ใช้คำพูด เชือดเฉือน-ประชดประชัน ดีต่อเด็ก!!? ครูเหยียดเด็ก เรียนโง่ = ผู้ชายที่ไหนจะเอาทำพันธุ์ ลดคุณค่าเพศ แพทย์สะท้อนคุณค่าระบบการศึกษาไทย ชี้ เลือกปฏิบัติ-สร้างแบดแผล-แรงกดดัน มุ่งหวังเอาชนะ!?
สมควรไหม ใช้คำพูดรุนแรงใส่นักเรียน?
“สวยแต่โง่ ผู้ชายที่ไหนจะเอาทำพันธุ์” นี่คือ ข้อความของครูรายหนึ่งได้ตอบกลับเด็กนักเรียนหลังถูกถามใบแก้ติด 0 ต้องไปเอาที่ตึกไหน
“จากการกระทำดังกล่าวของครูคนนี้ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะในฐานะครู หรือในฐานะมนุษย์ ทางเครือข่ายฯ ขอให้พื้นที่นี้เป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนผู้ถูกกระทำ และขอเรียกร้องให้ผู้กระทำ สถานศึกษา ผู้บริหารทั้งสถานศึกษา ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไม่ชักช้า
คณะทำงาน เครือข่ายปกป้องสิทธิและเสรีภาพนักเรียน-นักศึกษา จึงขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผู้เรียน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ #ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีมนุษย์”
เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโซเชียลฯ ไม่น้อย เมื่อ เพจเฟซบุ๊ก “สหพันธ์นักเรียน เพชรบูรณ์ - Assembly of Phetchabun Students” เผยแพร่รูปภาพ แชตระหว่างครูและนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งเป็นข้อความที่นักเรียนต้องการจะสอบถามคุณครู แต่กลับได้คำพูดที่ดูถูกและรุนแรงกลับมา ส่งให้ดัน #โรงเรียนเขียวขาวชื่อดังย่านเพชรบูรณ์ ขึ้นเทรนด์ทวีต ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น มีคำพูดที่รุนแรง และมองถึงการปลูกฝังค่านิยมเรื่องเพศหรือไม่
เพื่อความชัดเจนถึงประเด็นที่กำลังถกเถียงอยู่ตอนนี้ ทางทีมข่าวจึงได้ขอความรู้จาก “รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” หรือ หมอเดว ผอ.ศูนย์คุณธรรมกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และยังเป็นเจ้าของเพจบันทึกหมอเดว โดยให้ความรู้ไว้ว่า สะท้อนให้เห็นการใช้อารมณ์มากกว่าใช้สติ ซึ่งคำพูดเหล่านี้อาจจะสร้างบาดแผลในใจแก่เด็ก
“คือ น่าเสียใจที่เขาใช้คำพูดเหล่านี้ เพราะมันสะท้อนให้เห็นการใช้อารมณ์มากกว่าใช้สติ ในการที่จะสื่อสารกัน คือ หมอเข้าใจว่าทัศนคติของครูในโลกปัจจุบันมันต้องเปิด
หมอมองว่า ต้องฝึกหัดปิยวาจา พูดอย่างไรให้มีแรงบันดาลใจที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ เพราะไม่มีใครเกิดมาโง่ และไม่ได้มีใครเกิดมาเป็นคนไม่ดี ประเด็น คือ ครูจะใช้คำพูดแบบนี้ไปสร้างบาดแผลเพื่ออะไร แทนที่จะสร้างบาดแผลใจ กลายเป็นสร้างแรงบันดาลใจ มันคนละเรื่องกันเลย สร้างบาดแผลใจกับสร้างแรงบันดาลใจ
การสร้างแรงบันดาลใจจะต้องใช้คำพูดเชิงบวก ส่วนบาดแผลในใจเกิดขึ้นแน่ กับการใช้วาจาเชือดเฉือนในลักษณะแบบนี้ ยิ่งถ้าเกิดสมมติเด็กเป็นภาวะซึมเศร้า แล้วถ้าเกิดระบบนิเวศไม่ดี เช่น บ้านมีปัญหา ทะเลาะเบาะแว้ง อยู่ในสภาพลำบากในการที่จะมาเรียน ซึ่งครูก็ไม่ทราบ แล้วมาบวกกับกลไกของโรงเรียนที่เป็นแบบนี้
ชุมชนก็อยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีที่พึ่ง พวกนี้อาจจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายได้เลย กับการใช้วาจาเชือดเฉือนแบบนี้
และสิ่งที่อยากจะฝากบอกคุณครู ที่ใช้ในคำพูดในลักษณะนี้ คือ เวลาคุณครูพูดดี สารเคมีที่หลั่งออกมาจากร่างกายของคุณครู คือ สารเอนโดรฟิน (Endorphin) หรือที่คุณครู ผู้ใหญ่ ชอบไปทะเล ชอบไปเที่ยวเพื่อที่จะได้สารเหล่านี้ มันคือสารแห่งความสุข ในเวลาเราพูดดี
แต่เวลาเราเกรี้ยวกราด แล้วพูดประชดประชัน เหน็บแนม สารที่หลั่งออกมามันจะตรงกันข้าม และถ้าเราทำตัวประพฤตินิสัยอย่างนี้ ทิ่มแทงด้วยความสะใจของตัวเอง ต่อไปเราจะติดนิสัย แล้วมันจะมีรังสีอํามหิตโผล่ออกมา เดินไปไหนนักเรียนก็หลบ
อันนี้ไม่ได้เป็นที่รัก ไม่ได้เป็นที่ไว้วางใจสำหรับเด็ก ผมไม่คิดว่าครูเขาอยากจะเป็นบุคลิกภาพแบบนั้น ถ้าไม่ได้ต้องการมีบุคลิกภาพลักษณะนั้น สิ่งที่ต้องฝึกฝนตนเอง คือ การใช้ปิยวาจา แล้วใช้คำพูดไปสร้างแรงบันดาลใจจากคนที่เกรดร่วง ไปเกรดรุ่ง จากคนที่ไม่มีจิตใจในการเรียน ก็กลายเป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน
หมอไม่ได้พูดฟุ้งเฟ้อ หมอมีคนไข้ที่ได้เกรด 0.26 แต่เราใช้พลังบวก สามารถจนในที่สุดเขาก็ได้จบด้วยเกรด 2.6 หมอก็ไม่ได้ลงไปอยู่ในชีวิตเขา แต่กระบวนการรักษาเยียวยาทางสภาวะจิตใจ เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนนี้ให้จบ 2.6 เพราะฉะนั้นมันทำได้ คือ ประเด็นเราจะพูดจาเพื่อสร้างบาดแผลใจ หรือจะพูดจาสร้างแรงบันดาลใจกันแน่ครับ”
“เด็กที่เรียนเก่งที่สุด ไม่การันตีว่าเป็นเด็กดี”
แน่นอนว่า พฤติกรรมของครูอาจารย์ ก็มีผลต่อความคิดทัศนคติของเด็กนักเรียนอย่างมาก เพราะพฤติกรรมมักจะสะท้อนให้เห็น คือ การเลือกปฏิบัติกับนักเรียนที่เรียนดี เรียนเก่ง ให้ความสนใจกับนักเรียนที่มีผู้ปกครองร่ำรวย
แต่ในทางกลับกัน กับแสดงกิริยาที่ไม่ดีต่อนักเรียนที่เรียนไม่ค่อยดี การพูดจาถากถาง หรือรุนแรง ประกอบกับการวางตัวไม่เหมาะสม ผ่านสายตาของหมอเดว สิ่งที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนทัศนคติของคุณครู
“เด็กที่เรียนเก่งที่สุด ไม่การันตีว่าเป็นเด็กดี ไม่ได้เป็นหลักประกันเป็นเด็กดี เพราะเรามีงานฐานวิจัยตั้งแต่ปี 2556 และต่อเนื่องกันมาด้วย ว่า เด็กที่เรียนเก่งที่สุดจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมจะเป็นเด็กเห็นแก่ตัวครับ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นหลักประกัน ว่า ถ้าเป็นเด็กเรียนเก่งที่สุด จะเป็นคนดีแน่นอน ไม่จริงครับ”
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการตั้งคำถาม เกิดการปลูกฝังผิดๆ ตีค่าเรื่องทางเพศที่ผู้หญิงต้องมีผู้ชายเท่านั้น ถึงจะดูมีคุณค่า ด้านหมอเดว มองว่า คุณครูหรือผู้ใหญ่จะต้องเปิดกว้างทางความคิด การใช้คำพูดเหล่านั้นเป็นการลดคุณค่าของเด็ก อาจจะทำให้เด็กกดดัน เกิดบาดแผลในใจ
“อันนี้มีแน่ ด้วยวาจาที่เห็นอยู่ เขาเรียกว่าวาจาเชือดเฉือน ที่ทำให้มีความรู้สึกเจ็บใจ คุณครูคงสะใจ รู้สึกว่าอาจจะเจ็บใจ เวลาที่เราเจอลักษณะอย่างนี้ เราไม่เขียนดีกว่า เราไม่ตอบดีกว่า แล้วเราก็เงียบไปก่อนดีกว่า ถ้าคิดว่าพูดไปแล้วมันยิ่งรักษาแผลใจ ก็นิ่งเงียบดีกว่า
แต่ถ้าจะพูดก็ขอให้เลือกพูดมุมมองบวก ให้เขามีความรู้สึกที่ดีออกมา แล้วที่สำคัญอย่างยิ่ง อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครู ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในชุมชน รวมทั้งโลกของโซเชียลมีเดีย คุณค่าของการเป็นมนุษย์ คนทุกคนเกิดมาล้วนมีคุณค่า อย่าดูถูกกัน เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน หมอว่าจะงดงาม
ถ้าอยู่ในโรงเรียน ต่อให้เป็นเด็กหน้าห้อง ต่อให้เป็นเด็กหลังห้อง ต่อให้เป็นเด็กข้างห้อง หรือกลายเป็นเด็กนอกห้อง หรือจะกลายเป็นเด็กนอกรั้วโรงเรียน อย่าให้ไปถึงนอกระบบ นอกการศึกษาเลย เพราะหมอเคยได้ยินเด็กพูดมาแล้ว เป็นวันที่เข้าไปเขียนใบลาออก ว่า ขอลาออกจากการศึกษาไทย ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เขาไม่ขอมาเรียนอีกแล้ว
เด็กพูดเลยว่าอย่าย้ำจุดอ่อนของผม หรือแม้แต่แกนชีวิตของผม คือ self มันเสียหายไปหมด หมอจึงใช้คำว่ามันจะเป็นบาดแผลใจถ้าครูไปย้ำที่จุดอ่อนของเขา ทำเหมือนกับว่าแกไม่มีอะไรดีเลย หมอว่าอันนี้เข้าใจผิดแล้วล่ะ”
สุดท้าย หมอเดวได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม ที่อาจเป็นเหตุทำให้เด็กขอลาออกจากการศึกษาไทย เพราะเกิดภาวะกดดัน การถูกคำพูดลบๆ ลดคุณค่าในตัวเด็ก พร้อมให้กำลังใจ และแนะวิธีสร้างพลังบวก
“จะหวังดีหรือไม่หวังดี หมอว่าวิธีการพูดออกไป หรือพิมพ์ออกไป ควรใช้สติ ถ้าเราไม่พร้อม อารมณ์เรากำลังระเบิด ก็อย่าเพิ่งพิมพ์อะไรเลย
ต้องรู้ในการพักเบรกอารมณ์ หมอใช้คำว่าพักก่อนโพสต์ เวลาโพสต์ผู้ใหญ่ก็ต้องฝึก เพราะเวลาโพสต์หรือพิมพ์ด้วยอารมณ์ ก่อนที่จะกดโพสต์ลงสู่สาธารณะ หรือให้อีกฝ่ายหนึ่ง พักไว้ก่อน แล้วผ่านไปสักเวลาหนึ่งกลับมาอ่านข้อความของตัวเองว่าที่เราเขียนอยู่ ใช้สติหรือใช้อารมณ์”
สกู๊ปข่าวโดย : MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **