xs
xsm
sm
md
lg

เฉียด 2 แสนต่อเดือน!! “ไรเดอร์นักปั่นแดนจิงโจ้” ท่องโลก-หนีโควิด-ชีวิตเปลี่ยน [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจนักเรียนไทยในเมลเบิร์น กับงานไรเดอร์ส่งอาหาร รายได้ไม่ธรรมดา หากทำเต็มเวลามีเฉียด 2 แสนบาทต่อเดือน เผยอาชีพนี้พามุมมองชีวิตเปลี่ยน “ได้ภาษา-ได้สุขภาพดี-ได้เปิดโลก” สะท้อนเทียบไรเดอร์ไทย ที่นี่ลูกค้าหมดสิทธิเทกลางทาง!!



ไรเดอร์ส่งอาหาร รับเกือบ 2 แสน/เดือน

“ตอนที่รีวิว ทำช่วงที่ยังไม่เรียน ทำเต็มแม็กซ์เลย รายได้ก็ประมาณ 7,200 AUD พอมีเรียนแล้ว เฟิร์น คิดว่า อาจจะวิ่งได้ไม่เยอะ อาจจะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ คิดว่ายังถึงหลักแสนค่ะ”

ชวาลา ศรีละหว้า หรือ ใบเฟิร์น วัย 27 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่เฟซบุ๊ก “Chawala Srilawa (Baifern)” ของเธอ ได้ออกมารีวิวอาชีพ คนขี่จักรยานรับ-ส่งอาหาร หรือ Uber eat ในประเทศออสเตรเลีย ที่สามารถทำเงินได้ถึง $7,236 AUD หรือ 180,900 บาทต่อเดือน เรื่องราวนี้กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมากบนโซเชียลฯ จนถูกแชร์ไปถึง 34,000 ครั้ง!!

ใบเฟิร์น เล่าว่า เดิมทีนั้นตนตั้งใจมาเรียนภาษาเพิ่มเติม และทำงาน part time เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กระทั่งมาเจอกับอาชีพนี้ ที่ตอบโจทย์และสามารถยืดหยุ่นได้ตามไลฟ์สไตล์ของเธอ



“จริงๆ กะว่าจะไปเรียนภาษา แล้วก็จะต่อเป็น certificate ด้าน marketing เนื่องด้วยเป็นชาวต่างชาติ จะทำให้เราพัฒนาภาษาได้เร็ว เช่น ทักษะการฟัง การพูด จะค่อนข้างกล้า มั่นใจมากขึ้น แล้วเราก็ตั้งใจที่จะมาทำงาน part time อยู่แล้ว เรียนภาษาไปด้วย แล้วก็ใช้ชีวิตในการทำงานต่างประเทศ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราอยากลองค่ะ

ก่อนหน้านี้ ทำร้านอาหารและคาเฟ่ รู้สึกว่า ยังไม่ตรงกับเราเท่าไหร่ ช่วงแรกยังจัดการเวลาชีวิตได้ไม่ลงตัว ก็มีพี่ที่รู้จักแนะนำให้ลองปั่นจักรยานส่งอาหาร พอสมัครผ่านแล้วเราสามารถเริ่มขับได้เลย จักรยานไฟฟ้ามันทุ่นแรงเยอะมาก แทบจะไม่ต้องออกแรง แล้วก็ปั่นได้นาน จริงๆ จักรยานธรรมดาก็สามารถปั่นได้ค่ะ แล้วแต่ที่เราจะเลือกใช้

ปกติที่เฟิร์นเรียนภาษา คือ จันทร์-ศุกร์ จะเรียนภาคบ่าย 13.10-17.30 น. บางวันก็ตื่นตั้งแต่ 08.00 น. ปั่นจนถึง 11.00 น. เที่ยงอาบน้ำไปเรียน แล้วหลังจากเรียนเสร็จ เราก็กลับมาปั่นต่อ Uber มันทำได้ตลอดเวลา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร มันอยู่ที่ความขยัน ว่างตอนไหนถ้าปั่นก็ได้ เราต้องแบ่งเวลาเอง เนื่องด้วยสถานการณ์ทุกอย่างตอนนี้มันเอื้อ เขาให้ทำเต็มที่ค่ะ

ก่อนหน้านี้ เฟิร์น ยังไม่ได้เรียน ก็รับเต็มทุกวัน อยู่ที่เรต 25-30 ออเดอร์ (เคยรับออเดอร์ต่อวันมากที่สุด) 35 ออเดอร์ รายได้ก็จะค่อนข้างได้เยอะเหมือนกัน ถ้าทำเต็มที่ตามเวลา 6-8 ชั่วโมง เฉลี่ยประมาณ 140-200 ดอลลาร์ต่อวัน”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “การทำเควส” ซึ่งเป็นภารกิจเสริมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นสำหรับเหล่าไรเดอร์
“เควสของ Uber มันจะมีรอบทุกอาทิตย์ วันจันทร์และวันศุกร์ เช่น สมมติกำหนดให้เรา 25 รอบ 4 วัน วิ่งสะสมยังไงก็ได้ เอาไปเลยเพิ่มขึ้น 50 ดอลลาร์



[ จักรยานไฟฟ้าช่วยทุ่นแรง ]

ถ้าไม่วิ่งมันจะตัดรอบใหม่ ที่เราวิ่งมาทั้งหมดก็จะนับใหม่ มันจะรีเซตเลย จะตัดทุกเที่ยงคืนของรอบ ถ้าขยันมากจะได้เยอะมาก ไปเก็บเอาเงินพิเศษได้ตลอด บางทีจะเป็นออเดอร์ควบ ไปรับ 2 ที่ ส่ง 2 ที่ ได้ 2 รอบทีเดียว”

และจากการลองทำงานนี้ได้ราว 2 เดือน ใบเฟิร์น มองว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว รายได้ที่ได้มานั้นค่อนข้างคุ้มค่าและยังเหลือเป็นเงินเก็บได้อีกด้วย

“ที่เราได้มา ต้องเก็บให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้สำรองจ่ายค่าเทอม แล้วก็เก็บเป็นเงินเก็บ นอกนั้นก็เผื่อไว้ใช้ สมมติจากรายได้ที่ได้ตอน 7,200 ถ้าหักค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพทุกอย่างแล้ว ก็อาจจะหักไปประมาณ 3,000 ก็จะเหลือเก็บประมาณ 4,000 ยังไงก็ไม่หมดแน่นอน คุ้มค่ะ

การอยู่มันไม่ได้ใช้อะไรเยอะ ค่าใช้จ่ายที่นี่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เช่น ค่าที่พักอาจจะประมาณ 1,500 ค่ากินของเราอย่างมากสุดจะอยู่ที่ 500-800 และค่าจิปาถะต่างๆ ส่วนตัวก็ประมาณ 2,000-3,000 ต่อเดือน ถ้ารายได้ซัก 4,000-5,000 ก็อยู่อย่างมีเก็บแน่นอน

(การเสียภาษี) เป็นตามเรตค่ะ ที่เฟิร์นตีไว้ ถ้าไม่เกิน 18,200 ดอลลาร์ ก็จะไม่เสียภาษี จากนั้นถ้าไม่เกิน 45,000 เราจะเสียประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ visa นักเรียนไม่สามารถทำได้เยอะขนาดนั้น คิดว่าจะอยู่ที่ 19 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดค่ะ”

ภาษาพาเปิดโลกกว้าง

หากจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน เนื่องด้วยชาวไทยวัย 27 ปีผู้นี้ ให้เหตุผลว่า ต้องการพัฒนาด้านภาษาเพื่อทำไปต่อยอดในอนาคต

“เราไม่ค่อยเก่งภาษา แล้วเราทำงาน online marketing บางทีก็มี supplier ต่างชาติหลายประเทศ เราก็ต้องคุยภาษาอังกฤษหมดเลย แล้วเราคิดว่าเรายังสื่อสารกับเขาได้ไม่ดีพอ พยายามลองเรียนที่ไทยแล้ว มันไม่ได้ผล

แล้วด้วยช่วงโควิดมันทำให้เราติดอยู่ที่ไทยนานเกินไป ก็เลยรู้สึกว่า ความสามารถหรือการพัฒนามันถดถอยลง เราคิดว่าถ้าเราออกไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากที่ไทยได้มันน่าจะดีค่ะ

สิ่งแรกที่นึกถึง คือ เราจะต้องเรียนภาษา ให้ตัวเราเก่งภาษาให้ได้แล้วจะนำไปต่อยอดได้ สมมติกลับมาทำงานในตำแหน่งที่ดีขึ้น ได้สื่อสารในบริษัทที่ใหญ่โตขึ้น ก็เลยคิดว่าต้องไปเรียนภาษาเพิ่ม”



[ จุดหมายปลายทางคือออสเตรเลีย ]

เมื่อชั่งตวงวัดข้อมูลที่มีอยู่ในมือเรียบร้อย เธอก็ตัดสินใจเลือกปักหมุดจุดหมายปลายทาง เป็นประเทศออสเตรเลีย

“ในช่วงนั้นมันมีประเทศเดียวที่เปิดเป็นประเทศแรก คือ ประเทศออสเตรเลีย ที่เขาเปิดให้ต่างชาติเข้า ให้นักเรียนเข้า ประเทศอื่นยังไม่ได้เปิด เพราะว่ากลัวโควิด

เขาจัดการพร้อมทุกอย่างให้เอื้อประโยชน์กับเรามาก เช่น ยกเลิกค่าธรรมเนียมการยื่น visa ในช่วงนั้นด้วยค่ะ ประมาณ 630 ดอลลาร์ (ประมาณ 16,000 บาท) คนก็เลยรีบยื่นในช่วงนั้น แล้วตัวเราเองก็ยื่นในช่วงนั้นด้วยค่ะ ก็เลยเป็นต้นเหตุว่า ประเทศนี้แหละ ทุกอย่างเอื้ออำนวยและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การศึกษาเขาก็ดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราตัดสินใจมา

การเริ่มต้นที่ควรเตรียมไว้จ่ายค่าเรียนและค่าเดินทาง อิงจากเรา เรียนภาษา 6 เดือน อยู่ที่ประมาณ 160,000 บาท รวมค่าตั๋วเครื่องบิน ค่า visa ค่าตรวจสุขภาพ ให้ตีอย่างต่ำก็ 200,000-300,000 บาท แล้วแต่คอร์สที่เราเลือกเรียนค่ะ”

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก แต่ด้วยมาตรการการจัดการของออสเตรเลีย ทำให้ใบเฟิร์นเชื่อมั่นที่จะมาเริ่มต้นใหม่กับประเทศนี้



“เดินทางตั้งแต่ 4 มีนาคม 2565 ประมาณ 2 เดือนได้ค่ะ ออสเตรเลียเขามีการจัดการดีมากค่ะ ตอนที่ดูข่าวเขาบอกว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับมัน เขาจะไม่ปิดประเทศอีก และจะไม่เทเด็กอีก ไม่เหมือนประเทศอื่นที่ต้องส่งตัวเด็กกลับมา

เราก็คิดว่า โอเค… มันถึงเวลาแล้ว อยู่กับมันมา 2 ปี แล้วเราก็อยากเลือกประเทศที่เขามีระบบจัดการที่มันดี เราสามารถฝากชีวิตไว้ได้ เราก็เลยคิดว่าการที่จ่ายไปมันจะคุ้มค่ากับสิ่งที่เราจะได้ คิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีกับประเทศนี้

ปกติจะมีข้อจำกัดต่างๆ ของ visa แต่ละประเภทว่าทำงานได้กี่ชั่วโมง เรียนกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น visa นักเรียนเข้าเรียนต้องห้ามต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำงานได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็นพื้นฐานของเขาตั้งแต่แรกเลยค่ะ

เราไป visa นักเรียน ในช่วงโควิดเขาอนุโลมให้เราทำงานได้มากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เขาจะมี condition เพิ่ม ก็เลยเป็นโอกาสให้นักเรียนอยากจะกลับประเทศเขา เนื่องด้วยนักเรียนต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานของเขา จะทำงาน part time ต่างๆ เขาขาดแคลนแรงงานที่จะทำให้ประเทศเขาพัฒนาไปต่อ ก็เชิญชวนให้คนใหม่ๆ ได้มาเรียนกับเขา

ที่นี่บังคับใส่มาสก์เฉพาะขึ้นรถสาธารณะ ส่วนเดินเล่นข้างนอกก็ไม่ค่อยใส่กัน ติดก็รักษา เขาดูเหมือนปกติไปแล้วค่ะ เนื่องด้วยมันติดนาน อยู่กับมันมานาน เขาเลยไม่ได้กลัว แพนิกเหมือนตอนแรก พอติดมารัฐบาลก็ให้เงินช่วยเหลือ ก็ยังมีอะไรที่เห็นภาพชัดเจน”

ชีวิตเปลี่ยน เพราะ “Uber eat”

จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ด้วยความที่ใบเฟิร์นยังใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่เชี่ยวชาญ ทำให้ในช่วงแรกของการมาถึงอยู่ในแดนจิงโจ้นั่น ประสบปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร

“ส่วนมากเราจะไม่ได้ภาษากันเพราะเราต้องมาเรียนภาษา ตอนแรกเรากลัวการสั่งอาหารมาก กลัวจะสั่งผิด จะกินได้มั้ย ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ผักแต่ละชนิดเรายังไม่รู้เลย บางทีมันไม่อร่อย (หัวเราะ) เราไม่ค่อยกินพวกผักดอง แล้ว Subway (ร้านแซนด์วิชชื่อดัง) ชอบมีผักดองเยอะแยะไปหมด เราไม่รู้ก็ชี้ๆ การชี้มันจะทำให้เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร พอเรามากินแล้วมันกินไม่ได้ ก็ต้องแก้ตั้งแต่เรื่องการซื้ออาหารเลย จะสั่งอาหารยังไงให้ได้กินอร่อยอย่างที่เราชอบ

อีกปัญหาคือ เราจะไม่สามารถทำร้านอาหารต่างชาติได้ ร้านอาหารต่างชาติ ก็คือ จะได้ค่าแรงเยอะมากๆ เพราะเรตพื้นฐานขั้นต่ำเขาจะต้องจ่ายในราคาที่เป็นคนบ้านเขาทำได้ ร้านอาหารต่างชาติก็จะมีบางส่วนที่เป็นคนบ้านเขาทำ เพราะค่าแรงได้เยอะกว่าร้านเอเชีย



มันก็จะค่อนข้างต่างกัน พอมาตอนแรกๆ เราไม่สามารถทำร้านต่างชาติได้ เพราะเขาคัดคน ต้องเป็นคนได้ภาษา สื่อสารรู้เรื่อง ซึ่งเด็กที่มาใหม่ๆ จะพูดไม่ค่อยได้ ก็จะต้องทนทำร้านที่ไม่ได้ค่าแรงเยอะเท่าที่ทำร้านต่างชาติ ส่วนใหญ่จะพยายามพัฒนาภาษา พัฒนาทักษะ แล้วค่อนขยับขยายไปสมัครร้านต่างชาติ มันจะสามารถเพิ่มเงินได้มากขึ้น

อย่างสมมติว่า ให้ตีเป็นทำที่ร้านเอเชียจะได้ 20 ดอลลาร์/ชั่วโมง แต่พอไปทำร้านต่างชาติเขาให้ 30 ขึ้นไป มันก็ต่างกันเยอะมากจริงๆ ปัญหาเลยก็คืออาจจะเป็นเรื่องภาษาแล้วก็ทักษะในด้านต่างๆ บางคนไม่มี อาจจะต้องเริ่มจาก 0 ซึ่งจะได้ค่าแรงน้อย แต่พอไปซักพักแล้วก็จะสามารถอัปขึ้นมาได้”

และหลังจากที่ ได้มาทำ Uber eat แล้ว ด้วยความที่ยังไม่ชินเส้นทางในเมลเบิร์นซึ่งเป็นเมืองใหญ่ แน่นอนว่าทำให้ชาวไทยผู้นี้เจอเข้ากับประสบการณ์ ‘การหลงทาง’ เข้าไปในป่าลึกก็มี!!

“เมลเบิร์นมันกว้างมาก เราไม่รู้ว่าโซนนั้นจะเจอกับอะไร วันนั้นออเดอร์ตอนเช้ามันจะเงียบนิดนึง มันจะ random ให้เราไปส่งไกลๆ ในเมืองจะไม่ค่อยมี มันเป็นเส้นทางที่ไม่เคยไป เลยลองขับไปตาม map ดู มันเป็นทางจักรยานมาให้เรา



เหมือนเข้าไปใน park ใหญ่ๆ แล้วพอขับไปมันก็พาเราลงไปน้ำตก พาเราเข้าป่า (หัวเราะ) เราก็ขับตามทางจักรยานไป จนไปขึ้นเขา เข้าป่า แล้วก็ไปโผล่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ในป่าอีกที แล้วก็หาบ้านลูกค้าไม่เจอ ก็ต้องโทร.ถาม แชตถามตลอดว่าเราต้องไปทางไหน ทางซ้าย ทางขวา ซอยอะไร หลงเป็นชั่วโมง จนลูกค้าพยายามตามหาเรา

นี่คือปัญหาอย่างนึง คือหาบ้านลูกค้าไม่เจอเพราะเป็นที่แปลกใหม่สำหรับเรา มันก็จะทำให้เราช้าหน่อย เราไม่รู้ทางแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องเจอกับอะไร แต่ละรอบที่เราไป ก็เซอร์ไพรส์ทุกครั้งเลย เราก็จะสามารถจำได้ว่าโซนนี้เราต้องเจอกับอะไรบ้าง เราก็จะไม่ไป (หัวเราะ) พอเจอลำบากมากๆ ตอนนี้ก็เลือกไม่ไปแล้ว

พอเราชินแล้วเราก็จะไม่กลัวค่ะ สำรวจทางไปในตัวก็จะทำให้เราอยู่ที่นี่ได้ แล้วเป็นคนที่รอบรู้ว่าซอยไหนๆ เราจะรู้หมดถ้ามีคนถามทาง ปกติจะมีต่างชาติมาถามทาง เห็นว่าเราเป็นไรเดอร์ ก็จะถามว่าร้านนี้ไปทางไหน เราก็จะสามารถสื่อสารได้ บอกทางได้ด้วย”

การได้ออกมาใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียนั้น ใบเฟิร์น กล่าวว่า แตกต่างจากชีวิตที่ไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนนั้น ดูจะเป็นเรื่องของสุขภาพ เธอมีร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

“ตอนแรกที่มา ไม่คิดเลยว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เราจินตนาการภาพไม่ออกเลย ณ ตอนนั้น บอกตรงๆ ว่าเราไม่เห็นตัวเองเลย เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ของเรามากๆ แต่ยังไงก็อยากไป



ปกติถ้าอยู่ที่ไทยอยู่ online อย่างเดียว เราแทบจะไม่ออกไปโดนแดด โดนฝน โดนลมเลย เพราะว่าเป็นคนไม่ค่อยสบาย แพ้ง่าย เป็นคนไม่ชอบเลยออกกำลัง แล้วก็ทำงานที่ออฟฟิศ แทบจะเป็น office syndrome ก็ว่าได้

พอมาทำตรงนี้มันเปลี่ยนตัวเราเป็นอีกคนเลยค่ะ เปลี่ยนชีวิตเรามาก ทำให้เปิดโลก เราต้องออกไปขับรถตากฝน ตากแดด ตากลม ตากความหนาว อื้อหือ… มันได้ใช้ชีวิตจริงๆ จนเรากลายเป็นสายลุยไปแล้วโดยไม่รู้ตัวค่ะ เราสามารถอยู่กับมันได้โดยที่เราไม่คิดว่า เราจะทำได้

มันเกินขีดจำกัดตัวเองไปแล้ว ป่วยก็รักษา ร่างกายมันอาจจะชินเลยทำให้อยู่ได้ จนตอนนี้ไปขับรถตากลมหนาว 5 องศา ฝนตกด้วย ก็ไม่ถึงกับป่วยนะคะ ก็ยังใช้ชีวิตได้ปกติ อาจจะเป็นข้อดี ทำให้เราต้องปรับตัว แข็งแรงค่ะ ถ้าเราได้ออกไปข้างนอก ออกกำลัง ทำให้เราสุขภาพดีขึ้น เพราะไม่ป่วยเลยจากที่ออกไปทำงานหนักๆ ก็ยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม”

ดูแลไรเดอร์ดี ลูกค้าหมดสิทธิเทกลางทาง

ผู้สัมภาษณ์ถามต่อว่า จากที่ได้สัมผัสมา ออสเตรเลียมีระบบการดูแลไรเดอร์อย่างไร หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย เธอก็ให้คำตอบว่า ค่อนข้างต่างกัน โดยที่นี่จะให้ลูกค้าชำระเงินค่าอาหารให้เรียบร้อยก่อนนำส่ง จึงหมดปัญหาไรเดอร์ถูกลูกค้าเทกลางทาง หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด ต้นสังกัดจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

“เราเห็นที่ไทยแล้วว่าให้ไรเดอร์จ่ายอาหาร มีการโกงกันเยอะมาก สั่งแล้วไม่จ่าย ตอนแรกเรามองแบบ… เป็นอาชีพที่ไม่คิดจะทำแน่นอน ทำไมเป็นระบบแบบนี้ ทำไมไม่ให้ลูกค้าจ่ายเลย ทำไมไรเดอร์ต้องรับผิดชอบ เขาควรที่จะเอื้อให้เรารึเปล่า

พอเราได้มาลองทำเอง เขาให้จ่ายเงินก่อนค่ะ ไม่มีการปลายทาง ตัดผ่านบัตรเครดิตเลย พอจ่ายเสร็จถึงจะเรียกไรเดอร์ไปรับของได้ ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา



พอมีเหตุการณ์อะไรขึ้น เกิดอุบัติเหตุ มันแตก ถุงขาด เราก็สามารถคุยกับ Uber ได้ เขาก็จะให้เรายกเลิกออเดอร์นั้นไป ก็ยังได้ค่ารอบเหมือนเดิม เขาก็รับผิดชอบ ไม่ได้ให้เรารับผิดชอบ อย่างเวลาไปส่งที่สถานที่นั้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย เราสามารถบอกเขาได้ว่าฉันรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาก็จะไม่ให้ไป อย่างนี้ค่ะ

ประสบการณ์ที่อยากแชร์ ก็ค่อนข้างประทับใจเวลาลูกค้ามาคุย ก็ถามเป็นยังไงบ้าง หลงทางรึเปล่า คุณโอเคมั้ย มาครั้งแรกมั้ย ก็แปลกใจนะคะ หลงทางเป็นชั่วโมงแต่เขาไม่โกรธเลย แถมยังให้ทิปอีก

เขารู้ว่าเราเป็นต่างชาติก็ค่อนข้างพูดช้าลง ไม่ว่าจะที่ร้านอาหารหรือจะที่ไหน พอเราบอกว่าไม่เข้าใจ เขาก็พยายามสื่อสารให้เราเข้าใจ ก็เลยค่อนข้างที่จะประทับใจที่เขาไม่ได้เหยียดว่าทำไมพูดไม่ได้ แต่เขากลับเข้าใจ ไม่ใช่ภาษาเธอ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ พยายามอธิบายช้าลง ใช้ภาษามือเพื่อที่จะสื่อสารกับเราให้ได้ ก็ค่อนข้างที่จะประทับใจมากๆ เลยค่ะ เขาให้เกียรติเรา”

เธอยังกล่าวเสริมว่า การเป็นพนักงานรับ-ส่งอาหาร ยังเป็นอาชีพที่คู่แข่งน้อย และความต้องการในตลาดแรงงานค่อนข้างสูง จึงถือได้ว่าเป็นอีกงานที่น่าสนใจ



“จะมีประมาณ 3 แอปพลิเคชันที่เป็นของคนจีนทำ แล้วก็มี Uber ของสายฝรั่งทำ ส่วนคนที่ขับจะเป็นคนจีน เป็นชาติอื่น คนไทยแทบจะไม่มีเลยค่ะ น้อยมากๆ แต่พอตอนนี้เด็กไทยเริ่มเห็นข่าว Uber พอมีแนวทางว่า คนไทยสามารถทำได้ ที่เราไปแชร์ ก็มีคนมาทำเยอะขึ้น

แต่ว่าไม่ใช่ทำได้ทุกคน อย่างที่บอกว่ามันต้องทนหนาว ทนฝน ทนทุกอย่าง องค์ประกอบหลายๆ อย่าง บางคนทำไปแล้วมันไม่ใช่ตัวเรา ก็ทำไม่ได้ แต่ก็มีคนอยากจะลองทำ อย่างบางคนทำร้านอาหารเป็นหลัก แล้วก็มาวิ่ง Uber ซักชั่วโมงก็เพียงพอ มันก็แล้วแต่วิธีที่จะเลือกทำ

แต่ของเราเลือกทำเป็นหลักเลย มันก็เลยทำให้เราอยู่ได้จนถึงตอนนี้โดยที่ไม่ต้องทำงานอื่น ส่วนคนประเทศเขาก็ต้องทำงานที่ได้ชั่วโมงมากกว่าอยู่แล้ว เขาไม่ค่อยทำงานที่ใช้แรงงาน ส่วนมากจะทำเป็นออฟฟิศเหมือนบ้านเรา”

ทั้งนี้ ใบเฟิร์นยังได้สะท้อนถึงประสบการณ์การทำงานของเธอ ที่เคยผ่านทั้งการเป็นพนักงานออฟฟิศ และงานบริการ แน่นอนว่าย่อมต่างกันที่เนื้องานและค่าตอบแทน



และการได้มาเป็นไรเดอร์นั่น มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บเงินถึงหลักแสน ได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังสามารถส่งเสียตัวเองให้เรียนและชีวิตในต่างแดนได้อย่างสบายๆ

“ที่เราเจอมา ทำมาก็ใช้ไป 80 เก็บ 20 มันต่างกันอยู่แล้วค่ะ ที่นี่เก็บอย่างน้อย 60 ใช้ 40 แบบเต็มแม็กซ์เลย ฟุ่มเฟือยมากๆ มันก็ยังมีเก็บที 50,000-60,000 บาท มันต่างกันมาก เก็บเงินเป็นแสนที่ไทยก็ยังเก็บนานมากๆ แต่ที่นี่เป็นไปได้ถ้าตั้งใจจริงๆ เงินแสนก็คือเก็บได้แน่นอน ในระยะเวลา 2-3 เดือน

ที่นี่ค่าเทอมเป็นแสนก็จริง แต่เราก็หาได้เป็นแสน มันเป็นรายได้ที่ทำให้เราเก็บเงินส่งตัวเองเรียนได้ที่เมืองนอก เราก็ส่งตัวเองเรียนได้จนถึงที่เราอยากจะเรียน มันอาจจะไม่ได้เหลือเก็บมากมาย แต่สิ่งที่เราจะได้ก็คือเราได้เรียนที่ต่างประเทศ เราได้วุฒิต่างประเทศ เราได้ทุกอย่างที่เราต้องการด้วยการที่ทำงาน ซึ่งมันคุ้มแน่นอน มันต่างกันกับที่บ้านเราอยู่แล้วค่ะ

ตอนนี้ก็ต้องเรียนจบคอร์สภาษาก่อน แต่ถ้าจบคอร์สอื่นมันจะทำให้เรามีเวลาเรียนน้อยลง จาก 5 วันอาจจะเหลือ 3 วัน เราจะสามารถเอาเวลานี้ไปทำงานด้านอื่นที่เราอยากทำ เช่น เราตั้งใจว่าเราจะลองไปสมัครร้านต่างชาติดู แล้วเราก็ทำ Uber ควบไปด้วยหลังจากเวลาว่างที่ทำ ก็อาจจะทำจนกว่าเราจะเก่งมากขึ้นด้านภาษา 1-2 ปี ที่คิดไว้ประมาณนี้ก่อน เดี๋ยวรอดูอีกทีว่าจะยังไง จะเรียนอะไรต่อหรือว่าชอบอะไรค่ะ”

ปักหมุด “เมลเบิร์น” ตอบโจทย์คนรักธรรมชาติ

“ก่อนที่เราจะมาเลือกเมืองนี้ เราอยากไปอยู่ในที่ที่อากาศดีๆ ซึ่งตอนแรกเราชอบสวิตเซอร์แลนด์ เราอยากได้ฟีลนั้น แล้วพอเราเห็นเมลเบิร์น มันเป็นเมืองคาเฟ่ และเมืองต้นไม้ แล้วก็เมือง park ที่เยอะที่สุดที่เป็นเมืองหลวง และเคยเป็นอันดับ 1 ของโลกที่เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุด ก็เลยทำให้ตัดสินใจมาอยู่เมืองนี้”

อีกหนึ่งเหตุผลที่นักเรียนชาวไทย ตัดสินใจเลือก เมลเบิร์น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศออสเตรเลีย รองจากซิดนีย์ เนื่องด้วยเมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยสวนสาธารณะน้อยใหญ่ กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเมือง ถูกใจคนรักธรรมชาติอย่างเธอ

อีกทั้งระบบการคมนาคม ที่ส่วนมากจะนิยมใช้รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย เอื้อให้ผู้คนได้ออกมาเดินเล่น และปั่นจักรยานสูดอากาศ



[ เมืองใหญ่รายล้อมด้วยธรรมชาติ ]

จุดเด่นของเมลเบิร์นจะเป็นเมืองที่มี park แทบจะทุกโซนเลยค่ะ ส่วนมากคนที่นี่เขาจะพาเด็ก พาน้องหมาไปเดินเล่น ถ้าเห็นในเฟซบุ๊กเราจะชอบไปถ่ายต้นไม้ เดินไปไหนก็มีแต่ต้นไม้ มันทำให้อากาศร่มรื่น พอเรามองแล้วมันสบายตา มันค่อนข้างจะมีพื้นที่โล่งโปร่งสบาย

การเดินทางส่วนมาก คนที่นี่ใช้จักรยานเยอะมากๆ เลยนะคะ ปั่นมาทำงาน เขาชอบปั่นออกกำลังกายกัน แทบจะเป็นเรื่องปกติของเขา เลนจักรยาน ไปที่ไหนก็แทบจะมีทุกที่เลยค่ะ ไม่ว่าจะนอกเมืองหรือในเมือง ที่สวนสาธารณะ ข้างในสวนก็ยังมีเลนจักรยานให้ปั่นชมสวน เป็นอะไรที่ว้าวมากจริงๆ มันมีทุกที่เลย เราเอาจักรยานมาปั่นเล่นได้ ออกกำลังกาย

ระบบเขามีรถรางตลอด รถ tram ก็จะมีเป็นรอบ เป็นจุด เป็นเส้นกันไป เขาก็จะใช้ขนส่งสาธารณะกันเยอะ ที่ไหนที่ไม่ไกลมาก็สามารถเดินไปได้ ส่วนมากก็จะเดิน เราก็เดินบ่อยค่ะ ไม่ค่อยจะเห็นเร่งรีบนะคะ เห็นออกมาเดินกันตามถนนกันเต็ม

ในเมืองเขาจะมีจำกัดอยู่แล้วว่าห้ามขับเกิน ต้องจอดให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่ค่อยจะเห็นรถชน ขับช้าหน่อย ค่อนข้างเป็นระเบียบ ใช้ชีวิตเรียกว่าก็ไม่วุ่นวาย รถชน รถติดก็ไม่ค่อยค่ะ”

นอกจากธรรมชาติจากต้นไม้ที่โอบล้อมเมืองแล้ว จุดเด่นอีกอย่างของเมลเบิร์น คือ การรวมตัวของคนหลายเชื้อชาติไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะแถบเอเชีย ทำให้เธอคุ้นเคยกับวัฒนธรรมต่างๆ ช่วยบรรเทาความคิดถึงบ้านไปได้ไม่น้อย



[ เลนจักรยาน เอื้อความปลอดภัยให้นักปั่น ]

เมืองเขาจะเป็น multicultural รวมหลายเชื้อชาติ หลากหลายอาหาร อาหารไทยก็หาได้ง่ายเหมือนเราอยู่บ้าน แต่แค่เปลี่ยนบรรยากาศ ไปทางไหนก็เจอเอเชีย ไปทางไหนก็เจอคนไทย ได้ยินภาษาไทยตลอดทางเลยค่ะ ก็รู้สึกว่าทำให้เราไม่ได้เหงา ไม่ไห้เปลี่ยว มีคนชาติเราเยอะ มีอาหารบ้านเรา คิดถึงเราก็กิน เป็นจุดเด่นของเด็กไทยที่อยากมาอยู่ที่นี่เพราะมันไม่ได้ต่างกันมาก มันปรับตัวได้ มีร้านไทยให้ทำงาน มีอาหารไทยให้ทาน เลยค่อนข้างที่จะโอเค เอื้อต่อการมาใช้ชีวิต

ที่เมลเบิร์นส่วนใหญ่เป็นเอเชียเยอะมาก มันจะเป็นโซนค่ะ ต่างชาติจะมาอยู่ในเมืองกันเพราะต้องทำงานแล้วก็เรียน ส่วนคนออสซี่จริงๆ เขาจะอยู่เป็นบ้านนอกเมืองรอบๆ ก็จะไม่ค่อยได้เจอกันมากเท่าไหร่ แล้วเขาก็ทำงานพวกออฟฟิศ ที่จะเจอกันคือเราไปส่งอาหารให้เขาแค่นั้น

เราไปส่งอาหารให้คนออสซี่เยอะมาก เขาค่อนข้างที่จะ nice แต่ว่าเรื่องเหยียดเชื้อชาติไม่เจอค่ะ มันมี แต่ว่าประสบการณ์ของเราเองยังไม่เจอ เวลาเราทำงานเราได้สื่อสารกับคนมากมาย เราได้เห็นความหลากหลายของคน เราได้เรียนรู้คนหลายเชื้อชาติเป็นยังไง มันต้องได้สัมผัสด้วยตัวเองค่ะ”

ในช่วงสุดท้ายของบทสนทนา ไรเดอร์ชาวไทยในออสเตรเลีย กล่าวว่า การก้าวออกจาก comfort zone ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตมากมาย อีกทั้งมุมมองในการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย พร้อมกับแนะว่า หากใครมีโอกาสก็อยากให้ลองออกมาผจญภัยบนโลกกว้างเช่นเธอดู



“พอได้เอาตัวมาอยู่ตรงนี้ เราได้จัดการปัญหาในแต่ละวันที่เจอ เรื่องการทำงาน เราเคยหลงทาง ก็พยายามหาวิธีทำยังไงให้เราไม่หลง จากการที่ขับตาม map ก็เริ่มมาจำบ้านเลขที่ลูกค้า เริ่มจำชื่อถนน เริ่มจำเส้นทาง สุดท้ายมันจะทำให้เราคล่อง เราแทบจะไม่ต้องใช้เวลาหานานเลยค่ะ ค่อยๆ ปรับตัว ค่อยๆ แก้ไป แค่ 2 เดือนก็ทำให้เรารู้เยอะขึ้นมากจริงๆ

หลังจากที่เราได้ทำงาน ได้ลองใช้ชีวิต พอไปเรียนที่ห้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ครูต่างชาติ เรายังงงตัวเองเลยว่าเราเรียนได้ยังไง เราเข้าใจที่อาจารย์สอน เราทำได้ มันอาจจะเป็นเพราะเราปรับตัวเก่ง ขยันแก้ปัญหา มันจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน เป็นเราในวันนี้ได้ค่ะ

ที่โรงเรียนคุยกับครูต่างชาติ ก็บังคับให้ใช้ภาษาอังกฤษ ในการทำงานด้วย ขับ Uber ก็ได้ไปส่งลูกค้า ก็ได้โทร.คุยกับลูกค้า เราได้ใช้ทุกวัน มันก็เลยทำให้เราค่อยๆ พัฒนาขึ้น เวลาเข้าคลาสที่เรียนเราก็จะสามารถ improve อีกด้านมาได้

เปรียบเทียบจากตอนแรกที่ไป แทบจะฟังไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไร ตอนนี้ก็ตอบโต้ได้โดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องคิด ไม่ต้องแปลเป็นไทย ค่อนข้างพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ถ้ามีโอกาสก็อยากให้มาลองดูค่ะ ได้ประสบการณ์มากมายแน่นอน มาพัฒนาตัวเอง เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ

สิ่งที่อยากแนะนำ ต้องพยายามที่จะทำให้ได้ แก้ปัญหาตรงหน้าไปให้ได้ ในทุกปัญหาที่เราเจอในต่างประเทศ มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นแน่นอน”









สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Chawala Srilawa (Baifern)” และแฟนเพจ “ออกไปเที่ยวรอบโลกกัน”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น