ถึงเวลายกเลิกการบ้านจะดีต่อเด็ก!!? สะท้อนเคส “การบ้าน” เยอะ เด็กเครียดสะสม-นอนไม่พอ-จนหมดสติหามส่ง ICU ผู้เชี่ยวชาญสับเละ ระบบการศึกษาไทย การบ้านเยอะเกินความจำเป็น พร้อมส่งสัญญาณ “เด็กเครียด” เตือนสังคม-ระบบการศึกษาควรเปลี่ยนแปลง!?
การบ้านเยอะ=เสี่ยงเครียดสะสม-เข้า ICU !?
“Armour (ลูกชาย) เครียดมาก งานส่ง 30 ชิ้นต่อสัปดาห์ ก่อนสอบมิดเทอม ทำเสร็จไป 12 ชิ้น นอนดึกมาสองเดือนแล้ว วันละไม่ถึง 5 ชั่วโมง ครูสั่งงานอย่างบ้าคลั่งไม่ประสานกัน...
จนเช้านี้เป็นลมล้มหัวฟาดพื้น ผล CT แพทย์แจ้งว่า สมองบวม ต้องเข้าไอซียู เพราะนอนน้อยมาตลอด ใครจะรับผิดชอบ?”
นี่คือ ข้อความของผู้ปกครองรายหนึ่ง ได้ส่งเสียงสะท้อน พร้อมภาพเด็กนักเรียนนอนอยู่ที่พื้น โดยมีคราบอาเจียนเปื้อนที่เสื้อผ้า หลังลูกชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โหมทำการบ้านจนหมดสติ สมองบวม เข้า ICU
ไม่เพียงแค่นั้น ให้โกหกพ่อแม่ว่าไปค้างบ้านเพื่อน แท้จริงบรรดาครูเป็นผู้จัดเตรียมเพื่อตอบสนองนโยบายผู้บริหารคนใหม่ โดยไม่ออกใบขออนุญาตจากโรงเรียน อ้างว่า เด็กขอไปกันเอง ไม่รับผิดชอบใดๆ
นอกจากนี้ ทางผู้ปกครองยังได้เผยแชตรายละเอียดการบ้านของลูก พร้อมตั้งคำถามถึงการปฏิบัติตามนโยบายให้ลดการบ้านเด็กลง ให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี แต่กลับไม่เห็นครูจะปฏิบัติตาม และเรื่องราวที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทันทีที่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกไป ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการศึกษาไทยที่ยัดเยียดเนื้อหาการบ้าน และงานต่างๆ มากเกินความพอดี จนส่งผลกระทบต่อเด็ก ขณะที่บางคนมองว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษามาเนิ่นนานแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อความชัดเจนถึงประเด็นที่กำลังถกเถียงอยู่ตอนนี้ ทาง ทีมข่าว MGR Live จึงได้ติดต่อขอความรู้จาก “รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” หรือ หมอเดว ผอ.ศูนย์คุณธรรมกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และยังเป็นเจ้าของเพจ บันทึกหมอเดว
โดยให้ความเห็นถึงปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่มีการแข่งขันสูง ให้การบ้านเด็กเยอะเกินความจำเป็น จนเด็กมีเวลานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เด็กมีภาวะความเครียดสะสม เกิดภาวะซึมเศร้าในที่สุด
“เคสแบบนี้เยอะมากครับ คือ ทุกวันนี้หมอบอกเลยว่า เปรียบเทียบ 100% เคสที่เด็กมีปัญหา ครึ่งหนึ่งคือครอบครัว อีก 25% คือ ระบบของโรงเรียนที่มีปัญหา
เราเจอเคสแบบนี้เยอะมาก ตัวอย่างมีเยอะ แม้กระทั่งจะเห็นเลยว่า การบ้านยากมาก บางทีเรียนอยู่ชั้น ป.4 ให้การบ้าน ป.5 เรียนอยู่ชั้น ม.1 ก็ให้การบ้านของ ม.2-ม.3 หรือว่าการบ้านที่คุณครูที่ให้ ก็นึกว่าเรียนวิชาเขาวิชาเดียว ซึ่งพอเอามารวมกันมันก็กลายเป็นเยอะ เพราะครูทุกท่านก็ให้การบ้านหมด”
ไม่เพียงเท่านี้ หมอเดว ยังสะท้อนต่ออีกว่า ควรมีการยกเลิกการบ้านเด็ก เพื่อลดแรงกดดันสำหรับเด็กจะมีอัตราที่ลดลง และควรเพิ่มเวลาชีวิตของเด็ก ให้มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว
“ในฐานะหมอเด็กคนนึง มองว่า การบ้านเด็กช่วยยกเลิกไปเลยได้ไหม แล้วถ้ายังใช้การบ้าน จงทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ ใช้วัตถุและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนของเขา แล้วเอามาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา
ถ้าทำให้เป็นในลักษณะนั้นได้ มันจะกลายเป็นแบบฝึกหัดชีวิต เกิดการเรียนรู้โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ล้อมรอบของเขาเอง แทนการทำเป็นการบ้าน
การบ้านเด็กที่มีเยอะเกินไป มันมีปัญหาแน่ เพราะทุกวันนี้เด็กเรียนโดยระบบแพ้คัดออก หมอใช้คำว่าแพ้คัดออก คือ การสอบได้ สอบตก และมีลักษณะการตัดเกรด มีสอบได้สอบตกทั้งหลาย พวกนี้เป็นพวกแพ้คัดออกทั้งสิ้น
ในระบบลักษณะอย่างนี้ จริงๆ แล้ว มันก็มีความเครียดอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสริมความเครียดอะไรเพิ่ม ก็เครียดอยู่แล้ว ไม่นับหลังโควิด-19 ที่จะต้องกังวลเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ หรือสถานการณ์เงินของพ่อแม่ที่มีปัญหา ในสภาพเศรษฐกิจที่มาประจวบเหมาะกัน
กับอีกเรื่องที่เป็นประเด็นจากระบบการศึกษาบ้านเรา คือ นอกจากชอบให้การบ้านเยอะแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ยาก คือ ข้ามชั้นก็มี เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการบ้านเยอะๆ และยากในลักษณะนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นกับเด็กแน่
คือ อาจจะทำให้นอนไม่พอ ซึ่งทุกวันนี้เด็กไทยติดหนี้การนอนทั้งประเทศ และเป็นหนี้ NPL คือ หนี้กู่ไม่กลับ ยังไงก็ไม่ได้รับการชดเชย เด็กเรียนจันทร์ถึงจันทร์ เสาร์อาทิตย์ก็ต้องมานั่งทำการบ้านชดเชย ซึ่งวัตถุประสงค์แบบนี้ หมอมองว่า ระบบทางการศึกษาต้องไปทบทวนตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหน
ยิ่งอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษ ยิ่งต้องคิดหนักเลย ว่า เรากำลังสอนลูกสอนหลานไปเพื่ออะไร และกำลังต้องการได้อะไรกันแน่ ทำไมเราไม่ใช้เรื่องของสมรรถนะ ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสพักสมอง”
หมอแนะ “ระบบการศึกษาไทย” ต้องทบทวนตัวเอง!!
เมื่อถามผู้เชี่ยวชาญถึงผลกระทบในอนาคต สำหรับการให้การบ้านเกินความจำเป็น และให้ในอัตราที่เยอะเกินไป แถมเกิดการแข่งขันที่สูงในระบบการศึกษา หมอเดว มองว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหา และสร้างผลกระทบทำให้เด็กเครียด และกดดันมากขึ้น
“คือ เวลาการบ้านเยอะ ต้องถามว่าเขานอนหลับพักผ่อนเพียงพอไหม ถ้าเขานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สมองจะแฮงก์ เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ของเราไม่ได้พักเลย แล้วป้อนข้อมูลใส่เข้าไปเรื่อยๆ ผมว่าไม่นานเครื่องก็เจ๊งไปในที่สุด
มันเฉกเช่นเดียวกัน สมอง working memory สมรรถนะในการตัดสินใจพวกนี้จะเสียหมดเลย เช้าที่ตื่นขึ้นมาก็แฮงก์ คือ ปวดหัว นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ค่อยได้ สภาพจะเกิดขึ้นตั้งแต่เช้า
ถ้าเกิดความเครียดมันสะสม เป็นทุกวัน เป็นทั้งเทอม เป็นทุกภาคการศึกษา ความล้าก็จะนำมาสู่เด็ก และเมื่อล้า ก็จะเกิดความวิตกกังวล ความเครียดวิตกกังวลก็จะนำมาสู่ความซึมเศร้า และอารมณ์ซึมเศร้าก็จะนำมาสู่เหตุผลทางด้านจิตวิทยา มันก็จะตามมาหมดเลย”
สุดท้าย หมอเดว ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงระบบการศึกษาไทย เป็นเหตุทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กมีเพิ่มสูงเช่นกัน โดยเน้นย้ำเตือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นไปทบทวน
“ระบบการศึกษา เป้าหมายเรามีไว้เพื่อพัฒนา 2 เรื่อง หัวใจใหญ่ของปรัชญา คือ พัฒนาให้เขามุ่งสู่อาชีพ และการเป็นคนดี คือ หัวใจของมันเลย เพราะฉะนั้นถ้าการบ้านที่มันเยอะ แต่มันตอบโจทย์ สามารถสมรรถนะอาชีพไม่ได้
มันตอบโจทย์ทางสมรรถนะของการเป็นคนดี อยู่ร่วมกันในสังคมลำบากเหลือเกิน อย่างเช่นเรียนจันทร์ถึงจันทร์ มันเยอะจนเกินไป ไม่เหลือเวลาในการคุยเรื่องฝึกหัดชีวิต ทักษะชีวิต ทักษะในการอยู่ร่วมในสังคมอันนี้จะกลายเป็นประเด็นที่มีปัญหา ระบบการศึกษาแบบนั้นใช้ไม่ได้ ไม่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ครับ
เวลาจะถามว่าการบ้านแค่ไหนพอดีกับเด็ก คำถามแรกที่หมอจะต้องถามครูกลับไป คือ ทุกวันนี้คุณครูไปนั่งในหัวใจของเด็กบ้างแล้วหรือยัง แล้วใช้ home room ของเรา ไม่ใช่แค่เป็นฝ่ายพูด แต่ฟังเสียงเด็ก ฟังความรู้สึกของเด็ก แล้วก็กลับมานั่งประเมิน
ยิ่งเป็นครูประจำชั้น ยิ่งต้องดูเลยว่า การบ้านวันนี้มีกี่เรื่อง ถ้าถามทุกวัน คนเป็นครูประจำชั้นจะมีปรอทจับได้ทันที ว่า งานหรือการบ้านเด็กหนักหรือเยอะไปไหม และครูประจำชั้นก็จะเป็นกระบอกเสียงในการไปคุยกับครูระดับชั้น หรืออาจจะรายงานสู่ระบบรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หรือขึ้นไปจนถึงผู้อำนวยการ ว่า อันนี้มากเกินไปแล้ว
ไม่เพียงแค่นั้น ท่านต้องฟังเสียงเด็ก ว่า เสียงเด็กเขาสะท้อนออกมาเยอะ หรือน้อยเกินไป และไม่ควรฟังเสียงแค่เด็กเรียนเก่ง ท่านต้องไปดูเด็กที่เขาไล่ตามไม่ทัน ว่า เขาหนักเกินไปไหม เพราะบางคนเด็กเหล่านี้ก็ต้องไปนั่งไล่ตามการบ้าน กลางคืนไม่ต้องนอน เพราะมันเยอะ และยากมาก ซึ่งไม่สามารถปรึกษาหารือกันได้”
สกู๊ปข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **