ปรากฏการณ์ “ปลดล็อกกัญชา” นำมาผสมใส่อาหาร ต่อยอดเมนูให้น่าสนใจ อีกมุมของผู้บริโภคที่ไร้ข้อมูล แพ้หนัก “ถูกหามเข้าโรงพยาบาล-เสียชีวิต” ผู้เชี่ยวชาญแนะระวังโดนฟ้อง!!?
ปลดล็อก “กัญชาเสรี” ภัยเงียบแพ้ถึงตาย
เรียกได้ว่า หลัง “ปลดล็อกกัญชา” ให้ถูกกฎหมาย ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์จากกัญชาถูกนำมาขายมากขึ้น อย่างอาหาร หรือ ขนม ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองแพ้หรือไม่ เมื่อกินเข้าไปอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดปริมาณในการใส่กัญชาที่เหมาะสม ในบางรายอาจมีอาการแพ้กัญชาได้ด้วย โดยมีอาการเมากัญชา ง่วงนอนมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน จนถึงขั้นหัวใจเต้นเร็วรัวผิดจังหวะ สับสน กระวนกระวาย อึดอัดหายใจไม่สะดวก เป็นลมหมดสติ ต้องรีบหามส่งโรงพยาบาล
แน่นอนว่า เมื่อเปิดเสรี ทำให้คนเริ่มมีโอกาสได้ลิ้มรสของใบกัญชาด้วยตัวเอง บางครั้งอาจต้องเช็กก่อนชิมด้วย ไม่เช่นนั้น อาจจะกระทบกับการทำงานได้เช่นกัน
ด้าน สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เปิดเผยผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงเรื่องราวทีมงานลองกินคุกกี้กัญชา บางคนกินไปครึ่งชิ้น ถึงกับเดินไม่ตรง ต้องมีคนช่วยประคอง บางคนมีอาการยิ่งกว่าเมาสุรา จนกระทบกับการทำงาน ส่งผลให้มีนโยบายห้ามยุ่งเกี่ยวกับกัญชาในเวลางานเด็ดขาด
ทันทีที่สังคมมีการแชร์ออกไป ชาวโซเชียลฯ ต่างวิตกกังวล และจับตามอง เพราะหลายคนกินเข้าไปแบบไม่รู้ปริมาณ หรือส่วนผสม กลับมีอาการแพ้หนักมาก และเสียชีวิตในที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงได้ติดต่อไปยัง “รัชพล ศิริสาคร” ทนายชื่อดัง เจ้าของเพจ “ทนายรัชพล ศิริสาคร Fanpage” เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เรื่องกัญชาเป็นเรื่องใหม่ หากมีการผสมลงไปอาหาร ควรแจ้งลูกค้า
“ตอนนี้ต้องบอกว่า กัญชาเป็นเรื่องที่ใหม่นะครับ และเพิ่งปลดออกจากสารเสพติด แต่ว่าโดยทั่วไปคนเราก็พอจะทราบได้อยู่แล้วว่า ถ้าหากเอากัญชาไปผสมในอาหาร อาจทำให้ผู้ที่บริโภคมีอาการมึนเมา หรือมีอาการผลข้างเคียงได้
ดังนั้น ในผู้ประกอบอาหาร ควรจะแจ้งให้กับผู้บริโภคทราบก่อน ว่า มีส่วนผสมของกัญชา ถ้าหากไม่แจ้งก็อาจจะเข้าข่ายในเรื่องประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือว่าเสียชีวิต อันนี้ก็ต้องรับโทษทางกฎหมายนะครับ
และอาจจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่เป็นบรรทัดฐาน แต่ว่ามันก็เข้าข่ายที่จะเรียกร้องในส่วนค่าเสียหาย และความผิดทางอาญาได้ ก็เป็นไปได้อยู่ครับ”
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรู้ว่าข้างในใส่ส่วนผสมไปเท่าไหร่ ใช้กัญชาพันธุ์ไหน สกัดยังไง อีกทั้งยังควบคุมไม่ได้ทั้งหมด นักกฎหมายคนเดิมให้ความรู้ไว้ว่า หากร้านค้าไม่แจ้งส่วนผสมในอาหารกับผู้บริโภค ลูกค้าสามารถเรียกร้อง และร้านค้าต้องรับโทษทางกฎหมาย
“ในส่วนของการเรียกค่าเสียหาย อาจจะต้องดูว่า เป็นการเรียกค่าเสียหายตามความเหมาะสมไหม ถ้าเกิดว่าเราเข้าโรงพยาบาล ในส่วนค่ารักษาพยาบาล แน่นอนว่า ทางร้านไม่ว่าทางกฎหมาย หรือทางศีลธรรมควรที่จะช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่เราใส่กัญชาเข้าไปนะครับ อยากให้เป็นธรรม และไม่อยากให้เรียกค่าเสียหายเวอร์ๆ แต่ไม่ถึงกับน้อยไป”
แนะ ภาครัฐอย่าปล่อยปละละเลย!!
ในปัจจุบัน ร้านค้าต่างต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น แต่หลายร้านก็ไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัย หรือแจ้งเตือนส่วนผสมที่ใส่ลงไปเท่าที่ควร ถามผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางแก้ไข เพื่อควบคุมจะต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือไม่ ทางด้าน รัชพล มองว่า ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำด้วย ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ถามว่าคนกินแพ้อะไร
“ในส่วนนี้ ผมว่า ภาครัฐควรจะรีบดูแลในส่วนนี้ อย่างน้อยน่าจะมีกฎหมายมาควบคุมว่า ถ้ามีส่วนผสมในกัญชา คุณจะต้องแจ้งให้กับลูกค้า หรือว่าผู้บริโภคทราบ ไม่งั้นอาจจะมีความผิดในทางกฎหมาย ก็ต้องไปแก้ไขในเรื่องของกฎหมาย เพื่อมาควบคุมดูแลตรงนี้ด้วยครับ”
ขณะทางเจ้าของเพจ “Law มาเล่า” เพจให้ความรู้ทางกฎหมาย ก็ได้ให้ความรู้ถึงแนวทางกฎหมายไว้ 2 มุมมอง ทั้ง ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องมองจากทั้ง 2 มุมครับ ผู้ขาย และ ผู้บริโภค
“ผู้ขาย ถ้าได้ทำตามที่กำหนดใน มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ห้ามขายให้กับคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และประกาศของกรมอนามัย โดยได้แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารอย่างถูกต้องแล้ว ก็น่าจะ protect ผู้ประกอบการ หรือผู้ขายได้ระดับหนึ่ง
แต่หากผู้ขายอาหารไม่ได้แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประกาศของกรมอนามัย และมีคนซื้ออาหารไปกินแล้วเกิดการแพ้ หรือเสียชีวิต ผู้ขายอาหารรายนั้นก็คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ส่วนผู้บริโภค ควรจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาด้วย เช่น หากรู้ตัวว่าตนเองเป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นผู้ที่มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล หรือเป็นผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน
และทางผู้ขายได้แสดงข้อมูลการใช้ใบกัญชาอย่างถูกต้องตามประกาศของกรมอนามัยแล้ว และตนเองรับประทานเข้าไปแล้วแพ้ เกิดผลข้างเคียง ก็คงยากที่จะเอาผิดกับผู้ขาย”
สุดท้ายผ่านสายตาของทนายรัชพล ยังฝากเตือนร้านค้าที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมของอาหาร ควรติดประกาศแจ้งลูกค้า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
“ในส่วนผู้บริโภค ก็น่าจะระวังตัว เวลาจะสั่งอาหารในช่วงนี้ ก็ต้องถามเจ้าของร้านมีกัญชาผสม หรือสิ่งอื่นใดผสม จะได้ระวังตัวเอง
เพราะว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เราคือคนที่เสียหาย ในส่วนของร้านค้า ก็ควรแจ้งให้ทางลูกค้าทราบ ว่า เราจะมีส่วนผสมของกัญชา ถ้าคุณจะเอา เราก็ใส่ให้ ถ้าไม่เอา ก็อาจจะเลือกไปร้านที่ประกอบอาหารอย่างที่ไม่ผสมกัญชา ก็อาจจะช่วยได้
ในส่วนของภาครัฐก็ควรมีกฎหมายมาควบคุมดูแล ว่า ควรที่จะควบคุมร้านค้า หากว่ามีการประกอบอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ก็ต้องแจ้งให้กับทางลูกค้าทราบ ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติ หรือฝ่าฝืนก็อาจจะมีบทลงโทษ เพราะฉะนั้นภาครัฐควรมาดูแลในส่วนนี้”
นอกจากนี้ กรมอนามัย ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ได้ออกประกาศมาตรการควบคุมร้านค้าที่นำกัญชามาทำอาหาร
โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร ต้องจัดทำข้อความแสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา มีการแสดงรายการอาหารที่ใช้ใบกัญชาทั้งหมด
ไม่เพียงแค่นั้น ต้องแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
อีกทั้งยังต้องแสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค แสดงคำเตือนรายการอาหารที่ใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง และห้ามโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
สกู๊ปข่าว : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **