร็จ ถ้าเราเก็บสถิติดีๆ จะรู้ว่าตรงนี้เราสามารถทำต่อได้ไม่ได้ เป็นการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง”

เขาเล่าต่อว่า อาชีพนักศัลยกรรมปลาในประเทศไทย ยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่มักจะกระจายตัวกันอยู่ตามฟาร์มปลาต่างๆ

“อาชีพศัลยกรรมจริงๆ แล้วเพิ่งมาแพร่หลายได้ไม่นานเท่าไหร่ครับ ศัลยกรรมปลาผมว่าน่าจะมีประมาณ 20-30 คนเชี่ยวชาญเลย ส่วนใหญ่คนที่ทำอยู่ในฟาร์มจะเก่งจากฟาร์ม แต่คนที่ทำมีไม่ค่อยมากเท่าไหร่ครับ

หมอเป็นการรักษาแต่เขาไม่ได้มาศัลยกรรม การศัลยกรรมผมเห็นมาทำจากฟาร์มปลาคาร์ปที่เป็นดีลเลอร์ใหญ่ๆ ก็ไม่มี (ใบอนุญาต) แต่สิ่งสำคัญต้องดูสุขภาพปลา ต้องไม่ให้เขาทรมาน และวิธีการรักษาต้องรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ให้แผลเขาอักเสบและติดเชื้อ ต้องมีความชำนาญพอสมควรเราถึงจะทำได้ครับ”



[ ดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ]

เมื่อถามถึงอาชีพนี้ในต่างประเทศ บุญมาให้ข้อมูลว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้น การศัลยกรรมปลาได้ก่อกำเนิดมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งในปัจจุบันประเทศนี้เป็นตลาดค้าส่งปลาสวยงามอันดับต้นๆ ของโลก

“ประเทศที่ออริจินัลคือญี่ปุ่นครับ เริ่มก่อนเราประมาณ 300-400 ปี ที่บ้านเขาก็จะมีฟาร์มปลาคาร์ปค่อนข้างเยอะพอสมควร พ่อค้าก็เยอะ เขามีการศัลยกรรมเหมือนกัน แต่ญี่ปุ่นเขาจะศัลยกรรมตอนเล็กๆ พอทำตอนเล็กๆ แผลเขาจะหายง่าย

ปลาสวยๆ ส่วนใหญ่เขาจะศัลยกรรมมาแต่เล็กๆ เลย ปลาที่สวยสมบูรณ์ไม่ค่อยมี เพียงแต่ว่าสวยอยู่แล้วแล้วสีเกินนิดๆ หน่อยๆ ทำนิดเดียว

ฟาร์มญี่ปุ่นที่ผมไปใหญ่มากๆ เขาเป็นแหล่งผลิตขายส่งทั่วโลก ปลาจำนวนเยอะ ก่อนที่เขาจะปล่อยและคัดเลือกลงบ่อต้องทำศัลยกรรมก่อน แล้วก็ต้องค่อยคัดเลือกแต่ละเกรดของปลา เป็นจุดกำเนิดและขายส่งทั่วโลก ลงทุนเยอะมากๆ มีแม่ปลาที่สวยๆ เวลาประมูลขาย ราคาก็แพงมากๆ ครับ

ที่ญี่ปุ่นผมได้ไปมาแล้ว แต่ว่าไม่ได้ไปศัลยกรรมนะครับ ลูกค้าเป็นคนไทย มีแม่ปลาอยู่ที่ญี่ปุ่นหลายร้อยตัว ทีนี้พอถึงเวลา 1 ปีก็จะไปดูปลา 1 ครั้ง เช็กพ่อแม่ลูกปลายังอยู่ดีอยู่มั้ย มีปัญหาอะไรมั้ย ตัวไหนสวยมากๆ เราก็เอาไว้ทำแม่พันธุ์ต่อ

แล้วก็ไปคัดเลือกปลาสวยอายุ 2 ปี ตัวไหนที่สามารถประมูลขายได้ก็ให้ฟาร์มเขาประมูล ที่ญี่ปุ่นเขาเรียกเอาขึ้นประมูลที่งานประจำปี ก็จะได้ราคาหน่อย คัดปลาสวยเพื่อขายและเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ด้วยครับ (ลูกค้า) ต่างชาติยังมีคุยอยู่เหมือนกันแต่ว่าก็ไม่ได้ไปครับ”



สำหรับปลาที่ผ่านการศัลยกรรมมาแล้ว ผู้เป็นเจ้าของมักจะนำปลาเข้าสู่สนามประกวด โดยนักศัลยกรรมปลาได้เล่าถึงการประกวดปลาในบ้านเราไว้ด้วย

“การประกวดปลาที่เมืองไทยจริงจังมากครับ งานทั่วๆ ไปตามสมาคม ถ้าไม่มีโควิดปีหนึ่งก็จะประมาณ 4-5 งาน แต่งานประมงน้อมเกล้าแห่งชาติมีปีหนึ่งครั้งเดียวครับ รายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ทุกคนก็อยากได้รางวัล ต่างคนต่างเลี้ยง

ก่อนสมัครเราก็มาตรวจปลากันว่าพร้อมมั้ย สมบูรณ์มั้ย เสร็จแล้วก็สมัคร บางทีก็ยังไม่อยากมาโชว์ ต้องแอบไว้จนขนไปที่งานถึงจะเห็นปลากัน ก็ต้องไปลุ้นกัน

ถ้าประกวด ปลาเขาจะต้องดี ต้องสวย เลยต้องเตรียมตัวกันเยอะมาก ปลาคาร์ปส่วนใหญ่ที่เลี้ยงตามสมาคมจะไม่มีเงินรางวัลครับ มีแต่ถ้วยรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณครับ

ปลาที่แข่งขันกัน เขาเรียกปลาตันโจ เป็นปลาลักษณะตัวขาว ผิวเงา หัวกลมสวยงาม ตรงขอบสีคม หุ่นต้องดี อยู่ที่การเลี้ยงดู ผมว่านักเลี้ยงเมืองไทยเลี้ยงเก่งมากๆ เพราะปลาที่เอาไปปลาทุกตัวถือว่าสวยสมบูรณ์มากๆ ครับ

ปลาพวกนี้มีมูลค่า ถ้าเป็นปลาใหญ่บางทีก็มีมูลค่าเราเอื้อมไม่ถึง เกิน 7 หลัก บางคนธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จแล้ว อันนี้คือความสุขในการเลี้ยงครับ”

แตกต่างแต่เหมือนกัน “ดูแลเครื่องจักร-ดูแลปลา”

ตลอดระยะเวลาที่ได้เข้าสู่วงการปลากว่า 25 ปี อีกทั้งยังทำหน้าที่ดูแลเครื่องจักรมาก่อน ช่างบุญมากล่าวว่า ได้นำหลักการทำงานแบบญี่ปุ่นจากการเป็นช่างเครื่อง มาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลสิ่งมีชีวิตอย่างปลาได้อย่างลงตัว

“จริงๆ แล้วไม่ต่างกันมาก เครื่องจักรเวลาเสียเขาไม่บอกเรา ปลาป่วยเขาจะไม่บอกเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอยู่ที่การสังเกตในการทำงานว่าเราทำไปดีมั้ย ต้องมีการสังเกตและป้องกันอย่างดี จะทำให้เครื่องจักรไม่เสียและปลาไม่ป่วย เราก็เอางานที่เราทำอยู่มาประยุกต์ใช้กับงานปลา ก็ได้ผลมากๆ ครับ

โรงงานที่ผมเคยทำจะเป็นหลักการ ไคเซ็น (Kaizen : กลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่น) หมายความว่า เราพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุด สมมติเราทำงานเหมือนกัน ถ้าทำไม่ดีเราเปลี่ยนวิธีการ เอาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะไม่หยุดอยู่กับที่ เป็นสไตล์ญี่ปุ่นครับ ก็ต้องยอมรับว่าโรงงานที่เราทำอยู่สอนงานเรามาดีมาก เอามาใช้ได้ผลทุกๆ อย่างเลยครับ

และสิ่งที่ผมต้องไม่ลืมเลยคือการป้องกันการเกิดซ้ำ เราเจอปัญหาเรื่องทำงาน พอเราแก้ปุ๊บ เราก็จะป้องกันตรงนี้ไม่ให้เกิดซ้ำอีก เวลาทำงานเราเจอปัญหาเยอะ ก็ค่อยๆ แก้ งานมันก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประทับใจมากครับ”



เขายังเสริมอีกว่า ทุกวันนี้สัดส่วนความต้องการในตลาดของอาชีพยังได้รับความนิยมอยู่มาก อีกทั้งเขายังเปิดสอนเป็นคอร์สเล็กๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย

“เฉพาะเรื่องของตกแต่งปลา ความต้องการผมถือว่ามากนะครับ เราเอาเข้าจากญี่ปุ่นอาจจะเป็นปลาเกรดรองส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นการทำศัลยกรรมแล้วทำให้ปลาสวยขึ้น ความต้องการยังเยอะอยู่ครับ คนเลี้ยงเลี้ยงไปเขาจะซื้อปลาแพงขึ้น มีงานตลอดครับ งานประกวดปลามีตลอด งานศัลยกรรมควบคู่กัน

ถ้าเกิดว่าทำศัลยกรรมอย่างเดียวก็ได้แต่ผมทำครบวงจรเลย เพราะว่าจะได้จบที่ผมคนเดียว ลูกค้าถามปุ๊บ ผมมีให้หมด แค่เราคนเดียวลูกค้าก็จะได้ไม่ต้องยุ่งยากครับ เรามีบริการทั้งหมดครบวงจร

ปัจจุบันเปิดคอร์สสอนครับ แต่ก็ไม่ได้เปิดเยอะ เปิดเฉพาะคนที่จะต้องไม่กลัวเข็ม ไม่กลัวมีด อาจจะมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ถ้าไม่มีพื้นฐานเลยจะใช้เวลานาน 2-3 วัน

สอนทฤษฎีตั้งแต่การเลือกปลา เราดูปลาเราจะรู้ว่าสีปลาเป็นแบบไหน สามารถศัลยกรรมได้มั้ย และสอนวิธีการศัลยกรรม พอเราให้เขาทำตาม เราจะรู้ว่าเขาทำได้ไม่ได้ เราจะมีวิธีการสอนเขายังไงให้เขาสามารถทำได้ พอเขาเริ่มทำได้ก็ให้ฝึกและส่งการบ้านเรา มีปัญหาเราก็คอยให้คำแนะนำเขา

ไปถึงในเรื่องการรักษาปลา พอทำเสร็จจะมี 3 ขั้นตอน จะมีการฉีดยาแก้อักเสบ วิตามิน และการทายาที่แผล มีการแช่ยาแก้อักเสบในน้ำ จะทำให้แผลไม่บวมและอักเสบ แผลปลาหายไวครับ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย เขาได้ใช้โอกาสนี้ ฝากไปถึงผู้คนที่อยากทำตามความฝันและทำงานประจำควบคู่กัน เขาเชื่อว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยความมุ่งมั่นและพยายาม

“สิ่งที่เรียนรู้จากอาชีพนี้ เราทำงานให้ลูกค้าต้องมีความซื่อตรงและไม่เอาเปรียบลูกค้า ราคาจะต้องไม่แพง พอเราทำไป มีความสนิทสนมกับลูกค้า บางครั้งก็จะติดต่อให้ไปทำงานให้คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ทำให้งานเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปากต่อปากครับ ธุรกิจนี้ผมว่าเจริญเติบโตได้ แต่ต้องทำงานค่อนข้างรู้จริงและจริงจัง เราใช้ประสบการณ์

อยากฝากบอกเพื่อนๆ เวลาเราทำงานประจำและทำงานอดิเรกคู่กันไป มันต้องเจอปัญหา เจออุปสรรค อันดับแรกที่ผมผ่านได้เรามีใจรัก บางทีเจออุปสรรคเราท้อ เราพักไว้ก่อน แต่พอเราเริ่มหายท้อ หายเหนื่อย เราก็กลับมาทำใหม่ เราจะไม่เบื่อ เราจะค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ปรึกษาคนที่เก่งๆ เขาก็จะคอยบอกเรา เสร็จแล้วเราก็มาลองทำ

ถ้าเกิดเรารักที่จะทำ ผมว่างานทุกสิ่งไม่ยากหรอกครับ เพียงแค่เราตั้งใจจะทำมันและมีวิธีการคิด สมมติวิธีนี้ไม่สำเร็จก็ไปอีกวิธีหนึ่ง แล้วก็ขยับไปอีกจนกว่าจะหาวิธีที่ดีได้ ผมว่ามันอยู่ที่แนวคิดของเรา เราต้องตั้งใจทำจริง ผมว่าสำเร็จทุกอย่างครับ”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Boonma Promsuwan”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น