เปิดใจตัวแทนแม่พิมพ์ยุคใหม่ของชาติ สอน “แต่งหน้า” ในห้องเรียน ถ่ายทอดเคล็ดไม่ลับ พลิกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม หนุนเด็กสอนแต่งหน้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายงานโรงเรียน พร้อมปูพื้นฐานสร้างอาชีพในวันที่สังคมหมดความศรัทธาในวิชาชีพ “ครู” และนี่คือคำตอบของ “ครูเอก” ที่ยึดมั่นในตัวตน ตั้งใจหล่อหลอมให้ศิษย์มีอนาคตที่ดี
ครูยุคใหม่ พลิก “ห้องเรียน” สอน “แต่งหน้า”
“ตอนที่เริ่มมีกระแสชุมนุมแต่งหน้า เราไม่คิดว่ามันจะไปได้ไกลขนาดนี้ เราไม่คิดว่าผู้ใหญ่ในสังคมจะให้ความสนใจขนาดนี้ ปรากฏว่ามันมีรีแอ็กจากเด็กเก่าๆ ของเรา เด็กสมัยเราฝึกสอน
เขารีแอ็กกลับมาถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเคยทำตอนฝึกสอน เรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มันผ่านมา 7-10 ปีแล้ว ณ ทุกวันนี้เขายังคงจำมันได้ เขายังคงพูดถึงเราในแง่ดี เป็นร้อยๆ ข้อความ
มันเป็นสิ่งที่เราไม่คาดหวังว่าเราจะได้อ่านมัน แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ก็ดีใจมากครับที่เราเป็นแรงบันดาลใจของคนหลายๆ คน ไม่น่าเชื่อเหมือนกัน”
สวมเครื่องแบบราชการครู ขนเครื่องสำอางและประสบการณ์ Makeup Artists พกความมั่นใจและเป็นกันเอง เขาคือ “เอก-สุภกิจ กำลังคลี่” หรือ “ครูเอก” ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก
ที่เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ถึงการเปิดห้องเรียนสอนแต่งหน้าในวิชาชุมนุม สนับสนุนความชื่นชอบ และเพิ่มความมั่นใจให้ “นักเรียน” ต่อยอดกรอบความคิด สู่การสร้างรายได้ในอนาคต
“เรามองว่าเราอยากเปิดอะไรที่มันไม่จำเจ เป็นอะไรที่เด็กสามารถเอาความสนุกไปใช้ได้ เอาความชอบมาใช้ได้ และไม่น่าเบื่อ ก็เลยมองตัวเองว่า เราทำอะไรได้บ้างนอกจากการสอน
ครั้งหนึ่งสมัยเรียนที่ศึกษาศาสตร์ ศิลปากร ที่นครปฐม ก็เป็นเด็กกิจกรรมตัวยงเลย ก็ทำกิจกรรม เป็นพี่ปอมๆ เชียร์ ซึ่งก็ต้องแต่งหน้าเอง ทำชุดเอง ก็มองว่าถ้าเราเอาทักษะด้านนั้นมาถ่ายทอด มันน่าจะช่วยทำให้เด็กๆ นั้นได้สนุกสนานมากขึ้น
และปัจจุบันเด็กๆ หลายคนเขาสนใจงาน make up เขาแอบแต่งหน้ามาโรงเรียน เขาแอบเขียนคิ้วมา เขาแอบทำอะไรเกี่ยวกับใบหน้ามา
ผมมองว่า เรามีเด็กที่เขาสนใจอยู่แล้ว ถ้าเราหยิบเด็กเหล่านี้มาใส่ในจุดที่เหมาะสม มาแต่งในพื้นที่เหมาะสม ถูกต้องจัดไว้ให้ และเสริมทักษะเขาด้วย ผมมองว่ามันน่าจะได้ประโยชน์กันทั้งครูทั้งเด็กครับ
ส่วนหนึ่งคือ ผมจะค่อนข้างสบายๆ กับเด็ก ด้วยบุคลิกส่วนตัว คือเด็กๆ จะค่อนข้างสนุกไปกับเรา ไว้ใจเราในหลายๆ เรื่อง
ผมเองทำกิจกรรมในโรงเรียนหลายส่วนมาก ดูแลเรื่องกีฬาสี ดูกิจกรรมนักเรียนด้วย ก็จะคลุคลีกับเด็กค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นเด็กก็จะตามเราส่วนหนึ่ง เพราะเราก็จะพยายามดันให้เด็กทำกิจกรรม วันดีคืนดีก็ลงไปนำเด็กเต้น วันดีคืนดีก็ตีกลองสันทนาการเต้นกัน
เด็กก็จะมองเราเข้าถึงเข้าได้ เขาเข้าถึงเราได้ พอเราทำกิจกรรมที่เขาชอบ เขาก็เฮกันมา แล้วเขาก็ support เราครับ”
ด้วยความมุ่งมั่น และมีแนวคิดส่งเสริมเพื่อต่อยอด ทำให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก หนุนและให้ริเริ่มก่อตั้ง “ชุมนุมแต่งหน้าเพื่อการแสดง”ขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้เครื่องสำอางแต่ละชนิด ให้นักเรียนได้ทดลองด้วยตัวเอง
“อันดับแรกเลยหลายคนถามมาเยอะมาก เด็กๆ เข้ามาในชุมนุมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นครับ ต้องบอกว่าเมื่อก่อนผมเคยรับงานแต่งหน้าบ้าง ตอนที่สมัยเรียน เป็นนักศึกษา
อุปกรณ์หลายๆ อย่าง เครื่องสำอางหลายๆ อย่างมันยังคงใช้งานได้ เราก็เลยเอามาเพื่อการศึกษาตรงนี้ ต้องบอกว่าไม่ต้องเสียเงินเลย เอาของเก่ามาใช้ แล้วตอนนี้ยังมีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ ส่วนที่ support ตรงนี้มา ก็ต้องขอบคุณมากครับ
ตอนที่เริ่มประชุมนี้ ทางผู้บริหารสนใจ เขามองว่าด้วยทางชุมนุมผม เป็นชุมนุมการแต่งหน้าเพื่อการแสดง มันก็จะมีความเฉพาะตรงที่ว่า เราไม่ได้แต่งหน้าทั่วๆ ไป ไม่ได้เป็น everyday look แต่มันคือการแต่งหน้าเพื่อการแสดง
ดังนั้นผู้ใหญ่มองว่าถ้าเด็กเหล่านี้มาอบรม มาเพิ่มเติมความรู้ให้เขาสามารถแต่งหน้า เพื่อใช้ในการแสดงในโรงเรียนได้ ก็เกิดประโยชน์ทุกๆ ฝ่าย ผู้ใหญ่ก็เลย support ถ้ามันเป็นไปเพื่อการศึกษา ทางเราก็ support เต็มที่ครับ”
ครูเอกมองเห็นถึงปัญหาของนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานนาฏศิลป์ หรือกิจกรรมการแสดง ต้องจ้างช่างแต่งหน้า ทำผม มีค่าใช้จ่ายสูง การเปิดสอนในชุมนุมแห่งนี้ หวังทำให้นักเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้
“ณ ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ที่เรายังคงฝึกเด็ก ผมมองเป้าหมายแรก คือทำยังไงให้เด็กลดค่าใช้จ่ายในการแต่งหน้า ในกิจกรรมโรงเรียน
โรงเรียนมีกิจกรรมเยอะทั้งปีครับ แต่งหน้าในงานวันสุนทรภู่ก็มีในวันพฤหัสบดีนี้ แต่งหน้าวันอาเซียน วันวิทยาศาสตร์ วันคริสต์มาส วันตรุษจีน กิจกรรมมีตลอด ถ้าเกิดว่าเขาไปจ้างช่างแต่งหน้า หน้าหนึ่ง 500-1,000 บาท แต่ถ้าเกิดพอแต่งเองได้ เอาเงินมารวมกันในห้องแค่บางส่วนซื้อเครื่องสำอาง แล้วก็แต่งกันเอง มันก็ประหยัดไปได้เยอะ หลักพันเลยครับ
ตอนนี้ก็มีนำไปใช้บ้างเมื่อวันนี้เองครับ ที่มีกิจกรรมสุนทรภู่ เด็กๆ ในชุมนุมก็ตั้งโต๊ะแต่งหน้าในห้อง ผมก็มองว่ามันเริ่มเห็นผลแล้ว ว่าเขาสามารถนำไปใช้ได้จริงครับ”
จำผมไม่ได้ไม่เป็นไร ผมอยากให้จำโรงเรียนมากกว่า!! “ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะผมเองก็รู้สึกดีที่ไม่เปลี่ยนไปเยอะ เราอยากให้ข่าวเราออกไป แล้วมันโฟกัสที่ความก้าวหน้าของเด็ก มิติใหม่ของโรงเรียน ทุกคนจำชื่อโรงเรียนของเราได้ ทุกคนรู้ว่าโรงเรียนของเราทำอะไรได้ จำผมไม่ได้ไม่เป็นไรครับ ผมอยากให้จำโรงเรียนได้มากกว่า” |
"ระบบราชการไทย" = ที่กักขัง “เพศทางเลือก”!?
บรรยากาศในห้องเรียนการสอน ที่ทุ่มสุดตัวเพื่อถ่ายทอดเคล็ดไม่ลับที่ผ่านประสบการณ์ของครูเอก พร้อมอุปกรณ์ครบครัน ทั้งรองพื้น แป้ง อายไลเนอร์ บรัชออน ลิปสติก โดยไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ถึงเพศสภาพในการแต่งหน้า
แน่นอนว่าแม้ทุกวันนี้ภาพของประเทศจะดูมีสิทธิ เสรี เปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ ไม่ต้องหลบซ่อน แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยกลับยังมีพื้นที่ที่ปิดกั้น และไม่ได้เปิดออก ยอมรับคนเหล่านี้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นช่องโหว่
หรือแม้จะมีการยอมรับ ก็เป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข โดยเฉพาะระบบ “ข้าราชการ” ที่มองว่าครูเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” เป็น “ต้นแบบของนักเรียน” ไม่ควรมี “พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ” เพราะจะทำให้เกิดการเลียนแบบ
“ถ้าเป็นเด็กชายแท้เดินเข้ามาบอกว่าอยากแต่งหน้าเป็น เรายินดี เราพร้อมที่จะ support ทุกความคิด ทุกๆ เพศ
เพราะผมเชื่อว่างาน make up มันไม่ใช่งานที่ถูกจำกัดเฉพาะผู้หญิงหรือ LGBTQ ผมเชื่อว่าในวงการ make up มีผู้ชายที่มองว่างาน make up คืองานศิลปะ แล้วมันสามารถที่จะทำได้ ถ้าเด็กๆ เขาชอบและอยากทำ ก็ยินดีที่จะรับเข้ามาทำเต็มที่เลยครับ
ถ้าจะบอกว่าการแต่งหน้า หรือการอยู่กับ LGBTQ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบน ผมรู้สึกว่าเป็นความเชื่อที่ผิดพลาดมากเลย การเป็น LGBTQ มันอยู่ในจิตใจของเรา อยู่ในความรู้สึกของเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ไม่มีอะไรมาทำให้เราเบี่ยงเบนได้ มีแต่ถูกส่งเสริมให้ไปในทางที่ถูกต้องได้ ผมเองก็เป็นคุณครูอีกท่านหนึ่งที่เป็น LGBTQ เหมือนกัน เราก็มองว่ามันไม่ใช่ความผิดที่เราจะเป็นตัวเอง และเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด
เรา support ทุกความสามารถของทุกคน ฉะนั้นผมมองว่า LGBTQ ยิ่งเป็นความลงตัวของความอ่อนโยน ความละเอียดแบบผู้หญิง และมีความกล้า ความมุ่งมานะในแบบผู้ชาย
ผมมองว่าเป็นอีกเพศที่พิเศษนะ ถ้าเราเอาเขามาขัดเกลา เอาเขามาเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ผมมองว่าจะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตได้ครับ
การถูกบูลลี่หรือถูกล้อ ผมกล้าพูดว่าโรงเรียนเราน้อยมาก ผมเองจะอยู่กับเด็กๆ ถ้ามีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมาเล่าให้ฟังตลอด
โรงเรียนนี้ค่อนข้างเปิดกว้างในการมอง เรื่องของอัตลักษณ์ของบุคคล มันไม่มีการบูลลี่เกิดขึ้นใน ม.ปลาย แต่ ม.ต้นอาจจะมีบ้าง ด้วยวัยของเขา เด็กอาจจะล้อกัน ผมมองว่าเป็นไปตามช่วงวัย
พอเข้าสู่ ม.ปลาย ทุกคนเคารพและยอมรับในเพศสภาพที่ต่างกัน คุณครูที่นี่ก็เช่นเดียวกันครับ ก็น้อยมากจะมาพูดหรือว่าค่อนแคะ คุณครูก็จะส่งเสริม แต่ว่าให้อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่ากาลเทศะเหมาะสม”
ในส่วนที่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในสังคม ที่มองว่ากลุ่ม LGBTQIA+ จะทำงานเป็นครู หรืองานราชการไม่ได้ หรือหากใครผ่านเข้ามาทำงานในระบบนี้ จะต้องปิดบังตัวตนเพื่อความอยู่รอด ผ่านสายตาของครูเอก มองว่าจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ
“ในเรื่องของการเป็น LGBTQ กับอาชีพครู เป็นปัญหาที่เราได้ยินบ่อยมาก เพราะว่าผู้ปกครองและสังคมจะเข้าใจ หวังว่าครูคือต้นแบบ
ถ้าครูเป็น LGBTQ แม่พิมพ์มันจะเบี้ยวไหม ผมมีรุ่นพี่ มีเพื่อนครูหลายคนที่เป็น LGBTQ ทั้งที่เป็นเวอร์ชันเป็นแบบผม หรือทรานส์เจนเดอร์ไปเลย ผมมองว่าไม่มีผลในการเรียนรู้ของเด็ก
ผมมองว่าเด็กเขาเรียนรู้ที่จะซึมซับด้านใดจากครู คุณครูที่เป็น LGBTQ ก็มีพลังบวกเยอะมากให้เด็ก ผมมองว่าถ้ามันจะผิดจะถูก ไม่แต่จะเป็น LGBTQ คุณครูในหลายๆ ภาคส่วน มีส่วนทำให้มันถูกและผิดได้ทั้งนั้น ไม่จำกัดเพศ
และผมมองว่าดรามาสังคมไทยควรจะปรับ mindset ว่าปัจจุบันนี้เราเปิดกว้างได้มากขนาดนี้แล้ว คุณครูเองก็พร้อมจะสอนในสิ่งที่ถูกต้อง เราไม่เคยบอกว่าหนูต้องเป็นเหมือนครูนะลูก หนูจะต้องแบบนั้นแบบนี้ แต่เขามีสิทธิ์เลือกเอง โดยมีเราเป็น coaching เขาอยากไปทางไหน คุณครูมีหน้าที่ support ในวงเล็บถ้ามันถูกต้อง เราจะดันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม
แล้วคุณครู LGBTQ พลังเยอะมาก กับสิ่งหนึ่งที่คนอื่นจะรู้ก็คือ พวกเราพลังเยอะมาก ในการทำกิจกรรม ในการขับเคลื่อนตรงนี้ ถ้าสังคมเปิดกว้างมองเราในแง่ปกติ ในแง่ที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันไม่เกิดปัญหาใดๆ
ด้วยชื่อของ LGBTQ มันคือความหลากหลาย ไม่ใช่ LGBTQ ทุกคนอยากจะเปิดตัวแรง บางคนอยากอยู่มีความสุขในมุมของเขา เราไม่คาดคั้นให้ทุกคนที่เป็นจะต้องออกมาเรียกร้อง ทุกคนมีจุดยืนของตัวเอง ถ้าทุกคนมีความสุขกับจุดยืนของตัวเอง
ทุกคนทำงานได้เต็มศักยภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเพศหรือสถานะใด ทุกคนจะมีความสุขและผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา ไม่ว่าจะอยู่จุดใดของสังคม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือเอกชน ถ้าทุกคนมีความสุขกับจุดยืนของตัวเอง ทุกคนจะสามารถมีความสุขกับงานของตัวเองได้
เช่นเดียวกัน เราไม่ควรปิดกั้นความรู้สึก ความสามารถของตัวเอง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ครูหรือใครก็ตาม ถ้าเรายอมรับจุดยืนของตัวเอง ยอมรับความสามารถของตัวเอง แล้วแสดงมันออกมา ในด้านที่ถูกต้อง โลกใบนี้จะถูกขับเคลื่อนไปด้วย energy ที่ยิ่งใหญ่ของทุกเพศโดยไม่จำกัดเลยครับ”
แต่คงไม่ใช่สำหรับคนที่นั่งอยู่หน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้ ที่กลับมองโลกในแง่ดี และสะท้อนให้ฟังว่า ไม่เคยปิดกั้นตัวเองในพื้นที่โรงเรียนแห่งนี้
“บริบทของสถานศึกษาค่อนข้างมีส่วนเป็นอย่างมากครับ เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ยังคงมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มันยังไม่สำคัญ มันดูไร้สาระ มันดูส่งเสริมไปทางที่ผิด
ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กหมดครับ อยากให้เราลองมองไปตอนที่เราอายุ 16-17 สิ่งเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่มอง มันอาจจะเป็นสิ่งใหญ่ๆ สำหรับเด็กๆ
การที่เขาไม่มีคิ้ว การที่เขามีผิวหน้าไม่สดใส สำหรับเราไม่เห็นเป็นไรเลย มาเรียนได้ ใครจะว่าอะไร แต่สำหรับเด็กมันคือความมั่นใจของเขา ผมเชื่อว่าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มันยิ่งใหญ่มากสำหรับเขา ถ้าเราส่งเสริม แนะนำ support เขาในทางที่ถูกต้อง เขาจะมั่นใจขึ้น และจะมีความสุขมากขึ้นครับ”
บอกลา “ความรุนแรง” ในอาชีพครู!!
ปัจจุบันเหตุการณ์รุนแรงของครูและนักเรียนฉายชัดให้เห็นผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปัญหา “ความสวยความงาม” ที่เปรียบเสมือนศัตรูกับเด็กตลอด
แน่นอนว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอาชีพ และบางครั้งอาจบั่นทอนจิตใจแก่ครู ที่ประพฤติปฏิบัติในเส้นทางที่ถูกต้อง ครูวัย 32 ปีสะท้อนมุมมองถึงการสื่อสาร ความหวังดีต่อเด็กที่รุนแรง บางครั้งอาจจะกลายเป็นคำพูดที่ให้ร้ายกัน
“จุดนี้เป็นหน้าที่ของครูที่จะแนะนำ เหมือนกับเรื่องของทรงผม โรงเรียนนี้จะไม่ได้บังคับว่าไปตัดผมยาว ครูตัดให้ ไม่มีการกล้อนผม ยาวมาก็ยาวมา เราจะใช้วิธีการ เธอดูกระจกสิเหมาะสมไหม หล่อไหม ถ้าเขามั่นใจว่าเขาหล่อก็ไว้มา ก็ทำมา
แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการของสังคม เพื่อนมองเขายังไง คนรอบตัวมองเขายังไง จะเป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันเหมาะไหม เคยมีเด็กผมยาวมากตอนเปิดเทอม แต่เป็นเด็กผู้ชาย เราก็ให้เขาไว้ไป ดูซิว่าเหมาะสมไหม
ส่วนตัวผมเองผมมองว่าเราทำยังไงให้เด็กเข้าใจถึงคำว่าเหมาะสม อันนี้สำคัญ เพราะการที่ทำให้เด็กรู้จักคำว่าเหมาะสม มันคือการปรับ mindset ของเขา มันลึกกว่าการออกกฎบังคับ
เขาจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนเหมาะสม แบบไหนดูดี แบบไหนสุภาพ ถ้าตัวโรงเรียนทำได้ จะไม่มีดรามาบังคับตัดผมกันเลย แต่ของแบบนี้ผมมองว่ามันต้องใช้เวลา มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 1 ภาคเรียน 1 เดือน แต่มันต้องค่อยๆ ปรับ mindset ของเด็ก เป็น generation ไปเรื่อยๆ
คุณครูต้องใจกว้างพอ จะอดทน ใจเย็นที่จะค่อยๆ มองเห็นผลลัพธ์ว่า เราลองกระบวนการแบบนี้ เราไม่บังคับ ค่อยๆ ให้เด็กปรับเอง
เหล่าคุณครูอดทนได้ไหมในการลองผลลัพธ์ เด็กจะสามารถทำได้ไหม มันคือเรื่องของการศึกษา ถ้าเราบังคับเลยผมว่าการศึกษาไม่งอกงาม โรงเรียนคือพื้นที่ของการเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะของเด็ก แต่เป็นของทุกๆ คนในโรงเรียน
ผมจะพูดกับเด็กเสมอว่า ไม่ใช่แค่ว่าครูเป็นครูของเธอนะ พวกเธอก็เป็นครูของครูเหมือนกัน เพราะเด็กจะเก่งได้ก็เพราะครู คุณครูจะชำนาญได้ก็เพราะเด็ก เราต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกๆ เรื่อง”
ท่ามกลางกระแสดรามา ครูใช้คำพูด “คนที่แต่งหน้า ทำผมไปโรงเรียน ในสถานะนักเรียนมันไม่ได้สวย มันจะเหมือนผู้หญิงหากิน” จนทำให้สังคมเสื่อมศรัทธากับอาชีพ และตั้งคำถามกับกรอบความคิดนี้ ครูเอกบอกเล่าอย่างจริงใจให้ฟังว่า ในฐานะครูรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันอาจจะกลายเป็นบาดแผลในใจของเด็กได้
“ค่อนข้างแรงครับ ผมเข้าใจเจตนารมณ์ของคุณครู คือเป็นห่วง เราเข้าใจได้เลย แต่ชุดคำพูดการเปรียบเทียบในปัจจุบันนี้มันค่อนข้างรุนแรง ตัวผมเองมองว่าก็เป็นคำพูดแรงไปที่เราจะพูดกับเด็ก
เหมือนอย่างในคลิปข่าวที่บอกว่า มีคุณครูที่ด่าเด็กที่แต่งหน้า หรือว่าตักเตือน อาจจะเป็นการตักเตือนที่รุนแรง เป็นคำที่เป็นอาชีพหนึ่งที่คนไทยไม่เห็นด้วย ผมมองว่าคำคำนั้นแรงสำหรับเด็ก แรงสำหรับผู้ฟัง มันมีวิธีการตักเตือนอีกหลายวิธี ที่เราทำความเข้าใจกับเด็กที่แต่งหน้า
แต่การใช้ hate speech มันไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากบาดแผลในใจของเด็ก พอเป็นข่าวออกมาแล้ว มันก็กลายเป็นบาดแผลในใจของครูอีก แม้ว่าคุณครูจะหวังดีก็ตาม แต่คำพูดที่ใช้มันรุนแรง มันเกิดแผลแน่นอน”
กว่าระยะ 7 ปีในเส้นทาง “เรือจ้าง” แห่งนี้ ที่จะต้องคอยส่ง “ผู้โดยสาร” ให้ถึงฝั่งอย่างปลอดภัยที่สุด ผ่านประสบการณ์ของเขาแล้ว มองว่าเป็นหนึ่งอาชีพที่ถูกคาดหวังจากสังคมเสมอ
“เราหนีไม่พ้นความคาดหวังจากสังคมอยู่แล้ว เพราะว่าช่วงชีวิตของเด็ก ตั้งแต่เล็กๆ จนกว่าจะหมดวัยเยาวชน เขาอยู่กับโรงเรียน อยู่กับครู ฉะนั้นสังคมคาดหวังอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเกิดดรามาอะไรขึ้น ยังไงครูก็ต้องรับหน้าก่อน คุณครูโดนก่อนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม อยากบอกว่าคุณครูเต็มที่กับภาระหน้าที่อยู่แล้ว
คุณครูทุกคนมีจิตวิญญาณในความเป็นครู ผมเชื่อว่าทุกคนต้องมี ทำอาชีพนี้ถ้าไม่รัก ไม่เสียสละทำไม่ได้ ผมได้เห็นหลายๆ คอมเมนต์บอกว่า คุณครูทำตามหน้าที่ คุณครูก็ได้เงินเดือน และคุณครูก็มีหน้าที่สอนไป เด็กเขาก็มีหน้าที่เรียน
ด้วยเราอาจจะมองว่าเป็นข้าราชการครูมันสบาย มันมีสวัสดิการ เงินเดือนก็โอเคในระดับหนึ่ง เราจะมองว่าคุณครูไม่ได้ทำงาน 8 โมงเช้าทำงาน 4 โมงเย็นเลิกงานแล้วจบ
อาชีพครูไม่ได้ออกแบบมาอย่างนั้น แม้เราจะบอกว่าครูก็เป็นคนทำงานเหมือนกัน มี work balance แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมันสะท้อนถึงครูด้วย คุณครูก็ต้องดูแลทั้งเด็ก ทั้งหน้าฉาก หลังฉาก ปัญหาที่บ้าน เด็กบางคนก็มีเงินกินข้าว เด็กบางคนที่บ้านมีปัญหา
คุณครูก็ต้องเป็นคนคอยจัดการปัญหาเหล่านั้นด้วย ภาระหน้าที่มากขึ้น กับตัวเงินเดือนเราก็พยายามที่จะให้มันอยู่ได้ จริงๆ เราอาจจะไม่ได้เรียกร้องเงินมากขึ้น เราเรียกร้องงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดงานเอกสาร เพิ่มเวลาให้ครูอยู่กับเด็ก แค่นี้เราก็พอใจแล้ว”
สุดท้ายนี้ ครูคนเก่งแห่งโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ที่เป็นหนึ่งบุคคลที่กล้าลุกมาเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ๆ รวมไปถึงตลอดจนร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาของไทยไปควบคู่กันก็ได้ฝากถึงกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมวิชาชีพครู ให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ ไปให้ได้
เพราะการเป็น “เรือจ้าง” ไม่ใช่แค่การให้ความรู้แก่นักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการเข้าใจ ช่วยส่งศิษย์ไปถึงฝั่งฝัน
“ในฐานะที่ยังเป็นคุณครูรุ่นใหม่ อยากฝากถึงคุณครูในประเทศไทยว่า มันมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ มันมีความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของทุกๆ คน ถ้าเราเข้าระบบนี้มาเพื่อจะสอนหนังสือให้จบไป เราก็จะเป็นผู้สอนหนังสือ
แต่ถ้าเรามาเพื่อเป็น coaching มากกว่าสอนหนังสือแล้ว เรา support ในทุกๆ ความสามารถของเด็ก เราดูตัวเองว่าเราพอจะ support ได้ เราดันทุกทาง
ผมเชื่อว่าสังคมครูไทย ก็จะมีครูเก่งๆ ในหลายๆ ด้าน ช่วย support และเติมเต็มเด็กไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้
และอยากให้นักเรียนรักตัวเอง ให้เขาเคารพความสามารถของตัวเอง เพราะการรักตัวเอง การเคารพตัวเอง มันทำให้เขาเห็นค่าของตัวเอง
เด็กๆ หลายคนที่มีความสามารถ แต่ถูกสังคมจำกัดเอาไว้ เด็กบางคนไม่ได้อยู่ใน beauty standard ที่สังคมจะมองว่าเขาสวย แต่เขาชอบงาน make up เขาเลยกล้าที่จะลุกมาบอกว่าเขาอยากเป็น beauty blogger เพราะเขามองว่า เมื่อก่อนเขาเขิน เพราะการแต่งหน้าคือเรื่องของคนที่สวย
เราก็บอกว่าไม่ ทุกคนมีความงามในแบบของตัวเอง ถ้าเรากล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ ลุกขึ้นมามั่นใจในตัวเองในทุกเรื่อง เด็กๆ ก็จะกล้าขึ้นมา และสร้างสรรค์ความหลากหลาย ความเก่งกาจในหลายๆ ด้านออกมาครับ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก "supagid.kumlungklee"
ขอบคุณสถานที่ : โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **