อุทาหรณ์ผู้บริโภค!! “ดารุมะ ซูชิ” ทำโปร “ลดราคา-ซื้อ voucher ล่วงหน้า” สุดท้ายล่มทั้งขบวน เจ้าของหอบเงินหนีเข้ากลีบเมฆ กูรูการตลาด เผย ร้านไหนขาย voucher ไม่หยุด และถูกลงเรื่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนว่า เอาเงินลูกค้าไปหมุน?!
เหตุผลที่ต้อง “บุฟเฟ่ต์แซลมอน (ทิพย์)”
“voucher เป็นเครื่องมือทางการตลาด ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน เมื่อใดก็ตามที่เราเอาเงินที่ได้จาก voucher ซึ่งถือเป็นรายรับล่วงหน้ามาหมุนเงิน เมื่อนั้นเราเริ่มติดกับแล้ว”
“ชัยพนธ์ ชวาลวณิชชัย” หรือ “ครูชัย”นักการตลาดดิจิทัลชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ “ครูชัย M.I.B Marketing In Black” ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live
สืบเนื่องจากกรณีที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม กับ “ดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi)” ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังกว่า 27 สาขา ที่ออกโปรโมชันจูงใจลูกค้าเป็น “บุฟเฟ่ต์แซลมอน” ในราคาหัวละ 199 บาท จากราคาปกติ 499 บาท โดยต้องซื้อคูปอง หรือ E-Voucher ล่วงหน้า 5 ใบขึ้นไป แต่ละใบจะมีอายุ 6 เดือน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม
ทว่า... เมื่อถึงเวลา กลับไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าหวัง เพราะร้านดังกล่าวได้ปิดตัวลงแบบฟ้าผ่าอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่แห่ซื้อคูปองล่วงหน้าและจองที่นั่งเอาไว้ ไม่สามารถใช้บริการได้
ในส่วนของผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ลูกค้านับพันรายที่ซื้อ voucher เท่านั้น หากแต่กระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ สาขาละ 2-2.5 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าเช่าและค่าตกแต่งสถานที่
ตลอดจนซัปพลายเออร์ที่ส่งปลาแซลมอน มีข้อมูลออกมาว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นดังกล่าว ค้างจ่ายค่าปลาแซลมอนกว่า 30 ล้านบาท รวมไปถึงพนักงานเกือบ 300 ชีวิต ที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง คาดว่า มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ครูชัย ได้ช่วยวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านมุมมองของนักการตลาด โดยระบุว่า เจ้าของดารุมะ ซูชิ อาจใช้โปรโมชัน voucher มาเป็นเครื่องมือ คล้ายเพื่อหมุนเงิน จนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด
[ ชัยพนธ์ ชวาลวณิชชัย นักการตลาดชื่อดัง ]
“เจตนาของเจ้าของร้านดารุมะ ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเขาพลาด ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้า เวลาทำโปรโมชันลดแลกแจกแถม การออก voucher มันคือการลดราคา เพื่อเอาเงินล่วงหน้า แล้วก็จะไปลุ้นกับการที่ลูกค้าซื้อแล้วไม่มา
สิ่งที่ต้องระวัง ต้องอย่าติดกับเรื่องนี้ เราขายเป็นรายรับล่วงหน้า สิ่งที่มันเป็นอนาคตแล้ว เราพยากรณ์ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือราคาวัตถุดิบต้นทุนทั้งหลาย ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบมีโอกาสที่จะขยายตัว
อย่างร้านนี้ทำแซลมอนเป็นหลัก ซึ่งแซลมอนช่วงโควิด มีราคาถูก เพราะมีช่วงนึงที่คนไม่กิน ตอนนี้ฟื้นแล้ว แพงขึ้นมา 100 เปอร์เซ็นต์ สมมติได้ต้นทุนมา 600 บาท ตอนนี้ต้นทุนกลายเป็นกิโลละพันกว่าบาท แต่เขาขายลูกค้าไปแล้วในราคา 199 บาท เปิดร้านมาลูกค้าเข้าเต็มร้าน เป็น voucher เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ไม่มีรายได้เข้าเพราะรับมาแล้ว โดยที่ต้นทุนสูงขึ้น เขาจะเอาเงินเดือนที่ไหนจ่ายค่าพนักงาน จ่ายค่าของให้ซัปพลายเออร์ ก็แบกไม่ไหว วิธีการเดียวต้องออก voucher เพื่อหาเงินอีก
เพราะฉะนั้น voucher เป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่ต้องใช้เวลาจำกัด จำนวนจำกัด และสร้างกระแสให้เกิดการกระเพื่อมในระยะสั้น จะต้องไม่มองเป็นเครื่องมือที่ใช้หมุนเงินหรือรายได้หลัก และจะต้องระวังเรื่องการเงินเป็นอย่างดี ต้องคำนวณว่าร้านเรารับไหวเท่าไหร่ แล้วต้องคำนวณในส่วนของปัจจัยผันแปรที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ต้นทุนในอนาคต
ถ้าร้านค้าใช้ voucher ผิดวัตถุประสงค์ วันนึงอาจจะพลาดและฝังลึก กลายเป็นวัฏจักรงูกินหาง ที่ต้องออก voucher เพื่อมาชดเชยวนลูปไปเรื่อยๆ จนมันกินหางและต้องตายไปในลักษณะนี้ เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า “บอลนี่-เมธา ชลิงสุข” ผู้บริหารและเจ้าของดารุมะ ซูชิ เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
เช็ก! ก่อนตกเป็นเหยื่อ “voucher ทิพย์”
เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อร้านอาหาร หลอกขาย “voucher ทิพย์” นักการตลาดดิจิทัล ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจที่ฝั่งของผู้บริโภคควรรู้ ไว้ตามบรรทัดต่อจากนี้
“บทเรียนฝั่งลูกค้า ในแง่ของการออก voucher เป็นเรื่องปกติทุกวงการ โรงแรม สปา อะไรที่เป็นประเภทบริการ แต่ว่า voucher ตามรูปแบบของมันเกี่ยวข้องกับโปรโมชัน ลักษณะสำคัญของโปรโมชัน คือ จะต้อง 1. จำนวนจำกัด 2. เวลาจำกัด
เมื่อใดก็ตามที่ voucher ไม่จำกัด หมดเมื่อไหร่ก็จะมีให้ซื้อได้เรื่อยๆ แปลว่า ร้านนั้นเป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้นแบบปลอดดอกเบี้ยกับลูกค้าแล้ว โดยที่ไม่คิดว่าร้านตัวเองมีศักยภาพในการให้บริการได้ตามจำนวน voucher ที่ขายไปหรือเปล่า เหมือนเคสแหลมเกตุเมื่อหลายปีก่อน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ผู้ซื้อหรือลูกค้าต้องระวัง
จริงๆ มีจุดเด่นอีกอย่าง คือ ราคาถูกลงเรื่อยๆ แล้วจะเล่นมุกเดี๋ยวหมด แต่หมดแล้วก็มีใหม่ เปลี่ยนแปลงวิธีเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ถ้าลูกค้าเห็นว่าร้านไหน โรงแรมไหนออก voucher เรื่อยๆ และถูกลงเรื่อยๆ เป็นสัญญาณแล้วว่า เขากำลังหมุนเงินโดยใช้ voucher ไม่ได้ใช้ voucher เป็นโปรโมชัน”
นอกจากนี้ สัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของโปรโมชัน ยังมาในรูปแบบของคุณภาพที่ลดลงของสินค้าและบริการ ตลอดจนการที่ร้านออก voucher ออกมาถี่เกินไป
“เมื่อเขาไม่ได้ใช้ voucher เป็นโปรโมชันปกติ เขาก็จะเกิดภาวะที่ไม่สามารถดูแลลูกค้าได้ตามจำนวน voucher ที่ออกไป เช่น เขามีกำลังรับ 100 ออก voucher ไป 250 สิ่งที่จะตามมา คือ คุณภาพการบริการจะเริ่มแย่ลง อาหารก็เริ่มน้อยลง วัตถุดิบเริ่มห่วย เริ่มใช้ voucher ได้ยากขึ้น อยู่ๆ มีกำหนดเงื่อนไขมากขึ้น
ด้วยราคา voucher ต่ำลงเรื่อยๆ จะเกิดช่องว่างระหว่างเรื่องจริงที่เป็นไปได้ กับราคาที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเริ่มสงสัยว่าร้านนี้ขายได้ยังไงราคานี้ ร้านคู่แข่งไม่มีใครทำราคานี้เลย เป็นไปไม่ได้ว่าสินค้าหรือบริการราคานี้ ราคามันไม่สัมพันธ์กัน
การทำการตลาดมันต้องมีอย่างอื่นบ้าง เช่น ขาย voucher ช่วงนึง ทำอย่างอื่นช่วงนึงตามไตรมาส อะไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าร้านไหนใช้ voucher ในการหมุนเงิน จะพบว่า แทบทั้งหมดเป็นการขาย voucher
เพราะฉะนั้น ถ้าลูกค้าหรือผู้บริโภคคนใด ที่มีนิสัยชอบโปรสุดคุ้ม แล้วไปเจอร้านแบบนี้แล้ว เข้าข่ายตามนี้ต้องระวัง ถ้ามีสัญญาณนี้ คนซื้อต้องหยุดซื้อแล้ว”
สำหรับความคืบหน้า กลุ่มผู้เสียหายได้เข้าขอความช่วยเหลือทางคดี จาก รัชพล ศิริสาคร ทนายความดัง โดยทนายรัชพลให้ข้อมูลว่า ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความ ไม่เช่นนั้น ตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ โดยสามารถไปร้องเรียนได้ที่กองปราบปราม บก.ปคบ. หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
การดำเนินการทางแพ่ง สามารถทำได้ แต่ในทางคดีอาญาต้องดูเจตนา จึงอยากให้เจ้าของบริษัทออกมาชี้แจง เพราะถ้ามีเจตนาชัดเจนที่จะฉ้อโกง โทษสูงสุด คือ ฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และคดีต่างกรรมต่างวาระ หลอกผู้เสียหาย 1 ครั้ง เท่ากับ 1 กรรม หลอก 10 ครั้งเท่ากับ 10 กรรม
กูรูการตลาด ได้ทิ้งท้ายถึงเจ้าของร้านอาหารที่กำลังตกเป็นประเด็นไว้ว่า ควรมาชี้แจงเจตนาของตนเองต่อสังคม และเชื่อว่า ทุกอย่างมีทางออก
“ผมว่าเรื่องนี้ถ้ากลับมารับผิดชอบ และมาชี้แจง มาประนอมหนี้ ชดเชยในส่วนลูกค้า ในส่วนของเจ้าของแฟรนไชส์ ในส่วนของซัปพลายเออร์ ผมเชื่อว่า น่าจะมีทางออกที่ดีได้ จากข้อมูลที่ดูมา เขาทำมาถึง 6 ปี แล้วพยายามสร้างแบรนด์
ทางออกก็ต้องแปลงสินทรัพย์ของตัวเองเป็นทุน ชดเชยอะไรที่ชดเชยได้ และขอโทษอย่างจริงใจต่อสังคม ต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง การหนีไปลักษณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ กับคนเยอะแยะมากมาย แน่นอนลูกค้า ส่วนของแฟรนไชส์ที่ไว้ใจยอมลงทุนกับเรา ลูกน้องหลายร้อยคน
สำคัญสุดคือ คนในครอบครัวของเขา ซึ่งจะเผชิญหน้ากับบทลงโทษทางสังคม กลายเป็นว่าคนที่ไม่เกี่ยวข้องที่เขารัก ก็ต้องได้รับผลกระทบ ถ้าเขาตั้งสติได้แล้ว กลับมารับผิดชอบอย่างกล้าหาญ ผมเชื่อว่า ทุกเรื่องมีทางออกครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” และ “Krittharawee Arys Pichitpongchai”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **