เปิดใจ “ยุ้ย วดี” เจ้าของฉายา “นางฟ้านักปั่น” ที่กวาดรางวัลมาแล้วหลายสนาม เผย กว่าจะฝ่าฟันมาไม่ง่าย ทั้งปัญหาสุขภาพกายและความเครียดรุมเร้า โควิดไม่หยุดสู้ ปั่นจักรยานออนไลน์ มีวันนี้ได้เพราะรักตัวเอง
กลับมาจับแฮนด์ใหม่ ในรอบ 15 ปี
“สุขภาพยุ้ยพอเริ่มอายุเยอะขึ้น เข้าเลข 3 ปุ๊บ พวกโรคต่างๆ ที่เราเป็น ตอนนั้นยุ้ยเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ตัวจะเป็นผื่นขึ้นเป็นปื้นๆ แดงตลอดเวลา เราทำงาน มันเหมือนกับเราเครียดแล้วก็นอนน้อย ไมเกรนที่ปวดหัว ต้องกินยาทุกวัน
จริงๆ เราเป็นมาตลอดตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่มันเริ่มเป็นหนักขึ้น จนเรารู้สึกว่าต้องดูแลตัวเองแล้วแหละ ก็เริ่มจากการเปลี่ยนอาหารที่กิน แล้วมันก็ยังไม่ดี
คุณพ่อก็บอก ‘กลับมาออกกำลังกายสิ อะไรก็ได้ มาปั่นจักรยานกับพ่อก็ได้’ ก็เลยโอเค เลิกงานก็ไปปั่นจักรยานกับพ่อ ยุ้ยกลับมาปั่นใหม่อีกรอบ ตอนประมาณอายุ 30 ค่ะ
เทียบกับยุ้ยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็แข็งแรงขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด แต่มันก็เบาบางลงเยอะ รู้สึกได้เลยว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น”
“ยุ้ย-วดี ศรีจารุพฤกษ์” วัย 37 ปี พนักงานบัญชีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนักปั่นจักรยานสาวสวย เจ้าของฉายา “นางฟ้านักปั่น” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live
จากผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็ก แต่มีเหตุให้ต้องหยุดปั่นไป เมื่ออายุที่มากขึ้น ปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็ตามมา ทำให้เธอต้องปฏิวัติกิจวัตรประจำวันและอาหารการกินใหม่ทั้งหมด
และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ยุ้ยหวนคืนสู่อานจักรยานอีกครั้งในรอบ 15 ปี จากวันนั้นก็นับเป็นเวลากว่า 7 ปี ที่เธอกลับมาปั่นจักรยานอย่างจริงจัง ส่งให้ทุกวันนี้ สุขภาพกายและใจของเธอดีขึ้นราวกับเป็นคนละคน
“เดิมช่วงทำงานจะเป็นคนชอบกิน fast food ชอบกินแป้ง ชอบกินเค้ก ชอบกินของหวาน ของหวานต้องกินทุกวัน ชานมไข่มุกต้องกินทุกวัน เฟรนช์ฟรายส์ ของทอดชอบหมดเลยค่ะ
พออายุเริ่มเลข 3 จากที่เกิดมาไม่เคยอ้วนเลย เป็นคนผอมมาตลอด อยู่ๆ ก็อ้วนขึ้นมาผิดสังเกต อ้วนแบบทุกคนตกใจ มันเหมือนฮอร์โมนมันเปลี่ยน ผื่นขึ้นทั้งตัวเลยค่ะ ก็เลยว่ามันมาจากอะไรที่เราเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นที่อาหาร แต่ช่วงแรกๆ หักดิบเหมือนกัน กลายเป็นคนกินคลีน ทำอาหารกินเอง ต้มผัก ต้มไก่กินเอง
อย่างภูมิแพ้ ทุกครั้งที่ผื่นขึ้นเป็นเพราะเราภูมิตก จริงๆ คุณหมอก็แนะนำให้เราออกกำลังกาย ให้เราเพิ่มภูมิต้านทานของเรา ให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น
เราเครียดจากการทำงาน เครียดจากเรื่องต่างๆ มันก็เลยทำให้เราเป็นไมเกรน ก็เลยคิดว่า เวลาไปออกกำลังกายมันจะเป็นช่วงที่เราไม่ได้คิดเรื่องอื่น เป็นช่วงที่เราโฟกัสกับการปั่น มันก็ทำให้เราผ่อนคลายได้ ก็เลยเลือกการปั่นจักรยานค่ะ”
และการกลับมาสู่วงการ 2 ล้อหลังจากทิ้งการปั่นไปนานนับ 10 กว่าปี ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเท่ากับว่าเธอต้องเริ่มนับ 0 ใหม่อีกครั้ง
“การปั่นจักรยานมันเป็นกีฬาที่ต้องมีวินัยสูงมาก เมื่อไรที่เราหยุดไป การปั่นมันก็จะปั่นได้ลดลงไปแล้ว จริงๆ มันก็เหมือนเริ่มต้นใหม่ ถ้าเรามีวินัยในการซ้อมตามตารางที่เขาให้ซ้อม มันก็กลับมาได้ค่ะ กลับมาปั่นแข่งได้ แต่ต้องมีวินัยมากกว่าปกติ มากกว่าตอนอายุน้อยๆ อายุน้อยคือซ้อมนิดเดียวมันก็ได้แล้ว พออายุเยอะขึ้นต้องใช้วินัยมากขึ้น
ยิ่งยุ้ยหายไปเป็นสิบกว่าปี ทุกอย่างเหมือนกับคนที่มาเริ่มเล่นกีฬานี้เลยค่ะ เริ่มมาปั่นใหม่ เริ่มทรงตัวใหม่ เริ่มสร้างความทนทานของร่างกายใหม่ เริ่มจาก 0 เหมือนทุกคนเลยค่ะ หลังจากนั้นพอเราเริ่มปั่น เราก็เริ่มสนุกก็ปั่นมาเรื่อยๆ เลยค่ะ
บวกกับที่บ้าน พี่น้องทุกคนก็ออกกำลังกายกันหมดเลย เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า คุณพ่อเขาดูแลตัวเอง เราก็เห็นภาพที่ทุกคนออกกำลังกาย แล้วทุกคนก็ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพกันเลย ในเมื่อเราออกแล้วเราได้เจอพี่น้อง ได้มีเพื่อน แล้วสุขภาพเราก็ดี เลยทำให้เรากลับมาออกกำลังกายเหมือนเดิมค่ะ
ยุ้ยสูง 173 ซม. ปกติน้ำหนักถ้าช่วงวัยรุ่นประมาณ 20 ต้นๆ เป็นคนที่หนักประมาณ 50 นิดๆ แต่ช่วงนั้นที่พีกๆ ยุ้ยหนักประมาณ 66-67 ขึ้นมา 10 กว่าโลค่ะ มาออกกำลังกายด้วย ก็เริ่มลงมาเรื่อยๆ พอออกกำลังกายอยู่ตัวน้ำหนักมันก็จะนิ่ง อยู่ที่ประมาณ 55 ค่ะ”
นักปั่นวัยกระเตาะ มีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจ
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นักปั่นสาวผู้นี้ชิมลางในเส้นทางนักปั่นมาตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยคุณพ่อเป็นแบบอย่างด้านการรักสุขภาพ
“คุณพ่อเป็นคนที่ออกกำลังกาย ยุ้ยจำความได้ก็เห็นคุณพ่อออกกำลังกายแล้ว แล้วก็ทุกวันนี้เขาก็ยังออกกำลังกายไม่หยุดเลยค่ะ ออกกำลังกายทุกวันไปเรื่อยๆ เป็นกิจวัตรประจำวันของเขาค่ะ
ตั้งแต่ขึ้น ม.1 ก็เริ่มปั่นจักรยาน อาจจะเป็นว่าช่วงนั้นเริ่มขึ้นมัธยม คุณพ่อก็กลัวว่าลูกสาวเป็นสาวแล้ว เขาก็อยากหากิจกรรมให้ลูกไม่ว่าง พอเลิกเรียนปุ๊บก็ชวนไปออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยาน
ตอนนั้นไม่ใช่แค่ยุ้ยคนเดียว พี่น้องทุกคนก็ออกไปพร้อมกันหมดค่ะ ก็คือ พี่น้องแล้วก็พวกทีมจักรยานแถวบ้านด้วย เกิน 10 คนเลยค่ะเวลาออกครั้งนึง ช่วงนั้นเราก็สนุกที่ได้ทำกิจกรรมกับพวกเพื่อนๆ ด้วยค่ะ
ช่วงที่อยู่ที่โรงเรียนก็เล่นบาสด้วย มีกิจกรรม มีกีฬามาตลอดค่ะ ตอนเย็นเราปั่นจักรยาน ตอนเช้ากับตอนกลางวันอยู่โรงเรียนก็เล่นบาสกับเพื่อนค่ะ แต่ว่าไม่ได้จริงจังขนาดเป็นนักกีฬาบาส แต่ก็คือเล่นทุกวันกับเพื่อนๆ”
[ คุณพ่อผู้เป็นแรงบันดาลใจในการปั่นจักรยาน ]
แต่ด้วยภารกิจในการศึกษาต่อและอุบัติเหตุเจ็บตัวบ่อยครั้ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอต้องหยุดทำกิจกรรมนี้ไปนานถึง 15 ปี
“ช่วงนั้นเป็นช่วง ม.ปลายค่ะ เหมือนเราต้องเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ด้วย เมื่อก่อนที่ยุ้ยแข่งจักรยาน ตอนนั้นจะเป็นเสือภูเขา ไม่ใช่จักรยานเสือหมอบแบบที่ปั่นกันในปัจจุบันค่ะ ซึ่งทางที่ยุ้ยขี่มันจะเป็นทางที่ปั่นในป่า เนินลงอะไรแบบนั้น ทุกครั้งที่แข่งมันต้องมีแผลมาตลอด
พอเราเริ่มเป็นสาว แผลมันเริ่มหายช้าขึ้น ไม่ต้องถึงกับประสบอุบัติเหตุ มันก็จะมีแผลเยอะ ด้วยเพราะเราปั่นอยู่ในป่า ก็จะเกี่ยวนู่นเกี่ยวนี่ เกี่ยวไม้ มันก็จะมีแผลทุกครั้ง จักรยานมันล้มทุกครั้งต้องมีการเย็บแผล มีการบาดเจ็บซึ่งมันรักษาตัวนาน
บวกกับว่าช่วงนั้นเริ่มเป็นสาวแล้ว เริ่มรักสวยรักงาม แล้วก็เป็นแผลเยอะ เราก็เลยขอคุณพ่อว่าหยุดก่อนนะ แล้วก็เตรียมตัวสอบด้วย
พอพ่อเห็นว่าเจ็บเยอะๆ ก็พักก็ได้ เหมือนค่อยๆ หายไปมากกว่า ไม่ได้หยุดเลย เหมือนปั่นน้อยลงไปเรื่อยๆ เราเริ่มตามกลุ่มไม่ทัน ทีนี้ก็หายเลย ถ้าช่วงที่ปั่นจริงจังคือจะลงแข่งทุกเดือนเลยค่ะ แต่พอหยุดปั่นก็หยุดแข่งเลย”
ระหว่างที่ 15 ปี ที่เลิกปั่นจักรยานไป เธอก็ยังมีการเล่นกีฬาบ้างประปราย ก่อนจะมาหยุดหายไปในช่วงที่เข้าสู่วัยทำงาน
“ตอนช่วงมหา’ลัยก็วิ่งค่ะ แข่งวิ่งปกติแต่ไม่ได้ซ้อมจริงจัง คือ มีกีฬาสี มหา’ลัยก็วิ่ง ซ้อมแค่ช่วงจะแข่ง แล้วพอทำงานก็หายเลย ไม่ออกกำลังกายเลย ห่างจากจากออกกำลังกายช่วงทำงาน
ตอนเด็กๆ ปั่นเพราะว่าเราสนุกกับกีฬานี้ค่ะ เหมือนเราได้เจอเพื่อน แล้วพอไปแข่งแล้วได้รางวัล เออ… กีฬานี้มันสนุกเนอะ แข่งได้รางวัลด้วย ไม่ได้คิดว่าจะไปไกลขนาดได้เป็นทีมชาติ เหมือนเราแค่สนุกกับสิ่งที่เราทำตอนนั้นค่ะ
เคยคิดว่าถ้าเป็นทีมชาติ ชีวิตเราคงเปลี่ยนไปอีกแบบนึงไปเลย ถ้าเป็นทีมชาติเราต้องจริงจังกับการฝึกซ้อมมากกว่านี้เยอะค่ะ ทำให้เราไม่สามารถทำอย่างอื่นที่เราอยากทำเหมือนปัจจุบันได้
เราอาจจะไม่ได้ทำงานเหมือนอย่างนี้ ชีวิตประจำวันคือ การซ้อมปั่นจักรยานอย่างเดียว เพราะเราต้องเน้นเป็นทีมชาติ มันก็เลยไม่คิดถึงจุดนั้น เรายังสนุกกับการใช้ชีวิตด้านอื่นด้วยค่ะ”
ไม่ธรรมดา คว้ารางวัลมาแล้วหลายสนาม
นอกจากความสวยแล้ว ความสามารถของนักปั่นชาวจังหวัดนครปฐมผู้นี้ ยังไม่ธรรมดา เพราะเธอเป็นอดีตสมาชิกของ ทีมจักรยาน W2 (ดับเบิลยูกำลังสอง) ทีมจักรยานหญิงล้วนทีมแรกของประเทศไทย
“ก่อนที่เข้าไป W2 เป็นช่วงที่กลับมาปั่นอีกที ยุ้ยอายุประมาณ 30 ได้ค่ะ กลับมาปั่นได้ประมาณ 3 เดือน ช่วงที่กลับมาปั่นอีกครั้ง มันเหมือนการเริ่มใหม่ทั้งหมดเลย พื้นฐานเราไม่มีแล้ว ต้องเริ่มกลับมาใหม่
แล้วก็มีประกาศทางหน้าเฟซบุ๊ก ว่า เขากำลังหานักจักรยานที่เป็นผู้หญิงมาร่วมทีม เพื่อจะคัดเป็นทีมจักรยานทีมหญิงทีมแรกของประเทศ พ่อก็บอกว่าลองสมัครดูสิ ก็เลยลองไปสมัครดูค่ะ
[ สมัยร่วมทีม W2 ทีมจักรยานหญิงล้วนทีมแรกของประเทศไทย ]
ตอนนั้นเขาจะมีการคัดเลือกหลายอย่าง ประมาณ 3 ขั้นตอนกว่า จะเข้าไปอยู่ในทีมได้ เริ่มจากเราส่งโปรไฟล์ไปแล้วเขาก็จะคัดเลือกเหลือประมาณ 20-30 คนค่ะ ก็มาสัมภาษณ์ พอสัมภาษณ์ปุ๊บก็คัดเลือกอีกเหลือ 15 คน เอามาปั่นจักรยานแข่งกันว่าใครมีสกิลยังไงบ้าง ปั่นเป็นยังไงบ้าง แล้วเขาก็จะคัดเหลือประมาณ 10 คน
ทีนี้ก็จะมาเป็นคำถามสัมภาษณ์เชิงทัศนคติ การอยู่ร่วมทีม เพราะมันจะเป็นทีมที่อยู่ด้วยกัน เขาก็จะดูทัศนคติของเรา การเข้ากับคนอื่นของเรา ว่าเราเข้ากับในทีมได้มั้ย”
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ยุ้ยได้ร่วมทีมจักรยานหญิงล้วนทีมแรกของประเทศไทย เธอและสมาชิกในทีม ก็สามารถคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับมาทุกครั้งที่ลงสนาม
“ช่วงที่เข้า W2 ใหม่ๆ คือ ช่วงที่เรากลับมาใหม่ๆ เหมือนกัน ก็เริ่มซ้อมมา 3-4 เดือนแล้ว เริ่มปั่นได้แล้ว แต่ว่าก็ยังไม่ได้เข้าแข่งได้ แต่พอมาเข้าทีม W2 เขาก็จะมีโค้ชให้แต่ละคน และมีตารางซ้อมให้จริงจัง
ถ้าตอนอยู่ที่ทีม แข่งบ่อยค่ะ ก็มีโปรแกรมแข่งเกือบทุกเดือนค่ะ แล้วก็พอทุก 3 เดือน เขาจะให้เราลงไปที่ภูเก็ต ไปเก็บตัวนักกีฬา แล้วก็ไปอยู่กับโค้ชที่เป็นโค้ชต่างชาติ โปรแกรมก็จะแน่นๆ อยู่ในนั้น
ถ้าเราแข่งเอง ไม่ได้อยู่ทีม เราก็อาจจะแข่งแค่จังหวัดใกล้ๆ บ้านเรา แต่พออยู่ทีมเขาก็มีสปอนเซอร์ที่จะพาเราไปปั่น การแข่งเขาให้เราแข่งทุกเดือนอยู่แล้ว พอมีสนามแข่งเขาก็จะให้เราไปแข่ง แล้วที่มันถี่เพราะเขาสามารถพาเราไปได้ ต่างจังหวัดเขาก็พาไปได้ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน สลับกันได้ค่ะ ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศค่ะ
ทุกการแข่งในช่วงนั้นก็ได้ (รางวัล) เกือบทุกสนามค่ะ ช่วงปั่นในทีมเราจะได้กลุ่มที่จะพาไปด้วยกัน มันจะง่ายกว่าคนที่ปั่นเดี่ยวๆ เราก็จะได้รางวัลติดมาทุกสนาม ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ติดมาตลอดทุกสนามที่เราลง
ตอนอยู่ W2 พอครบ 2 ปี ก็หมดสัญญาแล้วยุ้ยไม่ได้ต่อ มันเหมือนเป็นทีม 1 ทีม 2 ก็ต่อด้วยชุด 2 ที่มาต่อพวกยุ้ยค่ะ ก็เหมือนพอเวลาเปลี่ยน บางคนก็เลิกปั่นไปแล้ว บางคนที่ปั่นอยู่ก็เดี่ยวๆ แล้ว แล้วก็มีสปอนเซอร์อื่นเข้ามา ก็เลยแยกกันไป”
[ ตัวแทนนักกีฬาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ]
ไม่เพียงแค่นั้น นักปั่นสาวยังเป็นนักกีฬาตัวแทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการลงชิงชัย “กีฬารัฐวิสาหกิจ” ที่มีการแข่งขันเป็นประจำต่อเนื่องมาหลายปี
“ยุ้ยเป็นพนักงานบัญชี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคค่ะ ก็จะมีกีฬารัฐวิสาหกิจที่ตัวแทนของรัฐแต่ละรัฐมาแข่งกีฬารวมกัน ซึ่งมันก็จะมีกีฬาจักรยานที่ต้องแข่งด้วย จะลง 2 รายการ คือ ทางเรียบด้วย แล้วก็ครอสคันทรีเป็นภูเขาด้วย
ทุกครั้งที่เวลาแข่งจักรยานกีฬารัฐวิสาหกิจ ก็จะมีช่วงเวลาที่ยุ้ยต้องเก็บตัวนักกีฬา ครั้งนึงประมาณ 15 วัน เหมือนเราไปเข้าค่ายในนั้น 05.00 น. ตื่นออกมาอาบน้ำ กินข้าว 06.00 น. ออกมาวอร์มร่างกาย 06.30 น.ออกไปปั่นจักรยาน เที่ยงกลับมากินข้าว พอ 15.00 น. เตรียมปั่น คือทุกคนต้องทำตามกฎเหมือนกัน”
สำหรับกีฬารัฐวิสาหกิจนั้น มีตัวแทนนักกีฬาที่มาจากทุกตำแหน่ง ตั้งแต่พนักงานไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องมาเก็บตัวร่วมกัน
ยุ้ยสะท้อนว่า กีฬาสามารถทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ และโอกาสที่ได้รับนี้ คือ ประสบการณ์อันล้ำค่าอีกอย่างหนึ่งของชีวิต
“ทุกคนที่เป็นนักกีฬาเหมือนกัน มารวมกันประมาณ 30-40 คน ทุกคนก็จะเป็นพนักงานการไฟฟ้าฯ จะมีพนักงานที่เป็นอย่างยุ้ย พนักงานทั่วไป มีผู้บริหาร มีหลายๆ ตำแหน่งมาอยู่รวมกัน แต่พอเราเก็บตัวนักกีฬากันในค่ายนั้น ทุกคนกลายเป็นคนระดับเดียวกัน เป็นนักกีฬาเหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยก (ยิ้ม)
ยุ้ยก็เลยคิดว่ากีฬามันทำให้เราเท่าเทียมกันได้ในทุกคน ไม่มีชนชั้น ถึงแม้ว่าหลังจากออกจากค่าย คนนึงไปเป็นพนักงานปกติ คนนึงเป็นผู้บริหาร พอเรามาอยู่กับกีฬา ทุกคนไม่มีการแบ่งแยกกัน นี่คือสิ่งที่ยุ้ยประทับใจ เป็นวินัยของนักกีฬาที่ทุกคนต้องทำเหมือนกันค่ะ
และยุ้ยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คือ รัฐวิสาหกิจแข่งกันทั่วประเทศ เราได้ที่ 1 ค่ะ เป็นรางวัลที่ประทับใจที่สุด แต่ตอนนี้เลื่อนมา 2 ปียังไม่จัด แต่ว่าถ้าช่วงที่ไม่ได้เป็นโควิด เขาก็จะจัดทุกปี เป็นกีฬาประจำปีที่ต้องแข่งค่ะ”
“ปั่นจักรยานออนไลน์” วิถีใหม่ยุคโควิด
จากภาพของนางฟ้านักปั่นผู้นี้ที่ได้เห็นกัน เรียกได้ว่า เธอมีรูปร่างหน้าตาเป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน ซึ่งกว่าจะได้มานั้น ก็ต้องอาศัยความมีวินัยอย่างมากในการออกกำลังกาย
“ส่วนใหญ่การออกกำลังกาย ยุ้ยทำที่การไฟฟ้าฯ ทำงานถึง 16.30 น. กว่าเราจะกลับถึงบ้านก็ประมาณ 17.30 น. ก็จะกลับมาปั่นจักรยาน ก็ปั่นถึงประมาณ 19.00 น.ก็อาบน้ำนอน วงจรชีวิตก็จะประมาณนี้ ส่วนใหญ่จะทำ จันทร์-ศุกร์ แล้ว เสาร์-อาทิตย์ พัก
มีวิ่งแล้วก็เวตเทรนนิ่งด้วยค่ะ การปั่นจักรยานมันเป็นการคาร์ดิโอ มันก็เหมือนเวลาลงมันจะลงทั้งตัวเลยค่ะ มันก็ทำให้เราลีนขึ้น พอลีนขึ้น สัดส่วนเราก็ชัดขึ้น แต่ว่าถ้าอยากให้ส่วนไหนมันชัด อยากให้มีกล้ามท้อง เราก็เวตคู่ไปด้วยค่ะ”
เมื่อถามถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ และส่งผลกระทบไปสู่ทุกคนในสังคมอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการปั่นจักรยาน ที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง
ทำให้ช่วง 2 ปีผ่านมา ผู้ที่หลงรักในกิจกรรมนี้ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการปั่นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นการปั่นจักรยานผ่านแอปพลิเคชัน ตลอดจนการแข่งขันต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการแข่งผ่านระบบออนไลน์แทน
“ถ้าตอนที่ยังไม่มีโควิด พอเลิกงานปุ๊บ เราก็จะเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วออกไปข้างนอก เราก็จะปั่นกับกลุ่มที่นครปฐม คนประมาณ 20 คน แต่ว่าตอนนี้ด้วยโควิด ทุกคนก็ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าออกมารวมกลุ่มกันแล้ว
[ จากกลางแจ้งสู่ออนไลน์ ]
ก็ทำให้เราต้องปั่นจักรยานอยู่ที่บ้านด้วยเครื่องที่บ้าน ต่างคนต่างปั่นที่บ้านกัน ช่วงแรกๆ ของการปั่นอยู่กับบ้าน ทุกคนจะเป็นเหมือนกันหมดเลย คือ เบื่อ เหมือนเราต้องอยู่กับที่ตลอดเวลา แต่พอเราไปเรื่อยๆ เราก็จะชิน
พอมีโปรแกรม Zwift มันจะเป็นแอปพลิเคชันที่อยู่ในมือถือ ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็มีเทรนเนอร์ที่ส่งโปรแกรมระหว่างตัวเกมกับตัวเทรนเนอร์จักรยาน มันจะลิงค์กัน ส่งข้อมูลระหว่างกัน โดยมีตัว avatar อยู่ในเกม แล้วมีตัวเพื่อนเรา
มันจะเหมือนปั่นจริงเลยค่ะ ถึงขึ้นเนินก็หนืดเหมือนเราปั่นข้างนอก แรงที่เราปั่นก็ไปขึ้นที่เกมจริงๆ ทำให้เราสามารถปั่นร่วมกับเพื่อนๆ ได้ เราจอยกันได้แล้วเราสามารถเลือกสนามได้ว่าวันนี้เราจะปั่นที่อังกฤษ วันนี้เราจะปั่นที่ฝรั่งเศส สนามก็จำลองสนามจริงที่นั่นให้ด้วย มันก็ทำให้เราคลายเบื่อน้อยลง สนุกมากขึ้น
แต่ว่าช่วงที่เป็นโควิดเขาก็จะเป็นการแข่งปั่นออนไลน์แทน มีคนมาสมัครแข่งเหมือนกันเลยค่ะ join meeting มีสนามแข่งเหมือนเดิมแต่ว่าแข่งออนไลน์ค่ะ
ทุกวันนี้ช่วง 1-2 เดือน การปั่นจักรยานที่เป็นสนามแข่งข้างนอก ยุ้ยว่ามันเริ่มกลับมาเหมือนเดิมแล้ว เพิ่งเห็นว่ามีงานปั่นจักรยานเปิดรับสมัครมากขึ้นค่ะ ค่อยๆ กลับมา”
ปัจจุบัน นักปั่นคนสวยผู้นี้ เป็นนักกีฬาของทีมจักรยาน Kom Kom และเป็น Brand Ambassador ให้กับแบรนด์จักรยานชื่อดังอย่าง BMC
“ถ้าแข่งก็แล้วแต่สนามค่ะ แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นของ Kom Komที่ส่งเราไปแข่งค่ะ ซัพพอร์ตยุ้ยเวลาแข่งสนามต่างๆ เป็นเหมือนทีมอิสระที่มาช่วยซัปพอร์ตเราค่ะ เขาก็จะเป็นสปอนเซอร์ให้เรา
[ เป็น Brand Ambassador ให้กับ BMC Thailand ]
แล้วตอนที่เป็นก็เป็น Brand Ambassador BMC Thailand ของบริษัทจักรยานแบรนด์ BMC เป็นแบรนด์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ค่ะ เราใช้จักรยานของแบรนด์เขาจริงๆ เวลาแข่งก็ใช้ของเขาแข่งจริงๆ
แล้วก็เปิดเพจเพื่อเราจะได้เจอทุกคนง่ายขึ้นค่ะ ก็จะมีเฟซบุ๊กแฟนเพจ เฟซบุ๊กส่วนตัว อินสตาแกรม ซึ่งจะเป็นชื่อเดียวกับหมดเลยค่ะ (yuiiwadee) แล้วก็มียูทูป ซึ่งยูทูปยังไม่ค่อยอัปเดตเท่าไหร่ ลงบ้างแต่ไม่ค่อยถี่ค่ะ
เปิดเพจประมาณ 3-4 ปีได้ ลงไลฟ์สไตล์ของตัวเองเลย ไลฟ์สไตล์หลักๆ ของยุ้ยคือการปั่นจักรยาน การไปเที่ยว เราลงเล่าเรื่องของตัวเองผ่านเพจของเราค่ะ ว่าแต่ละช่วง แต่ละวัน เราทำอะไรบ้าง
(คนโซเชียลฯยกให้เป็นนางฟ้านักปั่น) ก็ดีใจนะคะที่มีคนชม มีคนมาชื่นชอบเรา เราก็ปลื้มด้วย เราอาจจะปั่นจริงด้วย เราจริงจังกับกีฬานี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งตอนแรกๆ ที่ยุ้ยเริ่มปั่นคือผู้หญิงปั่นน้อยมากค่ะ เหมือนเราเป็นกลุ่มแรกๆ ของผู้หญิงที่มาปั่นจักรยานค่ะ”
วอนภาครัฐ ขอความปลอดภัยให้นักปั่น
ขึ้นชื่อว่ากีฬา แน่นอนว่า ระหว่างฝึกซ้อมหรือลงแข่งขัน ย่อมต้องเกิดอาการบาดเจ็บและอุบัติเหตุอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนางฟ้านักปั่นผู้นี้ก็เคยผ่านจุดนั้นมาเช่นกัน ถึงขั้นที่ว่าต้องเย็บบริเวณใบหน้าหลายจุดและไม่สามารถยิ้มได้ ต้องใช้เวลารักษานานกว่า 6 เดือน
“ประมาณ 4 ปีที่แล้ว แข่งกีฬารัฐวิสาหกิจค่ะ แล้วก็ล้มตอนแข่ง หน้าเย็บเยอะมากเลยค่ะตอนนั้น ข้างในปากคือฉีกหมดเลย ตรงใต้จมูกก็ฉีก แล้วหน้าฝั่งซ้ายคือถลอกเป็นสีแดง คิดแค่ว่าหน้าเราจะหายมั้ย จะเป็นแผลเป็นมั้ย ใจแป้วก็แป้วเพราะว่ากลัวมันจะไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่ไม่คิดว่าจะเลิกปั่นค่ะ
แล้วก็ช่วงที่รักษาแผล หน้าเรายิ้มไม่ได้ เหมือนเรายิ้มได้ข้างเดียว ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูค่อนข้างนานอยู่ค่ะ ถ้าเป็นวัยรุ่นมันอาจจะเร็วกว่านี้ แต่พออายุเยอะ ร่างกายมันก็ฟื้นฟูช้ากว่าค่ะ
สุดท้ายมันก็ค่อยๆ หาย ใช้เวลาประมาณครึ่งปีที่กลับมาเหมือนเดิม แต่ว่ายุ้ยพักที่ไม่ได้ปั่นประมาณ 2 อาทิตย์ ก็คือ เราแปะผ้าก๊อซอยู่เลย แต่เราก็ออกมาปั่นซ้อมเหมือนเดิมแล้ว”
ในเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ ทุกครั้งที่ออกไปปั่นจักรยาน เธอจึงต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เพื่อลดการบาดเจ็บหนัก
“จริงๆ ทุกกีฬามันก็มีความอันตรายของมันอยู่ ถามว่าอันตรายมันก็อันตราย แต่อยู่ที่การป้องกันของเรา อุบัติเหตุเราไม่สามารถจะหลีกมันได้ แต่เราก็ต้องป้องกันตัวเอง
ทุกวันนี้หลักๆ คือ ปั่นทางเรียบอย่างเดียวค่ะ ทุกครั้งที่ออกไปปั่นจักรยาน เราก็ต้องใส่หมวกกันน็อก ใส่รองเท้า ใส่ชุดที่รัดกุม ใส่ถุงมือ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น อุปกรณ์พวกนี้มันก็เซฟเราได้ในระดับนึงอยู่ค่ะ และถ้าออกปั่นกลางแจ้ง เราต้องทาครีมกันแดดให้ถึง หลักๆ ของยุ้ยคือทากันแดดป้องกัน SPF เยอะๆ แค่นี้เลยค่ะ”
และในฐานะที่อยู่ในวงการ 2 ล้อมาหลายปี ทำให้เธอเห็นสภาพถนนหนทางของบ้านเรา ที่ในบางแห่งไม่เอื้อต่อการปั่นจักยาน ยุ้ยจึงใช้โอกาสนี้สะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพื่อที่จะเป็นการลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นอีกทาง
“จากประสบการณ์ ก็คือ จริงๆ เราปั่นจักรยานเราก็พยายามหลบริมซ้ายแล้ว ด้วยถนนบ้านเราฝั่งซ้ายมักจะมีท่อ ถนนไม่เรียบ มีรถจอดมีอะไร มันก็เลยทำให้เราเหมือนบางทีก็ปั่นกินเลนถนนบ้าง ทำให้ไปเจอรถใหญ่
ถ้ามีที่ที่ทำให้เราปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัย อย่างที่กรุงเทพฯ จะมี Sky Lane มีที่ที่เราปั่นจักรยานได้โดยไม่มีรถใหญ่เข้ามา มันก็ปลอดภัยกับเรามากขึ้น
แต่ว่าถ้าอยู่ต่างจังหวัด พวกยุ้ยก็จะเลือกถนนที่ไม่ใช่ถนนหลัก เป็นถนนในชนบทที่ผ่านทุ่งนา รถก็จะน้อยลง ทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นค่ะ อยากฝากภาครัฐ อยากให้มีสนามของเรา แต่ถ้าไม่ได้ก็เลือกถนนที่ปลอดภัยสำหรับเราแทนค่ะ”
การกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้ง นอกจากจะเห็นผลอย่างชัดเจนในด้านสุขภาพกายแล้ว เรื่องของจิตใจก็เรียกได้ว่าแข็งแรงตามไปด้วยไม่แพ้กัน
“ทุกวันนี้ก็ยังไม่หายขาด ยุ้ยก็ยังเป็นอยู่ แต่ว่ามันไม่เป็นหนักเหมือนตอนนั้น เรายังสามารถคุมมันได้ ผื่นแพ้มันก็มาบ้างถ้าเราไปทานอะไรที่แพ้ หรือว่าอากาศเปลี่ยน ยุ้ยก็ยังมีผื่นอยู่ แต่ว่ามันไม่เท่าสมัยก่อน ไมเกรนมันก็ยังมาบ้าง แต่ว่ามันก็ไม่ได้มาตลอดเหมือนสมัยก่อน มันเป็นโรคที่เหมือนรักษาไม่หายขาด แต่มันก็บรรเทาให้เราดีขึ้นเยอะเลยค่ะ
นอกจากสุขภาพ มันทำให้เราเป็นคนที่อดทนมากขึ้น ด้วยการที่แข่งจักรยาน ระยะทางมันค่อนข้างไกล อย่างต่ำๆ สตาร์ท 60 กิโล แต่บางสนาม 100 โล 150 โล มันทำให้เราต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง เจอเรื่องหลายเรื่อง แต่มันทำให้เราอดทน เข้มแข็ง ทีนี้พอเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ทำให้เรามีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น มีความพยายามมากขึ้น”
สุดท้ายนี้ นางฟ้านักปั่นคนสวย ก็ขอฝากถึงใครก็ตามที่ยังไม่เริ่มออกกำลังกาย ให้ลองลุกขึ้นมาเปลี่ยนตนเองเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เริ่มต้นตอนนี้ก็ยังไม่สาย
“อยากจะเชิญชวนทุกคนที่ยังไม่เคยเริ่มออกกำลังกาย อาจจะเป็นกีฬาอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นจักรยาน อยากให้ลองออกมา แบ่งเวลาซักนิดนึง เพื่อมาออกกำลังกาย อาจจะเป็นการเดินจ็อกกิ้ง การวิ่งเบาๆ
หรือว่าจะมาปั่นจักรยานแบบยุ้ย หลักๆ คือ มีจักรยาน มีชุดสำหรับปั่นจักรยาน มันจะเป็นชุดที่กระชับร่างกาย จะรัดนิดนึง มันจะช่วยทำให้ปลอดภัยขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปเกี่ยวอะไร แล้วก็ลู่ลมมากขึ้น
ที่สำคัญ การอออกไปปั่นจักรยานข้างนอก ต้องใส่หมวกกันน็อกและเครื่องป้องกัน ถุงมือ ต้องใส่รองเท้าผ้าใบที่รัดส้นหน่อย มันก็ทำให้เราปลอดภัยขึ้นในการปั่นค่ะ ยุ้ยเชื่อว่าถ้าเราได้เริ่มแล้ว พอเราสนุกกับมัน เราจะไปต่อเรื่อยๆ
ยุ้ยรู้สึกว่าเรายังมีความสุขกับสิ่งนี้อยู่ เรายังสนุกกับการปั่นจักรยานอยู่ แล้วก็เหมือนมันเป็นกีฬาที่เราถนัดที่สุดตอนนี้ เราทำได้ดีที่สุดตอนนี้ เราก็เลยยังอยากทำมันไปเรื่อยๆ อยู่ค่ะ
แล้วผลของมันคือดีต่อร่างกายจริงๆ จากประสบการณ์ของยุ้ยเอง มันทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น และสภาพจิตใจเราดีขึ้น ความเครียดน้อยลง ทำให้เราได้ผ่อนคลาย ก็อยากเชิญชวนทุกคนออกมาออกกำลังกายค่ะ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “yuiiwadee”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **